โรคซึมเศร้า จำเลยรักในสังคม

ก่อนหน้านี้ผมได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาประมาณหนึ่ง ซึ่งสังเกตว่าสังคมนั้นไม่ได้แก้ปัญหาของโรคนี้ที่ต้นเหตุ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการทางจิต แต่จากที่ศึกษามานั้น มักจะถูกบำบัดโดยการให้ยาหรือรับการปรึกษา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดในจิต มันมีความผิดปกติในจิตใจ มีสิ่งแปลกปลอมในจิตใจ

ผมจะสรุปก่อนเลยว่า ความรู้ในปัจจุบันไม่มีวันที่จะรักษาโรคนี้หาย แต่มันจะเพิ่มมากขึ้น มีคนเป็นมากขึ้น รวมทั้งจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และโรคนี้มีความสัมพันธ์กับกิเลสอย่างชัดเจน

แต่วิธีรักษาโรคนี้มีมาตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน ในหลักพุทธศาสนา ธรรมทุกบทมีไว้เพื่อกำจัดทุกข์ทั้งสิ้น โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน

จะยกนิวรณ์ ๕ ขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย นิวรณ์นั้นไม่ได้เจอแค่ตอนเรานั่งสมาธิ นิวรณ์ของการนั่งสมาธิก็คือนิวรณ์ของการนั่งสมาธิ เมื่อเราพยายามจะแสวงหาความผาสุกในเรื่องใด เราก็จะเจอกับนิวรณ์ในเรื่องนั้นๆ ในโจทย์นั้นๆ

ความรักก็เช่นกัน

เมื่อมีความใคร่อยากเสพอยากได้ความรักมากขึ้น(กามฉันทะ) เมื่อไม่ได้ก็จะโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจมากขึ้น (พยาบาท) เมื่อไม่ได้สมใจเข้าหนักๆก็ตีกลับเกิดเป็นสภาพหดหู่ เศร้าหมอง (ถีนมิทธะ) แล้วก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย (อุทธัจจะกุกกุจจะ) เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง(วิจิกิจฉา)

สภาพก็เหมือนกับเด็กคนหนึ่งอยากได้ของเล่น แล้วก็ร้องไห้โวยวายลงไปดีดดิ้นที่พื้นสุดท้ายก็ยังไม่ได้ ก็งอนพ่องอนแม่ เสียใจคิดฟุ้งซ่านจะประชด จะฆ่าตัวตาย อะไรแบบนี้

โรคซึมเศร้า คืออาการของถีนมิทธะ ที่รุนแรง ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามปริมาณกิเลสองค์รวมในเรื่องนั้นๆ ยิ่งกิเลสมาก ก็ยิ่งซึมเศร้ามาก แก้ทางกายภาพให้ตายก็ไม่มีทางแก้ได้ อย่างเก่งก็ทำให้กลายเป็นคนติดยา ติดหมอ ต้องพึ่งยา พึ่งพาคนอื่น แต่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองให้พ้นจากอาการนี้ได้

ในเรื่องความซึมเศร้า สามารถอธิบายด้วยธรรมบทอื่นได้ด้วยเช่น ปฏิจสมุปปบาท ก็มีทุกข์ โทมนัส โสกะ ปริเทวะ ซึ่งเป็นอาการของทุกข์และความเศร้าโหยหา หดหู่เช่นกัน

…โรคซึมเศร้าในมุมมองผมก็คือกิเลสตัวหนึ่งที่มันกำลังแสดงอาการอยู่นั่นเอง ในมุมของธรรมะเราจะแก้ด้วยหลักอริยสัจ คือ มันทุกข์ในสิ่งใด มันทุกข์เพราะอะไร จะดับทุกข์อย่างไร แล้วจะปฏิบัติอย่างไร

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเหมือนกินยา และไม่หายในทันที เพราะต้องใช้ความเพียรต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง จึงเป็นทางแก้ที่แน่นอนแต่เห็นผลได้ยาก พอเห็นผลได้ยาก คนก็บอกว่ามันไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็กลับไปแก้ปัญหาด้วยวิธีโลกๆ แล้ววนเวียนอยู่กับทุกข์นั้นตลอดกาล

ผู้สมควรบวชให้ผู้อื่น ต้องเป็นพระอรหันต์

ภิกษุพึงเป็นพระอรหันต์ จึงให้กุลบุตรบวชได้!!

ไปอ่านเจอมาในพระไตรปิฎก เรียกว่าโหดมากทีเดียว แต่ก็เป็นส่ิงที่สมควรที่สุด ในการบวช ในการให้นิสัย รวมทั้งให้มีสามเณรคอยดูแล… ควรเป็นพระอรหันต์

จะยกพระสูตรนึงมาให้อ่านนะครับ ( เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๕๑-๒๕๓)

“[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ พึงให้
กุลบุตรอุปสมบทได้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็น
ของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัศนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ฯ”

ในข้ออื่นๆ ก็มีความไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างคำว่า ศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ คำว่า “อเสขะ” คือไม่ต้องศึกษาแล้ว มีตำแหน่งเดียวคือพระอรหันต์นั่นแหละ สรุปคือต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ในระดับของพระอรหันต์นั่นเอง แม้เป็นพระอริยะระดับอื่นๆ ก็ยังไม่สมควร

สรุปคือถ้าไม่เป็นอรหันต์นี่บวชให้ใครไม่ได้นะครับ จะฝืนบวชก็ได้ แต่ไม่เจริญหรอก

ซึ่งสูตรที่ยกมานี้เข้ากับคำตรัสที่ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงจะไปสอนใครก็ทำตัวเองให้ได้ก่อน การบวชนี่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นตนเองต้องทำให้ได้ก่อน

ถ้าสาวกพระพุทธเจ้ามาอ่านสูตรนี้ผมว่าสะดุ้งเลยนะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันจะรู้สึกเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร สมมุติถ้าผมเป็นนักบวชนี่ ผมก็คงไม่กล้าบวชให้ใคร หรือถึงเคยทำไปโดยไม่รู้ ก็เลิกทำล่ะงานนี้ ฝืนทำต่อก็นรกกินหัวเปล่าๆ

ส่วนจะมีสูตรไหนอนุโลมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ผมว่ายึดสูตรนี้ไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณนักบวชหรอก เน้นคุณภาพก็พอ ศาสนาพุทธนี่ไม่ได้เน้นปริมาณนะ เอาปริมาณเข้าว่าไม่ได้ เพราะคนเห็นผิดเท่าดินทั้งแผ่นดิน คนเห็นถูกเท่าฝุ่นที่ติดปลายเล็บ ดังนั้นจึงควรจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก

ให้เพราะว่ามันดี

บทเรียนล้ำค่า… เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ช่วยหญิงชราซื้อของ จากนั้นไม่นานเขาได้ทิปถึง 17,000 บาท

ให้เพราะว่ามันดี

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าดี ดีมันเกิดตั้งแต่หนุ่มคนนั้นช่วยหญิงชราแล้ว คือได้ทำดีไปแล้ว ได้ให้แล้ว ดีได้ทำลงไปแล้ว ก็จบกันไป

ในมุมของทานที่สัมมาทิฏฐิก็มีข้อมูลเพียงแค่ว่า ให้เพราะว่ามันดีในขณะนั้น ตามข้อมูล ตามปัญญา ตามกำลังที่มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้เพราะสงสาร หรือเขาไม่มี แต่ให้เพราะการให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี

ฝรั่งคนนี้เขาจะคิดอย่างไรผมก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เมื่อมองกลับมาเปรียบเทียบกับชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าการกระทำของเขานั้นดูมีทีท่าที่เจริญกว่าชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบันอยู่หลายขุม

ชาวพุทธส่วนมากนั้น ทำทานแล้วยังหวังผล ยังทำดีเพื่อหวังสิ่งดี หวังสวรรค์วิมาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกันไป ยกตัวอย่างในเรื่องราวนี้ ถ้าเรื่องมันจบไปตั้งแต่ชายหนุ่มช่วยหญิงชราก็คงจะไม่มีใครสนใจนัก แต่ที่มันได้รับความสนใจก็คือผลของการกระทำนั้น มองแบบโลกๆ มันก็ดูน่าสนใจจริงๆ

แต่ผมว่า เราอย่าไปยินดีในผลนั้นเลย ถ้าเราทำทานเพราะหวังว่าจะได้รับผลดี เราจะทุกข์ไปอีกนานแสนนาน แต่ถ้ายินดีที่เรายอมสละให้ทานได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี

ไม่ต้องถึงกับมีเจตนาปิดทองหลังพระอะไรกันหรอกนะ แค่ทำดีเพราะรู้ว่ามันดี และตรวจสอบชัดเจนว่ามันดี แค่นั้นก็ดีแล้ว ไปเน้นปิดทองเดี๋ยวมันจะกลายเป็นภพเป็นชาติกันยืดยาวต่อไปอีก

พุทธ กลืนกิน พุทธ

ถ้าใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนามาบ้าง ก็คงจะพอรู้เค้าโครงว่า การทำลายพระพุทธศาสนานั้น มักจะไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอก หรือลัทธิอื่นเข้ามาโจมตีตรงๆ แต่เป็นความเสื่อมจากภายในนี่แหละ

ก็มีกรณีศึกษาของ ศังกราจารย์ ที่แฝงเข้ามาเป็นพุทธแล้วยัดไส้คำสอนของตัวเองลงไป คือโดยรูปแล้วก็คงจะเหมือนนักบวชพุทธ แต่เนื้อในนั้นก็ไม่ใช่แน่นอน

ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะพุทธในทุกวันนี้แทบไม่เหลือเชื้อแล้ว คนก็มักง่าย เอาง่ายเข้าว่า อาจารย์คนไหนพูดถูกหูก็ศรัทธาเลยไม่ตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วน รีบเชื่อ รีบปักใจ ทีนี้คนที่เขาอยากได้ลาภสักการะ เขาก็จะปลอมปนเข้ามาในพุทธนี่แหละ

แล้วเขาก็ใช้คำสอนของพุทธนี่เองเป็นตัวเผยแพร่ คำสอนทั่วๆไปนี่เหมือนกันเป๊ะๆ เหมือนลอกกันมาเลยนะ แต่ไส้ในจะไม่เหมือน พอเป็นเรื่องของสภาวะที่ปฏิบัติจริงๆ จะไม่เหมือน ไม่ตรง จะเบี้ยวๆ มั่วๆ ไม่ตรงกับสัมมาทิฏฐิ

จะมีลักษณะที่เบนออกไปเพื่อให้เสพสมใจตามกิเลสได้ ให้เบียดเบียนได้ ฯลฯ ซึ่งจะขัดกับลักษณะของพุทธ

แต่ปัญหาก็คือคนในยุคนี้ไม่ได้ศึกษาความเป็นพุทธ แม้ว่ามันจะยังมีอ้างอิงอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตาม ก็เลือกเชื่อเอาตามอาจารย์ที่ตนว่าดี ถูกใจตรงจริตตน ทั้งๆที่อาจารย์เหล่านั้นอาจจะเป็นคนนอกพุทธก็เป็นได้

เช่นเดียวกับ จุลศีล มัฌชิมศีล มหาศีล ในยุคนี้ก็แทบไม่มีใครปฏิบัติกันแล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีปรากฏในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นกันอยู่ว่านี่นะ เป็นนักบวชในศาสนาพุทธต้องปฏิบัติอย่างนี้นะ แต่ก็ไม่มีใครสนใจนำมาปฏิบัติกัน นั่นเพราะเหตุที่ว่าปฏิบัติตามกันมา เชื่อตามกันมา

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ในกาลามสูตร ว่าอย่าพึ่งรีบเชื่อใครแม้เขาจะปฏิบัติตามๆ กันมา เป็นครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง หรือแม้จะมีอ้างอิงอยู่ในตำราก็ตามที แต่ให้ลองปฏิบัติด้วยตนเองจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์สิ่งใดเป็นโทษ ถ้าเป็นประโยชน์ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้น เป็นโทษก็ควรจะออกห่าง

แต่ก็น้อยคนนักที่จะใช้สูตรนี้ในการพิจารณา ก็เลือกเอา ถือเอา อาจารย์ที่ยกวาทะน่าฟัง ยกที่อ้างน่าสนใจ ยกหลักฐานน่าเชื่อถือ ก็เชื่อไป ฟังไป พอศรัทธาไปแล้ว ยึดไปแล้ว ทีนี้เขาก็ค่อยๆ สอดไส้ความเห็นของเขา เช่นเดียวกับกรณี ศังกราจารย์

ดังนั้นคนที่เชื่อตามๆ กันโดยที่ไม่พิจารณาว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ไม่แยกแยะตรวจสอบให้ดี จึงเป็นผู้ร่วมมือทำลายพุทธจากไส้ใน คือไปศรัทธา เชื่อถือ เผยแพร่ลัทธิที่ตั้งชื่อว่าพุทธนี่ไม่มีความเป็นพุทธนั่นเอง

กรณีศึกษา : ศังกราจารย์…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในชมพูทวีป ธัมมชโย…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในสยามประเทศ??

