พุทธมีหลากหลาย ทางปฏิบัติก็มีมากมาย แต่ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว

ดูสารคดีแล้วนึกถึงสมัยแรก ๆ หลังจากเข้าใจทางปฏิบัติ ก็มุ่งสืบหาว่ากลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่นมีวิธีอย่างที่ทำได้บ้างไหม?

อ่านหนังสือก็หลายเล่ม โลกกว้างมาก แต่ความกว้างเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งกว้าง ยิ่งไกล ยิ่งหลง ก็คงมีไว้เพื่อศึกษาความผิดพลาดเท่านั้น

ผมมีความเห็นว่า ถ้าคนเกิดความเข้าใจที่ถูกตรงจริง ๆ จะมั่นคงในกลุ่มที่ตนปฏิบัติได้ผล จะศรัทธาอย่างยิ่งในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะไม่วอกแว่ก ไขว้เขว ไม่เที่ยวไปกลุ่มที่มีความเห็นต่างออกไป

เพราะถ้าเจอทางพ้นทุกข์แล้วปฏิบัติเองจนเห็นผล มันจะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาลัทธินั้นกลุ่มนี้ ที่ผมเคยตามหาไม่ใช่ว่าจะไปหากลุ่มเพิ่ม แต่ค้นหาและศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ …ที่มีทางเดียว

*จุดสำคัญ คือต้องปฏิบัติจนพ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยสัมมาอริยมรรค ที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๘ มิใช่เพียงเข้าใจและเลือกใช้มรรคใดมรรคหนึ่ง ดังสมการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสัมมาสมาธิจะเกิดได้จาก มรรคทั้ง ๗ ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ไม่ใช่การนั่งสมาธิแล้วเรียกสิ่งนั้น สัมมาสมาธิ …เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็เรียกว่าหาแทบไม่ได้แล้ว ว่าที่ไหนในประเทศไทยจะสอนสัมมาสมาธิอย่างถูกต้องอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากที่ผมศึกษาและเห็นมา ส่วนมากจะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

และมิจฉาสมาธินี่แหละ คือรูปแบบที่แตกตัวไปทั่วโลก เพราะมันไม่ถูกต้อง จึงทำได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากสัมมาสมาธิที่คาดเดาได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามไม่ได้ง่าย ๆ ลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สัตบุรุษ) เท่านั้น

ดังนั้นผมจึงไม่เอาเวลาไปเสียกับกลุ่มบุคคุลหรือคนที่ยังไม่เห็นทางพ้นทุกข์ ทฤษฎีหรือตรรกะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พูดกันไปได้ แต่สภาวธรรมเป็นสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้เข้าถึงธรรม และผู้ที่แจกแจงสภาวะได้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ผมเคยเจอคนที่อ้างตนว่ามีสภาวะ แต่พอถามเข้าหน่อย ให้แจกแจงเข้าหน่อย ก็นั่งนิ่ง ไปไม่เป็น บางทีคนก็หลงสภาวะกับสัญญา คือจำเขามา จำได้ นึกได้ ก็หลงไปว่าเข้าใจ แต่จริง ๆ มันเป็นแค่สัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

ดังเช่นว่าหลายคนที่ศึกษาธรรมะ ก็รู้นะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ของที่อยากได้ โดนพรากของรัก โดนด่า โดนดูถูก โดนทำร้าย ก็ไปโกรธเขา ชิงชังเขา สภาพแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นแค่ความจำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งดีอะไรให้จำเลย ก็ยังดีกว่าไม่มีเป้าหมาย

…อริยสัจ ๔ คือธรรม ๔ หัวข้อสั้น ๆ แต่ยากที่สุดในโลก เชื่อไหมว่าแม้จะมี 100 ลัทธิ เขาก็จะอธิบายและปฏิบัติไปได้มากกว่า 100 แบบ มันจะบิดเบี้ยวและเพี้ยนไปตามวิบากบาปของแต่ละคน หัวข้ออาจจะคล้ายกัน แต่พอขยายลงรายละเอียดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จะมีส่วนถูกบางส่วนปนอยู่ในเนื้อบ้าง แต่ถ้ามันไม่ 100% มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่ดีนั่นเอง

