สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

ปฏิบัติธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ใช้วิถีการไหน มีเคล็ดลับอะไร?

มีคำถามมานะครับ คิดว่าถ้าเอามาตอบกันในนี้น่าจะได้ประโยชน์เยอะขึ้น

1.ผมเริ่มศึกษาธรรมะมาตั้งแต่ก่อนปี 50 ก็ยังเป็นธรรมะทั่วไปที่กระจายอยู่ในสังคม จนเมื่อปี 56 ได้คำตอบของการปฏิบัติลงตัว จึงได้เริ่มปฏิบัติจริงจัง จนชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลได้ชัด

2.การปฏิบัติธรรม ของผมนั้นใช้หลักอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ผมเชื่อว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีปัญญาในการคิด พูด ทำ ไม่ใช่หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ดังนั้นการปฏิบัติจะเกิดขึ้นในจิตเป็นหลัก ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการมุ่งเน้นไปที่การกำหนดรูปแบบทางร่างกาย

3.เคล็ดไม่ลับในการปฏิบัติของผมคือ มีอาจารย์ที่ถูกต้อง ถ้ามีอาจารย์ที่ถูกต้อง ทางที่ปฏิบัติมันก็ถูกต้อง

ตัวผมนั้นจะเอนเอียงไปในสายปัญญา ไม่ใช่สายศรัทธา ดังนั้น การที่ผมจะเชื่อหรือปฏิบัติตามใครได้นั้น เขาจะต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของผมได้ทั้งหมดโดยไม่แสดงอาการกิเลสใด ๆ เช่น โกรธ กลัว ตอแหล ฯลฯ หรือถามวัวตอบควาย คนจะเป็นอาจารย์ผมต้องชัด แม่นประเด็น รู้จริง มีปัญญาจำแนกธรรม เมตตาสั่งสอน และต้องทันความฉลาดของกิเลสผม ไม่งั้นก็เอาผมไม่อยู่เหมือนกัน

และไม่ใช่ว่าผมจะทดลองด้วยการถามลองเชิงกันครั้งสองครั้งแล้วจะรู้ มันต้องฟังเขามาก คุยกับเขามาก มันจะเริ่มรู้ว่าใครเป็นใคร โดยสัจจะมันจะรู้ของมันเอง เพราะกิเลสมันจะแพ้ธรรมะ ปัญญาน้อยกว่ามันจะแพ้ปัญญามากกว่า แล้วเราก็ไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเพื่ออวดดี เราปฏิบัติเพื่อเจริญ ดังนั้นอะไรที่ดีกว่าเราก็น้อมเข้ามาหาตัวเอง เราก็รับท่านที่เหนือกว่าเป็นอาจารย์เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะปิดทางศึกษาของตนเอง หลังจากได้พบครูบาอาจารย์ที่เชื่อว่าถูกตรงแล้ว ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลที่น่าพอใจแล้ว ก็ได้ออกไปศึกษาค้นคว้าภายนอก ศึกษาสำนักต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทั้งไทยและต่างประเทศ ศึกษาคนที่แสดงตนว่ามีดี จนกระทั่งผมค้นพบความจริงว่า ไม่มีหรอก ที่เขาจะสอนอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกตรงเหมือนอาจารย์ผม ที่ผมรู้เพราะผมปฏิบัติได้ผล เมื่อได้ผลก็จะรู้ว่า วิธีไหนได้ผล วิธีไหนไม่ได้ผล วิธีไหนได้ผลเป็นมิจฉา วิธีไหนได้ผลเป็นสัมมา มันมีความแตกต่างในรายละเอียดของการปฏิบัติอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา ไม่ละเอียดลึกซึ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะอริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต คาดเดามั่วเอาไม่ได้ คนชัดก็จะชัด คนไม่ชัดก็ปฏิบัติมัว ๆ เมา ๆ กันไปตามวิบากของเขา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องพบกับสัตบุรุษก่อน คือได้พบกับอาจารย์ที่ถูกตรงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรมที่ถูกและพ้นทุกข์ได้ ถ้าพบอาจารย์มิจฉา มันก็มัวเมาหลงทางเข้าป่าเข้าพงกันไปใหญ่ อันนี้คือเคล็ดไม่ลับ แต่ถ้ามองในสังคมมันก็เหมือนป่าแห่งความลับยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันมีอยู่ มันยังแสดงตัวอยู่ มันเปิดเผยอยู่ แต่คนไม่เข้าใจ นี่แหละความไม่ลับที่ลึกลับ

ถ้าผมไม่ได้เป็นโสด

สมัยยังหลง ยังเฉโกอยู่ มันก็เคยหาเหตุจะไปมีคู่เหมือนกัน กิเลสผมมันก็ฉลาดใช่ย่อย แต่ดีที่เราคบบัณฑิต เราเลยรอดมาได้

ผมเคยคิดนะว่า ชีวิตเรามีคู่ไปก็ปฏิบัติธรรมได้ ช่วยเผยแพร่ธรรมได้ แต่ความจริงที่ได้มันจะไม่เป็นแบบนั้นหรอก

นี่ถ้าทุกวันนี้ผมไม่ได้อยู่เป็นโสดนะ ผมไม่มีเวลามานั่งพิมพ์แบบนี้หรอก ก็ต้องเอาเวลาไปบำรุงบำเรอคู่ เอาสมองไปคิดเรื่องคู่ ดีไม่ดีมีลูก ต้องคิดเรื่องครอบครัวอีก ไม่ใช่แค่คิดนะ ต้องทำด้วย เวลาที่เรามีอิสระในการทำประโยชน์อื่น ๆ มันจะเสียไปหมดเลย มันจะไปเทลงที่คนไม่กี่คนนั่นแหละ แทนที่จะทำประโยชน์ได้เยอะ ๆ มันก็ได้แค่นิดเดียว เพราะชีวิตมันจะลำเอียง เทไปด้านที่ตนหลงชอบ

แล้วผมก็จะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากผมฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็บอกแล้วว่าอย่าไปมี ไม่มีประโยชน์กับความเจริญเลย ทีนี้ถ้าเราจะฝืนไปทิศตรงข้ามนี่มันนรกเลย มันเข้าใกล้ขีดอนันตริยกรรมได้เลย (อัญญสัตถารุทเทส) คือได้ฟังธรรมที่ถูกแล้ว ได้เจอหมู่คนดีที่ถูกแล้ว เรายังหลีกยังหนีออกไปมีคู่ ไปสู่อธรรม มันจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ จะเริ่มตกต่ำ ห่างธรรม ธรรมที่เคยมีก็เสื่อมถอย เวียนกลับ ธรรมที่มีก็จะเริ่มบิดเบี้ยว ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องทนทุกข์รับวิบากกรรมไป

เพราะมีคู่มีครอบครัว ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยมาทำดีง่าย ๆ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเสียเวลาดูแลเขา ต้องทำหน้าที่ ต้องรับผิดชอบ ถามว่าทำแล้วดีไหม มันก็ดี เป็นสิ่งดี เป็นมงคล แต่ถ้าไม่ต้องทำมันก็ดีกว่า มันมีดีอย่างอื่นที่ดีกว่าเอาเวลาไปดูแลลูกเมียอีกเยอะ

แล้วกิจกรรมกับหมู่กลุ่มคนดีนี่อย่าไปหวัง ต้องเก็บวันหยุดยาวไปเที่ยวกับครอบครัว ถ้าไม่พาไป เขาก็โกรธ ไม่พอใจอีก แถมค่าใช้จ่ายบานเบอะ เขาไม่ได้ทนลำบากกันได้สักเท่าไหร่หรอก รถนี่ต้องมี แถมบางทีก็ต้องขึ้นเครื่องบิน ยิ่งถ้าร้องจะไปเมืองนอกนี่ยิ่งซวยเข้าไปใหญ่

เอาแล้วไง จะมานั่งพิมพ์บทความได้ที่ไหนล่ะ มันต้องเอาเวลาไปหาเงิน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย บำเรอให้เขาอิ่มกัน อิ่มวันนี้พรุ่งนี้หิวอีก ก็ต้องทำงานกันไป ทุกข์ก็ต้องทนทำ เบื่อก็ต้องทนทำ เวลาฟังธรรมหรออย่าหวังมาก แค่ต้องมาฟังปัญหาร้อยแปดภายในครอบครัวก็หมดเวลาแล้ว ไหนจะพ่อแม่พี่น้อง ไหนจะญาติมิตรเพื่อนสหาย ปัญหาเยอะไปหมด

ถ้าผมไปมีคู่นะ มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายไปแล้ว มันพลาดตั้งแต่เราเบือนหน้าหนีธรรมอาจารย์นั่นแหละ ท่านสอนทางพ้นทุกข์ เราไม่ทำตามมันก็ไปทางทุกข์เท่านั้นเอง แล้วจะหวังอะไรกับทางทุกข์ มันคนละทางกับทางพ้นทุกข์ มันยิ่งไปมันยิ่งทุกข์ มันไม่พ้นอยู่แล้ว นั่นหมายถึงผมก็มีโอกาสจะเสียชาตินี้ไปอีกชาติ ถึงจะเก่งก็เก่งขึ้นไม่ได้มากกว่าภาวะคนคู่ เพราะชาตินี้มันสอบตก มันล้างไม่ทัน จะไปเบื่อตอนแก่มันก็ไม่ทัน ผัสสะมันไม่เหมือนเดิม เหตุปัจจัยมันหมดแล้ว มันมีจังหวะเดียวให้ชีวิตผลิกก็แค่ตอนจะตัดสินใจมีหรือไม่มีนั่นแหละ

ส่วนจะหวังบรรลุหรือหลุดพ้นเพราะคบกันนี่ผมบอกเลยว่า ยากกกกกกกก… เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น คุณร่วมกันทำบาป ทำตามกิเลสกันมาเท่าไหร่ ทุ่มเทบำเรอกาม บำรุงอัตตากันมาเท่าไหร่ มันมีผลนะ มันบันทึกเป็นกรรมไม่พอ มันยังฝังเป็นอุปาทานด้วย ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นไปไม่ได้ จะมีเฉพาะบางกรณีพิเศษเท่านั้น ซึ่งก็อย่าไปหวังเลยว่าเราจะเป็นกรณีพ้นได้แบบง่าย ๆ

ขอให้ยินดีในความโสดเถอะครับ อย่างน้อยมันก็ยังทำให้เราได้มีเวลาแบ่งปันศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน

รับ …โดยไม่เฉไฉ แชเชือน บิดเบือน บดบัง

หนึ่งในกรรมฐานที่ผมระลึกได้เมื่อปีก่อนว่าควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง คือยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราฝึกไม่เบียดเบียนจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือปรับกลับไปมาระหว่างปล่อยวางกับลงมือได้ดีพอสมควร

หนึ่งในการยอมให้เบียดเบียน ก็คือการถูกติ ถูกวิจารณ์ ถูกด่า ถูกเข้าใจผิด ความเบียดเบียนเหล่านั้นคือสิ่งที่เข้ามาเบียดมาบี้ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ซึ่งสิ่งที่เข้ามาจะเป็นธรรมะก็ได้อธรรมก็ได้ ก็จะฝึกปฏิบัติไปเพื่อการยอมให้ถูกสิ่งอื่น เข้ามาขยี้ความยึดมั่นถือมั่น

