วิบากกรรมโหดร้ายจนไม่กล้ามีลูก

พอดีอ่านเจอหัวข้อ “มีใครคิดว่าโลกนี้โหดร้ายจนไม่กล้ามีลูกไหมคะ” ในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง

ก็มาระลึกถึงเรื่องนี้ แต่ก่อนสมัยศึกษาธรรมะใหม่ ๆ ผมเองก็ยังหลงอยู่นะ หลงว่าตัวเองเก่งไง แบบว่า เราต้องสอนลูกให้เป็นคนดี ให้เก่งได้แน่ ต้องดูแลเขาได้(ในแบบของเรา) ให้ดีได้แน่ ๆ แหม่ อัตตามันก็พาเก่งเรื่องไม่เป็นเรื่องแบบนี้ละนะ พอหลงว่าเก่ง ก็เลยอยากมีลูกสนองความเก่งด้วยความมั่นใจ

แต่โชคดีที่ขั้นตอนการมีครอบครัวมันไม่ง่ายประกอบกับการศึกษาระหว่างทาง ก็ทำให้พบว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิดแน่ ๆ ถึงเราจะหลงว่าตัวเองเก่งแค่ไหน แต่มันก็ไม่เก่งเกินกรรมหรอกว้า…

ไปศึกษากรณีของพระเจ้าพิมพิสาร สาวกระดับโสดาบัน ถูกลูกตัวเองฆ่าตายได้เหมือนกัน …ยิ่งอ่านยิ่งทบทวน ความอวดเก่งมันก็เริ่มหายไป ท่านขนาดนั้นยังไม่รอด แล้วเราจะไปเหลืออะไร ท่านทำดีมีบารมีสะสมมาระดับเป็นกษัตริย์ที่เก่งและมีคนรักขนาดนั้น วิบากกรรมชั่วยังตามไล่ล่า ไอ้เราก็แค่นี้จะไปรอดอะไร

เท่านั้นแหละ มันเลิกเก่งเลย เพราะรู้ว่าเก่งแค่ไหนก็ไม่ชนะกรรม ถึงคุณจะมีกลยุทธ์ดี มีจิตวิทยาดี มีการวางแผนที่ดี ฉลาดในการแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรับมือกับวิบากกรรมได้ เพราะมันจะมาเหนือเมฆเสมอ คือเหนือกว่าความสามารถของคุณไปอีกนั่นแหละ เก่งแค่ไหน ฟ้าก็ส่งโจทย์มาเหนือกว่านั้น

ให้โจทย์ให้บทเรียนมา จะได้เลิกโง่เลิกหลงซะที มันจะต้องทุกข์ไปถึงไหนถึงจะพอใจ ถึงจะสาแก่ใจ แรก ๆ กิเลสมันก็หลอกเราให้หลงว่า มีลูกแล้วจะได้นั่น ได้โน่น ได้นี่ สารพัด ความสุขบ้างละ ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์บ้างล่ะ มีคนดูแลในอนาคตบ้างล่ะ

สารพัดเหตุผลที่กิเลสมันจะปรุงมาให้ นี่ยังไม่รวมมิตรเฉโกพากันเมากิเลสอีกนะ แต่ละคนก็พกกิเลสกันมาแล้วก็มาแชร์กัน แบ่งปันกัน มีลูกดีอย่างนี้ มีครอบครัวดีอย่างนั้น มันก็พากันไปนรกเลย นี่เขาเรียกคบมิตรชั่ว แต่คนส่วนใหญ่ชอบ เพราะถูกใจกิเลส

มิตรดีนี่ขายออกยากหน่อย พระพุทธเจ้านี่ยอดมิตรดีเลย ท่านตรัสบอก ตั้งตนเป็นโสดนี่คนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง (มันก็ต้องมีคู่ก่อนมีลูกละนะ) ส่วนใหญ่เขาไม่มาโสดกันหรอก เขาไปมีครอบครัวกันแทน

เขาก็หลงว่าลูกหรือคู่ครองนี่แหละมิตรดี ไปศึกษาเลย เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร ดีขนาดนั้น เก่งขนาดนั้น บารมีขนาดนั้น โดนลูกตัวเองฆ่า

มันไม่แน่หรอกว่าไอ้ที่ออกมาอะไรมันมาเกิด จะเป็นสัตว์นรกหรือเทวดามาเกิด ขนาดว่าพระเจ้าอชาตศัตรู (ลูกพระเจ้าพิมพิสาร) ในตอนท้ายกลับใจมาศรัทธาพุทธศาสนา ซึ่งจริงๆ ท่านก็มีบารมีมากเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะหนีพ้นวิบากได้ โดนโลก โดนคนชั่วพาหลงไปฆ่าพ่อตัวเอง