…สรุป ก็ลองสุ่มปฏิบัติตามกันไป ตามที่ศรัทธา ทำให้เต็มที่ อันไหนพ้นทุกข์ก็อันนั้นแหละ อันไหนไม่พ้นก็เลิก แต่ถ้าแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อันนั้นที อันนี้ที จากที่เห็นมา ส่วนใหญ่ไม่รอด กิเลสเอาไปกินหมด หลงเข้าป่าเข้าพงกันไปหมด

ทำดียังหวังผล

ในหลักสูตรของวิชชาราม(แพทย์วิถีธรรม) การบ้านประจำสัปดาห์ตอนนี้เขาให้ลองฝึกเล่าสภาวธรรมประยุกต์กับ “อริยสัจ ๔” ก็เลยทดลองพิมพ์เพื่อทบทวนตนเอง ขัดเกลาภาษาและการเรียบเรียง รวมทั้งแบ่งปันแนวทางที่ทำได้แก่ผู้ที่สนใจครับ ลองอ่านแล้วศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันได้ครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ไปช่วยขายข้าว ในช่วงข้าวใกล้หมดสต็อก ทางกลุ่มเลยจำกัดการจำหน่ายท่านละ 1 กก. เท่านั้น เมื่อไปเป็นผู้ขายจึงได้มีโอกาสเจอกับผู้ซื้อ และเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นจึงมีปัญหาให้จัดการ ปัญหานั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากกิเลสของตัวเอง

ทุกข์ : เกิดความรู้สึกชังเล็กน้อย เมื่อลูกค้าท่านหนึ่ง ยืนยันที่จะซื้อมากกว่า 1 กก. ให้ได้ และเมื่อเราได้อธิบายไป ดังเช่นว่า ข้าวใกล้หมด , แบ่งปันให้คนที่ยังมาไม่ถึง ฯลฯ เขาก็ยังยืนยันจะซื้อให้ได้ โดยเริ่มต่อว่าเราว่าเรื่องมาก ทำไมไม่ขาย ไม่อยากได้เงินหรือ? อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ว่าเขาจะไปหาคนมาซื้อ เราก็ตอบเขาว่าก็แล้วแต่ เพียงแต่เราจำกัดการซื้อคนละ 1 กก. เท่านั้น

สมุทัย : เหตุที่เกิดความชังนั้น เพราะเราสงสารคนที่เขาพยายามจะเอาชนะเรา พยายามจะเอาอำนาจเงินมาซื้อเรา เราไม่ได้ชังเขาเพราะเขาว่าเรา แต่เราชังการที่เราอธิบายเขาแล้ว เขาไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ซ้ำยังกระแทกกลับมาด้วยลีลาที่แสดงว่าฉันได้เปรียบ ฉันต้องได้ เป็นต้น สรุปคือ “ที่ชังก็เพราะอธิบายแล้วเขาไม่พร้อมจะทำความเข้าใจนั่นแหละ” สรุปไปอีกชั้นของรากให้ชัดขึ้น คือเราไม่ได้ต้องการคนมาเข้าใจ แต่เราต้องการให้คนที่เราได้อธิบายแล้วได้ทำความเข้าใจ (ต่างกันตรงที่ต้องมีตัวเราไปอธิบาย) สรุปลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ เราต้องการทำดีแล้วให้มันเกิดผลดี คือเขาเข้าใจ สรุปลึกลงไปอีกชั้นคือเป็นอาการของความโลภ เพราะเราหลงว่าถ้าเขาเข้าใจตามที่เราพูดจึงจะดีที่สุด จึงจะสุขที่สุด

