บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…