ดูซิการมีลูกมันน่ากลัวขนาดไหน นี่ร้ายยังน่ากลัวนะ ดียิ่งน่ากลัวกว่า คือมันร้ายลึก ทุกข์แบบหน่วง ๆ เพราะพอมีลูกดีก็จะรักจะห่วง จะกอดลูกไว้ กลัว กังวล หวงห่วง สารพัด พอเขาดีจัดก็ไม่ยอมให้ใคร กอดไว้คนเดียว อาจจะเสพติดความดีของลูกเข้าไปอีก ไปกันใหญ่

สรุปคือไม่มีน่ะดีแล้ว จะดีจะร้ายก็ปล่อยเขาไปเถอะ เขาจะไปเกิดที่ไหนก็เรื่องของเขา ถ้าจิตวิญญาณเขาดีจริง ไปเกิดที่ไหนเขาก็ดีตามธรรมของเขา เราก็ไม่ต้องไปเอาเขาไว้เป็นของเรา

เพราะจริง ๆ แม้เขาจะเป็นลูกที่เกิดจากเรา เขาอาศัยเรามาเกิดก็จริง แต่เขาก็ไม่ใช่ของของเรา เขาก็เป็นตัวของเขา มีเส้นทาง มีวิบากเป็นของเขาเอง ความจริงมันแยกกันชัดเจน มีแต่ตัวเราเท่านั้นแหละ ที่พยายามเข้าไปผูกให้มันเป็นเรื่องเป็นราว ให้เป็นละคร เป็นนิยาย ที่ไม่ยอมจบมาแล้วหลายภพหลายชาติ

กูทำมา(แค่นั้น…)

ช่วงก่อนหน้านี้สักพักคำว่า “กูทำมา” ค่อนข้างฮิตในหมู่จิตอาสา พวธ. ซึ่งผมเองก็ชอบอยู่เหมือนกันเพราะมันชัดดี แถมน้ำหนักก็ได้

ต่อมาก็เอามาประยุกต์ใช้เอง ซึ่งตัวผมสนใจฝึกจุลศีล ข้อ ๒. เป็นพิเศษ (รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้…)

พอเกิดเหตุการณ์อะไรที่มันไม่ได้ดั่งใจ ก็เอามาประยุกต์พิจารณาได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เขาทำไม่ได้ดีอย่างใจเรา เขาไม่ทำดีเท่าที่เขาควรจะทำได้ ,ต่อเรา ต่อผู้อื่น

พอเจอเหตุการณ์แบบนี้กิเลส “โลภ” มันจะออกอาการ มันจะอยากได้ดีเกินจริง อยากให้ได้เกินที่ทำมา ให้เราได้เกินจากที่ควร ให้เขาได้เกินจากที่ควร

มันก็เลยต้องมีกรรมฐานไว้พิจารณาเพื่อสกัดความโลภ(ยึดดีเกลียดชั่ว) คือ “กูทำมา(แค่นั้น…)” … คือทำดีมาเท่านั้น จะหวังอะไรมากมาย ก็ทำมาแค่นั้น มันได้เท่าที่เห็นมันก็ถูกแล้ว จะได้สังวร สันโดษ ใจพอ พอใจกับสิ่งที่ได้ ไม่โลภมาก

แล้วมันก็ไม่ได้ไปโทษใคร เพราะดีที่เกิดขึ้นมันก็ดีได้เท่าที่เราเคยทำมานั่นแหละ

พอมันเริ่มเข้าใจ ก็จะเกิดฉันทะ(ความยินดี พอใจ เต็มใจ) ที่จะทำดีเพิ่ม เพราะสิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดดีที่มากกว่าเดิมได้ ก็คือการทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ

…ก็เป็นการประยุกต์ใช้ธรรมะจากครูบาอาจารย์แบบหนึ่ง จริง ๆ ก็มีหลายกระบวนท่าเลย ที่ประยุกต์มาใช้ แต่ก็ไม่เคยแชร์ ไว้เรียบเรียงได้ก็จะลองเอามาพิมพ์ดูครับ

