ปฏิบัติธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ใช้วิถีการไหน มีเคล็ดลับอะไร?

มีคำถามมานะครับ คิดว่าถ้าเอามาตอบกันในนี้น่าจะได้ประโยชน์เยอะขึ้น

1.ผมเริ่มศึกษาธรรมะมาตั้งแต่ก่อนปี 50 ก็ยังเป็นธรรมะทั่วไปที่กระจายอยู่ในสังคม จนเมื่อปี 56 ได้คำตอบของการปฏิบัติลงตัว จึงได้เริ่มปฏิบัติจริงจัง จนชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลได้ชัด

2.การปฏิบัติธรรม ของผมนั้นใช้หลักอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ผมเชื่อว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีปัญญาในการคิด พูด ทำ ไม่ใช่หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ดังนั้นการปฏิบัติจะเกิดขึ้นในจิตเป็นหลัก ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการมุ่งเน้นไปที่การกำหนดรูปแบบทางร่างกาย

3.เคล็ดไม่ลับในการปฏิบัติของผมคือ มีอาจารย์ที่ถูกต้อง ถ้ามีอาจารย์ที่ถูกต้อง ทางที่ปฏิบัติมันก็ถูกต้อง

ตัวผมนั้นจะเอนเอียงไปในสายปัญญา ไม่ใช่สายศรัทธา ดังนั้น การที่ผมจะเชื่อหรือปฏิบัติตามใครได้นั้น เขาจะต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของผมได้ทั้งหมดโดยไม่แสดงอาการกิเลสใด ๆ เช่น โกรธ กลัว ตอแหล ฯลฯ หรือถามวัวตอบควาย คนจะเป็นอาจารย์ผมต้องชัด แม่นประเด็น รู้จริง มีปัญญาจำแนกธรรม เมตตาสั่งสอน และต้องทันความฉลาดของกิเลสผม ไม่งั้นก็เอาผมไม่อยู่เหมือนกัน

และไม่ใช่ว่าผมจะทดลองด้วยการถามลองเชิงกันครั้งสองครั้งแล้วจะรู้ มันต้องฟังเขามาก คุยกับเขามาก มันจะเริ่มรู้ว่าใครเป็นใคร โดยสัจจะมันจะรู้ของมันเอง เพราะกิเลสมันจะแพ้ธรรมะ ปัญญาน้อยกว่ามันจะแพ้ปัญญามากกว่า แล้วเราก็ไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเพื่ออวดดี เราปฏิบัติเพื่อเจริญ ดังนั้นอะไรที่ดีกว่าเราก็น้อมเข้ามาหาตัวเอง เราก็รับท่านที่เหนือกว่าเป็นอาจารย์เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะปิดทางศึกษาของตนเอง หลังจากได้พบครูบาอาจารย์ที่เชื่อว่าถูกตรงแล้ว ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลที่น่าพอใจแล้ว ก็ได้ออกไปศึกษาค้นคว้าภายนอก ศึกษาสำนักต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทั้งไทยและต่างประเทศ ศึกษาคนที่แสดงตนว่ามีดี จนกระทั่งผมค้นพบความจริงว่า ไม่มีหรอก ที่เขาจะสอนอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกตรงเหมือนอาจารย์ผม ที่ผมรู้เพราะผมปฏิบัติได้ผล เมื่อได้ผลก็จะรู้ว่า วิธีไหนได้ผล วิธีไหนไม่ได้ผล วิธีไหนได้ผลเป็นมิจฉา วิธีไหนได้ผลเป็นสัมมา มันมีความแตกต่างในรายละเอียดของการปฏิบัติอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา ไม่ละเอียดลึกซึ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะอริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต คาดเดามั่วเอาไม่ได้ คนชัดก็จะชัด คนไม่ชัดก็ปฏิบัติมัว ๆ เมา ๆ กันไปตามวิบากของเขา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องพบกับสัตบุรุษก่อน คือได้พบกับอาจารย์ที่ถูกตรงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรมที่ถูกและพ้นทุกข์ได้ ถ้าพบอาจารย์มิจฉา มันก็มัวเมาหลงทางเข้าป่าเข้าพงกันไปใหญ่ อันนี้คือเคล็ดไม่ลับ แต่ถ้ามองในสังคมมันก็เหมือนป่าแห่งความลับยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันมีอยู่ มันยังแสดงตัวอยู่ มันเปิดเผยอยู่ แต่คนไม่เข้าใจ นี่แหละความไม่ลับที่ลึกลับ

ปฏิบัติธรรมกับการกิน

ถ้าใครสนใจทดลองดู ก็ลองดูวีดีโออันนี้กันก่อน จะเห็นหมาตัวสุดท้าย อดทนไม่กินเนื้อ น้ำลายยืด

คนก็เหมือนกัน ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ น้ำลายก็ออกเหมือนกัน ลองไปนั่งกินอาหาร เรากินผัก เขากินเนื้อสัตว์ เขาสั่งเนื้อสัตว์แพง ๆ มา อาการจะเป็นอย่างไร มองอยู่นั่น น้ำลายยืด ฯลฯ นี่แหละเขาเรียกกิเลส เรียกว่าอาการของกาม คือความอยากกิน อยากได้ อยากเสพ ทดลองกันดูก็ได้ 7 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ มีกิเลสอยู่อาการออกทั้งนั้น

ที่กายสังขาร คืออาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่ปรากฏเพราะจิตยังสังขารอยู่ สรุปคือกิเลสยังมีอยู่ ไม่งั้นอาการมันไม่เกิดหรอก ของอื่น ๆ ก็เช่นกัน อาการอยากบุหรี่ เหล้า ฯลฯ อาการทั้งหลายที่ปรากฏ อาการหลอกของกิเลสทั้งนั้น มันเกิดจริง แต่มันไม่จริง มันปรุงมันปั้นขึ้นมาจากจิตอวิชชา

(สังขาร 3 ได้แก่ จิตสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร)

ธรรมในดงกาม

การศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนถึงความรู้ความเข้าใจในทุกวันนี้ มีสภาพที่ลักลั่น กลับหน้าเป็นหลัง กลับเบื้องปลายเป็นต้น กลับหัวกลับหางไปหมดแล้ว

ในมุมความเข้าใจ เช่น การบวช เขาก็เอากามมาใส่ บ้างก็บอกงานบวชต้องครื้นเครง จริง ๆ พระพุทธเจ้าให้ละอบายมุข ให้เว้นจากมหรสพและการบันเทิงที่ไม่เป็นกุศล ที่เพิ่มกิเลส สนองกิเลส นั่นกามในระดับอบายมุขเขายังเอามาใส่ในงานบวชได้หน้าตาเฉย แล้วหลงว่าเป็นของดีด้วย วัดก็เช่นกัน เอางานรื่นเริงงานกิเลสมาใส่ในวัด เป็นส่วนหนึ่งของวัด กลายเป็นกามกับกับการปฏิบัติธรรมเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก ความเห็นนี่มันเพี้ยนไปหมดแล้ว

ในมุมการศึกษาและปฏิบัติยิ่งแล้วใหญ่ สมัยนี้เขาไม่พูดถึงกามกันนะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เขาไม่ลด ละ เลิกกันเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นธรรมเบื้องต้นที่ควรละ เขาไปปฏิบัติกันอัตตานู่น จะมาละอัตตา ไม่เป็นตัวกูของกู สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่มันลักลั่น ไม่เป็นไปตามลำดับ ไม่เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็เลยตีกินเสพกาม คือละอัตตามาเสพกาม หรือจะเรียกว่าฉันจะเสพ แกอย่ามายึดมั่นถือมั่น

กลายเป็นคนกามจัด และศึกษาธรรมไว้ป้องกันตัวเอง เอาไว้กันคนด่า มีเห็นต่างก็สวนด้วยบทอัตตา แต่กลิ่นกามตัวเองนี่เหม็นโฉ่เลย แบบนี้ก็เคยเจอมาแล้ว

ปฏิบัติธรรมในมุมอัตตามันเหมือนจะดูเท่ แต่จริง ๆ ถ้าเอาอัตตามาก่อน มันจะไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย เพราะดันชิงวางไปหมด สิ่งที่ดีสิ่งที่ควรละก็ดันวางหน้าที่ไป เช่น กามควรละก่อน ก็เพิกเฉย ก็ปล่อยผ่านไป ทำเหมือนกามไม่เป็นภัย ฉันไม่มีอัตตาฉันก็จบกิจได้แล้ว อันนี้มันก็ผิดเพี้ยนไป

ในกามก็ยังมีมิติของความเบียดเบียนที่แตกต่างกัน กามที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นมาก เช่น การกินเนื้อสัตว์ ที่มีความอยากในรูป รส กลิ่น สัมผัส ถึงขนาดที่จะต้องเอามาบำเรอตน ต้องเอามาเสพ ไม่หยุด ไม่ละ ไม่พราก อันนี้คนเขาก็ไม่ปฏิบัติกัน ไม่ศึกษากัน เขาจึงไม่รู้ว่าความอยากกินนี่แหละกิเลส กามที่หนาขนาดนี้นี่แหละควรจะละ ควรจะกำจัดก่อน เพราะมันเบียดเบียนรุนแรงมาก ถึงขนาดจะต้องเอาชีวิตเขามา

ถ้าคนศึกษาอธิศีลข้อ ๑ จนเจริญขึ้น มีปัญญาขึ้นจะสามารถลดละกามในระดับนี้ได้เอง แต่ก็จะมาติดกามในระดับต่อไปเช่น เนื้อเทียม อาหารมังสวิรัติปรุงอร่อย กามหรือความอยากในระดับนี้ไม่ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นโดยตรง แต่ก็ยังเบียดเบียนทำร้ายชีวิตตัวเองด้วยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ความเป็นพิษเป็นภัยของอาหารรสจัดและปรุงแต่งมากอยู่ ดังนั้นเมื่อปฏิบัติต่อไปก็ลดกามในระดับนี้ไปตามลำดับ

ดังที่ยกตัวอย่างมา จะสอดคล้องกับสังโยชน์ ๑๐ ในเบื้องต่ำ ๕ ข้อ ก็ต้องละกามราคะให้ได้ก่อน ซึ่งกามมันก็อยู่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ มันก็เรื่องกิน แต่งหน้าแต่งตัว ฯลฯ แต่คนเขาไม่ปฏิบัติกันนะ เขาลัดไปปฏิบัติอะไรก็ไม่รู้ตามที่เขาว่าดี แต่มันไม่เป็นไปตามลำดับที่พระพุทธเจ้าตรัสไง คือมันก็ดูเท่ดีอะ ละอัตตา ดูไร้ตัวตน ไร้ความยึดมันถือมั่น แต่ลำดับมันผิด มันก็ผิดหมดแหละ เหมือนเด็กที่ร้อนวิชาอยากบรรลุธรรมไว ๆ เลยไปเอาวิทยานิพนธ์ของ ปริญญาเอกมาอ่าน มันก็เข้าใจนั่นแหละ แต่เข้าใจแบบเด็กอนุบาล แล้วก็เอามาสอนและปฏิบัติกันผิด ๆ มานานแล้ว

บางคนนี่ยิ่งแล้วใหญ่ อ้างว่าศึกษาปฏิบัติธรรม ลดกิเลสนะ อวดใหญ่เลย แต่อบายมุขนี่เต็มบ้องเลย อบายมุขนี่หยาบกว่ากาม เน่ากว่ากาม เขายังลดไม่ได้เลย จะมีปัญญาเห็นว่ากามเป็นโทษนี่เป็นไปไม่ได้หรอก

อบายมุขเช่นอะไร? เช่นเสพของมึนเมา เมาในอะไรก็ตามแต่ วัตถุหยาบ ๆ ก็ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ เมาดารา เมาของสะสมก็เมาในระดับอบายมุขเหมือนกัน แต่มันติดรูปติดวัดถุกันคนละอย่าง

