สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง…

วันก่อนคุยกับเพื่อน เกี่ยวกับเรื่องภาวะที่สะกดจิตตนเองอยู่ในภพหนึ่งๆ คุยไปคุยมาก็ไปเรื่อง อุปาทาน คนอุปาทานกิเลสได้ คนก็อุปาทานธรรมะได้เหมือนกัน

เหมือนกับคนที่ฟังธรรมะมา (แม้จะเป็นธรรมที่ถูกตรงก็ตาม) แล้วยกทั้งหมดนั้นมาสวมหัว เหมือนสวมหัวโขนเป็นคนมีธรรมะ เป็นคนดี ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสภาพของ “สีลัพพตุปาทาน” คือเขาจะปฏิบัติได้หมดเลยนะ จะเป็นโสด จะไม่กินเนื้อสัตว์ จะกินมื้อเดียว จะเป็นคนเสียสละ จะพูดธรรมะ อะไรก็พูดได้จำได้คล่องก็มีเหมือนกัน

ผมมานั่งระลึกถึงหนังสือที่อ่านวันก่อนว่า บัวใต้น้ำ (อเวไนยสัตว์ – สัตว์ที่สอนไม่ได้) ก็มีเนื้อหาที่เขาให้มาดังนี้ คือเป็นผู้ดีแต่พูด เพราะได้ฟังพุทธพจน์ไว้มาก กล่าวก็มาก จำไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผลในชาตินี้ (พุทธกำเนิด หน้า76)

เอาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ที่เห็นเป็นเหมือนคนมีธรรมะก็อาจจะไม่มีจริงก็ได้ เห็นพูดเห็นสอนธรรมะ พิมพ์หนังสือ best seller เป็นนักพูดยอดนิยม ก็อาจจะไม่มีธรรมะนั้นจริงก็ได้

เพียงแค่จำมา ท่องมา ยกมาไว้ สวมหัวตน แล้วก็ท่องว่า นี่ฉันเป็นผู้มีธรรม ฉันเป็นผู้มีธรรม … ไอ้แบบนี้ มันก็ทำให้คนที่ไม่ได้ศึกษาเขาหลงเชื่อได้เหมือนกัน

สัมมาทิฏฐินั้นเป็นสภาพที่เกิดและเข้าใจในตนเอง ไม่ใช่เอาความเข้าใจของคนอื่นมาจำไว้เป็นความรู้(สัญญา) แล้วไปยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวฉันของฉัน เพียงแค่ได้อุปาทานธรรมนั้นๆ มาเป็นของตน

แต่ผมก็เข้าใจสัจจะนะ ว่าคนที่จะมาเอาดี เขาต้องยึดแบบสีลัพพตุปาทานก่อน มันจะกระโดดมาสมาทานไม่ได้ มันต้องหลงปฏิบัติธรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก่อน จนเห็นว่ามันผิด มันจึงค่อยหาทางมาสัมมาทิฏฐิได้

ทั้งนี้เหตุแห่งสัมมาทิฏฐินั้นมีสองข้อ หนึ่งคือการยอมฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่าง สองคือการทำในใจให้แยบคายลงไปถึงที่เกิด ข้อแรกนี่ก็ยากที่จะผ่านแล้ว เพราะส่วนใหญ่อัตตามันจะต้าน มันจะไม่ฟัง ถึงจะทำเหมือนฟัง แต่ถ้าจิตมันไม่ยอมรับ มันก็ไม่ผ่านข้อแรกอยู่ดี

ส่วนการทำใจในใจให้ถึงที่เกิดนี่มันยากถึงยากมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ คนปฏิบัติธรรมทั้งชีวิตจะไม่สามารถเข้าถึงการทำใจในใจที่ถูกตรง ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเป็นเรื่องยาก มันต้องมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนมาก ตั้งแต่มีมิตรดี มีศีล มีฉันทะ รู้จักอัตตา มีความเห็นที่ถูก ไม่ประมาท ถึงจะเจริญไปถึงการทำใจในใจได้

ถ้าอยากรู้ว่าตนเองสัมมาทิฏฐิไหมก็ต้องศึกษาองค์ประกอบของสัมมาทิฏฐินั้นเป็นอย่างไร แล้วลองกระทบกับปัญหาดู เมื่อมีปัญหา มีผัสสะ มีสิ่งกระทบ จะรู้ได้เห็นว่าความเห็นมันเป็นตรงตามแบบสัมมาทิฏฐิหรือไม่ตรง ถ้ามีจริงมันจะไม่เบี้ยวออกเลยนะ มันจะอยู่ในกรอบของสัมมาทิฏฐินั่นแหละ

แต่แบบท่องจำก็มี คือกระทบแล้ว เกิดอารมณ์แล้ว แต่ใช้สัมมาทิฏฐิที่เรียนรู้มานี่แหละ มาเป็นตัวตบให้เวทนามันสงบ เอาปัญญานี้มาใช้เป็นตัวทำให้สงบ เรียกว่าปัญญาสมถะ เช่นพอเราเรียนรู้เรื่องกรรมและผลของกรรมมา ครูบาอาจารย์ท่านว่าให้ทำความเห็นแบบนี้แบบนั้น พอเรากระทบเสร็จขุ่นใจเราก็เอามาท่อง มันก็สงบไปได้ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ มันจะออกมาเองเลย ไม่ต้องนึก เพราะความเห็นมันตรงอยู่แล้ว มันจะแก้กลับของมันเอง ในกรณีผัสสะนั้นๆ ไม่หนักมากจนเกินไป หรือถ้าเพื่อนเตือนก็จะนึกออกและระลึกได้เอง ไม่ต้องมานั่งปรับความเข้าใจ เพราะมันตรงอยู่แล้ว เพียงแค่สติมันหลุดไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกและเข้าใจยากเหมือนกันครับ ผมอาจจะอธิบายไม่ละเอียดนัก แต่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ ก็พยายามจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแต่ยังงงๆ

อย่ายึดมั่นถือมั่น

อย่ายึดมั่นถือมั่น…

ผมได้อ่านประโยคเหล่านี้บ่อย เมื่อได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับความเห็นจากการศึกษาศาสนาพุทธต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ คนเขาก็ว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, การเลือกกินมันยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ

ผมมาเห็นรูปนี้แล้วก็นึกได้ … เออเนาะ คนเรานี่ก็หลอกตัวเองได้เยอะเลย ยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่ามันเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามใจตน เช่น สิ่งนี้คือแกะ แกะกินได้ แกะอร่อย ฯลฯ

ไอ้ “สิ่งนี้คือแกะ” นี่ก็สมมุติทั่วไป คือการตั้งสัญญาให้ตรงกัน ไม่ได้เบียดเบียนอะไรแกะ ถึงมันจะถูกเรียกว่า แกะ แอะ แมะ ฯลฯ ก็ไม่ได้กระทบอะไรมัน แต่ที่ไปกำหนดว่ามันกินได้นี่สิ มันเริ่มจะไปเบียดเบียนมันแล้ว ส่วนที่ไปฆ่าเขาแล้วซื้อมากินกันนี่เบียดเบียนเต็มๆ

ทีนี้คนที่ยึดมั่นถือมั่นนี่เขาจะไม่ปล่อยไม่คลายเลยนะ เขาว่าแกะกินได้ หมูกินได้ เขาก็จะกินอยู่นั่นแหละ เขาจะไม่ยอมคลายออกเลย เขาจะยึดอยู่แบบนั้น นี่แหละคือความยึดมั่นถือมั่นในสัญญาของคนที่ติดเนื้อสัตว์

กลายเป็นเอาเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน (อัตตา) เหมาเอาว่าเนื้อแกะชิ้นนี้ เป็นของฉัน ฉันซื้อมา อันนี้มันเมาสมมุติทั้งนั้น เหมือนเด็กเล่นขายของแล้วจริงจัง จริงๆ แกะมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการซื้อขายของเราหรอกนะ เราสมมุติขึ้นมาเอง แล้วยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นความดีความชอบของเรา

อย่ายึดมั่นถือมั่น…ในสิ่งที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นเลย วางเสียทีเถิด ยึดถือสิ่งที่เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อประโยชน์ตนอยู่นั่นแหละ(เห็นแก่ตัว) ไม่รู้จักวางเสียที


ผู้ที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า “สัญญาไม่เที่ยง” จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย แต่จะเหลือเพียงหลักพิจารณาประโยชน์และโทษให้เป็นไปตามจริง (ตามข้อมูลและความรู้ที่มี ณ ขณะนั้นๆ)

เช่นความรู้เดิมคือเนื้อสัตว์กินได้ แต่พอได้ความรู้ใหม่ว่า เขาต้องฆ่ามาถึงจะได้เนื้อมากินนะ ก็จะพิจารณาเอาประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเลือกไม่กินเนื้อสัตว์เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบียดเบียนผู้อื่นและไม่สร้างบ่วงกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยเวรนั้นทับถมให้เป็นทุกข์แก่ตน