การสร้างครอบครัวคือการสร้างศัตรูดี ๆ นี่เอง

จากข่าว “พ่อน้อยใจ ลูกชายไม่พาไปเที่ยว คว้าปืนยิงสะใภ้ดับ-หลานตัวน้อยโดนลูกหลง

อ่านข่าวนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันชัดดี คนหลงเขา ก็หลงสร้างครอบครัวกันไป โดยไม่รู้ว่าเอาคนบ้า(กิเลส) มารวมกัน คนหนึ่งก็หลง คนหนึ่งก็ยึด คนหนึ่งก็เมา ฯลฯ ก็บ้ากันไปคนละมุมตามวิบาก

ถ้าคนเขาบ้า เขาเมา เขาหลงเรื่องเดียวกันมันก็พากันไปเมาเรื่องนั้น ไปท่องเที่ยวพลาญเงิน ไปเที่ยวกินเผาสุขภาพ ฆ่าเวลาชีวิตกันไปวัน ๆ ชีวิตคู่แบบโลก ๆ นี่มันไม่มีอะไรดีหรอก นอกจากพากันกินสูบดื่มเสพ มันก็พากันเมากิเลสกันไปนั่นแหละ

พอวันใดวันหนึ่งเริ่มไม่ไปทางเดียวกัน คนหนึ่งได้ คนหนึ่งเสีย มันจะเริ่มไม่พอใจ ผูกโกรธ พยาบาทกันแล้ว แล้วมันไม่ใช่แค่คนเดียว คนในครอบครัวมีมากเท่าไหร่ก็เพิ่มตัวแปรไปมากเท่านั้น อย่างกรณีในข่าวนี่หนักถึงขั้นฆ่ากันเลย

ศัตรูที่รัก ดูเหมือนจะเป็นคำที่เหมาะมากกับการมีครอบครัว มีสภาพจองเวรจองกรรมไปพร้อม ๆ กับความผูกพัน ใครอยากทดสอบว่ามันจะทุกข์จริงไหมก็ลองดูก็ได้ ….แต่จริง ๆ ก็อย่าไปลองให้มันเสียเวลาเลย พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เคยสนับสนุนให้ใครไปมีคู่หรือไปมีครอบครัว มันจะครอบ มันจะรั้ง มันจะช้า ก็ดูตัวอย่างจากคนอื่นเขาไป เรียนรู้จากเขา

แล้วก็อย่าไปประมาท ไปมีจิตอวดเก่งว่า อย่างเราไม่เจอหรอก ฉันดีขนาดนี้ไม่โดนหรอก มันไม่แน่หรอก ความรักแบบนี้มันก็มาพร้อมกับการจองเวรจองกรรมเคียดแค้นอาฆาตนั่นแหละ มันอยู่ที่ว่ามันจะผลิดอกออกผลวันไหนเท่านั้นเอง

นาบุญ

ช่วงหลายวันก่อนมีประเด็นคุยกับพี่น้องร่วมปฏิบัติธรรมกันอยู่บ้างในเรื่องที่คนเขาไปบำเพ็ญ ทำดีกันในที่ต่าง ๆ กัน

คำถามก็คือทำไมคนถึงไม่มาร่วมกันทำดีในที่ที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งที่มีครูบาอาจารย์พูดกำชับอยู่แล้วว่าที่นั่นที่นี่ควรทำก่อน…?

ก็จริงอยู่ที่ว่าคนเราทำดีที่ไหนก็ได้ มันก็จริง แต่มันก็ได้ผลไม่เท่ากัน เหมือนปลูกข้าวในที่ดินดีกับปลูกข้าวในที่แห้งแล้ง มันก็ได้ปลูกเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันได้ผลไม่เหมือนกัน

คืออาจจะเหนื่อยเท่ากัน แต่ผลดีเกิดไม่เหมือนกัน แล้วเราจะเลือกทำดีที่ไหนล่ะ ดีที่เกิดผลสูงสุด หรือดีที่เกิดทั่ว ๆ ไป

ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่ทุกคนจะเข้าถึงดีที่สูงที่สุดได้ แต่ละคนจะมีขอบเขตที่ตนปฏิบัติได้ โดยถูกกันจากวิบากกรรมตนเองบ้าง กิเลสตนเองบ้าง ไม่ให้มี “สิทธิ์” เข้าถึงพื้นที่นาบุญแห่งนั้นได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าถึงสิทธิ์นั้นจะทำดีได้มากกว่า เขาเพียงแค่ได้โอกาสทำดีได้ผลดีมากกว่า ซึ่งนั่นก็ดี แต่ถ้าหากเขามัวแต่ปลูกหญ้าในนาบุญ มันก็จะไม่ได้ข้าว ทำให้โอกาสเหล่านั้นเสียเปล่าไปเรื่อย ๆ

การอยู่ในที่ที่ดีมันก็เป็นดาบสองคม คือถ้าทำดีไม่เต็มที่ก็จะเสื่อมเร็ว เพราะทุกวันก็ต้องกินต้องใช้ ก็เอาไปให้กิเลสกินหมด กุศลกรรมที่ทำมามันก็หมดเร็ว พอถึงจุดนึงหมดแล้วมันก็ต้องร่วง ต้องหลุดออก ไปต่อท้ายแถวใหม่

ไปต่อไกล ๆ นู้นนน ทำดีรอบ ๆ ไป ทำดีเต็มที่ สุดท้ายก็ได้เข้ามาใหม่ ก็อยู่ที่ว่าตอนได้สิทธิ์นั้น ทำดีคู่ควรกับสถานที่/โอกาส/คน ฯลฯ นั้นหรือไม่

ส่วนตัวผมใครจะทำดีที่ไหนยังไงก็เข้าใจเขานะ เพราะเราก็เคยมีประสบการณ์ทั้งสองแบบนั่นแหละ คือทำดีในที่ห่างไกลความเจริญทางธรรม(นาบุญ) กับทำดีในนาบุญ มันก็แตกต่างกัน แต่มันก็เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น ว่าโลกนี้มันก็พร่อง ๆ แบบนี้แหละ

มันจะไปเอาดีที่สุดเลยทันทีไม่ได้ มันต้องกำจัดขวากหนาม(กิเลส/วิบากกรรม) ตามทางไปก่อน จะไปตะลุยดงหนามมันจะเจ็บมาก ทรมานมาก สุดท้ายมันก็ดีได้เท่าที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ

กรงขังสัตว์ กรรมขังคน

วันนี้เดินผ่านซอยแถวบ้านตั้งแต่เช้ามืด เสียงนกตัวหนึ่งดังขึ้น เป็นนกตัวเดิม ที่ผมมองมันประจำเวลาเดินผ่านซอยนี้ มาตั้งกี่ปีมาแล้วไม่รู้

นกตัวนี้ตัวสีขาว ถูกขังอยู่ในกรงที่แขวนไว้ริมรั้วที่โปร่งพอจะเห็นตัวมันได้ชัดเจน ลักษณะเด่นของมันคือมันพูด(ร้อง)เลียนเสียงคนได้ มันก็พูดไปตามที่มันจำได้นั่นแหละ

ผมเดินผ่านมาก็นานหลายรอบในหลายปี มันก็โดนขังอยู่แบบนั้น ก็จริงอยู่ที่ชีวิตมันจะปลอดภัย มีกรงแข็งแรง มีคนให้อาหาร แต่มันก็โดนขังอยู่ดีนั่นแหละ แทนที่จะออกไปใช้ชีวิตตามประสานกแล้วก็ตายไปอย่างนก

นี่มันต้องอยู่ในกรง บินก็ไม่ได้ ดีไม่ดีอายุยืนอีก คืออยู่ในกรงนี่มันไม่มีศัตรูมาก ไม่เหมือนอยู่ข้างนอก สรุปคืออายุยืนอยู่ในกรง ชีวิตแบบนี้มันน่าได้ไหมนี่…

ด้วยความที่มันเป็นนกพูดได้ มันเลยมีค่าพอให้เขาจับขัง มีค่าพอให้เขาเลี้ยง มีค่าพอให้เขายึดมั่นถือมั่นในตัวมัน คือถ้ามันร้องไม่ได้ หรือเป็นนกธรรมดา เขาก็ไม่ใส่ใจมันขนาดนี้หรอก

แล้วก็มานึกต่อถึงคน คนนี่ก็โดนขังด้วยกรรม ก็กรรมของตัวเองนั่นแหละ เกิดสภาพชีวิตที่เหมือนนก มีความสามารถแต่อยู่ในที่แคบ ๆ ทำดีก็ทำได้แบบแคบ ๆ ติด ๆ ขัด ๆ จะออกก็ออกไม่ได้ ถึงจะออกได้ก็ได้ไม่นาน มีอะไรมาเป็นกรอบ เป็นตัวบีบ มีกรงกรรมที่ขังอยู่ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่ทำมา อาจจะเป็นเคยขังสัตว์ ขังคน ขัง… หรือจะเป็นชั่วอะไรก็ได้ อย่าไปเดามันเลย

อีกส่วนหนึ่งคือกิเลสนี่เอง พอคนเป็นคนจิตใจดี มีความสามารถ คนอื่นเขาก็รัก เขาก็ใส่ใจ เขาก็จับให้อยู่ในที่ ๆ เขาพอใจให้อยู่ คือคนดีที่เก่งด้วย นี่มีแต่คนอยากได้ ใครได้มาเขาก็อยากกอดเก็บไว้

ทีนี้คนมองกิเลสไม่ออกก็หลงติดกับเลย เจอเขาให้คุณค่า ให้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ก็หลงติดอยู่กับเขาเหมือนกัน ก็มันสบายนี่นะ มีคนเลี้ยงไว้ มีความปลอดภัยในชีวิต คนโลก ๆ ใครจะไม่เอา

ส่วนตัวผมก็ว่านี่เป็นสภาพติดสวรรค์รูปแบบหนึ่ง มันเป็น Comfort zone ของฤาษีแบบหนึ่ง ติดสงบ ติดภพแบบหนึ่ง อาการมันจะออกประมาณว่าเหมือนนกติดอยู่ในกรงนั่นแหละ เรียกว่า “นกน้อยในกรงทอง” ก็ว่าได้

คือตัวเองมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อโลกได้มากกว่านั้น แต่ก็เอาเวลา ความสามารถ เอาชีวิตไปจมอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง คนใดคนหนึ่ง เช่น คนรัก ครอบครัว ฯลฯ มากจนเกินไป

ก็เป็นนกน้อยในกรงทอง พอใจกับอาหารที่เขาให้รายวัน พอใจกับความปลอดภัยในกรง มันก็คงดีในแบบของเขา แต่สำหรับผม ผมคิดว่าไม่ สภาพของชีวิตที่มันไม่มีอิสระและมีขอบเขตจำกัดด้วยกรง(สวรรค์ลวง) เหล่านี้มันไม่มีประโยชน์เอาซะเลย

เดือนแห่งความรัก?

ช่วงนี้ได้ยินคำนี้บ่อย ๆ ก็คิดไปเพลิน ๆ ว่าจะพิมพ์อะไรดี …?

คนเราทั่วไปก็มีทางไปสองทิศ คือ 1. ไปทางชอบ คือรู้สึกอยากมีคู่ ยินดีที่คนอื่นเขามีคู่ พยายามส่งเสริมให้คนมีคู่ 2. ไปทางชัง คือ ไม่ชอบ เกลียด รำคาญ ฯลฯ บรรยากาศในเดือนแห่งความรัก และการมีคู่ (ทางโต่ง 2 ด้าน กาม<->อัตตา)

ทั้งสองทางมันก็มิจฉา(ผิด) หมดละนะ แต่มันก็มีลำดับการออกของมันอยู่ จากผิดมากไปผิดน้อย แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ออกกันหรอก แถมคิดว่ามันไม่ผิดด้วย ไม่อยากมีคู่สิแปลก!

ก็จริงของเขา คนส่วนมากก็ใช้เวลาส่วนมากของชีวิตไปกับเรื่องความรัก เรื่องคู่นี่แหละ เพราะเขาชอบและยินดีอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

ไปหลงรักนี่มันเสียเวลามากเลยนะ แทนที่จะเอาเวลาไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า ถ้ามีคู่ก็ต้องอยู่บำรุงบำเรอคู่ตน ไม่มีเวลาไปช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นหรอก ยิ่งถ้ามีลูกยิ่งแล้วใหญ่ เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตหายไปกับคู่ กับลูก กับครอบครัวที่เพิ่มขึ้นมานี่แหละ

เกิดมาชาติหนึ่งโดนเรื่องคู่เอาเวลาไปกินกว่าครึ่งชีวิตหรือมากกว่านั้น และเวลาที่ผ่านไปเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็พากันทำบาปทั้งนั้น สารพัดกิน กาม เกียรติที่พากันไปเสพ ก็สะสมนรกกันไป

ในเดือนที่เขาสมมุติกันว่าเดือนแห่งความรักนี่ไม่ใช่ธรรมดานะ มันมีพลังในการเร่งกิเลสมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวันวาเลนไทน์นี่เรียกกันภาษาชาวบ้านเลยว่าเป็น “วันเสียตัว”

