กว่าผึ้งจะสร้างรังนี่เขาต้องใช้แรงงานและเวลามากเลยนะ แล้วคนก็ไปตัดทำลาย เอามาหาประโยชน์ส่วนตน ใครอยากให้ชีวิตพบความลำบาก สร้างเนื้อสร้างตัวมาแล้วก็ล้มละลาย ทำงานมาตั้งมากมาย โดนคนอื่นชิงผลงานไป หรืออยากได้รับผลกรรมอะไรทำนองนี้ ก็สนับสนุนผู้แย่งชิงต่อไป ถ้าอยากอยู่เป็นสุข มีผู้มาระรานชีวิตน้อย ก็เลิกสนับสนุนกัน
Tag: น้ำผึ้ง
ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า
เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ
10 พฤษจิกายน 2555
เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้
สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง
โอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล
เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น
ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน
นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน
นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ
กิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี
หลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย
สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ
สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป
สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป
กระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก
บ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…
หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้
เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์
ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้
นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ
เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ
หลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ
ระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก
หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ
ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด
การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้
สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย
ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง
รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้
เมื่อถึงเวลาเที่ยง
เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย
หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้
ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป
วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…
- บทนำการเดินทางสู่ ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา
- ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก
- ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า
- ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย
- ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย
- บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางวันแรก
เริ่มต้นอีกครั้งกับทริปเดินทางไกลกับ กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ผมได้เดินทางไปกับทีมงานทีวีบูรพา
เราเริ่มต้นวันด้วยการตื่นเช้าๆพอประมาณเพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ทีวีบูรพา ก็เลยไม่ได้เร่งรีบเท่าไรนัก ของทุกอย่างถูกจัดไว้ลงกระเป๋าหมดแล้วเตรียมพร้อมที่จะเดินทางออกไปเรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมอย่างที่ตั้งใจไว้
เวลาที่ผมมานั้นไม่เร็วไม่ช้า แค่มีคนมาก่อนแล้วประมาณ 70% เท่านั้นเอง ไปถึงก็มีทีมงานเข้ามาทักทาย และมีบทสนทนาเล็กน้่อยระหว่างคุณแม่ของผมที่มาส่งพร้อมกับมาทักทายเพื่อนสมาชิกด้วย (แม่ผมเป็นรุ่นแรกที่ไป)
หลังจากลงทะเบียนก็ได้รับเสื้อมา แต่ไม่ได้เสื้อเหมือนชาวบ้านเขาเพราะไม่มีขนาดที่เหมาะกับตัว ซึ่งถ้าจะทำตัวให้เหมาะกับเสื้อคงยากเลยได้เสื้ออีกลายติดมา กินขนมและดื่มกาแฟรอเพื่อนสมาชิกมาครบ ระหว่างนี้ก็มีสมาชิกที่เหลือทยอยกันมา สมาชิกรุ่นเก่าก็ทักทายกัน ส่วนผมก็สังเกตุสิ่งรอบตัวไปตามนิสัย
เราแวะพักทานข้าวเช้าที่ร้านข้าวสามสี อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้เหมือนกันรู้แค่ระหว่างทางเพราะเวลาไม่ได้ขับรถเองนี่มันเพลินมากๆแอบหลับตาไปบ่อยๆ ร้านข้าวสามสีก็ตกแต่งร้านสบายๆสวยดี และที่สวยที่สุดคือดอกไม้ที่บานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศง่วงๆยามเช้าของผม
นั่งรถมาเรื่อยๆ มาถึงไม่รู้เมื่อไหร่ ประมาณบ่ายๆ เราถึงปั้มที่มีชื่อว่า บี อาร์ วาย ปิโตรเลียมอะไรนี่แหละ มีป้ายแสดงแผนที่ให้ดูอยู่ก็มายืนมอง ผมเองไม่เคยไปไหนไกลเกินโคราชเลยเท่าที่จำความได้ แต่ที่จำความไม่ได้จริงๆคือผมไปมาทั่วทิศของไทยแล้ว แค่จำไม่ได้แค่นั้นเอง…
เป้าหมายของเราอยู่ที่ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จากกำหนดการก็จะเห็นว่าใช้เวลาเดินทางร่วมวันเลยครับ ไกลมากๆ จากที่คาดการณ์ไว้น่าจะถึงตอนเย็นๆครับ
ระหว่างทางก็มีสิ่งที่ชาวคณะได้ฮือฮา นั่นคือความเสี่ยงบนรถของเด็กน้่อย ผมมองไปก็นึกถึงรถไฟในอินเดียนะ ภาพประมาณนี้เลย ส่วนทำไมอะไรที่ทำให้เด็กๆขึ้นไปนั่งด้านบนโดยไม่กลัวก็คงจะเป็นความเคยชิน ส่วนเหตุที่ต้องเคยชินนั้นมาจากอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ว่าจริงๆแล้วมันก็คงจะปลอดภัยในระดับหนึ่งละนะไม่งั้นคงมีข่าวหรือไม่ก็เลิกนั่งกันไปนานแล้ว
เมื่อมาถึงก็เข้ามานั่งพักยืดเส้นยืดสายกันก่อน มีการทักทายจากชาวนาคุณธรรมที่มาต้อนรับกันด้วยอารมณ์ขำขัน ช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อที่นั่งรถมานานได้ดีทีเดียว
น้ำดื่มต้อนรับ หรือ Welcome drink! หมายถึงมันจะมีเฉพาะต้อนรับใช่ไหม? จริงๆผมอยากดื่มทุกเวลาเลยนะ เพราะเป็นน้ำหญ้าม้าผสมด้วยน้ำผึ้งและมะนาว หรือผสมอื่นๆอะไรก็ไม่ทราบ แต่มันคือน้ำสมุนไพรที่ดื่มง่ายคล่องคอจนอยากจะขอต่ออีกขวดทีเดียว
บ้านพักของเหล่าชายหนุ่มนะครับ จะอยู่ที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์ครับเขาปัดกวาดให้อย่างสะอาด และเตรียมที่นอน หมอน ผ้าห่มไว้ให้อย่างดีเลย สรุปถุงนอนที่ผมเอามาก็เลยมาเสริมเป็นหมอนอีกใบหนึ่งไปเลยครับสบายดี หลังจากเราเก็บของแล้วก็จะมีกิจกรรมตอนเย็นอีกนิดหน่อย
ระหว่างเดินเล่น เห็นเป็นที่โล่งๆแบบที่ถ่ายมานี่ จริงๆเราอยู่ในวัดป่านะครับ จากถนนใหญ่เข้ามามีแต่ป่าครับ มาโล่งเอาข้างในนี่แหละ กลิ่นดินกลิ่นหอมไม้ป่าลอยเต็มบรรยากาศทีเดียว
ลานกิจกรรมหลักของเราคือใต้ศาลาไทวัตรครับ ระหว่างที่เก็บของอยู่ใครจะเดินไปดูอะไรก็ตามสะดวกครับ ผมก็เลยเดินตามชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งไปชมสวนครับ สำหรับสวนที่พาไปชมก็มีพืชผักหลายชนิดครับ ส่วนใหญ่ก็เป็นผักครับ เพราะผักสามารถเด็ดมาประกอบอาหารได้บ่อยๆ ไม่เหมือนผลไม้ที่มาเป็นชุดๆกินไม่ค่อยทัน
ต้นกล้วยที่เห็นในรูปนี้ ต้นจริงต้องบอกว่าทรงของมันสวยมาก ถ้าจะให้เทียบก็คงเหมือนพิน โบลิ่งละนะครับ อีกอย่างต้นมันใหญ่มากทีเดียว ตอนที่ไปนี่ไม่เห็นลูกครับ แล้วก็ไม่รู้ว่ากล้วยอะไรด้วย ทิ้งไว้เป็นปริศนาต้นไม้ต่อไป
มื้อเย็นครับ อาหารทั้งหมดเป็นมังสวิรัติละครับ และทั้งทริปนี้ก็เป็นมังสวิรัติทั้งหมดด้วย บอกตรงๆว่าเกิดมาไม่เคยกินเลย แม้แต่กินเจก็ไม่เคยครับ(หรือเคยก็จำไม่ได้) มาคราวนี้ละได้ 3 วันก็ดีนะครับ กินก็ได้แรงแถมยังรู้สึกดีต่อร่างกายด้วย มีเห็ด มีผัก และข้าวอินทรีย์ครับ อร่อยทุกมื้อเลยทีเดียว
ก่อนจะทานอาหารเขาก็จะให้พิจารณาอาหารกันก่อนนะครับ เป็นบทพิจารณาอาหาร ซึ่งมีเนื้อความดังนี้
บทพิจารณาอาหาร
กินข้าวเคี้ยวทุกคำ เราจดจำกินเพื่อชาติ
อย่ากินอย่างเป็นทาส เหงื่อทุกหยาดของชาวนา
จงกินเพื่อเป็นไท กินด้วยใจที่รู้ค่า
บรรพบุรุษสร้างสืบมา ร่วมรักษาคุณความดี
ขยันงานการสร้างสรรค์ มีสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่
สมัครสมานสามัคคี อุทิศพลีเพื่อชาติไทย
ขอขอบพระคุณชาวนาที่ปลูกข้าวให้พวกเรารับประทาน
และขอขอบพระคุณพ่อครัวแม่ครัว
ที่ทำอาหารให้พวกเรารับประทานในมื้อนี้
พวกเราจะทำแต่ความดีตอบแทนพระคุณ…สาธุ
หลังจากทานอาหารค่ำกันแล้ว เราก็จะไปสวดมนต์กันนะครับ ซึ่งตอนสวดเขาให้นั่งท่าเทพบุตร สุดท้ายนั่งไม่ค่อยรอดเนื่องจากไม่ค่อยได้นั่งทำให้เท้าไม่แข็งแรงรับน้ำหนักไม่ไหว ต้องกลับไปนั่งพับเพียบท่าที่เหมาะกับคนน้ำหนักเยอะเหมือนเดิมครับ จากวันนี้พบว่าต้องหาวิธีใหม่ในการนั่งท่าเทพบุตรซะแล้ว…ดูเป็นเรื่องเล็กที่น่าหนักใจจริงๆ
หลังจากหลวงพ่อนำสวดมนต์แล้วทางทีมงานก็ให้แนะนำตัวกันนิดหน่อย ก่อนจะแยกย้ายกลับไปนอนกันครับ ก่อนนอนก็แยกกันไปอาบน้ำกันตามสะดวกใครชอบห้องน้ำห้องไหนก็เข้าห้องนั้น ห้องน้ำที่นี่มีที่ให้นั่งพักด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายรูปมา ประมาณว่าอาบน้ำเหนื่อยๆก็นั่งพักเสียก่อนประมาณนั้น
ทริปนี้เรานอนกันแบบกึ่งธรรมชาติครับ คือใช้ความเย็นจากบรรยากาศรอบๆ เท่านั้นบอกแล้วดูเหมือนร้อน แต่เอาเข้าจริงไม่นานผมก็หลับก่อนชาวบ้านเขาเลยครับ
สวัสดี