ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติให้เลิกกินเนื้อสัตว์

มีบางท่านก็ยังเห็นและสงสัย ส่วนบางท่านปักมั่นไปแล้วก็ลองพิจารณากันดู

ครั้งที่พระเทวทัตมาขอให้บัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ยินดีตามพระเทวทัต

!? แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ และท่านก็ไม่ได้ห้าม ถ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ครั้งที่มีพราหมณ์มากล่าวหาว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ท่านก็ยังปฏิเสธว่า เราถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง

*ทำไม่ท่านจึงไม่บัญญัติ เพราะท่านบัญญัติไว้แล้วในศีลข้อ ๑ เนื้อความว่า “เธอละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่”

นั่นหมายความว่าเมื่อปฏิบัติตามศีลไป จะละเว้นเนื้อสัตว์ได้เอง เพราะการที่ยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ก็ยังไม่เต็มในเมตตา ยังไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความกรุณา ไม่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ …ก็อาจจะเถียงไปได้ ว่าหวังประโยชน์แก่คนฆ่า คนขาย คนเลี้ยง เดี๋ยวธุรกิจบาปเขาจะพัง

ในการปฏิบัติศีลนี้ไม่มีบทลงโทษ นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติก็จะทำไปตามลำดับได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละ คนอ่อนแอ ยังอยากมากก็ต้องหามาเสพ แต่ถ้าตั้งจิตถูกว่าจะพยายามลด ละ เลิกก็ไม่ได้ผิดในทางปฏิบัติอะไร เพราะท่านเข้าใจว่ากิเลสมันร้าย มันต้องค่อย ๆ ปฏิบัติลด ละ เลิกไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วการไม่กินเนื้อสัตว์ นั้นเป็นระดับเบสิคของพุทธที่เรียกว่าได้กันโดยสามัญ เพราะใช้ปัญญาเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้ในปัจจุบัน ผู้คนไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธ เขาก็ยังมีปัญญาลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนชีวิตอื่นมาก

ดังจะสอดคล้องกับหลักพุทธอีกหลายข้อ คือการเอาสัตว์มาฆ่ากินนี่บาปตั้งแต่ สั่ง ฉุด ลาก ดึงมันมา ทำร้ายมัน ฆ่ามัน สุดท้ายทำให้คนยินดีในเนื้อที่ฆ่ามานั้น บาปทุกขั้นตอน หรือการค้าขายที่ผิด พระพุทธเจ้าไม่ให้ขายชีวิตสัตว์ ไม่ให้ขายซากหรือเนื้อสัตว์ เพราะท่านรู้ว่ามันจะเป็นเหตุให้คนไปหาผลประโยชน์จากสัตว์ ไปเบียดเบียนสัตว์ ท่านก็ปิดประตูนี้

แค่เอาจากจุลศีลข้อ ๑ ,มิจฉาวณิชชา ๕ ,ทำบุญได้บาป ๕(ชีวกสูตร) เอาแค่นี้ก็ไม่ต้องบัญญัติว่าควรกินหรือไม่ควรกินแล้ว เพราะสาวกผู้มีปัญญา ปฏิบัติตามครรลองคลองธรรมไปโดยลำดับแล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดควรละ สิ่งใดควรยึดอาศัย

เชื่อไหม ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ นี่มันไม่ต้องเถียงกันเลยนะ มันจะสอดคล้องกับข้อธรรมทั้งหมดเลย มันจะไม่ขัด ไม่แย้งกันเลย แต่ถ้ากินเนี่ยนะ มันจะขัด จะแย้งไปหมด ยังมีอีกหลายบทที่ยกมาแล้วจะยิ่งล็อกไปใหญ่ แต่มันยาว ก็ยกไว้ก่อน