คนที่ยังยินดีวนเวียนทุกข์อยู่ในเรื่องคู่ก็ปล่อยเขาไป แต่ในส่วนคนที่ตั้งใจที่จะทำดี พัฒนาจิตใจตนเองให้เจริญขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องคู่คือโจทย์หนึ่งที่คุณจะต้องเผชิญและจำเป็นต้องผ่านมันให้ได้ ลำดับแรกคืออย่าให้ช่วงเวลาเหล่านี้มีอิทธิพลกับคุณ ที่เหลือคืออย่าให้ใครหรืออะไรใด ๆ ก็ตามมีอิทธิพลต่อจิตใจของคุณให้ลุ่มหลงในความรัก

ส่วนตัวผมคิดว่า แค่เอาตัวรอดเป็นช่วง ๆ ไป ก็เก่งมากแล้ว เพราะจิตนี้มันเป็นพลังงาน เพียงแค่ระลึกมันก็มีพลังงาน มันดึงดูดบางสิ่งเข้ามาได้ การได้คู่บ้างก็เปรียบว่า ได้ลาภ แต่พระพุทธเจ้าท่านว่าลาภเหล่านั้นเป็นลาภเลว คือได้มาแล้วทำให้ชีวิตมันทุกข์ ตกต่ำ เสื่อมจากธรรม พาชั่ว พาหลง ฯลฯ

ความรักแบบคู่นี่มันเล็กน้อยกระจ้อยร่อย เพราะดูแลกันอยู่แค่สองคน หรือไม่ก็แค่ในครอบครัว มันเป็นสภาพที่ลงทุน(เวลา+แรงงาน+ทรัพยากร) มาก แต่ได้ผล (กุศล) น้อย ในเชิงการลงทุนแล้วเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าลงทุนที่สุด แถมความเสี่ยงก็ยังสูงมากอีกด้วย

ถ้าจะรักให้มันดีก็รักให้มันใหญ่ ให้มันกว้าง ไม่ต้องเจาะจงใครเลย ก็สาดเทลงไปในจุดที่แห้งแล้ง จุดที่เขาต้องการ จุดที่เราพอจะมีกำลังพอจะทำไหว แล้วผล (กุศล) มันก็จะมากและกว้างตามขอบเขตที่เราทำนั่นแหละ

ส่วน “บุญ” คือการทำลายความอยากมีคู่ และบาปก็คือ “ความอยากมีคู่”

ในเดือนแห่งความรักนี้ จะให้ชีวิตดำเนินไปบนเส้นทางไหนดี บุญ หรือ บาป ?

ความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ได้ตัดกันง่ายๆ

ผมมีความเห็นว่าจะตัดความอยากกินเนื้อกันด้วยปัญญานี่มันยากนะ มันต้องตัดด้วย “อัตตา” คือยึดดี ไปก่อนนี่แหละ มันถึงจะเลิกกิน(ยึดชั่ว) ได้

คือการไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันก็มีอะไรดี ๆ มากมายให้ยึดอยู่เหมือนกัน จะเมตตา จะสุขภาพ จะประหยัด จะ…ฯลฯ ก็ต้องหาจุดยึดไปก่อน ไม่งั้นมันไหลไปตามน้ำ ไหลไปตามกระแสโลกหมด

แล้วถ้าพัฒนาตัวเองจนโตขึ้นได้แล้ว ว่ายน้ำได้แล้ว ขาถึงพื้นแล้ว ก็ค่อยเลิกยึดหลัก เลิกยึดดี (อัตตา) นั้นอีกทีหนึ่ง ปฏิบัติไปเป็นลำดับ ล้างกาม ล้างอัตตา มันก็จะดูเป็นไปได้หน่อย

จะไปล้างอัตตาก่อนนี่มันจะไปไม่ได้ มันจะมั่วเลย ชิงวางก่อนเลย ทำดียังไม่ได้ทำเลย วางไปแล้ว ก็เรียกว่ามันยังไม่ได้ทำอะไรนั่นแหละ ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย ยังไม่มีดีให้วางเลย จะวางดีได้ยังไง ถ้าจะเรียกว่า “วาง” ได้จริง มันต้องมี “สิ่ง” ให้วางด้วย ไม่ใช่ไม่มีอะไรดีเลย จะวาง มันก็ไม่ใช่ มันก็เล่นตลกเท่านั้นแหละ

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้จริง วางได้จริง จิตมันจะสบาย ทางโลกที่แสดงออกจะมีลักษณะ 3 อย่างคือ ตัวเองก็ไม่กินเนื้อสัตว์, ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์, ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนและผู้อื่น …แล้วก็ไม่ทุกข์ใด ๆ ในองค์ประกอบ 3 อย่างนี้

1.ไม่กินก็ไม่ทุกข์ร้อน ไม่กินทั้งชีวิตก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องอดไม่ต้องทน การไม่กินเนื้อสัตว์ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

