ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติให้เลิกกินเนื้อสัตว์

มีบางท่านก็ยังเห็นและสงสัย ส่วนบางท่านปักมั่นไปแล้วก็ลองพิจารณากันดู

ครั้งที่พระเทวทัตมาขอให้บัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ยินดีตามพระเทวทัต

!? แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ และท่านก็ไม่ได้ห้าม ถ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ครั้งที่มีพราหมณ์มากล่าวหาว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ท่านก็ยังปฏิเสธว่า เราถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง

*ทำไม่ท่านจึงไม่บัญญัติ เพราะท่านบัญญัติไว้แล้วในศีลข้อ ๑ เนื้อความว่า “เธอละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่”

นั่นหมายความว่าเมื่อปฏิบัติตามศีลไป จะละเว้นเนื้อสัตว์ได้เอง เพราะการที่ยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ก็ยังไม่เต็มในเมตตา ยังไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความกรุณา ไม่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ …ก็อาจจะเถียงไปได้ ว่าหวังประโยชน์แก่คนฆ่า คนขาย คนเลี้ยง เดี๋ยวธุรกิจบาปเขาจะพัง

ในการปฏิบัติศีลนี้ไม่มีบทลงโทษ นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติก็จะทำไปตามลำดับได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละ คนอ่อนแอ ยังอยากมากก็ต้องหามาเสพ แต่ถ้าตั้งจิตถูกว่าจะพยายามลด ละ เลิกก็ไม่ได้ผิดในทางปฏิบัติอะไร เพราะท่านเข้าใจว่ากิเลสมันร้าย มันต้องค่อย ๆ ปฏิบัติลด ละ เลิกไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วการไม่กินเนื้อสัตว์ นั้นเป็นระดับเบสิคของพุทธที่เรียกว่าได้กันโดยสามัญ เพราะใช้ปัญญาเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้ในปัจจุบัน ผู้คนไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธ เขาก็ยังมีปัญญาลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนชีวิตอื่นมาก

ดังจะสอดคล้องกับหลักพุทธอีกหลายข้อ คือการเอาสัตว์มาฆ่ากินนี่บาปตั้งแต่ สั่ง ฉุด ลาก ดึงมันมา ทำร้ายมัน ฆ่ามัน สุดท้ายทำให้คนยินดีในเนื้อที่ฆ่ามานั้น บาปทุกขั้นตอน หรือการค้าขายที่ผิด พระพุทธเจ้าไม่ให้ขายชีวิตสัตว์ ไม่ให้ขายซากหรือเนื้อสัตว์ เพราะท่านรู้ว่ามันจะเป็นเหตุให้คนไปหาผลประโยชน์จากสัตว์ ไปเบียดเบียนสัตว์ ท่านก็ปิดประตูนี้

แค่เอาจากจุลศีลข้อ ๑ ,มิจฉาวณิชชา ๕ ,ทำบุญได้บาป ๕(ชีวกสูตร) เอาแค่นี้ก็ไม่ต้องบัญญัติว่าควรกินหรือไม่ควรกินแล้ว เพราะสาวกผู้มีปัญญา ปฏิบัติตามครรลองคลองธรรมไปโดยลำดับแล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดควรละ สิ่งใดควรยึดอาศัย

เชื่อไหม ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ นี่มันไม่ต้องเถียงกันเลยนะ มันจะสอดคล้องกับข้อธรรมทั้งหมดเลย มันจะไม่ขัด ไม่แย้งกันเลย แต่ถ้ากินเนี่ยนะ มันจะขัด จะแย้งไปหมด ยังมีอีกหลายบทที่ยกมาแล้วจะยิ่งล็อกไปใหญ่ แต่มันยาว ก็ยกไว้ก่อน

แต่ก็เอาเถอะ ถ้าเขาปฏิบัติจนเจริญจริง ภาวนาได้จริง เมตตามีจริง เขาก็หาทางเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงทางอ้อมนั่นแหละ ไม่ปฏิบัติอะไรหรือปฏิบัติผิด มันก็ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร มันก็เถียงกินอยู่นั่นแหละ เอ้อ จะมีปัญญาเพิ่มก็ปัญญากิเลสนี่แหละ สามารถเถียงกิน เถียงเพื่อที่จะทำชั่ว เถียงเพื่อที่จะเบียดเบียนได้เก่งขึ้น

…ก็เอานะ ถ้าเข้าใจว่าพ้นทุกข์ก็ทำกันไป แต่ผมว่าไม่พ้นหรอก เพราะสุดท้ายก็ต้องคอยเถียงกินกันทุกชาติ ผมว่ามันทุกข์นะ ไม่เหมือนคนที่เผยแพร่สิ่งดี เอ้ามาลด ละ เลิกการเบียดเบียนกันเถอะ นี่เขาทำไปมันก็เป็นกรรมดี คนจะเห็นต่างบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกับใคร ไม่ต้องมาปกป้องกิเลสหรือความเห็นผิดของตัวเองกับใคร ก็เผยแพร่ไปตามโอกาสของตัวเองนี่แหละ สบาย ๆ นึกออกก็บอก นึกไม่ออกก็วางไป ไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องบอกสิ่งดี แต่ก็อาศัยสิ่งดีให้ดีเกิด

สัจจะมันไม่ได้ถูกหรือผิดเพราะเชื่อหรือคนกำหนดนะ มันถูกมันผิดของมันโดยธรรม คุณกินสิ่งที่มันเป็นโทษ มันเบียดเบียน มันก็เป็นโทษ เบียดเบียนของมันอยู่อย่างนั้น มันหนีความจริงนี้ไม่พ้นหรอก สุดท้ายก็ต้องได้รับผลกรรมตามที่ทำ และผลของการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็แตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยของมัน

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง

สัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดในตนเอง…

วันก่อนคุยกับเพื่อน เกี่ยวกับเรื่องภาวะที่สะกดจิตตนเองอยู่ในภพหนึ่งๆ คุยไปคุยมาก็ไปเรื่อง อุปาทาน คนอุปาทานกิเลสได้ คนก็อุปาทานธรรมะได้เหมือนกัน

เหมือนกับคนที่ฟังธรรมะมา (แม้จะเป็นธรรมที่ถูกตรงก็ตาม) แล้วยกทั้งหมดนั้นมาสวมหัว เหมือนสวมหัวโขนเป็นคนมีธรรมะ เป็นคนดี ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสภาพของ “สีลัพพตุปาทาน” คือเขาจะปฏิบัติได้หมดเลยนะ จะเป็นโสด จะไม่กินเนื้อสัตว์ จะกินมื้อเดียว จะเป็นคนเสียสละ จะพูดธรรมะ อะไรก็พูดได้จำได้คล่องก็มีเหมือนกัน

ผมมานั่งระลึกถึงหนังสือที่อ่านวันก่อนว่า บัวใต้น้ำ (อเวไนยสัตว์ – สัตว์ที่สอนไม่ได้) ก็มีเนื้อหาที่เขาให้มาดังนี้ คือเป็นผู้ดีแต่พูด เพราะได้ฟังพุทธพจน์ไว้มาก กล่าวก็มาก จำไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผลในชาตินี้ (พุทธกำเนิด หน้า76)

เอาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ที่เห็นเป็นเหมือนคนมีธรรมะก็อาจจะไม่มีจริงก็ได้ เห็นพูดเห็นสอนธรรมะ พิมพ์หนังสือ best seller เป็นนักพูดยอดนิยม ก็อาจจะไม่มีธรรมะนั้นจริงก็ได้

เพียงแค่จำมา ท่องมา ยกมาไว้ สวมหัวตน แล้วก็ท่องว่า นี่ฉันเป็นผู้มีธรรม ฉันเป็นผู้มีธรรม … ไอ้แบบนี้ มันก็ทำให้คนที่ไม่ได้ศึกษาเขาหลงเชื่อได้เหมือนกัน

สัมมาทิฏฐินั้นเป็นสภาพที่เกิดและเข้าใจในตนเอง ไม่ใช่เอาความเข้าใจของคนอื่นมาจำไว้เป็นความรู้(สัญญา) แล้วไปยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวฉันของฉัน เพียงแค่ได้อุปาทานธรรมนั้นๆ มาเป็นของตน

แต่ผมก็เข้าใจสัจจะนะ ว่าคนที่จะมาเอาดี เขาต้องยึดแบบสีลัพพตุปาทานก่อน มันจะกระโดดมาสมาทานไม่ได้ มันต้องหลงปฏิบัติธรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก่อน จนเห็นว่ามันผิด มันจึงค่อยหาทางมาสัมมาทิฏฐิได้

ทั้งนี้เหตุแห่งสัมมาทิฏฐินั้นมีสองข้อ หนึ่งคือการยอมฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่าง สองคือการทำในใจให้แยบคายลงไปถึงที่เกิด ข้อแรกนี่ก็ยากที่จะผ่านแล้ว เพราะส่วนใหญ่อัตตามันจะต้าน มันจะไม่ฟัง ถึงจะทำเหมือนฟัง แต่ถ้าจิตมันไม่ยอมรับ มันก็ไม่ผ่านข้อแรกอยู่ดี

ส่วนการทำใจในใจให้ถึงที่เกิดนี่มันยากถึงยากมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ คนปฏิบัติธรรมทั้งชีวิตจะไม่สามารถเข้าถึงการทำใจในใจที่ถูกตรง ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเป็นเรื่องยาก มันต้องมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนมาก ตั้งแต่มีมิตรดี มีศีล มีฉันทะ รู้จักอัตตา มีความเห็นที่ถูก ไม่ประมาท ถึงจะเจริญไปถึงการทำใจในใจได้

ถ้าอยากรู้ว่าตนเองสัมมาทิฏฐิไหมก็ต้องศึกษาองค์ประกอบของสัมมาทิฏฐินั้นเป็นอย่างไร แล้วลองกระทบกับปัญหาดู เมื่อมีปัญหา มีผัสสะ มีสิ่งกระทบ จะรู้ได้เห็นว่าความเห็นมันเป็นตรงตามแบบสัมมาทิฏฐิหรือไม่ตรง ถ้ามีจริงมันจะไม่เบี้ยวออกเลยนะ มันจะอยู่ในกรอบของสัมมาทิฏฐินั่นแหละ

แต่แบบท่องจำก็มี คือกระทบแล้ว เกิดอารมณ์แล้ว แต่ใช้สัมมาทิฏฐิที่เรียนรู้มานี่แหละ มาเป็นตัวตบให้เวทนามันสงบ เอาปัญญานี้มาใช้เป็นตัวทำให้สงบ เรียกว่าปัญญาสมถะ เช่นพอเราเรียนรู้เรื่องกรรมและผลของกรรมมา ครูบาอาจารย์ท่านว่าให้ทำความเห็นแบบนี้แบบนั้น พอเรากระทบเสร็จขุ่นใจเราก็เอามาท่อง มันก็สงบไปได้ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ มันจะออกมาเองเลย ไม่ต้องนึก เพราะความเห็นมันตรงอยู่แล้ว มันจะแก้กลับของมันเอง ในกรณีผัสสะนั้นๆ ไม่หนักมากจนเกินไป หรือถ้าเพื่อนเตือนก็จะนึกออกและระลึกได้เอง ไม่ต้องมานั่งปรับความเข้าใจ เพราะมันตรงอยู่แล้ว เพียงแค่สติมันหลุดไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกและเข้าใจยากเหมือนกันครับ ผมอาจจะอธิบายไม่ละเอียดนัก แต่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ ก็พยายามจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแต่ยังงงๆ