การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ธรรมชาตินั้นคือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้กับธรรมชาติคือการเรียนรู้และรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงแห่งความจริง ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

ผมเองเป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก จริงๆจะบอกว่าชอบปลูกต้นไม้มันก็ไม่ตรงเสียทีเดียว ต้องบอกว่าผมชอบมองอะไรที่มันเติบโตมากกว่า นอกจากต้นไม้แล้ว ยังจะมีอะไรที่เติบโตอย่างที่เราสามารถดูได้ทุกวันได้อีก หลายคนอาจจะบอกว่ามีสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมวนั่นไง แต่ผมก็ต้องตอบว่าบทมันก็ต่างไปจากปลูกต้นไม้ เพราะการดูแลสัตว์เลี้ยงกับการดูแลต้นไม้นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก และสุดท้ายผมก็เลือกมองการเติบโตของต้นไม้มากกว่า

การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ต้นไม้นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมชาติ สัตว์ก็กินพืช คนก็กินพืช แล้วพืชกินอะไร? แสง น้ำ ความชื้น อากาศ ธรรมชาติของพืชเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป พืชในธรรมชาติอย่างป่า ภูเขานั้น มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงที่เป็นวัฏจักรและเกื้อหนุนกันระหว่างสิ่งมีชีิวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

การกำเนิดกับการเปลี่ยนแปลง

ผมเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างจากพืช หรือต้นไม้ ภาพที่ติดตาอยู่ตั้งแต่สมัยเด็กคือเมล็ดข้าวโพดที่ซื้อมาจากห้างแห่งหนึ่ง อยู่ในซองผักทั่วไป ผมเพาะลงที่หน้าบ้านเล็กๆ หยอดเป็นหลุม ไม่กี่วันต่อมา ต้นข้าวโพดน้อยๆทำให้ผมประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับขนาดของมัน ต้นข้าวโพดโตเร็วมากๆ แต่สุดท้ายความทรงจำก็จบลงแค่นั้น และมันคงไม่ได้โตต่อด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเติบโต

ในระหว่างที่มีการเติบโต ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเกิดขึ้น ผมเรียนรู้ได้จากไม้ประดับเช่น กระบองเพชร หรือบอนสีที่ผมเลี้ยง ทุกๆขั้นตอนของการเติบโต มีจังหวะ มีปัจจัย มีฤดู และมีสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้ต้นหนึ่ง ลองนึกดูว่าไม้ประดับเช่นกล้วยไม้ กว่าจะได้ดอกงามๆ ต้องให้สารเคมีกี่ชนิดกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเกิดจากมือของเราก็ได้ หรือจากธรรมชาติก็ได้เหมือนกัน

ผมสังเกตุว่าต้นไม้เองก็มีวัย เหมือนกับวัยของคนเรานี่แหละ วัยต้นกล้า วัยรุ่นของต้นไม้ วัยสืบพันธุ์ หรือต้นไม้ยืนต้นก็จะดำรงชีวิตไปเรื่อยๆจนกว่าจะอ่อนแอและตายไป

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ซากบนพื้นดิน

หลายครั้งที่ผมได้เห็นการตาย หรือการหยุดการเจริญเติบโตอย่างถาวรของต้นไม้ ผมเองเคยคิดว่าผมชอบการเติบโต แต่พอมามองการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายของต้นไม้แล้ว ผมกลับค้นพบเรื่องใหม่ที่ตัวเองไม่รู้ ซึ่งซ่อนอยู่ในใจของผมเอง ผมสนใจการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตายนี้ด้วย

สรุปแล้วจริงๆ ผมเองคงจะชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรียกว่าชอบคงไม่ถูกตรงประเด็นนัก อาจจะเรียกได้ว่า ผมมักจะได้เรียนรู้จากการสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไม่ว่าจะร้ายหรือดี หรือจริงๆแล้ว คำว่าร้ายและดีนั้น คนเราคงตัดสินเอาเองตามผลประโยชน์ของตนมากกว่า บางทีการจากไปของบางสิ่งก็อาจจะดีก็ได้ บางทีการเกิดของอีกสิ่งก็อาจจะไม่ดีก็ได้ใครจะรู้ เพราะมันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละคนจริงๆ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนทีไ่ด้ประโยชน์ก็จะสนับสนุน คนที่เสียประโยชน์ก็จะต่อต้าน ซึ่งก็จะมีผลที่ตามมาอย่างแน่นอน ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ธรรมชาติเสียประโยชน์ล่ะ ผลที่ตามมาคืออะไร?

สวัสดี

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

หลังจากที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนาคุณธรรมใน กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา แล้วกลับมาก็อยากจะมาเล่าให้อ่านกันว่าผมได้พบเจออะไรมาบ้าง

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม
วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

ชาวนาคุณธรรมนั้นต่างจากชาวนาทั่วไปอย่างไร?

คำถามนี้อาจจะดูงงๆและไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเราลองปรับตัวโจทย์ดูสักนิดอาจจะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้มากขึ้นว่า ความแตกต่างระหว่างชาวนาคุณธรรมและชาวนาทั่วไปนั้นมีผลอย่างไรต่อสังคมและโลกบ้าง

ตัวอย่างเช่น…

บริษัท A ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยสารเคมีลงสู่ชุมชน พนักงานไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม รายได้ทั้งหมดหายไปกับนักลงทุน

บริษัท B ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ มีกรรมวิธีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ใส่ใจและสร้างศีลธรรมให้กับพนักงาน ครอบครัว และชุมชนรอบข้าง รายได้ทั้งหมดนำมากระจายสู่ชุมชน

เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้อาจจะเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราจะกลับมาที่ภาพเล็กกันอีกครั้ง

บริษัท A หรือชาวนาเคมี ทำนาโดยใช้สารเคมีเป็นพิษทั้งคนทำและคนกิน รายได้ไปตกอยู่กับพ่อค้าปุ๋ย โรงสี พ่อค้าคนกลาง ฯลฯ ชีวิตเครียด จน กินเหล้า ติดพนันหวังพึ่งดวง

บริษัท B หรือชาวนาคุณธรรม ทำนาโดยใช้เกษตรอินทรีย์ มีวิถีแห่งชาวนาคุณธรรม รับผิดชอบสังคมไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการขายที่สูงกว่า แต่รายได้ทั้งหมดกลับมาจุนเจือตัวชาวนาและสังคมรอบๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างดังนี้ก็จะสามารถอธิบายได้ง่ายขึ้นว่าวิถีแห่งชาวนาคุณธรรมต่างจากชาวนาเคมี หรือชาวนาอินทรีย์อย่างไร ซึ่งเมื่อเรามองที่ปลายทาง ผลสุดท้ายเราก็จะพบว่าชาวนาที่ดำเนินวิถีที่ต่างกันย่อมได้รับผลต่างกัน

ซึ่งแล้วแต่เราจะเลือกว่าจะสนับสนุนเส้นทางไหน สังคมจะไปในทิศทางไหนนั้นน้อยคนนักจะเลือกด้วยตัวเองได้ ชาวนาก็เหมือนกัน บางครั้งหรือหลายครั้งทำไปเพราะความจำเป็น ทำไปเพราะไม่รุ้ ทำไปเพราะต้องดำรงอยู่ ทางเลือกมีไม่มากนัก หากสังคมช่วยกันชี้ช่องทางและเอื้อเฟื้อแก่ชาวนาที่ยังหลงทาง ก็อาจจะทำให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนมามุ่งสู่วิถีแห่งชาวนาคุณธรรมได้

เมื่อมีชาวนาคุณธรรมมาก สังคมรอบๆก็จะมีคุณธรรมเกิดขึ้นตามหลักการแพร่ของคนดี คนดีก็จะชวนกันให้ทำสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปเองโดยอัตโนมัติ อ่านมาจนถึงขนาดนี้คุณคิดว่าผมมีเหตุผลมากพอที่จะสนับสนุนชาวนาคุณธรรมหรือยัง?

สวัสดี