ผักบุ้งคาแปลง

ผักบุ้งคาแปลง

ผักบุ้งคาแปลง

ตอนแรก ๆ ที่ผมมาถึงนั้น ก็ใช้เวลาไปกับการรื้อแปลงผักบุ้งเก่า ซึ่งก็ยังมีผักบุ้งเหลืออยู่ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงก้านที่ไม่มีใบ ก็ทิ้งไว้ตั้งสามเดือนนี่นะ ยังเหลือรอดเป็นก้านก็เก่งแล้ว

ทีนี้ระหว่างรอทำแปลงใหม่ ผมก็เอาก้านเก่านี่แหละมาแช่น้ำตากแดดไว้ ช่วงนี้แม้ฝนจะตก แม้แดดจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็มียอดผักบุ้งแตกออกมาให้กินเป็นระยะ

กำลังคิดอยู่ว่าจะปลูกผักบุ้งน้ำดีไหม หรือจะเอาลงดินดี จริง ๆ ลงดินแล้วทำน้ำหยดมันก็งามแหละ แต่เลี้ยงไว้ในน้ำ มันจะไวกว่า เรียกว่าเต็มประสิทธิภาพ แต่ปัญหาก็คือมันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

ที่บ้านกรุงเทพฯ ผมก็เลี้ยงผักบุ้งในน้ำ แต่ใช้วิธีใส่ดินเยอะใส่น้ำน้อย ให้น้ำมันแห้งเองภายในวันสองวัน จะได้ไม่เป็นที่สะสมยุง

เชือกที่รัดต้นสะเดา

เชือกที่รัดต้นสะเดา

เชือกที่รัดต้นสะเดา

ครั้งก่อนที่มาที่นี่ ราว ๆ กลางเดือนมิถุนายนลมก็แรงพอสมควร ต้นสะเดาที่ปลูกไว้มันก็เลยเอียงไปตามลม

ก็เลยเอาเชือกไปผูกไว้ แต่ก็ไม่ทันคิดว่ามันจะโตเร็วขนาดนี้ เพราะก่อนหน้านี้มันแทบจะไม่โตเลย ผ่านไปปีสองปีโตนิดเดียว

พอผ่านไปเกือบสามเดือนกลับไปอีกที มันโตขึ้นผิดหูผิดตา เชือกที่เรามัดไว้กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายมัน เพราะมัดแน่นไป คิดว่ามันจะไม่โต แต่มันดันโตเกินความคาดหมาย

เลยได้ความรู้ว่าถ้าจะมัดต้นไม้ก็อย่ามัดแน่น หรือจะใช้วิธีมัดที่กิ่งแทนก็ได้ อย่าไปมัดต้นโดยตรง ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้เกิดอาการอย่างนี้ ซึ่งก็ทำให้ต้นไม้อ่อนแอ กว่าจะฟื้นตัวมันก็คงต้องใช้เวลา สู้เราทำให้ดีตั้งแต่แรกจะดีกว่า จะได้โตไปแข็งแรงไม่มีชะงัก

หญ้าเจ้าชู้

หญ้าเจ้าชู้

หญ้าเจ้าชู้

มาครั้งนี้หญ้าเต็มไปหมด โดยเฉพาะหญ้าเจ้าชู้ที่ติดถุงมือ เสื้อผ้ามาในระหว่างทำงาน

เวลาที่พักเหนื่อยจากการถางหญ้า ก็คือเวลาที่จะมาดึงฝักหญ้าเจ้าชู้ออกนี่แหละ ติดเต็ม ติดทั่วไปหมด ดึงใส่ขันแล้วเอาไปใส่เตาตอนทำอาหาร จะได้ไม่เพิ่มจำนวนมาก

หรือบางมุมก็ต้องดึงดอกหญ้าเจ้าชู้ออกก่อนเลย เพราะเยอะมาก ถ้าเกี่ยวหญ้าก่อนก็ต้องมาเสียเวลาดึงหญ้าเจ้าชู้ที่ติดตัวมาทีหลังอีก ก็เลยได้เป็นช่อหญ้าเจ้าชู้อย่างที่เห็นในรูป

จริง ๆ หญ้าเจ้าชู้นั้นก็อันตรายเหมือนกัน หากหนามของมันปักและฝังในเนื้อ ก็จะทำให้เจ็บปวด รำคาญได้ และการจะเอาออกนั้นก็ไม่ง่าย เพราะทั้งเล็ก ทั้งลึก บางทีต้องปล่อยทิ้งไว้เป็นอาทิตย์กว่าจะเอาออกได้

ใบสะเดา

ใบสะเดา

ใบสะเดา

ที่นี่มีต้นสะเดาปลูกอยู่บ้าง ซึ่งผมก็ซื้อมาปลูกเพิ่มเหมือนกัน เพราะสะเดานั้นโตเร็ว ต้นตรง ให้ร่มเงาได้ไว แถมใบยังมีคุณค่า แล้วยังกินได้อีก

สารพัดประโยชน์จริง ๆ สำหรับต้นสะเดา นี่ก็ค่อย ๆ ริดกิ่ง แล้วเอามาเด็ดใบออกมาคลุมและผสมกับดิน ถ้ารูดใบออกตอนสด ๆ จะรูดได้ง่าย

ใบสะเดานี่เขาเอามาขายกันด้วยนะ เขาเอาไว้กันแมลง ใบแห้งเขาก็ขาย พวกน้ำหมักใบสะเดาเขาก็เอาไว้ฉีดพ่นป้องกันแมลงกัน แต่ถ้าเราปลูกไว้เองนี่จะมีใช้ไปตลอด ดีสุด ๆ

เมล็ดข้าวโพด

เมล็ดข้าวโพด

เมล็ดข้าวโพด

ปลูกข้าวโพดไว้ตั้งแต่สามเดือนก่อน แบบว่าปลูกเล่น ๆ ที่เหลือ พอมาถึงคราวนี้ตอนแรกนึกว่าตายหมด เพราะหญ้าโตคลุมสูงกว่าต้นข้าวโพดอีก

แต่พอลองแหวก ๆ หญ้าดูก็เห็นต้นข้าวโพด เห็นฝักข้าวโพดเลยปลิดออกมา

ข้าวโพดที่ปลูกนั้นจำได้ว่ามีสองพันธุ์ ที่แน่ ๆ คือข้าวโพดข้าวเหนียว ส่วนอีกพันธุ์น่าจะเป็นข้าวโพดป๊อปคอน แต่มันก็จำได้ไม่แน่ว่าอาจจะมีพันธุ์อื่นมาผสม ๆ ตอนปลูกก็ได้ เพราะถ้าต้นไหนตาย เราก็ลงเมล็ดไปเสริม

ทีนี้เท่าที่เห็นมันได้เมล็ดมาสามแบบ ฝักล่างนี่ข้าวโพดข้าวเหนียวแน่ ๆ กลางนี่ไม่แน่ใจ เหมือนข้าวโพดบ้าน ๆ ทั่วไป แต่บนสุดนี่ไม่คุ้นเลย ฝักก็สีม่วง ก้านก็สีม่วง ถ้าเมล็ดม่วงก็คงจะพอเดาได้ แต่เมล็ดดันเหลือง เดี๋ยวจะลองปลูกในรอบหน้า ตอนนี้แยกถุงและจดลักษณะไว้แล้ว

กระถินคลุมดิน

กระถินคลุมดิน

กระถินคลุมดิน

กระถินเป็นพืชที่โตเร็วมาก ตอนผมมาอยู่ที่นี่แรก ๆ ไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี เลยได้แต่ตัดไปทิ้ง

ต่อมารู้ว่าใบมันก็เอามาปรุงดินได้ดีก็เอามาวางกอง ๆ ไว้บนแปลงผัก รอให้มันแห้ง แล้วค่อยสบัด ๆ ให้ใบมันร่วงลงบนแปลงผัก

ล่าสุดใช้วิธีหักกิ่งกระถินมาแล้วรูดก้านลงไปเลย ถ้าสด ๆ จะรูดได้ง่าย ถือเป็นงานที่เอาไว้พักจากงานหนัก ๆ เช่นงานขุด งานตัด ฯลฯ

แถวบ้านจะมีชาวบ้านมาตัดกระถินไปให้แพะกิน แสดงว่ามันมีคุณค่าทางอาหารมาก ถ้าเอามาใส่ดินไปเรื่อย ๆ ผักที่ปลูกคงจะงาม

ไชยา

ไชยา

ไชยา

กลับมารอบนี้ที่ดูจะเข้าท่าที่สุดก็ไชยานี่แหละ โตพอจะกินได้ น่าจะได้สองมื้อต่อต้นนะ ปลูกเอาไว้ สี่ต้น ต้นนี้งามที่สุด

เดี๋ยวกินเสร็จก็เอาไปปักชำต่อ เห็นมันงามแล้วก็มีกำลังใจจะขยาย เพราะตอนแรกปักเป็นปียังไม่โตเลย ดินที่นี่เป็นดินไร่เก่าที่ถูกใช้อย่างเดียว ไม่ได้บำรุงเลย แถมที่นี่ยังแดดแรง ลมแรง ต้นไม้เลยออกไปทางขาดน้ำกันเยอะ

[1] ผ่านไปเกือบสามเดือน หญ้างามเหลือเกิน

diary-0001-ผ่านไปเกือบสามเดือน

1. ผ่านไปเกือบสามเดือน หญ้างามเหลือเกิน

ไม่ได้มาที่บ้านสวน(ที่ยังไม่เป็นสวนสักที) มาเกือบสามเดือน มาถึงก็พบว่า หญ้ารกมาก บางมุมก็สูงเกือบสองเมตร บังแปลงผักที่ทำไว้มิดเลย ก็ค่อยๆ ทำไป ถือว่าได้ปุ๋ยฟรี

เรื่องเก่า ๆ มีเวลาค่อยย้อนไปเขียนแล้วกันนะ เล่ากันตั้งแต่ปัจจุบันนี่แหละ เป็นไงมาไงก็ติดตามกันไป

วอเตอร์เครสฮาวาย กับการรอคอย

วอเตอร์เครสฮาวาย กับการรอคอย

วอเตอร์เครสฮาวาย กับการรอคอย

ผักที่เห็นในรูปนี้ ได้มาจากสวนของพี่จิตอาสาในเครือข่ายของแพทย์วิถีธรรม เป็นวอเตอร์เครสใบใหญ่ ที่ใบของมันนั้นจะใหญ่เป็นปกติ ซึ่งต่างจากอีกพันธุ์หนึ่งที่ต้องเอาเข้าร่มใบถึงจะใหญ่ แต่ถึงจะเข้าร่มและบำรุงดีแค่ไหนใบก็ไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นนี้ผมปลูกไว้หน้าบ้าน ตากแดด ให้น้ำตามแต่ฝนตก แต่ใบก็ยังใหญ่อย่างที่เห็น

ใบใหญ่แบบนี้กินง่ายกว่าใบเล็ก เรียกว่าเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า ส่วนพวกใบเล็กนี่ก็เอาไปปั่นเป็นน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นไป พอมีใบใหญ่ ก็เลยจะเอาแบบใบใหญ่มากินเป็นผักสดแทน

ผมเคยอยากได้เจ้าวอเตอร์เครสพันธุ์นี้มานาน ซึ่งเคยเห็นจากรูปที่เขาเอามาแบ่งกันดูในกลุ่มเฟสบุค เขาเรียกมันว่า “วอเตอร์เครสฮาวาย” ผมดูจากองค์ประกอบแล้วก็น่าจะเป็นพันธุ์เดียวกับที่มีตอนนี้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ง่ายเลยที่จะดับความอยากได้ลงได้

สมัยก่อนที่ผมเลี้ยงไม้ประดับนี่เรียกว่าอยากได้อะไรก็ต้องพยายามหามาให้ได้ แต่ก็ไม่ได้อยากจนเกินฐานะมากนัก อย่างไม้ประดับในกระถาง 4 นิ้วต้นน้อยๆ เท่ากล่องไม้ขีด จะซื้อในราคา 500 บาทก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยนั้น เรียกว่าอยากได้อะไรก็จะพยายามเสาะหา แสวงหาให้ได้มา แน่นอนว่าไอ้ที่แพงกว่านั้นก็มี แต่โชคยังดีที่ผมยังไม่ได้ถลำลึกไปขนาดนั้น

พอมาเจอวอเตอร์เครสฮาวายนี่ก็อยากได้ พิจารณาประโยชน์ต่าง ๆ ของมันดูแล้ว ไม่ว่ายังไงก็ดีกว่าพันธุ์เดิมที่มี ใบใหญ่กว่าเดิมและดูไม่รกเท่าเดิม ความอยากได้นี่มันก็ทำให้ทุกข์ เพราะอยากได้แต่มันแสวงหาไม่ได้ไง ตอนนั้นมันไม่มีขายอยู่ทั่วไป ในอินเตอร์เน็ตก็ไม่มีขาย มีแต่เขาปลูกกันเองแล้วแบ่ง ๆ กัน ไอ้เราจะไปขอนี่ก็รบกวนเขามากไป เพราะเคยมีประสบการณ์ ขอรับเมล็ด, แลกเปลี่ยนต้นไม้ ทำให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร

ก็เลยเลือกที่จะอดทนรอ รอให้มันมาตามธรรม ให้มันเป็นไปตามเหตุอันสมควร ได้เมื่อควรจะได้เท่านั้น ไม่ไปเร่งรัด ไม่ต้องไปแสวงหา แต่จะแค่คิดเอานี่มันไม่ง่ายนะ ความอยากมันไม่ตายแค่พิจารณากันตื้น ๆ หรือจะใช้ปล่อยวางกันซื่อ ๆ นี่มันเอากิเลสไม่อยู่หรอก

มันต้องพิจารณาโทษของความอยาก ความใจร้อน เร่งผล อยากได้ไว ๆ ฯลฯ ให้มันเห็นความจริงว่า กิเลสของเรานั้นมันไม่งามเพียงใด มันถึงจะจางคลายลงไปได้ อย่างน้อยผมก็ทำให้มันจางลงในระดับที่มันไม่ไปเบียดเบียนใคร และไม่ทำให้ตัวเองต้องทนทุกข์เพราะความอยากนั้น

สุดท้ายก็ยินดีที่จะรอนั่นแหละ ก็รอเป็นปีเหมือนกันนะ พอไม่ได้มีความอยากมันก็ลืม ๆ ไป จนไปเห็นที่สวนของพี่จิตอาสา แต่ก็ไม่ได้วิ่งเข้าไปตะครุบทันทีนะ ก็รู้ว่ามันมีประโยชน์ ถ้าได้มันมาก็จะดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มันยังไม่ถึงรอบของมัน สุดท้ายเขาก็ช่วยตัดมาให้ 5 กิ่งอ้วน ๆ ซึ่งก็ได้เอามาขยายพันธุ์ต่อที่บ้านในที่สุด

ก็ลองกินไปรอบหนึ่ง ตอนนี้ก็ค่อยๆ ขยายพันธุ์อยู่ จากกระถางหนึ่งไปสู่อีกกระถางหนึ่ง พอมันโตเราก็ตัดยอดไปปักชำเพิ่ม ยังไม่รีบกินหรอก กินผักอื่น ๆ ไปก่อน มันมีประโยชน์ก็จริง แต่ก็ต้องใจเย็น ๆ ต้องอดทน ต้องรอ ผมว่าการรอคอยนี่มันงดงามนะ การที่เราใจเย็นอดทนรออะไรได้นี่มันดีมากเลย แม้มันจะอยู่ตรงหน้าแล้วก็อดทนให้มันมาถึงจริง ๆ ไม่รีบวิ่งเข้าไปหามัน เพราะไม่แน่มันอาจจะมาหลอกให้เราอยากเล่นก็ได้ เราอยากเราก็ทุกข์ แล้วเราจะไปเปิดโอกาสให้เราทุกข์ให้มันโง่ทำไม

บทเรียนจากการเลี้ยงไม้ประดับ

จากการศึกษาไม้ประดับเช่นกระบองเพชร (แคคตัส,cactus) , บอนสี, ลิ้นมังกร และอื่นๆ มาช่วงหนึ่ง ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับไม้ประดับมากมาย แต่ความรู้เหล่านั้นก็ยังไม่มีค่าเท่ากับความรู้ตอนที่เลิกศึกษา เลิกสะสม เลิกเลี้ยงไม้ประดับเหล่านั้น

ในวันนี้ผมได้ตัดสินใจที่จะปิดบล็อกในส่วนที่เคยเผยแพร่บทความเกี่ยวกับประสบการณ์การเลี้ยงและศึกษาต้นไม้ทั้งหมด เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถหาข้อมูลกันที่ไหนก็ได้ เลี้ยงเองก็เรียนรู้ได้ ผมจึงคิดว่าคงไม่จำเป็นแล้วที่จะเผยแพร่เรื่องที่ไม่น่าสนใจเหล่านั้น ซึ่งในตอนนี้ผมมีความรู้ที่มีคุณค่ามากกว่า มีประโยชน์มากกว่า เป็นสิ่งที่อยากเผยแพร่ ให้นักศึกษาและสะสมไม้ประดับทุกคนที่สนใจได้เรียนรู้

คือความรู้ในการปล่อยวางการสะสม ปล่อยวางการไม่มีเรียนรู้ ไม่ต้องจับไม่ต้องยึด เหลือเพียงประโยชน์และความจำเป็นจริงๆในชีวิตเท่านั้น สิ่งใดเป็นประโยชน์ก็ดำรงไว้ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สาระในชีวิต ไม่มีความจำเป็นต้องมี ก็พิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งนั้นเพื่อที่จะได้ออกจากความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนั้นด้วยใจเป็นสุข ผมจึงได้รวบรวมมาไว้ในบทความนี้

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

รวบรวมประสบการณ์การเรียนรู้ของทุกข์ของการสะสม และความหลงมัวเมาในสิ่งที่เรียกว่าไม้ประดับ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เริ่มสนใจจะศึกษาและเรียนรู้ไม้ประดับ ตลอดจนผู้ที่สนใจจะนำไปประกอบอาชีพ เราเชื่อว่าบทความเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับท่าน กรุณาลองพิจารณาสิ่งดีๆที่เรานำเสนอดูสักนิด และลองฉุกคิดสักหน่อยก่อนที่ท่านจะเริ่มเรียนรู้ต่อไป

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

ของสะสมที่เราเคยรักเคยผูกพัน จนกระทั่งวันที่สามารถเข้าใจความจริง ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แท้ต่อชีวิต สิ่งใดที่เป็นโทษต่อชีวิต เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงนี้ได้เลย

 

รวยเท่ากับซวย #5

รวยเท่ากับซวย #5

แบ่งปันประสบการณ์ ถ้าเร็วกว่านี้ก็คงจะรวย (ซวย) ไปแล้ว.. แม้ความรวย ความมั่งคั่งและความสุขสบาย จะเป็นสิ่งที่มนุษย์ตามหา แต่ในความรวยนั้นอาจจะมีกับดักซ่อนอยู่ก็เป็นได้

 

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

การสะสมแต่ละอย่างนั้นเราต้องใช้ทั้งกำลังทรัพย์ และความพยายาม ในการตามหาสืบเสาะเพื่อให้ได้มันมาครอบครอง แม้จะมองว่าได้มายากแสนยาก แต่ตอนจะเลิกสะสมนั้นยากกว่า ของนั้นมีอยู่ แต่คนที่สามารถจะทิ้งสิ่งนั้นได้ไม่มี

 

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงไหลไม้ประดับ

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงไหลไม้ประดับ

เมื่อความยึดมั่นถือมั่นของเรา กลายเป็นการเสริมกิเลสให้กับผู้อื่น เมื่อเราหลงไหลกับสิ่งใด เราก็จะกลายเป็นฑูตแห่งกิเลสไปโดยไม่รู้ตัว พร้อมบทแนะนำเกี่ยวกับสภาวะธรรมที่ได้เรียนรู้

 

ซึ่งหลังจากนี้บล็อก cactus.dinp.org, sansevieria.dinp.org, caladium.dinp.org จะถูกลบข้อมูลทั้งหมดและปิดตัวลงอย่างถาวร สามารถติดตามผลงานอื่นๆจากผู้เขียนได้ที่ facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์