หยุดการอัพเดทบล็อกนี้ ติดตามต่อได้ที่…

หลังจากไม่ได้พิมพ์บทความมานาน ก็กลับมาพิมพ์ใหม่ แต่คิดว่าน่าจะเริ่มต้นใหม่ในอีกพื้นที่น่าจะดีกว่า ด้วยระบบก็ตามหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องก็ตามที ทำให้บล็อกแห่งนี้ก็จะหยุดอัพเดทบทความ และย้ายไปเผยแพร่บทความใน [ดิน ชีวิตและการเรียนรู้]

http://din.dinp.org/

ส่งการบ้านวิชชาราม

ช่วงประมาณ 1 ปีมานี้ ไปคลุกอยู่กับสถาบันวิชชาราม ทั้งอาสาในส่วนของงานทั่วไปและในส่วนของนักศึกษาด้วย ซึ่งการศึกษาของสถาบันวิชชารามนี่เขาก็ศึกษาแบบนอกระบบทั่วไป เอาง่าย ๆ ว่าจะสอนให้ล้างกิเลสกันเป็นหลัก ผ่านการงานนั่นแหละ

แล้วในส่วนการบ้านนี่ก็เป็นส่วนสำคัญนะ คือจะว่าการบ้านก็ใช่ เป็นการแบ่งปันก็ใช่ เพราะเขาก็ไม่ได้บังคับให้ทำ ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ผลงานที่ผมได้ส่งไว้ก็มีมากมาย ตอนนี้เขาย้ายส่วนของการบ้านมาใส่ไว้ใน ห้องสมุดนักศึกษาวิชชาราม

ท่านใดสนใจก็กดเข้าไปดูได้ แม้จะไม่ได้มีงานบทความใหม่ ๆ แต่งานการบ้านเยอะมากเลยเชียวล่ะก็ไปติดตามกันดูได้ มีหลายท่านหลายเรื่อง ตั้งใจแบ่งปันความรู้ แบ่งปันประโยชน์กันทั้งนั้น

ตอบปัญหาความรัก ในรายการคลายรักคลายทุกข์

ไม่ได้อัพเดทบทความในบล็อกนี้กันมาก็ได้ จะเล่าอดีตมันก็จะยาว เอาเป็นว่า มาอัพเดทกันเป็นวัน ๆ แล้วกัน

ตอนนี้ไปทำรายการเผยแพร่อยู่ ชื่อ รายการคลายรักคลายทุกข์ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 17 แล้ว ในตอนนี้ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตอบปัญหาความรัก ในเรื่องของความคิดถึง ความหลง และการนอกใจ ใครสนใจก็ติดตามไปชมกัน ตอนเก่าก็ไปตามชม ๆ กันได้ จะติก็ได้เช่นกัน

ไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร?

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วชีวิตมันจะดีขึ้นอย่างไร ในเมื่อความรู้เดิม ๆ ที่เคยได้รับมาเนื้อสัตว์ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งดีเสียด้วยซ้ำ แล้วการเลิกเสพสิ่งที่สังคมเข้าใจว่าดีนั้น มันจะดีได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ที่ผมเคยพิมพ์ผ่านหลาย ๆ บทความมา ก็แจกแจงข้อดีในการเลิกกินเนื้อสัตว์ ข้อเสียในการกินเนื้อสัตว์มาก็มากก็มาย มาวันนี้เรามีเนื้อหาโดยสรุปจากอาจารย์หมอเขียว ให้เข้าใจได้ง่าย กับข้อดีของการเลิกกินเนื้อสัตว์ ที่ดีอย่างยิ่ง 3 ประการ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ลองรับชมกันดูเลย

อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง

ปักชำไผ่ ขุดเหง้าไผ่ ปักลำไผ่

ผมได้เริ่มทดลองขยายพันธุ์ไผ่เอง เพราะรู้สึกว่าถ้าเอาแต่ซื้อ ค่าใช้จ่ายจะเยอะ ถ้าไผ่ทั่ว ๆ ไป ก็ไม่แพงนัก แต่ถ้าไผ่พันธุ์หายาก หรือพวกพิเศษ ๆ อันนั้นก็จะแพง ดังนั้น ถ้าเราหัดขยายพันธุ์ไว้ อย่างน้อยก็วิธีหนึ่ง ก็น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้

เมื่อหลายปีก่อน เคยลองตอนกิ่งไผ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่รู้เงื่อนไข และองค์ประกอบแวดล้อมที่จะทำให้การตอนสำเร็จ พอลองแล้วไม่สำเร็จแล้วก็วางไป หันไปซื้อที่เขาทำไว้แล้วเหมือนเคย ๆ

จนล่าสุด เห็นต้นไผ่ มีแรกขึ้นแถว ๆ โคนต้น ก็ลองขุดดู พบว่าลำบากมาก กว่าจะได้เหง้าไผ่สักเหง้า โดยเฉพาะเหง้าที่ออกหน่อแล้ว มันจะมีรากมายึดเพิ่ม  ถ้าเครื่องมือไม่พร้อม  ไม่แนะนำให้ขุดเหง้าไผ่ เพราะต้องมีเครื่องมือที่แข็งแรง ต้องขุด ต้องงัด ต้องคม ตัดรากไผ่ได้ ส่วนการงัดต้องระวัง อุปกรณ์งอแล้วมันจะไม่คุ้ม

สรุปจบลงหลังจากขุดเหง้าไผ่ไป 3 อัน ก็พบว่ามันลำบากเกินไป เครื่องมือเราไม่แข็งแกร่งพอ ใช้เวลาเยอะไป สุดท้ายเลยใช้เลื่อยตัดช่วงโคน ใกล้ ๆ ดินที่มีรากติด แล้วก็เอามาปลูกในสถานที่จริงเลย ก็ลุ้น ๆ เอาว่ามันจะรอดหรือจะร่วง ก็ได้ผลว่ามันรอด แตกกิ่งแขนงออกมา เป็นสัญญาณว่ามันเริ่มหากินเองได้แล้ว รากเดินแล้ว ดูได้จากการแทงกิ่งแขนงออกมานี่แหละ ก็เดา ๆ เอาว่ารากมันคงเยอะแล้วแหละ ไม่ขุดออกมาดูหรอก เพราะมันอาจจะกระทบกระเทือนจนแย่กว่าเดิมก็ได้ เอาไว้ชำกิ่งไผ่ชุดใหม่ค่อยทดลองและเก็บข้อมูลเรื่องการออกรากก็แล้วกัน

ขุดหน่อไผ่มาปลูก กว่าจะขุดได้ ใช้เวลาและแรงมาก อุปกรณ์ก็ต้องแข็งแรง ทั้งหนา ทั้งหนัก ยากกว่าหน่อกล้วยก็หน่อไผ่นี่แหละ โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของการขุด แทบไม่ขยับ … ฝึกขุดหน่อไผ่กันต่อไป ขยายพันธุ์แบบประหยัดเงิน ใช้ของที่มีอยู่ คือ…แรงงาน

แตกกิ่งออกมาแล้ว ไผ่เปาะที่เคยตัดมาปลูกไว้(ชำ) ณ สถานที่จริง เรียกว่าทดลองดู เพราะไม่เคยชำไผ่มาก่อน ปกติเขาจะชำในโรงเรือนร่ม ๆ อันนี้เราลงสนามจริงเลย ส่วนหนึ่งเพราะจะเคลียไผ่ที่รก ๆ ด้วย ตอนนี้สำเร็จ 3/16 ยังเหลืออีกเยอะที่ปักไว้แล้วยังนิ่งอยู่ เขาบอกว่าการแตกกิ่งออกใบคือสัญญาณแห่งชีวิต คือระบบรากมันทำงานแล้ว เริ่มหากินแล้ว ที่เหลือคือเลี้ยงให้โต

กล้วย มะละกอ ปลูกไว้ ได้กิน

สมัยมาทำสวนแรก ๆ ปลูกได้แต่กล้วย แต่ก็ยังไม่มีกล้วยมากนัก คือมีให้ปลูก แต่ไม่มีให้กิน พอมาอยู่นานขึ้น ปรับที่ปรับทาง ตอนนี้ก็มีกล้วย เกือบร้อยต้นแล้ว ก็มีกล้วยให้กินแล้ว แถมขยายพันธุ์เพิ่มไปอีก แต่กล้วยที่มีให้กินส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างเล็ก เพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือบำรุงอะไร รดน้ำก็รอให้ฝนตกนั่นแหละ

ต่อมาก็หัดปลูกมะละกอ ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ก็ขยันปลูกมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มได้ผล บ้าง เลี้ยงชีวิตได้หลายวัน เมนูส่วนใหญ่ก็เอามาทำส้มตำนี่แหละ ส้มตำเป็นเมนูที่ทำง่าย วัตถุดิบส่วนใหญ่หาได้ในสวน ซึ่งตอนนี้จะขาดก็แค่กระเทียมกับมะนาว กระเทียมนี่ไม่เคยปลูก แต่มะนาวกำลังปลูกเพิ่ม ตอนแรกปลูก 2 ต้นไม่โตซักที เลยไม่ได้กินผล มาคิดได้ตอนหลัง ที่ในสวนตั้งกว้าง ก็ซื้อมาปลูกอีก 10 กว่าต้นก็ดูเหมือนว่าจะมีหวังว่าจะได้กินมะนาวเป็นประจำอยู่้บาง
กล้วยสุกแล้ว หลังจากขาดตลาดมานาน ไปหาซื้อในตลาดแถวชุมชุนก็ไม่มีขายมาสักพักแล้ว ที่สวนมีกล้วยมากกว่า 6 เครือ แต่มันยังไม่สุก เลยไม่มีกินสักที