๒.ก็เที่ยวกลางคืน คือเร่ร่อนหากามเสพในตอนกลางคืนนั่นแหละ จะกิน เที่ยว ดู ชม ฟัง อะไรก็แล้วแต่ กลางคืนไม่ใช่เวลาที่ควรจะเสพแล้ว แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ไม่เลิกรา

๓.ดูการละเล่น ดูหนังดูละครที่มันเพิ่มกิเลส เอาสนุก เอามัน เอาสะใจ ดูกีฬา กายกรรม คอนเสริต ฯลฯ นี่ระดับอบายมุขทั้งนั้น คือมันไม่จำเป็นกับชีวิต ก็ต้องเอามาเสพให้เสียเวลา

๔.เล่นการพนัน ก็พนัน หวย หุ้น พวกนี้เข้าเกณอบายมุขหมด

๕.คบคนชั่วเป็นมิตร มงคลชีวิตคือห่างไกลคนชั่ว คนชั่วพาไปทำชั่วได้สารพัด พาไปผิดศีลเมาอบายมุขข้ออื่น ๆ

๖.ขี้เกียจ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อ้างนู่นอ้างนี่อยู่นั่น (แต่ขยันในสิ่งที่เป็นโทษ ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดี)

นี่อบายมุข ๖ โดยย่อ นี่กิเลสหยาบ ๆ เลย คนปฏิบัติธรรมสมัยนี้เขาไม่ละไม่ทำให้ลดกันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงกามเลย ไม่มีปัญญารู้หรอก มันจะไม่รู้ว่ากามเป็นโทษอย่างไร ไม่มีปัญญารู้ว่าเสพแล้วให้ผลอย่างไร กรรมที่เสพกับกรรมที่ไม่เสพต่างกันอย่างไร ไม่มีปัญหารู้ มันจะทื่อ ๆ งง ๆ ตีทิ้งไปเลย

สุดท้ายพอศึกษาและปฏิบัติธรรมลักลั่น มันก็เลยผิดเพี้ยน ได้ความเท่เฉย ๆ แล้วก็เอากามไปหมกไว้ใต้อัตตา เอาไปซ่อนไว้ใต้คำคมธรรม คือพูดน่ะดูดี แต่กามยังเสพอยู่ เหมือนพูดธรรมชั้นสูง แต่ปากยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ อันนี้หลักฐานมันก็คาปากอยู่ ไอ้ที่หยาบ ไอ้ที่ว่าง่ายคุณยังเลิกไม่ได้ ไม่ต้องไปหวังอะไรมากกว่านั้นหรอก เพราะมันจะไม่มีปัญญาเข้าใจแล้ว ถึงเข้าใจไปก็เฉโก ก็ตีกินไปตามกิเลสนั่นแหละ

ถ้าผมไม่ได้เป็นโสด

สมัยยังหลง ยังเฉโกอยู่ มันก็เคยหาเหตุจะไปมีคู่เหมือนกัน กิเลสผมมันก็ฉลาดใช่ย่อย แต่ดีที่เราคบบัณฑิต เราเลยรอดมาได้

ผมเคยคิดนะว่า ชีวิตเรามีคู่ไปก็ปฏิบัติธรรมได้ ช่วยเผยแพร่ธรรมได้ แต่ความจริงที่ได้มันจะไม่เป็นแบบนั้นหรอก

นี่ถ้าทุกวันนี้ผมไม่ได้อยู่เป็นโสดนะ ผมไม่มีเวลามานั่งพิมพ์แบบนี้หรอก ก็ต้องเอาเวลาไปบำรุงบำเรอคู่ เอาสมองไปคิดเรื่องคู่ ดีไม่ดีมีลูก ต้องคิดเรื่องครอบครัวอีก ไม่ใช่แค่คิดนะ ต้องทำด้วย เวลาที่เรามีอิสระในการทำประโยชน์อื่น ๆ มันจะเสียไปหมดเลย มันจะไปเทลงที่คนไม่กี่คนนั่นแหละ แทนที่จะทำประโยชน์ได้เยอะ ๆ มันก็ได้แค่นิดเดียว เพราะชีวิตมันจะลำเอียง เทไปด้านที่ตนหลงชอบ

แล้วผมก็จะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากผมฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็บอกแล้วว่าอย่าไปมี ไม่มีประโยชน์กับความเจริญเลย ทีนี้ถ้าเราจะฝืนไปทิศตรงข้ามนี่มันนรกเลย มันเข้าใกล้ขีดอนันตริยกรรมได้เลย (อัญญสัตถารุทเทส) คือได้ฟังธรรมที่ถูกแล้ว ได้เจอหมู่คนดีที่ถูกแล้ว เรายังหลีกยังหนีออกไปมีคู่ ไปสู่อธรรม มันจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ จะเริ่มตกต่ำ ห่างธรรม ธรรมที่เคยมีก็เสื่อมถอย เวียนกลับ ธรรมที่มีก็จะเริ่มบิดเบี้ยว ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องทนทุกข์รับวิบากกรรมไป

เพราะมีคู่มีครอบครัว ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยมาทำดีง่าย ๆ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเสียเวลาดูแลเขา ต้องทำหน้าที่ ต้องรับผิดชอบ ถามว่าทำแล้วดีไหม มันก็ดี เป็นสิ่งดี เป็นมงคล แต่ถ้าไม่ต้องทำมันก็ดีกว่า มันมีดีอย่างอื่นที่ดีกว่าเอาเวลาไปดูแลลูกเมียอีกเยอะ

แล้วกิจกรรมกับหมู่กลุ่มคนดีนี่อย่าไปหวัง ต้องเก็บวันหยุดยาวไปเที่ยวกับครอบครัว ถ้าไม่พาไป เขาก็โกรธ ไม่พอใจอีก แถมค่าใช้จ่ายบานเบอะ เขาไม่ได้ทนลำบากกันได้สักเท่าไหร่หรอก รถนี่ต้องมี แถมบางทีก็ต้องขึ้นเครื่องบิน ยิ่งถ้าร้องจะไปเมืองนอกนี่ยิ่งซวยเข้าไปใหญ่

เอาแล้วไง จะมานั่งพิมพ์บทความได้ที่ไหนล่ะ มันต้องเอาเวลาไปหาเงิน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย บำเรอให้เขาอิ่มกัน อิ่มวันนี้พรุ่งนี้หิวอีก ก็ต้องทำงานกันไป ทุกข์ก็ต้องทนทำ เบื่อก็ต้องทนทำ เวลาฟังธรรมหรออย่าหวังมาก แค่ต้องมาฟังปัญหาร้อยแปดภายในครอบครัวก็หมดเวลาแล้ว ไหนจะพ่อแม่พี่น้อง ไหนจะญาติมิตรเพื่อนสหาย ปัญหาเยอะไปหมด

ถ้าผมไปมีคู่นะ มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายไปแล้ว มันพลาดตั้งแต่เราเบือนหน้าหนีธรรมอาจารย์นั่นแหละ ท่านสอนทางพ้นทุกข์ เราไม่ทำตามมันก็ไปทางทุกข์เท่านั้นเอง แล้วจะหวังอะไรกับทางทุกข์ มันคนละทางกับทางพ้นทุกข์ มันยิ่งไปมันยิ่งทุกข์ มันไม่พ้นอยู่แล้ว นั่นหมายถึงผมก็มีโอกาสจะเสียชาตินี้ไปอีกชาติ ถึงจะเก่งก็เก่งขึ้นไม่ได้มากกว่าภาวะคนคู่ เพราะชาตินี้มันสอบตก มันล้างไม่ทัน จะไปเบื่อตอนแก่มันก็ไม่ทัน ผัสสะมันไม่เหมือนเดิม เหตุปัจจัยมันหมดแล้ว มันมีจังหวะเดียวให้ชีวิตผลิกก็แค่ตอนจะตัดสินใจมีหรือไม่มีนั่นแหละ

ส่วนจะหวังบรรลุหรือหลุดพ้นเพราะคบกันนี่ผมบอกเลยว่า ยากกกกกกกก… เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น คุณร่วมกันทำบาป ทำตามกิเลสกันมาเท่าไหร่ ทุ่มเทบำเรอกาม บำรุงอัตตากันมาเท่าไหร่ มันมีผลนะ มันบันทึกเป็นกรรมไม่พอ มันยังฝังเป็นอุปาทานด้วย ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นไปไม่ได้ จะมีเฉพาะบางกรณีพิเศษเท่านั้น ซึ่งก็อย่าไปหวังเลยว่าเราจะเป็นกรณีพ้นได้แบบง่าย ๆ

ขอให้ยินดีในความโสดเถอะครับ อย่างน้อยมันก็ยังทำให้เราได้มีเวลาแบ่งปันศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน

พุดโถ่ พุดถัง เถียงกินเนื้อสัตว์

ว่าจะพิมพ์เรื่องนี้หลายทีแล้วก็ลืมทุกที วันนี้ได้โอกาส นำเรื่องนี้มาพิมพ์กัน ว่าทำไมเมื่อปฏิบัติธรรมไปแล้วจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ซึ่งก็มีเถียงกันมากมาย อ้างเหตุให้ได้ จะกิน จะกิน จะกินให้ถูกตามธรรมด้วย เอาข้อธรรมมาอ้างให้ได้กินนั่นแหละ ชีวิตมันจะต้องลำบากปกป้องตนเอง เสียเวลากับการปกป้องตนเองไปเพื่ออะไร

หลายวันก่อนระลึกถึงพระสูตรหนึ่ง ค้นเจอว่าเป็น เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน ผมเคยใช้พระสูตรนี้อธิบายเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่คราวนี้มันนึกขึ้นได้ว่า จริง ๆ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้เอง ทำไมคนไม่เข้าใจ

เนื้อความก็ประมาณว่า สัตว์เขาอยากมีชีวิต เขาไม่อยากตาย เราก็ไม่อยากตายเช่นกัน เมื่อเราเข้าใจเช่นนั้น เราจึงไม่ฆ่าเขา และยังชักชวนให้คนไม่ฆ่า มีความยินดีในการไม่ฆ่า… เอาแค่นี้ก่อน

เอาแค่ภาษาแค่นี้ผมว่าคนมีปัญญาก็ทะลุได้แล้วนะ เลิกกินได้เลย เอ้อนี่ เราก็ไม่อยากให้ใครฆ่าเราไปให้ใครกิน ดังนั้นเราจึงไม่กินเนื้อใครซะเลย มันก็ตรรกกะง่าย ๆ คือถ้าไม่โง่จนเกินไปก็น่าจะพอเข้าใจ

แต่ผมก็เข้าใจอีกอย่างคือ ยุคนี้มันใกล้กลียุค คนมีวิบาก แม้ธรรมง่าย ๆ ก็ฟังไม่เข้าใจ มันจะมืดบอดไปหมด ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่เห็นอกเห็นใจสัตว์อื่น ทำตัวเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นเทพ อยู่เหนือสัตว์อื่น จิตมันเลยไม่น้อมไปว่า สัตว์อื่นทุกข์อย่างไร แม้เราโดนเช่นนั้น เราก็ทุกข์อย่างนั้น

ถ้าธรรมะเจริญจริง มันไม่ยากหรอกที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น สัตว์อื่น เมตตาที่เพิ่มขึ้นมันจะมีผล มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะมีความรู้สึกผิด กลัวบาป เพราะรู้ชัดในกรรมว่าทำไปแล้วโดนแน่ ๆ ผลของกรรมมันกลับมาเอาคืนแน่ ๆ ในเมื่อมันไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มันก็ไม่รู้จะไปกินเอาวิบากร้ายทำไม

