แขกที่มาร่วมงาน กับลูกหลาน

ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าจะแยกลูกหลานแท้ ๆ ออกจากแขกได้อย่างไร ก็คือแยกโดยลูกหลานนี่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพ ร่วมจัดงาน ร่วมบริการ ลงทุนลงแรงอะไรก็ว่ากันไป

เช่น ถ้ามีงานศพของญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพ ลูกหลานนี่แหละจะไปช่วยงานเป็นประจำ ส่วนแขกนี่เขามาฟังสวด มากราบศพ มาเผาแล้วเขาก็กลับไป แต่ลูกหลานนี่อยู่ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน ช่วยงานกันไปโดยมีจิตรวมเป็นหนึ่งเดียว คือทำเพื่อญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพหรือเพื่อคนที่เรารัก

เมื่อโยงเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผมได้เห็นภาพลูกหลานมากมายที่ออกมาช่วยงานต่าง ๆ ทั้งเปิดโรงทาน เก็บขยะ บริการรับส่ง ให้สอบถามข้อมูล ทำของชำร่วย ฯลฯ ผมคิดว่านี่คือจิตของคนที่เป็นลูกหลานที่แท้จริงที่อยากทำเพื่อคนที่ตนเคารพรัก

ส่วนแขกเขามาแล้วเขาก็ไป แม้เขาจะเสียใจที่เสียบุคคลอันทรงคุณค่ายิ่งไป แต่เขาก็แค่เสียใจ แค่ระลึกถึง อย่างเก่งก็ช่วยร่วมทุน ลงทุน แต่ไม่ลงแรง ไม่เอาตัวมาลง ไม่เอาตัวเข้ามาคลุก เพราะเขาเป็นเพียงแขก มีจิตที่กำหนดตำแหน่งตัวเองไว้เพียงเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไรมากกว่านั้น

เรื่องนี้พูดกันยาก การจะมีจิตถึงขนาดรู้ว่าตนต้องทำอะไร หรือรู้ว่าตนเป็นลูกหลานนั้น ต้องเกิดจากศรัทธาที่ตั้งมั่น คือต้องเคยสัมผัสสัมพันธ์กันมาแล้วหลายชาติ จนเกิดความรัก ความคุ้นเคย ความกตัญญู จนมีจิตสำนึกว่าเป็นลูกหลาน เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ แม้จะไม่ได้เป็นจริง ๆ ก็ตาม แต่จะมีลักษณะทางนามธรรมที่ชัดเจนจนเกิดเป็นรูปธรรม คือพาตัวเองมาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานนั่นเอง