ทำบุญล้างซวย

ความเห็นผิดแบบมหภาคของชาวไทยเลยก็คือ เห็นว่าบุญเป็นเหมือนโชค ทำบุญแล้วจะมีผลไปเพิ่มโชค คือทำบุญมากมีโชคมากอะไรแบบนั้น

เมื่อชีวิตพบกับความซวยซ้ำซวยซ้อนก็เข้าใจว่าตัวเองดวงตก วิธีการทั่วไปก็คือไปทำบุญแบบที่เขาเข้าใจนั่นแหละ ทำแล้วก็เข้าใจว่าตัวเองได้โชคเพิ่ม จะโชคดีขึ้น จะพ้นเคราะห์อะไรแบบนี้

จริง ๆ แล้วความซวย มันไม่ได้เกิดจากบุญหมดหรือโชคหมด แต่เกิดจากกรรมอันมีกิเลสเป็นตัวบงการ เมื่อกิเลสสั่ง สิ่งที่ทำนั่นก็ย่อมชั่ว จึงกลายเป็นกรรมชั่วให้ต้องมารับผลซวย ๆ อย่างที่เห็นกัน

ทีนี้ทำบุญล้างซวยมันกลายเป็นความเชื่อชนิดฝังหัวไปแล้วไง คนก็เอาแต่ไปทำบุญล้างซวย และซวยยิ่งกว่าคือล้างผิด เหมือนคนเหยียบขี้แต่ไม่ล้าง กลับพยายามเอาน้ำหอมมาฉีด

เพราะจะล้างซวยกันจริง ๆ ก็ต้องล้างเหตุแห่งความซวย ก็คือล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความซวยนี่แหละ มันถึงจะหายซวย มันถึงจะสะอาด ไปล้างผิดที่อีกกี่ชาติก็ไม่หายซวย

อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆแต่ผมเชื่อว่า 99.99 % หรือมากกว่าของชาวพุทธในประเทศไทยยังมีความเห็นผิดเช่นว่า ทำบุญล้างซวย

หรือถ้าเอาให้ถูกตามพยัญชนะแบบเดิม ก็คือ ทำบุญ(ล้างกิเลสเหตุแห่งความชั่ว) ล้างซวย( เมื่อไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องรับผลซวย ๆ ) แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็ถูก แต่ถ้าเข้าใจแบบอื่นก็ผิด … แต่จะเห็นว่าความเห็นแบบนี้ผิดก็ไม่มีปัญหา เพราะคนเห็นผิดก็ต้องเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกเป็นธรรมดา เอาเป็นว่าก็ทดลองศึกษากันไปว่าทำแบบไหนมันจะพ้นทุกข์ได้จริง

เทวดาร้อนอาสน์

คือสภาพของคนดีที่ทุกข์ร้อนใจ ทนอยู่เฉยไม่ได้ต่อบางสิ่งบางอย่าง

ผมเคยได้ยินคำนี้มาจากครูบาอาจารย์ แต่ก็เพิ่งจะเคยได้เห็นสภาพนี้ในคนทั่วไป คือเมื่อวานไปสนามหลวง และช่วงค่ำจิตอาสาก็ยกทีมกันไปเปิดร้าน ตักถั่วเขียวต้มแจกหน้าเต็นท์รอคอย แบบว่าใครสนใจก็เดินออกมารับได้

ภาพที่จิตอาสามาเสียสละ มาแจกของก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ภาพที่เห็นเมื่อวานนี้คือคนที่เขามารอในเต็นท์รอคอยนี่แหละ เดินมาเสนอตัวว่าจะช่วยเอาถั่วเขียวต้มไปแจกในเต็นท์

…ก็คงจะเป็นสภาพของเทวดาร้อนอาสน์ คือ ไม่ได้ตั้งใจมาช่วยตั้งแต่แรกหรอก แต่เห็นแล้วมันอยากช่วย จะไม่ช่วยใจมันก็ไม่ยอม มันร้อนใจ อยากจะช่วยเขา อยากจะทำดี