ใครอยากศึกษาต่อก็ไปตามอ่านกันเอา แต่ที่เถียง ๆ กิน นี่ยังไม่เจริญเท่าไหร่หรอก ก็มีแต่ตรรกะ สภาวะไม่ได้ เพราะถ้าจะเจริญอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คนนั้นก็ต้องไม่ฆ่า อันนี้คนทั่วไปก็พอจะทำได้ พอมาชักชวนให้คนอื่นไม่ฆ่า สายปฏิบัติกินเนื้อสัตว์นี่น้ำท่วมปากแล้ว พูดไม่ออก จะไปชวนคนที่เขาฆ่าสัตว์มาขายให้เลิกฆ่าก็พูดไม่ออก กลัวไม่มีเนื้อสัตว์กิน พอมาข้อสุดท้าย คือกล่าวชม มีความยินดีในการไม่ฆ่า ไปไม่เป็นเลยทีนี้ เพราะตัวเองก็กำลังเถียงสู้ (แม้จะเถียงในใจ)อยู่กับคนที่เขายินดีไม่ฆ่าสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ มันก็เลือกข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า อยู่ฝั่งยินดีให้สัตว์โดนฆ่า ยินดีให้สัตว์ตาย ปล่อยวางธรรมแล้วถือเอาเนื้อสัตว์มากินมันซะเลย

ถ้าจิตมันไม่ยินดีให้สัตว์ตายนั้น ร่างกายมันจะเคลื่อนตาม มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ไปทีละนิด ลด ละ เลิกไปตามฐาน ตามปัญญาที่มี

ขึ้นอยู่กับวิธีใช้…

ผมสงสัยมานาน เวลาเห็นคนเขาตัดกระถิน ตัดกิ่งไม้แถวบ้าน เขาก็ใช้มีดตัดอ้อยธรรมดา ๆ นั่นแหละ ตัดทีเดียวขาด แต่ผมลองใช้ที่ผมมี ก็ตัดไม่ขาดแบบเขา ก็เลยไปหาซื้อมาเพิ่ม หนักบ้าง แพงบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้ดีขึ้น

ช่วงนี้มีโอกาสได้ลองใช้มีดตัดอ้อยของชาวบ้าน ก็พบว่า ปัญหามันไม่ใช่มีด ปัญหาคือวิธีใช้ของผมเอง มันมีจังหวะ มีน้ำหนัก การฟันที่ยังไม่เหมาะ ยังไม่ถูกหลักที่จะตัดให้ได้ตามเขา ผมก็เลยเอามีดเขาไปลองฝึกฟันจนเริ่มเข้าใจ ว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันต้องใช้จังหวะแบบนี้

…จริง ๆ ธรรมะก็คล้าย ๆ กันนะ ผมก็เคยเห็นคนที่เขาเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าบ้าง ของครูบาอาจารย์บ้าง เอามาใช้ แต่มันก็ทื่อ ๆ ไง คือฟังแล้วแข็งมาก พอเข้าใจเรื่องมีดตัดอ้อยมันก็เข้าใจขึ้น คือเขาจำ ๆ มาใช้ เขาหยิบมาใช้เลย เขาไม่รู้วิธี ไม่รู้จังหวะ ไม่รู้กระบวนการ

เหมือนกับครูบาอาจารย์ท่านใช้ขวานเหล็ก แล้วก็วางไว้ ทีนี้ลูกศิษย์ก็ไปหยิบมาใช้ แต่ลูกศิษย์นี่เหมือนเด็กอนุบาล แล้วไปหยิบขวานของผู้ใหญ่มาใช้ คือมันก็ใช้ได้ไปตามที่มันเป็นละนะ หรือจะเรียกว่าได้ใช้ก็ว่าได้ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมันไม่เท่ากัน คือภาพมันก็ทุลักทุเล แข็ง ไม่คม ผลคือตัดไม่ได้ ดีไม่ดีสับเอาขาตัวเองเข้าไปอีก

ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยได้เอาของครูบาอาจารย์มาใช้สักเท่าไรนัก จะปรุงใหม่มากกว่า เปรียบเช่น ถ้าท่านใช้ขวาน ผมก็ศึกษาแล้วเอามาตีขวานเล็กของผมเอง เอาให้มันสมฐานะ ให้สมแรง ไม่เกินแรง ถ้าเกินแรงมันฟาดไม่ไหว แถมมันไม่ใช่ธรรมที่เรามีในตนด้วย ไอ้การจะพูดสิ่งที่จำ ๆ มานี่บางทีมันก็เสี่ยงเข้าตัวเหมือนกัน จะพูดต้องตั้งสติและอ้างอิงด้วย ไม่งั้นพูดสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ได้แต่จำมา คนเขาเห็นท่า จะเหมือนเด็กอนุบาลถือขวานใหญ่เอา สภาพมันก็คงดูน่าเมตตามากกว่าน่าศรัทธานะ

ผมเชื่อว่ายุคนี้ต้องประมาณมาก มันไม่ mass ขนาดที่ว่าเอาธรรมะชุดหนึ่ง ประโยคหนึ่ง คำหนึ่งปล่อยออกไปแล้วมันจะได้ผลหรอก มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่แม่นเท่าธรรมที่ประมาณแล้วได้แสดงออกไป

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าผมฝึกประมาณธรรมไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นเหมือนการฝึกใช้มีดตัดอ้อยนั่นเอง

การคบคุ้น สู่ความสุข/ทุกข์

สมัยก่อน ตอนที่ยังศึกษาและปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ผมก็ตะลอน ๆ ไปเรื่อยตามประสาคนอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สำนักนั้นบ้าง สำนักนี้บ้าง คบคุ้นกับคนกลุ่มนั้นบ้าง กลุ่มนี้บ้าง ตามแต่โอกาสที่พอจะมี ก็เหมือนกับว่าเป็นคนเร่ร่อนละนะ ยังไม่ปักหลัก ยังไม่ลงตัว ยังไม่ชัดเจน

จนวันที่มาคบคุ้นกับกลุ่มแพทย์วิถีธรรม ก็ศึกษากันอยู่พักใหญ่ แต่ยิ่งศึกษาไปนานวัน คบคุ้นกันไปนานปี ก็ยิ่งศรัทธาขึ้น จนมาวันนี้ก็ได้ส่งใบสมัครเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขาเป็นที่เรียบร้อย

เวลาที่ผมรู้สึกว่าชัดเจน แล้วจะไม่ค่อยเสียเวลากับสิ่งอื่น เพราะ เวลา แรงงานและทรัพยากรต่าง ๆ ของเราเนี่ย มันมีจำกัด เราต้องบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด เท่าที่จะมีแรงทำได้

ถ้าวิเคราะห์ในมุมของการบริหาร ผมจำเป็นต้องเททรัพยากรให้กับหน่วยลงทุนที่ได้ผลกำไรสูงสุด เพื่อผลประโยชน์ของตัวผมเอง ผมจะไม่ไปเทเรี่ยราด ตรงนั้นที ตรงนี้ที เพราะมันทำให้ผมเสียโอกาสดี ๆ ไป

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเห็นของแต่ละคนว่ากลุ่มไหนดี กิจกรรมไหนดี ก็วิเคราะห์จำแนกกันไปตามปัญญาของแต่ละคน ก็ทดลองกันไปว่าอยู่แล้วเจริญไหม? เจริญได้แค่ไหน? เจริญได้จริงหรือไม่? มั่นคงยั่งยืนหรือไม่? ถ้ามันโอเคก็ทุ่มเทลงไป

แต่ก็ใช่ว่าผมจะไม่เคยทดลองไปกิจกรรมกับกลุ่มอื่น หลังจากศึกษาจนเข้าใจทางแล้ว ทำได้บ้างแล้ว ผมก็ได้ลองไปเข้ากลุ่มนั้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง (อีกแล้ว) ส่วนหนึ่งเพื่อศึกษาเขาว่าเขาทำอย่างเราหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งคือไปเอื้อเขา เผื่อว่าเขาจะเห็นดีกับเรา

จนกระทั่งผมพบว่าผมไม่เจอกลุ่มไหนเลยที่คิดเห็นและปฏิบัติธรรมเหมือนสายที่ผมศึกษา ซึ่งผมก็เห็นว่าทางที่ผมศึกษาแล้วมันได้ผลจริง อ้าว… แล้วที่เขาทำอยู่มันคืออะไร? ก็พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าทางปฏิบัติถึงผลมันมีทางเดียว แล้วทางอื่นมันคืออะไร ก็คงไม่ต้องคิดให้วุ่นวายใจ ก็จบประเด็นแรกไป

ประเด็นที่สองคือไปเอื้อเขา แรกปฏิบัติธรรมได้ใหม่ ๆ มันก็มีน้ำใจไง ติดดีไง คืออยากให้เกิดดี ก็เลยไปกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกับเขา แต่ผลคือเขาก็ไม่ได้สนใจอะไรเราหรอกนะ และเราก็ไม่ได้ขยันยัดเยียดสักเท่าไหร่ แค่บอกไปทีเดียว ไม่ขยับก็เลิกแล้ว มารู้เอาตอนท้ายว่าที่ทำนี่มันเหนื่อยฟรี เอาจริง ๆ ก็ไม่ต้องไปเอื้อใครเขามากหรอก เราก็พิมพ์ก็พูดไป ใครเขาศรัทธา เขาก็มาคุยเองแหละ ไม่ต้องผลักดันหรอก

พอตอบโจทย์สองประเด็นจบ ก็เลิกเสียเวลาเลย ก็มุ่งเอาสายเดียวนี่แหละ ผมมั่นใจว่าใช่ เพราะผมปฏิบัติแล้วมีผล จิตมันเปลี่ยนแปลงได้จริง กิเลสมันลดได้จริง กิเลสมันตายได้จริง ที่สำคัญ ยิ่งคบคุ้นปฏิบัติตามนานวันผมยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น แม่นขึ้น คมขึ้น คุมกระบี่ได้ดียิ่งขึ้น ก็เป็นเหตุผลที่ผมเลือกที่จะคบคุ้นกลุ่มที่จะทำให้ผมเจริญขึ้นเท่านั้น

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์ แต่ถ้าอยากทุกข์ก็ทำตรงข้ามกับ ไปคบมิตรชั่ว สหายกิเลสหนา สังคมสร้างปัญหา ขยันสะสมตัณหา ชวนกันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง ก็จะได้ชีวิตทุกข์ ๆ อย่างที่เห็นกันโดยมากในทุกวันนี้

เขาทิ้งเรา เราทิ้งเขา

อ่านเจอกระทู้หนึ่งในพันทิพ เขาว่าลูกกับเมียเขากำลังจะตีตัวออกห่างเขา ทั้งบ้านและรถ ไม่ใช่ชื่อเขา ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร?

ผมอ่านแล้วก็น่าคิด ถ้าเป็นผมตอนนี้ ผมยอมให้หมดเลย อยากได้อะไรก็เอาไป จะไปไหนก็ไป เรามีทางไปของเราแล้ว บ่วงหลุดไปจากเรา เราไม่ต้องลำบากแล้ว ดังนั้นผมประเมินว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมจนได้ผลประมาณหนึ่ง เมื่อพบกับเหตุการณ์เขาทิ้งเรามันจะไม่ยากเท่าไหร่

แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป ไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม ผมก็เข้าใจ เขาทุกข์แน่นอนแหละ แต่จะทุกข์หนักทุกข์นานแค่ไหนนั่นก็แล้วแต่วิบาก ถ้ามันหมดวิบากก็ไม่ต้องไปแส่หาเพิ่ม เอาเวลาไปศึกษาธรรมให้พ้นทุกข์ พ้นวนเวียนเรื่องครอบครัวจะดีกว่า

ทีนี้มาคิดถึงประเด็นเราทิ้งเขา(ทั้งที่ยังรัก)นี่มันยาก มันต่างกับเขาทิ้งเราโดยสิ้นเชิง เขาทิ้งเรานี่เราแค่รับกรรมเก่าที่ทำมา ส่วนกรรมชั่วใหม่เราไม่ทำมันก็จบไป แต่สำหรับเราทิ้งเขานี่มันยาก เพราะมันเป็นกรรมใหม่ที่เราจะต้องทำเพื่อความเจริญ

