สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

พุดโถ่ พุดถัง เถียงกินเนื้อสัตว์

ว่าจะพิมพ์เรื่องนี้หลายทีแล้วก็ลืมทุกที วันนี้ได้โอกาส นำเรื่องนี้มาพิมพ์กัน ว่าทำไมเมื่อปฏิบัติธรรมไปแล้วจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ซึ่งก็มีเถียงกันมากมาย อ้างเหตุให้ได้ จะกิน จะกิน จะกินให้ถูกตามธรรมด้วย เอาข้อธรรมมาอ้างให้ได้กินนั่นแหละ ชีวิตมันจะต้องลำบากปกป้องตนเอง เสียเวลากับการปกป้องตนเองไปเพื่ออะไร

หลายวันก่อนระลึกถึงพระสูตรหนึ่ง ค้นเจอว่าเป็น เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน ผมเคยใช้พระสูตรนี้อธิบายเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่คราวนี้มันนึกขึ้นได้ว่า จริง ๆ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้เอง ทำไมคนไม่เข้าใจ

เนื้อความก็ประมาณว่า สัตว์เขาอยากมีชีวิต เขาไม่อยากตาย เราก็ไม่อยากตายเช่นกัน เมื่อเราเข้าใจเช่นนั้น เราจึงไม่ฆ่าเขา และยังชักชวนให้คนไม่ฆ่า มีความยินดีในการไม่ฆ่า… เอาแค่นี้ก่อน

เอาแค่ภาษาแค่นี้ผมว่าคนมีปัญญาก็ทะลุได้แล้วนะ เลิกกินได้เลย เอ้อนี่ เราก็ไม่อยากให้ใครฆ่าเราไปให้ใครกิน ดังนั้นเราจึงไม่กินเนื้อใครซะเลย มันก็ตรรกกะง่าย ๆ คือถ้าไม่โง่จนเกินไปก็น่าจะพอเข้าใจ

แต่ผมก็เข้าใจอีกอย่างคือ ยุคนี้มันใกล้กลียุค คนมีวิบาก แม้ธรรมง่าย ๆ ก็ฟังไม่เข้าใจ มันจะมืดบอดไปหมด ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่เห็นอกเห็นใจสัตว์อื่น ทำตัวเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นเทพ อยู่เหนือสัตว์อื่น จิตมันเลยไม่น้อมไปว่า สัตว์อื่นทุกข์อย่างไร แม้เราโดนเช่นนั้น เราก็ทุกข์อย่างนั้น

ถ้าธรรมะเจริญจริง มันไม่ยากหรอกที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น สัตว์อื่น เมตตาที่เพิ่มขึ้นมันจะมีผล มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะมีความรู้สึกผิด กลัวบาป เพราะรู้ชัดในกรรมว่าทำไปแล้วโดนแน่ ๆ ผลของกรรมมันกลับมาเอาคืนแน่ ๆ ในเมื่อมันไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มันก็ไม่รู้จะไปกินเอาวิบากร้ายทำไม

ใครอยากศึกษาต่อก็ไปตามอ่านกันเอา แต่ที่เถียง ๆ กิน นี่ยังไม่เจริญเท่าไหร่หรอก ก็มีแต่ตรรกะ สภาวะไม่ได้ เพราะถ้าจะเจริญอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คนนั้นก็ต้องไม่ฆ่า อันนี้คนทั่วไปก็พอจะทำได้ พอมาชักชวนให้คนอื่นไม่ฆ่า สายปฏิบัติกินเนื้อสัตว์นี่น้ำท่วมปากแล้ว พูดไม่ออก จะไปชวนคนที่เขาฆ่าสัตว์มาขายให้เลิกฆ่าก็พูดไม่ออก กลัวไม่มีเนื้อสัตว์กิน พอมาข้อสุดท้าย คือกล่าวชม มีความยินดีในการไม่ฆ่า ไปไม่เป็นเลยทีนี้ เพราะตัวเองก็กำลังเถียงสู้ (แม้จะเถียงในใจ)อยู่กับคนที่เขายินดีไม่ฆ่าสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ มันก็เลือกข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า อยู่ฝั่งยินดีให้สัตว์โดนฆ่า ยินดีให้สัตว์ตาย ปล่อยวางธรรมแล้วถือเอาเนื้อสัตว์มากินมันซะเลย

ถ้าจิตมันไม่ยินดีให้สัตว์ตายนั้น ร่างกายมันจะเคลื่อนตาม มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ไปทีละนิด ลด ละ เลิกไปตามฐาน ตามปัญญาที่มี