นิโรธ : กำหนดความดับในเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการความสำเร็จในการทำดี ดังนั้น ถ้าจะกำหนดจุดที่ควรทำให้ดับ ทำให้มอด ทำให้จางคลาย ก็คือทำลายในส่วนของความต้องการที่เกินความจำเป็น นั่นก็คือความต้องการในความสำเร็จเมื่อลงมือทำดี ดังนั้นสภาพที่เป็นเป้าหมายที่พึงจะหวังได้คือ การทำดีโดยไม่ต้องหวังอะไร ทำดีแค่ทำดี ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกจากกันออกไป จะเกิดอะไรก็ได้เป็นสภาพที่อิสระต่อกัน ไม่ยึดว่าทำดีแล้วจะต้องเกิดผลดีตามที่เราหวัง ดีนั้นเกิดผลแน่ แต่มันจะไม่เป็นไปตามตัณหาของเรา มันจะเป็นไปตามกรรม

มรรค : การปฏิบัติตนให้ไปถึงผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเราในตอนนี้ยังมีความเห็นที่ยังผิดบิดเบี้ยวไปจากความผาสุกอยู่ คือทำดีแล้วยังจะเอาดีอยู่ ก็เลยต้องหาธรรมมาปรับความเห็นความเข้าใจให้ถูก เช่นใช้คำสอนของอาจารย์ ดังเช่นว่า “ให้แล้วคิดที่จะไม่เอาอะไรจากใครให้ได้” ดูแล้วเข้ากับการปฏิบัตินี้ดี รวมทั้งการหมั่นพิจารณาธรรมด้วยหลักไตรลักษณ์ เช่น ผลที่มันจะเกิดนี่มันไม่แน่นอน มันคาดเดาไม่ได้ หวังไม่ได้ และความอยากให้เกิดดีนี่มันเป็นทุกข์ และสุดท้ายอยากไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เกิดดีมันก็เป็นดีของเขา เกิดร้ายมันก็ร้ายของเขา เราก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราทำดีมันก็กรรมดีของเรา ส่วนผลดีร้ายที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมของเราและของเขาสังเคราะห์กัน ถ้าเราทำดีไม่หวังผลดี เราก็จะได้ประโยชน์จากความเบา โล่ง สบาย ส่วนถ้าเรายังทำดีแล้วเราจะเอาผลดีด้วยนี่มันหนักใจ มันไม่สบาย มันก็ไม่เป็นประโยชน์

ส่วนการคิด ก็คิดสวนทางกับความคาดหวังนั้น ๆ ในเรื่องการทำก็ขยันทำดี ขยันอธิบาย พูด บอก ให้มากขึ้น จะได้มีโอกาสกระทบมากขึ้น กระทบมากขึ้นก็ได้โอกาสในการจับอาการกิเลสมากขึ้นด้วย ที่เหลือก็ใช้สติที่มีจับอาการกิเลสให้ได้ กิเลสนี่มันจับตัวยากที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ต้องเพิ่มกำลังของสติด้วยเมื่อตั้งใจทำดี สุดท้ายมีสมาธิเป็นผล ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในนิโรธ ได้ยั่งยืนถาวร ยาวนาน ไม่กำเริบ ไม่เวียนกลับ ไม่มีความคิดเห็นผิดใดๆ มาหักล้างได้ ฯลฯ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จบงานกิเลสเรื่องนี้ไป

29.10.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เปิดเพจ ไตรสิกขา

ไตรสิกขา

เปิดเพจใหม่ เกี่ยวกับไตรสิกขา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เปิดเพจมังสวิรัติวิถีพุทธไป แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปิดลงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่า

ไตรสิกขานั้นสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษา “ไตรสิกขา” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะต่างกันออกไปจากหลายๆทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับการมีแนวปฏิบัติหลายทางแต่ใช้ keyword เดียวกันในการประกาศแนวทาง

เพจ ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ที่มีนั้น ก็จะเป็นเรื่องของสภาวธรรมเสียส่วนใหญ่ คือเอาประสบการณ์ต่างๆมาเขียน แต่ในเพจไตรสิกขานั้นจะต่างออกไปตรงที่เน้นหนักไปในข้อปฏิบัติ การแนะแนวทางการปฏิบัติต่างๆ จนกระทั่งการตรวจสอบผล

