ผลการเพาะมะเขือเทศ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

เป็นมะเขือเทศที่เพาะไว้ตั้งแต่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ก็ราว ๆ 20 กว่าวัน ได้ต้นกล้ามะเขือเทศที่ดูแข็งแรง จริง ๆ แล้วถ้ามันขึ้นง่ายขนาดนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเพาะเยอะแบบนี้ก็ได้ เพราะว่าเพาะเยอะไปก็โตช้า แย่งอาหารกัน ต้องจับแยกปลูก

คราวหน้าว่าจะลองเพาะให้มันปราณีตกว่านี้ดู เพื่อเปรียบเทียบกันว่าแบบไหนจะสะดวกต่อการทำงานมากกว่า บางครั้งเน้นคุณภาพก็ดี บางครั้งเน้นปริมาณก็ดี ก็แล้วแต่องค์ประกอบ ณ เวลานั้น ๆ

ผมค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงมะเขือเทศในระดับทดลอง เพราะสามารถทำจนเกิดวงจรแล้ว คือได้ผล>เก็บเมล็ด>เพาะเมล็ด>ดูแลให้เติบโต>ให้ผล

พอได้ผลแบบนี้แล้วก็ค่อยขยายผลต่อไป จากแปลงเล็ก ๆ ก็ค่อยขยายและเพิ่มปริมาณขึ้น ทดลองดูว่าจะจัดการอย่างไรกับต้นมะเขือเทศ อย่างตอนนี้ที่เลี้ยงอยู่นี่ต้นยาวกว่า 2 เมตร เอามาขึ้นเสา ก็สูงกว่า 2 เมตรเลยทีเดียว

ต้นมันจะสูงจะเลื้อยจะยาวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็อยู่ที่ว่าเราจะจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้มันได้ผล และดูแลได้ง่าย จะปล่อยให้ยาว หรือจะตัดให้สั้นก็ค่อยทดลองกันไปอีกที

ยอดไชยา

ยอดไชยา

ยอดไชยา

ไชยานี่เป็นเหมือนไพ่ตายของผมเลย ไม่มีอะไรกินก็กินไชยา เขาว่ามันคล้าย ๆ คะน้า

วันก่อนผมลองกินยอดดู ทั้งยอดอ่อนและก้านแก่ ยอดอ่อนนั้นกินสดได้เลย หวาน กรอบ ส่วนยอดแก่ต้องลอกเปลือกออกก่อน มันจะแยกเป็นชั้นชัดเจน ถ้ากิ่งไม่แก่มาก จะกินได้ทั้งกิ่งเลย

ทีนี้เราก็เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ แบบที่เห็นในรูปคือถ้าไม่ได้อยู่รดน้ำเป็นประจำ ยอดมันก็ไม่เติบโต แต่ถ้าได้รดน้ำติดต่อกันสักระยะหนึ่ง ยอดก็จะเขียว

ไชยาเติบโตได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ผมยังไม่เคยเทียบชัด ๆ ว่าแบบไหนมันโตดีกว่า แต่จากที่ลองสังเกตดูมันก็ผลิตใบได้ทั้งสองสภาพ โดยหลัก ๆ น่าจะเป็นน้ำมากกว่าแสง ถ้าน้ำเพียงพอมันก็โตไว ถ้าแดดดีแต่น้ำไม่พอ มันก็เตี้ยตันอยู่แบบนั้น

ตอนนี้ผมมีไชยาต้นที่ค่อนข้างโตอยู่ 3 ต้น ก็เด็ดกิน ตัดกินมากิน ปกติจะไม่ได้กินกิ่ง เพราะจะเอาไปปักชำต่อ เป้าหมายคือสัก 100 ต้น จะได้มีกินตลอดปี 3 ต้นที่มีนี่กินติดต่อกันสักสัปดาห์หนึ่งก็หมดต้นแล้ว พอหมดแล้วพักฟื้นอีกนานเลย กว่าจะโตให้ได้กินใหม่ ดังนั้นจึงต้องขยายพันธุ์ไชยาเพิ่มนั่นเอง

มันเทศ

มันเทศ

มันเทศ

ผมได้ทดลองปลูกมันเทศมาสักพัก โดยการซื้อหัวมันมา และวางไว้ รอให้มันแทงยอดออกมา แล้วค่อยเด็ดยอดนั้นไปปักชำต่อ

วิธีดังกล่าวค่อนข้างให้ผลดี พอปักชำแล้วต้นโต ก็ตัดลำต้นไปปักชำต่ออีก ซึ่งเวลาผมเอาไปปัก ก็เอาไปปักฝากไว้กับกระถางต้นไม้อื่น ๆ ที่ปลูกไว้ อย่างในรูปทางซ้ายบน ก็เอาไปฝากไว้ในกระถางประดูอ่อนที่เพาะเตรียมไว้ ได้ผลเป็นมันหัวเล็ก แต่จริง ๆ มีอีกหัว แต่ดันอยู่ใต้รากประดู่ เอาออกไม่ได้ เดี๋ยวประดู่จะเสียหาย

มันเทศหัวอ้วน ๆ ด้านหลัง เป็นมันที่ได้หัวเดียวจากกระถางที่วางทิ้ง ๆ ไว้หน้าบ้าน เป็นกระถางที่เอาไว้ชำไม้ เน้นวัสดุปลูกที่โปร่ง ไม่เน้นสารอาหาร แต่ก็ได้ผล ได้หัวมันมาอยู่

ผมเคยลองเอายอดมันที่ชำไว้แล้วมาลงแปลงที่นี่ เพราะคิดว่ามันน่าจะโตได้ดีกว่าในกระถาง กลายเป็นว่าตายเรียบ เอามาปัก 10 ก็ตาย 10 นั่นคือมีรากแล้วนะ แต่มันทนร้อนทนแล้งไม่ไหว

ผมเคยดูรูปก็เห็นเขาปลูกกันในไร่เลย แต่จริง ๆ มันเป็นพืชที่ดูเหมือนจะอ่อนไหวต่ออากาศมากอยู่เหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่ามันอ่อนแอเพราะผมเลี้ยงให้มันอ่อนแอ หรือมันต้องดูแลมากกว่านี้

เพราะตอนปักชำนั้นจะอยู่ในร่ม บ้านที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยโดนแดดเท่าไหร่ มันอาจจะชินกับสภาพนั้น แต่พอมาเจอแดดเต็มวัน แถมให้น้ำยังไม่พอ หนำซ้ำลมยังแรงอีก ไปกันใหญ่เลย

ซึ่งคราวนี้ก็ลองปลูกลงแปลงใหม่อีกครั้ง เลือกแปลงที่โดนแดดไม่เต็มวัน อยู่ใต้ร่มไม้ เผื่อมันจะรอด จะได้มีมันเทศไว้กินเป็นประจำสักที

กล้วยกับปลี

กล้วยกับปลี

กล้วยกับปลี

ตั้งแต่เอากล้วยมาลง มีประมาณ 3 ครั้งที่เห็นมันออกลูก แต่ไม่เคยได้กินลูกมันเลย มันสุกช่วงกลับกรุงเทพฯ ทุกที จะตัดก่อนก็จะอ่อนเกินไป…

แต่ปลีนี่ได้กินทุกรอบ เมนูสิ้นคิดสำหรับปลีกล้วยคือเอาไปชุบแป้งทอด แต่หลัง ๆ เริ่มต้องคิดแล้วเพราะการทอดนั้นค่อนข้างเปลืองน้ำมันและทรัพยากรอื่น ๆ และยิ่งถ้าเอาไปทอด จะกะยากว่าจะได้อาหารปริมาณเท่าไหร่

ถ้าตามประสบการณ์ที่เคยทำมา การเอาหัวปลีไปชุบแป้งทอด จะแบ่งกินได้หัวหนึ่งถึงสองวัน แต่วันหลังจะลองไม่ทอดดู คงจะเอาไปผัด นึ่ง ต้มประกอบอาหารอื่น ๆ อาจจะได้สัดส่วนที่ต่างออกไป

เรื่องหัวปลีก็จบไป มาถึงเรื่องกล้วย ที่ไม่เคยได้กิน ครั้งนี้ตั้งใจว่าจะอยู่รอกินให้ได้ เพราะมันก็ออกผลมาให้เราหลายทีแล้ว เราก็ไม่อยู่กินมันสักที ไม่นกก็ค้างคาวเอาไปกินหมด

ที่เห็นนี่เป็นกล้วยน้ำว้า พันธุ์อะไรไม่รู้ ชาวบ้านให้มา แต่ไปขุดเองนะ ขุดมาเยอะ ขุดกันหลายรอบ รอบละ 10 กว่าต้น แต่รอดจริง ๆ ก็เหลือแค่หลักสิบนั่นแหละ ทดลองปลูกไปเรื่อย หลาย ๆ แบบ สุดท้ายถ้าจะให้อยู่ดี ต้องประคบประหงมมันช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็ค่อยปล่อยมันตามธรรมชาติ แต่ถ้าปลูกแล้วปล่อยตามธรรมชาติเลย ตายแน่นอน หน้าฝนก็ยังรอดยาก

ใบกะเพรา

ใบกะเพรา

ใบกะเพรา

ผมเด็ดใบกะเพรามาก็นึกถึงเมื่อตอนไปสั่งผัดกะเพราในร้านอาหารตามสั่งสมัยก่อน เรามักจะได้ใบกะเพรานิดเดียว

ต่อมาผมลองหัดปลูกกะเพราที่บ้านกรุงเทพฯ ก็ได้ผลดี แต่มันก็อยู่แต่ในกระถาง ไม่โตมาก ทำให้ไม่ทันกิน หรือบางทีลืมดูแลมัน มันก็ตายจากไปก็มี

มาตอนนี้ลงกะเพราไว้ที่สวน ลงดินไว้เลย มันก็ติดดี ตอนนี้อยู่ได้แม้ทิ้งไว้ตามธรรมชาติ แถมยังแพร่พันธุ์ไปในอาณาเขตข้างเคียงอีกด้วย

ผมเคยคิดว่ากะเพราต้องอยู่ในที่ร่มถึงจะงาม แต่พอเอาไปลองปลูกกลางแดด โดยที่แทบจะไม่ได้รดน้ำเลย มันก็ยังโต แตกกิ่งก้านใบให้พอกินได้

สรุปว่าตอนนี้มีกะเพรามากพอกิน เด็ดเท่าไหร่ก็ได้ วันไหนจะกินผัดกะเพราก็เด็ดมากิ่งหนึ่ง ได้ใบมากพอจะมาผัดที่เรียกได้ว่าผัดกะเพราจริง ๆ สักที

[21] ฟักทองจากตลาด

diary-0021-ฟักทองจากตลาด

21.ฟักทองจากตลาด

หลายวันก่อนได้ฟักทองจากตลาด 5 ลูก 30 บาท กิโลกรัมละ 10 บาท เฉลี่ยลูกละ 6 ขีด เขาแถมมาอีกลูกกลายเป็น 6

ก็ถามแม่ค้าว่าลูกเล็กแบบนี้สุกรึยัง เขาก็ว่าสุกแล้ว อายุมันได้แล้ว แค่ผลมันไม่ใหญ่ มันแล้ง ฯลฯ เราก็นึกในใจ เอ้อดีนะ ฟักทองลูกไม่ใหญ่ กินง่ายดี ดีกว่าลูกใหญ่แล้วผ่ามา อันนั้นเราไม่มีที่เก็บ แต่ลูกเล็กนี่ดี กินวันละครึ่งถึงหนึ่งลูกก็ยังได้ ไม่เป็นภาระเท่าลูกใหญ่

ปกติเวลาหาซื้อฟักทองในซูเปอร์มาเก็ตก็จะเลือกลูกเล็ก ๆ อยู่แล้ว ได้เจอเล็กแบบนี้ก็เหมาะเลย และที่สำคัญ กิโลกรัมละ 10 บาท นี่ก็เป็นราคาที่ถูกที่สุดของฟักทองที่เคยเห็นในตลาดด้วย (ถ้าเป็นมันเทศ เคยซื้อโลละ 5 บาท)

จริง ๆ จะซื้อมาเยอะกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเก็บได้นานขนาดไหน ก็ไม่เคยลอง แต่เดี๋ยวถามคนขายเอาจะง่ายกว่า เพราะซื้อมาเดี๋ยวก็กินหมดตลอด ไม่เคยเก็บไว้ข้ามเดือนข้ามปีสักที

ฟักทองนี่เป็นอาหารสำรองสำหรับผม ซื้อติดไว้เผื่อไม่มีอะไรกิน ก็กินฟักทองนี่แหละ มันเก็บได้นานโดยไม่ต้องมีตู้เย็น ผักอีกชนิดที่กำลังหัดนำมาประกอบอาหารคือฟัก ฟักนี่ก็เก็บได้นาน เคยลองเอามาทำแต่ฟักอ่อน ฟักแก่นี่ไม่เหมาะ เพราะใหญ่เกินไป กินภายในวันสองวันไม่หมดจะเสียของ

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะฟักทอง หรืออะไร ถ้าสามารถเก็บได้นาน และเหมาะกับแบ่งกินเป็นมื้อ ๆ ก็จะดีมาก ดูจะสวนทางกับกระแสการปลูกพืชผักนะ ของเขาต้องให้ได้ลูกใหญ่ ของผมเน้นเล็ก ๆ พอกินไปวัน ๆ ….

เลยคิดว่าถ้าปลูกแล้วแห้งแล้งได้ผลแบบนี้ ก็เอานะ ไม่รู้จะใหญ่ไปทำไม กินลำบาก เดี๋ยวปีนี้จะลองปลูกฟักทองกันอีก หวังว่าคงได้ผลมากกว่าหนึ่งลูกนะ

มะเขือเทศสุกคาต้น

มะเขือเทศสุกคาต้น

มะเขือเทศสุกคาต้น

ผ่านไปกว่าครึ่งเดือนแล้วที่ถ่ายรูปนี้ไว้ จนตอนนี้มะเขือเทศในรูปก็เริ่มเหี่ยวนิดหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในระยะที่กินได้ ยังไม่เน่า

ก็เลยนึกได้ว่า วิธีเก็บที่ดีที่สุดก็คือปล่อยมันอยู่กับต้นละนะ เพราะถ้าไม่มีตู้เย็น การเก็บผักผลไม้มาวางทิ้งไว้มันก็จะเหี่ยว

ตอนนี้ก็คิดว่าจะเอาสองลูกนี้ไปเพาะเมล็ดต่อ เพราะลองกินดูแล้วก็อร่อยแบบมะเขือเทศ จะว่ายังไงดี.. มันก็มีหวานเปรี้ยวไปตามเรื่องราวของมัน

ไม่รู้อันนี้พันธุ์อะไร เพราะเป็นมะเขือเทศที่ซื้อมาจากตลาด ถามชาวบ้านเขาก็บอกไม่รู้… แต่เพาะมะเขือเทศนี่เพาะง่าย สนุกดี ส่วนใหญ่ต้นจะอึดแข็งแรง ไม่ต้องดูแลมาก กะว่าหน้าแล้งนี่ปลูกมะเขือเทศคงดี เพราะดูจะใช้น้ำไม่เยอะ แถมยังเก็บผลผลิตได้หลายรอบอีกต่างหาก

มะเขือเทศในพงหญ้า

มะเขือเทศในพงหญ้า

มะเขือเทศในพงหญ้า

ก่อนจะกลับกรุงเทพฯ เมื่อราว ๆ สามเดือนก่อน ก็ปลูกมะเขือเทศทิ้งไว้ รวมทั้งผักชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่นผักบุ้ง ถั่วแขก

ถั่วแขกนี่ยังพอเหลือต้นให้เห็นแต่ฝักนั้นเหี่ยวไปแล้ว ส่วนผักบุ้งนี่ไม่เหลือแม้แต่ตอ แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือมะเขือเทศนี่แหละ

ลองคิดดูว่ากลับมาเจอสภาพหญ้ารก ๆ แล้วมีลูกอะไรสักอย่างสีแดง ๆ ในพงหญ้า มันก็น่าสนใจใช่ไหม แล้วที่มันดีกว่านั้นคือ มันรอดตั้ง 4 ต้นแน่ะ (จากที่ปลูกไว้ 10-15 ต้น) เมื่อสามเดือนก่อนเป็นต้นมะเขือเทศสูงไม่ถึง 6 นิ้ว แต่เราก็จากมันมา ทิ้งมันไว้ตามธรรมชาติ สรุปว่ารอด มีหลายลูกด้วย เดี๋ยวจะเอาผลสุกมาเพาะกันต่อไป เพาะขึ้นได้ผลนี่สนุกกว่าทำอาหารอีกนะ แค่ไม่อิ่มเท่านั้นเอง อยากมีกินก็ต้องขยันเพาะ ปลูก เลี้ยงกันอีกหน่อย

เพาะถั่วงอก

เพาะถั่วงอก

เพาะถั่วงอก

เห็นคลิปที่เขาสอนเพาะถั่วงอกแบบง่าย ๆ และเพื่อนก็ลองเอามาทำแล้วได้ผลจริง ไม่ยาก ก็เลยลองทำบ้าง

ตอนแรกนั้นก็ติดที่ไม่มีวัสดุ ก็เลยว่าจะกลับกรุงเทพก่อนแล้วค่อยทำ ไป ๆ มา ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าเราน่าจะลองประยุกต์ดู

ก็เอากะละมังโลหะที่ซื้อมาจากร้าน 20 บาท มาเจาะก้นด้วยตะปู

เอาผ้าเช็ดตัวเก่าที่เคยใช้เป็นผ้าเช็ดทั่วไปมาเป็นผ้ารองแต่ละชั้นเพื่อเก็บกักความชื้น

เอาถาดพลาสติกที่เป็นรู ที่เป็นของเหลือจากที่เขาใส่เส้นขนมจีนมาเป็นตัวกั้นระหว่างชั้นของถั่วงอก

แล้วก็หาอะไรที่พอดีมาปิดไม่ให้มีแสง ลำดับก็คือใส่ผ้าไปก่อน แล้วใส่ถาด แล้วก็ใส่ถั่วที่แช่น้ำมาแล้วคืนนึง แล้วก็ใส่ผ้า ใส่ถาด ใส่ถั่ว สลับกันไปแบบนี้ อย่างของผมทำสี่ชั้น

ที่เห็นเขียว ๆ นั่นเพราะวันก่อนมันโตจนดันฝาออก แล้วไม่ได้หาอะไรมากดทับไว้ พอแสงเข้า ก็เลยยอดเขียว แต่ก็กินได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร

จริง ๆ 3 วันก็กินได้แล้ว แต่ในรูปนี้ผมทิ้งไว้ 4 วันเพราะจะเอามาทำอาหารในวันที่ 4 พร้อมกับวัตถุดิบอื่นที่ซื้อมาจากตลาด

ถั่วงอกปลูกเองจะต่างจากถั่วงอกซื้อเขา ถ้าผมซื้อถั่วงอกมาเย็นนี้ พอถึงพรุ่งนี้สาย ๆ มันก็จะช้ำ ก็เริ่มเน่าแล้ว (ไม่มีตู้เย็น) ดังนั้นทำเองดีกว่า ปลอดภัยกว่า สบายใจกว่า ยืดหยุ่นกว่า ประหยัดกว่า

ฟักทองน้อย

ฟักทองน้อย

ฟักทองน้อย

ถางหญ้าไปเจอลูกฟักทอง ขนาดเท่าที่เห็นนั่นแหละ ใหญ่กว่าไฟแช็กนิดหน่อย

ก่อนกลับ กทม รอบที่แล้วปลูกฟักทองไว้ ทั้งฟักทองพื้นบ้านและฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองบ้านนั้นไม่ได้ผล คงเพราะน้ำและแดดไม่เหมาะสม

น้ำคงไม่เท่าไหร่ เพราะฝนตกตลอด แต่แสงแดดนี่คงไม่ได้เลย เพราะหญ้าขึ้นงามมาก คงจะบังแดดหมด และฟักทองก็คงจะตาย ด้วยเหตุนานับประการ

ตอนแรกผมก็คิดว่าจะรอดนะ แหม ปล่อยไว้หน้าฝนนี่มันน่าจะรอดสิ ที่ไหนได้ มันโตสู้หญ้าไม่ได้ ไว้คราวหน้าค่อยลองใหม่

ฟักทองที่เห็นนี้เป็นฟักทองญี่ปุ่น เพราะสังเกตจากเมล็ด เมล็ดมันจะกลมๆ ไม่รีเหมือนฟักทองบ้าน แต่อาจจะไม่ใช่ก็ได้ อาจจะเพราะมันยังเล็กอยู่

เห็นเล็ก ๆ แบบนี้ ลูกนี้ก็กินได้นะ เอามาผัดกับข้าว ได้สารอาหารเพิ่มจากฟักทองไร้สารพิษไปอีกมื้อ