MonkiezGrove before 5th

ใกล้จะปีใหม่ ใกล้จะปีหน้า ใกล้จะครบรอบ 5 ปี มังกีซ์โกรฟกันอีกครั้ง ช่วงปีที่ 4 ถึงปีที่ 5 มานี้นั้น แทบจะเรียกได้ว่าไร้กิจกรรมใดๆกันเลยทีเดียว

เนื่องจากช่วงต้นปี 2555 ผมติดเรียน ค่อนข้างยุ่งมากจนกระทั่งกลางปีก็ยังไม่ลงตัวเท่าไรนัก พอปลายปีก็มีโปรเจคของ AIRA Garden เข้ามาอีก กว่าจะออกแบบกว่าจะทำเสร็จก็กินเวลากันเกือบ 3 เดือน ยังดีที่มีเวลาให้พอจินตนาการวาดรูปลงที่ MonkiezGrove Cartoon Book (facebook) กันบ้าง ทำให้ผู้สนใจหรือแฟนๆของมังกีซ์โกรฟพอหายคิดถึงกันได้บ้าง

MonkiezGrove ก่อนจะเข้าสู่ปีที่ 5

ก่อนจะเข้าสู่ปีที่ 5 นี้ก็ต้องยอมรับกันก่อนเลยว่าช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นแทบจะว่างเปล่า แต่ก่อนจะสิ้นปีนี้ ผมจะปรับปรุงเว็บไซต์มังกีซ์โกรฟอีกครั้ง เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ที่ปรับปรุงเพราะว่าจะทำให้มันใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ ง่ายทั้งคนดูและคนเขียน เพราะก่อนหน้านี้บอกตรงๆ เลยว่าทักษะเขียนเว็บไซต์นั้นค่อนข้างจะน้อย แต่ตอนนี้ก็พัฒนามาอยู่ในขั้นที่พอจะใช้งานได้นานและไม่ปรับเปลี่ยนกันบ่อยๆ และคิดว่าในปี 5 นี่แหละ ที่จะเป็นปีที่ได้มีโอกาสสร้างผลงานมากมายออกมาให้ทุกท่านชม ติดตามกันต่อไปนะครับ

MonkiezGroveMonkiezGrove Cartoon Book

Social network ที่เข้ามาช่วยให้หลายๆท่านสร้างเครือข่ายโดยไม่ต้องมีเว็บไซต์ให้ยุ่งยาก มังกีซ์โกรฟเองก็เช่นกัน หากเป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะได้พบกับผู้ที่สนใจงานของเรา เราก็จะสร้างมันขึ้นมา

MonkiezGrove Cartoon Book

ปัจจุบันมังกีซ์โกรฟ มีแฟนเพจอยู่ประมาณ 700 ท่าน แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากมายจนผิดหูผิดตา แต่เราก็ยังดีใจทุกครั้งที่ผลงานของเราที่สร้างนั้น ได้ทำให้แฟนเพจหลายๆท่านมีความสุขที่ได้พบเห็นงานน่ารักๆของเรา ซึ่งผลงานของมังกีซ์โกรฟนั้นก็จะเน้นไปในทางน่ารักสดใส และเชิงสร้างสรรค์ เพราะต้องการจะแบ่งปันภาพสวยๆ อารมณ์ดีๆ แก่ผู้รับชม

สำหรับผู้สนใจที่ยังไม่เคยเข้าไปดู MonkiezGrove Cartoon Book ก็เข้าไปแวะชมได้ใน MonkiezGrove Cartoon Book (https://www.facebook.com/monkiezgrovecartoon) ถ้าท่านใดมีบัญชีของเฟสบุคก็สามารถติดตาม like&share ได้ตามอัธยาสัย

ขอบคุณที่ติดตามกันมาจนถึงทุกวันนี้

สวัสดี

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

Let’s plant tree ปลูกต้นไม้กันเถอะ :)

วันก่อนนั่งๆนึกว่าวันนี้จะวาดรูปอะไรดี สิ่งที่เข้ามาในหัวก็คือการปลูกป่า ประสบการณ์ที่กำลังจะฝังรากลึกลงไปในสมองของผมนั่นเอง

หลังจากที่ได้ไปร่วมกิจกรรม ปลูกป่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็คิดอยู่ตลอดว่าจะเอามาใช้ในชีิวิตประจำวันอย่างไรดีในเมื่อชีวิตในเมืองนั้นต่างกันกับชีวิตที่ได้ไปเจอมาก จนล่าสุดพบได้พบคำตอบหนึ่ง..

จินตนาการและทักษะการวาดรูปของผมเองสามารถสร้างสื่อที่กระัตุ้นให้เกิดความรู้สึกบางอย่างออกมาได้ แต่ก่อนจะสร้างได้นั้นมันก็ต้องมาจากความรู้สึกภายใน ผ่านการผสมของจินตนาการ ผ่านปลายปากกา จนมาสู่ผลงานที่เห็นกันได้ด้านล่าง ซึ่งก็เป็นคำตอบได้ว่าแม้ผมจะไม่ได้ปลูกป่าทุกวัน แต่ก็สามารถสร้างสรรค์สื่อดีๆได้ทุกเวลาเท่าที่ใจต้องการ

Let’s plant tree ปลูกต้นไม้กันเถอะ :)

Let's plant tree ปลูกต้นไม้กันเถอะ :)

สำหรับรูปนนี้อาจจะเล็กไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับขนาดจริงของงาน ซึ่งผู้สนใจก็สามารถรับชมรูปใหญ่กว่านี้กันได้ที่ หมูเด็กปลูกต้นไม้ : MonkiezGrove Cartoon Book นะครับ ก็เป็นเพจเฟสบุคของมังกีซ์โกรฟนั่นเอง

ตอนนี้ยังไม่ได้กลับไปอัพเดทเว็บไซต์มังกีซ์โกรฟเท่าไรนักเพราะกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่นิดหน่อยก็เลยใช้ช่องทางเฟสบุคเสียมากกว่า ถ้าเว็บไซต์ปรับปรุงเสร็จอย่างไรแล้วก็คงจะได้อ่านบทความที่เกี่ยวกับรูปนี้ในแบบลึกซึ้งกันมากกว่าเดิมแน่นอน

MonkiezGrove Cartoon Book

ยังมีรูปอีกมากมายในช่วงนี้ที่ผมได้เริ่มกลับมาวาดอีกครั้งก็จะอยู่ใน Facebook Page : MonkiezGrove Cartoon Book (http://www.facebook.com/monkiezgrovecartoon)

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี

มัน เป็ด มาก

บางครั้งในชีิวิตของเราก็จำเป็นต้องเลือกทางสักทางที่น่าจะดูดีที่สุด แต่ถ้าเกิดมันดีหรือเหมือนจะดี หรือดีพอๆกันทุกทางล่ะ จะเลือกยังไงดี…

คำตอบของผมอาจจะเป็น เลือกทั้งหมดนั่นแหละ…

การเลือกทำหรือเลือกเป็นหลายๆอย่างนั้น มักจะเป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน ไม่เฉพาะทาง ไม่เก่งไปสักอย่าง หรือที่เขาเรียกกันว่า เป็ด … เหมือนทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรได้ดีสักอย่าง แน่นอนว่าผมก็เป็นคนแบบเป็ดๆนั่นแหละ

มันเป็ดมากบทความตอนนี้คิดจะเขียนขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสสักที วันนี้โอกาสเหมาะ อากาศดี ก็เลยได้เขียนและบรรยายความเป็ดให้เป็นที่เข้าใจกัน ความเป็ดของแต่ละคนนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ตามสิ่งแวดล้อม แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้เด่นสักอย่าง ซึ่งผมเองก็เป็นเป็ดอีกตัวหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสังคมนี้

การเก่งเฉพาะทางหรือเฉพาะอย่าง คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก มันเข้าใจง่าย มันดำเนินชีวิตง่าย มันทำให้ชีวิตไปถึงเป้าหมายได้ง่ายเพราะมันชัดเจนในแนวทาง เว้นแต่ว่ามันน่าเบื่อเท่านั้นเอง…

ในบทความตอนนี้เราจะมาบรรยายความเป็ดกับการทำงานกัน

ถ้าจนถึงตอนนี้ยังนึกถึงความเป็ดไม่ออกก็ให้นึกถึงเครื่องถ่ายเอกสารมัลติฟังชั่น fax ,print ,scan ,phone อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แต่ก็ทำได้แค่พอถูไถ เหมาะกับสถานที่ที่อาจจะเล็กนิดหน่อย หรือบริษัทที่งบไม่เยอะต้องการประหยัดอะไรแบบนี้

งานก็เหมือนกัน สำหรับบริษัทที่เริ่มต้นใหม่หรือมีขนาดไม่ใหญ่ก็มักจะอยากได้คนที่ทำได้หลายอย่าง ซึ่งต่างกับ บริษัทใหญ่ๆที่แบ่งแผนกชัดเจนจึงต้องการคนเฉพาะทางนั่นเอง และนี่คือกลไกง่ายๆ จากมุมมองง่ายๆของผมที่มองสังคมการทำงาน แน่นอนว่ามันคือสังคมการทำงาน เราคือฟันเฟืองที่ทำให้กิจการขับเคลื่อนไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็ดหรือไม่เป็ด ก็ขอแค่ให้มันเหมาะกับสถานที่หรือองค์กรที่เป็นอยู่ก็พอ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง

บางครั้งเมื่อองค์กรมีการปรับเปลี่ยนขนาด เป็ดบางตัวก็อาจจะเดือดร้อนก็ได้ เพราะความไม่ชัดเจนหรือไม่เฉพาะทางนั่น เป็ดบางตัวอาจจะได้ยกระดับเป็นผู้บริหารเพราะรู้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง ซึ่งนั่นแหละคือความเป็ด ผู้บริหารไม่ว่าจะเล็กกลางใหญ่จำเป็นต้องรู้ให้กว้าง แต่ไม่ต้องรู้ให้ลึก เพราะรู้ลึกก็ให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำไป

ดังนั้นเมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นเป็ด จึงจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการบริหารให้มากขึ้นนั่นเอง เพราะเราคงจะไปเก่งสู้คนที่เก่งเฉพาะทางได้ ซึ่งการเลือกเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในชีวิตมันก็ต้องใช้เวลา และเราจึงจำเป็นต้องรู้ตัวให้ชัดว่าเป็นเป็ดแบบไหน เป็ดบ้านๆที่รอถูกเชือด (เป็ดกินเงินเดือน) เป็ดป่าที่หากินเองตามธรรมชาติ (เป็ด freelance)  ลูกเป็ดขี้เหร่ ที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นหงส์ (เป็ดโดนดอง) ซึ่งเราอาจจะนิยามอะไรอย่างไรก็ได้เพื่อมองให้เห็นความเป็นตัวเราเอง และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในความเป็ด คือรู้ว่าตนนั้นเป็นเป็ดแบบไหนและขนาดไหน…

บทความแบบเป็ดๆ คงเกริ่นกันไว้เท่านี้ ซึ่งอาจจะมีบทความเพิ่มขึ้นเรื่อยในอนาคตตามแต่ที่ผมจะจินตนาการได้

สวัสดี

หายไปไหนช่วงน้ำท่วม

ช่วงที่ผมไม่อยู่นั้น เนื่องจากอพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วม ใช่ว่าผมจะไม่เดือดร้อนในช่วงน้ำท่วมเสียทีเดียว แต่ผมเลือกที่จะไปรับประสบการณ์ที่แตกต่างกับการอยู่บ้านต้่อนรับน้ำท่วม

แม้ว่าตอนนี้บ้านของผมดูเหมือนจะรอดพ้นวิกฤตน้ำท่วมแล้ว ซึ่งมันก็ยังไม่เคยท่วมส่วนสาเหตุนั้นจะเพราะอะไรก็ช่าง สรุปก็ถือว่าโชคดี เพราะดูในแผนที่น้ำท่วม น้ำมันท่วมรอบๆเขตบ้านไปหมดแล้ว แต่ที่หมู่บ้านยังปกติ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้ผมรับรู้หลังจากกลับมาที่บ้านครับ

การอพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วม สำหรับผมนั้นถือเป็นโอกาสที่ผมจะได้ลองไปรับประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะก่อนหน้าที่ผมจะตัดสินใจออกจากบ้านนั้น ผมได้ไปรับประสบการณ์ของคนที่โดนน้ำท่วมมาแล้วครับ นั่นคือการลุยน้ำเข้าไปช่วยพี่สาวย่านดอนเมืองอพยพออกมา สิ่งที่ผมได้รับในวันนั้น คงจะเล่าในบทความต่อไป แต่ผมบอกได้เลยว่านั่นคือประสบการณ์ที่ทำให้ผมมั่นใจที่จะออกไปดีกว่าที่จะทนอยู่

โอกาส กับทางเลือก

แน่นอนว่าประชาชนทุกคนคงจะทำอย่างผมไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีเท่ากัน ทางเลือกเราไม่เท่ากัน ผมมีทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้อยู่หลายทาง แน่นอนว่าผมจะไม่เอาตัวเองไปเบียดเบียนคนที่มีความจำเป็นกว่าแน่นอน สิ่งที่ผมคิดนั่นคือการตัดโอกาสการกลายเป็นภาระทางสังคมของตัวผมทิ้งเสีย และย้ายตัวเองไปมองดูจากวงนอก ซึ่งน่าจะดีกับคนส่วนใหญ่มากกว่า

พื้นที่ในกรุงเทพฯนั้นเต็มไปด้วยผู้คน ผมไม่เคยคิดว่ากรุงเทพฯ นั้นสำคัญที่สุดในประเทศ แต่ผมมองในเรื่องของรายละเอียดมากกว่า เมื่อมีคนมาก การจัดการก็ยาก ตรอกซอกซอย ชุมชนสารพัด ซึ่งน่าจะเรียกว่ามหาศาล เมื่อน้ำเข้ากรุงเทพ การช่วยเหลือ การจราจร ทุกอย่างดูจะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางจัดสรรได้อย่างลงตัวแน่นอน และนั่นคือเหตุที่ผมตัดสินใจอพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วมไปดีกว่า

อพยพหนี (เที่ยว) น้ำท่วมไปไหน?

ผมเคยคิด เคยฝันไว้ว่าผมจะได้เดินทาง ไปเที่ยวโดยไม่มีกฏอะไรมาหยุดไว้ (ยกเว้นเงิน) ผมอยากจะหยุดในที่ผมอยากจะหยุด ผมอยากจะอยู่ในที่ ที่ผมอย่างจะอยู่ ผมอยากจะทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลาที่เป็นของผมอย่างแท้จริง น้ำท่วมครั้งนี้คือโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่ผมจะได้ไปค้นหาอะไรในตัวเองเพิ่มขึ้น นี่คือจินตนาการของผม

ความเป็นจริงก็คือผมไปได้ในระยะที่พอจะไหว เขตใกล้ๆกรุงเทพที่น้ำไม่ท่วมและเดินทางไม่ไกล เพราะงบประมาณมีจำกัดมาก และไม่รู้ว่าต้องอยู่นานแค่ไหน เลยต้องคิดคำนวนกันให้ดี ที่พักส่วนใหญ่จะเป็น บ้านเพื่อน บ้านญาติ โรงแรม อะไรประมาณนี้ ซึ่งจะเน้นประหยัดไว้เป็นหลัก เพราะถ้างบหมด นั่นหมายถึงอิสระแห่งจินตนาการของผมก็คงต้องดับลงไป

สรุปแล้วช่วงที่ผมไม่อยู่ ผมก็แทบไม่ได้เข้าอินเทอร์เน็ต เลยครับ จะมีเข้าบ้างก็บางทีเพราะอุปกรณ์ไม่ค่อยอำนวยเท่าไหร่ ส่วนเรื่องผมไปเที่ยวไหนอะไรยังไง รายละเอียดเดี๋ยวค่อยมาเขียนกันอีกทีนะครับ เอาแค่ว่าหนีน้ำท่วมไปเที่ยวแล้วกันนะ

สวัสดี

กว่าจะวาดได้รูปหนึ่ง ใช้เวลานานไหม?

วันนี้มีเรื่องให้คิดถึงคำถามนี้ขึ้นมา อาจจะเพราะไม่ได้วาดรูปมาก็นานแล้ว ก็เลยนึกย้อนไปถึงวันที่มีคำถามนี้เกิดขึ้น…

กว่าจะวาดได้รูปหนึ่ง ใช้เวลานานไหม?

กว่าจะวาดได้รูปหนึ่ง ใช้เวลานานไหม? เป็นคำถามที่มีลูกค้าถามตอนที่ผมไปเปิดร้านขายโปสการ์ดมังกีซ์โกรฟในงานปล่อยแสง ที่หอศิลป์แถวๆสยาม ตอนนั้นผมจำได้คับคล้ายคับคลาว่าจะตอบไปประมาณว่าวาดรูปหนึ่งไม่นาน แต่คิดนาน

มาถึงวันนี้ดูเหมือนจะมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมลืมตอบไปด้วย…นั่นคือกว่าจะคิดจะวาดก็นานเหมือนกัน..

วันก่อนมีลูกค้าถามถึงลายใหม่จะมีเมื่อไหร่ แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนถาม แต่ผมเองไม่ค่อยได้นึกถึงคำตอบที่แน่นอนเท่าไหร่ จนกระทั่งนึกไปถึงคำถามที่ว่า กว่าจะวาดได้รูปหนึ่ง ใช้เวลานานไหม? นั่นเอง

เมื่อสองความรู้สึกนี้มาบรรจบกัน “จะมีลายใหม่เมื่อไหร่ + วาดรูปหนึ่งใช้เวลานานไหม” ก็ทำให้มีคำตอบที่เหมาะสมสำหรับคำถามว่ากว่าจะวาดได้รูปหนึ่ง ใช้เวลานานไหม? นั่นคือนานมาก… เพราะกว่าจะมีโปสการ์ดออกมาใบหนึ่ง ต้องใช้เวลาขบคิดจินตนาการไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าคิดแล้วออกมาเลย แต่ต้องคิดต้องวาดรูปในอากาศ ร่างภาพในความคิด ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าจะออกมาเป็นภาพต้นแบบ และปรับแก้ภาพในหัวอีกนับเดือนกว่าจะออกมาเป็นภาพร่างโดยใช้ดินสอ

กว่าจากภาพดินสอจะถูกวาดเป็นโปสการ์ดอย่างที่เห็นนั้น ไม่ได้มีขั้นตอนต่อเนื่องกันอย่างที่คิด เพราะว่าหลังจากร่างแบบแรกแล้ว ผมจะปล่อยให้่มันตกผลึก “มัน” ในที่นี้คือความคิดและจินตนาการ ซึ่งบางทีก็มีการปรับแก้อีกที และบางทีก็วาดใหม่ยกเลิกรูปเดิมทิ้งไปเลยก็มี

และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดนั่นคือการวาด แต่ปัญหาคือเมื่อไหร่จะวาด น่าจะเป็นคำถามที่ชัดเจน มันยากมากที่จะบอกว่าเมื่อไหร่จะวาด เหมือนการวาดงานครั้งหนึ่งนั้นต้องใช้สมาธิและความตั้งใจสูงมากๆ ผมมักจะล็อควันเวลาไว้ก่อนจะวาดจริง จะไม่ไปไหนหรือไม่ทำธุระอะไรทั้งนั้น ทั้งๆที่เป็นงานวาดโปสการ์ดการ์ตูน แต่ก็จำเป็นต้องใช้สมาธิและอารมณ์ในการสร้างสรรค์รูปออกมา เพราะว่าโปสการ์ดรูปหนึ่งผมจะวาดครั้งเดียว หมายถึงให้งานจบ ณ ตรงนั้นเลย จะไม่มีแก้นั่นแก้นี่เยอะนัก เพราะทุกอย่างต้องพร้อมก่อนจะวาดแล้ว ทั้งภาพในหัว ทั้งสมาธิ ซึ่งตรงนี้แหละที่จะทำให้มันมาบรรจบกันได้ยาก ความพอดี ที่จะเกิดโปสการ์ดได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าอยากทำก็จะทำได้ (ซึ่งจริงๆก็อาจจะทำได้ แต่คงไม่ได้ดีเท่าที่ใจคิด)

เพราะฉะนั้น การที่มีโปสการ์ดมังกีซ์โกรฟใบใหม่ออกมานั่นหมายถึงผมว่างพอที่จะมีสมาธิและความสร้างสรรค์ ที่มากพอที่จะสร้างผลงานดีๆออกมาได้

ผลงานของผมในมังกีซ์โกรฟ ติดตามชมได้ที่ monkiezgrove.com

สวัสดี

ตบยุง จะดีไหม?

ช่วงหลังๆนี้ผมเริ่มมีปัญหากับยุงเยอะขึ้น เพราะนอกจากฝนจะตกบ่อยแล้ว ยังมีสารพัดไม้น้ำ และกระถางที่แม่ตั้งไว้เลี้ยงลูกน้ำเล่นๆอีกมากมาย

ยุงกับน้ำขังนี่เป็นของคู่กันจริงๆครับ ซึ่งปกติก็จะโรยทรายกันยุงครับ แต่ว่่าพอให้โรยทุกสามเดือน บางทีมันก็ลืมเหมือนกันครับ วิธีกำจัดยุงที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการกำจัดมันจากแหล่งกำเนิดเลย นั่นคือไม่มีที่ให้มันเกิดก็จะไม่มียุงแล้วครับ หรือถ้ามีก็คงมีน้อย เพราะอย่างน้อยมันก็ต้องบินมาไกลกว่าจะได้กัดเรา มันคงอ่อนแรงพอควรเลย

ตบยุงจะดีไหม
ตบยุงจะดีไหม

เป็นรูปของวันก่อนที่ตบยุงระหว่างทำงานได้หนึ่งตัว สภาพของมันเละคามือเลยครับ ผมเคยคิดว่าตบยุงนั้นบาปหรือไม่ เป็นการฆ่าสัตว์หรือไม่ จริงๆมันก็เป็นอย่างนั้นครับ เพราะก่อนจะตบ จิตใจของเรามีความพยายามในการฆ่าอยู่ครับ ดังนั้นควรจะฝึกอดทนให้ชินครับ ซึ่งผมเองชินกับการตบยุงมากกว่าการอดทนไม่ตบครับ บางทีก็ทำไปแบบอัตโนมัติเลยครับ เพราะความเคยชินมานั่งคิดๆดูมันก็ไม่ดีละนะ

ดีนะที่ยังเป็นยุงตัวเล็กๆ ลองคิดดูว่าคนที่ฆ่าสัตว์จนเคยชิน จะเป็นอย่างไร ก็ลองขยายภาพจินตนาการตอนตบยุงดูนะครับ

สวัสดี

To do list กับการควบคุมชีวิต

เหมือนว่าตอนนี้วิถีชีิวิตของผมจะหลุดไปจากที่เคยพอสมควร ช่วงสามเดือนมานี่ไม่ได้เขียน To do list หรือรายการสิ่งที่จะทำในแต่ละวันเหมือนก่อน ทำให้บางวันนั้นดูว่างเปล่าเกินจะจินตนาการ

ผมเป็นคนที่ชอบวางแผนในแต่ละวัน ซึ่งก็มักจะทำตามแผนที่วางไว้อย่างหลวมๆ คือมีแนวทางในแต่ละวันนะ แต่จะเสร็จไม่เสร็จนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆมากมาย เพราะบางทีก็ไม่ได้ว่างทั้งวัน หรือมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเสมอๆ ทำให้ทำตาม To do list ไม่ได้ ซึ่งช่วงหลังๆก็เลยไม่ได้เขียนเหมือนเคย

ปัจจุบันได้ค้นพบแล้วว่าถ้าผมไม่เขียน To do list ไว้บ้าง ชีวิตในแต่ละวันก็มีโอกาสล่องลอยไปตามลมฟ้าอากาศได้มากพอสมควรเลย ความขยันที่เคยมีเมื่อก่อนถูกพัดพาให้ไกลออกไปด้วยลมเย็นๆ ตอนบ่ายแก่ๆ ซึ่งตอนนี้ผมพยายามตั้งสติและกลับมาเป็นตัวเองอย่างที่เคยเป็นอีกครั้ง เพราะนอกจากงานที่กองสุมมากมายแล้วยังมีเรื่องเรียนซึ่งเป็นเรื่องที่รอไม่ได้อยู่อีกด้วย

ใครมีอาการแบบผมแนะนำให้วางแผนชีวิตโดยเขียน To do list ไว้บ้างนะครับ แม้ว่าจะเป็นระยะสั้นแต่ก็ดีกว่าเราไม่ได้วางแผนอะไรเลย

สวัสดี