ตุ๊กแก

ตุ๊กแก

ตุ๊กแก

ผมค่อนข้างชินกับภาพของตุ๊กแก เพราะมากี่ทีก็เห็นมันทุกที มันชอบแอบอยู่ในมุมมืด ๆ ตามของที่พิงกำแพงไว้ เช่น โต๊ะพับ แผงโซล่าเซลล์

ตุ๊กแกที่นี่ไม่ได้สร้างปัญหามากนัก อยู่มาสามปี ก็ไม่ส่งเสียงร้องรบกวนอะไร เคยมีครั้งหนึ่งมันพยายามร้อง แต่เหมือนร้องแล้วสำลักเลยหยุดไป จากนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงมันอีกเลย เห็นแต่ตัว

มีครั้งหนึ่งมันโดนงูกัด ก็น่าจะตายละนะ ตัวแข็งเลย งูก็พยายามกินซากตุ๊กแก แต่มันกินไม่ได้ไง ตุ๊กแกมันตัวใหญ่แถมยังงับขาตัวเองไว้อีก ก็เลยจับแยกเพราะจะปล่อยให้มันกินก็ใช่เรื่อง เพราะสถานที่กินมันคือหน้าห้องนอนเรานั่นเอง

ตอนนี้จากสองตัวในรูปก็น่าจะเหลือหนึ่งตัว ยังไม่เห็นมีเพิ่มมานะ หรืออาจจะมีมากกว่าหนึ่งก็ได้ แต่จำหน้าตามันไม่ได้เท่านั้นเอง

ยามเย็น

diary-0025-ยามเย็น

ยามเย็น

พอมองบรรยากาศตอนเย็นแล้วก็คิดถึงความแตกต่างจากบ้านที่กรุงเทพฯ ที่นี่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ทุ่งหญ้า ไร่นา ภูเขา ต้นไม้… แสงยามเย็นจึงไม่มีอะไรบังมากนัก เต็มที่ก็ภูเขาบัง แต่กรุงเทพฯ นี่ตึกบัง บ้านบัง ป้ายบัง ก็เป็นความแตกต่างของเมืองกับชนบท มันก็เป็นของมันอย่างนั้น

ในตอนที่แสงแดดอ่อน ๆ ยามเย็นกำลังจะหมดไป ลมหนาวก็พัดมา ช่วงก่อนหน้านี้จะหนาวแค่ตอนเช้ากับตอนหัวค่ำ แต่ตอนนี้เหมือนจะมีลมหนาวพัดมาทั้งวัน แต่ยังไม่ถึงกับหนาวมาก แค่ยืนขุดดินตากแดดตอนเช้า 8.00 น ก็ยังหนาวจนอยากใส่ชุดกันหนาวทั้งตัวทีเดียว

ถ้าเป็นสมัยก่อนผมก็คงจะอยากไปเที่ยวประเทศที่เขาหนาวสุด ๆ มีหิมะ มีธารน้ำแข็ง แต่ตอนนี้ไม่เอาแล้ว อยู่ที่นี่ แค่หนาวเท่านี้บางทีก็ลำบากร่างกายแล้ว เลยไม่รู้จะไปหาหนาวกว่านี้ทำไม

หน้าหนาวนี่ก็ดีอย่าง ทำงานเหงื่อแห้งไว ไม่เลอะเทอะนัก ส่วนหน้าฝนนี่ลำบากสุด คือเหงื่อออกมาก ยุงเยอะ เลอะเทอะ แต่ให้ผลผลิตดีสุด ผักโตไวดี ส่วนหน้าร้อนนี่เสียน้ำเยอะ คนก็ต้องกินน้ำบ่อย ต้นไม้ก็เช่นกัน

ยุง

ยุง

ยุง

อยู่ที่ต่างจังหวัดนี่โดนยุงกัดน้อยกว่าที่บ้านกรุงเทพฯ อีก แม้บ้านนี้จะมีต้นไม้มาก แถมยังติดคลอง แต่ก็ไม่ได้มียุงมากมายเท่าไหร่

แต่ถ้าเราเผลอไม่จัดการให้ดี ๆ ปล่อยภาชนะหรือปล่อยให้มีแหล่งน้ำนิ่ง ยุงจะมาไข่ไว้ สุดท้ายก็จะโดนยุงกัดเพิ่มขึ้น เพราะยุงที่โตมามันก็ไม่ได้ไปหากินที่ไหนหรอก มันก็หากินแถวบ้านเรานั่นแหละ

ที่นี่ผมไม่เลี้ยงสัตว์ แม้ยุงก็ไม่เลี้ยงเหมือนกัน แต่บางคนก็ชอบเลี้ยงยุง กัดทั้งตนเอง กัดทั้งคนในบ้าน กัดทั้งเพื่อนบ้าน ไม่รู้จะเลี้ยงยุงกันไปทำไม แต่เขาอาจจะชอบก็ได้เจ็บ ๆ คัน ๆ ดี

แมว

แมว

แมว

มาอยู่ที่นี่ แม้จะมีหนู แต่ผมก็ไม่ได้เลี้ยงแมว เพราะเลิกเลี้ยงสัตว์แล้ว แต่ก็ยังมีแมวของชาวบ้านแวะเวียนมาเป็นบางครั้ง

ผมเคยเห็นข้อมูลที่คนเขาเอามาแชร์ ว่าด้วยเรื่องวัน ๆ หนึ่งแมวของคุณไปที่ไหนมาบ้าง ทำให้ผมเข้าใจใหม่ว่าขอบเขตของมันกว้างมาก

ถ้าหนูหากินได้ในระยะมากกว่า 100 เมตร (เท่าที่รู้) แต่แมวไปได้ไกลกว่านั้นมาก และนี่ก็เป็นแมวตัวหนึ่งที่แวะมาที่บ้านผม ในรัศมีประมาณ 500 เมตรรอบบ้าน ไม่มีใครเลี้ยงแมวเลย

ดังนั้นถึงจะมีหนูก็ไม่ต้องเลี้ยงแมว เดี๋ยวแมวมันก็หาหนูได้เอง และถึงจะไม่มีแมว ก็ยังมีงูที่คอยมากินหนูอยู่ดี

ยอดไชยา

ยอดไชยา

ยอดไชยา

ไชยานี่เป็นเหมือนไพ่ตายของผมเลย ไม่มีอะไรกินก็กินไชยา เขาว่ามันคล้าย ๆ คะน้า

วันก่อนผมลองกินยอดดู ทั้งยอดอ่อนและก้านแก่ ยอดอ่อนนั้นกินสดได้เลย หวาน กรอบ ส่วนยอดแก่ต้องลอกเปลือกออกก่อน มันจะแยกเป็นชั้นชัดเจน ถ้ากิ่งไม่แก่มาก จะกินได้ทั้งกิ่งเลย

ทีนี้เราก็เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ แบบที่เห็นในรูปคือถ้าไม่ได้อยู่รดน้ำเป็นประจำ ยอดมันก็ไม่เติบโต แต่ถ้าได้รดน้ำติดต่อกันสักระยะหนึ่ง ยอดก็จะเขียว

ไชยาเติบโตได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ผมยังไม่เคยเทียบชัด ๆ ว่าแบบไหนมันโตดีกว่า แต่จากที่ลองสังเกตดูมันก็ผลิตใบได้ทั้งสองสภาพ โดยหลัก ๆ น่าจะเป็นน้ำมากกว่าแสง ถ้าน้ำเพียงพอมันก็โตไว ถ้าแดดดีแต่น้ำไม่พอ มันก็เตี้ยตันอยู่แบบนั้น

ตอนนี้ผมมีไชยาต้นที่ค่อนข้างโตอยู่ 3 ต้น ก็เด็ดกิน ตัดกินมากิน ปกติจะไม่ได้กินกิ่ง เพราะจะเอาไปปักชำต่อ เป้าหมายคือสัก 100 ต้น จะได้มีกินตลอดปี 3 ต้นที่มีนี่กินติดต่อกันสักสัปดาห์หนึ่งก็หมดต้นแล้ว พอหมดแล้วพักฟื้นอีกนานเลย กว่าจะโตให้ได้กินใหม่ ดังนั้นจึงต้องขยายพันธุ์ไชยาเพิ่มนั่นเอง

[24] ขี้เถ้า

diary-0024-ขี้เถ้า

24. ขี้เถ้า

ช่วงหลังมานี่ขี้เถ้าชักจะเยอะขึ้นมาก เป็นขี้เถ้าที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่มาที่นี่แรก ๆ เก็บจนได้เป็นถัง ก็เลยต้องหาวิธีใช้มัน

มีครั้งหนึ่งที่เคยก่อกองไฟกันบนพื้นดิน ก็ก่อกันหลายชั่วโมง ใช้ฟืนไปพอประมาณ พอฤดูกาลผ่านไป กลายเป็นว่าวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่กองไฟนั้น เจริญเติบโตได้ดีกว่าวัชพืชในพื้นที่อื่น ๆ

ผมเคยคิดว่าขี้เถ้านี้มีความเป็นด่างมาก ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อต้นไม้ แต่จากสิ่งที่ได้เห็น จึงเข้าใจใหม่ว่ามันขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ จริง ๆ แล้วมันดี มันมีธาตุอาหารอยู่ แต่ก็ต้องใช้มันให้พอเหมาะไม่มากจนเกินไป

มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ขี้เถ้าแบ่งปันอยู่ในอินเตอร์เน็ต ผมก็ได้ประโยชน์จากการค้นหาข้อมูลเหล่านั้นนั่นแหละ สุดท้ายเลยได้วิธีการกำจัดขี้เถ้าที่เต็มถังได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นั่นคือเอามันไปใส่พืชผักที่เราปลูกนั่นเอง

ลูกหนู

ลูกหนู

ลูกหนู

นี่คือลูกหนูที่แตกรัง โดนแม่ทิ้ง คือผมไปเก็บกวาดห้องเก็บของ แม่หนูก็วิ่งพรวดออกมา ลูกมันก็กระเด็นไปตามทาง มีตัวหนึ่งมาซุกอยู่มุมบ้าน ผมก็ดูมันไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น นึกว่ามันจะตายแล้ว เพราะมันนั่งอยู่แล้วมันก็นอนแผละ สักพักก็ลุกขึ้นมานั่งใหม่ ไม่นานนักมันก็หายไป มีสองกรณีคืองูคาบไปกินกับแม่มันพากลับไป เพราะลูกหนูมันยังเดินไม่เก่ง ได้แค่คลาน ๆ สุดท้ายมันไม่มีแรงคลาน นอนอยู่กับที่หลายชั่วโมง

นี่เป็นเรื่องเมื่อสองอาทิตย์ก่อน มาวันนี้เหมือนลูกหนูชุดนี้จะโตแล้ว และหนำซ้ำดูเหมือนว่าแม่หนูจะคลอดลูกอีกคอกแล้ว

ที่นี่ก็ไม่มีอาหารอะไรให้มันกินนะ ผมจัดการเก็บอย่างดี แต่ตอนเก็บซากรังมัน เห็นมะขามอยู่ ซึ่งมีต้นมะขามห่างไปจากบ้านผมราว ๆ 150 เมตร นั่นหมายถึงรัศมีการหากินของหนูมันกว้างกว่าที่ผมคิดค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว สรุปคือมันมาอยู่อย่างเดียว แล้วไปหากินที่อื่น

มันเทศ

มันเทศ

มันเทศ

ผมได้ทดลองปลูกมันเทศมาสักพัก โดยการซื้อหัวมันมา และวางไว้ รอให้มันแทงยอดออกมา แล้วค่อยเด็ดยอดนั้นไปปักชำต่อ

วิธีดังกล่าวค่อนข้างให้ผลดี พอปักชำแล้วต้นโต ก็ตัดลำต้นไปปักชำต่ออีก ซึ่งเวลาผมเอาไปปัก ก็เอาไปปักฝากไว้กับกระถางต้นไม้อื่น ๆ ที่ปลูกไว้ อย่างในรูปทางซ้ายบน ก็เอาไปฝากไว้ในกระถางประดูอ่อนที่เพาะเตรียมไว้ ได้ผลเป็นมันหัวเล็ก แต่จริง ๆ มีอีกหัว แต่ดันอยู่ใต้รากประดู่ เอาออกไม่ได้ เดี๋ยวประดู่จะเสียหาย

มันเทศหัวอ้วน ๆ ด้านหลัง เป็นมันที่ได้หัวเดียวจากกระถางที่วางทิ้ง ๆ ไว้หน้าบ้าน เป็นกระถางที่เอาไว้ชำไม้ เน้นวัสดุปลูกที่โปร่ง ไม่เน้นสารอาหาร แต่ก็ได้ผล ได้หัวมันมาอยู่

ผมเคยลองเอายอดมันที่ชำไว้แล้วมาลงแปลงที่นี่ เพราะคิดว่ามันน่าจะโตได้ดีกว่าในกระถาง กลายเป็นว่าตายเรียบ เอามาปัก 10 ก็ตาย 10 นั่นคือมีรากแล้วนะ แต่มันทนร้อนทนแล้งไม่ไหว

ผมเคยดูรูปก็เห็นเขาปลูกกันในไร่เลย แต่จริง ๆ มันเป็นพืชที่ดูเหมือนจะอ่อนไหวต่ออากาศมากอยู่เหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่ามันอ่อนแอเพราะผมเลี้ยงให้มันอ่อนแอ หรือมันต้องดูแลมากกว่านี้

เพราะตอนปักชำนั้นจะอยู่ในร่ม บ้านที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยโดนแดดเท่าไหร่ มันอาจจะชินกับสภาพนั้น แต่พอมาเจอแดดเต็มวัน แถมให้น้ำยังไม่พอ หนำซ้ำลมยังแรงอีก ไปกันใหญ่เลย

ซึ่งคราวนี้ก็ลองปลูกลงแปลงใหม่อีกครั้ง เลือกแปลงที่โดนแดดไม่เต็มวัน อยู่ใต้ร่มไม้ เผื่อมันจะรอด จะได้มีมันเทศไว้กินเป็นประจำสักที

[23] การเลือกวัสดุอุปกรณ์ (ลวด)

diary-0023-การเลือกวัสดุอุปกรณ์-ลวด

23. การเลือกวัสดุอุปกรณ์ (ลวด)

วันนี้จะมาเล่าเรื่องลวด ในรูปนี้มีลวดสองเส้น เส้นหนึ่งเป็นของเก่า อีกเส้นพึ่งซื้อมาใหม่…

เส้นที่เป็นของเก่าซื้อติดบ้านไว้นานแล้ว อยู่ด้านขวา แขวนไม้ไว้เป็นปีก็ไม่มีสนิมกิน แต่ลวดด้านซ้ายซื้อมาไม่นาน เอามาผูกไม้ก็ไม่นาน สนิมกินในเวลาไม่นาน

บางครั้งการเริ่มทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง เราก็ต้องเสียเวลาให้กับความไม่รู้ อย่างเช่นเราไม่มีความรู้ในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ เห็นหน้าตามันเหมือนจะกันสนิมได้ก็ซื้อมา แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นสนิมเหมือนกับลวดผูกเหล็กทั่วไปได้

ของแต่ละอย่างมีวิธีใช้ของมัน ลวดด้านซ้าย ถ้าใช้ในร่มในที่แห้งก็คงไม่มีปัญหาอะไร

เหมือนกับของหลายอย่างที่ผมใช้แล้วใช้ผิดวิธีเพราะไม่มีความรู้ บุ้งกี๋มันยกของหนักมากไม่ได้ แรงเรามีจริง แต่มันตามแรงเราไม่ไหว มันก็หัก มันก็พัง หรือมีดที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่พอฟันผิดเหลี่ยมนิดหน่อย กลับงอไปทั้งเล่ม

เราก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนี่แหละครับ พวกนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้มีชุดความรู้เผยแพร่อยู่ทั่วไป อาจจะมีก็เช่นพวกในกลุ่มของคนที่ทำอาชีพหรือคนที่เผชิญกับปัญหาเดียวกันเอามาแบ่งปัน แต่ส่วนใหญ่เราก็พลาดก่อนทั้งนั้น เพราะไม่รู้ยังไงล่ะครับ มันก็เลยประมาณผิดไป

ผัดกะเพราฟักทอง

ผัดกะเพราฟักทอง

ผัดกะเพราฟักทอง

หลัก ๆ ก็มีแค่กะเพรากับฟักทองนั่นแหละ เครื่องปรุงก็มี เกลือ พริกแห้ง น้ำตาล สามอย่าง วิธีที่ทำก็เอาฟักทองไปต้มหรือนึ่งก่อน จะได้สุกทั่วกัน แล้วก็เอามาผัด ถ้าไม่ต้มหรือนึ่งฟักทองก่อน ก็ต้องหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะได้สุกง่ายขึ้น

เมนูนี้ทำในวันที่อากาศเย็น เลือกเอาแต่วัตถุดิบฤทธิ์ร้อน เช่นพริก กะเพรา ฯลฯ ถ้าอากาศร้อน กินแบบนี้จะไม่ค่อยสบาย แต่ถ้าหนาว ๆ ก็กินแล้วสบาย

ฟักทองนี่สรุปไปค้นมาแล้ว ว่าเก็บได้นานเท่าไหร่ โดยเฉลี่ยก็เดือนสองเดือน แต่มีบางคนให้ข้อมูลกันว่าคนที่ปลูกฟักทองเขาเก็บกันกว่าครึ่งปี ซึ่งก็มีวิธีเก็บผลผลิต คือปล่อยให้สุกคาต้น ต้นแห้งตายไปเลย แล้วก็เก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเท ไม่อับ จะเก็บได้นาน

พอได้ข้อมูลแล้ว ก็เอาเมล็ดฟักทองที่ได้ส่วนหนึ่ง ลงเพาะกันเลย จะได้มีฟักทองไว้กิน ฟักทองนี่ปลูกแล้วไม่ได้กินง่าย ๆ ต้องรอกันหลายเดือน 4-6 เดือนนู่น กว่าจะได้กิน ก็ปลูกและรอกันไป ดีกว่าซื้อแน่ ๆ แต่ช่วงที่มันยังไม่โตก็ซื้อกินไปก่อน