แขกที่มาร่วมงาน กับลูกหลาน

ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าจะแยกลูกหลานแท้ ๆ ออกจากแขกได้อย่างไร ก็คือแยกโดยลูกหลานนี่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพ ร่วมจัดงาน ร่วมบริการ ลงทุนลงแรงอะไรก็ว่ากันไป

เช่น ถ้ามีงานศพของญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพ ลูกหลานนี่แหละจะไปช่วยงานเป็นประจำ ส่วนแขกนี่เขามาฟังสวด มากราบศพ มาเผาแล้วเขาก็กลับไป แต่ลูกหลานนี่อยู่ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน ช่วยงานกันไปโดยมีจิตรวมเป็นหนึ่งเดียว คือทำเพื่อญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพหรือเพื่อคนที่เรารัก

เมื่อโยงเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผมได้เห็นภาพลูกหลานมากมายที่ออกมาช่วยงานต่าง ๆ ทั้งเปิดโรงทาน เก็บขยะ บริการรับส่ง ให้สอบถามข้อมูล ทำของชำร่วย ฯลฯ ผมคิดว่านี่คือจิตของคนที่เป็นลูกหลานที่แท้จริงที่อยากทำเพื่อคนที่ตนเคารพรัก

ส่วนแขกเขามาแล้วเขาก็ไป แม้เขาจะเสียใจที่เสียบุคคลอันทรงคุณค่ายิ่งไป แต่เขาก็แค่เสียใจ แค่ระลึกถึง อย่างเก่งก็ช่วยร่วมทุน ลงทุน แต่ไม่ลงแรง ไม่เอาตัวมาลง ไม่เอาตัวเข้ามาคลุก เพราะเขาเป็นเพียงแขก มีจิตที่กำหนดตำแหน่งตัวเองไว้เพียงเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไรมากกว่านั้น

เรื่องนี้พูดกันยาก การจะมีจิตถึงขนาดรู้ว่าตนต้องทำอะไร หรือรู้ว่าตนเป็นลูกหลานนั้น ต้องเกิดจากศรัทธาที่ตั้งมั่น คือต้องเคยสัมผัสสัมพันธ์กันมาแล้วหลายชาติ จนเกิดความรัก ความคุ้นเคย ความกตัญญู จนมีจิตสำนึกว่าเป็นลูกหลาน เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ แม้จะไม่ได้เป็นจริง ๆ ก็ตาม แต่จะมีลักษณะทางนามธรรมที่ชัดเจนจนเกิดเป็นรูปธรรม คือพาตัวเองมาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานนั่นเอง

กาฝากโลกธรรม

ประเด็นการโหนคนดีเพื่อล่าลาภยศสรรเสริญสุขนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เคสคลาสสิกที่สุดคือพระเทวทัตที่บวชมาเพื่อแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากการสร้างสำนักใหม่ ใช้การกลืนกินจากภายใน ห่มผ้าเหลือง ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า สุดท้ายก็เสนอเงื่อนไขแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า

จนมีภิกษุผู้หลงผิดหลายรูปตามพระเทวทัตไปด้วย ลำบากพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปตามกลับ สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ …พระเทวทัตใช้การเกาะพระพุทธเจ้าดัง เพราะว่ามันง่าย มาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า จะพูดอะไรคนเขาก็ชอบ เขาก็ศรัทธา ถ้าไม่ใช่ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าหรือระดับอริยสาวก ไม่มีทางรู้หรอกว่าพระเทวทัตชั่วอย่างไร ปุถุชนก็หลงตามพระเทวทัตกันได้ทั้งนั้น เพราะพระเทวทัตพูดแต่สิ่งที่ดี!

เช่นเดียวกันในสมัยนี้ มีนักบวชที่บวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าหาโลกธรรม มันก็ทำได้ เพราะชาวไทยส่วนใหญ่ศรัทธาพระพุทธเจ้า พอห่มผ้าเหลืองปุ๊ป พอพูดตามพระพุทธเจ้าปั๊ปเขาก็ศรัทธา หลงว่านักบวชนั้นเป็นของจริง ก็แห่ไปเคารพบูชาโดยไม่ตรวจสอบ ไปหลงเคารพศรัทธาเพียงเพราะเขาพูดเรื่อง&พูดตามพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในอดีตเราก็มีบทเรียนกันมาตั้งหลายครั้งว่า นักบวชที่อาศัยผ้าเหลืองหาโลกธรรมก็มีเยอะ สุดท้ายก็ความแตก จับได้สึกไป ยังเสนอหน้าในสังคมก็มี ไอ้ที่เขาจับได้แต่ยังหน้าด้านอยู่ก็มี

นับประสาอะไรกับฆราวาสที่ใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหากิน เอามาสร้างสำนักแสวงหาโลกธรรมให้ตัวเอง ให้ได้ลาภสักการะบริวาร มันมีมากมายอยู่แล้ว ความจริงมันยังไม่เปิดเผยว่าชั่ว คนก็ดูกันไม่ออก ก็แอบเสพกันไป สะสมความชั่วกันไป วันหนึ่งคนเขาจับได้ก็พังกันไป แถกันไป หน้าด้านอยู่กันไป

เช่นเดียวกันกับการเอาความดีของคนอื่นไปหากิน ไม่ต้องถึงระดับพระพุทธเจ้าหรอก เอาแค่ระดับครูบาอาจารย์หรือคนดีที่น่าเคารพบูชาทั้งหลายในสังคม ก็มักจะโดนพวกกาฝากโลกธรรมเข้ามาหาผลประโยชน์ มีทุกกลุ่มคนดีนั่นแหละ ไปตรวจสอบกันดูได้ พวกที่เข้ามาเพื่อมาเอาคุณความดีบางอย่าง บ้างก็แอบเกาะกินไปอย่างนั้น บ้างก็อยากดังเองก็แยกวงออกไป สร้างสำนักของตัวเอง

ก็ดู ๆ กันไป ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ไปหลงชื่นชนคนพาลนี่ฉิบหายยาวเลยนะ ผูกภพผูกชาติไปกับเขาอีกนานเลย ส่วนตัวผมถ้าไม่แน่ใจว่าใครดีจริง ผมไม่รีบตัดสินใจตามนะ มันต้องคบคุ้น ใช้เวลาศึกษากันนาน ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าคนนี้แหละของจริง ผมถึงจะตาม

ไอ้ที่แบบทำดีเอาหน้าล่าโลกธรรมผมก็เห็นมาเยอะ สมัยศึกษาธรรมะแรก ๆ นี่เรียกว่าเมาเลย โอ้โห มีแต่คนดี คนเก่งเต็มไปหมด แต่พอศึกษาไปทำไมมันเริ่มเห็นความชั่ว อ้าวคนนั้นก็ดีไม่แท้ คนโน้นก็ดีไม่แท้ มีแต่ของปลอมทั้งนั้น เอาธรรมะมาหากิน เอามาหาลาภสักการะบริวารทั้งนั้น ดีนะที่ผมไม่หลงตามคนพวกนี้ไปเพียงเพราะเขาพูดธรรมะและสรรเสริญพระพุทธเจ้า …หลงตามพวกกาฝากศาสนาไปนี่ฉิบหายเลย

ศรัทธา?

วันนี้ไปซื้อของที่ตลาดนัดจตุจักร เดินผ่านร้านแสตมป์ เห็นมีชุดรวม 9 รัชกาล ซึ่งราคาก็ไม่ใช่ถูก ๆ ชุดหนึ่งเขาขาย 1,200 บาท

ช่วงนี้คงจะถือเป็นช่วงขาขึ้นของนักเก็งกำไร เพราะเป็นโอกาสที่จะขายของให้กับผู้ที่ศรัทธาได้ง่าย เพราะโดยมากแล้วคนมักจะสนใจเก็บสิ่งที่จับต้องได้เป็นหลัก

ผมจึงอยากเสนอแนะให้ผู้ที่คิดจะเก็บบางสิ่งที่จะใช้ระลึกถึงผู้ที่เคารพรักในช่วงนี้ อย่าไปหลงกลกิเลส อย่าประมาทมัวเมา เพราะถ้าท่านเผลอตัวไป ท่านอาจจะกลายเป็นนักเก็งกำไรอีกคนก็ได้

ถ้าท่านอยากได้รูปที่เป็นกระดาษ ท่านก็ตัดเอาตามหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้ก็ได้ หรือถ้าอยากได้เป็นวัตถุที่มั่นคงแข็งแรง เหรียญ 25 สตางค์ก็เป็นทางเลือกที่ดี

เราไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งที่หายากหรือสวยงาม เพราะคุณค่ามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณค่าแท้จริงคือการระลึกถึงบุคคลที่ควรบูชา ถ้าท่านอยากให้มันแปลกมันสวย ให้มันมีคุณค่าทางการค้า สิ่งที่เกินมาเหล่านั้นคือกิเลสของท่าน

อย่าเอากิเลสมาปนเปื้อนไปกับศรัทธาเลย มันจะทำให้ศรัทธานั้นด่างพร้อย มัวหมอง เสื่อมค่าลงไปตามกิเลสที่ท่านมี

ศรัทธาในส่วนดี เมตตาในส่วนด้อย

ศรัทธา ในส่วนดี เมตตา ในส่วนด้อย” หมอเขียว ใจเพชร กล้าจน

ประโยคเต็มๆนั้นยาวกว่านี้ แต่ผมตัดมาเท่านี้ เพราะผมรู้สึกว่าเพียงแค่เข้าใจความเพียงเท่านี้อย่างแจ่มแจ้งก็จะไม่โกรธและไม่เพ่งโทษใครเลย

ตามความเข้าใจของผม ศรัทธาในส่วนดี คือสภาพที่มีจิตเห็นดีในสิ่งที่เข้าทำดีตามจริง ซึ่งตรงข้ามกับกิเลส “มักขะ” หรือการลบหลู่คุณค่าของคน เพราะโดยมากแล้ว เวลาเราไม่ถูกใจใคร เราก็จะตีทิ้งคุณค่าของเขาทั้งหมด ส่วนมากจะหลงไปเพ่งโทษด้วยซ้ำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้นเพ่งโทษเมื่อไหร่ก็เป็นคนพาลเมื่อนั้น ไม่ว่าเราจะเก่งดีเลิศมากจากไหน แต่ถ้าเราไปตีทิ้งความดีของคนอื่นแล้วล่ะก็ เราก็เสี่ยงจะเข้าสู่ความเสื่อมได้เช่นกัน

ผมเคยมีประโยคหนึ่งขึ้นมาในความคิดหลังจากไปงานคนค้นคนอวอร์ดเมื่อปลายปี 58 ว่า “สิ่งที่เขาเป็น กับความดีที่เขาทำ มันคนละเรื่องกัน” มันก็เป็นปํญญาน้อยๆ ที่เกิดขึ้นว่าเราจะไม่เหมาเข่งตีทิ้งความดีของใครๆ

เมตตาในส่วนด้อย อันนี้เข้าใจเผินๆ ก็ไม่ยาก แต่ก็ทำได้ยากยิ่งเช่นกัน เพราะโดยธรรมชาติของกิเลสแล้วเวลาเราเจอคนที่เราเข้าใจว่าเขาด้อยกว่า ก็มักจะมีอาการข่ม ดูหมิ่นเขา ฯลฯ เช่นพอเห็นเขาทำเรื่องชั่ว ที่ไม่ถูกใจเรา เราก็ซัดเขาด้วยมาตรฐานความดีของเราซะเต็มที่เลย พอเขาไม่ดีได้อย่างใจเรา กิเลสมันก็โต เป็นโกรธ อาฆาต ผูกโกรธ ฯลฯ ไปเรื่อย ๆ ได้เหมือนกัน

จริงๆ ที่เมตตามันไม่เกิดเพราะไม่เข้าใจความจริงแหละนะ เพราะยึดติดกับความดีตามมาตราฐานของฉัน มันก็เลยอนุโลมไปเข้าใจคนนั้นคนนี้เขาไม่ได้

อยู่ ๆ ก็นึกได้ เลยบันทึกตามที่นึกถึงไว้เท่านี้..

บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

ปลูกป่าลุยนา

เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา  ซึ่งจัดโดยทีวีบูรพา อีกครั้งหลังจากไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมแบบเดินทางไปต่างจังหวัดมานาน

สำหรับกิจกรรมในตอนนี้ก็มีชื่อว่า “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ครับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดมาหลายครั้งแล้ว แต่ผมเองก็ไม่ว่างไปสักทีเพราะว่าส่วนใหญ่มักจะชนกับกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย ไม่ก็ติดสอบก็เลยไปไม่ได้สักที

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา
เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา

มาคราวนี้มีโอกาสได้ไปแล้ว ก็ยินดีมากๆสำหรับการได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ สำหรับรูปก็สามารถหาชมได้ในเฟสบุคของ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ได้เลยครับ หรือกดลิงก์ จากรูปภาพด้านบนได้ครับ

สำหรับตอนนี้ก็จะมาเขียนหัวเรื่องทิ้งไว้ก่อนเพราะว่า จากที่คิดๆแล้วน่าจะมีหลายประเด็นหลายตอนที่ผมเก็บเกี่ยวมาได้ซึ่งมีส่วนหนึ่งหรือหลายๆส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับการที่ผมได้ไปศึกษาจาก สวนลุงนิล จากกิจกรรม ฅนคอเดียวกันสัญจร วิถีแห่งความพอเพียง กับ ลุงนิลคนของความสุข ที่ผมได้เคยไปมาเมื่อ 3 ปีก่อน สำหรับบทความของกิจกรรมคราวนี้ขอเวลาสักครู่ใหญ่ๆในการเรียบเรียงทุกอย่างออกมานะครับ

ยังไงก็อยากจะฝากบทความเก่าๆ ซึ่งผมได้พิมพ์ประสบการณ์และเรื่องราวที่เก็บเกี่ยวไว้ได้จากสวนลุงนิล ในบทความ : วิถีแห่งความพอเพียง กับ ลุงนิลคนของความสุข ด้วยครับ