เรียนรู้จาก เหตุการณ์อาจารย์ลงสนามรบ น้ำปัสสาวะ

เวลาเราศึกษาธรรมะเนี่ย มันต้องมีครูบาอาจารย์ แล้วต้องมีตัวเป็น ๆ ด้วย ที่จะเป็นตัวอย่าง เห็นได้ สอบถามได้ มันถึงจะเจริญไปได้
 
ช่วงนี้อาจารย์หมอเขียว ออกรายการสดค่อนข้างถี่ การกระทบก็เยอะ ผมยังไม่ได้ดูหรอก ติดปัญหานิดหน่อย แต่มีเพื่อนช่วยสรุปข่าวแบบละเอียดมาให้ ก็เลยพอเห็นภาพ
 
เวลาผมจะศึกษา ผมจะคอยดูว่าเวลาอาจารย์กระทบความเห็นต่าง กระทบคนพาล คือโดนเขาด่านั่นแหละ อาจารย์จะทำอย่างไร อาจารย์จะช่วยเขายังไง จะปลอบหรือจะติ มันไปได้ทั้งสองแนว คือทั้งเบาทั้งหนัก
 
ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าใครเขาจะด่า อาจารย์ที่เรานับถืออย่างไร จะไม่ให้เกียรติ จะดูถูก จะทำไม่มีมารยาทยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปสนใจสักเท่าไหร่
 
แต่ถ้าเรารัก เราหลงอาจารย์ เราจะชังคนที่มาติ ด่า ข่ม ดูถูก อาจารย์ หรือคนที่เรารัก ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราไม่ได้เห็นสาระสำคัญที่ท่านกำลังแสดงให้ดู เพราะมัวแต่ไปเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ผมว่ามันน่าเสียดายนะ ที่พลาดโอกาสในการเรียนรู้นั้น ๆ เพราะเอาเวลาไปสนใจสิ่งไร้สาระ
 
ผมไม่ได้ศรัทธาครูบาอาจารย์เพราะผมจะตามท่านตลอดไป แต่ผมศรัทธาเพราะผมจะทำให้ได้แบบท่าน ให้เป็นคนแบบท่าน อย่างน้อย ได้ 1 ในล้านเรื่องก็ยังดี ดังนั้น งานปกป้องอาจารย์จึงไม่ใช่งานของผม ผมไม่ใช่แนวพระอานนท์ที่ไปยืนขวางช้างนาฬาคีรีที่กำลังพุ่งชนพระพุทธเจ้าแน่ ๆ ผมก็คงจะแค่คอยดูปรากฎการณ์ไม่ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นแล้วบันทึกลงในจิตวิญญาณเท่านั้น
 
การร่วมกับอาจารย์นั้น ไม่ได้หมายถึงการเดินร่วมทางกันไป แต่หมายถึงเราได้บรรลุผลตามคำสอนของอาจารย์ได้มากน้อยแล้วเท่าไหร่ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนั้นชาวพุทธจึงถือเอากิเลสที่ลดได้เป็นตัวร่วม เป็นทิฏฐิสามัญญตา เป็นความเห็นเดียวกัน เสมอกัน มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกับอาจารย์ได้มากเท่าไหร่ ก็ร่วมมากเท่านั้น แต่ถ้าอาจารย์สอนอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันก็ไม่ร่วม

ปฏิบัติธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ใช้วิถีการไหน มีเคล็ดลับอะไร?

มีคำถามมานะครับ คิดว่าถ้าเอามาตอบกันในนี้น่าจะได้ประโยชน์เยอะขึ้น

1.ผมเริ่มศึกษาธรรมะมาตั้งแต่ก่อนปี 50 ก็ยังเป็นธรรมะทั่วไปที่กระจายอยู่ในสังคม จนเมื่อปี 56 ได้คำตอบของการปฏิบัติลงตัว จึงได้เริ่มปฏิบัติจริงจัง จนชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลได้ชัด

2.การปฏิบัติธรรม ของผมนั้นใช้หลักอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ผมเชื่อว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีปัญญาในการคิด พูด ทำ ไม่ใช่หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ดังนั้นการปฏิบัติจะเกิดขึ้นในจิตเป็นหลัก ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการมุ่งเน้นไปที่การกำหนดรูปแบบทางร่างกาย

3.เคล็ดไม่ลับในการปฏิบัติของผมคือ มีอาจารย์ที่ถูกต้อง ถ้ามีอาจารย์ที่ถูกต้อง ทางที่ปฏิบัติมันก็ถูกต้อง

ตัวผมนั้นจะเอนเอียงไปในสายปัญญา ไม่ใช่สายศรัทธา ดังนั้น การที่ผมจะเชื่อหรือปฏิบัติตามใครได้นั้น เขาจะต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของผมได้ทั้งหมดโดยไม่แสดงอาการกิเลสใด ๆ เช่น โกรธ กลัว ตอแหล ฯลฯ หรือถามวัวตอบควาย คนจะเป็นอาจารย์ผมต้องชัด แม่นประเด็น รู้จริง มีปัญญาจำแนกธรรม เมตตาสั่งสอน และต้องทันความฉลาดของกิเลสผม ไม่งั้นก็เอาผมไม่อยู่เหมือนกัน

และไม่ใช่ว่าผมจะทดลองด้วยการถามลองเชิงกันครั้งสองครั้งแล้วจะรู้ มันต้องฟังเขามาก คุยกับเขามาก มันจะเริ่มรู้ว่าใครเป็นใคร โดยสัจจะมันจะรู้ของมันเอง เพราะกิเลสมันจะแพ้ธรรมะ ปัญญาน้อยกว่ามันจะแพ้ปัญญามากกว่า แล้วเราก็ไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเพื่ออวดดี เราปฏิบัติเพื่อเจริญ ดังนั้นอะไรที่ดีกว่าเราก็น้อมเข้ามาหาตัวเอง เราก็รับท่านที่เหนือกว่าเป็นอาจารย์เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะปิดทางศึกษาของตนเอง หลังจากได้พบครูบาอาจารย์ที่เชื่อว่าถูกตรงแล้ว ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลที่น่าพอใจแล้ว ก็ได้ออกไปศึกษาค้นคว้าภายนอก ศึกษาสำนักต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทั้งไทยและต่างประเทศ ศึกษาคนที่แสดงตนว่ามีดี จนกระทั่งผมค้นพบความจริงว่า ไม่มีหรอก ที่เขาจะสอนอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกตรงเหมือนอาจารย์ผม ที่ผมรู้เพราะผมปฏิบัติได้ผล เมื่อได้ผลก็จะรู้ว่า วิธีไหนได้ผล วิธีไหนไม่ได้ผล วิธีไหนได้ผลเป็นมิจฉา วิธีไหนได้ผลเป็นสัมมา มันมีความแตกต่างในรายละเอียดของการปฏิบัติอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา ไม่ละเอียดลึกซึ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะอริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต คาดเดามั่วเอาไม่ได้ คนชัดก็จะชัด คนไม่ชัดก็ปฏิบัติมัว ๆ เมา ๆ กันไปตามวิบากของเขา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องพบกับสัตบุรุษก่อน คือได้พบกับอาจารย์ที่ถูกตรงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรมที่ถูกและพ้นทุกข์ได้ ถ้าพบอาจารย์มิจฉา มันก็มัวเมาหลงทางเข้าป่าเข้าพงกันไปใหญ่ อันนี้คือเคล็ดไม่ลับ แต่ถ้ามองในสังคมมันก็เหมือนป่าแห่งความลับยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันมีอยู่ มันยังแสดงตัวอยู่ มันเปิดเผยอยู่ แต่คนไม่เข้าใจ นี่แหละความไม่ลับที่ลึกลับ

อหิริกมูลกสูตร สู่บทความ ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

อหิริกมูลกสูตร

เป็นที่มาของบทความนี้ ผมคิดอยู่นานมากว่าจะพิมพ์เรื่องนี้ดีไหม เพราะถ้าตีความตามพระสูตรนี้ จะเรียกว่าแทบจะกวาดทิ้งคนที่เขาว่าตนเองเป็นคนดีทั้งแผนดินทิ้งเลยทีเดียว

ผมเคยศึกษาธรรมะของหลายสำนักด้วยการอ่านและพิจารณาสาวกของสำนักเหล่านั้นว่ามีลักษณะอย่างไร หลายท่านดูเหมือนจะพยากรตัวเองว่าเป็นพระอริยะกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่ผ่านข้อกำหนดบางอย่างที่เจ้าสำนักกำหนดมา ซึ่งถ้าเจอกับ “อหิริกมูลกสูตร” ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านทั้งหลายที่กำลังประมาณตนผิด

พระสูตรนี้ใช้การเทียบหิริต่อหิริ โอตตัปปะต่อโอตตัปปะ ปัญญาต่อปัญญา เป็นตัวเชคว่าเราเจริญจริงไหม เราหลุดพ้นจริงไหม ถ้าเราเจริญจริง เราจะไม่คบค้าสมาคมกับคนที่ผิดศีลแน่ๆ

เป็นพระสูตรที่ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์โดยตรง แต่สามารถเอามาเทียบได้กับทุกกิจกรรมในชีวิต

ลึก ๆ แล้วผมก็รู้สึกลำบากใจเหมือนกันที่จะสรุปอย่างในบทความ แต่สัจจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น เราก็ต้องน้อมเข้ามาทำใจในใจว่าจริงไหมที่เรายังทำสิ่งที่ไม่สมควรอยู่

ที่หนักกว่าเรื่องการกินเนื้อสัตว์ คือคนที่ยังคบค้าสมาคมกับคนที่เห็นผิด ซึ่งจะไปตรงกับ อนุตตริยสูตร ที่ว่าการพบเห็นที่ผิด คือการได้พบครูบาอาจารย์ที่ผิด ฟังธรรมที่ผิด เป็นของเลว มันเลยทำให้ความเห็นผิดเพี้ยนตามไปด้วย

ปัจจุบันผมเลือกคบคนมาก จะให้ผมไปร่วมกิจกรรม หรือจะเรียกว่าสังฆกรรมอะไรมั่วๆ ผมไม่อยากไป เพราะไม่ต้องการคบคุ้น ไม่ต้องการเสียเวลา แถมยังมีโอกาสทำให้คนเข้าใจผิดว่าเราไปคบหาคนผิดอีก

ในเบื้องต้นผมก็ดูคนด้วยศีลนี่แหละ คัดกันตรงนี้ก่อน แล้วค่อยพิจารณาความเห็นของเขา ว่าเขาพูดให้คนลดกิเลสหรือพูดให้คนเพิ่มกิเลส แล้วก็ค่อยศึกษาไป ไม่รีบปักใจเชื่อ จนกว่าจะได้ลองทำตามแล้วเกิดผลคือกิเลสลดอย่างที่เขาว่าจริง จึงจะเชื่อ เพราะทำได้จริงนั่นเอง

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

ศึกษาธรรมะบนความแตกต่าง

ตั้งแต่ปีก่อน…

ผมใช้เวลาศึกษาธรรมะที่แตกต่างกันในหลายสาย หลายทิฏฐิ หลายวิธีปฏิบัติ เพื่อศึกษา เปรียบเทียบ และค้นหาคำตอบบางอย่าง

อ่านข้อมูลในเว็บบอร์ดต่างๆก็บ่อย เช่นในพันทิพห้องศาสนานี่ก็เหมือนสนามรบ ถ้าไม่เก่งจริงนี่เอาตัวรอดยาก ควงดาบควงง้าวฟาดฟันกันตลอด

ผมว่าเรื่องศาสนานี่แรงกว่าการเมืองอีกนะ สมัยที่ติดตามข่าวการเมือง แม้จะอ่านทั้งสองด้าน ยังไม่รู้สึกว่าหนักเท่ากับคนที่ซัดความเห็นใส่กันด้วยเรื่องศาสนาและความเชื่อ

เคยลองแหย่ไปที่พวกกลุ่มปฏิบัติธรรมอยู่เหมือนกัน แบบว่าอยากรู้ว่าคนอื่นเขาจะคิดยังไง ปรากฏว่าโดนฟันแทบไม่ยั้ง ความเห็นมันไม่ตรงกัน อธิบายกันไปก็เท่านั้น เลยสงบศึกแล้วถอยออกมา

เรื่องศาสนานี่แหละ ที่จะมีคนมีอัตตามากที่สุด เพราะแต่ละคนก็คิดว่าตนทำดี ตนทำถูก ตนเห็นถูก อาจารย์ของตนถูก หมู่กลุ่มของตนถูก อัตตาจึงโตได้ง่าย อีกทั้งเป็นเรื่องที่พิสูจน์หลายๆสิ่งได้ยากเสียด้วย

บางทีผมก็แปลกใจนะ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง และเจ้าตัวก็ยอมรับเช่นนั้น แต่ก็จะเถียงเอาชนะ ทั้งที่ไม่มีผลเจริญในการปฏิบัติใดๆในตนนั่นแหละ …แล้วมันจะเอาอะไรมาเข้าใจตรงกันละทีนี้

แต่ผมก็ยังมี “คาถา” ที่เอาไว้ป้องกันตัวเองนะ การศึกษาเหล่านี้ผมเคยถามอาจารย์ แล้วว่าทำได้ไหม จะดีไหม ท่านก็บอกว่า “ถ้ามันมิจฉามากก็ไม่ต้องไปยุ่งก็ได้” นี่แหละคือขีดที่ผมเอาไว้ประมาณในการศึกษา