ปกติมันทิ้งกันไม่ได้ง่าย ๆ หรอก มีสารพัดร้อยล้านเหตุผลที่จะติดอยู่อย่างนั้น มันจะหนืด ๆ ดึงไม่ค่อยออก เรียกว่าไม่ยอมดึงตัวเองออกมาเลยจะชัดกว่า

ตรงนี้แหละที่มันจะยาก เพราะจะไม่ออกมาเลยก็ติดกาม กระชากออกมาก็เป็นอัตตา มันโต่งทั้งด้านอยู่ ทั้งด้านไป แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าบำเพ็ญความดีไปทั้งชาติแล้วเขาจะปล่อยเรา บางทีการปล่อยไปตามกรรมทั้งชาติโดยไม่ทำอะไรให้ชัดเจน ก็เป็นการสร้างวิบากกรรมใหม่เช่นกัน คือกรรมที่ไม่พยายามทำอะไรดี ๆ เลย ซึ่งมันก็จะทำให้ช้า บางทีมันต้องพรากออกมาเพื่อประโยชน์ที่มากกว่า แม้จะเป็นช่วง ๆ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

นี่ขนาดคนอยากออกจากความเป็นครอบครัวยังยากในการประมาณ นับประสาอะไรกับคนทั่วไป ยากนักที่คนทั่วไปจะอยากออกจากความเป็นครอบครัว ออกจากสภาพความเป็นคู่ มาอยู่อย่างยินดีในความโสด

คนบวชเป็นพระมานานยังสึกไปมีเมียได้ สารพัดมิจฉาธรรมที่พาให้คนยินดีในการมีคู่ สื่อสารออกไปแล้วไม่ได้ทำให้คนละหน่ายความอยากมีคู่ ซ้ำร้ายบางทียังหาข้ออ้าง หาช่องทางในการมีคู่ได้โดยดูไม่ผิดหลักธรรมอีก ยุคนี้กิเลสมันร้าย ระวังกันไว้นะครับ

เจอตอบนทางธรรม

วันก่อนผมเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ตระหนักถึงภัยอันน่ากลัว คือผมเดินไปสะดุดกระดานรองเขียนที่วางไว้ที่พื้น กระดานนั้นมันมีสีน้ำตาลเหมือนสีพื้น แม้มันจะสูงกว่าพื้นไม่มากนัก แต่มันก็ไม่ใช่พื้น และเราก็ไม่ทันสังเกต เราไปเห็นว่ามันเป็นพื้น สุดท้ายก็เลยสะดุดมัน

ก็ทำให้คิดว่า บนเส้นทางธรรมนี่ก็เป็นเส้นทางที่น่ากลัวเหมือนกัน ประมาทไม่ได้ และประมาทใครก็ไม่ได้ คนที่ไม่มีสติจะไม่ทันสังเกตความแตกต่าง คนไม่มีปัญญาจะไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร

คนที่หันมาปฏิบัติธรรมแรก ๆ ส่วนมากจะมีความอ่อนน้อม เพราะรู้ตัวว่ายังไม่เก่ง แต่พออยู่นานเข้า ศึกษาและปฏิบัตินานเข้า ก็จะเริ่มเก่งและอัตตาก็จะเริ่มโต พออัตตาโตสายตามันก็จะเริ่มสั้น เริ่มมองเห็นไม่ชัด เห็นได้แต่ใกล้ ๆ คือเห็นสำคัญแต่ตัวตนของตนเอง แต่มักไม่เห็นความสำคัญในผู้อื่น

พอมองไม่ชัด มันก็เผลอ ก็พลาด ก็เลยเกิดเป็นสภาพชนตอ ทีนี้พออัตตาจัดแล้วชนตอ มันจะไม่รู้ตัวว่าชนตอ รู้แต่เจ็บ รู้แต่ทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าชนอะไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ชนไปแล้ว

หายนะอย่างหนึ่งของผู้ปฏิบัติธรรม คือการเพ่งโทษกันในหมู่คนดี กรรมเหล่านั้นจะให้ผลเช่น หลง เสื่อม เจ็บ ตาย ฯลฯ ซึ่งจะมีความรุนแรงไปตามตัวแปรคือบุคคลที่ไปเพ่งโทษ เรื่องที่ไปเพ่งโทษ และระยะเวลาที่ยังไม่ได้แก้ความเห็นผิดนั้น ๆ

ผมเคยเห็นผู้ที่ทำกรรมนี้มาแล้ว คือทำดีมาแทบตาย สุดท้ายชนตอ แล้วตอใหญ่ด้วย แต่ตัวเองไม่เห็น ไม่สำคัญว่านั่นคือตอ ชนทีเดียวตายเลย

ผมจึงต้องคอยตรวจสอบและระวังตัวเองให้มาก ไม่ให้สบประมาทใคร ไม่ให้เพ่งโทษใคร ไม่ให้อัตตาครอบงำจนสายตาสั้นหรือตาบอดมองไม่เห็นตอนั้น เพราะทันทีที่ผมพลาด ชีวิตผมก็คงจะล่มจมและฉิบหายด้วยผลแห่งกรรมนั้น ๆ

แม้จนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังต้องตรวจจิตตัวเองซ้ำแล้วซ่ำเล่าว่ายังดีอยู่ไหม ยังมีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อยู่ไหม หรือมันเบี้ยว มันเอนออก เราตรวจสอบกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เขาให้ความเห็นอย่างไร เขายังเห็นว่าเรายังดีอยู่ไหม ก็ต้องตรวจทั้งตนเองและให้ผู้อื่นตรวจ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วได้ผลที่ถูกตรงนั้นน่ากลัวเหมือนอสรพิษ ที่ว่าน่ากลัวไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นจะมาทำร้ายเรา แต่น่ากลัวเพราะถ้าเราจะพลาดไปคิดพูดทำไม่ดีต่อท่าน นั่นหมายถึงเราได้สร้างความฉิบหายในระดับที่เรียกว่าโดนงูพิษกัดก็ยังน้อยไปให้ชีวิตของเรานั่นเอง

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง…

วันก่อนคุยกับเพื่อน เกี่ยวกับเรื่องภาวะที่สะกดจิตตนเองอยู่ในภพหนึ่งๆ คุยไปคุยมาก็ไปเรื่อง อุปาทาน คนอุปาทานกิเลสได้ คนก็อุปาทานธรรมะได้เหมือนกัน

เหมือนกับคนที่ฟังธรรมะมา (แม้จะเป็นธรรมที่ถูกตรงก็ตาม) แล้วยกทั้งหมดนั้นมาสวมหัว เหมือนสวมหัวโขนเป็นคนมีธรรมะ เป็นคนดี ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสภาพของ “สีลัพพตุปาทาน” คือเขาจะปฏิบัติได้หมดเลยนะ จะเป็นโสด จะไม่กินเนื้อสัตว์ จะกินมื้อเดียว จะเป็นคนเสียสละ จะพูดธรรมะ อะไรก็พูดได้จำได้คล่องก็มีเหมือนกัน

ผมมานั่งระลึกถึงหนังสือที่อ่านวันก่อนว่า บัวใต้น้ำ (อเวไนยสัตว์ – สัตว์ที่สอนไม่ได้) ก็มีเนื้อหาที่เขาให้มาดังนี้ คือเป็นผู้ดีแต่พูด เพราะได้ฟังพุทธพจน์ไว้มาก กล่าวก็มาก จำไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผลในชาตินี้ (พุทธกำเนิด หน้า76)

เอาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ที่เห็นเป็นเหมือนคนมีธรรมะก็อาจจะไม่มีจริงก็ได้ เห็นพูดเห็นสอนธรรมะ พิมพ์หนังสือ best seller เป็นนักพูดยอดนิยม ก็อาจจะไม่มีธรรมะนั้นจริงก็ได้

เพียงแค่จำมา ท่องมา ยกมาไว้ สวมหัวตน แล้วก็ท่องว่า นี่ฉันเป็นผู้มีธรรม ฉันเป็นผู้มีธรรม … ไอ้แบบนี้ มันก็ทำให้คนที่ไม่ได้ศึกษาเขาหลงเชื่อได้เหมือนกัน

สัมมาทิฏฐินั้นเป็นสภาพที่เกิดและเข้าใจในตนเอง ไม่ใช่เอาความเข้าใจของคนอื่นมาจำไว้เป็นความรู้(สัญญา) แล้วไปยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวฉันของฉัน เพียงแค่ได้อุปาทานธรรมนั้นๆ มาเป็นของตน

แต่ผมก็เข้าใจสัจจะนะ ว่าคนที่จะมาเอาดี เขาต้องยึดแบบสีลัพพตุปาทานก่อน มันจะกระโดดมาสมาทานไม่ได้ มันต้องหลงปฏิบัติธรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก่อน จนเห็นว่ามันผิด มันจึงค่อยหาทางมาสัมมาทิฏฐิได้

ทั้งนี้เหตุแห่งสัมมาทิฏฐินั้นมีสองข้อ หนึ่งคือการยอมฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่าง สองคือการทำในใจให้แยบคายลงไปถึงที่เกิด ข้อแรกนี่ก็ยากที่จะผ่านแล้ว เพราะส่วนใหญ่อัตตามันจะต้าน มันจะไม่ฟัง ถึงจะทำเหมือนฟัง แต่ถ้าจิตมันไม่ยอมรับ มันก็ไม่ผ่านข้อแรกอยู่ดี

ส่วนการทำใจในใจให้ถึงที่เกิดนี่มันยากถึงยากมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ คนปฏิบัติธรรมทั้งชีวิตจะไม่สามารถเข้าถึงการทำใจในใจที่ถูกตรง ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเป็นเรื่องยาก มันต้องมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนมาก ตั้งแต่มีมิตรดี มีศีล มีฉันทะ รู้จักอัตตา มีความเห็นที่ถูก ไม่ประมาท ถึงจะเจริญไปถึงการทำใจในใจได้

ถ้าอยากรู้ว่าตนเองสัมมาทิฏฐิไหมก็ต้องศึกษาองค์ประกอบของสัมมาทิฏฐินั้นเป็นอย่างไร แล้วลองกระทบกับปัญหาดู เมื่อมีปัญหา มีผัสสะ มีสิ่งกระทบ จะรู้ได้เห็นว่าความเห็นมันเป็นตรงตามแบบสัมมาทิฏฐิหรือไม่ตรง ถ้ามีจริงมันจะไม่เบี้ยวออกเลยนะ มันจะอยู่ในกรอบของสัมมาทิฏฐินั่นแหละ

แต่แบบท่องจำก็มี คือกระทบแล้ว เกิดอารมณ์แล้ว แต่ใช้สัมมาทิฏฐิที่เรียนรู้มานี่แหละ มาเป็นตัวตบให้เวทนามันสงบ เอาปัญญานี้มาใช้เป็นตัวทำให้สงบ เรียกว่าปัญญาสมถะ เช่นพอเราเรียนรู้เรื่องกรรมและผลของกรรมมา ครูบาอาจารย์ท่านว่าให้ทำความเห็นแบบนี้แบบนั้น พอเรากระทบเสร็จขุ่นใจเราก็เอามาท่อง มันก็สงบไปได้ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ มันจะออกมาเองเลย ไม่ต้องนึก เพราะความเห็นมันตรงอยู่แล้ว มันจะแก้กลับของมันเอง ในกรณีผัสสะนั้นๆ ไม่หนักมากจนเกินไป หรือถ้าเพื่อนเตือนก็จะนึกออกและระลึกได้เอง ไม่ต้องมานั่งปรับความเข้าใจ เพราะมันตรงอยู่แล้ว เพียงแค่สติมันหลุดไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกและเข้าใจยากเหมือนกันครับ ผมอาจจะอธิบายไม่ละเอียดนัก แต่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ ก็พยายามจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแต่ยังงงๆ