เรื่องลวงโลกอะไรบ้างที่เข้าใจผิดกันมานาน

จากกระทู้ : เรื่องลวงโลกอะไรบ้างที่เป็นที่เข้าใจผิดกันมาเป็นเวลานาน

ชอบกระทู้แบบนี้นะ เปิดประเด็นมาดี แต่ถ้าเราไปตอบมันจะหลุดโลกไปเลย 55

เรื่องที่เราลวงโลกอยู่นี่ก็พยายามจะลดๆลงไป ส่วนเรื่องที่โลกลวงเรานี่ก็เยอะเลย ยิ่งถ้าได้มาศึกษาพุทธนี่ยิ่งแบบ… อธิบายเป็นคำก็ยาก

เอาเรื่องเด็ดๆ แล้วกัน เช่น เราต้องมีคู่!, เราต้องกินเนื้อสัตว์!, เราต้องรวย!, เราต้องประสบความสำเร็จ(แบบโลกๆ)! จึงจะมีความสุขอะไรแบบนั้น

วันนี้นึกหัวข้อได้เรื่องหนึ่งตอนบ่ายๆ คือ “เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง” กะว่าจะเอาไปใส่ในหมวดคู่มือคนโสดในเพจละนะ…

ที่คิดจะพิมพ์เรื่องนี้เพราะมันลวงจริงๆ โลกเขาลวงให้เราหลงว่ามันเป็นสิ่งควรมีควรได้ควรแสวงหา ไอ้เราก็หลงเมาตามเขาอยู่กว่า 30 ปี กว่าจะโงหัวขึ้นมาได้

ในฐานความรู้ที่ผมมีตอนนี้มันก็สุดแค่นี้แหละ จะไปพิมพ์เรื่องที่มันยากกว่านี้มันก็เกินฐานะไป เอาเรื่องที่ตัวเองเข้าใจและมั่นใจที่สุดก็เรื่องโสดเรื่องคู่นี่แหละ ตอนนี้กลายเป็นเรื่องเด่นที่ถนัดแล้ว

ส่วนตัวแค่คิดว่าเรื่องกิเลสในคู่ครองนี่ก็เรียกได้ว่าพอใช้ความรู้นี้แบ่งปันได้ชั่วชีวิตแล้ว เพราะคงยากที่จะมีคนพ้นด่านนี้มาได้ (พวกหมดโควต้านี่ไม่นับว่าผ่านนะ)

แต่ก็ยังรู้สึกไม่พอใจ มันตันอยู่ฐานนี้นานละ เดี๋ยวจะพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้มีความรู้ใหม่มาพิมพ์บทความกัน แค่คิดก็น่าสนุกแล้ว…แต่ล้างกิเลสนี่ไม่สนุกเลย~ ทุกข์สุดทุกข์ กว่าจะสุขก็นู่นนนนน หมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ ไกลจัง~

เว็บบอร์ดธรรมะ

เมื่อประมาณสองปีก่อนสมัยเพิ่งรู้จักการปฏิบัติธรรมที่ลดกิเลสได้จริง มันก็คันไม้คันมือตามประสามือใหม่ แต่ก็ไม่ได้คันขนาดที่ว่าไปแสดงความคิดเห็นอะไรมั่วไปหมด

เพียงแต่มีความคิดว่า ควรหรือไม่ที่เราจะร่วมเข้าไปเล่นเว็บบอร์ด ไปตอบคำถามที่มีคนตั้งคำถาม ซึ่งหลายๆ คำถามนี่ก็น่าสนใจ น่าตอบมากเลยนะ ถ้าตอบไปเขาคงจะได้ประโยชน์มาก ตอนนั้นก็ยังคิดแบบนั้น

แต่ก็ยั้งใจไว้ มาถามครูบาอาจารย์ก่อนว่ามันเหมาะไหม มันควรหรือไม่ ท่านก็ตอบประมาณว่า ถ้ามันชั่วมากก็ไม่ควร (ผมจำได้ประมาณนี้นะ แต่ประโยคจริงๆ ก็จำไม่ได้)

ผมก็เข้าใจในตนเองเลยนะว่าจริงๆ แล้วเราควรจะไปร่วมกับมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี กลุ่มที่เขายังไม่ค่อยดีเราก็ยังไม่ควรเข้าไปยุ่ง มันจะทะเลาะกันเปล่าๆ เพราะความเห็นมันไม่ตรงกัน ทิฏฐิไม่เสมอสมานกัน ศีลไม่เสมอกัน หลายๆ อย่างไม่ตรงกัน และที่สำคัญเรายังอนุโลมไม่เก่ง จะไปเล่นมันก็จะทำตัวเองให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ดีไม่ดีไปขุ่นใจทะเลาะกับเขาอีก

ดังนั้นตั้งแต่ศึกษาธรรมะมาก็เลยไม่ได้เล่นเว็บบอร์ดธรรมะใดๆ เลย ทั้งที่เป็นคนที่โตมากับยุคอินเตอร์เน็ตและการเล่นเว็บบอร์ด

จริงๆ แล้ว ใครจะเล่นหรือจะตอบก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ถ้าเข้าไปแล้วมันไม่ชั่ว คือตัวเองไม่เกิดความชั่วขึ้นแล้วไม่ทำให้คนอื่นเกิดความชั่วตาม ผมคิดว่ามันก็ไม่มีปัญหา ก็ใช้ศิลปะในการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กันไป

แต่โดยส่วนตัวนั้นผมคิดว่า ลึกๆ มันก็ไม่เหมาะอยู่ดี เพราะลักษณะของพุทธนั้นไม่น่าจะเริ่มต้นด้วยการที่จะเอาคนมานั่งสุมหัวคุยกัน แต่เป็นการแสวงหาบุคคลผู้มีธรรมะ หรือที่เรียกว่า “สัตบุรุษ” แล้วเข้าไปรับฟังธรรมของท่านเหล่านั้น แล้วนำมาปฏิบัติจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสมากกว่า ส่วนการสุมหัวคุยนั้นน่าจะเหมาะสำหรับคนที่ปฏิบัติตรงแล้วเป็นส่วนใหญ่มากกว่า เพราะถ้าปฏิบัติผิด ยิ่งสุมหัวก็จะยิ่งทะเลาะกัน

และจากที่ผมทดลองโดยส่วนตัว คือเอาตัวเองลงไปในกลุ่มต่างๆ แล้วทดสอบดู จึงรู้ว่าเป็นการยากที่จะทำให้คนอื่นๆ รับฟังความเห็นที่แตกต่าง แม้จะมีคนที่ถูกจริงอยู่ในกลุ่มสนทนานั้นก็ตาม แต่ความเห็นของเขาจะถูกกลบลงไปตามน้ำหนักของความเห็นทางโลก (อันนี้ผมอาจจะไม่เก่งเองก็ได้)

แม้ว่าผมจะเป็นคนที่พิมพ์บทความเกี่ยวกับธรรมะที่ตนเองศึกษาไว้ค่อนข้างมาก แต่จะให้ผมสอนใคร หรือแนะนำใคร หรือไปทักใครว่าเขาผิดเขาถูกอย่างนั้น ผมจะไม่ทำ เว้นเสียแต่ว่าคนคนนั้นเขาได้บอกกล่าว หรือร้องขอให้เราบอกเขา ซึ่งก็จะพิจารณาอีกทีว่าจะไม่ตอบเขาหรือตอบเขาอย่างไร

เพราะลึกๆ ผมรู้สึกว่าการตอบคำถามหรือแนะนำกันในอินเตอร์เน็ตนั้นอันตราย เพราะไม่รู้อาการของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นจึงประมาณได้ยาก ไม่เหมือนเจอกัน พูดคุยกัน อันนี้มันประมาณได้ง่ายกว่า ผิดพลาดน้อยกว่า เสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งดูๆ แล้วการนิ่งไว้ก่อนจะเป็นกุศลมากกว่าที่จะเสี่ยงไปแนะนำหรือไปตอบอะไรมั่วๆซั่วๆ

ชังก็ช้า รักก็ช้า

วันนี้ออกไปเดินออกกำลังกายตอนเช้า หลังจากที่ไม่ได้เดินมานาน ระยะทางก็ไม่ไกล ไปกลับ 2 กิโลเมตร พอให้ได้ตื่นตัว

ผมเคยเดินแล้วเจอหมาบ้าง สนใจเราบ้าง ไม่สนใจเราบ้าง มันไม่สนใจเราก็ดี เราก็เดินต่อไป แต่ถ้ามันมาสนใจเรานี่สิ…

หมาที่เข้ามาขู่เรา มาเห่าเรา นี่ผมเคยเจอมาก่อนหน้านี้นิดหน่อย มันก็ตามเห่าเราอยู่นั่นแหละ ที่หนักกว่าคือวิ่งมาดักหน้า 3-4 ตัวแล้วรุมกันเห่า กันไม่ให้เราเดินไปต่อ ซึ่งไม่นานเจ้าของเขาก็มาไล่หมาไป แต่แบบวิ่งมากัดนี่ไม่เคยโดน

วันนี้เจอแบบใหม่ กระดิกหางมาแต่ไกล รู้เลยว่าแบบนี้ไม่กัด ไม่เอา ทำหน้าตาซื่อๆ เดินมาดมเท้าเรา เราก็ลดความเร็วลงเดินช้าๆ จะได้ไม่เตะมัน สักพักมันนึกคึก กระโดดๆ เล่นกับเราต่อ เราก็ไปไม่ได้ เพราะมันก็ดักหน้าเราไว้อีก ก็ต้องหยุดเดินกันนิดหนึ่งรอสบโอกาสแล้วค่อยเดินต่อ

พอเดินต่อไปไม่กี่ก้าว มันเรียกเพื่อนมาอีก เพื่อนมันก็สั่นหางตามมาเลย เรารู้แล้วว่าถ้าเดินช้านี่มันเล่นไม่หยุดแน่ เลยเดินเร็วหนีออกจากมันไป เพราะรู้แล้วว่ามันไม่กัดแน่ๆ

เดินไปก็คิดไป เออเนาะ มีคนชังเรามากเขาก็ดึงให้เราช้า มีคนรักเรามากเขาก็ดึงให้เราช้า ไอ้ชังก็ทนๆไป แต่รักนี่สิ มันมองเห็นยากนะ บางทีเราจะไปติดเมตตาเขามากจนเกินไป จนไม่ทันกิเลสตัวเองก็มี

เพราะชังนี่อาการมันชัด สังเกตุได้ง่าย แต่รักนี่มันเบากว่าบางกว่า แต่มันกัดกินแบบซึมลึก

เช้านี้ก็ได้มาเท่านี้ล่ะครับ

คนไม่มีศาสนา กับ คนติดดี

ในปีที่ผ่านมาผมใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ เพื่อเข้าไปศึกษาคนที่เขาไม่มีศาสนา คนที่ไม่ยินดีในการนับถือศาสนา ไม่เชื่อศาสนา ตามกลุ่มต่างๆ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งเขาก็มีความเชื่อของเขา ที่เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาเห็นและเข้าใจเช่นนั้นคือสิ่งที่ดี (มากกว่ามีศาสนา)

ทีนี้มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าโลกนี้ไม่มีความแตกต่าง ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ การกระทบกันของคนไม่มีศาสนากับคนมีศาสนา จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ต่างอะไรกับการทะเลาะ แข่งดี เอาชนะกันด้วยความเห็นทั่วๆ ไป

คนไม่มีศาสนาก็ยกไว้ เพราะเขาไม่ได้ยินดีที่จะศรัทธาหรือศึกษาในคำสอนของศาสนาใด แต่ปัญหาก็คือคนมีศาสนาที่ติดดี ยึดดี วางดีไม่ลงนี่แหละ ที่จะเข้าไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น

คนไม่มีศาสนาส่วนใหญ่ เขาก็ศึกษาศาสนามาบางส่วนแล้ว เขาก็มีความรู้ของเขาอยู่เหมือนกัน แต่เขาไม่เชื่อว่าความรู้นั้นคือสิ่งที่ดีเลิศสำหรับเขา เขาเชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่าคือการไม่มีศาสนา แต่คนที่มีศาสนาหลายคนก็มักจะเข้าไปให้ข้อมูล หลักฐาน ความเชื่อ จนถึงขั้นยัดเยียด ประชด แดกดัน ดูถูก พูดข่ม จนทะเลาะกันก็มีให้เห็นอยู่บ่อยไป

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ก็จะยิ่งสร้างความเกลียดชัง แตกแยกมากขึ้น ซึ่งก็เกิดจากความติดดี ยึดดี วางดีไม่เป็นนั่นเอง

ถ้าเราไปบังคับยัดเยียดให้คนที่เขาเห็นต่างจากเรา มาเห็นตามเรา เราจะต้องเป็นศัตรูกับคนทั้งโลก

แม้จะเป็นผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงแต่ยังวางความยึดดีของตนไม่ได้ก็ตาม การเอาธรรมะไปบอกคนที่เขาไม่ยินดีที่จะฟัง ไม่ต่างอะไรกับคนพูดเพ้อเจ้อ คนเขาไม่เชื่อก็พูดอยู่อย่างนั้น เมาน้ำลาย เมาธรรมะ เมาอัตตาอยู่แบบนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เห็นถูกตรงจริงๆ มีเพียงแค่ฝุ่นที่ติดปลายเล็บเท่านั้น (หลังจากที่ท่านเอานิ้วไปจิ้มดิน) ส่วนคนที่เห็นผิดนั้นคือทั้งแผ่นดิน ปริมาณมันต่างกันมากๆ …ใครจะเอาภาระเปลี่ยนคนทั้งโลกก็เชิญตามสบาย ผมไม่เอาด้วยหรอก

ทีนี้ก็มีแต่คนบ้า(อัตตา) เท่านั้นแหละ ที่คิดจะไปเปลี่ยนคนอื่น ที่คิดจะไปหว่านล้อม ล่อลวง ดึงดันจะชักจูงคนอื่นให้เชื่ออย่างตน เพราะถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปยัดเยียดธรรมะแล้วจะบรรลุธรรมกันได้ การจะเข้าใจธรรมนั้นๆ ต้องเกิดจากสภาพสุกงอมที่พร้อมจะเกิดผลดีของทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ไม่ใช่เกิดแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้คนพูดจะเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าเขาไม่ยินดีฟัง ก็จะไม่มีวันเข้าใจธรรมนั้นๆ

ที่จริงแล้วคนที่ติดดีในวงการศาสนา ไม่ได้ต่อสู้กับแค่คนไม่มีศาสนา ยังต่อสู้กับลัทธิอื่น ความเชื่ออื่น ทั้งคนใกล้ตัว ทั้งคนไกลตัวด้วย ประมาณว่าข้ารู้ดี อาจารย์ข้ารู้ดี สำนักข้ารู้ดี ก็พาลจะไปยัดเยียดตัวตน(อัตตา) ด้วยความหวังดี ว่าถ้ายัดเข้าไปแล้ว เขาจะต้องเจริญแน่ๆ …โดยที่เขาไม่ได้ถาม

ศาสนาพุทธไม่ได้เผยแพร่ธรรมด้วยการยัดเยียด แต่เป็นการทำตนเองให้ดี ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้ดีจนเขามาถามนั่นแหละ จึงจะบอกไป ถ้าเขาไม่ได้ถาม เขาไม่อยากรู้แล้วเราไปยัดเยียดนี่เราผิดแล้ว เราทำเกินหน้าที่แล้ว เราหวังผลเกินจริงแล้ว มันยังไม่ถึงเวลาสุกงอมของเขา เราไปรีบเด็ดไม่ได้ เราต้องรอ รอจนมันสุกแล้วร่วงลงมา เราค่อยรับเขา ค่อยช่วยเขา

แต่คนศึกษาธรรมะแรกๆ นี่รอกันไม่ค่อยได้ วางกันไม่ค่อยลงหรอก คนที่จะวางความเห็นของตนได้ วางความยึดดีได้ แม้จะมีคนที่มีความเห็นต่างมาแสดงความคิดเห็น มาพูดข่ม มาดูถูก คนที่วางได้จริงนั้นมีไม่มาก ส่วนมากก็ทำทีเป็นวาง แล้วพูดข่มกลับบ้าง ถึงไม่พูดก็ขุ่นอยู่ในใจบ้าง เรียกว่ายังวางไม่ลง แต่ก็ดีกว่าไปด่าเขากลับ ต้องบอกกันตรงๆ ว่าฐานที่จะวางความยึดมั่นถือมั่นได้นั้น ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติใหม่แน่ๆ แม้ผู้ปฏิบัติมานานแต่ปฏิบัติยังไม่ถึงผลก็ใช่ว่าจะวางกันได้ง่าย

การที่เรายังยึดมั่นถือมั่นในความดีที่ตนเชื่อ จนตนเองต้องทุกข์เพราะอัตตา หรือไปทำร้ายคนอื่นด้วยหน้าตา ท่าทาง คำพูดก็ตาม คือความชั่วของคนดี ที่ควรจะต้องรีบล้างให้สะอาด เพราะไอ้ความยึดดีนี่แหละ ที่จะลากคนดีลงนรก

อ่านแล้วก็ระวังกันดีๆ ผมเองก็ระวังอยู่เหมือนกัน เพราะยิ่งเราศึกษาปฏิบัติไปมากเท่าไหร่ ความเห็นของเราจะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้นว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว แต่ถ้าเรายังวางความยึดดีนั้นไม่ลง เราชั่วแน่ๆ และทุกข์แน่ๆ รับรอง

กินเนื้อสัตว์ ค้าขายเนื้อสัตว์ ฆ่าสัตว์ หิริโอตตัปปะเสมอกัน

คนเสมอกันย่อมคบค้าสมาคมกัน (คนฆ่า=คนขาย=คนกิน)

เปิดพระไตรปิฎกมั่วๆ ไปเจอสูตรนึง มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ

สัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ” ( อหิริกมูลกสูตร เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐)

ตอนแรกอ่านผ่านๆ ก็นึกไม่ออก ก็ทำใจในใจตามไป โห! สูตรนี้ดีจัง เอามาใช้ประโยชน์ได้ กับเรื่องการไม่กินเนื้่อสัตว์นี่แหละ

คนที่เขาฆ่าสัตว์นี่เขาเป็นคนผิดศีลเป็นประจำเลยนะ จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาก็คิดว่าการฆ่านั้นคุ้มค่าที่จะแลกมาเพื่อการดำรงอยู่ของเขา คนที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำนี่น่าคบไหม? ผิดศีลเป็นประจำนี่เป็นคนดีไหม? ไม่มีหิริโอตตัปปะนี่เจริญไหม?

นี่เขาอยู่นอกพุทธไปไกลมากเลยนะ ชาวพุทธที่แท้จริงนี่ศีล ๕ ขั้นต่ำนี่ต้องให้แน่นๆ เลย ทีนี้คนฆ่าเขาก็คบหาสมาคมกับคนขายไง เขาก็ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เราฆ่านายขาย อันนี้เขาก็มีความเสมอกันแล้ว

ทีนี้คนก็ไปซื้อจากคนขายมา ก็คบค้าสมาคมกับคนขาย มีส่วนได้ส่วนเสียกัน มีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน นั่นก็หมายถึงมีความเสมอกันด้วยหิริโอตตัปปะนั่นแหละ เพราะลึกๆ คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังยินดีที่เขาฆ่ามา

ถ้าผู้อ่านเข้าใจความในสูตรนี้จะเข้าใจเลยว่า ทำไมใน วณิชชสูตร (เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) ที่ตรัสถึงเนื้อหาการค้าขายที่ชาวพุทธไม่สมควรทำ ว่าไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ และค้าขายชีวิตสัตว์ อันนี้มันร้อยกันอยู่ มันเข้ากันพอดี

คนฆ่าคนขาย เขาก็มีความเห็นเดียวกัน คนขายคนซื้อกินเขาก็มีความเห็นเดียวกัน ดังนั้นคนฆ่าคนซื้อกินก็มีความเห็นเดียวกัน

รู้อย่างนี้แล้ว อย่ารีรอให้นรกถามหาเลย ควรปฏิบัติให้มากทำให้ความเห็นให้ถูกตรง ให้หิริโอตตัปปะมันเจริญขึ้น ให้มันเจริญไปกว่าคนที่เขาผิดศีลฆ่าสัตว์ ไม่ใช่บอกว่าตัวเองบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แต่ดันมีความเห็นตรงกับคนที่ฆ่าสัตว์ มันก็ผิดอยู่ในตัวนั่นแหละ

มงคล ๓๘ ข้อแรกนั้นท่านให้ห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล …แต่นี่อะไร ไปซื้อเนื้อสัตว์มันก็สนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์อยู่แล้ว ยิ่งเอามากินให้ดูยิ่งกลายเป็นการชักชวนให้คนอื่นกินตามอีก มันก็หลงกันไปใหญ่ อย่างนี้แหละ ติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดไปหมดเลย บรรลุธรรมกันไปนอกขอบเขตพุทธกันไปหมด หลุดกันไปไกลแบบนี้จะกลับมากันได้ไหมนี่ ก็พยายามทำความเข้าใจกันนะ

อรหันต์ในรูปของฆราวาส

อรหันต์ในรูปของฆราวาส

จากตอนก่อนที่ผมยกเรื่องจิตตคฤหบดีน่าจะเป็นอรหันต์มาด้วยหลักฐาน ๒ สูตรนั่นคือ อเจลสูตร (เล่ม ๑๘ ข้อ ๕๘๐)และปุตตสูตร (เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐) นั้น ต่อมาได้มีเพื่อนได้แสดงความเห็นต่างว่า จิตตคฤหบดีน่าจะเป็นพระอนาคามีตามที่เขาได้ศึกษามา และได้เสนอความเห็นมาดังนี้

(1) พระอนาคามีจะไม่ต้องมาเกิดในกามวจรภูมิอีก แม้บรรลุธรรมขั้นต่ำๆ จะเกิดในพรหมโลกเท่านั้น และบางท่านก็จะสามารถบรรลุนิพพานได้ในพรหมโลกเลย ตามแต่กรรมและความเพียรที่ทำมา

(2) หากฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้ว จะต้องบวชทันที โดยวิสัยของพระอรหันต์ หรือไม่ก็จะสิ้นอายุทันที

ผมจะยืนยันในสิ่งที่ผมพบตามหลักฐานในพระไตรปิฎกดังนี้ครับ จากนี้ก็ขอให้ท่านพิจารณาข้อความที่ยกมาโดยแยบคาย โดยยกสัญญาหรือสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาวางไว้ก่อน แล้วเรียนรู้กันตามหลักฐานที่ปรากฏกัน

(ตอบ 1) ในข้อนี้เขาให้ความเห็นฟันธงลงไปแล้วว่าจิตตคฤหบดีน่าจะเป็นพระอนาคามี จากนั้นจึงได้บรรยายองค์ประกอบของพระอนาคามีตามสมมุติสัจจะที่ได้เรียนรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งผมมีความเห็นต่าง ตรงที่ผมประเมินว่าจิตตคฤหบดีเป็นพระอรหันต์จากเหตุปัจจัย ในอเจลสูตร และปุตตสูตรดังนี้

ในอเจลสูตร จิตตคฤหบดี ได้ตอบเพื่อนที่ถามถึงมรรคผลว่าปฏิบัติแล้วได้อะไรบ้าง ดังนี้ “จิตต. ท่านผู้เจริญ แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม” มาวิเคราะห์ท่อนนี้กันก่อน

แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้” จากประโยคนี้ก็บอกอยู่แล้วว่า แม้ฆราวาสก็มีธรรมเช่นนั้นได้ คือนักบวชเขาเป็นอรหันต์กันได้ เราก็เป็นกันได้เช่นกัน

เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า” ประโยคนี้สื่อว่า ท่านทำสิ่งนั้นได้จริง หวังได้คือมันเป็นไปได้ ถ้าคนปฏิบัติยังไม่ถึงผลจริงๆ นี่มันยังหวังไม่ได้ชัดเจนนะ มันจะมัวๆ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึง เรียกว่าแค่ “ได้หวัง” แต่ที่ท่านย่อมหวังได้เพราะท่านทำได้จริง

“เราสงัดจากกาม” ความที่ว่าสงัดจากกามนั้น ต่างจากไม่เสพกาม การไม่เสพกามนั้นอาจจะเป็นเพียงผู้ที่กดข่ม หรือผู้ที่ข้ามกามภพ แต่สงัดจากกามหรือสงบจากกามนี่ หมายถึงผู้ที่ข้ามกามทั้งหมด ถ้าเราเอาสังโยชน์ มาอธิบาย กามจะมีอยู่ทั้งในสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ และสังโยชน์เบื้องสูง ๕ กามฉันทะจะอยู่ในสังโยชน์เบื้องต่ำ ส่วนรูปราคะ และอรูปราคะอยู่ในสังโยชน์เบื้องสูง พระอนาคามีนั้นดับกามภพหรือกามฉันทะได้หมดสิ้นเกลี้ยงแล้ว นั่นจึงไม่กลับไปเกิดในภามภูมิอีก ไม่ไปเสพกามอีก แต่ทีนี้มันจะเหลือรูปราคะ และอรูปราคะ คือความติดใจในรูปเป็นอารมณ์ ก็คืออยากเสพนั่นแหละ แล้วคำว่ากามในพุทธนี่กินความกว้างมาก หมายถึงความอยากเสพทั้งหมด รวมทั้งรูปและอรูปเลย นั่นหมายถึงผู้ที่สงัดจากกามอย่างแท้จริงนั้น จะต้องดับ รูปราคะและอรูปราคะด้วย และผู้ที่ดับสังโยชน์เบื้องสูงทั้งสองนั้นได้ ก็มีแต่พระอรหันต์ เพราะพระอนาคามีนั้นยังมีสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ อยู่ นั่นคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

“สงัดจากอกุศลธรรม” คำนี้ยิ่งย้ำยืนยันความเป็นอรหันต์ ถ้าคนไม่หมดกิเลสนี่พูดคำนี้ไม่ได้นะ ผิดสัจจะ เพราะการที่ยังมีกิเลสอยู่นั้นหมายถึงยังมีอกุศลธรรมอยู่ แม้จะเหลือแค่อวิชชา อวิชชานั้นก็ยังเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งดีงามเลย คนจะหมดอกุศลธรรมได้อย่างแท้จริงก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น

จากนั้นท่านก็บอกว่าท่านเข้าฌาน ๑ ๒ ๒ ๔ เป็นอันหวังได้สำหรับท่าน ก็คือท่านทำได้ทั้งหมดนั่นเอง จบประโยคชุดนี้ด้วย “ก็แหละข้าพเจ้าพึงพยากรณ์ก่อนพระผู้มีพระภาคไซร้ ก็จะไม่เป็นการน่าอัศจรรย์ สำหรับข้อที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์ ข้าพเจ้าว่า ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว)จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ”

จากสูตรนี้ผมสังเกตว่า จิตตคฤหบดี เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน มีปัญญามาก รู้ประมาณว่าสิ่งใดควรไม่ควร ท่านรู้นะว่าตัวท่านเองบรรลุธรรม แต่จะบอกคนอื่นก่อนมันก็ไม่งาม นี่ท่านรู้ในตนอยู่แล้ว ท่านก็เลยให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกว่าท่านบรรลุธรรม

ประโยคที่พระพุทธเจ้าพยากรว่า” ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว)จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ” สำหรับประโยคนี้จะยกปฏิจสมุปปบาทมา ดังที่เรารู้กันดีว่าอวิชชานั้นเป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ … ดังนั้นหากไม่ดับอวิชชา ก็ถือว่าไม่ดับเหตุแห่งการเกิด มันจะต้องมีเหตุให้เกิดได้ในวันใดก็วันหนึ่ง เพราะการดับอวิชชาเท่านั้นจึงเป็นการดับที่สิ้นเกลี้ยง ไม่เวียนกลับ ไม่ถดถอย แต่ถ้าดับไม่ถึงขั้นนั้น ก็จะเวียนกลับมาตกต่ำได้ ดังนั้นถ้าไม่ดับอวิชชา การกลับมาสู่โลกนี้ ก็เป็นอันหวังได้ เพราะพระอนาคามีนั้นยังมี รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาอยู่ แม้จะไม่เสพกามแล้ว แต่ลาภ ยศ สรรเสริญทั้งหลายนั้นยังเป็นภัยต่อพระอนาคามี ยังเป็นสิ่งที่ฉุดพระอนาคามีให้ลงมาเสพได้ ดังจะขยายในสูตรต่อไป

ปุตตสูตร สูตรนี้กล่าวถึงอันตรายอันเผ็ดร้อนของลาภสักการะ เนื้อความเต็มของสูตรนี้มีดังนี้ [๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อวิงวอนบุตรคนเดียวซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ พึงวิงวอนอย่างนี้ว่า ขอพ่อจงเป็นเช่นจิตตคฤหบดี แลหัตถกอาฬวกอุบาสกเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จิตตคฤหบดีและหัตถกอาฬวกอุบาสก เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้ ถ้าพ่อออกบวช ก็ขอจงเป็นเช่นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเถิดดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้ ขอพ่อจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล ถูกลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำ ถ้าลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำภิกษุผู้เป็นพระเสขะไม่บรรลุอรหัตผลไซร้ ก็ย่อมเป็นอันตรายแก่เธอ ลาภสักการะแลชื่อเสียง ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

สูตรนี้กล่าวถึงหญิงชาวพุทธวิงวอนลูกชายคนเดียวที่เธอรัก ว่าให้ลูกจงเป็นอย่าง จิตตคฤหบดี* แต่ถ้าจะบวชก็ขอให้เป็นอย่างอัครสาวกทั้งสอง ขอให้ลูกอย่าได้เป็นเพียงพระอริยะที่ยังไม่บรรลุอรหัตผลเลย เพราะลากสักการะจะเป็นอันตรายแก่พระอริยะที่ต่ำกว่าพระอรหันต์ (ในพระสูตรอื่น กล่าวว่า แม้ลาภสักการะ ก็ยังเป็นอันตรายแก่พระอรหันต์เช่นกัน แต่ก็ถือว่าอันตรายน้อยที่สุด)

นี่แม่สมัยก่อนเขาไม่ได้อยากให้ลูกดัง มีชื่อเสียง ร่ำรวย หรือเป็น ซีอีโอ อะไรแบบนั้นนะ เขาอยากให้ลูกเป็นพระอรหันต์ ลูกจะได้ไม่ต้องประสบภัยจากลากสักการะทั้งหลาย พระอริยะขั้นอื่นๆ นี่แม่เขาไม่เอาเลยนะ แม้จะสูงส่งกว่าปุถุชนแม่ก็ไม่เอา จะให้ลูกเป็นอรหันต์อย่างเดียว

ทีนี้แม่ที่หวังจะให้ลูกเป็นอรหันต์จะแนะนำให้ลูกเป็น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีหรือไม่? ก็ต้องไม่ใช่ไหม ดังนั้นการที่แม่จะแนะนำให้ลูกเป็นอย่างจิตตคฤหบดี นั่นหมายความว่า ถ้าจะดำรงอยู่ในรูปฆราวาสก็ต้องเป็นอรหันต์ พระสูตรนี้มีสมการที่ค่อนข้างลงตัวอย่างนี้

๐. แม่อยากให้ลูกเป็นอรหันต์

๐. แม่ไม่ยินดีให้ลูกเป็นอริยะที่ต่ำกว่าพระอรหันต์

๐. แม่แนะนำให้ลูกเป็นอย่างจิตตคฤหบดี

๐. ดังนั้นจิตตคฤหบดี ต้องเป็นพระอรหันต์

จบการตอบข้อคิดเห็นข้อแรกเพียงเท่านี้ครับ นี้เป็นหลักฐานที่ผมได้จากสองสูตรนี้ ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณากันดู ซึ่งอ่านแล้วจะเห็นต่างก็เป็นสิทธิของแต่ละท่าน เพียงแต่ผมชี้ให้เห็นว่า ผมเข้าใจว่าจิตตคฤหบดีเป็นอรหันต์ด้วยเหตุดังนี้

(ตอบ 2.) จากโจทย์ (2) หากฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้ว จะต้องบวชทันที โดยวิสัยของพระอรหันต์ หรือไม่ก็จะสิ้นอายุทันที

ผมเข้าใจว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อตามๆ กันมา เพราะปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดเป็นข้อกำหนดว่าฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้วถ้าไม่บวชจะสิ้นอายุภายในวันนั้นวันนี้ แม้ในสมัยพุทธกาล ฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์จะสิ้นอายุก็เพราะกรรมของท่านเหล่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นพระอรหันต์เลย

ในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสบอกว่า อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพราะเหตุหลายๆ ประการเช่น เขาเล่าสืบต่อกันมา เขาเชื่อกันโดยมาก มีครูบาอาจารย์บอกมา มีหลักฐานตามตำราหรือหนังสือ ทั้งหมดนั้นจะไปรีบเชื่อก็ไม่ควร เพราะอาจจะเป็นเรื่องหลอกก็ได้ วิธีพิสูจน์คือทำตัวเองให้เข้าถึงภาวะนั้นๆ แล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเชื่อแล้วดี สิ่งใดเชื่อแล้วไม่ดี

ความเชื่อว่า ฆราวาสเป็นอรหันต์ถ้าไม่บวชจะตายภายใน ๗ วันนั้นมีมานานแล้วในเมืองไทย แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องดำมืด เป็นเรื่องของคนไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ทำเหมือนเป็นเรื่องลี้ลับ ทำให้เหมือนเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งๆที่ หลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นเรื่องของความรู้แจ้ง ชัดเจน พิสูจน์ได้

ผมยังให้ข้อสังเกตเพิ่มว่า อาจจะเป็นการแบ่งชั้นวรรณะของคน ว่านี่พระนะ ถ้าจะเป็นอรหันต์ต้องเป็นพระ นี่ฆราวาสนะ ไม่มีทางสูงกว่าพระได้หรอก จากที่ผมศึกษามาหลายๆครั้ง แนวโน้มของความเห็นคนจะไปในแนวทางนี้เป็นส่วนมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตรัสไว้อย่างนี้นะ หาอ่านที่ไหนก็ไม่เจอ หลักฐานก็ไม่มี มีแต่เรื่องแต่ง เรื่องเล่า เป็นนิทาน เป็นนิยายกันมาทั้งนั้น

เรื่องนี้จึงเป็นอุปทานหมู่ที่ฝังใจคนไทยมานานแสนนาน เป็นเรื่องลี้ลับที่ไร้การพิสูจน์ เพราะไม่รู้จะไปหาพระอรหันต์มาจากไหน ถึงมีก็ไม่รู้อีกว่าอรหันต์จริงอรหันต์เก๊ หรือถึงจะยืนอยู่ตรงหน้า คนไม่มีปัญญาก็ไม่รู้อยู่ดีว่านั่นเป็นพระอรหันต์ ดังที่มีพราหมณ์เคยแลบลิ้นใส่พระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อว่าท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เองโดยไม่ต้องมีอาจารย์

ดังนั้นผมจึงให้ความเห็นในเรื่อง ความเชื่อที่ว่า ถ้าฆราวาสเป็นพระอรหันต์แล้วไม่บวชภายในวันนั้นวันนี้ก็จะตาย เป็นความเชื่อที่เบาหวิว ไม่มีหลักฐานที่อ้างใดๆ และถ้าเอาจริงๆ จะฟันว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่แรงเกินไปนัก เพราะความเชื่อนี้ขัดกับหลักของกรรมและผลของกรรมอย่างรุนแรง เพราะการเป็นพระอรหันต์นี่มันดีนะ ดีที่สุดในโลกเลย เป็นมหากุศล แต่ทีนี้มีคนไปบอกว่าเป็นแล้วต้องตาย อ้าวนี่มันขัดกันนะ ทำไมดีที่สุดในโลกกลับต้องรับผลกรรมที่ทำให้ต้องตาย มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย กรรมดีก็ต้องให้ผลดีเป็นอยู่ผาสุกสิ กรรมชั่วก็ต้องให้ผลเป็นทุกข์ อันนี้สิถึงจะตรง เอาเรื่องกรรมมาวิเคราะห์กันประเด็นนี้ก็ตกเป็นมิจฉาทิฏฐิไปแล้ว เว้นแต่เขามีความเห็นอุปทานไปในเชิงไสยศาสตร์นั่นแหละ เขาเลยเข้าใจแบบนั้น แต่ถ้าทางพุทธศาสตร์ที่สัมมาทิฏฐินี่ไปเข้าใจแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะมันจะขัดสัจจะไปหมดเลย

สรุปข้อสองนี้ ผมให้ความเห็นว่าท่านลองพิสูจน์กันเองเลยดีกว่า ทำตัวให้เป็นอรหันต์แล้วลองไม่บวชดู จะตายไม่ตายมันไม่ใช่ปัญหาของพระอรหันต์อยู่แล้ว ถ้าตายก็ตายพิสูจน์สัจจะไปว่า เออที่เขาว่ามันจริง แต่ถ้าไม่ตายก็อยู่ช่วยโลกไป ก็ไม่มีใครเสียประโยชน์ แถมได้ความรู้อีกต่างหาก