จริง ๆ เขาจะนั่งรอคอยอยู่เฉย ๆ ก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร แต่นี่เขายินดีลุกขึ้นมาช่วยไง อันนี้จริง ๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งธรรมดาทั่วไปนะ ถ้าใครมีจิตแบบนี้ก็เข้าท่าเลย จิตเทวดานี่แหละ มีจิตที่อยากช่วยเหลือผู้อื่น แบบไม่ต้องมีใครสั่ง จิตมันจะสั่งให้ทำดีของมันเอง ไม่ให้อยู่เฉย

เพราะลึก ๆ แล้วมันเกิดจากปัญญารู้ว่า ทำดีแล้วมีประโยชน์ ถ้าไม่ทำดีจะเสียประโยชน์ ก็เป็นสภาพของจิตรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับจิตที่เป็นเดรัจฉาน อสูรกาย เปรต ฯลฯ จริง ๆ ก็เหมือนจิตเทวดานี่แหละ เป็นสภาพในจิต คือแม้ร่างเป็นคนแต่จิตข้างในต่างกัน

จิตเทวดาก็ตามที่เล่ากันไป ส่วนจิตที่เป็นเปรตก็คือความโลภ ร่างเป็นคนแต่จิตเป็นเปรตก็โลภมาก สะสมมาก ไม่รู้จักพอ ของที่เขาไม่ได้ให้ก็อยากได้ ของที่เขาจะให้ก็อยากได้มากกว่าที่เขายินดีให้

เมื่อมีคนมาให้ทานกันมาก ๆ เราก็อาจจะได้พบกับเปรต ทั้งเปรตข้างนอกและเปรตข้างใน เปรตคนอื่นเราก็ยกไว้ก่อน เอาแค่ดูไว้ ศึกษาไว้ ว่า…อ๋อ…นั่นเปรตเขาตัวขนาดนั้น ส่วนเปรตในจิตเรานี่ต้องขัดเกลากันให้หนัก จิตเปรตนี่ไม่ควรเอาไว้ เพราะมีแล้วตนเองก็ทุกข์ คนรอบข้างก็ทุกข์

วิธีปราบเปรตก็คือให้ทานนี่แหละ เห็นจิตอาสาเขามาแจกของ แม้เราไม่มีของเราก็ใช้แรงงานแทนได้ แจกเข้าไป ถ้าเราไม่หวง เราแจกได้ สละได้ ไม่สะสมได้เท่าไหร่ นั่นคือเราปราบเปรตในจิตเราได้เท่านั้นแล้ว

เมื่อปราบเปรตได้จิตก็จะสูงขึ้น วันหนึ่งก็จะสูงถึงขั้นเป็นเทวดา(คนใจสูง) แต่ไม่ต้องรอให้ร้อนอาสน์หรอก เพราะตอนนี้มีโอกาสมากมายให้ได้ทำความดี ก็ทำกันไปตามแต่จะมีกำลัง…

รักมาก ตายง่าย

จากข่าว : พิษรักแรงหึง ! เห็นเมียยืนคุยกับช่างทาสี ชักปืนยิงแสกหน้า ดับรวม 3 ศพ

คนที่ฆ่ากันเพราะแรงหึงนี่เรียกว่าเป็นภาพที่ชัดที่สุดของความรักแบบโลกีย์ เพราะเมื่อคนรักมาก ๆ เอาเขามาเป็นของเรามาก ๆ จะหวงมากจนไม่ยอมให้ใครแตะ และไม่ยอมให้เปลี่ยนไปจากเดิม(ที่เคยรัก) เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่หนักหนา เจอหมาหวงก้างยังดีซะกว่า เพราะถึงไปแย่งก้างหมา มันก็ไม่ถึงกับฆ่าเรา

เราอาจจะคิดกันไปว่า ฉันไม่เป็นถึงขนาดนี้หรอก แค่คิดนี่มันก็คิดได้ แต่กิเลสมันไม่คิดด้วย เพราะกิเลสนี่มันจะพาให้หลงติดหลงยึดแบบไม่มีขอบเขต คือเคยคิดไว้ว่าติดเท่าไหร่ มันจะติดมากขึ้นไปกว่านั้น และจะโตยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าเดิมแบบไม่รู้จบ

