บรรลุธรรมแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น คือความเห็นลามกที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ในสังคมพุทธส่วนใหญ่จากในอดีตที่ผ่านมา มักมีความเห็นหนึ่งที่ต่อต้านการแสดงตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เขาจะอ้างเหตุว่าเป็นการอวดตัวอวดตนบ้างล่ะ คนบรรลุธรรมจริงไม่บอกบ้างล่ะ บอกว่าบรรลุแล้วผิดวินัยบ้างล่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นที่จำ ๆ กันมาเพื่อที่จะยึดว่าสิ่งเหล่านั้นถูก ตามที่เขาถูกใจ

ในองค์ประกอบของความเห็นผิดเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์โลกีย์อยู่คือ ผู้ที่ยังมัว ๆ เมา ๆ ปฏิบัติหลง ๆ ไม่บอกใคร พอตนเองปฏิบัติได้ประมาณหนึ่ง มีผู้ศรัทธา เขาก็หลงคิดไปว่าอาจารย์ตนบรรลุธรรม แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ก็เดา ๆ กันไป แล้วก็งง ๆ กันอยู่แบบนั้น กลายเป็นสภาพตาบอดจูงตาบอดชวนกันไปดูหนังใบ้ คือตนเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรแล้วศิษย์ก็หลงไปว่าอาจารย์บรรลุ แล้วก็ไม่ได้เปิดเผยความจริง สุดท้ายก็เลยเป็นความมัว ที่ถูกต้องในสังคมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุด แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับกลายเป็นศาสนา ๆ ที่มัว ๆ เดา ๆ เอา คนนั้นเป็นอย่างนั้น ท่านนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เดาเอากันตามที่เขาว่ามา

ทีนี้มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบรรลุธรรมแล้วไม่บอกนี้ว่าอย่างไร

ในโลหิจจสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 351) มีพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือมีความคิดลามกคนหนึ่ง มีความเห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะเห็นว่าตัดกิเลสไปแล้ว จะไปสร้างเครื่องผูกขึ้นใหม่ทำไม ซ้ำยังบอกอีกว่าการบอกผู้อื่นเป็นความโลภ เพราะคนอื่นเขาจะมาสรรเสริญ จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พราหมณ์สรุปว่าการที่ผู้บรรลุธรรมนั้นบอกผู้อื่นคือความลามก

จะสังเกตได้ว่า ความเห็นของคนส่วนมากจะตรงกับพราหมณ์ลามกท่านนี้ แต่สุดท้ายจะจบไม่เหมือนกัน เพราะยังดีที่พราหมณ์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับอาหารของพราหมณ์

หลังพระพุทธเจ้าจากเสวยอาหารเสร็จ ท่านก็ถามพราหมณ์ว่า จริงหรือที่ท่านมีความเห็นลามกเช่นนั้น พราหมณ์ ก็ตอบว่าจริง และเชื่ออย่างนั้นอย่างเต็มใจ มั่นใจ

ได้ยินเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนโดยการเปรียบเทียบ เพื่อน้อมใจให้พราหมณ์ทำใจในใจตาม ความโดยสรุปว่า ถ้าเจ้าเมืองผู้มีสมบัติมาก ไม่แบ่งปันทรัพยากร ไม่บริหารทรัพยากรไปเพื่อสังคม ครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองนั้นถือเป็นคนที่เป็นภัยต่อชาวเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าเป็นภัย และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร

แล้วท่านก็ถามต่อว่าทำอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าไม่ มีจิตเป็นศัตรูหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่ มีจิตเป็นศัตรูนี่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่

พระพุทธเจ้าก็สรุปความว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดดังนั้น จะมีที่ไปสองอย่าง คือ 1. ไปนรก คือเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ 2.เกิดความเป็นเดรัจฉานในตน คือ เกิดความโง่ดั่งสัตว์เดรัจฉาน

หลังจากนั้นท่านก็สอนธรรมแก่พราหมณ์อีกหลายบท สุดท้ายพราหมณ์ก็ยอม และขอมอบตนเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา

…จะสรุปความและยกตัวอย่างให้ตรงยุค ก็คงต้องเทียบกับผู้นำประเทศที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แจกจ่ายหรือบริหารทรัพยากรให้ผู้อื่น เก็บไว้บำเรอตน เก็บไว้เพื่อตนผู้เดียว ไม่ให้ใคร ภาพที่ออกมาก็คงจะเป็นคนผู้เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดแน่นอน มีของดีแท้ ๆ แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ไม่แจกแจงให้ผู้อื่น

กลับมาในบริบทนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน เขาก็เห็นผิดไปตามวิบากของเขา ดีไม่ดีก็ไม่มีธรรมในตนจริงหรอก ไปตีกินเอา ไม่พูดก็ไม่ผิด ไม่มีใครมาตรวจสอบ สมัยนี้แม้ไม่บอกว่าตนบรรลุอะไร เขาก็เอาของมาบำเรออยู่ดี สู้อยู่เงียบ ๆ กินอยู่ไปเรื่อย รักษาตัวรอดไปจะดีกว่า บอกไปเดี๋ยวเขามาตรวจสอบเอา เหนื่อยอีก แถมไม่มีจริงอีก จะยิ่งลำบาก

แล้วจะเห็นว่าตอนแรกที่พราหมณ์มีความเห็นลามก เพราะไม่ได้อยู่ในพุทธ แต่ทุกวันนี้ความเห็นลามกเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อพุทธนี่เอง ดังนั้น มันจึงมีการบิดเบี้ยว ปัดป้อง เลี่ยงบาลี กันจนหลง จนงงกันไปหมด จริง ๆ แล้วความเห็นและการปฏิบัติส่วนมากในปัจจุบันนั้นนอกขอบเขตพุทธไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อเท่านั้นที่ใช่ แต่ความเห็นความเข้าใจไม่ใช่

โลหิจจพราหมณ์ เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ในเบื้องต้นจะมีความเห็นผิด แต่ก็สามารถทำใจในใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านน้อมนำได้เป็นอย่างดี จนละความลามกได้ในที่สุด

อย่าคิดว่าคนที่มีปัญญาอย่างโลหิจจพราหมณ์จะหากันได้ง่าย ๆ ในยุคนี้นะ ดีไม่ดีอ่านพระสูตรนี้ไปก็ยังเมาอยู่เลย ยังเบี้ยวไปตามความเห็นลามกของตนอยู่เลย ยังไม่เปลี่ยนทิศไปจากมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบบนี้แหละ อย่าไปหวังมาก ใกล้กลียุคแบบนี้คงต้องทำใจ

สังคมต้องการคนดีที่กล้าหาญ

ธรรมจากอาจารย์หมอเขียวครับ ยากแสนยากเลย ท้าท้ายกิเลสทั้งสองด้าน จะแยกเป็น 5 มุมตามความเข้าใจนะครับ

1.ติเพราะชัง …เกลียดเขาก็ใส่ยับเลย บันดาลโทสะเต็มที่ กิเลสงอกงาม
2.ชมเพราะชอบ …เพราะเขาคิดเหมือนเรา เอามาเพิ่มพลังเรา เพิ่มอัตตากันให้เต็มบ้อง
3.ไม่ติเพราะกลัว …ไม่กล้าแตะ กลัวเขาสวน กลัวคนเกลียด
4.ไม่ชมเพราะกลัว …ไม่กล้าชม กลัวคนหาว่าโง่
5.ไม่ติไม่ชมเพราะโง่ …เข้าใจผิดว่า ผู้อยู่เหนือหรือผู้บรรลุคือผู้ไม่ติไม่ชม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสความประมาณว่า ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม …ส่วนพวกไม่ติไม่ชมนี่มิจฉาทิฏฐิ ฤๅษีชอบคิดแบบนั้น

ส่วนติชมที่ไม่เป็นไปตามกิเลสก็มี คือเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตนเองก็ได้แสดงสิ่งดี ผู้อื่นก็จะได้นำไปพิจารณา ที่เหลืออยู่ที่จิตของแต่ละคนแล้วแหละ ว่าข้างในคิดอะไร

มือไม่ถึง พาวอดวาย

วันนี้ได้ลองใช้สว่านไฟฟ้าขันสกรูเป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะใช้แต่ไขควง อย่างเก่งก็ใช้สว่านเจาะนำก่อน แต่ครั้งนี้สกรูมันยาว 3 นิ้ว แถมจุดหนึ่งก็หลายตัว จะไขด้วยมือก็คงนาน เลยใช้สว่านไขเอา

ก็เคยเห็นตอนช่างเขาทำอยู่ มันก็ดูเหมือนไม่ยาก ก็ดันไปแล้วก็กด มันก็เข้าไปได้ แต่พอลองเองนี่มันไม่ง่าย ถึงกับเสียหัวไปหนึ่งอัน แถมเสียสกรูอีก 2-3 อันและเสียเวลาขันสกรูที่เกือบจะเสียออก…ถึงจะพอจับทางได้ (ดีนะมีหัวสำรองอีกอัน)

…เข้าเรื่องกันเลย จากภาพจะเห็นว่าสกรูก็พัง หัวแฉกก็พัง สรุปคือพังทั้งคู่ ถ้าทำไม่เป็นมันจะพากันพังทั้งคู่

เหมือนกับธรรมะที่พอไม่เป็นแล้วทำเหมือนเป็นนี่มันพังจริง ๆ แล้วมันพังแบบแนบเนียนด้วย คือพังแล้วไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับที่เห็นกันมากมายในข่าวที่มีผู้นำลัทธิที่อ้างว่าใช้วิถีพุทธแล้วทำเรื่องผิดศีลมากมาย แบบนี้มันก็มีให้เห็นเยอะ แต่มันเป็นความน่ากลัวในความธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องอันตราย ถ้าแสดงฐานะเกินฐาน หรือเกินกว่าที่มีเมื่อไหร่ ภัยจะมา จริงอยู่ว่าในเบื้องต้นเราอาจจะแสร้งว่าเรามีธรรม เราเป็นผู้วิเศษ แต่ถ้ามันดันติดลมบน มีคนนิยม แล้วจะยังไงต่อ โลกธรรมมันเข้ามา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขมันเข้ามา แล้วตนเองไม่มีธรรมนั้นจริง แต่ก็ไม่อยากเสียโลกธรรม ก็เลยตามเลย แสดงธรรมไปตามที่ตนเข้าใจ(ผิด) ผลมันก็เหมือนกับหัวแฉกกับสกรูนี่แหละ คือตนเองก็พัง คนอื่นก็พัง พังเพราะพากันเมาในมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งในสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยคือมิจฉาทิฏฐิ ปิดไว้จะเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ แล้วคนที่เขาหลงเขาจะรู้ไหม เขาไม่รู้หรอก เขาก็เปิดเผยมิจฉาที่เขาหลงว่าเป็นสัมมานั่นแหละ ดีไม่ดีเขียนตำราใหม่เลย นี่แหละคือสัมมา(ของข้า)

สิ่งที่น่ากลัวกว่าโลกธรรม ก็คืออัตตา บางคนเหมือนว่าเขาไม่เสพโลกธรรมแล้ว ลาภมาไม่สน ชมมาไม่ฟู เรียกอาจารย์ก็ไม่ใส่ใจ แต่ลึก ๆ ในใจแล้วไม่มีใครรู้หรอก ภาพข้างนอกมันก็วิเคราะห์กันได้แค่ประมาณหนึ่ง คนอื่นเขาก็รู้ด้วยได้ยาก ว่าตกลงผ่านไม่ผ่าน

แล้วพวกอัตตาจัดนี่เวลาจับธรรมะแล้วจะโหดสาหัสเลย ยิ่งอ้างว่าตนเป็นพุทธแท้เท่าไหร่ยิ่งจะหนักเท่านั้น เพราะพูดออกไปมันได้โลกธรรมมาก ถ้าคนเชื่อเขาก็เทน้ำหนักให้มาก นั่นหมายถึงวิบากที่ได้รับก็มากตามได้ด้วยตามน้ำหนักที่ประกาศออกไป

ทีนี้มันก็มีทั้งจริงไม่จริงไง ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือมันไม่จริง พออัตตาจัดแสดงธรรม มันก็เหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีคนติดตาม มีลูกศิษย์ ทีนี้ก็ติดลมบนแล้ว ณ จุดนี้มันจะช่วยยากแล้ว เพราะส่วนมากก็ยึดตามหลักตนไปแล้ว ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็น…ฯลฯ แล้วล้างกิเลสไม่ได้จริง มันจะพอกเป็นอัตราพิเศษต่างจากคนทั่ว ๆ ไป

ธรรมะนี่เป็นหน่วยลงทุนที่กำไรมาก แต่เวลาพลาดก็ขาดทุนมากเช่นกัน และปัญหาคือขาดทุนแล้วไม่รู้ตัว หนึ่งในสภาพที่น่ากลัวก็คือ “หลงบรรลุธรรม” คือเกิดสภาพหลงไปว่าตัวเองมีคุณวิเศษนั้นจริง ไม่มีก็เข้าใจว่ามี เปรียบเหมือนคนบ้าหลงว่าตัวเองใส่เกราะถือดาบแต่จริง ๆ ใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว แล้วจะวิ่งไปรบกับกองทัพศัตรู มันก็มีแต่ตายเปล่าเท่านั้นเอง

แล้วยิ่งพาคนอื่นบ้าไปด้วยนี่วิบากมันจะยิ่งคูณ / ยกกำลังเข้าไปใหญ่ กว่าจะกลับมาเป็นคนปกติที่สามารถเรียนรู้ธรรมะที่สัมมาทิฏฐิได้ก็คงจะไม่ใช่ง่าย เพราะวิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้หลงตามปริมาณที่เคยพาคนอื่นหลง

จะเตือนกันว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่ารีบแสดงธรรมกันเลย มันก็คงจะไม่ไหว เพราะผลที่ได้จากการแสดงธรรมนี่มันหอมหวาน เต็มไปด้วยภาพเสมือนของกุศล(เหมือนจะดี)และโลกีย์รส โลกธรรมเอย อัตตาเอย เขาก็พุ่งเข้าหานั่นแหละ บางคนตอนแรกเขาก็ตั้งใจทำดี แต่เจอกิเลสดักตีหัว สุดท้ายก็อาจจะต้องจบลงแบบสกรูกับหัวแฉก แบบนี้ คือพังทั้งตนเองและผู้อื่น

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี