[4] เก็บเศษไม้ ทำเชื้อเพลิง ทดแทนถ่าน

diary-0004-เก็บเศษไม้ทำเชื้อเพลง-*

4. เก็บเศษไม้ ทำเชื้อเพลิง ทดแทนถ่าน

ช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่ที่นี่นั้น ผมจะใช้ถ่านเป็นหลักของเชื้อเพลิงในการทำอาหาร

แต่การได้มาซึ่งถ่านนั้นก็ยากเย็น ต้องขับรถออกไปซื้อจากชาวบ้าน แม้จะมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับที่กรุงเทพฯ คือกระสอบละ 130-150 บาท แต่ก็ยังเป็นความไม่สะดวกในการจัดหาอยู่ดี

ต่อมา ผมเริ่มใช้กิ่งไม้เข้ามาเพื่อช่วยลดภาระ จนในที่สุดผมแทบจะไม่ได้ใช้ถ่านที่ซื้อมาเลย เรียกว่าแค่กิ่งไม้ที่มีในพื้นที่ก็ใช้กันไม่ทันเลยทีเดียว

ซึ่งตรงจุดนี้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากจากการซื้อถ่านได้ แต่การมีถ่านสำรองไว้นั้นก็สามารถช่วยได้ในหลาย ๆ กรณีเช่น ไม่มีเวลาจัดหาฟืน ป่วย หรือทำอาหารประเภทเผา ย่าง ปิ้ง ควรจะใช้ถ่านมากกว่า เพราะฟืนจะมีควันค่อนข้างมาก ไม่เหมาะที่จะใช้กับอาหารที่ต้องกระทบกับความร้อนโดยไม่ผ่านเครื่องครัว

ถ้าเราไม่ต้องการซื้อถ่าน เราก็สามารถจะเผาถ่านเก็บไว้เองได้ แต่ในการเผาถ่านนี้ผมยังไม่ได้ทดลอง และหากไม่เผาถ่านก็สามารถจัดหาไม้มาตัดเป็นท่อน ๆ เตรียมสำรองไว้ได้เช่นกัน

เมล็ดข้าวโพด

เมล็ดข้าวโพด

เมล็ดข้าวโพด

ปลูกข้าวโพดไว้ตั้งแต่สามเดือนก่อน แบบว่าปลูกเล่น ๆ ที่เหลือ พอมาถึงคราวนี้ตอนแรกนึกว่าตายหมด เพราะหญ้าโตคลุมสูงกว่าต้นข้าวโพดอีก

แต่พอลองแหวก ๆ หญ้าดูก็เห็นต้นข้าวโพด เห็นฝักข้าวโพดเลยปลิดออกมา

ข้าวโพดที่ปลูกนั้นจำได้ว่ามีสองพันธุ์ ที่แน่ ๆ คือข้าวโพดข้าวเหนียว ส่วนอีกพันธุ์น่าจะเป็นข้าวโพดป๊อปคอน แต่มันก็จำได้ไม่แน่ว่าอาจจะมีพันธุ์อื่นมาผสม ๆ ตอนปลูกก็ได้ เพราะถ้าต้นไหนตาย เราก็ลงเมล็ดไปเสริม

ทีนี้เท่าที่เห็นมันได้เมล็ดมาสามแบบ ฝักล่างนี่ข้าวโพดข้าวเหนียวแน่ ๆ กลางนี่ไม่แน่ใจ เหมือนข้าวโพดบ้าน ๆ ทั่วไป แต่บนสุดนี่ไม่คุ้นเลย ฝักก็สีม่วง ก้านก็สีม่วง ถ้าเมล็ดม่วงก็คงจะพอเดาได้ แต่เมล็ดดันเหลือง เดี๋ยวจะลองปลูกในรอบหน้า ตอนนี้แยกถุงและจดลักษณะไว้แล้ว

[3] ถางหญ้า ได้ออกกำลัง ได้หญ้าคลุมดิน

diary-0003-ถางหญ้าได้ออกกำลัง

3. ถางหญ้า ได้ออกกำลัง ได้หญ้าคลุมดิน

หลังจากที่มาได้ไม่กี่วัน งานแรกที่ทำก็คือถางหญ้า เพื่อที่จะปลูกผัก

ในวันวันหนึ่งผมถางหญ้าได้ค่อนข้างเยอะ แต่จะไปเสียเวลากับการเตรียมแปลงผักมากกว่า เพราะต้องทำให้ดี ปลูกทีหนึ่งใช้ไปเป็นเดือน ไม่ก็หลายเดือน

