เรียนรู้การสอนจากอาจารย์

การที่เราได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้ฟังความคิดเห็นของท่าน ได้พูดคุย ได้ซักถาม ได้ทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เลิศยอดที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะพึงมีได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในอนุตริยสูตร

ผมเคยได้เห็นหลายลีลาการสอนของอาจารย์ทั้งแบบปกติ จริงจัง ดุ ปล่อยวาง ทำเฉย ฯลฯ แต่ละครั้งก็เป็นสิ่งที่ประทับไว้ในใจ เพื่อการเรียนรู้และประโยชน์ของศิษย์

ครั้งนี้ไปค่ายพระไตรปิฎก สิ่งพื้นฐานที่ได้เรียนก็คือภาคทฤษฎี แต่ค่ายนี้จะมีภาคปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นมา คือกิจกรรมการทำบาราย ซึ่งต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการทำ

ภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้แสดงให้ได้เห็นและเรียนรู้อยู่เสมอ ผมไม่แปลกใจที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาและมาร่วมเสียสละเช่นนี้

ระหว่างที่ร่วมพูดคุยงานในส่วนวิชาการและสื่อ อาจารย์ได้เดินมาทักทาย และพูดคุย มีเนื้อความตอนหนึ่งประมาณว่า “การสอนงานคนนี่แหละจะทำให้บรรลุธรรมเร็วที่สุด” เนื้อหาขยายหลังจากนั้นคือการสอนนี่จะได้พบกับความไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เพ่งโทษกันไปกันมาระหว่างนักเรียนกับคนสอน ก็จะมีโจทย์ให้ได้ฝึกล้างใจกันไป

มาถึงตอนเย็น ผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนาม ทำบาราย ขนอิฐและเศษวัสดุ ลงในร่องน้ำ

ซึ่งตรงนั้นก็มีท่อน้ำที่เชื่อมระหว่างถนนสองฝั่ง อาจารย์ก็บอกให้เอาหินก้อนใหญ่ไปกันปากท่อไม่ให้มีเศษหินเล็ก ๆ หล่นเข้าไป

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าวางหินอย่างไร เพื่อที่จะได้ผลนั้น อาจารย์ก็มาวางให้ดู เราก็ทำตาม…

ผ่านไปสักครู่เล็ก ๆ ระหว่างลำเลียงหินและเศษวัสดุมาถม ผมก็ลืมไปเลยว่าเคยเอาหินไปวางบังปากท่อ ว่าแล้วก็เอาพวกเศษปูนที่รับมาทุ่มลงไป หมายจะให้เศษแผ่นปูนแตกละเอียด เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาตามทุบกันทีหลัง …อาจารย์เห็นดังนั้นก็ทักอย่างปกติประมาณว่า ค่อย ๆ วางก็ได้นะ เพราะแผ่นหินที่วางกันปากท่อไว้แตกหมดแล้ว

พอได้ยินดังนั้น เราก็นึกได้ ลืมสนิทว่าเคยทำไว้ ว่าแล้วก็ค่อย ๆ รื้อมาทำใหม่ วางให้ดีกว่าเดิม

… ดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม แต่ผมได้เรียนรู้อย่างมากมาย เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า การสอนคนต้องทำอย่างไร

นี่ขนาดผมทำลายสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ท่านก็ยังเฉย ๆ ยังเบิกบานได้อย่างปกติ แล้วก็ยังสามารถบอกสิ่งดีกับผมได้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยวางให้มันพังไปอย่างนั้น เป็นความสงบเย็นที่จะรับรู้ได้เมื่อได้ทำงานร่วมด้วย

ตอนที่จัดหินใหม่ให้เข้าที่ ผมก็ระลึกว่า เราก็ต้องใจเย็นแบบอาจารย์นี่แหละ ทำให้ได้แบบอาจารย์นี่แหละ แม้เราจะบอกจะสอนเขาไปแล้ว เขาทำไม่ได้ เขาทำผิด เขาทำพัง เราก็ต้องวางใจ แล้วก็ทำดีบอกสิ่งดีกับเขาไปเรื่อย ๆ ส่วนความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สอน มีเพียงการนำเสนอสิ่งดีเท่านั้นที่เป็นหน้าที่

สรุปก็ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี คือได้ฟังคำสั่งสอน และภาคปฏิบัติ คือทำให้ดู ให้เห็นเลยว่า ความดีนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะดีจริง ดีแท้ ดีไม่มัวหมอง (ความดีที่มัวหมอง คือดีที่มีอัตตา หรือมีความชอบ ความชังไปปน)

คนรักฆ่ากันตาย

เหมือนจะเป็นข่าวธรรมดา ๆ ไปซะแล้ว เพราะมีเป็นประจำ แต่กระนั้นคนก็ยังไม่วายจะหาคู่ ไม่พิจารณา ไม่ทำใจในใจให้เข้าใจว่า คนที่จะเข้ามาเป็นคู่นั้นแหละ คือตัวเวรตัวกรรม

เขาก็หากันไป ตามเรื่องตามราว ตามกิเลสที่มี หามาบำเรอกาม บำเรออัตตากันไป ตามที่เห็นว่าดี เห็นว่ามีประโยชน์

แต่ก็ไม่รู้เลยว่าทุกอย่างมันมีต้นทุน มันมีวิบากกรรมเป็นตัวผลัก ได้คนดีมา ก็เสพผลดี กรรมดีที่สะสมไว้ก็รั่วออกไปเรื่องไร้สาระ ส่วนใหญ่ก็ไหลไปกับการกิน เที่ยว …. เสพทุกวัน กุศลที่เคยทำไว้ก็หมดไปทุกวัน

หมดเมื่อไหร่ก็เหมือนเทวดาตกสวรรค์ เริ่มจะเปลี่ยนทิศ จากเสพสุขมาจมทุกข์แทน แต่ก็ไม่อยากออกเพราะมันยังมีสุขให้เสพ (ปั้นสุขลวงขึ้นมาเองตามที่หลง) แม้จะมีทุกข์ก็ตาม สุดท้าย แม้จะสุข 1 หน่วย ทุกข์ 100 ก็ยังเอา เป็นสภาพที่ชาวบ้านงง ว่าทนอยู่ได้อย่างไรทุกข์ขนาดนี้

ดีไม่ดีทุนหมด วิบากร้ายเข้า เขาก็ทำร้ายเอา ฆ่าเอา นอกใจ ตายจาก สารพัดเรื่องที่จะทำให้ทุกข์

คนหาคู่นี่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวแท้ ๆ พระพุทธเจ้าตรัสสอนประมาณว่า คนเขาได้คู่ ได้ลูกเขาก็หลงดีใจว่าได้ลาภ แต่นั้นเป็นลาภเลว (อนุตริยสูตร)… คือไม่ได้ดีกว่านั่นแหละ แต่คนหลงก็วนอยู่แต่เรื่องนี้ไง เรื่องได้คู่ได้ลูกนี่แหละ

เอากุศลตัวเองมาเปลี่ยนให้ได้เสพตามกิเลส มันอยากได้อะไรจิตมันก็จดจ่ออยู่อย่างนั้น สุดท้ายมันก็พยายามแส่หาสิ่งนั้นมา ได้มากุศลกรรมที่ทำมาก็หมดไป เหมือนทำดีมามากมายแล้วเทให้หมากิน ตัวเองไม่ได้กินใช้ผลนั้น กิเลสเอาไปกินหมด

คนมากมายเกิดแล้วตายไปเปล่า ๆ เพราะหลงมีคู่นี่แหละ ไม่ได้มีสาระอะไรเล้ย เอามากอดอยู่ได้ ความเห็นที่ว่าการมีคู่นั้นดี เป็นสุข เป็นสิ่งน่าได้น่ามีนั่นแหละ