ศรัทธา?

วันนี้ไปซื้อของที่ตลาดนัดจตุจักร เดินผ่านร้านแสตมป์ เห็นมีชุดรวม 9 รัชกาล ซึ่งราคาก็ไม่ใช่ถูก ๆ ชุดหนึ่งเขาขาย 1,200 บาท

ช่วงนี้คงจะถือเป็นช่วงขาขึ้นของนักเก็งกำไร เพราะเป็นโอกาสที่จะขายของให้กับผู้ที่ศรัทธาได้ง่าย เพราะโดยมากแล้วคนมักจะสนใจเก็บสิ่งที่จับต้องได้เป็นหลัก

ผมจึงอยากเสนอแนะให้ผู้ที่คิดจะเก็บบางสิ่งที่จะใช้ระลึกถึงผู้ที่เคารพรักในช่วงนี้ อย่าไปหลงกลกิเลส อย่าประมาทมัวเมา เพราะถ้าท่านเผลอตัวไป ท่านอาจจะกลายเป็นนักเก็งกำไรอีกคนก็ได้

ถ้าท่านอยากได้รูปที่เป็นกระดาษ ท่านก็ตัดเอาตามหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้ก็ได้ หรือถ้าอยากได้เป็นวัตถุที่มั่นคงแข็งแรง เหรียญ 25 สตางค์ก็เป็นทางเลือกที่ดี

เราไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งที่หายากหรือสวยงาม เพราะคุณค่ามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณค่าแท้จริงคือการระลึกถึงบุคคลที่ควรบูชา ถ้าท่านอยากให้มันแปลกมันสวย ให้มันมีคุณค่าทางการค้า สิ่งที่เกินมาเหล่านั้นคือกิเลสของท่าน

อย่าเอากิเลสมาปนเปื้อนไปกับศรัทธาเลย มันจะทำให้ศรัทธานั้นด่างพร้อย มัวหมอง เสื่อมค่าลงไปตามกิเลสที่ท่านมี

การให้ที่เลว

เหตุต้นเรื่องจาก : “แจกอาหารคนไร้บ้าน” เมื่อความปรารถนาดีกลายเป็นความเดือดร้อน?

ขึ้นชื่อว่า “การให้” ใครได้ยินได้ฟังก็เหมือนจะดี ใครไปให้ทานมาก็ปลื้มอกปลื้มใจ จนถึงขั้นเสพติดในการให้ก็มีเหมือนกัน

ศาสนาพุทธนั้นก็ยินดีในการให้ ในการสละ แต่การให้นั้นต้องประกอบไปด้วยปัญญา คือให้ไปแล้วไม่เกิดโทษ เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ให้แล้วกิเลสลด ไม่ใช่ให้ไปแล้วกิเลสเพิ่ม ผลเสียเพิ่ม

ในอนุตตริยสูตรจำแนกการให้ที่ดีและการให้ที่เลวไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีตรงกลาง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะการให้ไปแล้วเขาเพิ่มกิเลส เช่นในกรณีตามเนื้อข่าวที่แนบมานี้ ให้แล้วเกิดโทษเพิ่มขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน นี้คือการให้ที่เลว เลวเพราะอะไร ?

เพราะให้ไปแล้ว ไม่เอาไปทำสิ่งที่ดี แต่กลับไปสั่งสมความขี้เกียจ อย่างกรณีคนไร้บ้านนี่เราไม่รู้หรอกเขาไม่มีบ้านเพราะอะไร แต่เรารู้แน่ถ้าเป็นคนไม่ขี้เกียจ ปัจจัยสี่ย่อมหาได้โดยไม่ยากนัก บางคนที่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีกิน ไม่ใช่เพราะบรรลุธรรมอะไรหรอกนะ แต่เพราะเขาขี้เกียจ ขี้เกียจนี่เป็นอบายมุขนะ