มันก็เริ่มโตตั้งแต่คิดว่าเขารักเรา เขาให้ความสำคัญกับเรา เขาเป็นของเรานี่แหละ พอได้ดั่งใจก็สะสมความยึดมั่นถือมั่นไปเรื่อย ๆ พอไม่ได้ดั่งใจก็ผูกโกรธ จองเวรจองกรรม พยายามจะเอาชนะกันมากขึ้นอีก

ความรักแบบโลกีย์จึงเป็นสภาพของการเอาชนะกันที่ซ้อนอยู่ในความรัก คือพยายามทำให้เขามารัก พยายามให้เขาเป็นของเรา ให้ได้ดั่งใจเรา ใช้กาม ใช้อำนาจที่มีล่อลวงอีกฝ่าย ทีนี้มันก็จะโตขึ้นไปทุกภพทุกชาติ ชาตินี้อาจจะไม่จัดจ้าน แต่ก็จะเก็บกดสะสมอารมณ์ไว้เรื่อย ๆ เป็นความอยากที่ฝังลงเป็นความยึดและรอคอยให้อีกฝ่ายมาสนอง

สุดท้ายก็กลายเป็นความกระสันใคร่อยากต้องการอีกฝ่ายมาบำเรอให้ตนสุขสมบูรณ์แบบที่สุด ให้ตนได้มากที่สุด ตนต้องได้คนเดียว ห้ามคนอื่นได้แบบตน ถ้าคนอื่นมาแย่ง ก็ฆ่ามันเลย ถ้าตนไม่ได้ คนอื่นก็ต้องไม่ได้

จริง ๆ การมีคู่ก็ไม่ใช่อะไรที่ลึกลับซับซ้อนหรอก มันก็เป็นเพียงแค่การอยากเอาชนะ ควบคุม ครอบครองอีกฝ่าย เพื่อสนองตัณหาตนเองเท่านั้นเอง

วิธีดูว่ามิตรที่มีนั้นกำลังพาเราไปไหน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่ประมาทก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว” เช่นกัน หากเราใช้ชีวิตประมาท ไม่รู้ว่าชีวิตกำลังดำเนินไปทางไหน มันก็กำหนดทางตายของเราไปแล้วนั่นเอง

การมีสติในชีวิตประจำวันนั้นไม่เพียงพอที่จะกันนรกอยู่ เพราะหากไม่มีศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตดีชั่วแล้ว สติที่มีนั้น ก็เอาไปทำชั่วได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนประกาศจะแต่งงาน ก็จะมีคนมากมายเข้าไปยินดี อวยพร ฯลฯ เขามีสติตอนอวยพรไหม? ถ้าถามเขา เขาก็คงว่ามีกัน แต่ทำไมถึงพูดให้คนยินดีในทางผิด การมีคู่นี่คือไปนรกชัด ๆ อยู่แล้ว คนเขายังไปยินดีอวยพรกัน

แต่คนมีศีลเขาจะไม่ไปยินดีด้วย เพราะรู้แน่ชัดว่าคนมีคู่กำลังจับมือกันไปนรก มันจะทำใจยินดีได้อย่างไร มันมีอะไรดี? มันไม่เห็นมีอะไรดีให้ไปสรรเสริญเลย มีแต่ความเสื่อมความต่ำ มีแต่ความทุกข์

มิตรที่ยินดีเมื่อเราทำไม่ดี นั่นแหละคือมิตรที่จะผลักดันเราไปนรก ส่วนมิตรที่ไม่ยินดีเมื่อเราทำไม่ดี นั่นแหละคือมิตรที่จะช่วยให้เราพ้นนรก

ถ้าคนที่กำลังจะไปทำชั่ว เช่นไปแต่งงาน มีมิตรชั่วมาก ๆ เขาก็จะเสริมพลังให้กับกิเลส ให้กับความหลง ให้ยินดีในการครองคู่ ให้ยินดีในการสร้างครอบครัว แม้จะมีมิตรดีอยู่ ก็อาจจะสู้พลังของกิเลสไม่ได้ เพราะเจ้าตัวก็อยากได้อยากเสพ แถมมีคนยุยงให้ได้เสพสมใจกัน มันก็ไปกันใหญ่

เรื่องคู่นั้น ผมถือเป็น check point หนึ่งของความเจริญในทางพุทธศาสนา ถ้าใครผ่านได้จะสบายไปหลายขุม(นรก) เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการท่องเที่ยวในนรก ตัดเรื่องคู่ได้ จะมีพลังทำความดีอีกมหาศาล

เวลาผมประเมินคนที่เขาสอนศาสนาทั่วไป ผมก็ใช้ตรงนี้นี่แหละเป็นตัววัด ว่าความเห็นของเขายังยินดีในการมีคู่หรือไม่ยินดี ถ้ายังไม่ผ่านมันจะมีช่องไว้ให้ตัวเองแอบเสพอยู่ มันจะเห็นได้ คนไปศึกษาก็ยังรับรู้ได้ว่าเขายังเห็นว่าการมีคู่นั้นมีข้อดีอยู่ นั่นแสดงว่าเขายังไม่ผ่าน เราก็รู้ว่า อ๋อ ฐานเขายังไม่ถึงตรงนี้

เกี่ยวกับการสร้างตัวตนที่ไม่มีจริง

จากประเด็นในอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการสร้างตัวตนลวงขึ้นมา อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ดูแสงเหนือโฟโต้ชอปมั้ยตัวเธอ : การ ‘เฟคประสบการณ์ท่องเที่ยว’ ลงโซเชียล

ในวงการธรรมะก็มีเหมือนกันนะ ที่คิดเอาเองว่าตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่ ยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็ยังมี มันก็เป็นความหลงของคนนั่นแหละ แต่แบบนั้นมันก็หยาบไปหน่อย แต่แม้จะหยาบแบบนั้น คนส่วนมากก็ยังเข้าใจไม่ได้

ที่ละเอียด ๆ ก็มี คล้าย ๆ ตัดต่อ photoshop นี่แหละ คือตัดต่อธรรมะมาเป็นของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่มีสิ่งนั้นจริง ๆ

….ประเด็นมันเป็นแบบนี้ คือถ้าคนเขาเคยไปในสถานที่เดียวกัน ถึงเขาจะถ่ายรูปมุมเดียวกันมา เล่าถึงความประทับใจเดียวกันมา มันก็ไม่แปลกอะไร

แต่คนที่ตัดต่อนี่คือไม่เคยไป แต่เอารูปเขามาตัดต่อใส่ตัวเองลงไปแล้วคิดไปเองว่าตนเองนั้นไปสถานที่นั้นที่นี้มาแล้ว

ธรรมะก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าท่องจำคำครูบาอาจารย์ได้แล้วจะมีความเห็นความเข้าใจเหมือนกันนะ เรียนธรรมะแบบนกแก้วนกขุนทองนี่ไปไม่รอดหรอก จำภาษาได้ก็จริงแต่สภาวะไม่มีพอตอนพูดมันจะเป็นแพทเทิร์น มีรูปแบบที่ยึดไว้ ไม่แววไว พอเขาถามมันจะมึน ๆ งง ๆ มันจะตอบเขาไม่ได้ พอเขาไล่ไปเรื่อย ๆ จะจนเอง เพราะตัวเองไม่มีจริงไง

ผมเห็นมาบ้างเหมือนกันกับคนที่ปฏิบัติธรรม แต่พอเจอคำถามพลิกแพลงหน่อยมักจะไปไม่เป็น คือเขาไม่ได้ถามตามตำรา เขาถามสภาวธรรมที่มี แต่ดันตอบตามที่เรียนมา ทีนี้ถ้าตอบไม่ได้แล้วพยายามเดาสภาวะ มันจะผิดเข้าไปอีก หน้าแตกไปอีก คนเดาจะไม่รู้ตัวหรอก แต่คนที่รู้จริงเขาจะรู้ว่าใครเดาใครรู้

ส่วนเหตุนั้นก็สรุปง่าย ๆ ว่าเพราะความหลงนั่นแหละ หลงตัวหลงตน มันก็พอกไปตั้งแต่น้อย ๆ จนมันหนา ไปจนถึงขั้นหลงว่าบรรลุธรรมได้เหมือนกัน พอหลงว่าบรรลุธรรมแล้วก็นรกเลย เหมือนเด็กที่ถือขวดนมไปสู้กับเสือนั่นแหละ ประมาณว่าดูการ์ตูนมากไปจนคิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ สุดท้ายตายหยั่งเขียด