2.ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ ไม่ต้องยึดดี ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรถ้าคนอื่นจะเห็นแย้งหรือไม่เอาด้วย อธิบายบอกตามเหตุปัจจัยที่เหมาะแก่ความเจริญ แล้วก็วางดีเหล่านั้นไป ไม่ต้องทะเลาะกับใครให้ปวดหัว

3.ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนเองและผู้อื่น ตนเองก็ยินดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แม้จะกินแค่ข้าวเปล่าจิตก็ยังยินดี ไม่มีน้อยใจ ขุ่นใจ เห็นคนอื่นเขาไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยินดี เขาลดได้แม้เล็กแม้น้อยก็ยินดีกับเขา

…แค่เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ชีวิตก็ยกระดับขึ้นอีกขั้นแล้ว ไม่ใช่ความโก้หรูดูดีมีศีลเคร่งอะไรหรอก มันยกระดับขึ้นจากทุกข์นั่นแหละ คือจากที่เคยลอยคอ มันก็สูงขึ้น ไม่ต้องสำลักน้ำบ่อย ๆ

จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางคนมีกำลังจิตดี มีปัญญามากก็ตัดได้ไว แต่ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ทำกันหรอก เพราะเขาไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเขา หรือไม่ก็เห็นว่ามี แต่มันไม่มีแรงต้าน ดังนั้น มันจึงต้องเพิ่มความยึดดีเป็นแรงต้าน ความอยากกินเนื้อสัตว์ (กาม) นั้นก่อน

ที่สุดแห่งความรัก

ที่สุดแห่งความรักโลกีย์ คือทำ/นำ/พา ให้อีกฝ่ายหลง,ชั่ว,โง่,ทุกข์ แสนสาหัสชั่วกัปชั่วกัลป์

ที่สุดแห่งความรักโลกุตระ คือทำ/นำ/พา ให้อีกฝ่ายตระหนักรู้,ทำดี,มีปัญญา,เกิดสุขจากการล้างความหลงติดหลงยึดโดยลำดับ

…ความรักแบบโลกีย์นี่มันก็ทำง่ายนะ คุณจะทำให้ใครสักคนหลงรักคุณหัวปักหัวปำมันก็ไม่ยากนักหรอก ใคร ๆ เขาก็ทำกันได้ ทำกันทั่วไปในสังคม สุดท้ายก็ได้เห็นผลกันมากมาย เช่น ทุกข์ทรมาน สติแตก ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ฯลฯ

ส่วนความรักแบบโลกุตระนี่มันยากสุด ๆ จะพากันลด ละ เลิกความหลงติดหลงยึดนี่มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยในโลกนี้ มีใครเคยเห็นมั่งไหม รักกันเพื่อที่จะพิสูจน์ให้รู้ว่ารักเป็นทุกข์ หรือตั้งจิตว่าจะรักเพื่อบรรลุธรรม ไม่มีหรอก มีแต่รักกันเพื่อเสพสุขตามกิเลสเท่านั้นเอง เป็นไปเพื่อสนองความหลงติดหลงยึดของตน

รักโลกุตระนี่พาออก แต่ใครเขาจะไปออกง่าย ๆ เขาก็หลงว่าสิ่งเหล่านั้นดี รักแบบโลกีย์นั้นดี ได้เสพได้สุขตามที่เขายึดมั่นถือมั่น เขาไม่ออกกันหรอก

ดังนั้นจะรักแบบโลกุตระนี่มันต้องทำใจ/วางใจ กันเยอะ ๆ หน่อย เพราะเขาไม่มากับเราง่าย ๆ หรอก เขาก็ไปหลงโลกตามประสาของเขานั่นแหละ แต่ถ้าถามว่าเราช่วยเขาไหม เราก็ช่วยทำตัวเป็นตัวอย่างไง ก็อยู่เป็นโสดให้เขาดู ให้เขาเห็นว่าการอยู่เป็นโสดนี่แหละคือการไม่เบียดเบียนกัน คือสภาพที่สามารถเกื้อกูลกันได้อย่างไม่มีความลำเอียง คือทางที่จะพากันไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เราก็ทำของเราไป 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือจะทั้งชาติเราก็ทำของเราไป ทำตัวอย่างให้เขาดูว่ารักแบบนี้มันดีกว่า ทำกันข้ามภพข้ามชาติเลย ชาติใดชาติหนึ่งเขาทุกข์จนเกินทน แล้วเขาจำได้ว่าเราเคยทำให้ดูเดี๋ยวเขาก็มาเอาเอง

แต่ถึงเขามาเอารักโลกุตระมันก็ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ หรอก เขาต้องผ่านการฝึกฝน อีกนาน….ดังนั้นต้องเข้าใจ ทำใจ และทำตัวอย่างให้ดูต่อไป..ที่สุดของรักโลกุตระก็คือนำพาเขาลดโลภโกรธหลงไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ แม้มันจะไม่มีความหวังเลยก็ตามที

ประกาศิตสั่งตาย!

เอาเป็นชิ้น ๆ” คำพูดของคน ๆ หนึ่งดังขึ้นมาหน้าร้านขายปลา แม่ค้าหยิบปลาดุกที่ยังเป็น ๆ ยังดิ้นไปดิ้นมา วางบนเขียง
 
ผมยืนมองชะตากรรมของปลาตัวนั้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป..
 
เมื่อปลาถูกจับวางลงบนเขียง มีดอีโต้เล่มหนาถูกยกขึ้นมาและสับ! ลงไปที่โคนหาง..เว้นต่อมาอีกประมาณ 1 นิ้วก็หั่นไปอีกที และหั่นต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงหัว แล้วก็หั่นหัวอีก 2 ที
 
(สมัยก่อนเขาประหารคนแบบตัดหัวนี่ก็ว่าโหดแล้ว ถ้าเขาตัดจากขาขึ้นไปทีละท่อน ทีละท่อนจนถึงหัว…คงจะโหดยิ่งกว่า)
 
…จบงานรับจ้างฆ่า รับเงินนายจ้าง แลกกับปลาที่ตนได้ฆ่า
 
เป็นการสั่งฆ่ารูปแบบหนึ่ง คือใช้ปากสั่ง มันก็ดูจะบาปชัด ๆ หน่อย แต่ถ้าไม่สั่งเขาก็ไม่ฆ่า ฆ่าทิ้งไว้เดี๋ยวมันไม่สด คนก็ไม่ซื้อ เก็บก็ยาก ตลาดชุมชนต่างจังหวัดก็แบบนี้แหละ
 
เทียบกับในเมืองหรือในห้างนี่ไม่ต้องใช้ปากสั่งแล้ว ส่วนมากเดินหยิบชิ้นส่วนที่ต้องการไปจ่ายเงินได้เลย ถือว่าลดขั้นตอนไปได้หนึ่งขั้น สะดวกกว่าเดิม แต่ก็บาปเหมือนเดิมนั่นแหละ เพราะเงินที่เราจ่ายไปนั่นแหละคือตัวแทนคำสั่งให้ฆ่าเขา
 
…เขาขายได้ เขาก็จับมา แล้วก็ฆ่ามาขายเรื่อย ๆ เขาก็ฆ่ามาเพื่อแลกกับความต้องการของคุณลูกค้า(นายจ้าง)ทั้งหลายนั้นแหละ

ความพยายาม…

bottle-in-the-pole

ความพยายาม…

หลายวันก่อนระหว่างยืนรอรถเมล์ ก็มองไปเห็นขวดน้ำที่ถูกยัดไว้กับเสา

ก็คิดว่า คนทำนี่เขาดูพยายามดีนะ แถมมีความคิดแหวกแนวอีก คือจะไปยัดในเสาได้นี่มันก็คงจะต้องยัด ๆ เข้าไป ใช้แรงบ้าง แล้วคนทั่วไปนี่ถ้าเขาจะทิ้งเขาก็โยนทิ้งข้างทางหรือไม่ก็วางทิ้งไปเฉย ๆ เลย

ก็มาคิดต่อว่า ในโลกนี้ก็มีคนที่พยายามอยู่เสมอ คือมีความเพียร แต่ความเพียรนั้นมีทิศทางไปทางไหนก็อีกเรื่อง จะเพียรไปทางดีมันก็ดีมาก จะเพียรไปทางเลวมันก็เลวมาก ผมเคยได้ยินภาษาในพระไตรปิฎกประมาณว่า “มีความเพียรเลว” พอเห็นภาพนี้ก็…อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง คือพยายามทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

สุดท้ายก็คงได้แต่ย้อนมาทบทวนว่า ชีวิตที่เรากำลังดำเนินไปอยู่นั้น เราได้พยายามทำให้มันลำบาก มันยุ่งยากขึ้นกว่าเดิมรึเปล่า มันไปทางทิศไหน สัมมาหรือมิจฉา