มะละกอ ปลูกติดบ้านไว้ ไม่อดแน่ ๆ ต้นนี้อย่างน้อยก็ได้กับข้าว 4 – 5 วันแล้ว ตำ ผัด แกง ทำได้หลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะทำส้มตำเพราะทำง่ายดี

ในวันที่แดดหายาก

จากข้อมูลที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนพายุคาจิกิ จะผ่านพ้นไปแล้ว คงเหลือแต่ผลกระทบที่ธรรมชาติได้แสดงผลแห่งความเป็นไปในสังคมให้ได้เห็น

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ถ้ามองแบบโลก ๆ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการจัดการผังเมืองที่ไม่ได้เตรียมรับปัญหาเหล่านี้ ก็อย่างที่รู้กัน เมืองไทยเป็นประเทศที่ภัยพิบัติน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ประชาชนชาวไทยจนกระทั่งภาครัฐก็ยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร

ผมเองก็เช่นกัน มีปัญหาในชีวิตอยู่บ้าง แม้ปัญหาที่ผมเจอจะเป็นปัญหาที่เล็กมากเหมือนฝุ่นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ชาวบ้านเขาเจอกัน

ปัญหาของผมก็คือ แดดมันไม่มี ก็เลยไม่ได้ซักผ้าเสียที เพราะซักไปมันก็จะเหม็นอับ ก็เลยเก็บไว้ก่อน อันนี้มันก็เกิดจากการที่เราจัดการไม่ดี แดดไม่มีก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ปัญหาที่เป็นปัญหามากกว่าคือเราไม่แก้ปัญหา เรากลับรอให้แดดมันมา ซึ่งมันก็เป็นวิธีแก้ปัญหาทางหนึ่งนั่นแหละ แต่มันช้า มันนาน

สุดท้ายก็ทบทวนว่ามันมีทางออกอะไรบ้าง ก็มีซักแล้วเอามาผึ่งพัดลม หรือไม่ก็หาผงซักฟอกสูตรที่เหมาะกับการตากในร่ม หรือตากผ้าหน้าฝน ก็ได้ยินโฆษณาว่าเขามีผลิตมาเหมือนกัน เขาก็คงจะผลิตมาแก้ปัญหาแบบนี้แหละ เราก็ลองดู ถ้าลองแล้วได้ผลดี ก็ดี ถ้าลองแล้วไม่ดีก็เลิก หรือถ้ามีสิ่งใดที่มีองค์ประกอบดีกว่าก็เอา

แน่นอนว่าแดดคือสิ่งที่มีค่าในหน้าฝน เพราะพืชจะเจริญเติบโตได้ต้องมีแสงแดดเป็นองค์ประกอบ ถ้าได้ทั้งฝนตกแดดออก นี่ก็น่าจะโตไว พืชก็ใช้ประโยชน์จากฝนตกแดดออกนี่แหละ เป็นปัจจัยในการพัฒนาของมัน เราเองก็น่าจะใช้ทั้งฝนตกและแดดออกให้เจริญเช่นกัน แม้ปัญหาน้อย ๆ ในชีวิตก็หัดเอามาตรวจตัวเอง ตรวจทั้งกิเลส ตรวจทั้งความยึดมั่นถือมั่น ก็ตรวจใจกันไป

พายุโพดุล-คาจิกิ ท่วมต่อเนื่อง

ดูข่าวพายุช่วงนี้ แม้ดูเผิน ๆ ว่า พายุเหล่านี้จะไม่แรงมาก แต่ผลกระทบเยอะมาก น้ำท่วมกันหลายพื้นที่ ที่สวนผมก็ได้ผลกระทบเหมือนกัน คือถนนในพื้นที่เป็นโคลน ทำให้เดินทางเข้าออกโดยรถไม่ได้ แต่ก็ยังเดินออกไปทำธุระใกล้ ๆ ได้

เรียกว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก เมื่อเทียบกับที่ชาวบ้านเขาโดน ผมเองไม่เคยเจอประสบการณ์น้ำท่วมบ้าน แต่ก็มีญาติที่น้ำท่วมบ้านและเคยบุกเข้าไปช่วยกันอพยพคนมาแล้ว เรียกว่าทุลักทุเลมาก และใช้พลังงานมาก

การช่วยเหลือกันในยามน้ำท่วมนี่เป็นอะไรที่ยากลำบากมาก เพราะเข้าถึงพื้นที่ได้ยาก และอันตรายมาก เพราะเราไม่เห็นว่ามีอะไรใต้น้ำ แถมยังอันตรายเรื่องกระแสไฟฟ้ารั่วอีก ทีเดียวถึงตายได้เลย ก็รู้สึกเห็นใจทั้งผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตอาสาที่ทำงานในพื้นที่

ถ้ามีพายุเข้าอีกลูก ก็เรียกว่าต่อเนื่องกันถึง 3 ลูก ผมว่าบ้านเมืองนี่อัมพาตเลย แม้จะยังไม่มีผลกระทบถึงกรุงเทพมากนัก แต่ถ้าท่วมตรงไหน มันก็ทุกข์ตรงนั้นแหละ ทุกข์นี่มันน่ากลัวจริง ๆ คงต้องเร่งศีกษา และพาตนเองให้พ้นทุกข์ให้ไวที่สุด

ปรับแต่งเครื่องมือทำสวน

 

View this post on Instagram

 

หาจอบที่เหมาะ จอบที่บ้านมีเยอะเหมือนกัน แต่ใช้งานยังไม่เหมาะมือ ส่วนใหญ่จะกว้างและเบา แต่พื้นที่แถวนี้ถ้าไม่ดินแน่น ก็หิน ดังนั้นเครื่องมือต้องเล็กและแกร่ง ปกติผมจะใช้อีเตอร์ แม้อีเตอร์จะทำงานได้ดี แต่มันหนักและกินแรงมาก เลยต้องลดสเป็คลงเพื่อเพิ่มความคล่องตัว แต่ยังต้องแกร่งเป็นหลัก เลยไปซื้อจอบที่หนักมาตัดขอบด้านข้างของมัน ให้ผอม แล้วใส่ด้ามอีเตอร์เพราะหนาดี ..อีกอันเป็นจอบหน้าแคบซื้อมือ 2 มา 80 บาท ขนาดกำลังพอดี เอามาต่อด้าม ….นี่ต่อด้ามมาหลายอัน เริ่มเป็นมากขึ้นแล้ว ต่อแล้วใช้ได้นานขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อน ขุดไม่กี่ทีหลุด

A post shared by dinh airawanwat (@diiinp) on

ถ้าใช้จอบทั่วไป หรือพวกจอบเหล็ก อันนั้นมันจะเบา ดีไม่ดี ฟาดดินลงไปจะงออีกด้วย เพราะดินที่นี่หินเยอะ ดังนั้นมันก็ต้องปรับเครื่องมือให้เข้ากับงาน แรงคนนี่ส่วนใหญ่มันก็พอจะไหวอยู่ แต่ถ้าเครื่องมือมันอ่อนนิ่มเกินแรง อันนั้นเครื่องมือก็จะพังได้ ดังนั้นจึงต้องหาที่มันพอดีมือ พอดีแรง ก็ปรับกันไปตามเหตุปัจจัย มีก็ปรับ ไม่มีก็ใช้เท่าที่มี

ช่วงพายุเข้า

หลังจากผลของพายุโพดุล ก็มาต่อเนื่องกันกับพายุคาจิกิ เรียกว่าเปียกกันต่อเนื่องไม่ต้องพักเลย ซึ่งผมจะได้ว่ามีแดดออกอยู่หนึ่งวันระหว่างนั้น แล้วจนวันนี้ก็ไม่มีแดดอีกเลย ฟ้ามืดเปียกฝนกันตลอด

ฝนตกมันก็ดีตรงไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ พอพายุเข้าก็เลยถือโอกาสปลูกต้นไม้ไปด้วยเลย เพราะต้นไม้จะได้ตั้งตัวได้ไว ไม่ต้องคอยรดน้ำ อันนี้ก็ข้อดี

แต่ถ้าฝนตกมากเกินไป มันก็ปลูกต้นไม้ได้ยาก เพราะมันเฉอะแฉะ จะว่าปลูกได้ไหม มันก็ปลูกได้ แต่มันลำบาก มันเละ มันหนัก ก็เลยต้องหาช่วงที่ฝนมันทิ้งช่วง ไม่ตก ให้พื้นแห้ง ๆ ขึ้นบ้าง นอกจากจะไม่แฉะแล้วยังปลอดภัยจากสัตว์มีพิษอีก ตั้งแต่มดไปถึงงูนั่นแหละ