แต่ก่อนผมไม่เคยเข้าใจว่าขี้เกียจมันเป็นอบายมุขอย่างไร ตอนนี้ชัดแล้ว คือมันขี้เกียจหากิน ขี้เกียจพัฒนาตนเอง ขี้เกียจเอาภาระสังคม มันจะอยู่ไปวัน ๆ มันจะเอาสบายท่าเดียว ไม่ขวนขวายให้ชีวิตดีขึ้น ให้พึ่งตนมากขึ้น ให้เป็นภาระคนอื่นน้อยลง จึงกลายเป็นภาระของสังคม นี่คือความฉิบหายหนึ่งของความขี้เกียจ

ตอนนี้ถ้าผมจะให้ ผมจะประเมินก่อนเลยว่าเขาพึ่งตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเขาพึ่งได้ก็จะไม่ให้เขา ควรจะให้โอกาสเขาหาเลี้ยงชีพเอง ส่วนในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินอะไรนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถ้ายังมีชีวิตปกติ มีลมหายใจปกติ มันก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ทั้งคนทั้งสัตว์นั่นแหละ

ไปให้ทานเขามั่ว ๆ ซั่ว ๆ ทั้งคนทั้งสัตว์มันก็จะไม่ยอมหากินเอง มันจะรอแต่อาหาร สุดท้ายมันก็ขี้เกียจ ไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีอาหารมาให้ ถ้าไม่ได้ก็จะหาวิธีให้ได้มา แต่จะไม่พยายามสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจของตัวเอง

แน่นอนว่าทุกการให้มีผล คนที่คิดว่าการให้ไหน ๆ ก็ดีหมด ให้ศึกษาผลกระทบเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าต้องรับวิบากอะไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นั่นแหละคือผลจากการให้ของคนดี ที่ไม่คิดดี ๆ นั่นจึงเป็นการให้ที่เลว

การสนับสนุนคนเห็นผิด

ได้อ่านข่าวที่พระทำขนมปังขาย แล้วก็เห็นว่ามีทั้งกระแสที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยก็คิดว่าดีเป็นประโยชน์ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็เพราะว่าสิ่งนั้นไม่สมควรทำ

ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมก็คงคิดว่าอย่างน้อยท่านก็คิดจะทำสิ่งที่ดี เราก็เอื้อ ๆ กันไปบ้าง แต่หลังจากที่ได้ศึกษาอนุตตริยสูตร จึงพบว่านั่นคือ “การร่วมนรก” ดี ๆ นี่เอง

ข้อหนึ่งในอนุตตริยสูตร คือปาริจริยานุตริยะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบำรุงคนไม่ว่าจะฆราวาสหรือนักบวชที่เห็นผิด ยังไม่มีความเห็นถูกตรง เป็นคนทุศีล ไม่มีศีล ไม่มีวินัย นั้นมีอยู่ แต่เป็นการบำรุงที่ “เลว

ท่านเน้นคำว่า “เลว” เลยนะ ไม่ใช่ “เออ อย่างน้อยเขาก็ทำดีนะ” คือถ้าเขาทำผิดแล้วเราไปสนับสนุนเนี่ย เรียกว่าการบำรุงที่เลว คือเรานี่แหละ ไปสนับสนุนให้เขาเห็นผิด ให้เขาคิดผิด ให้เขาทำผิดต่อไปเรื่อย ๆ

ยิ่งพวกนักบวชที่ใช้ผ้าเหลืองแสวงหาโลกธรรมนะ จะได้มีเงินมาก ๆ มีบริวารมาก มีตำแหน่งสูง มีชื่อเสียงมากมาย มีปัจจัย 4 ที่ยิ่งใหญ่มากมายกินใช้ไม่มีวันหมด …

แม้แต่ท่านที่ใช้บารมีของผ้าเหลืองในการไปสร้างคุณงามความดีแบบโลก ๆ ให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่ไม่ได้มุ่งขัดเกลากิเลสในตน ให้เป็นไปสู่ความมักน้อย ละโลภ โกรธ หลง อันนี้มันก็ผิด แม้คนเขาจะ “สาธุ” กันมาก แต่มันก็ผิด

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า การบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า(พระอริยะเท่านั้น ไม่ใช่พระทั่วไป) นั้นเป็นการบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย

ผมนี่ซึ้งใจเลยนะว่า แต่ก่อนที่เราเคยบำรุงคนนั้นคนนี้ นั่นคือการบำรุงที่เลว แม้ภาพรวม ๆ เขาจะดูดี แต่ก็ยังเลว เพราะเขายังไม่มีอริยะคุณ เขายังลดกิเลสไม่เป็น บำรุงไปทุกบาททุกสตางค์ ทุกแรงกายแรงใจ นั้นจะไปเป็นส่วนเพิ่มกิเลสเขาทั้งหมด

ดังนั้น ไม่ว่าจะขนมปังพระทำ หรือบริจาคให้พระไปทำนู่นทำนี่ แม้จะดูดีเป็นสาธารณะประโยชน์แค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าผมประเมินดูดีแล้วว่าตัวบุคคลนั้นยังไม่มีคุณอันสมควร ผมก็จะไม่บำรุง ไม่ร่วมสังฆกรรม ยกเว้นจะอนุโลมในบางกรณีเท่านั้น

อหิริกมูลกสูตร สู่บทความ ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

อหิริกมูลกสูตร

เป็นที่มาของบทความนี้ ผมคิดอยู่นานมากว่าจะพิมพ์เรื่องนี้ดีไหม เพราะถ้าตีความตามพระสูตรนี้ จะเรียกว่าแทบจะกวาดทิ้งคนที่เขาว่าตนเองเป็นคนดีทั้งแผนดินทิ้งเลยทีเดียว

ผมเคยศึกษาธรรมะของหลายสำนักด้วยการอ่านและพิจารณาสาวกของสำนักเหล่านั้นว่ามีลักษณะอย่างไร หลายท่านดูเหมือนจะพยากรตัวเองว่าเป็นพระอริยะกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่ผ่านข้อกำหนดบางอย่างที่เจ้าสำนักกำหนดมา ซึ่งถ้าเจอกับ “อหิริกมูลกสูตร” ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านทั้งหลายที่กำลังประมาณตนผิด

พระสูตรนี้ใช้การเทียบหิริต่อหิริ โอตตัปปะต่อโอตตัปปะ ปัญญาต่อปัญญา เป็นตัวเชคว่าเราเจริญจริงไหม เราหลุดพ้นจริงไหม ถ้าเราเจริญจริง เราจะไม่คบค้าสมาคมกับคนที่ผิดศีลแน่ๆ

เป็นพระสูตรที่ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์โดยตรง แต่สามารถเอามาเทียบได้กับทุกกิจกรรมในชีวิต

ลึก ๆ แล้วผมก็รู้สึกลำบากใจเหมือนกันที่จะสรุปอย่างในบทความ แต่สัจจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น เราก็ต้องน้อมเข้ามาทำใจในใจว่าจริงไหมที่เรายังทำสิ่งที่ไม่สมควรอยู่

ที่หนักกว่าเรื่องการกินเนื้อสัตว์ คือคนที่ยังคบค้าสมาคมกับคนที่เห็นผิด ซึ่งจะไปตรงกับ อนุตตริยสูตร ที่ว่าการพบเห็นที่ผิด คือการได้พบครูบาอาจารย์ที่ผิด ฟังธรรมที่ผิด เป็นของเลว มันเลยทำให้ความเห็นผิดเพี้ยนตามไปด้วย

ปัจจุบันผมเลือกคบคนมาก จะให้ผมไปร่วมกิจกรรม หรือจะเรียกว่าสังฆกรรมอะไรมั่วๆ ผมไม่อยากไป เพราะไม่ต้องการคบคุ้น ไม่ต้องการเสียเวลา แถมยังมีโอกาสทำให้คนเข้าใจผิดว่าเราไปคบหาคนผิดอีก

ในเบื้องต้นผมก็ดูคนด้วยศีลนี่แหละ คัดกันตรงนี้ก่อน แล้วค่อยพิจารณาความเห็นของเขา ว่าเขาพูดให้คนลดกิเลสหรือพูดให้คนเพิ่มกิเลส แล้วก็ค่อยศึกษาไป ไม่รีบปักใจเชื่อ จนกว่าจะได้ลองทำตามแล้วเกิดผลคือกิเลสลดอย่างที่เขาว่าจริง จึงจะเชื่อ เพราะทำได้จริงนั่นเอง

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

สัตว์เลี้ยงดั่งลูกรัก

วันนี้ไปซื้อของที่ห้างหนึ่ง ก็เป็นห้างที่เขาเอาสัตว์เลี้ยงกันมาเยอะ ส่วนใหญ่ก็เป็นหมาละนะ

เห็นตั้งแต่คนที่เอาหมามาเดินเล่น เอาหมาใส่รถเข็น เอาหมามาอุ้มไว้บนตัก

ผมเห็นแล้วก็รู้สึก….จะว่าสงสารก็สงสาร ที่เขาขยันสร้างกรรมที่ผูกพันไว้กับสัตว์ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะกลับมาผูกพันกับเราไม่รู้จบ

สัตว์นั้นคือเดรัจฉาน มีภูมิธรรมต่ำมาก ถึงจะเคยเป็นคนก็ต่ำจนเป็นสัตว์ได้นั่นแหละ นั่นหมายถึงเขาเหล่านั้นก็จะวนเวียนเจอกับสัตว์เดรัจฉานและคนเดรัจฉานที่พัฒนาขึ้นมาจากสัตว์

โดยเฉพาะรักเหมือนลูกนี่แหละ ตอนมันเป็นหมาก็ดูเหมือนจะน่ารักดี แต่พอมันเปลี่ยนมาเป็นคนแต่ภูมิธรรมเท่าเดิม ปัญญาเท่าเดิม นี่มันจะทุกข์หนักกันเลยทีเดียว คิดดูเถอะ สมัยนี้ก็มีให้เห็นอยู่เยอะ คนที่มีปัญญาเสมือนเดรัจฉานก็มี ต่ำกว่าเดรัจฉานก็มี

คนที่ไปยินดีในการอยู่กับสัตว์ก็หมายถึงจะต้องวนเวียนเจอกับความเป็นสัตว์ไปเรื่อย ๆ อยากเจอกับสัตว์แบบไหนก็คลุกคลีกับสัตว์แบบนั้น ผูกพันมากๆ กลายเป็นสัตว์ด้วยกันเลยก็ได้

ก็พิจารณาเอาว่าคลุกคลีผูกพันด้วยกรรมกับสัตว์เดรัจฉานกับสัตว์ประเสริฐอะไรมันจะทุกข์น้อยกว่ากัน… เพราะทุกข์นี่มันทุกข์แน่ถ้ายังผูก แต่ก็ต้องเลือกผูกหน่อย

ถ้าผูกกับสัตว์เดรัจฉานก็ทุกข์มากหน่อย ผูกกับสัตว์ประเสริฐก็ทุกข์พอจะกล้ำกลืนฝืนทนกันไป แต่ถ้าผูกกับโพธิสัตว์นี่เขาจะพาไปพ้นทุกข์เอานะ ก็ลองพิจารณากันดู อย่าไปผูกพันกับสัตว์เดรัจฉานนักเลย มันจะทุกข์มาก