ถางหญ้านี่ใช้เคียว จะไวมาก แต่ต้องระวัง ต้องมีสติ ไม่รีบ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำไป เพราะถ้าโดนเคียวเกี่ยวทีก็คงจะเย็บกันหลายเข็มและหยุดงานไปอีกหลายวัน

หญ้าที่เกี่ยวมาได้ก็เอาไว้ยัดข้างแปลงผัก ทำเป็นร่องไว้ ตรงกลางเป็นดินพูน ๆ รอบ ๆ ก็เป็นร่องไว้ยัดหญ้า ฟาง ฯลฯ

จากที่ทดสอบมาก็ได้ผลดี คือเป็นอาณาเขตป้องกันหญ้าขึ้น ทั้งยังย่อยเป็นปุ๋ยให้ดินด้วย ที่สำคัญคือได้ใช้หญ้าให้เป็นประโยชน์ไม่มีอะไรเหลือทิ้งเลย

เกี่ยวหญ้านี่เป็นงานที่ทำได้ทั้งวัน ทำได้ไม่หยุด เพราะกินแรงไม่มาก แต่กินเรื่อย ๆ ต้องขยันดื่มน้ำหน่อย เพราะจะเสียน้ำไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะตอนทำงานกลางแดด

กระถินคลุมดิน

กระถินคลุมดิน

กระถินคลุมดิน

กระถินเป็นพืชที่โตเร็วมาก ตอนผมมาอยู่ที่นี่แรก ๆ ไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี เลยได้แต่ตัดไปทิ้ง

ต่อมารู้ว่าใบมันก็เอามาปรุงดินได้ดีก็เอามาวางกอง ๆ ไว้บนแปลงผัก รอให้มันแห้ง แล้วค่อยสบัด ๆ ให้ใบมันร่วงลงบนแปลงผัก

ล่าสุดใช้วิธีหักกิ่งกระถินมาแล้วรูดก้านลงไปเลย ถ้าสด ๆ จะรูดได้ง่าย ถือเป็นงานที่เอาไว้พักจากงานหนัก ๆ เช่นงานขุด งานตัด ฯลฯ

แถวบ้านจะมีชาวบ้านมาตัดกระถินไปให้แพะกิน แสดงว่ามันมีคุณค่าทางอาหารมาก ถ้าเอามาใส่ดินไปเรื่อย ๆ ผักที่ปลูกคงจะงาม

[2] พัดลมตัวแรก หลังจากผ่านมา 200 กว่าวัน

diary-0002-พัดลมตัวแรก

2. พัดลมตัวแรก หลังจากผ่านมา 200 กว่าวัน

พัดลมอันนี้เป็นพัดลม usb ซึ่งเหมาะกับที่บ้านนี้ใช้ไฟ 12v จากชุดโซล่าเซลล์ (เอามาแปลงเป็น usb ด้วยที่ชาร์จในรถ)

ตอนที่มาพัฒนาที่นี่แรก ๆ ผมเช่าบ้านเขาอยู่กว่าร้อยวัน ก็มีพัดลมให้ใช้ เพราะมีไฟฟ้าตามปกติ แต่พอบ้านที่สวนสร้างเสร็จ ก็ย้ายมาอยู่แบบไม่มีไฟฟ้า ต่อมามีโซล่าเซลล์ก็ยังไม่ได้ซื้อพัดลม

ก็อยู่แบบธรรมชาติมา 200 กว่าวัน ร้อนเย็นกันไปตามธรรมชาติ ก็มีลำบากนิดหน่อยตอนเย็นที่เลิกงานแล้วอาบน้ำเข้าห้อง คือมันมีความร้อนสะสมในร่างกาย อาบน้ำแล้วก็ยังเหงื่อออก พัดลมตัวนี้ก็เข้ามาช่วยตรงนี้ได้บ้าง

พัดลมตัวนี้ก็ไม่ได้ซื้อหรอก พอดีว่าแม่ซื้อมือถือใหม่ แล้วเขาแถมมาในชุดน่ะนะ เลยขอมาใช้

ผัดมะเขือยาว กับเห็ดชิเมจิ

ผัดมะเขือยาวกับเห็ดชิเมจิ

ผัดมะเขือยาว กับเห็ดชิเมจิ

เห็นเห็ดชิเมจิ ลดราคาอยู่ในห้าง เหลือ 12 บาท ทุกทีจำได้ว่า 20 กว่าบาทนะ คราวนี้ถูกจัง เลยหยิบมาแพคหนึ่ง

เอามาผัดกับมะเขือยาว ใส่น้ำมันนิดหน่อย ปรุงด้วยเกลือ กับน้ำตาลนิด ๆ ใส่อ่อมแซ่บป่า เข้าไปอีกหน่อย กะทะนี้เป็นกับข้าวมื้อแรกที่กินในครั้งนี้ แล้วก็เติมถั่วต้มอีกนิดหน่อย อยู่ได้ทั้งวัน

ไชยา

ไชยา

ไชยา

กลับมารอบนี้ที่ดูจะเข้าท่าที่สุดก็ไชยานี่แหละ โตพอจะกินได้ น่าจะได้สองมื้อต่อต้นนะ ปลูกเอาไว้ สี่ต้น ต้นนี้งามที่สุด

เดี๋ยวกินเสร็จก็เอาไปปักชำต่อ เห็นมันงามแล้วก็มีกำลังใจจะขยาย เพราะตอนแรกปักเป็นปียังไม่โตเลย ดินที่นี่เป็นดินไร่เก่าที่ถูกใช้อย่างเดียว ไม่ได้บำรุงเลย แถมที่นี่ยังแดดแรง ลมแรง ต้นไม้เลยออกไปทางขาดน้ำกันเยอะ

[1] ผ่านไปเกือบสามเดือน หญ้างามเหลือเกิน

diary-0001-ผ่านไปเกือบสามเดือน

1. ผ่านไปเกือบสามเดือน หญ้างามเหลือเกิน

ไม่ได้มาที่บ้านสวน(ที่ยังไม่เป็นสวนสักที) มาเกือบสามเดือน มาถึงก็พบว่า หญ้ารกมาก บางมุมก็สูงเกือบสองเมตร บังแปลงผักที่ทำไว้มิดเลย ก็ค่อยๆ ทำไป ถือว่าได้ปุ๋ยฟรี

เรื่องเก่า ๆ มีเวลาค่อยย้อนไปเขียนแล้วกันนะ เล่ากันตั้งแต่ปัจจุบันนี่แหละ เป็นไงมาไงก็ติดตามกันไป

วอเตอร์เครสฮาวาย กับการรอคอย

วอเตอร์เครสฮาวาย กับการรอคอย

วอเตอร์เครสฮาวาย กับการรอคอย

ผักที่เห็นในรูปนี้ ได้มาจากสวนของพี่จิตอาสาในเครือข่ายของแพทย์วิถีธรรม เป็นวอเตอร์เครสใบใหญ่ ที่ใบของมันนั้นจะใหญ่เป็นปกติ ซึ่งต่างจากอีกพันธุ์หนึ่งที่ต้องเอาเข้าร่มใบถึงจะใหญ่ แต่ถึงจะเข้าร่มและบำรุงดีแค่ไหนใบก็ไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นนี้ผมปลูกไว้หน้าบ้าน ตากแดด ให้น้ำตามแต่ฝนตก แต่ใบก็ยังใหญ่อย่างที่เห็น

ใบใหญ่แบบนี้กินง่ายกว่าใบเล็ก เรียกว่าเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า ส่วนพวกใบเล็กนี่ก็เอาไปปั่นเป็นน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นไป พอมีใบใหญ่ ก็เลยจะเอาแบบใบใหญ่มากินเป็นผักสดแทน

ผมเคยอยากได้เจ้าวอเตอร์เครสพันธุ์นี้มานาน ซึ่งเคยเห็นจากรูปที่เขาเอามาแบ่งกันดูในกลุ่มเฟสบุค เขาเรียกมันว่า “วอเตอร์เครสฮาวาย” ผมดูจากองค์ประกอบแล้วก็น่าจะเป็นพันธุ์เดียวกับที่มีตอนนี้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ง่ายเลยที่จะดับความอยากได้ลงได้

สมัยก่อนที่ผมเลี้ยงไม้ประดับนี่เรียกว่าอยากได้อะไรก็ต้องพยายามหามาให้ได้ แต่ก็ไม่ได้อยากจนเกินฐานะมากนัก อย่างไม้ประดับในกระถาง 4 นิ้วต้นน้อยๆ เท่ากล่องไม้ขีด จะซื้อในราคา 500 บาทก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยนั้น เรียกว่าอยากได้อะไรก็จะพยายามเสาะหา แสวงหาให้ได้มา แน่นอนว่าไอ้ที่แพงกว่านั้นก็มี แต่โชคยังดีที่ผมยังไม่ได้ถลำลึกไปขนาดนั้น