ซึ่งเพจก็เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 10 เดือน 4 ตอนนี้ก็ล่วงเลยมาเกือบเดือนแล้ว มีผู้สนใจเข้ามาบ้าง ส่วนใหญ่จะมาจากเพจ “ดิณห์” นั่นแหละ เพราะไปประกาศไว้ที่นั่น ส่วนที่อื่นก็ไม่ได้ประกาศ

เอาเป็นว่าใครสนใจก็ลองติดตามศึกษากันดู ถ้าศึกษาแล้วสงสัยก็สามารถถามได้ในเพจ หรือจะถามในเว็บไซต์ก็ได้เช่นกัน

facebook : ไตรสิกขา

blog : ไตรสิกขา

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

เชิญชวนกันอย่างเป็นทางการในบทความนี้ กับกลุ่มปฏิบัติธรรมที่ใช้แนวทางของการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการขัดเกลากิเลส ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เจอมาและพร้อมจะเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษาให้กับทุกท่าน

ในการเดินทางของชีวิต การจะเดินไปถึงเป้าหมายที่เรียกว่าความสุขแท้ได้นั้น ชาวพุทธจะเรียกวิธีการนั้นว่าปฏิบัติธรรม แต่ปัญหาที่หลายคนพบเจอคือจะปฏิบัติธรรมอย่างไร ปฏิบัติธรรมคืออะไร ปฏิบัติธรรมต้องเริ่มจากอะไร ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้อะไร มรรคผลคืออะไร ทำไมปฏิบัติแล้วกลับไม่มีความสุข ไม่มีคำตอบให้ชีวิต นิสัยก็เหมือนเดิม ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ยิ่งปฏิบัติยิ่งหดหู่ ยิ่งท้อถอย ยิ่งทำยิ่งหลง ยิ่งวน  ยิ่งสงสัย ยิ่งไม่มั่นใจ ยิ่งกลัว ยิ่งกังวล…แล้วก็ทุกข์เหมือนเดิม

เมื่อได้เห็นและพิจารณาดู จึงเห็นว่าควรแล้วที่จะนำความรู้ที่ได้ศึกษามานั้น มาแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกท่าน ให้เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความดับกิเลส ยินดีที่จะไขทุกสภาวธรรมออกมาให้ศึกษากัน เรียนรู้กันทุกอย่างตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา เป็นลำดับขั้นตอนจากง่ายไปหายาก เพื่อให้ผู้มีบุญบารมีทุกฐานะได้ร่วมแบ่งปันและปฏิบัติธรรมในแนวทางนี้

การปฏิบัติที่ผมจะนำมาเสนอนั้นไม่ใช่แนวทางใหม่ เป็นเพียงการจับกิเลสตัวหนึ่งออกมาให้ทุกท่านได้ทดลองปฏิบัติธรรมเพื่อทำลายกิเลสตัวนี้ดู เพราะหากว่าใครที่สามารถเข้าใจกระบวนการฆ่ากิเลสนี้ได้แล้ว เขาจะสามารถนำความรู้ความเข้าใจนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆที่ตนยังติดยังยึดอยู่ได้

การกินมังสวิรัติของกลุ่มนั้นไม่ใช่การกินเพื่อให้ดูสวยงามหรือเพื่อให้ดูดี แต่เปรียบได้กับสงครามที่ต้องสู้รบกับกิเลส มีทั้งซากศพ ความแพ้พ่าย หยาดเหงื่อ และน้ำตาของผู้ที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสมามากมายในสมรภูมินี้

จึงขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการพบกับความผาสุกของชีวิต และยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้เกิดมรรคผล ได้เข้ามาลองร่วมกลุ่ม เพื่อเป็นพลังพลักดันและขับเคลื่อนด้วยมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี สร้างสังคมที่พากันลดกิเลส พากันทำลายกิเลส เป็นไปเพื่อการดับกิเลส

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat