ฝากชีวิตไว้กับ “รัก”

คงจะมีคนหลายคนในโลกนี้ที่ฝากชีวิต ฝากอนาคตไว้กับความรัก คนรัก ครอบครัวที่รัก แต่เมื่อวันหนึ่งที่ที่เขาฝากฝังไว้พังทลาย น้อยคนนักที่จะยังคงดำเนินชีวิตไปในเส้นทางแห่งความดีงามได้

ได้อ่านข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในชีวิตรักมาก็มาก เหตุนั้นก็ไม่ได้มาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเหล่านั้นลงทุนผิด เอาสิ่งสำคัญไปฝากฝังไว้กับอะไรที่มันพึ่งพาไม่ได้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฝากไว้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่มีจริง(ไม่สามารถคงสภาพนั้น ๆ ได้เที่ยงแท้ถาวร) เขาเหล่านั้นก็ย่อมได้รับทุกข์เป็นธรรมดา ส่วนจะทนทุกข์ได้ถึงขนาดไหน จะหลงผิดไปยังไงก็แล้วแต่บุญกุศลของแต่ละคน

เวลาเราสวดมนต์(พุทธ) เราก็มักจะสวดบทไตรสรณคมน์ “พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ …” คือให้ชาวพุทธระลึกว่า ให้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเบื้องต้นแม้จิตยังไม่รู้จักวิธีการพึ่งพาอาศัยสามสิ่งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ยังมีผลให้เพิ่มความตระหนักว่าเราควรพึ่งสามสิ่งนี้นี่แหละ ชีวิตจึงจะพ้นทุกข์ไปสู่ความผาสุก

ยกตัวอย่างคนที่เขาศึกษาธรรมมาประมาณหนึ่ง ได้พบครูบาอาจารย์ ได้พบหมู่มิตรดีที่พากันปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เขากลับเลือกไปพึ่งสามี ภรรยา คือเข้าใจว่าชีวิตจะมั่นคงด้วยการมีคู่ มีลูกหลาน ฯลฯ เขาก็เลือกไปด้วยความหลงของเขา หลงไปยึดเอาสิ่งที่มันไม่เที่ยง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอยิ่งยึดในโลกีย์มันก็ยิ่งจะห่างจากธรรม

คนเรามีอยู่แค่สองเท้า ก็ยืนได้ในพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับจิตถ้าหลงไปยึดสิ่งใดแล้ว ย่อมพรากจากสิ่งอื่นโดยธรรมชาติ เช่นหลงยึดเอาอธรรม ก็ย่อมห่างไกลจากธรรม สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฎฐิไม่รวมอยู่ที่เดียวกัน(ภพในจิต) ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นยึดเอาคู่ครองครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิต ก็ย่อมจะพรากห่างจากพุทธธรรมสงฆ์เป็นธรรมดา

เพราะแทนที่จะใช้เวลาในชีวิตไปคิดว่าต้องทำอย่างไรเราจึงจะเจริญได้มากกว่านี้ จะลดโลภ โกรธ หลง ได้ยิ่งกว่านี้ ก็ต้องเอาเวลาไปเสียกับการสังเคราะห์ปัญหาหรือไม่ก็บำเรอกิเลสคนในครอบครัว วันนี้จะพากันไปกินอะไร จะไปเที่ยวกันที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะวางแผนครอบครัวยังไง สรุปแม้จะดูเหมือนนับถือศาสนา แต่กิเลสเอาเวลาไปกินหมด เวลา ทุนทรัพย์ แรงกายแรงใจ จ่ายให้กับที่พึ่งอันโยกเยกคลอนแคลนเหมือนกับไม้ผุปักเลน

พอวันหนึ่งที่พึ่งเหล่านั้นพังไปด้วยเหตุดังเช่นว่า คู่ครองนอกใจ คู่ครองตาย คู่ครองติดอบายมุข เป็นนักเลง ติดพนัน ติดยา ขี้เกียจ นิสัยชั่วร้าย ฯลฯ คือสภาพที่เคยคิดว่าดี มันเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายชีวิตก็จะพังตามไปด้วยตามน้ำหนักของการยึดสิ่งนั้น ๆ

บางคนยึดไว้แต่คู่ครองครอบครัว ไม่มีสิ่งอื่น พอมันพังไปชีวิตก็จบสิ้นไปด้วย บางคนยึดคู่ครองครอบครัวไว้ส่วนหนึ่ง แต่อีกขายังพยายามมายึดธรรมบ้าง ก็ยังถือว่าเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาที่ผ่านไป อาจจะทำให้ห่างธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วหลงเข้าใจไปเองว่าตัวเองยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง สุดท้ายต่อไม่ติด เข้าไม่ถึงธรรม ชีวิตก็อาจจะพังได้ (ทุกข์แสนสาหัส)

ส่วนคนที่ยึดพุทธธรรมสงฆ์ไว้อาศัย ก็ไม่ต้องลำบากเมื่อคู่ครองครอบครัว เปลี่ยนแปลง แตกหัก พังทลาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งแท้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นยึดไว้ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่สาระแท้ในชีวิต ก็สักแต่ว่าอาศัย ถึงมีอยู่ก็เอื้อให้เกิดกุศล จากไปก็แค่หมดภาระหน้าที่ในบทบาทนั้น ๆ ก็มีแต่อาการเบาลง ไม่เศร้า ไม่อาลัย ไม่เหมือนกับคนที่ยึดคู่ครอง พอคู่ครองครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจจะทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

นี่คือความต่างของการพึ่งพาอาศัยในสิ่งใด ๆ ชีวิตต้องการความผาสุกที่มั่นคง ดังนั้นเราก็ควรเลือก ที่พึ่งทางใจที่มั่นคงด้วย อย่าเอาไปฝากไว้กับ แฟน สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความมั่นคงใด ๆ เลย

ขึ้นอยู่กับวิธีใช้…

ผมสงสัยมานาน เวลาเห็นคนเขาตัดกระถิน ตัดกิ่งไม้แถวบ้าน เขาก็ใช้มีดตัดอ้อยธรรมดา ๆ นั่นแหละ ตัดทีเดียวขาด แต่ผมลองใช้ที่ผมมี ก็ตัดไม่ขาดแบบเขา ก็เลยไปหาซื้อมาเพิ่ม หนักบ้าง แพงบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้ดีขึ้น

ช่วงนี้มีโอกาสได้ลองใช้มีดตัดอ้อยของชาวบ้าน ก็พบว่า ปัญหามันไม่ใช่มีด ปัญหาคือวิธีใช้ของผมเอง มันมีจังหวะ มีน้ำหนัก การฟันที่ยังไม่เหมาะ ยังไม่ถูกหลักที่จะตัดให้ได้ตามเขา ผมก็เลยเอามีดเขาไปลองฝึกฟันจนเริ่มเข้าใจ ว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันต้องใช้จังหวะแบบนี้

…จริง ๆ ธรรมะก็คล้าย ๆ กันนะ ผมก็เคยเห็นคนที่เขาเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าบ้าง ของครูบาอาจารย์บ้าง เอามาใช้ แต่มันก็ทื่อ ๆ ไง คือฟังแล้วแข็งมาก พอเข้าใจเรื่องมีดตัดอ้อยมันก็เข้าใจขึ้น คือเขาจำ ๆ มาใช้ เขาหยิบมาใช้เลย เขาไม่รู้วิธี ไม่รู้จังหวะ ไม่รู้กระบวนการ

เหมือนกับครูบาอาจารย์ท่านใช้ขวานเหล็ก แล้วก็วางไว้ ทีนี้ลูกศิษย์ก็ไปหยิบมาใช้ แต่ลูกศิษย์นี่เหมือนเด็กอนุบาล แล้วไปหยิบขวานของผู้ใหญ่มาใช้ คือมันก็ใช้ได้ไปตามที่มันเป็นละนะ หรือจะเรียกว่าได้ใช้ก็ว่าได้ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมันไม่เท่ากัน คือภาพมันก็ทุลักทุเล แข็ง ไม่คม ผลคือตัดไม่ได้ ดีไม่ดีสับเอาขาตัวเองเข้าไปอีก

ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยได้เอาของครูบาอาจารย์มาใช้สักเท่าไรนัก จะปรุงใหม่มากกว่า เปรียบเช่น ถ้าท่านใช้ขวาน ผมก็ศึกษาแล้วเอามาตีขวานเล็กของผมเอง เอาให้มันสมฐานะ ให้สมแรง ไม่เกินแรง ถ้าเกินแรงมันฟาดไม่ไหว แถมมันไม่ใช่ธรรมที่เรามีในตนด้วย ไอ้การจะพูดสิ่งที่จำ ๆ มานี่บางทีมันก็เสี่ยงเข้าตัวเหมือนกัน จะพูดต้องตั้งสติและอ้างอิงด้วย ไม่งั้นพูดสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ได้แต่จำมา คนเขาเห็นท่า จะเหมือนเด็กอนุบาลถือขวานใหญ่เอา สภาพมันก็คงดูน่าเมตตามากกว่าน่าศรัทธานะ

ผมเชื่อว่ายุคนี้ต้องประมาณมาก มันไม่ mass ขนาดที่ว่าเอาธรรมะชุดหนึ่ง ประโยคหนึ่ง คำหนึ่งปล่อยออกไปแล้วมันจะได้ผลหรอก มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่แม่นเท่าธรรมที่ประมาณแล้วได้แสดงออกไป

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าผมฝึกประมาณธรรมไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นเหมือนการฝึกใช้มีดตัดอ้อยนั่นเอง

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้หรือฟังอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงโอกาสในการที่เราจะฉลาดขึ้น มีปัญญามากขึ้น รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่การจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะมีอัตตายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ได้รู้มา และไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วได้ เมื่อเป็นดังนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความไม่คุ้นชิน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปให้กับกับอัตตา หรือที่เรียกว่า เพ่งโทษฟังธรรม นั่นเอง เป็นอย่างไรก็ลองมาอ่านกันดูถึงโทษภัยของการฟังอย่างเพ่งโทษและคอยจับผิด

อ่านต่อได้ที่บทความ : เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat