ท่องเที่ยว ท้าทาย อบายมุข

การท่องเที่ยวนี่ยิ่งท้าท้าย ยิ่งเบียดเบียนมาก อ่านข่าวแล้วเจอเนื้อหาที่ว่าน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ละลายแล้วเจอศพแช่แข็งกว่า 300 ศพ

เขาก็ไปท้าทายกัน ท้าทายไปก็ไม่ได้อะไร ภูเขามันก็อยู่ของมันแบบนั้น การที่จะมีคนไปเหยียบหรือไม่มี ไม่มีผลอะไรกับมันเลย

แต่เขาก็เอาชีวิตไปทิ้งกัน เสี่ยงไหมก็เสี่ยงมาก เขาก็เอาไปเสี่ยงกัน ไปท้าทาย เพราะหลงว่ามันจะดี มันจะสุข มันจะเลิศยอด สุดท้ายก็ตายหายสาปสูญกันไป

เบียดเบียนตัวเองและญาติมิตรไปแล้วยังไม่พอ ยังลำบากคนอื่นอีก เพราะค่ากู้ศพแต่ละศพนั้นมีต้นทุนเป็นหลักล้านในการดำเนินงาน

ก็อย่าไปหลงตามโลกกันนักเลยว่าที่นั่นดี ที่นี่ดี ที่นั่นท้าทาย อร่อย สนุก ฯลฯ มันลองไม่หมดโลกหรอก ทำจนตายก็ลองไม่หมด เหลือทิ้งไว้แต่ปัญหาและตัณหาเท่านั้นแหละ

ท่องเที่ยวทั่วไปก็พอกันนั่นแหละ ไปก็มีแต่กิเลส บำเรอกาม ผ่านการกิน ดู ชม ฟัง ฯลฯ คือทำแล้วกิเลสเพิ่มอย่าไปเลย

แต่ถ้าไปทำอะไรแล้วกิเลสลด อันนี้มันก็น่าลอง แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่สนใจหรอก ใครจะไปล่ะ ไม่สนองกิเลส ไปขัดเกลาอัตตา ใครจะไป … ก็มีแต่คนต้องการพ้นทุกข์นั่นแหละ

การให้ที่เลว

เหตุต้นเรื่องจาก : “แจกอาหารคนไร้บ้าน” เมื่อความปรารถนาดีกลายเป็นความเดือดร้อน?

ขึ้นชื่อว่า “การให้” ใครได้ยินได้ฟังก็เหมือนจะดี ใครไปให้ทานมาก็ปลื้มอกปลื้มใจ จนถึงขั้นเสพติดในการให้ก็มีเหมือนกัน

ศาสนาพุทธนั้นก็ยินดีในการให้ ในการสละ แต่การให้นั้นต้องประกอบไปด้วยปัญญา คือให้ไปแล้วไม่เกิดโทษ เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ให้แล้วกิเลสลด ไม่ใช่ให้ไปแล้วกิเลสเพิ่ม ผลเสียเพิ่ม

ในอนุตตริยสูตรจำแนกการให้ที่ดีและการให้ที่เลวไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีตรงกลาง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะการให้ไปแล้วเขาเพิ่มกิเลส เช่นในกรณีตามเนื้อข่าวที่แนบมานี้ ให้แล้วเกิดโทษเพิ่มขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน นี้คือการให้ที่เลว เลวเพราะอะไร ?

เพราะให้ไปแล้ว ไม่เอาไปทำสิ่งที่ดี แต่กลับไปสั่งสมความขี้เกียจ อย่างกรณีคนไร้บ้านนี่เราไม่รู้หรอกเขาไม่มีบ้านเพราะอะไร แต่เรารู้แน่ถ้าเป็นคนไม่ขี้เกียจ ปัจจัยสี่ย่อมหาได้โดยไม่ยากนัก บางคนที่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีกิน ไม่ใช่เพราะบรรลุธรรมอะไรหรอกนะ แต่เพราะเขาขี้เกียจ ขี้เกียจนี่เป็นอบายมุขนะ

แต่ก่อนผมไม่เคยเข้าใจว่าขี้เกียจมันเป็นอบายมุขอย่างไร ตอนนี้ชัดแล้ว คือมันขี้เกียจหากิน ขี้เกียจพัฒนาตนเอง ขี้เกียจเอาภาระสังคม มันจะอยู่ไปวัน ๆ มันจะเอาสบายท่าเดียว ไม่ขวนขวายให้ชีวิตดีขึ้น ให้พึ่งตนมากขึ้น ให้เป็นภาระคนอื่นน้อยลง จึงกลายเป็นภาระของสังคม นี่คือความฉิบหายหนึ่งของความขี้เกียจ

ตอนนี้ถ้าผมจะให้ ผมจะประเมินก่อนเลยว่าเขาพึ่งตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเขาพึ่งได้ก็จะไม่ให้เขา ควรจะให้โอกาสเขาหาเลี้ยงชีพเอง ส่วนในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินอะไรนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถ้ายังมีชีวิตปกติ มีลมหายใจปกติ มันก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ทั้งคนทั้งสัตว์นั่นแหละ

ไปให้ทานเขามั่ว ๆ ซั่ว ๆ ทั้งคนทั้งสัตว์มันก็จะไม่ยอมหากินเอง มันจะรอแต่อาหาร สุดท้ายมันก็ขี้เกียจ ไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีอาหารมาให้ ถ้าไม่ได้ก็จะหาวิธีให้ได้มา แต่จะไม่พยายามสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจของตัวเอง

แน่นอนว่าทุกการให้มีผล คนที่คิดว่าการให้ไหน ๆ ก็ดีหมด ให้ศึกษาผลกระทบเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าต้องรับวิบากอะไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นั่นแหละคือผลจากการให้ของคนดี ที่ไม่คิดดี ๆ นั่นจึงเป็นการให้ที่เลว