วัดคนกันก็ตอน “ติ” นี่แหละ

correct
ภาพจากเพจ IdeaSpot (facebook)

ผมมีวิธีแยกคนโดยพื้นฐานนะ คือถ้าได้คบหากันมาประมาณหนึ่งแล้ว บางครั้งเราจะลองประมาณคำพูดกับเขา ซึ่งคำที่ประมาณนี่คือคำติ คำชมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาหรอก อย่างมากชมไปเขาก็ลอย เดี๋ยวเขาก็ไปแก้ของเขาเอง แก้ไม่ได้ก็ติดโลกธรรมต่อไป แต่มันไม่มีวิบากร้ายต่อกันมากเท่าคำติ เพราะติมากไปเขาก็จะโกรธ ดีไม่ดีเขาดูถูกเรากลับอีก

ตอนตินี่มันจะวัดเลยว่าเขาแข็งแกร่งพอที่จะรับความเห็นที่แตกต่างไหม? เพราะคำตินี่มันต่างจากที่เขาคิดและทำอยู่แล้ว ถ้าผ่านก็ขึ้น ถ้าไม่ผ่านก็ลง ตรงกลางไม่มีหรอก มันมีกระบวนการสั้น ๆ อยู่ คือ ๑.เราติไปเขายินดีรับฟังไหม ๒.เขาฟังแล้วทำใจในใจลงไปถึงที่เกิดในสิ่งที่เราติไหม (เหตุแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒)

ถ้าติแล้วมีอาการ ไม่ยินดีฟัง เฉไฉ แถ ข่มกลับ ฯลฯ ผมจะไม่ต่อแล้ว เพราะทำต่อไปไม่มีประโยชน์ เราแหย่แล้วเขาไม่เอา ก็เว้นวรรคไว้สักพักเลย จะเดือนหรือปีหรือชาติหน้า ค่อยประมาณกันใหม่อีกทีตามเหตุปัจจัย

หรือพวกฟังแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา คือตอนฟังน่ะดูดีเชียว แต่ไม่เข้าถึงใจ คือไม่เข้าใจว่าต้องไปแก้ไขตรงไหน ตรงไหนที่เป็นปัญหาที่เขาติ พวกนี้ก็จะดูอาการไปสักระยะ ถ้าไม่ไหวก็ปล่อย

จริง ๆ ผมเป็นคนติหนัก ติแรง ติตรงนะ ไม่ค่อยชอบอ้อม ชอบตรงประเด็นชัด ๆ ทีเดียว ถ้าไม่แก้ก็ตายไปเลยแล้วกัน แต่จะไปทำอย่างนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปก็ตายเปล่า ก็เลยไม่เคยติใครขนาดนั้นสักที อีกอย่างคือทำไปมันมีวิบากนะ ไม่ใช่ไม่มี เราก็ต้องประมาณด้วยว่าจะได้วิบากเป็น + หรือ – ถ้าเสี่ยงไปเราก็ไม่ติ ปล่อยไปก่อน ตามเวรตามกรรม ถ้ารู้สึกพอไหวก็ลองติ แต่ถ้าติแล้วไม่ไหวก็ถอย

การที่ผมติเนี่ย ถือว่าผมเคารพคนที่ผมกำลังติอยู่นะ เพราะผมประเมินว่าเขารับไหว แต่ถ้าคนถูกติจะประเมินผมต่ำ ไม่ฟังคำติผม หรือข่มผมกลับ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ผมรู้ตัวเดี๋ยวผมก็เลิกติเอง ผมไม่กล้าติคนที่ไม่อยากฟังหรอก

ไฟรักมันร้อน…

จากข่าว : สามีโมโหใช้ทินเนอร์ราดภรรยาย่างสดคารถ กลางซอยสุขุมวิท 22

ไฟราคะที่เผาใจว่าร้อนแล้ว ยังจุดไฟเผากันให้ร้อนยิ่งไปอีก พอเป็นคนคู่กันนี่มันจะเสพกิเลสกันสุด ๆ เลยนะ จะรักก็รักที่สุด จะชังก็เกลียดที่สุด ไอ้ที่พอดีไม่มีหรอก ขึ้นชื่อว่าเป็นคู่กันมันก็ลำเอียงแล้ว ถ้าพอดี ตรงกลาง มันจะไม่มาเป็นคู่กัน มันจะเป็นอิสระต่อกัน

คนคู่นี่เป็นภพที่จองเวรจองกรรมกันได้ละเอียดล้ำลึกที่สุด มีขอบเขตในการทำชั่วมากกว่าสถานะอื่น ๆ คือชั่วโดยไม่รู้ตัว ชั่วโดยไม่รู้ว่าชั่ว เขามาชวนทำชั่วยังคิดว่าเขาทำดี แล้วมันจะพาหลงไปอีกหลายต่อหลายชาติเลย

ก็หลงรักหลงชังกันไปนั่นแหละ พอเขาทำดีหน่อยก็รักเขา แต่พอเขาทำไม่ถูกใจก็โกรธเขา คนเรานี่มันก็บ้าบอ ใครก็ไม่รู้ พ่อแม่ญาติพี่น้องก็ไม่ใช่ จะไปจริงจังกันทำไมนักหนา ไปสวมหัวโขนว่านี่แฟน นี่ผัว นี่เมีย แล้วก็เล่นละครพ่อแม่ลูกจริงจังยังกับจะชิงตุ๊กตาทอง ยิ่งอยู่ไปมันไม่ได้หรอกสวรรค์นิพพาน มันจะได้แต่นรกนี่แหละ

อยู่กันเป็นคู่ร้อนยัง Fire … :)

แขกที่มาร่วมงาน กับลูกหลาน

ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าจะแยกลูกหลานแท้ ๆ ออกจากแขกได้อย่างไร ก็คือแยกโดยลูกหลานนี่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพ ร่วมจัดงาน ร่วมบริการ ลงทุนลงแรงอะไรก็ว่ากันไป

เช่น ถ้ามีงานศพของญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพ ลูกหลานนี่แหละจะไปช่วยงานเป็นประจำ ส่วนแขกนี่เขามาฟังสวด มากราบศพ มาเผาแล้วเขาก็กลับไป แต่ลูกหลานนี่อยู่ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน ช่วยงานกันไปโดยมีจิตรวมเป็นหนึ่งเดียว คือทำเพื่อญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพหรือเพื่อคนที่เรารัก

เมื่อโยงเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผมได้เห็นภาพลูกหลานมากมายที่ออกมาช่วยงานต่าง ๆ ทั้งเปิดโรงทาน เก็บขยะ บริการรับส่ง ให้สอบถามข้อมูล ทำของชำร่วย ฯลฯ ผมคิดว่านี่คือจิตของคนที่เป็นลูกหลานที่แท้จริงที่อยากทำเพื่อคนที่ตนเคารพรัก

ส่วนแขกเขามาแล้วเขาก็ไป แม้เขาจะเสียใจที่เสียบุคคลอันทรงคุณค่ายิ่งไป แต่เขาก็แค่เสียใจ แค่ระลึกถึง อย่างเก่งก็ช่วยร่วมทุน ลงทุน แต่ไม่ลงแรง ไม่เอาตัวมาลง ไม่เอาตัวเข้ามาคลุก เพราะเขาเป็นเพียงแขก มีจิตที่กำหนดตำแหน่งตัวเองไว้เพียงเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไรมากกว่านั้น

เรื่องนี้พูดกันยาก การจะมีจิตถึงขนาดรู้ว่าตนต้องทำอะไร หรือรู้ว่าตนเป็นลูกหลานนั้น ต้องเกิดจากศรัทธาที่ตั้งมั่น คือต้องเคยสัมผัสสัมพันธ์กันมาแล้วหลายชาติ จนเกิดความรัก ความคุ้นเคย ความกตัญญู จนมีจิตสำนึกว่าเป็นลูกหลาน เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ แม้จะไม่ได้เป็นจริง ๆ ก็ตาม แต่จะมีลักษณะทางนามธรรมที่ชัดเจนจนเกิดเป็นรูปธรรม คือพาตัวเองมาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานนั่นเอง

กาฝากโลกธรรม

ประเด็นการโหนคนดีเพื่อล่าลาภยศสรรเสริญสุขนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เคสคลาสสิกที่สุดคือพระเทวทัตที่บวชมาเพื่อแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากการสร้างสำนักใหม่ ใช้การกลืนกินจากภายใน ห่มผ้าเหลือง ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า สุดท้ายก็เสนอเงื่อนไขแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า

จนมีภิกษุผู้หลงผิดหลายรูปตามพระเทวทัตไปด้วย ลำบากพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปตามกลับ สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ …พระเทวทัตใช้การเกาะพระพุทธเจ้าดัง เพราะว่ามันง่าย มาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า จะพูดอะไรคนเขาก็ชอบ เขาก็ศรัทธา ถ้าไม่ใช่ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าหรือระดับอริยสาวก ไม่มีทางรู้หรอกว่าพระเทวทัตชั่วอย่างไร ปุถุชนก็หลงตามพระเทวทัตกันได้ทั้งนั้น เพราะพระเทวทัตพูดแต่สิ่งที่ดี!

เช่นเดียวกันในสมัยนี้ มีนักบวชที่บวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าหาโลกธรรม มันก็ทำได้ เพราะชาวไทยส่วนใหญ่ศรัทธาพระพุทธเจ้า พอห่มผ้าเหลืองปุ๊ป พอพูดตามพระพุทธเจ้าปั๊ปเขาก็ศรัทธา หลงว่านักบวชนั้นเป็นของจริง ก็แห่ไปเคารพบูชาโดยไม่ตรวจสอบ ไปหลงเคารพศรัทธาเพียงเพราะเขาพูดเรื่อง&พูดตามพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในอดีตเราก็มีบทเรียนกันมาตั้งหลายครั้งว่า นักบวชที่อาศัยผ้าเหลืองหาโลกธรรมก็มีเยอะ สุดท้ายก็ความแตก จับได้สึกไป ยังเสนอหน้าในสังคมก็มี ไอ้ที่เขาจับได้แต่ยังหน้าด้านอยู่ก็มี

นับประสาอะไรกับฆราวาสที่ใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหากิน เอามาสร้างสำนักแสวงหาโลกธรรมให้ตัวเอง ให้ได้ลาภสักการะบริวาร มันมีมากมายอยู่แล้ว ความจริงมันยังไม่เปิดเผยว่าชั่ว คนก็ดูกันไม่ออก ก็แอบเสพกันไป สะสมความชั่วกันไป วันหนึ่งคนเขาจับได้ก็พังกันไป แถกันไป หน้าด้านอยู่กันไป

เช่นเดียวกันกับการเอาความดีของคนอื่นไปหากิน ไม่ต้องถึงระดับพระพุทธเจ้าหรอก เอาแค่ระดับครูบาอาจารย์หรือคนดีที่น่าเคารพบูชาทั้งหลายในสังคม ก็มักจะโดนพวกกาฝากโลกธรรมเข้ามาหาผลประโยชน์ มีทุกกลุ่มคนดีนั่นแหละ ไปตรวจสอบกันดูได้ พวกที่เข้ามาเพื่อมาเอาคุณความดีบางอย่าง บ้างก็แอบเกาะกินไปอย่างนั้น บ้างก็อยากดังเองก็แยกวงออกไป สร้างสำนักของตัวเอง

ก็ดู ๆ กันไป ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ไปหลงชื่นชนคนพาลนี่ฉิบหายยาวเลยนะ ผูกภพผูกชาติไปกับเขาอีกนานเลย ส่วนตัวผมถ้าไม่แน่ใจว่าใครดีจริง ผมไม่รีบตัดสินใจตามนะ มันต้องคบคุ้น ใช้เวลาศึกษากันนาน ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าคนนี้แหละของจริง ผมถึงจะตาม

ไอ้ที่แบบทำดีเอาหน้าล่าโลกธรรมผมก็เห็นมาเยอะ สมัยศึกษาธรรมะแรก ๆ นี่เรียกว่าเมาเลย โอ้โห มีแต่คนดี คนเก่งเต็มไปหมด แต่พอศึกษาไปทำไมมันเริ่มเห็นความชั่ว อ้าวคนนั้นก็ดีไม่แท้ คนโน้นก็ดีไม่แท้ มีแต่ของปลอมทั้งนั้น เอาธรรมะมาหากิน เอามาหาลาภสักการะบริวารทั้งนั้น ดีนะที่ผมไม่หลงตามคนพวกนี้ไปเพียงเพราะเขาพูดธรรมะและสรรเสริญพระพุทธเจ้า …หลงตามพวกกาฝากศาสนาไปนี่ฉิบหายเลย

คนชั่วที่คิดว่าตนเองทำดีนี่แหละ ชั่วที่สุด

วันนี้คุยกับเพื่อนในประเด็นที่ว่าแบบไหนจะชั่วกว่ากัน คือคนชั่ว กับคนดีที่แอบชั่ว ก็สรุปกันออกมาได้ว่าคนดีที่แอบชั่วนี่แหละร้ายลึกชั่วช้าหนักนาน… เพราะคนชั่วทั่วไปนี่มันพอจะป้องกันได้ง่ายนะ แก้ไขได้ง่าย หรือคนที่รู้ว่าตัวเองชั่วก็สามารถที่จะเจริญได้เช่นกัน

แต่คนชั่วที่คิดว่าตัวเองดีนี่มันไม่มีทางไปเลยนะ มืดแปดด้าน มันจะเมาดีลวง ๆ ที่ตนเองทำอยู่นั่นแหละ แถมยังเอาดีสอดไส้ชั่วไปหลอกกันเองอีก ในวิบาก ๑๑ ประการที่เพ่งโทษพระอริยะมีอยู่ข้อหนึ่งคือ หลงว่าบรรลุธรรม เอาแบบโลก ๆ คือหลงว่าตัวเองดี ตัวเองมีดี ตัวเองกำลังทำดี คือเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด พูด ทำอยู่นั้นดี….ทั้งที่จริงมันชั่ว

แล้วจะแก้ได้ยังไง ก็ต้องอาศัยคำติจากคนดีนี่แหละ เขาติมาเราก็ฟังแล้วนำไปแก้ไขในส่วนที่ผิดพลาดไป แต่คนที่หลงว่าตนดีนั้นไม่ค่อยจะยอมฟังใครเขาติหรอก ก็ตัวเองคิดว่าตนดีตนถูก แล้วมันจะไปฟังใครอีกละ เขาติมาก็ว่าเขาผิดหมดนั่นแหละ ตัวเองถูกอยู่คนเดียว เพราะตนเองเป็นคนดี ดีไม่ดีไปด่าเขากลับอีก …เอาเข้าไปคนดี(ปลอม ๆ )

คนดีที่ดีแท้จะเห็นความชั่วในตนเองแล้วมุ่งล้างความชั่วนั้นให้หมด และจะเห็นชั่วที่ลึกและละเอียดขึ้นตามกำลังที่มี คือจะเห็นแบบที่คนอื่นไม่เห็น คนอื่นเขาไม่เห็นว่าชั่ว แต่เรารู้ชัด ๆ เลยว่าทำแบบนี้มันชั่ว มันเบียดเบียน มันไม่เป็นประโยชน์ตนเองและผู้อื่น

จะรู้ได้อย่างไร? ก็ตามระดับของศีลนั้นแหละ ถ้าศึกษาศีลตามลำดับจะรู้เองว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้หรอก เพราะเรื่องแบบนี้คิดเอาก็ไม่ได้ ฟังเอาก็ไม่เข้าใจ ทำหน้างง ไอ้ที่เขาพูดมานี่มันชั่วยังไงหนอ…

จึงสรุปว่าคนที่ยังเห็นว่าตนเองชั่วอยู่ ยังผิดพลาด ยังต้องแก้ไขอยู่ ก็ยังดีกว่าคนที่หลงว่าตนเองเป็นคนดี ดึงดันทำแต่ความดีแบบที่ตนเองเข้าใจโดยไม่ฟังคำติของใครเลย