…ปล่อยเธอไปได้ไหม

ช่วงนี้ได้ยินประโยคนี้บ่อย เป็นเนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลงหนึ่งที่ คนที่เขาก่อสร้างใกล้บ้านเปิดอยู่หลายครั้งในช่วงสองวันนี้

เนื้อหาทั้งหมดของเพลงนั้นก็ปล่อยไปเป็นเรื่องของเพลง มาเล่ากันถึงตอนที่ได้ยินประโยคนี้ ซึ่งมันดูพร่ำเพ้อโหยหาโอกาสเสียเหลือเกิน

ผมมานั่งคิดถึงการที่เราจะร้องขอให้ เขา/เธอ จงอย่าเป็นทุกข์เลย อย่าไปทำชั่วเลย อย่าได้พบกับทุกข์ภัยเลย …. มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในหลักความจริงเลยแม้แต่นิดเดียว

ฟ้าจะผ่าใคร หรือจะลากใครไปตาย ไปลงนรก ผมจะสามารถร้องขออะไรได้ ในเมื่อนั่นเป็นสิ่งที่เขาได้ทำมา มิหนำซ้ำหลายสิ่งเขายังทำไปทั้งที่ตั้งใจเสียด้วย

เช่น เราบอกเขาว่าอย่าไปทำแบบนั้น มันจะทุกข์หนัก สุดท้ายเขาก็ไม่เชื่อเรา ไปเลือกทางชีวิตที่ทุกข์ นี่เขาเลือกอย่างตั้งใจ เป็นทางที่เขาภูมิใจ เป็นชั่วที่เขามั่นใจ

แล้วที่นี้จะไปหวังได้อย่างไรให้วิบากกรรมปล่อยเขาหรือเธอไป มันเป็นไปไม่ได้ วิบากจะลากเขาให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัสขนาดไหนมันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปร้องขออะไรได้

การอวยพรก็เช่นกัน หลังจากศึกษาธรรมะมาจนถึงวันนี้ ผมไม่มีคำอวยพรใด ๆ ให้ใครเลย จะนึกก็นึกไม่ออก มันไม่มีปัญญา คือคำอวยพรแบบเดิมที่เคยใช้มันผิดสัจจะหมดเลย มันไม่เป็นไปตามกรรม เช่น จะไปอวยพรให้เขาเป็นคนดี สุขภาพดี มันจะเป็นไปได้อย่างไร นั่นเขาคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วอยู่ มันจะออกมาเป็นผลดีได้อย่างไร

ผมเข้าใจเลยว่าทำไมพระพุทธเจ้าเลิกให้พร… แต่ท่านก็ได้ตรัสพรในแบบพุทธว่า อายุ วรรณะ สุข โภคะ พละ ซึ่งแต่ละข้อนั้นไม่ได้มาด้วยการฟังใครพูด ต่อให้พระเกจิยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถพูดให้คนได้สิ่งเหล่านั้นได้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า อายุนั้นเจริญได้ด้วยอิทธิบาท วรรณะเจริญได้ด้วยศีล สุขเจริญได้ด้วยฌาน โภคะเจริญได้ด้วยพรหมวิหาร พละเจริญได้ด้วยวิมุตติ หมายถึงทำสิ่งที่ว่าจึงจะได้รับพร ไม่ใช่ได้รับพรด้วยการฟังประโยคเหล่านั้น

จนบัดนี้ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะอนุโลมให้พรอย่างไร มันยากจริง ๆ ที่จะพูดให้ไม่ขัดสัจจะ หรือพูดสัจจะโดยไม่ขัดกับโลก … ดังนั้น ถ้าผมไม่ให้พรใด ๆ ก็ขออย่าได้แปลกใจ … นั่นเพราะผมคิดไม่ออก…

เลิกรัก หักทวง

ได้อ่านข่าวช่วงก่อนหน้านี้ เห็นว่ามีพฤติกรรมการทวงของคืนเมื่อจบความสัมพันธ์ตั้งแต่ในระดับการจีบจนไปถึงแต่งงานแล้ว

ของที่ทวงก็มักจะเป็นเงินที่ได้จ่ายไป บ้างก็เป็นค่าอาหาร ค่าสิ่งบันเทิง ค่านิยมอะไรแนว ๆ นั้น ซึ่งจากข่าวผู้ชายก็มักจะเป็นคนทวงผู้หญิง

ผมจะวิจารณ์เรื่องนี้แบบย่อ ๆ กับสังคมไทยที่ผู้หญิงมักจะหลงว่าตนต้องเป็นผู้ได้รับสิ่งของและการดูแลเสมอ

คือเขาให้ของอะไรมาเนี่ย เขาไม่ได้ให้เพื่อที่จะให้ แต่เขาให้เพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะรับ การดูแลหรือทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ก็ตาม เขาให้เพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยนกับบางสิ่งบางอย่าง คนมีกิเลสมันต้องมีเหตุในการให้ที่เป็นมิจฉาอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ให้ไม่บริสุทธิ์ ก็อย่าไปหวังเลยว่ารับมาแล้วชีวิตมันจะเป็นอยู่ผาสุก

ในสังคมไทยผู้หญิงเคยชินกับการได้รับ ก็รับ รับ รับมาจนไม่ประมาณเลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นโทษภัยแก่ตน เห็นเขาให้ก็รับไว้ ไม่ว่าจะด้วยรับในน้ำใจ รับเพราะไร้เดียงสา หรือรับเพราะโลภก็ตามที ให้ทำความเข้าใจไว้เลยว่าคุณรับของเขามา เขาทวงคืนทั้งหมดแน่ ๆ ไม่หมดชาตินี้เขาก็ตามไปทวงต่อในชาติหน้า คุณจะต้องเสียอะไรให้เขาอีกมาก เสียเงิน เสียเวลา เสียตัว เสียอะไรต่อมิอะไรเท่าที่คุณได้รับมา

แน่นอนเขาไม่ได้ให้เปล่า ๆ เขามีดอกเบี้ยด้วย เขาให้คุณ 100 เขาไม่หวังจะได้จากคุณคืน 100 อยู่แล้ว จะเป็น 110 120 หรือ 1,000 มันก็แล้วแต่ความโลภของเขา ดังนั้นคุณไปรับของเขามา คุณก็ต้องเตรียมรับชะตากรรม

อย่าไปโดนภาพของคู่รักหรืออะไรมันหลอกเอา มันไม่มีหรอกคนที่แสนดีจะมาดูแลกันทั้งชีวิต ถ้าเขาดีจริงเขาจะเอาเวลาและทรัพยากรไปดูแลผู้มีพระคุณของเขา เขาไม่มาเสียเวลากับคนที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นานหรอก ที่เขาทำเป็นแสนดี ดูแลเอาใจ นั่นเขาจะลงทุนเพื่อหวังกำไรจากตัวคุณนั่นแหละ วันใดวันหนึ่งที่คุณไม่สามารถทำให้เขาสาสมใจ วันนั้นแหละ รู้กัน

หมู…

วันนี้ระหว่างขับรถตอนเช้าก็เห็นรถขนหมู น่าจะขนหมูได้ 3 ชั้น ระหว่างที่รถเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ผมก็มองหมูที่อยู่ในกรงเหล่านั้นขยับตัวไปมาได้เท่าที่มันจะขยับได้

ตอนเย็นก็ว่าลืมเรื่องหมูไปแล้ว แต่ระหว่างรถติดก็มีภาพที่มาย้ำ เป็นภาพหมูที่ถูกชำแหละแล้ว ยังเหลือสภาพของหมูอยู่ คือดูรู้ว่าเป็นหมู แต่ก็เป็นเพียงซากที่ถูกวางซ้อน ๆ กันหลังรถกะบะคันหนึ่ง

ผมว่ามันก็น่ากลัวเหมือนกันนะ ที่คนมองว่าการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ก็ต้องยอมรับจริง ๆ ว่ามันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำไมเราถึงโดนหล่อหลอมให้เห็นแก่ตัวเพียงแค่อ้างว่าร่างกายต้องการสิ่งที่เรียกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยเนี่ย (จากพืชก็มีนะ)

เพื่อตัวเองแล้ว จะเบียดเบียนหรือทำร้ายชีวิตสัตว์อื่นก็ได้ สังคมก็ยังยอมรับได้ อันนี้ดีแล้วหรือ? ดีจริงหรือ? คุ้มค่าจริงหรือ? ก็เรียนรู้กันไป…

ราคะจัด พาฟุ่มเฟือย

ช่วงหลัง ๆ มานี่เห็นโฆษณาร้านอาหารทางเฟสบุคบ่อย ส่วนใหญ่ก็เป็นบุฟเฟ่ต์ ซึ่งราคามันสุดแสนจะแพง

ถ้าตามสามัญสำนึกของคนเมืองรายได้ปานกลางทั่วไป มื้อละ 299 ก็คงจะไม่แพงเท่าไหร่นัก แต่สมัยนี้มันมีเด็ดกว่านั้น มื้อละ 500-1500 จนกระโดดไปมื้อละหลายพันจนหลักหมื่น

จริง ๆ แล้วคนเรากินข้าวให้เก่งแค่ไหนก็ได้แค่อิ่ม ผมลองคิดดูว่าไปสั่งอาหารตามสั่งข้างทางกินเต็มอิ่มก็คงเต็มที่แค่ 2-3 จาน คงไม่เกิน 150

ค่าอาหารวันหนึ่ง 150 สำหรับผมมันก็แพงมากอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้เฉลี่ยต่อวันค่าอาหารก็ประมาณ 20 บาท แล้วส่วนที่เกินจากนั้นคือค่าอะไร ?

ชีวิตปกติในอดีตผมอาจจะกินวันละเป็น 100 แต่พอมาศึกษาการอยู่ง่ายกินง่ายค่าใช้จ่ายมันก็ถูกลงเหลือเฉลี่ยวันละ 20 แล้วส่วนต่าง 80 บาทที่หายไปคืออะไร?

มันคือค่าของราคะ ที่เราเคยจ่ายไปนั่นเอง มีราคะมากก็จ่ายมากแปรผันตามกันไป จริงอยู่ที่ว่าค่าครองชีพบางที่อาจจะแพง บางคนทำงานห้างก็ต้องกินในห้างอันนั้นยกไว้ แต่เรามามุ่งเน้นกันที่ในเมื่อเราเลือกอิ่มได้ ทำไมเรายังเลือกอิ่มที่แพงมากกว่าอิ่มที่ถูกกว่า ซึ่งมันก็อิ่มเหมือนกัน ตกลงจะเอาอิ่มท้องหรืออิ่มราคะกันแน่

การกินอาหารแพง ๆ ในสายตาของผม ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่หรูหรา มีศักยภาพหรืออำนาจที่จะได้มา แต่มันคือราคะที่จัดและแรงกล้า…ดังนั้นเวลาที่มีคนอวดว่าได้กินของเขาว่าดี(และแพง) ผมไม่เคยอิจฉาเลย ในทางกลับกัน ผมล่ะสงสารเขาสุดหัวใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าราคะนี่แหละมันร้าย และมันร้ายลึกด้วย คือมันมีโทษที่ไม่ชัด ลึกล้ำกัดกินใจ และเป็นกิเลสที่ล้างยากแสนสาหัสที่สุดตัวหนึ่ง และเขาเอามาอวดมันก็แพร่เชื้อราคะต่อ ๆ กันไปอีก เป็นวิบากร้ายที่ทำทับถมกันไปเรื่อย ๆ

ในสังคมที่พยายามโชว์ว่าตนได้ตนเสพสมใจในสิ่งที่มันแพงนี่แหละ เหมือนกับการแก้ผ้าโชว์ว่าข้ามีราคะจัด …ก็ว่ากันไปตามประสาโลก

ให้เงินพระ ศาสนาฉิบหาย

จากข่าว : แชร์สนั่น หลวงพี่ไฮโซ ฉันปิ้งย่าง-ใช้ของแบรนด์ดัง ซื้อวิคตอเรีย ซีเคร็ท ให้สีกา

การให้เงินพระนี่แหละคือสาเหตุหนึ่งแห่งความฉิบหายของศาสนา

การที่ศาสนาพุทธในไทยมันเสื่อมอย่างในทุกวันนี้ก็ไม่ต้องโทษใครหรอก ก็โทษตัวฆราวาสกันนี่แหละ ที่ไม่มีปัญญาเห็นโทษของการให้เงินพระ

ไม่ต้องไปคิดหรอกว่าหลวงพ่อข้าดีอาจารย์ข้าเจ๋งเอาตัวรอดได้แน่ ๆ ได้เอาเงินไปใช้ประโยชน์จริงแน่ ๆ …พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ลาภสักการะยังเป็นภัยแม้จะเป็นพระอรหันต์ … คิดดูเงินนี่ยังเป็นอันตรายสำหรับพระอรหันต์ แล้วที่เหลือจะไปรอดอะไร

ถ้าคุณยังให้เงินพระอยู่ คุณก็คือส่วนหนึ่งในการทำลายศาสนาอยู่นั่นเอง ศาสนาจะเจริญเมื่อพระไม่ใช้เงินก็สามารถทำงานศาสนาได้ มันต้องดีถึงขั้นไม่มีเงินแล้วอยู่ได้สิ มีเงินแล้วอยู่ได้มันจะแปลกอะไร มันจะแตกต่างกับชาวบ้านที่หาเงินใช้เงินยังไง?

จนกว่าจะสาแก่ใจ

คุยกับเพื่อนเกี่ยวกับการออกจากนรกคนคู่ (ที่คนทั่วไปมักจะเห็นเป็นสวรรค์) ว่าคนเรานี้จะออกได้ตอนไหน เพื่อนก็พูดคำประมาณว่า “จนกว่าจะสาแก่ใจ” คือให้ทุกข์จนกว่าจะสาสมใจนั่นแหละ ทุกข์ให้มันสะใจไปเลย ถึงตอนนั้นเดี๋ยวเขาก็อยากออกเอง

ถ้ายังรู้สึกสุขกับการมีคู่อยู่ นั่นคือกำลังอยู่บนสวรรค์ลวง ก็วิ่งเล่นเพลิดเพลินไปตามประสาคนไร้เดียงสา ค่อย ๆ สะสมอกุศลกรรม ปั้นแต่งวิบากบาปมุมนั้นมุมนี้ สร้างนรกที่ไม่ได้ฝันไว้ให้ตัวเองอย่างช้า ๆ (บางทีก็เร็ว)

คนจะพ้นทุกข์ได้นี่ประตูแรกต้องรู้จักกับทุกข์เสียก่อน ต้องรู้ว่าสิ่งที่เข้าไปเสพนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถ้ายังมีความเห็นว่ามันเป็นสุขมันจะไม่อยากออก แบบนี้ยังไม่ต้องคุยธรรมะกันให้เสียเวลา ก็ให้ไปลองพิสูจน์ดูจนกว่าจะสาแก่ใจ

บางคนแค่คบหาเป็นแฟนก็รู้จักทุกข์มากพอที่จะออกแล้ว แต่ส่วนใหญ่ต้องมากกว่านั้น ต้องแต่งงาน ต้องมีลูก ต้องโดนทอดทิ้ง ทำร้าย หักหลัก ฯลฯ มันถึงจะสาแก่ใจ …จะว่าไปก็เหมือนพวกมาโซคิสม์ ที่เจ็บแล้วสุข เขาทำร้ายแล้วก็สุข มันก็สุขแบบวิปริตตามประสาคนหลง เช่น ทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ตบตีกัน ทำร้ายกันแต่ก็ยังยินดีอยู่ด้วยกัน เพราะมันมีสุขลวงซ้อนอยู่ในทุกข์ ถ้ามีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขลวง ไม่มีใครเขามีคู่กันหรอก

จริง ๆ คู่รักมันก็ไม่มีอะไรมากกว่าหาผลประโยชน์(เสพกิเลส)ร่วมกัน ฉันได้จากเธอ เธอได้จากฉัน เราต้องมีกันและกัน เป็นอัตตาก้อนหนึ่ง มัดสองคนรวมกันไว้ ไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งอีกฝ่าย ไม่ตั้งอยู่บนหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่จะว่าไป…เขาก็ไม่คิดจะพึ่งตนเองตั้งแต่คิดจะไปมีคู่นั่นแหละนะ

ส่วนใครที่แค่เห็นคนอื่นมีคู่แล้วเห็นทุกข์ ก็ยินดีด้วย บางเรื่องไม่ต้องลงไปเล่นเองให้เสียเวลา แต่ถ้าใครอยากเล่นละครครอบครัวพ่อแม่(ลูก) ก็เชิญจนกว่าจะทุกข์จนสาแก่ใจ

อยากฆ่าใครให้รักคนนั้น

จากที่อ่านข่าว : ศาลสั่งประหาร”หมอนิ่ม” จ้างฆ่า”เอ็กซ์-จักรกฤษณ์

ถ้าอยากทำร้ายใคร ฆ่าใคร จองเวรจองกรรมกับใคร ก็ให้รักคนนั้น แต่งงานร่วมชีวิตกับคนนั้นไปเลยครับ ท่านจะได้สิทธิ์จองเวรจองกรรมข้ามภพข้ามชาติ รวมถึงอกุศลวิบากนานานับประการเป็นโบนัสพิเศษ โปรโมชั่นนี้สามารถรับได้ทุกช่วงเวลา ไปตราบชั่วนิรันดร์

รักใครมากก็เกลียดคนนั้นมากครับ ชาติแรก ๆ มันอาจจะไม่จัดจ้าน แต่ยิ่งสะสมวิบากร่วมกัน กิเลสมันจะจัดจ้านไปเรื่อย ๆ มันจะหลงมากขึ้น จนรักได้ถึงขนาดฆ่ากัน และเกลียดกันได้ถึงขนาดฆ่ากัน สองขั้วนี้เหวี่ยงไปมาไม่มีวันจบสิ้น รักก็ทุกข์ ชังก็ทุกข์

แล้วจะหนีก็หนีไม่ได้ด้วย วิบากมันลากมาเจอกัน และมันมีอุปาทานว่าฉันชอบแบบนี้ ก็เลยต้องมาร่วมหอลงโลงกันซ้ำไปซ้ำมา ทุกชาติ แรก ๆ มันก็ดีทุกคู่นั่นแหละครับ หลัง ๆ นี่จบไม่สวยทุกคู่ ยังไงก็ต้องทุกข์ แต่ไม่ใช่ว่าทุกข์น้อยแล้วจะไปเห็นประโยชน์มันนะ แบบว่า..ทุกข์นิดหน่อยพอรักต่อไปได้ แบบนี้มันก็เหยื่อของกิเลสดี ๆ นี่เอง มันไม่ได้มีชาตินี้ชาติเดียว มันมีต่อไปอีกไม่รู้จบ

ความผูกจากกรรมนี่มันไม่เท่าไหร่ หมดผลกรรมชุดนั้น ๆ ก็ยังพอหลุดกันได้ แต่ความผูกด้วยกิเลสนี่มันหมดหนทางรอดเลย คุณไปยึดว่าสิ่งนั้นดี คุณก็คว้ามันไว้ทุกชาติ แล้วอย่าคิดว่าจะปล่อยกันได้ง่าย ๆ นะ สำหรับเรื่องคู่ ถึงจะบวชเป็นพระก็เอาไม่อยู่ เจอตัวเวรตัวกรรมลากลงนรกมาเยอะแล้ว จะไปสู่ความเจริญก็มาดักตีหัวลากลงนรก สรุปชีวิตเกิดมาก็ต้องมาเป็นทาสรักทุกชาติ

ไปไหนไกลกว่านี้ไม่ได้ เพราะติดเรื่องคู่ ติดผัว ติดเมีย พอติดแล้วก็ยาวไปเลย ไม่มีหรอกเวลาศึกษาธรรมะ หรือเวลาที่จะใช้ทำดีเท่าคนโสด เพราะต้องหมกตัวสร้างวิบากบาปกับคู่ครองที่หลงว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญ คือเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นแหละ ก็เลยเอาเวลาไปทำบาปต่อกันซะเยอะ ชวนกันทำดีนิดหน่อยพอเป็นพิธี สร้างภาพให้ดูดีไปงั้น ๆ

สุดท้ายก็ต้องมารับผลวิบาก คือวนเวียนพบกับคู่เป็นหลักทุกชาติ แล้วทีนี้เวลาอกุศลวิบากจะออก มันก็ออกผลตอนครองคู่กันนี่แหละ ต่างฝ่ายจะต่างทำชั่วต่อกัน ทำร้ายกันโดยดูเหมือนไม่มีสาเหตุอันควร จะทำร้ายกันมากกว่าคนอื่น ก็เพราะมันสั่งสมวิบากร้ายต่อกันมามากนั่นเอง

สรุปคือ ไม่มีความสัมพันธ์รูปแบบไหนทำร้ายกันได้มากเท่ากับคู่ครองอีกแล้ว

ไม่คบคนพาล

มงคลชีวิตอย่างหนึ่งก็คือการไม่คบคนพาล สำหรับผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ การไปคบคนพาลจะทำให้เนิ่นช้าเข้าไปใหญ่

การไม่คบคนพาลนั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีปัญญาแยกว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต เพราะโดยมากแล้วคนส่วนใหญ่ก็ไปคบคนพาลนั่นแหละ ยิ่งศาสนาพุทธนี่ยิ่งจะมีคนพาลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์เยอะ เรียกว่าเป็นหลุมพรางในทางพุทธเลยทีเดียว

ที่ผิดนั้นมีเยอะ ที่ถูกนั้นมีน้อย อันนี้เป็นสัจจะอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสำนักที่มีน้อยจะถูกเสมอไป ความถูกความผิดนั้นต้องเทียบเอาจากหลักฐานคือพระไตรปิฎกด้วย จากสภาวะธรรมของผู้ที่ปฏิบัติได้จริงด้วย คือต้องมีการตรวจสอบความผิดความถูกต้องกันอยู่เสมอ

เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะแยกบัณฑิตกับคนพาลออกจากกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เลือกคบคนดี ไม่คบคนชั่ว ส่วนคนที่ยังไม่ดี ยังชั่วอยู่บ้าง จะคบไว้ก็เฉพาะเหตุที่จะช่วยเขาเท่านั้น

ส่วนตัวผมนั้น ถ้าตรวจสอบดีแล้วว่าใครสอนมิจฉา ใครทำผิดทางพ้นทุกข์ ผมก็ไม่คบ ถ้าคบอยู่ก็เลิกคบเหมือนกัน หรือถ้าใครที่ผมเคยเคารพแต่เขาดันไปคบกับคนพาล อันนี้มันก็บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่มีปัญญาแยกดีแยกชั่ว เราก็ห่างจากเขามา

มีหลายสำนักที่ผมได้เคยศึกษา แต่ผมมักจะไม่กล่าวถึงเท่าไหร่ แต่สำนักไหนที่ผมไม่กล่าวถึงนั้นแหละ คือผมไม่อยากคบ ถ้าผมคบหาอยู่ผมจะกล่าวถึงเป็นระยะ ๆ ตามโอกาสที่เหมาะสม

ส่วนคนที่มิจฉาในสำนักที่สัมมานั้นก็มีเป็นปกติ ถึงจะเป็นสำนักที่ถูกก็ใช่ว่าจะไม่มีคนผิดเลย มันก็จะมีคนถูกอย่างสมบูรณ์เป็นส่วนน้อย แต่ค่ารวม ๆ นั้นมีความถูกต้องอยู่มาก เพราะสำคัญที่ผู้นำ

เวลาที่ผมจะศึกษาสำนักไหน ผมจะมุ่งเน้นไปที่ผู้นำ แล้วค่อยดูผู้ที่ปฏิบัติตามภายหลัง ถ้าผู้นำไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องไปดูที่เหลือแล้ว สำนักในไทยนั้นเยอะมาก จะศึกษานานไปก็เสียเวลา

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะศึกษาแล้วจะเห็นความจริงนะ หลายคนที่เขาศรัทธาสำนักที่ผิด เขาก็ศึกษากัน ดังนั้นประเด็นไม่ใช่แค่การศึกษาแต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะดูว่าคนมีปัญญานั้นจะรู้ได้่โดยการคบหาศึกษากันนาน ๆ แต่เฉพาะคนมีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ คนโง่รู้ไม่ได้ สรุปมันก็เลยไม่มีคำตอบที่เป็นผลที่ยอมรับกันได้เป็นสากลหรอก เพราะคนโง่เขาก็ว่าคนที่เขาศรัทธานั้นดี ส่วนคนมีปัญญาเขาก็เห็นว่าคนที่คนโง่นั้นศรัทธานั้นเห็นผิด มันก็ไปด้วยกันไม่ได้

สุดท้ายความเป็นพุทธก็คือการวางใจ ถ้าช่วยบอกเขาเต็มที่เท่าที่จะทำได้แล้ว ก็ปล่อยเขาลงนรกไปแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะที่สุดแล้ว มันก็ช่วยไม่ได้ทุกคนหรอก ตราบโลกแตกมันก็จะมีสำนักที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากศาสนาแล้วสอนแบบผิด ๆ อยู่วันยังค่ำนั่นแหละ ปราบสำนักนี้ไป เดี๋ยวก็มีสำนักใหม่เกิดขึ้นมาอีก คนเห็นผิดมันคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นสงครามที่รบไม่มีวันจบ

ถ้าจะเอาชีวิตสงบ ก็อย่าไปคบคนพาลเลย

ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก (2) ..บริจาคตามศรัทธา

มาเล่าย้อนกันต่อกับเรื่องการให้ทาน เมื่อนานมาแล้วผมเคยไปสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นเขาก็มีงานเทศกาลอะไรสักอย่าง

ก็มีบูทเปิดขายหนังสือ ผมก็ดูหนังสือ แล้วก็ถามว่าเท่าไหร่ เขาตอบมา 9 บาท แต่ที่ใส่เงินนั้นเป็นกล่องบริจาค ผมก็แปลกใจเล็กน้อย ผมมีเหรียญ 10 หนังสือ 9 บาท ถ้าผมจะขอทอนนี่คือผมงกรึเปล่า? แต่ด้วยความที่ว่าไม่อยากยุ่งยากก็หยอดไป 10 บาทนั่นแหละ เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมเงินไว้ทอน มีแต่กล่องให้ใส่เงินเท่านั้น ผมก็สงสัยอยู่ในใจ ขาย 9 บาทก็รับ 9 บาทสิ แล้วจะเอาเงิน 9 บาทนั้นไปใส่อะไรก็ตามใจ ส่วนกล่องบริจาคก็ตั้งแยกไว้ไกล ๆ หน่อย ไว้กันคนหน้าใหญ่มาใส่เงินเกินความจำเป็น

ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างตะขิดตะขวงใจกับคำประมาณว่า “บริจาคตามศรัทธา” อยู่แล้ว ผมเองไม่ได้จน แต่ก็ไม่ได้รวย พอมีเงินอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่คนใช้เงินไม่คิด

มาเล่าเคสที่สองกัน เป็นแผงใกล้ ๆ เขามีหนังสือมาวาง เป็นหนังสือเกี่ยวกับวินัยของพระ ผมเปิดดูก็น่าสนใจ แต่ไม่เห็นมีป้ายบอกว่ากี่บาท เลยถามเขาว่านี่เอามาแจกหรอครับ คนที่นั่งอยู่เขาก็ว่าให้ฟรี แต่คนที่ยืนอยู่เขาก็บอกว่าตามกำลังศรัทธา

ผมมองไปที่เขายืนอยู่ก็มีกล่องบริจาค ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดว่า เอาไงดี คนหนึ่งบอกแจก คนหนึ่งบอกบริจาคตามกำลังศรัทธา ผมเลยถามย้ำอีกทีว่าเล่มนี้ผมรับฟรีได้ใช่ไหม? ก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิม สรุปผมก็เลยขอเขามาฟรี ๆ นั่นแหละ สมัยนั้น ศีลข้อ ๒ ยังไม่แน่นเท่าตอนนี้ ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงไม่รับเพราะมันมีอาการสะดุดอยู่ ไม่ลื่น มัน 50/50 ไม่ 100%

ตอนนั้นผมคิดว่ามันก็คงจะดีถ้าเรารับมาฟรี คนให้ทานได้เสียสละ 100% ดีกว่าคนให้ทานแล้วมาหวังสิ่งตอบแทน เช่นการบริจาคตามกำลังศรัทธา ถ้าอย่างนั้นคนรวยบริจาคมากก็ศรัทธามาก คนจนมีน้อยบริจาคน้อยก็ศรัทธาน้อยอย่างนั้นหรือ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งกล่องบริจาคใด ๆ โดยเฉพาะคนที่อ้างตนเป็นพุทธ เพราะมันผิดหลักการพ้นทุกข์ของพุทธ คือมาทำดีแล้วยังหวังผล ยังเอาลาภแลกลาภอยู่ อันนี้ก็ไม่ดี หลังจากนั้นสักพักใหญ่ ๆ ผมก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้อยู่ในร้านหนังสือ ราคา 60 บาท ผมก็รู้สึกว่า นี่ถ้าเรามาซื้อในร้านหนังสือคงจะดีกว่า ไม่น่าไปเอาของเขามาเลย

จะสรุปก่อนเลยว่าการตั้งกล่องบริจาคไม่ควรมีในลัทธิพุทธ ถ้าเขาจะให้เดี๋ยวเขาก็ให้เอง ไม่ต้องไปเอื้อจนมันจะกลายเป็นการวัดใจหรือมารยาทขนาดนั้น คือจะขายราคาไหนก็ขายไปเลย ราคาทุนก็ระบุว่าราคาทุน ก็ขายไปเท่านั้นอย่าไปมีกิเลสหวังเศษเงินจากการทำดี เช่นขาย 9 บาท จะหวังให้เขาให้ 10 บาทมันก็ไม่ดี เหมือนนั่งแท็กซี่แล้วคนขับทำฟอร์มไม่มีเศษเหรียญทอนในตอนท้าย

ในเรื่องที่เล่ามาสองตัวอย่างนี้เป็นบทเรียนให้ผมเรียนรู้ความผิดพลาด ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ เราไม่ควรไปอยากได้อะไรเลย ถ้าจำเป็นก็ซื้อไป แต่การจะไปเอาของใครนี่ต้องระวัง ในตอนนี้ ถ้าเขาไม่ใส่พานมาให้ ผมก็ไม่เอาหรอก หรือถ้าปกติหน่อยก็เช่น เขาเปิดโอกาสให้เราเข้าไปเอา อันนี้เราก็พิจารณาอีกทีว่าเหมาะไหม เช่น กรณีเขาแจกหนังสือ ๙๙ พระบรมราโชวาทฯ เราก็พิจารณาก่อนว่า อันนี้เขาให้แล้วหรือยัง ถ้าเขาให้แล้วจำเป็นกับเราไหม เราไม่จำเป็นต้องรับทุกอย่างที่เขาให้ แต่ของที่รับมานั้นควรจะเป็นของที่เขายินดีให้

การเรียนรู้และขัดเกลาเรื่องการรับทำให้ชีวิตผมปลอดภัยและผาสุกขึ้น เพราะถ้าเราไปรับอะไรมั่ว ๆ ภัยก็จะเกิดกับเราได้ ดังที่พระพุทธเจ้าว่าแม้ลาภสักการะยังเป็นภัยต่อพระอรหันต์ แล้วกระจอก ๆ อย่างผมจะไปเหลืออะไร…

ตอนนี้การที่ผมจะรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะยากขึ้น แม้เขาจะยินดีให้ก็ใช่ว่าผมจะต้องรับ ในกรณีบางคนผมอาจจะรับไว้เพื่อรักษาน้ำใจ หรืออาจจะไม่รับเพื่อรักษาความสัมพันธ์ก็ได้ เรื่องทานนี่มันลึกซึ้ง เพราะยากทั้งการให้และการรับ ต้องประมาณให้เกิดกุศล อย่าทำให้เป็นอกุศล นี่ยังไม่รวมเรื่องบาปบุญนะ แต่ก็จบเท่านี้ก่อนแล้วกัน

stop one stop them all

stop-one-stop-them-all

การไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเขาหยุดฆ่าสัตว์นี่มันเข้าใจได้ไม่ยาก มันก็ demand&supply ธรรมดา ๆ ปฏิจจสมุปบาทยังเข้าใจยากกว่าอีก น่าแปลกที่คนปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่พยายามทำความเข้าใจ ไอ้ที่ง่าย ๆ ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วอันยาก ๆ จะเข้าใจถูกไหมนี่ คิดแล้วก็หวั่นใจ

แต่ถ้าผมทำภาพนี้ผมจะเอาคนกินไว้ล่างสุดแล้วแบกคนขายคนฆ่าคนล่าไว้ข้างบนนะ ประมาณปิรามิดกลับหัวนั่นแหละ ภาพมันจะชัดมาก ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นแบกอะไรเอาไว้ และทำให้เห็นความจริงว่าคนกินเนื้อสัตว์ก็มันก็ไม่ได้ดูยิ่งใหญ่ หรูหราอะไรนักหรอก

เขาก็ว่ากันว่าไอ้ตับห่าน ไข่ปลา เนื้อนุ่ม ฯลฯ ทั้งหลายที่มันแพง ๆ กินแล้วชอบมาอวดกัน ว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ จริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรอย่างที่เขาว่าหรอก รสอุปาทานทั้งนั้น แต่กินผักใครเขาจะมานั่งอวดกัน ผักนี่มันถูก ถึงจะกินผักที่แพง มันก็แพงไม่มากอยู่ดี แต่พอไปกินเนื้อสัตว์นี่อวดได้ นี่ฉันได้กินตั้งขนาดนี้เชียวนะ