นาบุญ

ช่วงหลายวันก่อนมีประเด็นคุยกับพี่น้องร่วมปฏิบัติธรรมกันอยู่บ้างในเรื่องที่คนเขาไปบำเพ็ญ ทำดีกันในที่ต่าง ๆ กัน

คำถามก็คือทำไมคนถึงไม่มาร่วมกันทำดีในที่ที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งที่มีครูบาอาจารย์พูดกำชับอยู่แล้วว่าที่นั่นที่นี่ควรทำก่อน…?

ก็จริงอยู่ที่ว่าคนเราทำดีที่ไหนก็ได้ มันก็จริง แต่มันก็ได้ผลไม่เท่ากัน เหมือนปลูกข้าวในที่ดินดีกับปลูกข้าวในที่แห้งแล้ง มันก็ได้ปลูกเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันได้ผลไม่เหมือนกัน

คืออาจจะเหนื่อยเท่ากัน แต่ผลดีเกิดไม่เหมือนกัน แล้วเราจะเลือกทำดีที่ไหนล่ะ ดีที่เกิดผลสูงสุด หรือดีที่เกิดทั่ว ๆ ไป

ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่ทุกคนจะเข้าถึงดีที่สูงที่สุดได้ แต่ละคนจะมีขอบเขตที่ตนปฏิบัติได้ โดยถูกกันจากวิบากกรรมตนเองบ้าง กิเลสตนเองบ้าง ไม่ให้มี “สิทธิ์” เข้าถึงพื้นที่นาบุญแห่งนั้นได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าถึงสิทธิ์นั้นจะทำดีได้มากกว่า เขาเพียงแค่ได้โอกาสทำดีได้ผลดีมากกว่า ซึ่งนั่นก็ดี แต่ถ้าหากเขามัวแต่ปลูกหญ้าในนาบุญ มันก็จะไม่ได้ข้าว ทำให้โอกาสเหล่านั้นเสียเปล่าไปเรื่อย ๆ

การอยู่ในที่ที่ดีมันก็เป็นดาบสองคม คือถ้าทำดีไม่เต็มที่ก็จะเสื่อมเร็ว เพราะทุกวันก็ต้องกินต้องใช้ ก็เอาไปให้กิเลสกินหมด กุศลกรรมที่ทำมามันก็หมดเร็ว พอถึงจุดนึงหมดแล้วมันก็ต้องร่วง ต้องหลุดออก ไปต่อท้ายแถวใหม่

ไปต่อไกล ๆ นู้นนน ทำดีรอบ ๆ ไป ทำดีเต็มที่ สุดท้ายก็ได้เข้ามาใหม่ ก็อยู่ที่ว่าตอนได้สิทธิ์นั้น ทำดีคู่ควรกับสถานที่/โอกาส/คน ฯลฯ นั้นหรือไม่

ส่วนตัวผมใครจะทำดีที่ไหนยังไงก็เข้าใจเขานะ เพราะเราก็เคยมีประสบการณ์ทั้งสองแบบนั่นแหละ คือทำดีในที่ห่างไกลความเจริญทางธรรม(นาบุญ) กับทำดีในนาบุญ มันก็แตกต่างกัน แต่มันก็เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น ว่าโลกนี้มันก็พร่อง ๆ แบบนี้แหละ

มันจะไปเอาดีที่สุดเลยทันทีไม่ได้ มันต้องกำจัดขวากหนาม(กิเลส/วิบากกรรม) ตามทางไปก่อน จะไปตะลุยดงหนามมันจะเจ็บมาก ทรมานมาก สุดท้ายมันก็ดีได้เท่าที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