ฟัก

ฟักเขียว

ฟัก

หลังจากทิ้งสวนไปเกือบครึ่งปี กลับมากลายเป็นป่า แปลงผักก็เป็นทุ่งหญ้ารก เรียกว่าแทบไม่เหลืออะไรที่เคยปลูกไว้เลย หายหมดทุกอย่าง

แต่ก็มาเจอฟักลูกนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้รู้สึกว่าการปลูกของเรามันมีผลอยู่บ้าง ไม่สูญเปล่าไปหมด

ก่อนจะกลับไปกรุงเทพฯ ผมหยอดเมล็ดฟักไว้ใต้ต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย คือปลูกแบบฝาก ๆ กันไปนั่นแหละ จะได้รดน้ำจุดเดียวโตได้หลายต้น ก็หยอดไว้หลายที่เหมือนกัน ไม่ได้หาทั้งหมดหรอกนะ พอดีลูกนี้มันอยู่ใกล้ ๆ ทางเดินก็เลยเจอง่าย ส่วนลูกอื่นอาจจะมีก็ได้ แต่ก็คงโดนถางไปหมดแล้ว เพราะกลับมารอบนี้จ้างรถขุดมาปรับที่ เขาปรับให้โล่งเตียนเลย ก็แก้แผนผังที่ด้วย อะไรที่เคยคิดจะทำก็เลิก ปรับไปปรับมา จนตอนนี้ก็ลงตัวระดับหนึ่ง

กลับมาเรื่องฟักลูกนี้ ฟักลูกนี้ได้จากการเก็บเมล็ดจากฟักที่ซื้อจากตลาด ซื้อมากินแล้วก็เก็บเมล็ดมาเพาะ ก็ได้ผลดี ก็เป็นการเรียนรู้ที่ครบรอบการปลูกฟัก คือได้ผลมา เพาะเมล็ด จนถึงได้ผลใหม่ ที่เหลือก็เก็บความรู้ปลีกย่อยของการปลูกฟัก แต่ความรู้หลักเราพอมีหลักมีแกนไว้แล้ว ว่าปลูกแบบนี้ก็ได้ผลนะ ก็คงทดลองเรียนรู้กันต่อไปครับ

ต้มจืดฟัก

ต้มจืดฟัก

ต้มจืดฟัก

ผมเคยทำต้มจืดฟักมาครั้งหนึ่ง จุดประสงค์คืออยากจะลองใช้ฟักทำอาหาร คราวก่อนก็ไม่มีอะไรมาก มีฟัก เกลือ น้ำตาล ใบวอเตอร์เครส แค่นี้

แต่พอลองทำไปก็สงสัยว่ารสแบบที่เขาทำกันนี่เป็นยังไง ใส่สามสหาย คือ กระเทียม พริกไทย รากผักชีแล้วมันเป็นยังไง ผมไม่ค่อยได้ทำต้มจืดเลยไม่รู้ รู้แต่ปกติเขาใส่กัน สุดท้ายก็เลยซื้อมาลองให้หายสงสัย

สรุปกินไปแล้วเหมือนไม่ดีเท่าตอนแรก รสจัดกว่าก็จริง แต่กลายเป็นว่าหิวเร็วกว่าเดิม รู้สึกไม่อยู่ท้อง ทั้ง ๆ ที่ปริมาณอาหารก็เยอะกว่าครั้งก่อนที่ลอง

ต้มฟักหม้อหนึ่ง ผมจะกินได้สองวัน วันหนึ่งกินเป็นกับข้าว อีกวันก็ใส่ข้าวลงไปต้มพร้อมอุ่นเลย กลายเป็นข้าวต้มฟักนั่นแหละ

ทุนฟักลูกหนึ่งก็ตก 10-15 บาท แบ่งกินได้สองวันแบบนี้ ก็ตกค่าผักเพียงแค่ 5 – 8 บาทต่อวันเท่านั้น ส่วนจะเติมจะเสริมอะไรก็แล้วแต่เหมาะสม ถ้าเสริมแล้วมันดีก็เสริม แต่ถ้าไปซื้อกระเทียม ผักชี (พริกไทย มีอยู่แล้ว) มาเติมแบบคราวนี้ ก็ดูจะกลายเป็นสิ่งเปลืองเงิน และเสียสุขภาพไปในตัว มันอาจจะเหมาะกับช่วงที่หนาวมากกว่านี้ก็ได้ ถ้าอากาศแบบตอนนี้เติมฤทธิ์ร้อนมากไปก็คงจะเกิน

[21] ฟักทองจากตลาด

diary-0021-ฟักทองจากตลาด

21.ฟักทองจากตลาด

หลายวันก่อนได้ฟักทองจากตลาด 5 ลูก 30 บาท กิโลกรัมละ 10 บาท เฉลี่ยลูกละ 6 ขีด เขาแถมมาอีกลูกกลายเป็น 6

ก็ถามแม่ค้าว่าลูกเล็กแบบนี้สุกรึยัง เขาก็ว่าสุกแล้ว อายุมันได้แล้ว แค่ผลมันไม่ใหญ่ มันแล้ง ฯลฯ เราก็นึกในใจ เอ้อดีนะ ฟักทองลูกไม่ใหญ่ กินง่ายดี ดีกว่าลูกใหญ่แล้วผ่ามา อันนั้นเราไม่มีที่เก็บ แต่ลูกเล็กนี่ดี กินวันละครึ่งถึงหนึ่งลูกก็ยังได้ ไม่เป็นภาระเท่าลูกใหญ่

ปกติเวลาหาซื้อฟักทองในซูเปอร์มาเก็ตก็จะเลือกลูกเล็ก ๆ อยู่แล้ว ได้เจอเล็กแบบนี้ก็เหมาะเลย และที่สำคัญ กิโลกรัมละ 10 บาท นี่ก็เป็นราคาที่ถูกที่สุดของฟักทองที่เคยเห็นในตลาดด้วย (ถ้าเป็นมันเทศ เคยซื้อโลละ 5 บาท)

จริง ๆ จะซื้อมาเยอะกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเก็บได้นานขนาดไหน ก็ไม่เคยลอง แต่เดี๋ยวถามคนขายเอาจะง่ายกว่า เพราะซื้อมาเดี๋ยวก็กินหมดตลอด ไม่เคยเก็บไว้ข้ามเดือนข้ามปีสักที

ฟักทองนี่เป็นอาหารสำรองสำหรับผม ซื้อติดไว้เผื่อไม่มีอะไรกิน ก็กินฟักทองนี่แหละ มันเก็บได้นานโดยไม่ต้องมีตู้เย็น ผักอีกชนิดที่กำลังหัดนำมาประกอบอาหารคือฟัก ฟักนี่ก็เก็บได้นาน เคยลองเอามาทำแต่ฟักอ่อน ฟักแก่นี่ไม่เหมาะ เพราะใหญ่เกินไป กินภายในวันสองวันไม่หมดจะเสียของ

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะฟักทอง หรืออะไร ถ้าสามารถเก็บได้นาน และเหมาะกับแบ่งกินเป็นมื้อ ๆ ก็จะดีมาก ดูจะสวนทางกับกระแสการปลูกพืชผักนะ ของเขาต้องให้ได้ลูกใหญ่ ของผมเน้นเล็ก ๆ พอกินไปวัน ๆ ….

เลยคิดว่าถ้าปลูกแล้วแห้งแล้งได้ผลแบบนี้ ก็เอานะ ไม่รู้จะใหญ่ไปทำไม กินลำบาก เดี๋ยวปีนี้จะลองปลูกฟักทองกันอีก หวังว่าคงได้ผลมากกว่าหนึ่งลูกนะ