คนเมือง อยากเข้าป่า

หลายปีผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ ดูเหมือนจะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในความคิดของผม และเป้าหมายในชีวิต ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้ดูเหมือนว่าทิศทางในชีวิตจะค่อนข้างแน่นอนแล้ว เหลือแค่ว่าจะเริ่มออกเดินทางเมื่อไหร่ เท่านั้นเอง

เชื่อไหมว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นด้วยความบังเอิญ หรือว่าจริงๆมันไม่บังเอิญก็ไม่อาจจะทราบได้เหมือนกัน ย้อนหลังไปเมื่อปี 2009 หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง นับจากเวลานี้

เริ่มตั้งแต่ กลางปี 2009 กับสวนลุงนิล (12-14 มิถุนายน 2009)

สวนลุงนิล
สวนลุงนิล

เป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางไปกับทีวีบูรพา ที่สวนลุงนิล เพื่อพบกับลุงนิล เป็นเกษตรพอเพียง โดยใช้แนวคิดไร่นาสวนผสม เป็นปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งที่มีความรู้ในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเกื้อกูล โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวง จริงๆแล้วในครั้งนี้คนที่ต้องการเดินทางไปเรียนรู้ และเข้าไปขอร่วมเดินทางกับทีวีบูรพาก็คือคุณแม่ของผม แต่พอมาใกล้่ถึงวันเดินทางก็พบว่าคุณแม่ติดงานด่วนๆ ไปไม่ได้ เลยส่งผมไปแทน??

ผมก็ไปแบบงงๆ เพราะว่าช่วงนั้นก็ว่างอยู่แล้วและไม่ได้รับงานไว้ จึงไปแบบไม่รู้อะไรเลย เขาให้ไปก็ไป ไม่รู้จักทีวีบูรพา ไม่รู้จักสวนลุงนิล ไม่รู้จักลุงนิล อะไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่เมื่อไปก็ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมายจนทำให้ชีวิตหลังจากกลับมาค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองไปทีละนิดละน้อย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :  สวนลุงนิล

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ( 15-17 มิถุนายน 2012 )

หว่านข้าว

ครั้งที่สองกับทีวีบูรพาอีกครั้ง ซึ่งการไปเครือข่ายชาวนาคุณธรรม จังหวัดยโสธร นี้ถือเป็นครั้งที่สองของกิจกรรมชุดนี้ ในครั้งแรกผมเองไม่ได้ไปแต่คุณแม่ของผมไป พอมาครั้งที่สองก็เลยแนะนำให้ผมได้มารู้จัก และเรียนรู้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรม ที่นำพาโดยทีวีบูรพา ครั้งนี้ก็ได้เรียนรู้โลกในอีกมุมหนึ่ง โลกที่หมุนช้ากว่าที่กรุงเทพฯมาก ที่ที่วันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าแต่ก็มีคุณค่าในตัวของมัน ผมได้รู้จักวิถีของชาวนาคุณธรรมจากการเดินทางมาในครั้งนี้ และพบว่านี่แหละคือจุดเริ่มต้นแห่งความสมบูรณ์ในชีวิตของผมอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา ( 9-11 พฤษจิกายน 2012 )

ลงแขกเกี่ยวข้าว
ลงแขกเกี่ยวข้าว

ลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้่ เป็นการเดินทางไปที่ยโสธร เพื่อพบกับเครือข่ายชาวนาคุณธรรมกันอีกครั้ง ในครั้งนี้เป็นการไปเข้าถึงชาวนาแบบบุกบ้าน ไปนอนบ้านชาวนากันเลย ไปดูชีวิตประจำวัน ดูลูกหลาน ชุมชน สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งมีนัยยะที่เป็นกุศลมากมายซ่อนเร้นอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ หากเพียงแค่อ่านฟัง แต่ยังไม่ได้ลองก็คงจะไม่เห็นผล ผมเน้นดำเนินชีวิตตามสุภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ จึงได้เดินทางไปอีกครั้ง ครั้งนี้นับเป็นการเดินทางที่ได้เรียนรู้อย่างคุ้มค่าอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม ( 25 – 31 มกราคม 2013)

ค่ายหมอเขียว
ค่ายหมอเขียว

เป็นอีกครั้งที่ได้เดินทาง ในครั้งนี้ก็จะไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ กับแพทย์วิถีธรรม หรือการใช้หลักธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาและดูแลสุขภาพให้อยู่ในจุดสมดุลคือไม่ดีและไม่ร้าย ให้อยู่กลางๆ ดูๆแล้วอาจจะง่ายแต่จริงๆ นั้นยาก เพราะว่า ยา 9 เม็ด ของหมอเขียวนั้น มีสองเม็ดสุดท้ายคือความพอเพียงและธรรมะ ซึ่งยากง่ายต่างกันไปตามแต่ละคน ซึ่งเป็นตัวที่จะทำให้สุขภาพ ชีวิต และจิตใจ ร้ายดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากว่าเราควบคุมได้

เนื้อหาในค่ายส่วนใหญ่ก็จะเป็นการดูแลสุขภาพโดยหลักยา 9 เม็ด พร้อมกับให้ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในค่ายให้เกิดการเรียนรู้การดูแลรักษาสุขภาพโดยมีเหล่าจิตอาสาเป็นทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาที่คอยให้ความรู้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม ( ค่ายหมอเขียว )

คนเมือง อยากเข้าป่า

มาจนถึงตอนนี้ก็สรุปกันเลยแล้วกัน การปลูกต้นไม้หากินก็รู้บ้างแล้ว การแปรรูปก็รู้บ้างแล้ว การทำนาก็รู้บ้างแล้ว การแพทย์วิถีธรรมก็รู้บ้างแล้ว ธรรมะก็รู้บ้างแล้ว โลกก็เข้าใจบ้างแล้ว

ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีชีวิตไปทำไม แล้วทำไมต้องมาทำงานงกๆ ในเมื่อสุดท้ายก็ต้องเอาเงินไปซื้อข้าวกินอยู่ดี ปลูกข้าวกินเองเลยไม่ง่ายกว่าหรอ ทำไมชีวิตต้องทำอะไรซับซ้อนด้วย ชื่อเสียงเงินทองก็ไม่ได้อยากได้อะไรมากมายแล้ว ก็แค่พอดำรงชีพได้แค่นั้นเอง สุดท้ายก็เลยมีความคิดแบบคนเมือง อยากเข้าป่า (ไปอยู่บ้านนอก นั่นแหละ)

แน่นอนว่ามันยาก ในการปรับตัวในเบื้องต้นหลายคนคงสงสัยว่าอยู่เมืองดีอยู่แล้วไปทำไม ที่เขาถามเพราะเขายังไม่เห็นทุกข์ในเมืองใหญ่ และยังไม่เห็นความสุขที่บ้านนอก รวมถึงยังไม่เข้าใจความสงบในใจ ไม่แปลกหากอ่านแล้วไม่เข้าใจ เพราะคนที่จะเข้าใจได้ต้องมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ผสมผสานทั้งสองด้าน และอื่นๆที่ขอละไว้ในฐานที่อาจจะเข้าใจ

เหตุที่พิมพ์บทความนี้ขึ้นมาอย่างแรกคือต้องการบันทึก สองคือหากเรื่องเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนได้เจอสิ่งที่ชีวิตตัวเองต้องการอย่างแท้จริงก็คงจะดี แน่นอนว่าชีวิตของเรานั้นค้นหาสิ่งที่ต่างกันตามเหตุและปัจจัย ตามแต่กรรมและกิเลสของแต่ละคน

สวัสดี

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเรียนรู้และสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เคยเป็นเพียงคำพูด เรื่องเล่า หรือกลายเป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้ว นั้นคือประเพณีของไทยอย่างการลงแขกเกี่ยวข้าว

เป็นอีกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางทีวีบูรพา และเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ในกิจกรรมเรี่ยวแรงสู่เรียวรวง ตอน “ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา” ณ จังหวัด ยโสธร วันที่ 9-11 พฤษจิกายน 2555

ภาพประทับใจ จากเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา
ภาพประทับใจ จากเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา

สำหรับ กิจกรรมนี้จำเป็นต้องออกเดินทางกันตั้งแต่วันศุกร์เช้า เพราะว่าเราจำเป็นต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนานทีเดียวครับสำหรับคน ทั่วไปอาจจะยากหน่อยเพราะต้องลาหยุดกันสักหนึ่งวัน แต่สำหรับบางคนก็ไม่ใช่ปัญหา และผมเองก็ชินแล้วครับ เพราะร่วมทางไปกับทีวีบูรพามาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ สวนลุงนิล และครั้งล่าสุด หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ และอีกหลายๆ กิจกรรมที่เคยร่วมกับทีวีบูรพาเช่น กินข้าวอย่างรู้แจ้ง ตนค้นตนอวอร์ด เป็นต้น ก็อ่านย้่อนกันได้่นะครับ

สำหรับบทความเหล่านี้คงจะเป็นการเล่าเรื่องประกอบประสบการณ์ต่างๆที่ได้มา มีน้ำมีเนื้อคละเคล้าปนกันไปเลยแล้วกันนะครับ

เรื่องราวทั้งหมดถูกบันทึกและเรียบเรียงไว้ดังนี้…

ผมเคยคิดว่าจะพยายามบันทึกเรื่องราว รวมไว้ให้ได้ในบทความเดียว แต่พอมานั่งเรียบเรียงเอาเข้าจริงๆก็พบว่าแต่ละบทความนั้นมีความยาวมากเหลือเกิน จึงแบ่งส่วนให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านได้ง่ายขึ้น

สำหรับเนื้อ ข้อมูล และรูปภาพเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา

บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ผ่านไปแล้วกับ กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งในบทความนี้ผมจะมาสรุปให้ตามไปอ่านกันได้ง่ายๆว่าผมได้พิมพ์บทความใดไปบ้าง

สำหรับกิจกรรมจากเรี่ยวแรงสู่เรียวรวง ครั้งที่ 9 ตอน หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ที่จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 15 – วันอาทิตย์ ที่ 17 มิถุนายน 2555 ณ วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

ผมเองก็ได้ไปร่วมกิจกรรมกับเขามาด้วยครับ คณะเดินทางเรามีไม่มากประมาณรถตู้สามคันครับ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดยโสธร ในงานนี้ผมก็ได้ไปเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อีกเช่นเคย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นก็แนะนำให้อ่านได้จากบทความที่ผมได้เรียงลำดับไว้ด้านล่างเลยครับ

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

Introduction : ปลูกป่าลุยนา

1. บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

เล่าเรื่อง

2.1 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางวันแรก

2.2 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

2.3 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

2.4 หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางกลับ

 

3. หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

เก็บตกเรื่องราวระหว่างทาง

สำหรับบทความเกี่ยวกับการเดินทางในครั้งนี้ก็มีเพียงเท่านี้ครับ สำหรับเนื้อหาเพิ่มเติมผู้เยี่ยมชมสามารถติดตามไปอ่านได้ใน เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ได้ครับ

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงสามวัน แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาได้นั้น สามารถใช้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะได้อ่านจากบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับก็จะได้เห็นด้วยรูป และผ่านตัวอักษรที่เล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้มาและฝังอยู่ลึกๆ ในส่วนหนึ่งของสมองของผม

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา
หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

จากกิจกรรมที่ผมได้ไปร่วมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ผมได้รับประัสบการณ์ และความรู้หลายๆอย่างนะครับ อาจจะไม่ได้พิมพ์เป็นข้อๆให้อ่านกันได้สะดวกนักแต่ก็จะเล่าให้พอเข้าใจครับ

สำหรับประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้น สิ่งแรกต้องบอกเลยว่าได้รับรู้ และรู้จักคำว่าคุณธรรม ในมุมมองของชาวนาคุณธรรมครับ มันมากมายเหนือความคาดหมายของผมมากว่า การเป็นชาวนาคุณธรรมจำเป็นต้องทำขนาดนี้เชียวหรอ แต่แน่นอนว่าถ้ามันคือสิ่งดีก็ควรจะทำครับ เพราะผลประโยชน์ก็จะตกกับตัวชาวนาคุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเองครับ

ผมได้เรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมแบบสั้นๆ ที่พอจะพบเห็นได้ผ่านภาพที่มองผ่านตา ซึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูได้ทั้งหมดครับ รวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ตามที่ได้เห็น

สำหรับประสบการณ์การปลูกป่า การหว่านข้าว การดำนา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะไม่เคยได้ลงมือทำเลย เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำซึ่งเป็นระดับเล็กๆ ขนาดเล็กๆ คิดว่าวันหนึ่งก็คงจะได้ทำจริงและวันนั้นก็จะได้พบความจริงอย่างที่สุด วันนี้ก็คงจะเป็นการทดลองเรียนรู้ไปก่อน

ได้รับรู้ถึงการส่งต่อและการขยายตัวของน้ำใจและการเกื้อกูลกันของมนุษย์ การส่งเสริมคนดี การส่งเสริมการทำสิ่งดีๆยังมีอยู่ให้เห็นตลอดสามวันที่ได้เดินทาง ไม่เหมือนข่าวสาร และสิ่งที่เรารับรู้กันในเมืองสมัยนี้ มีสักกี่เรื่องในแต่ละวันที่เป็นเรื่องดีๆบ้าง สำหรับผมที่ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ บอกได้เลยว่า ผมได้รับรู้แต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต

หลายๆสิ่งอีกมากมายที่ยังฝังอยู่ในสมองของผม อยู่ในความทรงจำของผม อาจจะคาดคั้นออกมาไม่ได้ในบทความนี้ แต่คิดว่าดอกผลของมันก็คงจะออกมาให้เห็นในอนาคตเป็นแน่ ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น ก็คงจะมีการเดินทางในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นก็เป็นได้

สวัสดี

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางกลับ

มาถึงวันที่สามของกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องเดินทางกลับ แต่วันนี้เป็นวันที่นอนสบายจริงๆนะ

เมื่อคืนมีฝนตกตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่หลับหลังจากฝนตกได้ไม่นาน เพราะความสบายจากอากาศที่เย็นและความเหนื่อยล้า? ที่ผ่านมาในวันนี้

วันนี้ตื่นสาย เพราะเพลินไปกับการนอน
วันนี้ตื่นสาย เพราะเพลินไปกับการนอน

เช้าวันนี้ไม่มีธรรมะตามสายให้ฟังเหมือนเมื่อวาน คล้ายๆจะได้ยินหลวงพ่อท่านว่าอยากให้นอนสบาย แต่ก็มาเปิดตอนช่วงเช้าๆหลังฝนหยุดอีกที สุดท้ายก็ได้ฟังธรรมะยามเช้าอีกเช่นเคย วันนี้เป็นวันที่ตื่นสาย ผมเลยพลาดกิจกรรมยามเช้าไป ฝนตกทั้งคืนทำให้อากาศเย็นมาก

ฝนที่ตกที่ต่างจังหวัดนั้นต่างจากกรุงเทพมากนัก เพราะกรุงเทพที่บ้านผม ก่อนตกนี่จะร้อนมาก ยิ่งหลังตกนี่ยิ่งร้อนมากทีเดียว อาจจะเป็นเพราะต่างจังหวัดไม่ใช่พื้นปูน เป็นพื้นดิน เลยคลายความร้อนได้เร็วกว่า อากาศตอนเช้าเหมือนเปิดแอร์ธรรมชาติที่อุณหภูมิ 24-26 องศา อะไรประมาณนั้น ตอนเกือบจะตื่นก็แอบเผลอคิดว่าใครก็ได้ปรับอุณหภูมิแอร์ขึ้นที…

ตื่นมาก็อาบน้ำแล้วไปดูดงไผ่กันหน่อย
ตื่นมาก็อาบน้ำแล้วไปดูดงไผ่กันหน่อย

ตื่นมาก็อาบน้ำ และเดินไปสำรวจป่าไผ่ครับ ที่นี่มีไผ่ปลูกไว้หลายชนิด ดูจากลำไผ่แล้วน่าจะสามารถใช้งานได้หลากหลายต่างกันไปครับ แต่ที่แน่ๆเขาว่าไผ่สร้างไพร นั้นโตเร็วตามชื่อครับ คิดว่ามีที่ทางถ้าผมจะสร้างกำแพงธรรมชาติก็ต้องไผ่สร้างไพรนี่แหละนะ

ชาวคณะกำลังพอกหน้า แช่เท้ากันอยู่ครับ
ชาวคณะกำลังพอกหน้า แช่เท้ากันอยู่ครับ

เดินกลับมาที่ศาลา ก็จะเห็นว่าชาวคณะกำลังพอกหน้าแช่เท้ากันอยู่ครับ สำหรับการพอกหน้านี่ผมเองก็ยังไม่ได้ลองเพราะเดี๋ยวจะต้องไปทำอีกกิจกรรมหนึ่งนั่นคือไปสวดมนต์ก็เลยตัดสินใจยังไม่พอก เพราะมาช้าตื่นสายด้วยครับเลยทำให้พลาดอะไรดีๆไป

สมุนไพรที่ใช้พอกหน้า?
สมุนไพรที่ใช้พอกหน้า?

สิ่งที่ใช้พอกหน้า มีอะไรผสมอยู่ก็ไม่รู้เหมือนกัน จะเรียกสมุนไพรได้รึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ใจคิดว่าน่าจะมีส่วนผสมของผงถ่านอยู่แน่นอนครับดำๆแบบนี้

ได้แช่เท้านิดหนึ่งก็ยังดี
ได้แช่เท้านิดหนึ่งก็ยังดี

ว่าจะไม่ลองแล้ว แต่ด้วยคำแนะนำของแม่ๆ ว่าลองหน่อยสุดท้ายก็ลองจนได้ แช่เท้ากับน้ำสมุนไพรอุ่นๆกับ ก้อนเกลือที่อยู่ใต้เท้า แม้ว่าจะเป็นเวลาไม่นานแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ เพราะผมเองใช้ชีวิตแบบไม่สนใจบำรุงสุขภาพด้วยวิธีเชิงสปาอะไรแบบนี้เลย แต่ยังไงเดี๋ยวจะหาเวลาลองนะครับ จะได้ไม่พลาดโอกาสในการสร้างประสบการณ์ที่ดี

หลังจากนี้เราก็ไปสวดมนต์พร้อมทานหาอาหารเช้ากันครับ หลวงพ่อท่านให้ศีลให้พรอีกหน่อยเราก็ลากลับกัน

กิจกรรมก่อนลา แจกของใช้ที่ระลึก
กิจกรรมก่อนลา แจกของใช้ที่ระลึก

ก่อนจะลาเราก็จะมีกิจกรรมเฉลยบัดดี้นะครับ เป็นบัดดี้ระหว่างเกลอเมืองและเกลอทุ่งครับ หรือเรียกชื่อเกมส์ว่าเกลอเสี่ยว? ละมั้ง

กิจกรรม เฉลยบัดดี้
กิจกรรม เฉลยบัดดี้

บรรยากาศก็ดูวุ่นๆ ปนขำๆ เล็กน้อยเนื่องจาก พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ไม่ค่อยคุ้นกับเกมส์บัดดี้สักเท่าไรนัก ผมเองก็เพิ่งจะได้ลองไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เองครับ สำหรับจับได้พ่อบุญเรือง ซึ่งวันแรกๆก็ไม่ค่อยได้เจอแกเท่าไหร่ก็เลยไม่ได้ทำอะไร ซึ่งของที่ให้ไปก็เป็นพวกต้นไม้ที่บ้านผมนั่นเอง พวกลิ้นมังกร อโลนี่ละนะ คิดอยู่นานว่าจะให้อะไรเพราะ ทีมงานไม่ได้บอกว่าจะต้องให้ใครก็เลยงัดของกลางๆเอาเป็นต้นไม้นี่แหละนะ ไม่รู้จะเหมาะรึเปล่าแต่คิดว่าคงจะดีนะ

แม่หม่อนและผม
แม่หม่อนและผม

สำหรับบัดเดอร์ ของผมคือแม่หม่อนนะครับ แม่หม่อนฝากของให้คุณแม่ของผมด้วย ชาวนาคุณธรรมหลายท่านยังฝากความคิดถึง ถึงคุณแม่ผมด้วยครับน่ารักจริงๆ

แม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผม
แม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผม

รูปแม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผมเองครับ ช่วงนี้แต่ละคนก็จะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกครับ แต่ผมขยับไปไหนไม่ได้เพราะมาตายเอาตรงเหน็บกินครับ แต่ไม่เป็นไรครับ จำได้ว่าทีมงานถ่ายไว้เยอะเดี๋ยวค่อยตามไปเก็บรูปใน อัลบั้มเครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาอีกที

เดินวนสวัสดีและอำลากัน
เดินวนสวัสดีและอำลากัน

ก่อนจะจากกันไปมีการตั้งแถวเป็นวงกลมครับ เดินวนสวัสดี ทักทาย พูดจา อำลา กัน แน่นอนว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและครบแน่นอนครับ ผมชอบตรงจุดนี้มาก รู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูกจริงๆครับ ขอบคุณทุกๆท่านเลย

พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมมายืนลากัน
พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมมายืนลากัน

เมื่อร่ำลากันเรียบร้อยแล้วก็ทยอยขนของขึ้นรถกันครับ ขามานี่ไม่มีอะไรครับ แต่ขากลับบอกตรงๆว่าเพียบ นี่ขนาดไม่ได้เอาที่นอนที่เขาให้มานะ ยังรถแน่นขนาดนี้ นี่เหมือนเรามารับอย่างเดียวจริงๆทริปนี้

ป้ายสวนธรรมร่วมใจ (หน้าห้างดิน)
ป้ายสวนธรรมร่วมใจ (หน้าห้างดิน)

ก่อนจะกลับเขาก็มีกิจกรรมให้ไปแวะซื้อของกันที่ห้างดินกันก่อนครับ ห้างดินนี่น่าจะมาจากร้านขายสรรพสินค้าที่สร้างด้วยดินเช่นเดียวกับบ้านดินละมั้งครับ แต่หลักๆคือขายผลผลิตของชาวนาคุณธรรมและเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆครับ

แวะซื้อของกันที่ห้างดิน ก่อนเดินทางกลับ
แวะซื้อของกันที่ห้างดิน ก่อนเดินทางกลับ

สำหรับของฝากหรือของที่ผมซื้อก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความในตอน ” ของฝากจากยโสธร

เปิดตลาดทุกวันศุกร์
เปิดตลาดทุกวันศุกร์

ที่นี่เขามีเปิดตลาดสุขใจ ทุกวันศุกร์ด้วยครับ เขาจำหน่ายอาหารพืชผักผลไม้ไร้สารพิษ ที่มาจากผลผลิตของชาวนาคุณธรรมครับ แอบอิจฉาเกลอทุ่งที่มีผลผลิตปลอดสารพิษให้กินกันแบบราคาไม่แพง สำหรับคนในเมืองอย่างผมจริงๆก็มีทางเลือกครับ มีหลายที่ขายผักปลอดสาร แต่ก็ไม่รู้แหล่งที่มาละนะ ถ้ากินแบบรู้แหล่งที่มาก็จะสบายใจกว่า ต่อไปผมคงต้องพิจารณาอาหารมากกว่าเดิม มากกว่าเอาแค่ว่ากินให้อิ่ม

วันนี้ฝนตก
วันนี้ฝนตก

วันนี้ฝนตกทั้งวันครับ ตั้งแต่ยโสธร เรื่อยมา จริงๆก็ตกตั้งแต่เช้าแล้ว ต้นไม้ และป่ากันชนที่เราปลูกไปได้รับน้ำฝนแบบนี้ก็มีอัตราการรอดชีวิตสูงเลยครับ งานนี้เรียกได้ว่าฟ้าฝนเป็นใจครับ ตอนปลูกก็ไม่ร้อนปลูกเสร็จก็มีฝนตก อะไรจะพอดีขนาดนี้กันละนี่

ทุ่งนาวิวสวยที่ผมชอบ
ทุ่งนาวิวสวยที่ผมชอบ

นี่เป็นวิวทุ่งนาระหว่างทางครับ ถ่ายที่ปั้มระหว่างทาง ผมเองเป็นคนที่ชอบมองไปไกลๆ สุดลูกหูลูกตา ผมชอบที่กว้างๆ กว้างแบบไม่มีอะไรบังสายตา ยิ่งเป็นทุ่งนาด้วยละก็เป็นที่โปรดปรานของผมเลย มันเหมือนเราสามารถปล่อยจินตนาการไปได้ไกลมากๆ สรุปคือผมชอบทุ่งนานั่นแหละ

ทริปนี้ไม่ขาดปั้ม
ทริปนี้ไม่ขาดปั้ม

ทริปนี้เราได้แวะปั้มตลอดครับ ผมชอบมากๆ เพราะได้เดินออกมายืดเส้นยืดสายรวมถึงเข้าห้องน้ำด้วย ถ้าหิวก็แวะซื้อได้ตลอด ทั้งนี้ผมเองก็ชอบการเดินทางแบบนี้นะครับ สบายๆไม่รีบ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ให้ใจหมองหม่น

เดินทางกลับ
เดินทางกลับ

เรากลับมาถึงกรุงเทพช่วง 2 ทุ่มกว่าๆครับ ทริปนี้บอกตรงๆว่าไปแบบสบายมากๆ กินอิ่มนอนหลับ ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว สำหรับสิ่งที่ผมได้รับมาจากทริปนี้ก็จะเว้นไว้พิมพ์ไว้ในบทความต่อไปแล้วกันนะครับ สำหรับบทความนี้คงจบเรื่องเล่าแต่เพียงเท่านี้

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี