กินเนื้อสัตว์ ค้าขายเนื้อสัตว์ ฆ่าสัตว์ หิริโอตตัปปะเสมอกัน

คนเสมอกันย่อมคบค้าสมาคมกัน (คนฆ่า=คนขาย=คนกิน)

เปิดพระไตรปิฎกมั่วๆ ไปเจอสูตรนึง มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ

สัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ” ( อหิริกมูลกสูตร เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐)

ตอนแรกอ่านผ่านๆ ก็นึกไม่ออก ก็ทำใจในใจตามไป โห! สูตรนี้ดีจัง เอามาใช้ประโยชน์ได้ กับเรื่องการไม่กินเนื้่อสัตว์นี่แหละ

คนที่เขาฆ่าสัตว์นี่เขาเป็นคนผิดศีลเป็นประจำเลยนะ จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาก็คิดว่าการฆ่านั้นคุ้มค่าที่จะแลกมาเพื่อการดำรงอยู่ของเขา คนที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำนี่น่าคบไหม? ผิดศีลเป็นประจำนี่เป็นคนดีไหม? ไม่มีหิริโอตตัปปะนี่เจริญไหม?

นี่เขาอยู่นอกพุทธไปไกลมากเลยนะ ชาวพุทธที่แท้จริงนี่ศีล ๕ ขั้นต่ำนี่ต้องให้แน่นๆ เลย ทีนี้คนฆ่าเขาก็คบหาสมาคมกับคนขายไง เขาก็ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เราฆ่านายขาย อันนี้เขาก็มีความเสมอกันแล้ว

ทีนี้คนก็ไปซื้อจากคนขายมา ก็คบค้าสมาคมกับคนขาย มีส่วนได้ส่วนเสียกัน มีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน นั่นก็หมายถึงมีความเสมอกันด้วยหิริโอตตัปปะนั่นแหละ เพราะลึกๆ คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังยินดีที่เขาฆ่ามา

ถ้าผู้อ่านเข้าใจความในสูตรนี้จะเข้าใจเลยว่า ทำไมใน วณิชชสูตร (เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) ที่ตรัสถึงเนื้อหาการค้าขายที่ชาวพุทธไม่สมควรทำ ว่าไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ และค้าขายชีวิตสัตว์ อันนี้มันร้อยกันอยู่ มันเข้ากันพอดี

คนฆ่าคนขาย เขาก็มีความเห็นเดียวกัน คนขายคนซื้อกินเขาก็มีความเห็นเดียวกัน ดังนั้นคนฆ่าคนซื้อกินก็มีความเห็นเดียวกัน

รู้อย่างนี้แล้ว อย่ารีรอให้นรกถามหาเลย ควรปฏิบัติให้มากทำให้ความเห็นให้ถูกตรง ให้หิริโอตตัปปะมันเจริญขึ้น ให้มันเจริญไปกว่าคนที่เขาผิดศีลฆ่าสัตว์ ไม่ใช่บอกว่าตัวเองบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แต่ดันมีความเห็นตรงกับคนที่ฆ่าสัตว์ มันก็ผิดอยู่ในตัวนั่นแหละ

มงคล ๓๘ ข้อแรกนั้นท่านให้ห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล …แต่นี่อะไร ไปซื้อเนื้อสัตว์มันก็สนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์อยู่แล้ว ยิ่งเอามากินให้ดูยิ่งกลายเป็นการชักชวนให้คนอื่นกินตามอีก มันก็หลงกันไปใหญ่ อย่างนี้แหละ ติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดไปหมดเลย บรรลุธรรมกันไปนอกขอบเขตพุทธกันไปหมด หลุดกันไปไกลแบบนี้จะกลับมากันได้ไหมนี่ ก็พยายามทำความเข้าใจกันนะ