พอมาเจอวอเตอร์เครสฮาวายนี่ก็อยากได้ พิจารณาประโยชน์ต่าง ๆ ของมันดูแล้ว ไม่ว่ายังไงก็ดีกว่าพันธุ์เดิมที่มี ใบใหญ่กว่าเดิมและดูไม่รกเท่าเดิม ความอยากได้นี่มันก็ทำให้ทุกข์ เพราะอยากได้แต่มันแสวงหาไม่ได้ไง ตอนนั้นมันไม่มีขายอยู่ทั่วไป ในอินเตอร์เน็ตก็ไม่มีขาย มีแต่เขาปลูกกันเองแล้วแบ่ง ๆ กัน ไอ้เราจะไปขอนี่ก็รบกวนเขามากไป เพราะเคยมีประสบการณ์ ขอรับเมล็ด, แลกเปลี่ยนต้นไม้ ทำให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร

ก็เลยเลือกที่จะอดทนรอ รอให้มันมาตามธรรม ให้มันเป็นไปตามเหตุอันสมควร ได้เมื่อควรจะได้เท่านั้น ไม่ไปเร่งรัด ไม่ต้องไปแสวงหา แต่จะแค่คิดเอานี่มันไม่ง่ายนะ ความอยากมันไม่ตายแค่พิจารณากันตื้น ๆ หรือจะใช้ปล่อยวางกันซื่อ ๆ นี่มันเอากิเลสไม่อยู่หรอก

มันต้องพิจารณาโทษของความอยาก ความใจร้อน เร่งผล อยากได้ไว ๆ ฯลฯ ให้มันเห็นความจริงว่า กิเลสของเรานั้นมันไม่งามเพียงใด มันถึงจะจางคลายลงไปได้ อย่างน้อยผมก็ทำให้มันจางลงในระดับที่มันไม่ไปเบียดเบียนใคร และไม่ทำให้ตัวเองต้องทนทุกข์เพราะความอยากนั้น

สุดท้ายก็ยินดีที่จะรอนั่นแหละ ก็รอเป็นปีเหมือนกันนะ พอไม่ได้มีความอยากมันก็ลืม ๆ ไป จนไปเห็นที่สวนของพี่จิตอาสา แต่ก็ไม่ได้วิ่งเข้าไปตะครุบทันทีนะ ก็รู้ว่ามันมีประโยชน์ ถ้าได้มันมาก็จะดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มันยังไม่ถึงรอบของมัน สุดท้ายเขาก็ช่วยตัดมาให้ 5 กิ่งอ้วน ๆ ซึ่งก็ได้เอามาขยายพันธุ์ต่อที่บ้านในที่สุด

ก็ลองกินไปรอบหนึ่ง ตอนนี้ก็ค่อยๆ ขยายพันธุ์อยู่ จากกระถางหนึ่งไปสู่อีกกระถางหนึ่ง พอมันโตเราก็ตัดยอดไปปักชำเพิ่ม ยังไม่รีบกินหรอก กินผักอื่น ๆ ไปก่อน มันมีประโยชน์ก็จริง แต่ก็ต้องใจเย็น ๆ ต้องอดทน ต้องรอ ผมว่าการรอคอยนี่มันงดงามนะ การที่เราใจเย็นอดทนรออะไรได้นี่มันดีมากเลย แม้มันจะอยู่ตรงหน้าแล้วก็อดทนให้มันมาถึงจริง ๆ ไม่รีบวิ่งเข้าไปหามัน เพราะไม่แน่มันอาจจะมาหลอกให้เราอยากเล่นก็ได้ เราอยากเราก็ทุกข์ แล้วเราจะไปเปิดโอกาสให้เราทุกข์ให้มันโง่ทำไม

minimal life (2559)

minimal life (2559)

https://www.facebook.com/minimallife.path/

เป็นการปรับเนื้อหาเพจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นรอบที่สาม จากเริ่มต้นก็มีแต่เรื่องไม้ประดับ แล้วก็ปรับมาเป็นการปลูกพืชผักทั่วไป ในท้ายที่สุดนี้ก็จะปรับให้เข้ากับชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ คือยกสิ่งที่ผมกำลังศึกษามาใส่เลย

สิ่งที่ผมกำลังศึกษานั้นไม่ใช่แค่การปลูกพืชผักให้ได้ผลเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาพฤติกรรมของคนที่พึ่งพาธรรมชาติบนวิถีชีวิตที่ดำเนินไปสู่การกินน้อยใช้น้อยที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นสูงสุด จะเรียกแนวทางการศึกษานี้ว่า “วิถีใจพอ

ซึ่งจะมีลักษณะของการลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไปโดยลำดับ นั่นหมายถึงเนื้อหาที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากการปลูกพืชผักก็คือแนวคิดและการแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตนั่นเอง