ผมตั้งใจว่าถ้ามีสิ่งใด ๆ เข้ามาก็จะยินดีรับโดยไม่ปัดป้อง คือยินดีให้มันเข้ามาถึงจิตกันตรง ๆ เลย กำลังจิต(เจโต)ที่มีก็จะไม่เอามาปิดกั้นไว้ ให้มันได้เผชิญความจริงกันแบบใส ๆ เลยว่ากระทบแล้ว มันยังไง มันรู้สึกยังไง มันไปยึดอะไร

เมื่อกระทบกับเหตุการณ์แล้วจะไม่พยายามไปกดให้มันสงบในทันที แต่จะเน้นไปในการพิจารณาเหตุของความขุ่นมัวที่ฟุ้งขึ้นมาในจิต ว่ามันติดมันหลงยึดอะไร แต่ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ ถ้ามันจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น คงต้องกดแล้วเก็บไว้ก่อน

ผมเคยเห็นคนที่ถูกวิจารณ์แล้วเฉไฉ ปัดป้อง ติอย่างหนึ่งไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ติเรื่องหนึ่งไปยอมรับอีกเรื่องหนึ่ง ติปัจจุบันไปยอมรับอดีต ถ้าโดยส่วนตัวสมัยก่อนผมก็เคยเป็นอาการนั้น คือมันอยู่ภายใต้กิเลส เวลาโดนติ กิเลสมันจะพาเฉ ไม่พาซื่อ มันอาจจะเหมือนซื่อ แต่มันจะออกเป็นซื่อบื้อ คือติมาเสียของ ติมาไม่ได้ถูกนำไปแก้ปัญหา คือไม่ได้เอามาพิจารณาจนถึงเหตุเกิด ไม่ได้เอามาทำใจในใจไปถึงที่เกิด เพราะมันถูกบิดเบือนตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนการฟังแล้ว มันเพี้ยนไปตั้งแต่ฟังแล้ว เพราะไม่มีปรโตโฆษะ สิ่งที่ฟังมันเลยบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่เขาพูด เพราะมันไม่ฟัง หรือฟังเขา 1/2 ฟังกิเลส 1/2 รวมกันเป็น 1 คือฟัง แต่ไม่ได้ฟังเขาทั้งหมด

ผมรู้เลยว่าถ้าเรายังไม่ยินดีรับคำติ ไม่ยินดีฟังความเห็นที่แตกต่าง เราก็จะเสียโอกาสในการพัฒนา คำติที่เขาติมามันก็เสียของ

ซึ่งผมก็เอามาประยุกต์กับตัวเองเมื่อจำเป็นต้องติคนอื่นเหมือนกัน คือดูว่าติเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็เลิก เสียพลัง เสียเวลา กิเลสเขาครอบ อินทรีย์พละเขาอ่อน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตินี่มันไม่ง่าย มันต้องปรุงเยอะ ต้องประมาณมาก

บางคนบอกยอมให้ติได้ แต่พอติไปแล้วไม่เข้า เฉไฉ ผมก็เลิก เมื่อผมเข้าใจดังนั้นว่าการตินี่มันไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องทำดีมากพอ คนติเขาก็เสี่ยง และเสียพลัง จึงพยายามฝึกตัวเองให้กล้าหาญและแกร่งมากพอจะรับคำติโดยไม่เฉไฉ บิดเบือน ยอมรับความจริงในปัจจุบันเลยว่า เขาติเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุอะไรก็ต้องไปตรวจตัวเองดูว่าตัวเองพร่องหรือผิดพลาดอะไรแล้วก็เอาไปแก้ไข ถ้าเขาติถูกเราก็ได้แก้ไข ติผิดก็ไม่เป็นไร ก็เอามาตรวจใจทวนไปว่าเรายอมให้เขาติได้หรือไม่ แม้จะถูกจะผิดก็ตามที

เพราะสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับเรายอมให้คนอื่นเข้ามาเบียดเบียนบดขยี้ความยึดมั่นถือมั่นของเราหรือไม่ เท่านั้นเอง