วิ่งไปเจอตัวเวรตัวกรรม

เอาแล้วไง โกบี เจ้าตูบชื่อดังทำแสบ หายตัวจนนักวิ่งคู่หูต้องประกาศหาวุ่น

วิ่งไปวิ่งมาก็เจอตัวเวรตัวกรรม ว่าแล้วก็ยึดมาเป็นของตน

นักวิ่งคนนี้เขาวิ่งอยู่ดีๆ ก็มีหมามาวิ่งตามไปด้วยกันกว่าสี่สิบกิโล ก็ถูกอกถูกใจหมา เกิดความผูกพันรักใคร่หมาขึ้นมาจนคิดจะเอาไปเลี้ยง

ยังไม่ทันได้พาบินกลับประเทศหมาก็หายไป เขาก็เป็นทุกข์ ร้อนใจ ตามหาหมา

ข่าวนี้แสดงให้เห็นถึง ความไม่รู้จักภัยของความรัก นี่หมาเข้ามาทำดี ทำให้ถูกใจ ก็หลงรักหมา เอามันมาเป็นของตัวของตน นี่หมาของฉันนะ ทั้งๆ ที่หมามันก็เป็นตัวของมันเอง มันหายไปของมันเอง ก็พยายามไปตามหามันกลับมา ไม่ยอมปล่อยมันไป นี่เรียกว่าเราไปยื้อเขาไว้เอง เขาจะไปตามกรรมของเขาแล้วแท้ๆ เราไปดึงเขากลับมาเอง

ไม่ว่าจะหมา คน สัตว์อื่นๆ หรือสิ่งของ คนที่ไม่รู้จักโทษ ก็เข้าไปยึดแบบนี้ เอามันมาเป็นตัวเป็นตนของเรา ทั้งๆที่ตอนแรกมันไม่มี ก็กลับทำให้มันมี ทีนี้พอมันหายไปก็ต้องทุกข์ร้อน ไปแสวงหาให้มันมีอีกครั้ง นี่คือความหลงในอัตตาของคน เป็นอัตตาหยาบๆ คือเอาวัตถุ สิ่งของอื่นๆ เป็นตัวเราของเรา

ซึ่งสุดท้ายเขาก็ต้องทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง และไม่ใช่ของๆ เขาอย่างแท้จริง แต่เขากลับไปคิดว่า หมามันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป เป็นของเขาตลอดไป ด้วยความไม่รู้จริงนั่นเอง

โรคซึมเศร้า จำเลยรักในสังคม

ก่อนหน้านี้ผมได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาประมาณหนึ่ง ซึ่งสังเกตว่าสังคมนั้นไม่ได้แก้ปัญหาของโรคนี้ที่ต้นเหตุ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการทางจิต แต่จากที่ศึกษามานั้น มักจะถูกบำบัดโดยการให้ยาหรือรับการปรึกษา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดในจิต มันมีความผิดปกติในจิตใจ มีสิ่งแปลกปลอมในจิตใจ

ผมจะสรุปก่อนเลยว่า ความรู้ในปัจจุบันไม่มีวันที่จะรักษาโรคนี้หาย แต่มันจะเพิ่มมากขึ้น มีคนเป็นมากขึ้น รวมทั้งจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และโรคนี้มีความสัมพันธ์กับกิเลสอย่างชัดเจน

แต่วิธีรักษาโรคนี้มีมาตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน ในหลักพุทธศาสนา ธรรมทุกบทมีไว้เพื่อกำจัดทุกข์ทั้งสิ้น โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน

จะยกนิวรณ์ ๕ ขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย นิวรณ์นั้นไม่ได้เจอแค่ตอนเรานั่งสมาธิ นิวรณ์ของการนั่งสมาธิก็คือนิวรณ์ของการนั่งสมาธิ เมื่อเราพยายามจะแสวงหาความผาสุกในเรื่องใด เราก็จะเจอกับนิวรณ์ในเรื่องนั้นๆ ในโจทย์นั้นๆ

ความรักก็เช่นกัน

เมื่อมีความใคร่อยากเสพอยากได้ความรักมากขึ้น(กามฉันทะ) เมื่อไม่ได้ก็จะโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจมากขึ้น (พยาบาท) เมื่อไม่ได้สมใจเข้าหนักๆก็ตีกลับเกิดเป็นสภาพหดหู่ เศร้าหมอง (ถีนมิทธะ) แล้วก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย (อุทธัจจะกุกกุจจะ) เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง(วิจิกิจฉา)

สภาพก็เหมือนกับเด็กคนหนึ่งอยากได้ของเล่น แล้วก็ร้องไห้โวยวายลงไปดีดดิ้นที่พื้นสุดท้ายก็ยังไม่ได้ ก็งอนพ่องอนแม่ เสียใจคิดฟุ้งซ่านจะประชด จะฆ่าตัวตาย อะไรแบบนี้

โรคซึมเศร้า คืออาการของถีนมิทธะ ที่รุนแรง ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามปริมาณกิเลสองค์รวมในเรื่องนั้นๆ ยิ่งกิเลสมาก ก็ยิ่งซึมเศร้ามาก แก้ทางกายภาพให้ตายก็ไม่มีทางแก้ได้ อย่างเก่งก็ทำให้กลายเป็นคนติดยา ติดหมอ ต้องพึ่งยา พึ่งพาคนอื่น แต่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองให้พ้นจากอาการนี้ได้

ในเรื่องความซึมเศร้า สามารถอธิบายด้วยธรรมบทอื่นได้ด้วยเช่น ปฏิจสมุปปบาท ก็มีทุกข์ โทมนัส โสกะ ปริเทวะ ซึ่งเป็นอาการของทุกข์และความเศร้าโหยหา หดหู่เช่นกัน

…โรคซึมเศร้าในมุมมองผมก็คือกิเลสตัวหนึ่งที่มันกำลังแสดงอาการอยู่นั่นเอง ในมุมของธรรมะเราจะแก้ด้วยหลักอริยสัจ คือ มันทุกข์ในสิ่งใด มันทุกข์เพราะอะไร จะดับทุกข์อย่างไร แล้วจะปฏิบัติอย่างไร

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเหมือนกินยา และไม่หายในทันที เพราะต้องใช้ความเพียรต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง จึงเป็นทางแก้ที่แน่นอนแต่เห็นผลได้ยาก พอเห็นผลได้ยาก คนก็บอกว่ามันไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็กลับไปแก้ปัญหาด้วยวิธีโลกๆ แล้ววนเวียนอยู่กับทุกข์นั้นตลอดกาล

ผู้สมควรบวชให้ผู้อื่น ต้องเป็นพระอรหันต์

ภิกษุพึงเป็นพระอรหันต์ จึงให้กุลบุตรบวชได้!!

ไปอ่านเจอมาในพระไตรปิฎก เรียกว่าโหดมากทีเดียว แต่ก็เป็นส่ิงที่สมควรที่สุด ในการบวช ในการให้นิสัย รวมทั้งให้มีสามเณรคอยดูแล… ควรเป็นพระอรหันต์

จะยกพระสูตรนึงมาให้อ่านนะครับ ( เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๕๑-๒๕๓)

“[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ พึงให้
กุลบุตรอุปสมบทได้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็น
ของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัศนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ฯ”

ในข้ออื่นๆ ก็มีความไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างคำว่า ศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ คำว่า “อเสขะ” คือไม่ต้องศึกษาแล้ว มีตำแหน่งเดียวคือพระอรหันต์นั่นแหละ สรุปคือต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ในระดับของพระอรหันต์นั่นเอง แม้เป็นพระอริยะระดับอื่นๆ ก็ยังไม่สมควร

สรุปคือถ้าไม่เป็นอรหันต์นี่บวชให้ใครไม่ได้นะครับ จะฝืนบวชก็ได้ แต่ไม่เจริญหรอก

ซึ่งสูตรที่ยกมานี้เข้ากับคำตรัสที่ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงจะไปสอนใครก็ทำตัวเองให้ได้ก่อน การบวชนี่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นตนเองต้องทำให้ได้ก่อน

ถ้าสาวกพระพุทธเจ้ามาอ่านสูตรนี้ผมว่าสะดุ้งเลยนะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันจะรู้สึกเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร สมมุติถ้าผมเป็นนักบวชนี่ ผมก็คงไม่กล้าบวชให้ใคร หรือถึงเคยทำไปโดยไม่รู้ ก็เลิกทำล่ะงานนี้ ฝืนทำต่อก็นรกกินหัวเปล่าๆ

ส่วนจะมีสูตรไหนอนุโลมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ผมว่ายึดสูตรนี้ไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณนักบวชหรอก เน้นคุณภาพก็พอ ศาสนาพุทธนี่ไม่ได้เน้นปริมาณนะ เอาปริมาณเข้าว่าไม่ได้ เพราะคนเห็นผิดเท่าดินทั้งแผ่นดิน คนเห็นถูกเท่าฝุ่นที่ติดปลายเล็บ ดังนั้นจึงควรจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก

ให้เพราะว่ามันดี

บทเรียนล้ำค่า… เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ช่วยหญิงชราซื้อของ จากนั้นไม่นานเขาได้ทิปถึง 17,000 บาท

ให้เพราะว่ามันดี

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าดี ดีมันเกิดตั้งแต่หนุ่มคนนั้นช่วยหญิงชราแล้ว คือได้ทำดีไปแล้ว ได้ให้แล้ว ดีได้ทำลงไปแล้ว ก็จบกันไป

ในมุมของทานที่สัมมาทิฏฐิก็มีข้อมูลเพียงแค่ว่า ให้เพราะว่ามันดีในขณะนั้น ตามข้อมูล ตามปัญญา ตามกำลังที่มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้เพราะสงสาร หรือเขาไม่มี แต่ให้เพราะการให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี

ฝรั่งคนนี้เขาจะคิดอย่างไรผมก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เมื่อมองกลับมาเปรียบเทียบกับชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าการกระทำของเขานั้นดูมีทีท่าที่เจริญกว่าชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบันอยู่หลายขุม

ชาวพุทธส่วนมากนั้น ทำทานแล้วยังหวังผล ยังทำดีเพื่อหวังสิ่งดี หวังสวรรค์วิมาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกันไป ยกตัวอย่างในเรื่องราวนี้ ถ้าเรื่องมันจบไปตั้งแต่ชายหนุ่มช่วยหญิงชราก็คงจะไม่มีใครสนใจนัก แต่ที่มันได้รับความสนใจก็คือผลของการกระทำนั้น มองแบบโลกๆ มันก็ดูน่าสนใจจริงๆ

แต่ผมว่า เราอย่าไปยินดีในผลนั้นเลย ถ้าเราทำทานเพราะหวังว่าจะได้รับผลดี เราจะทุกข์ไปอีกนานแสนนาน แต่ถ้ายินดีที่เรายอมสละให้ทานได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี

ไม่ต้องถึงกับมีเจตนาปิดทองหลังพระอะไรกันหรอกนะ แค่ทำดีเพราะรู้ว่ามันดี และตรวจสอบชัดเจนว่ามันดี แค่นั้นก็ดีแล้ว ไปเน้นปิดทองเดี๋ยวมันจะกลายเป็นภพเป็นชาติกันยืดยาวต่อไปอีก

พุทธ กลืนกิน พุทธ

ถ้าใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนามาบ้าง ก็คงจะพอรู้เค้าโครงว่า การทำลายพระพุทธศาสนานั้น มักจะไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอก หรือลัทธิอื่นเข้ามาโจมตีตรงๆ แต่เป็นความเสื่อมจากภายในนี่แหละ

ก็มีกรณีศึกษาของ ศังกราจารย์ ที่แฝงเข้ามาเป็นพุทธแล้วยัดไส้คำสอนของตัวเองลงไป คือโดยรูปแล้วก็คงจะเหมือนนักบวชพุทธ แต่เนื้อในนั้นก็ไม่ใช่แน่นอน

ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะพุทธในทุกวันนี้แทบไม่เหลือเชื้อแล้ว คนก็มักง่าย เอาง่ายเข้าว่า อาจารย์คนไหนพูดถูกหูก็ศรัทธาเลยไม่ตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วน รีบเชื่อ รีบปักใจ ทีนี้คนที่เขาอยากได้ลาภสักการะ เขาก็จะปลอมปนเข้ามาในพุทธนี่แหละ

แล้วเขาก็ใช้คำสอนของพุทธนี่เองเป็นตัวเผยแพร่ คำสอนทั่วๆไปนี่เหมือนกันเป๊ะๆ เหมือนลอกกันมาเลยนะ แต่ไส้ในจะไม่เหมือน พอเป็นเรื่องของสภาวะที่ปฏิบัติจริงๆ จะไม่เหมือน ไม่ตรง จะเบี้ยวๆ มั่วๆ ไม่ตรงกับสัมมาทิฏฐิ

จะมีลักษณะที่เบนออกไปเพื่อให้เสพสมใจตามกิเลสได้ ให้เบียดเบียนได้ ฯลฯ ซึ่งจะขัดกับลักษณะของพุทธ

แต่ปัญหาก็คือคนในยุคนี้ไม่ได้ศึกษาความเป็นพุทธ แม้ว่ามันจะยังมีอ้างอิงอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตาม ก็เลือกเชื่อเอาตามอาจารย์ที่ตนว่าดี ถูกใจตรงจริตตน ทั้งๆที่อาจารย์เหล่านั้นอาจจะเป็นคนนอกพุทธก็เป็นได้

เช่นเดียวกับ จุลศีล มัฌชิมศีล มหาศีล ในยุคนี้ก็แทบไม่มีใครปฏิบัติกันแล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีปรากฏในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นกันอยู่ว่านี่นะ เป็นนักบวชในศาสนาพุทธต้องปฏิบัติอย่างนี้นะ แต่ก็ไม่มีใครสนใจนำมาปฏิบัติกัน นั่นเพราะเหตุที่ว่าปฏิบัติตามกันมา เชื่อตามกันมา

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ในกาลามสูตร ว่าอย่าพึ่งรีบเชื่อใครแม้เขาจะปฏิบัติตามๆ กันมา เป็นครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง หรือแม้จะมีอ้างอิงอยู่ในตำราก็ตามที แต่ให้ลองปฏิบัติด้วยตนเองจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์สิ่งใดเป็นโทษ ถ้าเป็นประโยชน์ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้น เป็นโทษก็ควรจะออกห่าง

แต่ก็น้อยคนนักที่จะใช้สูตรนี้ในการพิจารณา ก็เลือกเอา ถือเอา อาจารย์ที่ยกวาทะน่าฟัง ยกที่อ้างน่าสนใจ ยกหลักฐานน่าเชื่อถือ ก็เชื่อไป ฟังไป พอศรัทธาไปแล้ว ยึดไปแล้ว ทีนี้เขาก็ค่อยๆ สอดไส้ความเห็นของเขา เช่นเดียวกับกรณี ศังกราจารย์

ดังนั้นคนที่เชื่อตามๆ กันโดยที่ไม่พิจารณาว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ไม่แยกแยะตรวจสอบให้ดี จึงเป็นผู้ร่วมมือทำลายพุทธจากไส้ใน คือไปศรัทธา เชื่อถือ เผยแพร่ลัทธิที่ตั้งชื่อว่าพุทธนี่ไม่มีความเป็นพุทธนั่นเอง

กรณีศึกษา : ศังกราจารย์…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในชมพูทวีป ธัมมชโย…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในสยามประเทศ??