การให้ที่เลว

เหตุต้นเรื่องจาก : “แจกอาหารคนไร้บ้าน” เมื่อความปรารถนาดีกลายเป็นความเดือดร้อน?

ขึ้นชื่อว่า “การให้” ใครได้ยินได้ฟังก็เหมือนจะดี ใครไปให้ทานมาก็ปลื้มอกปลื้มใจ จนถึงขั้นเสพติดในการให้ก็มีเหมือนกัน

ศาสนาพุทธนั้นก็ยินดีในการให้ ในการสละ แต่การให้นั้นต้องประกอบไปด้วยปัญญา คือให้ไปแล้วไม่เกิดโทษ เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ให้แล้วกิเลสลด ไม่ใช่ให้ไปแล้วกิเลสเพิ่ม ผลเสียเพิ่ม

ในอนุตตริยสูตรจำแนกการให้ที่ดีและการให้ที่เลวไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีตรงกลาง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะการให้ไปแล้วเขาเพิ่มกิเลส เช่นในกรณีตามเนื้อข่าวที่แนบมานี้ ให้แล้วเกิดโทษเพิ่มขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน นี้คือการให้ที่เลว เลวเพราะอะไร ?

เพราะให้ไปแล้ว ไม่เอาไปทำสิ่งที่ดี แต่กลับไปสั่งสมความขี้เกียจ อย่างกรณีคนไร้บ้านนี่เราไม่รู้หรอกเขาไม่มีบ้านเพราะอะไร แต่เรารู้แน่ถ้าเป็นคนไม่ขี้เกียจ ปัจจัยสี่ย่อมหาได้โดยไม่ยากนัก บางคนที่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีกิน ไม่ใช่เพราะบรรลุธรรมอะไรหรอกนะ แต่เพราะเขาขี้เกียจ ขี้เกียจนี่เป็นอบายมุขนะ

แต่ก่อนผมไม่เคยเข้าใจว่าขี้เกียจมันเป็นอบายมุขอย่างไร ตอนนี้ชัดแล้ว คือมันขี้เกียจหากิน ขี้เกียจพัฒนาตนเอง ขี้เกียจเอาภาระสังคม มันจะอยู่ไปวัน ๆ มันจะเอาสบายท่าเดียว ไม่ขวนขวายให้ชีวิตดีขึ้น ให้พึ่งตนมากขึ้น ให้เป็นภาระคนอื่นน้อยลง จึงกลายเป็นภาระของสังคม นี่คือความฉิบหายหนึ่งของความขี้เกียจ

ตอนนี้ถ้าผมจะให้ ผมจะประเมินก่อนเลยว่าเขาพึ่งตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเขาพึ่งได้ก็จะไม่ให้เขา ควรจะให้โอกาสเขาหาเลี้ยงชีพเอง ส่วนในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินอะไรนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถ้ายังมีชีวิตปกติ มีลมหายใจปกติ มันก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ทั้งคนทั้งสัตว์นั่นแหละ

ไปให้ทานเขามั่ว ๆ ซั่ว ๆ ทั้งคนทั้งสัตว์มันก็จะไม่ยอมหากินเอง มันจะรอแต่อาหาร สุดท้ายมันก็ขี้เกียจ ไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีอาหารมาให้ ถ้าไม่ได้ก็จะหาวิธีให้ได้มา แต่จะไม่พยายามสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจของตัวเอง

แน่นอนว่าทุกการให้มีผล คนที่คิดว่าการให้ไหน ๆ ก็ดีหมด ให้ศึกษาผลกระทบเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าต้องรับวิบากอะไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นั่นแหละคือผลจากการให้ของคนดี ที่ไม่คิดดี ๆ นั่นจึงเป็นการให้ที่เลว

การสนับสนุนคนเห็นผิด

ได้อ่านข่าวที่พระทำขนมปังขาย แล้วก็เห็นว่ามีทั้งกระแสที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยก็คิดว่าดีเป็นประโยชน์ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็เพราะว่าสิ่งนั้นไม่สมควรทำ

ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมก็คงคิดว่าอย่างน้อยท่านก็คิดจะทำสิ่งที่ดี เราก็เอื้อ ๆ กันไปบ้าง แต่หลังจากที่ได้ศึกษาอนุตตริยสูตร จึงพบว่านั่นคือ “การร่วมนรก” ดี ๆ นี่เอง

ข้อหนึ่งในอนุตตริยสูตร คือปาริจริยานุตริยะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบำรุงคนไม่ว่าจะฆราวาสหรือนักบวชที่เห็นผิด ยังไม่มีความเห็นถูกตรง เป็นคนทุศีล ไม่มีศีล ไม่มีวินัย นั้นมีอยู่ แต่เป็นการบำรุงที่ “เลว

ท่านเน้นคำว่า “เลว” เลยนะ ไม่ใช่ “เออ อย่างน้อยเขาก็ทำดีนะ” คือถ้าเขาทำผิดแล้วเราไปสนับสนุนเนี่ย เรียกว่าการบำรุงที่เลว คือเรานี่แหละ ไปสนับสนุนให้เขาเห็นผิด ให้เขาคิดผิด ให้เขาทำผิดต่อไปเรื่อย ๆ

ยิ่งพวกนักบวชที่ใช้ผ้าเหลืองแสวงหาโลกธรรมนะ จะได้มีเงินมาก ๆ มีบริวารมาก มีตำแหน่งสูง มีชื่อเสียงมากมาย มีปัจจัย 4 ที่ยิ่งใหญ่มากมายกินใช้ไม่มีวันหมด …

แม้แต่ท่านที่ใช้บารมีของผ้าเหลืองในการไปสร้างคุณงามความดีแบบโลก ๆ ให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่ไม่ได้มุ่งขัดเกลากิเลสในตน ให้เป็นไปสู่ความมักน้อย ละโลภ โกรธ หลง อันนี้มันก็ผิด แม้คนเขาจะ “สาธุ” กันมาก แต่มันก็ผิด

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า การบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า(พระอริยะเท่านั้น ไม่ใช่พระทั่วไป) นั้นเป็นการบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย

ผมนี่ซึ้งใจเลยนะว่า แต่ก่อนที่เราเคยบำรุงคนนั้นคนนี้ นั่นคือการบำรุงที่เลว แม้ภาพรวม ๆ เขาจะดูดี แต่ก็ยังเลว เพราะเขายังไม่มีอริยะคุณ เขายังลดกิเลสไม่เป็น บำรุงไปทุกบาททุกสตางค์ ทุกแรงกายแรงใจ นั้นจะไปเป็นส่วนเพิ่มกิเลสเขาทั้งหมด

ดังนั้น ไม่ว่าจะขนมปังพระทำ หรือบริจาคให้พระไปทำนู่นทำนี่ แม้จะดูดีเป็นสาธารณะประโยชน์แค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าผมประเมินดูดีแล้วว่าตัวบุคคลนั้นยังไม่มีคุณอันสมควร ผมก็จะไม่บำรุง ไม่ร่วมสังฆกรรม ยกเว้นจะอนุโลมในบางกรณีเท่านั้น