แต่ก็เอาเถอะ ถ้าเขาปฏิบัติจนเจริญจริง ภาวนาได้จริง เมตตามีจริง เขาก็หาทางเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงทางอ้อมนั่นแหละ ไม่ปฏิบัติอะไรหรือปฏิบัติผิด มันก็ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร มันก็เถียงกินอยู่นั่นแหละ เอ้อ จะมีปัญญาเพิ่มก็ปัญญากิเลสนี่แหละ สามารถเถียงกิน เถียงเพื่อที่จะทำชั่ว เถียงเพื่อที่จะเบียดเบียนได้เก่งขึ้น

…ก็เอานะ ถ้าเข้าใจว่าพ้นทุกข์ก็ทำกันไป แต่ผมว่าไม่พ้นหรอก เพราะสุดท้ายก็ต้องคอยเถียงกินกันทุกชาติ ผมว่ามันทุกข์นะ ไม่เหมือนคนที่เผยแพร่สิ่งดี เอ้ามาลด ละ เลิกการเบียดเบียนกันเถอะ นี่เขาทำไปมันก็เป็นกรรมดี คนจะเห็นต่างบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกับใคร ไม่ต้องมาปกป้องกิเลสหรือความเห็นผิดของตัวเองกับใคร ก็เผยแพร่ไปตามโอกาสของตัวเองนี่แหละ สบาย ๆ นึกออกก็บอก นึกไม่ออกก็วางไป ไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องบอกสิ่งดี แต่ก็อาศัยสิ่งดีให้ดีเกิด

สัจจะมันไม่ได้ถูกหรือผิดเพราะเชื่อหรือคนกำหนดนะ มันถูกมันผิดของมันโดยธรรม คุณกินสิ่งที่มันเป็นโทษ มันเบียดเบียน มันก็เป็นโทษ เบียดเบียนของมันอยู่อย่างนั้น มันหนีความจริงนี้ไม่พ้นหรอก สุดท้ายก็ต้องได้รับผลกรรมตามที่ทำ และผลของการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็แตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยของมัน

รักจะดี เพราะมีศีล

พูดไปใครจะเชื่อ ว่าไปคบหากับคนไม่มีศีลแล้วมันจะทุกข์ มันต้องโดนกับตัวเองน่ะถึงรู้

เอาแค่ไม่มีศีล ๕ นี่ก็ทุกข์จนถึงตายได้เลยนะ ถ้าไม่มีศีลข้อ ๑ เขาก็ทำร้ายคุณ ฆ่าคุณได้ ทุกข์ไหมล่ะ

ไม่มีศีลข้อ ๒ เขาก็เอาเปรียบคุณ เบียดเบียนคุณ ขโมยของรักของคุณด้วยการล่อลวงของเขา เอาแบบไหนดี แบบรักษามาทั้งชีวิตแล้วเขาชิงไปหมด เอาไปย่ำยีขยี้จนหมด มันจะทุกข์ไหมล่ะ

ไม่มีศีลข้อ ๓ อันนี้ล่ะเจ็บปวด คนที่ทำร้ายกันได้เจ็บปวดที่สุดก็คือคนรักกันนี่แหละ สร้างภพ สร้างสวรรค์ขึ้นมา ก็หลงอยู่กับสวรรค์ สุดท้ายเขาเอาเท้าถีบพังทิ้ง เช่น คบหากันมาสิบปี อยู่ ๆ มาเฉลยว่ามีเมียอยู่แล้ว หรือไม่ก็พาคนใหม่เข้ามา แล้วก็ถีบคุณออกไป มันทุกข์ไหมล่ะ

ไม่มีศีลข้อ ๔ นี่ไปกันใหญ่ พางงกันไปหมด ความลวงกลายเป็นความจริง ความจริงไม่ถูกเปิดเผย ลับลวงพราง มีคู่อยู่แล้วก็บอกว่าโสด คบเล่น ๆ ก็บอกว่าคบจริง ๆ พอมารู้ความจริง จะทุกข์ไหมล่ะ

ไม่มีศีลข้อ ๕ นี่กู่ไม่กลับเลย พาเมา พาหลง ชีวิตเหมือนติดบ่วง ต้องเสียเวลา เสียสุขภาพ เสียทรัพย์ เสีย…ฯลฯ ไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องไร้สาระ เรื่องที่ไม่พาให้เกิดความเจริญ เรื่องอบายมุขทั้งหลาย

…นี่ถ้ามีศีล ๕ ก็พ้นทุกข์ไปเยอะแล้ว ถ้าศีล ๘ ศีล ๑๐ นี่ยิ่งหาทุกข์ยากใหญ่เลย คนเรานี่ก็แปลก ชอบทิ้งศีลไปหานรก ชอบแบบทุกข์มาก ไม่อยากทุกข์น้อย พอวันหนึ่งสวรรค์ล่ม ทุกข์มันชนเข้าจริง ๆ มันจะไหวไหมล่ะนั่น?

…คนมีศีลไม่มีศีลนี่ต้องดูกันนาน ๆ คนเราก็มีมารยา มารยาท สร้างภาพ อดทนอดกลั้น จนกระทั่งตอแหลทำให้ดูดีกันได้ บางคนเขาอดทนสร้างภาพมาเป็นสิบสิบปีเลยนะ จะประมาทไม่ได้ ถ้าอยากได้รักดี ๆ ต้องดูกันไป ทำความรู้จักกันไป สิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี สี่สิบปี ….นาน ๆ นั่นแหละ มันจะเห็นความชั่ว ความทุกข์ ที่เกิดจากคนไม่มีศีลหรือคนผิดศีลเอง

ก็ศึกษาจากเรื่องราวในสังคมก็ได้ คนไม่มีศีลคนหนึ่งได้รับผลกรรม เดือดร้อนกันไปหมด เรียกว่าฉิบหายวายวอดเลยก็ว่าได้ ความส่งความสุขนี่ไม่ต้องถามถึง เอาเป็นว่าจะทุกข์ไปถึงเมื่อไหร่ มันไม่พ้นง่าย ๆ หรอก มันจะเป็นตราบาปแปะไว้จนกว่าจะสารภาพทั้งหมดนั่นแหละ คายออกมาทั้งหมดไอ้ที่ทำผิดไว้ แล้วแก้กลับซะ ภาษาพระ เขาว่า ปลงอาบัติ

แต่ก็ยากจะให้คนที่ผิดศีลหรือคนที่ไม่มีศีล ยอมรับผิดแบบกระจ่างแจ้งในบาปที่ตนก่อ ถ้าจะรับก็รับได้แค่ตามมารยาท ได้แค่ลีลา ท่าที แต่จะให้ถึงใจนั้นยากยิ่ง เมื่อใจที่เป็นประธานของการผิดศีลไม่ได้ถูกแก้ เมื่อเหตุไม่ได้ถูกแก้ ผลนั้นก็จะเกิดต่อไปเรื่อย ๆ ชาติแล้วชาติเล่า ชาติต่อไป ครั้งต่อไป รอบต่อไป ไม่จบไม่สิ้น

เส้นขาวบนถนน – ศีลในชีวิต

วันก่อนขับรถลงอุโมง เขาก็มีเส้นขาวถี่ๆ บอกให้เรารู้ว่านี่มันเริ่มล้ำเส้นออกไปแล้ว เมื่อล้ำเส้นออกไปมันก็อาจจะไปเบียนเบียนหรือไปชนคนอื่นเขา สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายได้

ศีล ก็คล้าย ๆ กัน คือเป็นกรอบของการปฏิบัติ ศีลที่สูงขึ้นก็ล้อมกรอบให้มีการเบียดเบียนน้อยลง ในเบื้องต้นพุทธศาสนิกชนก็ปฏิบัติศีล ๕ กันให้ได้ก่อน พอมั่นคงในศีล ไม่หวั่นไหวต่อกิเลสที่มายั่วยวนให้ผิดศีล ก็ค่อย ๆ เพิ่มศีลไปเรื่อย ๆ จะศีล ๘, ๑๐ หรืออธิศีลจากฐานเดิมในบางข้อบางประเด็นก็ได้ทั้งนั้น

ผมแปลกใจที่ชาวพุทธสมัยนี้ ไม่ค่อยคุยกันเรื่องศีล ซึ่งเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ในเรื่องศีลก็มีรายละเอียด ถือแบบถูกก็มี ถือแบบผิดก็มี คือมีศีลแต่ความเห็นในการปฏิบัติมันผิด

แต่ลึก ๆ ผมก็ไม่แปลกใจหรอก ยุคนี้มันก็เป็นแบบนี้แหละ เหมือนพยายามขับรถในกรอบในเส้น แต่ไม่ได้แก้นิสัยใจร้อนโมโหร้ายขับรถโดยประมาท ถือศีลผิดก็เช่นกัน มีศีลแต่ไม่ได้ใช้องค์ประกอบของศีลในการปฏิบัติธรรมให้เจริญ

วิธีดูว่ามิตรที่มีนั้นกำลังพาเราไปไหน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่ประมาทก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว” เช่นกัน หากเราใช้ชีวิตประมาท ไม่รู้ว่าชีวิตกำลังดำเนินไปทางไหน มันก็กำหนดทางตายของเราไปแล้วนั่นเอง

การมีสติในชีวิตประจำวันนั้นไม่เพียงพอที่จะกันนรกอยู่ เพราะหากไม่มีศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตดีชั่วแล้ว สติที่มีนั้น ก็เอาไปทำชั่วได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนประกาศจะแต่งงาน ก็จะมีคนมากมายเข้าไปยินดี อวยพร ฯลฯ เขามีสติตอนอวยพรไหม? ถ้าถามเขา เขาก็คงว่ามีกัน แต่ทำไมถึงพูดให้คนยินดีในทางผิด การมีคู่นี่คือไปนรกชัด ๆ อยู่แล้ว คนเขายังไปยินดีอวยพรกัน

แต่คนมีศีลเขาจะไม่ไปยินดีด้วย เพราะรู้แน่ชัดว่าคนมีคู่กำลังจับมือกันไปนรก มันจะทำใจยินดีได้อย่างไร มันมีอะไรดี? มันไม่เห็นมีอะไรดีให้ไปสรรเสริญเลย มีแต่ความเสื่อมความต่ำ มีแต่ความทุกข์

มิตรที่ยินดีเมื่อเราทำไม่ดี นั่นแหละคือมิตรที่จะผลักดันเราไปนรก ส่วนมิตรที่ไม่ยินดีเมื่อเราทำไม่ดี นั่นแหละคือมิตรที่จะช่วยให้เราพ้นนรก

ถ้าคนที่กำลังจะไปทำชั่ว เช่นไปแต่งงาน มีมิตรชั่วมาก ๆ เขาก็จะเสริมพลังให้กับกิเลส ให้กับความหลง ให้ยินดีในการครองคู่ ให้ยินดีในการสร้างครอบครัว แม้จะมีมิตรดีอยู่ ก็อาจจะสู้พลังของกิเลสไม่ได้ เพราะเจ้าตัวก็อยากได้อยากเสพ แถมมีคนยุยงให้ได้เสพสมใจกัน มันก็ไปกันใหญ่

เรื่องคู่นั้น ผมถือเป็น check point หนึ่งของความเจริญในทางพุทธศาสนา ถ้าใครผ่านได้จะสบายไปหลายขุม(นรก) เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการท่องเที่ยวในนรก ตัดเรื่องคู่ได้ จะมีพลังทำความดีอีกมหาศาล

เวลาผมประเมินคนที่เขาสอนศาสนาทั่วไป ผมก็ใช้ตรงนี้นี่แหละเป็นตัววัด ว่าความเห็นของเขายังยินดีในการมีคู่หรือไม่ยินดี ถ้ายังไม่ผ่านมันจะมีช่องไว้ให้ตัวเองแอบเสพอยู่ มันจะเห็นได้ คนไปศึกษาก็ยังรับรู้ได้ว่าเขายังเห็นว่าการมีคู่นั้นมีข้อดีอยู่ นั่นแสดงว่าเขายังไม่ผ่าน เราก็รู้ว่า อ๋อ ฐานเขายังไม่ถึงตรงนี้

คนชั่วที่คิดว่าตนเองทำดีนี่แหละ ชั่วที่สุด

วันนี้คุยกับเพื่อนในประเด็นที่ว่าแบบไหนจะชั่วกว่ากัน คือคนชั่ว กับคนดีที่แอบชั่ว ก็สรุปกันออกมาได้ว่าคนดีที่แอบชั่วนี่แหละร้ายลึกชั่วช้าหนักนาน… เพราะคนชั่วทั่วไปนี่มันพอจะป้องกันได้ง่ายนะ แก้ไขได้ง่าย หรือคนที่รู้ว่าตัวเองชั่วก็สามารถที่จะเจริญได้เช่นกัน

แต่คนชั่วที่คิดว่าตัวเองดีนี่มันไม่มีทางไปเลยนะ มืดแปดด้าน มันจะเมาดีลวง ๆ ที่ตนเองทำอยู่นั่นแหละ แถมยังเอาดีสอดไส้ชั่วไปหลอกกันเองอีก ในวิบาก ๑๑ ประการที่เพ่งโทษพระอริยะมีอยู่ข้อหนึ่งคือ หลงว่าบรรลุธรรม เอาแบบโลก ๆ คือหลงว่าตัวเองดี ตัวเองมีดี ตัวเองกำลังทำดี คือเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด พูด ทำอยู่นั้นดี….ทั้งที่จริงมันชั่ว

แล้วจะแก้ได้ยังไง ก็ต้องอาศัยคำติจากคนดีนี่แหละ เขาติมาเราก็ฟังแล้วนำไปแก้ไขในส่วนที่ผิดพลาดไป แต่คนที่หลงว่าตนดีนั้นไม่ค่อยจะยอมฟังใครเขาติหรอก ก็ตัวเองคิดว่าตนดีตนถูก แล้วมันจะไปฟังใครอีกละ เขาติมาก็ว่าเขาผิดหมดนั่นแหละ ตัวเองถูกอยู่คนเดียว เพราะตนเองเป็นคนดี ดีไม่ดีไปด่าเขากลับอีก …เอาเข้าไปคนดี(ปลอม ๆ )

คนดีที่ดีแท้จะเห็นความชั่วในตนเองแล้วมุ่งล้างความชั่วนั้นให้หมด และจะเห็นชั่วที่ลึกและละเอียดขึ้นตามกำลังที่มี คือจะเห็นแบบที่คนอื่นไม่เห็น คนอื่นเขาไม่เห็นว่าชั่ว แต่เรารู้ชัด ๆ เลยว่าทำแบบนี้มันชั่ว มันเบียดเบียน มันไม่เป็นประโยชน์ตนเองและผู้อื่น

จะรู้ได้อย่างไร? ก็ตามระดับของศีลนั้นแหละ ถ้าศึกษาศีลตามลำดับจะรู้เองว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้หรอก เพราะเรื่องแบบนี้คิดเอาก็ไม่ได้ ฟังเอาก็ไม่เข้าใจ ทำหน้างง ไอ้ที่เขาพูดมานี่มันชั่วยังไงหนอ…

จึงสรุปว่าคนที่ยังเห็นว่าตนเองชั่วอยู่ ยังผิดพลาด ยังต้องแก้ไขอยู่ ก็ยังดีกว่าคนที่หลงว่าตนเองเป็นคนดี ดึงดันทำแต่ความดีแบบที่ตนเองเข้าใจโดยไม่ฟังคำติของใครเลย

แนะนำ ไตรสิกขา

ในบทความนี้ก็จะมาแนะนำเพจไตรสิกขาที่ทำไว้กันเสียหน่อย แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีบทความอะไรมากนัก แต่ก็มีบทความที่แก่นและแนวทางเขียนไว้แล้ว

ติดตามเนื้อหาได้ที่ เพจไตรสิกขา (facebook) หรือ บล็อก ไตรสิกขา (web)

ไตรสิกขา ปฐมบทไตรสิกขา ปฐมบท : บทความแรกของเพจไตรสิกขา เป็นภาพรวมของการปฏิบัติไตรสิกขาในบทบรรยายโดยไม่แจกแจงเนื้อหามากนัก ซึ่งจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้พอเข้าใจในแนวทางปฏิบัติเสียก่อน

ไตรสิกขา การศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพื่อก้าวข้ามสามภพไตรสิกขา บทย่อ / บทขยาย : ในบทความนี้จะสร้างขึ้นประกอบภาพการ์ตูนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายโดยใช้ธรรมะข้ออื่นๆเข้ามาประกอบในการตรวจสอบการปฏิบัติ ซึ่งในบทความนี้มีทั้งบทย่อที่อ่านได้ง่าย เพราะสรุปมาเป็นเนื้อหาสั้นๆ และบทขยายที่แจกแจงรายละเอียดของแต่ละข้อให้กระจ่างมากขึ้น

เริ่มต้นไตรสิกขาตั้งแต่วันนี้ด้วย อธิศีลอธิศีล : การเริ่มต้นศึกษาสามอย่างนั้นเริ่มที่อธิศีล  การมีศีลนั้นถือเป็นจุดตั้งต้นในการปฏิบัติ แต่การจะมีศีลได้นั้นจะต้องมีปัญญาที่เห็นว่าศีลนั้นดี ศีลนั้นประเสริฐ มาเป็นฐานเสียก่อน หากใจของเรานั้นยังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ในการปฏิบัติศีล ก็เรียกได้ว่าผู้ที่ยังไม่พร้อมจะศึกษา ไตรสิกขา

ติดตามเนื้อหาอื่นๆได้ที่ เพจไตรสิกขา (facebook) หรือ บล็อก ไตรสิกขา (web)

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

แนะนำบทความที่ดีที่สุดบทหนึ่งของปี 2557 นี้สำหรับผมเลย เพราะสรุปเรื่องด้วยภาพที่สวยงามและกระชับ ทำให้เห็นภาพรวมได้ง่าย รวมทั้งอธิบายขั้นตอนทั้งหมดลงในบทความที่มีความยาวไม่มากไม่น้อยเหมาะสมกับเนื้อหา  84000 พระธรรมขันธ์ นั้นย่อลงเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งผมก็ได้นำศีล สมาธิ ปัญญานั้นมาขยายขึ้นอีกทีเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง คือการลดกิเลส

การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานั้น หลายสายหลายสำนักก็มีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป และก็มักจะมีมรรคผลที่แตกต่างกันออกไป สิ่งนั้นไม่ได้มีสาระสำคัญเท่ากับการกระทำนั้นๆสามารถลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความยึดมั่นถือมั่นได้หรือไม่ การปฏิบัติที่ถูกทางพุทธจริงๆนั้น คือการปฏิบัติไปสู่ความไม่มี ไม่ได้ ไม่เสพ ไม่ยึดอะไรที่ฟุ้งเฟ้อ เกินความจำเป็นหรือการไม่มีกิเลสนั่นเอง

โดยที่เราจะแสดงมรรคคือทางเดิน ของการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกับอธิบายผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายแบบสรุป รวบยอดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย กระชับ ใช้เวลาในการอ่านไม่นานนัก เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้เห็นขอบเขตของการปฏิบัติธรรม ข้อควรรู้ และข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้เรียนรู้แนวทางปฏิบัติของพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่ประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ด้วยกันเป็นก้อนเดียว ไม่แยกจากกัน

ผู้ใดที่สนใจเรียนรู้เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา สนใจแลกเปลี่ยน สอบถาม หรือสงสัยในข้อปฏิบัติใด ขอเชิญร่วมซักถาม ซึ่งแนะนำให้ติดตามไปยังเฟสบุ๊ค ที่ facebook : ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

อ่านต่อได้ที่บทความ : ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติDownload ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat