มงคลชีวิต กับเรื่องคู่

ว่ากันด้วยเรื่องมงคลชีวิต ต่อจากเรื่องคู่เมื่อโพสก่อน ใครตกไปก็ตามไปอ่านกันก่อนได้

พระพุทธเจ้าตรัสมงคลชีวิตข้อแรกไว้ว่า “ไม่คบคนพาล” ข้อแรกนี่คือตัวกรองหยาบของศาสนาพุทธเลย เพราะในความจริงแล้วคนพาลมีอยู่เต็มโลก ซึ่งท่านก็ตรัสไว้อีกว่าคนที่จะพ้นทุกข์ได้จริง ๆ เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีจำนวนเพียงแค่ฝุ่นปลายเล็บเมื่อเทียบกับดินทั้งแผ่นดิน

คนพาลจึงทำหน้าที่อย่างคนพาล คือมีไว้พรากคนโง่ออกจากความผาสุกที่แท้จริงโดยเฉพาะ คนที่คบคนพาล ก็จะพาไปหาผิด เช่น มีคู่ก็บอกว่าดี หรือไปมีคู่ก็จะพบความสุข พบความเจริญ ก็เฉโกกันไปตามความฉลาดของคนพาลที่จะแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม

ในประเด็นเรื่องคู่ พระพุทธเจ้าปิดแทบทุกประตู คือไม่ส่งเสริม และคำตรัสของท่านเกี่ยวกับเรื่องคู่ เรื่องความรักก็มีมากมายเช่น ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ” นั่นหมายถึงคนพาลจะพาไปในทิศทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ แต่ปลายทางคือจะไปมีคู่ให้ได้

หรือไม่คนเขาก็มักอ้างเล่ห์ว่า มีรักแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักแต่ไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นความฉลาดของคนพาลอีกเช่นกันในการสร้างวาทกรรมนำกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ดังเช่นว่า มีรัก ๑ ก็ทุกข์ ๑ หรือที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ มันจะหนีทุกข์ไปไม่ได้หรอก ยกเว้นไม่ฉลาดพอที่จะเห็นทุกข์ ซึ่งการจะเห็นทุกข์นี่มันก็ยาก และคนพาลย่อมไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัยของการยินดีในการครองคู่อยู่แล้ว

หรืออีกความเห็นที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยคืออยู่เป็นคู่บารมีส่งเสริมกันทำดี อันนี้เนียนสุด ๆ ดูดี ดูขาวสะอาด แต่กลิ่นฉุนพอสมควร เพราะความจริง ลักษณะของการเป็นคู่บารที่ปรากฎในพุทธประวัตินั้น จะพบว่าแทบจะไม่มีความอยากในการครองคู่เลย พระพุทธเจ้าก็ดี พระมหากัสสัปปะก็ดี ท่านก็ไม่อยากมีคู่ แต่พ่อแม่ก็บังคับบ้าง บริบทของสังคมบังคับบ้าง คือสภาพของคู่บารมีนี่มันไม่ต้องผลักดัน ไม่ต้องพยายาม ถึงพยายามจะผลักไสเขาก็จะมาอยู่ดี และที่สำคัญคือจะดำรงสภาพคู่อยู่ก็ต่อเมื่อยังไม่มีคำสอนในศาสนาพุทธเผยแพร่อยู่ ดังเช่นกรณีของพระมหากัสสัปปะ ซึ่งมีเรื่องราวคล้าย ๆ กับพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อยากแต่งงาน นอนก็เอาดอกไม้กั้น ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ถึงเวลาบวช ก็แยกกันไปคนละทาง อันนี้คือลักษณะเด่นของสาวกของพระพุทธเจ้าคือ เมื่อพบธรรมะก็จะหูผึ่ง จะไม่เอาแล้วเรื่องคู่ จะวิ่งหาธรรมอย่างเดียว

ส่วนยุคนี้มีธรรมประกาศอยู่ ซึ่งตามที่ยกมาก็ชัดพอแล้ว สูตรเดียวก็ชัดแล้ว คือมีรักก็ต้องทุกข์ ดังนั้นจะไปรักให้มันทุกข์ทำไม แต่คนพาลจะไม่พูดแบบนั้น จะไม่คิดแบบนั้น จะไม่เชื่อแบบนั้น คนพาลจะไม่ดำรงในธรรม แต่จะดำรงอยู่ในกาม จะฝักใฝ่ในเรื่องคู่ สามารถคิดหาเหตุผลล้านแปดในการให้น้ำหนักในการที่ตนหรือผู้อื่นจะยินดีในการมีคู่

เรียกว่ามาสร้างคู่บารมีผิดยุค ยุคนี้มันต้องโสดปฏิบัติธรรมจึงจะเจริญได้ไว ถ้าจะสร้างบารมีกันก็ยุคที่ไม่มีธรรมของพุทธประกาศอยู่ ถ้ามาหลงยุคสร้างบารมีกันในยุคนี้นี่จะเรียกว่าขัดขวางความเจริญกันซะมากกว่า เพราะยังไงก็ขัดกับคำพระพุทธเจ้าชัด ๆ อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่เจริญถึงขั้นเป็นบัณฑิตสักที ดังคำกล่าวว่า ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด

คนส่วนมากก็จะไปหลงติดกับธรรมของคนพาลกันมาก ยากนาน ยึดยื้อกันอยู่หลายภพหลายชาติ เพราะเชื่อแล้วมันฝัง กลายเป็นอุปาทาน ทีนี้บวกพลิงกิเลสยิ่งยึดใหญ่ เพราะมันชอบเสพไง มันก็หาคำ หาประโยค หาแนวคิด หาวาทกรรมมาให้ได้เสพสมใจได้หมดนั่นแหละ

ต่อมาที่ข้อคบบัณฑิต ข้อนี้เป็นตัวคัดคนเข้าพุทธเลย ว่าจะทำใจได้รึเปล่า บัณฑิตก็คนที่ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่ใช่แค่พูดได้นะ แต่ทำได้จริงด้วย แล้วทำได้อย่างยั่งยืน ยาวนาน ไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยน คงทนถาวรด้วย ไม่ใช่เข้ามาอาศัยศาสนาศึกษา อาศัย สอนไป สอนไปว่าแล้วก็สึกไปมีเมีย อันนี้ไม่ใช่แล้ว บัณฑิตนี้มันก็ต้องคัดหน่อย จะคัดมันก็ต้องใช้ปัญญา ส่วนข้อ 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชาจะเป็นตัวย้ำสัมมาทิฏฐิ ส่วนคนโง่ เขาก็บูชาคนพาลอยู่นั่นแหละ สรรเสริญธรรมของคนพาล ยินดีในธรรมของคนพาล ทิศมันจะกลับกัน

นี่ก็พยายามย่นย่อได้เท่านี้ มงคล 38 ก็เอาแค่ 3 ข้อแบบไม่เต็มก็ดูจะยาวมากแล้ว ก็เอาเท่านี้แล้วกันครับ ใครที่อ่านแล้วก็พิจารณาหาประโยชน์กันไป ไม่ต้องเพ่งหาโทษนะ อันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า ๆ

ไม่คบคนพาล

มงคลชีวิตอย่างหนึ่งก็คือการไม่คบคนพาล สำหรับผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ การไปคบคนพาลจะทำให้เนิ่นช้าเข้าไปใหญ่

การไม่คบคนพาลนั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีปัญญาแยกว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต เพราะโดยมากแล้วคนส่วนใหญ่ก็ไปคบคนพาลนั่นแหละ ยิ่งศาสนาพุทธนี่ยิ่งจะมีคนพาลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์เยอะ เรียกว่าเป็นหลุมพรางในทางพุทธเลยทีเดียว

ที่ผิดนั้นมีเยอะ ที่ถูกนั้นมีน้อย อันนี้เป็นสัจจะอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสำนักที่มีน้อยจะถูกเสมอไป ความถูกความผิดนั้นต้องเทียบเอาจากหลักฐานคือพระไตรปิฎกด้วย จากสภาวะธรรมของผู้ที่ปฏิบัติได้จริงด้วย คือต้องมีการตรวจสอบความผิดความถูกต้องกันอยู่เสมอ

เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะแยกบัณฑิตกับคนพาลออกจากกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เลือกคบคนดี ไม่คบคนชั่ว ส่วนคนที่ยังไม่ดี ยังชั่วอยู่บ้าง จะคบไว้ก็เฉพาะเหตุที่จะช่วยเขาเท่านั้น

ส่วนตัวผมนั้น ถ้าตรวจสอบดีแล้วว่าใครสอนมิจฉา ใครทำผิดทางพ้นทุกข์ ผมก็ไม่คบ ถ้าคบอยู่ก็เลิกคบเหมือนกัน หรือถ้าใครที่ผมเคยเคารพแต่เขาดันไปคบกับคนพาล อันนี้มันก็บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่มีปัญญาแยกดีแยกชั่ว เราก็ห่างจากเขามา

มีหลายสำนักที่ผมได้เคยศึกษา แต่ผมมักจะไม่กล่าวถึงเท่าไหร่ แต่สำนักไหนที่ผมไม่กล่าวถึงนั้นแหละ คือผมไม่อยากคบ ถ้าผมคบหาอยู่ผมจะกล่าวถึงเป็นระยะ ๆ ตามโอกาสที่เหมาะสม

ส่วนคนที่มิจฉาในสำนักที่สัมมานั้นก็มีเป็นปกติ ถึงจะเป็นสำนักที่ถูกก็ใช่ว่าจะไม่มีคนผิดเลย มันก็จะมีคนถูกอย่างสมบูรณ์เป็นส่วนน้อย แต่ค่ารวม ๆ นั้นมีความถูกต้องอยู่มาก เพราะสำคัญที่ผู้นำ

เวลาที่ผมจะศึกษาสำนักไหน ผมจะมุ่งเน้นไปที่ผู้นำ แล้วค่อยดูผู้ที่ปฏิบัติตามภายหลัง ถ้าผู้นำไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องไปดูที่เหลือแล้ว สำนักในไทยนั้นเยอะมาก จะศึกษานานไปก็เสียเวลา

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะศึกษาแล้วจะเห็นความจริงนะ หลายคนที่เขาศรัทธาสำนักที่ผิด เขาก็ศึกษากัน ดังนั้นประเด็นไม่ใช่แค่การศึกษาแต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะดูว่าคนมีปัญญานั้นจะรู้ได้่โดยการคบหาศึกษากันนาน ๆ แต่เฉพาะคนมีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ คนโง่รู้ไม่ได้ สรุปมันก็เลยไม่มีคำตอบที่เป็นผลที่ยอมรับกันได้เป็นสากลหรอก เพราะคนโง่เขาก็ว่าคนที่เขาศรัทธานั้นดี ส่วนคนมีปัญญาเขาก็เห็นว่าคนที่คนโง่นั้นศรัทธานั้นเห็นผิด มันก็ไปด้วยกันไม่ได้

สุดท้ายความเป็นพุทธก็คือการวางใจ ถ้าช่วยบอกเขาเต็มที่เท่าที่จะทำได้แล้ว ก็ปล่อยเขาลงนรกไปแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะที่สุดแล้ว มันก็ช่วยไม่ได้ทุกคนหรอก ตราบโลกแตกมันก็จะมีสำนักที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากศาสนาแล้วสอนแบบผิด ๆ อยู่วันยังค่ำนั่นแหละ ปราบสำนักนี้ไป เดี๋ยวก็มีสำนักใหม่เกิดขึ้นมาอีก คนเห็นผิดมันคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นสงครามที่รบไม่มีวันจบ

ถ้าจะเอาชีวิตสงบ ก็อย่าไปคบคนพาลเลย