การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าและคนบาป ทำไมจึงไม่เลิกกินเสียล่ะ?

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม 25 สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ข้อ 112)

อ่านเจอพระสูตรนี้คิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนทำใจในใจได้ ถ้าอยากเจริญ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลก … ต่อให้ไม่อยากก็ได้ แค่ใช้ชีวิตไม่ให้ไม่เป็นโทษภัยต่อสัตว์อื่นก็พอ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราละเว้นบาป เหมือนคนมีปัญญา รู้เห็นอยู่ว่าสิ่งที่กำลังจะกินอยู่นั้น มันก่อบาป ก่อโรค เป็นทั้งห่วงโซ่อุปทานในวงจรบาป เป็นทั้งอาหารก่อโรคภัยในตนเอง บัณฑิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไปทำอย่างนั้นให้มันลำบากหรอก ก็เหมือนมันมีทางให้เลือกเดิน ทางรกกับทางเรียบ ๆ เราก็ไปทางเรียบสิ จะไปทางรกทำไมให้มันลำบาก

ทางอื่นในการดำรงชีวิตนอกจากกินเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แล้วจะไปกินทำไมให้มันลำบากตัวเอง เบียดเบียนสัตว์อื่น

บัณฑิตหรือผู้รู้นี่เขาเห็นแล้วว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ เขาก็เลิกไปเท่านั้นเอง เพราะไอ้บาป เวร ภัย นี่มันชัด ๆ อยู่แล้ว เป็นการเบียดเบียนหยาบ ๆ ที่แม้แต่คนทั่วไป ศาสนาใดเขาก็รับรู้ได้ จริง ๆ ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่น่าจะมั่นใจว่าตนเป็นพุทธนะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ไม่ใช่ศาสนาไม่รู้ มั่ว ๆ เดา ๆ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมใดเบียดเบียน กรรมใดไม่เบียดเบียน อันนี้มันก็หาศึกษาไม่ได้ยากในยุคอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแบบนี้นะ

คนที่เห็นทางที่ดีกว่า สบายกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า แล้วยังไม่ไป ก็ไม่แปลก ก็เขาไม่ใช่บัณฑิตไง …ตรงข้ามกับบัณฑิตก็มีแต่คนพาลเท่านั้นแหละ

ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม…

เจอประโยคนี้ระหว่างอ่านพระไตรปิฎก คนพูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พระพุทธเจ้านั่นแหละ ถึงเวลาท่านจะข่มคนโง่ ท่านก็อัดตรง ๆ เลย

มายุคนี้จะไปพูดกับใครเขาแบบนี้ไม่ได้นะ เขาเอาตายเลย บารมีเราไม่พอด้วย จะไปใช้ภาษาระดับพระพุทธเจ้ามันก็ไม่ไหว

ไอ้การที่จะไปปะทะกับคนพาล คนโง่ คนชั่ว นี่มันยาก ในมงคล 38 ประการท่านก็ว่าให้ห่างไกลคนพาลไว้ก่อน

ในพระไตรปิฎกบทหนึ่งท่านก็กล่าวไว้ว่า คนต่ำกว่าไม่ต้องไปคบ ถ้าจะคบก็คบไว้เพื่อไว้ช่วยเขา ดังนั้นถ้าจะหาความเจริญก็ต้องมุ่งไปหาคนที่เจริญ ไปคลุกคลีอยู่กับคนที่เจริญกว่า เก่งกว่า เก๋ากว่า

ผมนี่ไม่ค่อยอยากจะเสียเวลากับคนมากเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ จะว่าไปก็ไม่มีปัญญาไปช่วยเขาหรอก เหตุหนึ่งเพราะเขาก็ไม่ได้ให้เราช่วย คือไม่ได้ศรัทธากันขนาดนั้น มันก็ช่วยไม่ไหว ทำไปมันก็เสียเปล่า สู้เอาเวลาไปสนับสนุนคนดีจะดีกว่า เสียเวลาเท่ากันได้ประโยชน์กว่าเยอะ

ช่วยคนที่ไม่ศรัทธา ให้ตายก็ช่วยไม่สำเร็จ ดีไม่ดีมีการเพ่งโทษกลับไปอีก ลงนรกลึกเข้าไปอีก จากอยู่ขุมที่มันไม่ทุกข์มาก พอเพ่งโทษแล้วไม่รู้จะลงไปอยู่ขุมไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นคนพาลก็ปิดประตูบรรลุธรรมแล้ว ดังนั้นไปยุ่งกับคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาขนาดนั้น มันก็มีแต่เสียเป็นส่วนใหญ่

ครูบาอาจารย์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ศรัทธาประมาณไหน ท่านถึงจะลงมือ ท่านก็บอกว่าระดับ full house คือเปรียบเทียบกับการได้ไพ่รูปแบบหนึ่งใน poker ซึ่งมีอัตราส่วนที่เขาประเมินมาก็ประมาณ 0.1% นั่นหมายความว่า เจอพันคน ก็จะช่วยได้จริง ๆ ก็หนึ่งคนนั่นแหละ พอเห็นอัตราส่วน มันก็สบายใจเลย โล่งเลย แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รอให้เต็มรอบค่อยลงมือก็ได้ พวกไม่จริงจังก็ปล่อยเขาไปตามที่ชอบ ๆ ของเขา ก็ win win เราก็ไม่ต้องเสียเวลา เขาก็ไม่ต้องมาเพ่งโทษเรา

คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด

ชีวิตมันยากเพราะมันโง่มาเยอะ ที่ชีวิตมันยากลำบากก็เพราะต้องมารับผลกรรมชั่วที่เกิดจากความโง่ที่เคยทำมานี่แหละ

ความโง่ หรือเรียกให้ดูสุภาพตรงจริตบางท่าน ก็คือมีอวิชชาเข้าครอบงำ (จริง ๆ มันก็ครอบมาตั้งแต่ชาติไหนแล้วก็ไม่รู้ ช่างมันเถอะ มันแก้อดีตไม่ได้)

ความโง่อันหนึ่งที่ทำร้ายชีวิต ทำลายเวลาอย่างหาประโยชน์แทบไม่ได้คือการคบคนพาล ซึ่งผมเองก็เคยเจอมาในชาตินี้เช่นกัน

สมัยศึกษาธรรมะใหม่ ๆ ก็ศึกษาไปมั่ว ๆ จนมาเจอของที่ปฏิบัติได้ผลจริง สุดท้ายไอ้ที่ศึกษามาก่อนหน้านั้น กว่าจะล้างสัญญาที่เรียนรู้และศึกษามาผิด ๆ ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี แน่นอนว่ายังมีวิบากกรรมซ้อนทบไปอีก จากการที่เราหลงไปศรัทธาคนผิดในชาตินี้ ก็ต้องยอมไปรับในอนาคตต่อไป

ดังนั้นผมจึงไม่บังอาจไปแนะนำ เสนอแนะ หรือสอนใครที่เรียนมาต่างกัน สัญญาต่างกัน ความเห็นต่างกัน ฯลฯ เพราะมันยากที่เขาจะเข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะเขาเชื่ออย่างนั้น จำอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น แล้วบางทีเขามาหลงตีความว่าเราเข้าใจอย่างเขาอีก ถ้าไม่จำเป็นก็คงจะไม่สนทนาเพราะมันต้องใช้เวลามาก แถมยากอีกด้วย การจะล้างความเห็นผิดของตัวเองว่ายากแล้ว จะไปล้างคนอื่นนี่ยากกว่า ยิ่งถ้าเขาไม่ยอมด้วยก็เลิกเลย ไม่ต้องคิด พวกโต้วาทะ ดีเบทอะไรนี่ ไม่เอาด้วยหรอก เสียเวลา

ถ้าถามว่าเห็นใจไหม มันก็เห็นใจเขา เราก็เคยเป็นมา แต่มันก็สุดมือเอื้อม แถมเขาก็ไม่ได้ร้องขอให้เราทำสักหน่อย ถ้าเป็นแบบตั้งใจ แสวงหาทางพ้นทุกข์กันจริง ๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ทุกวินาทีที่ยังคบคนพาล ยังเอาอสัตบุรุษเป็นที่พึ่ง มันก็จะสร้างความหลงไปเรื่อย ๆ เพราะเอาคนพาลเป็นอาจารย์ หลงว่าเป็นมิตรดี มันก็จะปักใจเชื่อ ทำใจตามคำสอนผิดเหล่านั้นแหละ ส่วนมากเป็นไปในทิศทางของกิเลส ซ่อนในวาทะสวยงามเหมือนลูกอมหวาน สอดไส้ยาพิษ

ดีไม่ดี หนีข้างนอกมาเจอในหมู่คนปฏิบัติดีนี่แหละ ก็แทรกตัวอยู่ เป็นเหมือนเนื้อร้าย เป็นมะเร็ง คบกันมากันไป กลายเป็นทิศทางนรก ธรรมะกลับหัวกลับหาง ไม่มีธรรมก็แสร้งว่ามีธรรม ไม่มุ่งขัดเกลาตนเอง แต่มุ่งแต่เรื่องคนอื่น เสแสร้ง ส่อเสียด ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ยุให้คนมีจิตที่ไม่ดีต่อกัน ไม่ศรัทธากัน เพ่งโทษกัน คนแบบนี้คบไปมีแต่เสีย เหมือนพ้นนรกข้างนอกแล้วก็มาเจอนรกข้างในต่อ

ลักษณะหนึ่งของคนพาล คือ มักจะทำให้เราไขว้เขว ไม่ปฏิบัติที่ใจตนเอง ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่ทำใจในใจ มักจะมุ่งเน้นองค์ประกอบข้างนอก ไม่ลงไปถึงกิเลส ตัณหา อุปาทาน แต่จะสนใจแค่เหตุการณ์ผิว ๆ พื้น ๆ เท่านั้น

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง คนพาลจะแก้ปัญหานอกตัว ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง ซ้ำยังโทษผู้อื่น หาโทษผู้อื่น(เพื่อยกตน ข่ม ดูถูก โยนปัญหา ฯลฯ) เพื่อสนองกิเลสตน

ถ้าคุณได้ลองพบกับ “คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง” คุณจะรู้ได้เลยว่านี่แหละคนพาล แถมคนพาลยังมีกำลังที่จะดึงดูดคนพาลมาร่วมกันอีก จึงกลายเป็นพากันเพ่งโทษเป็นอภิมหากำลัง

คุณอาจจะสงสัยว่า วัน ๆ คนพาลไม่มีอะไรทำกันเลยหรือยังไงถึงได้เอาเวลาไปเพ่งโทษชาวบ้าน ไม่มุ่งปฏิบัติธรรมที่ตน ก็อย่าได้สงสัยไปเลย ให้เข้าใจว่านี่แหละธรรมชาติของเขา และเป็นวิบากกรรมของเราที่ต้องมาเจอเขา

มันไม่มีอะไรถาวรหรอก วันหนึ่งผลกรรมชั่วของเราก็หมด เขาก็เลิกยุ่งกับเราเอง ส่วนวันไหนเขาทุกข์เกินทน เขาก็เลิกเป็นคนพาลเอง … แต่ยากหน่อยนะ เพราะกรรมที่ทำมาจะดึงดูดคนพาลเข้ามาในชีวิตเยอะ เป็นคนพาลก็คบแต่คนพาล พอชาติที่จะเลิก มันจะออกยาก มันจะวนเวียนในชีวิตอยู่นั่นแหละ ก็ให้เพียรทำดี ตั้งจิตตั้งใจว่าจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นกิเลสดี ๆ แล้วเสียสละและปฏิบัติตามศีลให้ตั้งมั่น มันจะหมดวิบากกรรมสักวันหนึ่งเอง

เช่นเดียวกับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ ก็ให้ตั้งจิตให้ดี ปฏิบัติ หมดวิบากร้ายชุดนั้นก็จะรู้เองว่าทางที่เดินอยู่นั้นถูกหรือผิด ครูบาอาจารย์ที่คบอยู่นั้นแท้จริงเป็นคนพาลหรือบัณฑิตกันแน่ คงต้องใช้ความตั้งใจและเวลาที่จะพิสูจน์ความจริงกัน

มงคลชีวิต กับเรื่องคู่

ว่ากันด้วยเรื่องมงคลชีวิต ต่อจากเรื่องคู่เมื่อโพสก่อน ใครตกไปก็ตามไปอ่านกันก่อนได้

พระพุทธเจ้าตรัสมงคลชีวิตข้อแรกไว้ว่า “ไม่คบคนพาล” ข้อแรกนี่คือตัวกรองหยาบของศาสนาพุทธเลย เพราะในความจริงแล้วคนพาลมีอยู่เต็มโลก ซึ่งท่านก็ตรัสไว้อีกว่าคนที่จะพ้นทุกข์ได้จริง ๆ เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีจำนวนเพียงแค่ฝุ่นปลายเล็บเมื่อเทียบกับดินทั้งแผ่นดิน

คนพาลจึงทำหน้าที่อย่างคนพาล คือมีไว้พรากคนโง่ออกจากความผาสุกที่แท้จริงโดยเฉพาะ คนที่คบคนพาล ก็จะพาไปหาผิด เช่น มีคู่ก็บอกว่าดี หรือไปมีคู่ก็จะพบความสุข พบความเจริญ ก็เฉโกกันไปตามความฉลาดของคนพาลที่จะแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม

ในประเด็นเรื่องคู่ พระพุทธเจ้าปิดแทบทุกประตู คือไม่ส่งเสริม และคำตรัสของท่านเกี่ยวกับเรื่องคู่ เรื่องความรักก็มีมากมายเช่น ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ” นั่นหมายถึงคนพาลจะพาไปในทิศทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ แต่ปลายทางคือจะไปมีคู่ให้ได้

หรือไม่คนเขาก็มักอ้างเล่ห์ว่า มีรักแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักแต่ไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นความฉลาดของคนพาลอีกเช่นกันในการสร้างวาทกรรมนำกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ดังเช่นว่า มีรัก ๑ ก็ทุกข์ ๑ หรือที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ มันจะหนีทุกข์ไปไม่ได้หรอก ยกเว้นไม่ฉลาดพอที่จะเห็นทุกข์ ซึ่งการจะเห็นทุกข์นี่มันก็ยาก และคนพาลย่อมไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัยของการยินดีในการครองคู่อยู่แล้ว

หรืออีกความเห็นที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยคืออยู่เป็นคู่บารมีส่งเสริมกันทำดี อันนี้เนียนสุด ๆ ดูดี ดูขาวสะอาด แต่กลิ่นฉุนพอสมควร เพราะความจริง ลักษณะของการเป็นคู่บารที่ปรากฎในพุทธประวัตินั้น จะพบว่าแทบจะไม่มีความอยากในการครองคู่เลย พระพุทธเจ้าก็ดี พระมหากัสสัปปะก็ดี ท่านก็ไม่อยากมีคู่ แต่พ่อแม่ก็บังคับบ้าง บริบทของสังคมบังคับบ้าง คือสภาพของคู่บารมีนี่มันไม่ต้องผลักดัน ไม่ต้องพยายาม ถึงพยายามจะผลักไสเขาก็จะมาอยู่ดี และที่สำคัญคือจะดำรงสภาพคู่อยู่ก็ต่อเมื่อยังไม่มีคำสอนในศาสนาพุทธเผยแพร่อยู่ ดังเช่นกรณีของพระมหากัสสัปปะ ซึ่งมีเรื่องราวคล้าย ๆ กับพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อยากแต่งงาน นอนก็เอาดอกไม้กั้น ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ถึงเวลาบวช ก็แยกกันไปคนละทาง อันนี้คือลักษณะเด่นของสาวกของพระพุทธเจ้าคือ เมื่อพบธรรมะก็จะหูผึ่ง จะไม่เอาแล้วเรื่องคู่ จะวิ่งหาธรรมอย่างเดียว

ส่วนยุคนี้มีธรรมประกาศอยู่ ซึ่งตามที่ยกมาก็ชัดพอแล้ว สูตรเดียวก็ชัดแล้ว คือมีรักก็ต้องทุกข์ ดังนั้นจะไปรักให้มันทุกข์ทำไม แต่คนพาลจะไม่พูดแบบนั้น จะไม่คิดแบบนั้น จะไม่เชื่อแบบนั้น คนพาลจะไม่ดำรงในธรรม แต่จะดำรงอยู่ในกาม จะฝักใฝ่ในเรื่องคู่ สามารถคิดหาเหตุผลล้านแปดในการให้น้ำหนักในการที่ตนหรือผู้อื่นจะยินดีในการมีคู่

เรียกว่ามาสร้างคู่บารมีผิดยุค ยุคนี้มันต้องโสดปฏิบัติธรรมจึงจะเจริญได้ไว ถ้าจะสร้างบารมีกันก็ยุคที่ไม่มีธรรมของพุทธประกาศอยู่ ถ้ามาหลงยุคสร้างบารมีกันในยุคนี้นี่จะเรียกว่าขัดขวางความเจริญกันซะมากกว่า เพราะยังไงก็ขัดกับคำพระพุทธเจ้าชัด ๆ อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่เจริญถึงขั้นเป็นบัณฑิตสักที ดังคำกล่าวว่า ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด

คนส่วนมากก็จะไปหลงติดกับธรรมของคนพาลกันมาก ยากนาน ยึดยื้อกันอยู่หลายภพหลายชาติ เพราะเชื่อแล้วมันฝัง กลายเป็นอุปาทาน ทีนี้บวกพลิงกิเลสยิ่งยึดใหญ่ เพราะมันชอบเสพไง มันก็หาคำ หาประโยค หาแนวคิด หาวาทกรรมมาให้ได้เสพสมใจได้หมดนั่นแหละ

ต่อมาที่ข้อคบบัณฑิต ข้อนี้เป็นตัวคัดคนเข้าพุทธเลย ว่าจะทำใจได้รึเปล่า บัณฑิตก็คนที่ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่ใช่แค่พูดได้นะ แต่ทำได้จริงด้วย แล้วทำได้อย่างยั่งยืน ยาวนาน ไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยน คงทนถาวรด้วย ไม่ใช่เข้ามาอาศัยศาสนาศึกษา อาศัย สอนไป สอนไปว่าแล้วก็สึกไปมีเมีย อันนี้ไม่ใช่แล้ว บัณฑิตนี้มันก็ต้องคัดหน่อย จะคัดมันก็ต้องใช้ปัญญา ส่วนข้อ 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชาจะเป็นตัวย้ำสัมมาทิฏฐิ ส่วนคนโง่ เขาก็บูชาคนพาลอยู่นั่นแหละ สรรเสริญธรรมของคนพาล ยินดีในธรรมของคนพาล ทิศมันจะกลับกัน

นี่ก็พยายามย่นย่อได้เท่านี้ มงคล 38 ก็เอาแค่ 3 ข้อแบบไม่เต็มก็ดูจะยาวมากแล้ว ก็เอาเท่านี้แล้วกันครับ ใครที่อ่านแล้วก็พิจารณาหาประโยชน์กันไป ไม่ต้องเพ่งหาโทษนะ อันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า ๆ

เทศกาลเจ ศึกมารเทวดา

ใกล้เทศกาลเจ บทความเกี่ยวกับการลดละเลิกเนื้อสัตว์ ก็จะได้รับการแชร์มากเป็นพิเศษ ก็จะมีคนเข้ามาให้ความเห็น ส่วนจะเห็นอย่างไรก็ลองตาม ๆ ศึกษากันดู

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มีคนเสนอ และมีคนค้าน ฝ่ายเสนอก็คือการชวนเลิกกินเนื้อสัตว์นี่แหละ ส่วนฝ่ายค้านก็คือผู้ที่จะไม่เลิก และชักชวนให้ไม่ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ และยินดีในการไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ถ้าจะสรุปจากที่เคยพิมพ์มา ๆ ก็จะให้ความเห็นก่อนเลยว่าการค้านแย้งในประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้ลดการเบียดเบียน แถมยังชักชวนให้ยินดีและส่งเสริมการเบียดเบียนต่อไป สรุปคือมันก็ไปทางตรงข้ามกับหลักปฏิบัติของพุทธนั่นแหละ เหตุผลจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องดูทิศ ดูที่ไปของผลของกรรมด้วย ไม่เบียดเบียนก็ไปทางนึงนะ เบียดเบียนก็ไปอีกทางหนึ่งนะ ไปคนละทางกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่ต่างกัน ก็ทำใจยอมรับ ๆ กันหน่อย

ส่วนใครจะไปทิศไหน ภพภูมิไหน อันนี้ก็คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะตราบโลกแตกมันก็ต้องมีคนเห็นต่างกันอยู่แล้ว และโดยมากก็จะไปชั่วเป็นธรรมดาเสียด้วย เรื่องนั้นเราอย่าไปใส่ใจนักเลย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่เราได้ “ปะทะ” ,”กระทบ”,”ได้ยินได้ฟัง” ความเห็นที่แตกต่างแล้วเราทำใจในใจอย่างไร เรายอมรับฟังได้ไหม เราพิจารณาได้ไหมว่าแบบไหนมันดีกว่า มันเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากกว่า หรือเราจะเอาแต่ของเรา ของที่เราเคยเรียนรู้ ของที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น หรือ ความคิดของฉันถูกที่สุด อะไรประมาณนี้

ประโยชน์ของการเสนอกับการค้าน ในเชิงลึกมันก็มีอยู่ในด้านการตรวจจับจิตมาร-เทวดา ในใจตัวเอง ไม่ต้องไปตรวจคนอื่นหรอก เอาตัวเองนี่แหละว่าเป็นมาร เป็นเทวดา หรือเป็นมารในคราบเทวดา

ถ้าเราฟังความเห็นต่าง ฟังข้อมูลต่างแล้วลองเอาไปปฏิบัติดู จนเห็นผลว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เขาว่ามานั้น มีประโยชน์/ไม่มีประโยชน์ อย่างไร พอเห็นอย่างนั้นจริง หรือระลึกเท่าที่เคยทำมา หรือศึกษาจากกลุ่มที่เขาปฏิบัติ แล้วชัดเจนในผลนั้น จึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือคงสภาพเดิมก็แล้วแต่ประโยชน์ที่พึงเกิดแต่ตนและผู้อื่น

ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ผมปฏิบัติ เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วน้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ประหยัด เรียบง่าย พึ่งตนได้ ยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ผมก็มั่นใจว่า “ผล” ที่ได้รับนั้นควรค่าแก่การเลิกแล้ว

หรืออีกตัวอย่าง ที่เขาแนะนำกันมาเช่น กินเป็นธาตุบ้าง กินด้วยจิตว่างบ้าง ผมก็ลองนะ ลองฟังเขา แต่พิจารณาดูแล้วธาตุมันก็มีธาตุดีกับธาตุเลวด้วยนะ จะเอาอะไรเข้าปากมันก็ต้องมีประโยชน์ มันก็ต้องใช้ปัญญาบ้าง พระพุทธเจ้าท่านให้กินของที่ย่อยง่ายและไม่เป็นโทษจึงจะดีต่อชีวิต พืชผักนี่แหละย่อยง่าย โทษก็น้อย ยิ่งปลูกเองยิ่งปลอดภัย ประหยัด เนื้อสัตว์นี่เสี่ยงโรคและยาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมชาวพุทธเขาก็ไม่ค่อยอยากคบคนผิดศีลกันสักเท่าไหร่หรอก จะให้คบค้าสมาคมกับคนที่เขาฆ่าสัตว์ขายนี่ผมทำไม่ได้ ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผิดศีลโดยไม่จำเป็น แถมแพงก็แพง เก็บก็ยาก ต้องมีตู้เย็น ผักนี่ไม่มีตู้เย็นก็เก็บได้ ประเด็นนี้ชนะขาดกันแบบเห็น ๆ

ส่วนกินด้วยจิตว่างนี่มันยังไง ก็คนมันมีปัญญาเนาะ มันก็รู้ประโยชน์และโทษสิ จิตนี่มันว่าง มันไม่ได้อยากกินหรอกเนื้อสัตว์ มันก็ไม่ต้องไปกินให้มันลำบากสิ ที่ยังแสวงหากินอยู่นี่มันจิตไม่ว่าง ยังอยู่ในกามภพ ยังหลงกินอยู่ กินด้วยจิตว่างนี่มันจะหลับหูหลับตากินไม่ได้นะ จิตมันว่างจากกิเลส มันก็เลยมีปัญญา ไม่ใช่ว่างจากปัญญาก็เลยกินไม่คิด พุทธนี่มีการคิดที่ถูกที่ควรเป็นมรรค ในระดับโลก ๆ เอาแค่คิดว่ากินสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็พอแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้คนอื่นเขาทำยังไงนะ ที่เขาว่าว่างมันว่างแบบเดียวกันรึเปล่าหรือมันว่างแบบบื้อ ๆ หรือมันแค่พูดดีว่าว่าง สุดท้ายคุณกินเข้าไปคุณก็รู้เองนั่นแหละ เรื่องกิเลสมันโกหกตนเองไม่ได้หรอก จิตมันจะยินดีที่ได้เสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่ชักชวนกันเสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่มีคนส่งเสริมการเสพเนื้อสัตว์

อาการ 3 อย่างนี้ เป็นอาการของอสัตบุรุษ หรือคนพาล หรือ… ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป ส่วนใครมั่นใจว่าทำได้อย่างที่ว่า คือยินดีในการกินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นต่าง ๆ แล้วยังสามารถเบิกบาน ผาสุก สุขภาพดี ไร้ทุกข์ ไร้กังวลในชีวิตได้ ก็ทำไป …ส่วนตัวผมไม่เชื่อคนหนึ่งล่ะ

ก็สรุปบทความสั้น ๆ (?) นี้ลงตรงที่ว่า อย่าไปเอาประโยชน์จากการเถียงกันเลย ให้เอาประโยชน์จากการเถียงมารในใจตัวเองดีกว่า คนอื่นเขาอยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวเขาก็ไป กิเลสมารในใจเราอยู่ด้วยกันมาหลายล้านชาติ สิงเรามานานแล้ว ยังไปสู้ผิดคนผิดเป้าอีก

ไม่คบคนพาล

มงคลชีวิตอย่างหนึ่งก็คือการไม่คบคนพาล สำหรับผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ การไปคบคนพาลจะทำให้เนิ่นช้าเข้าไปใหญ่

การไม่คบคนพาลนั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีปัญญาแยกว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต เพราะโดยมากแล้วคนส่วนใหญ่ก็ไปคบคนพาลนั่นแหละ ยิ่งศาสนาพุทธนี่ยิ่งจะมีคนพาลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์เยอะ เรียกว่าเป็นหลุมพรางในทางพุทธเลยทีเดียว

ที่ผิดนั้นมีเยอะ ที่ถูกนั้นมีน้อย อันนี้เป็นสัจจะอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสำนักที่มีน้อยจะถูกเสมอไป ความถูกความผิดนั้นต้องเทียบเอาจากหลักฐานคือพระไตรปิฎกด้วย จากสภาวะธรรมของผู้ที่ปฏิบัติได้จริงด้วย คือต้องมีการตรวจสอบความผิดความถูกต้องกันอยู่เสมอ

เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะแยกบัณฑิตกับคนพาลออกจากกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เลือกคบคนดี ไม่คบคนชั่ว ส่วนคนที่ยังไม่ดี ยังชั่วอยู่บ้าง จะคบไว้ก็เฉพาะเหตุที่จะช่วยเขาเท่านั้น

ส่วนตัวผมนั้น ถ้าตรวจสอบดีแล้วว่าใครสอนมิจฉา ใครทำผิดทางพ้นทุกข์ ผมก็ไม่คบ ถ้าคบอยู่ก็เลิกคบเหมือนกัน หรือถ้าใครที่ผมเคยเคารพแต่เขาดันไปคบกับคนพาล อันนี้มันก็บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่มีปัญญาแยกดีแยกชั่ว เราก็ห่างจากเขามา

มีหลายสำนักที่ผมได้เคยศึกษา แต่ผมมักจะไม่กล่าวถึงเท่าไหร่ แต่สำนักไหนที่ผมไม่กล่าวถึงนั้นแหละ คือผมไม่อยากคบ ถ้าผมคบหาอยู่ผมจะกล่าวถึงเป็นระยะ ๆ ตามโอกาสที่เหมาะสม

ส่วนคนที่มิจฉาในสำนักที่สัมมานั้นก็มีเป็นปกติ ถึงจะเป็นสำนักที่ถูกก็ใช่ว่าจะไม่มีคนผิดเลย มันก็จะมีคนถูกอย่างสมบูรณ์เป็นส่วนน้อย แต่ค่ารวม ๆ นั้นมีความถูกต้องอยู่มาก เพราะสำคัญที่ผู้นำ

เวลาที่ผมจะศึกษาสำนักไหน ผมจะมุ่งเน้นไปที่ผู้นำ แล้วค่อยดูผู้ที่ปฏิบัติตามภายหลัง ถ้าผู้นำไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องไปดูที่เหลือแล้ว สำนักในไทยนั้นเยอะมาก จะศึกษานานไปก็เสียเวลา

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะศึกษาแล้วจะเห็นความจริงนะ หลายคนที่เขาศรัทธาสำนักที่ผิด เขาก็ศึกษากัน ดังนั้นประเด็นไม่ใช่แค่การศึกษาแต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะดูว่าคนมีปัญญานั้นจะรู้ได้่โดยการคบหาศึกษากันนาน ๆ แต่เฉพาะคนมีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ คนโง่รู้ไม่ได้ สรุปมันก็เลยไม่มีคำตอบที่เป็นผลที่ยอมรับกันได้เป็นสากลหรอก เพราะคนโง่เขาก็ว่าคนที่เขาศรัทธานั้นดี ส่วนคนมีปัญญาเขาก็เห็นว่าคนที่คนโง่นั้นศรัทธานั้นเห็นผิด มันก็ไปด้วยกันไม่ได้

สุดท้ายความเป็นพุทธก็คือการวางใจ ถ้าช่วยบอกเขาเต็มที่เท่าที่จะทำได้แล้ว ก็ปล่อยเขาลงนรกไปแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะที่สุดแล้ว มันก็ช่วยไม่ได้ทุกคนหรอก ตราบโลกแตกมันก็จะมีสำนักที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากศาสนาแล้วสอนแบบผิด ๆ อยู่วันยังค่ำนั่นแหละ ปราบสำนักนี้ไป เดี๋ยวก็มีสำนักใหม่เกิดขึ้นมาอีก คนเห็นผิดมันคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นสงครามที่รบไม่มีวันจบ

ถ้าจะเอาชีวิตสงบ ก็อย่าไปคบคนพาลเลย

กาฝากโลกธรรม

ประเด็นการโหนคนดีเพื่อล่าลาภยศสรรเสริญสุขนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เคสคลาสสิกที่สุดคือพระเทวทัตที่บวชมาเพื่อแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากการสร้างสำนักใหม่ ใช้การกลืนกินจากภายใน ห่มผ้าเหลือง ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า สุดท้ายก็เสนอเงื่อนไขแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า

จนมีภิกษุผู้หลงผิดหลายรูปตามพระเทวทัตไปด้วย ลำบากพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปตามกลับ สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ …พระเทวทัตใช้การเกาะพระพุทธเจ้าดัง เพราะว่ามันง่าย มาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า จะพูดอะไรคนเขาก็ชอบ เขาก็ศรัทธา ถ้าไม่ใช่ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าหรือระดับอริยสาวก ไม่มีทางรู้หรอกว่าพระเทวทัตชั่วอย่างไร ปุถุชนก็หลงตามพระเทวทัตกันได้ทั้งนั้น เพราะพระเทวทัตพูดแต่สิ่งที่ดี!

เช่นเดียวกันในสมัยนี้ มีนักบวชที่บวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าหาโลกธรรม มันก็ทำได้ เพราะชาวไทยส่วนใหญ่ศรัทธาพระพุทธเจ้า พอห่มผ้าเหลืองปุ๊ป พอพูดตามพระพุทธเจ้าปั๊ปเขาก็ศรัทธา หลงว่านักบวชนั้นเป็นของจริง ก็แห่ไปเคารพบูชาโดยไม่ตรวจสอบ ไปหลงเคารพศรัทธาเพียงเพราะเขาพูดเรื่อง&พูดตามพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในอดีตเราก็มีบทเรียนกันมาตั้งหลายครั้งว่า นักบวชที่อาศัยผ้าเหลืองหาโลกธรรมก็มีเยอะ สุดท้ายก็ความแตก จับได้สึกไป ยังเสนอหน้าในสังคมก็มี ไอ้ที่เขาจับได้แต่ยังหน้าด้านอยู่ก็มี

นับประสาอะไรกับฆราวาสที่ใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหากิน เอามาสร้างสำนักแสวงหาโลกธรรมให้ตัวเอง ให้ได้ลาภสักการะบริวาร มันมีมากมายอยู่แล้ว ความจริงมันยังไม่เปิดเผยว่าชั่ว คนก็ดูกันไม่ออก ก็แอบเสพกันไป สะสมความชั่วกันไป วันหนึ่งคนเขาจับได้ก็พังกันไป แถกันไป หน้าด้านอยู่กันไป

เช่นเดียวกันกับการเอาความดีของคนอื่นไปหากิน ไม่ต้องถึงระดับพระพุทธเจ้าหรอก เอาแค่ระดับครูบาอาจารย์หรือคนดีที่น่าเคารพบูชาทั้งหลายในสังคม ก็มักจะโดนพวกกาฝากโลกธรรมเข้ามาหาผลประโยชน์ มีทุกกลุ่มคนดีนั่นแหละ ไปตรวจสอบกันดูได้ พวกที่เข้ามาเพื่อมาเอาคุณความดีบางอย่าง บ้างก็แอบเกาะกินไปอย่างนั้น บ้างก็อยากดังเองก็แยกวงออกไป สร้างสำนักของตัวเอง

ก็ดู ๆ กันไป ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ไปหลงชื่นชนคนพาลนี่ฉิบหายยาวเลยนะ ผูกภพผูกชาติไปกับเขาอีกนานเลย ส่วนตัวผมถ้าไม่แน่ใจว่าใครดีจริง ผมไม่รีบตัดสินใจตามนะ มันต้องคบคุ้น ใช้เวลาศึกษากันนาน ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าคนนี้แหละของจริง ผมถึงจะตาม

ไอ้ที่แบบทำดีเอาหน้าล่าโลกธรรมผมก็เห็นมาเยอะ สมัยศึกษาธรรมะแรก ๆ นี่เรียกว่าเมาเลย โอ้โห มีแต่คนดี คนเก่งเต็มไปหมด แต่พอศึกษาไปทำไมมันเริ่มเห็นความชั่ว อ้าวคนนั้นก็ดีไม่แท้ คนโน้นก็ดีไม่แท้ มีแต่ของปลอมทั้งนั้น เอาธรรมะมาหากิน เอามาหาลาภสักการะบริวารทั้งนั้น ดีนะที่ผมไม่หลงตามคนพวกนี้ไปเพียงเพราะเขาพูดธรรมะและสรรเสริญพระพุทธเจ้า …หลงตามพวกกาฝากศาสนาไปนี่ฉิบหายเลย

คนพุทธที่คบหาคนพาลหลงตามคนพาล

เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ (มีคนนับถือศาสนาพุทธในทะเบียนบ้านเยอะ) มีคอร์สปฏิบัติธรรม มีสำนักมากมาย แต่ส่วนมากก็ตกม้าตายกันตั้งแต่แรก ตรงที่ดันไปคบคนพาล ไม่คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ไม่ควรบูชา (ตรงข้ามกับมงคล ๓๘)… ซึ่งไปสอดคล้องกับความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร) ข้อ ๗ คือการทำสักการะก่อนในที่นอกขอบเขตพุทธ (ไปเคารพศรัทธาเกื้อหนุนในสิ่งที่ไม่ใช่พุทธ แม้สิ่งนั้นจะเรียกตนเองว่าพุทธก็ตามที)

…เป็นสภาพเห็นกงจักรเป็นดอกบัวแท้ๆ คือคนเห็นผิดเป็นถูก เขาก็เห็นอยู่อย่างนั้น เขาก็เชื่อว่าของเขาถูกจริง ดีจริง ตรงจริง

…ถ้าอยากรู้จริง ๆ ว่าถูกหรือผิด สมัยนี้ก็ยังมีพระไตรปิฎกให้ตรวจสอบอ้างอิงกันอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ากล้าเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง (เอหิปัสสิโก)