คนเมือง อยากเข้าป่า

หลายปีผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ ดูเหมือนจะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในความคิดของผม และเป้าหมายในชีวิต ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้ดูเหมือนว่าทิศทางในชีวิตจะค่อนข้างแน่นอนแล้ว เหลือแค่ว่าจะเริ่มออกเดินทางเมื่อไหร่ เท่านั้นเอง

เชื่อไหมว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นด้วยความบังเอิญ หรือว่าจริงๆมันไม่บังเอิญก็ไม่อาจจะทราบได้เหมือนกัน ย้อนหลังไปเมื่อปี 2009 หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง นับจากเวลานี้

เริ่มตั้งแต่ กลางปี 2009 กับสวนลุงนิล (12-14 มิถุนายน 2009)

สวนลุงนิล
สวนลุงนิล

เป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางไปกับทีวีบูรพา ที่สวนลุงนิล เพื่อพบกับลุงนิล เป็นเกษตรพอเพียง โดยใช้แนวคิดไร่นาสวนผสม เป็นปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งที่มีความรู้ในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเกื้อกูล โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวง จริงๆแล้วในครั้งนี้คนที่ต้องการเดินทางไปเรียนรู้ และเข้าไปขอร่วมเดินทางกับทีวีบูรพาก็คือคุณแม่ของผม แต่พอมาใกล้่ถึงวันเดินทางก็พบว่าคุณแม่ติดงานด่วนๆ ไปไม่ได้ เลยส่งผมไปแทน??

ผมก็ไปแบบงงๆ เพราะว่าช่วงนั้นก็ว่างอยู่แล้วและไม่ได้รับงานไว้ จึงไปแบบไม่รู้อะไรเลย เขาให้ไปก็ไป ไม่รู้จักทีวีบูรพา ไม่รู้จักสวนลุงนิล ไม่รู้จักลุงนิล อะไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่เมื่อไปก็ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมายจนทำให้ชีวิตหลังจากกลับมาค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองไปทีละนิดละน้อย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :  สวนลุงนิล

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ( 15-17 มิถุนายน 2012 )

หว่านข้าว

ครั้งที่สองกับทีวีบูรพาอีกครั้ง ซึ่งการไปเครือข่ายชาวนาคุณธรรม จังหวัดยโสธร นี้ถือเป็นครั้งที่สองของกิจกรรมชุดนี้ ในครั้งแรกผมเองไม่ได้ไปแต่คุณแม่ของผมไป พอมาครั้งที่สองก็เลยแนะนำให้ผมได้มารู้จัก และเรียนรู้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรม ที่นำพาโดยทีวีบูรพา ครั้งนี้ก็ได้เรียนรู้โลกในอีกมุมหนึ่ง โลกที่หมุนช้ากว่าที่กรุงเทพฯมาก ที่ที่วันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าแต่ก็มีคุณค่าในตัวของมัน ผมได้รู้จักวิถีของชาวนาคุณธรรมจากการเดินทางมาในครั้งนี้ และพบว่านี่แหละคือจุดเริ่มต้นแห่งความสมบูรณ์ในชีวิตของผมอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา ( 9-11 พฤษจิกายน 2012 )

ลงแขกเกี่ยวข้าว
ลงแขกเกี่ยวข้าว

ลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้่ เป็นการเดินทางไปที่ยโสธร เพื่อพบกับเครือข่ายชาวนาคุณธรรมกันอีกครั้ง ในครั้งนี้เป็นการไปเข้าถึงชาวนาแบบบุกบ้าน ไปนอนบ้านชาวนากันเลย ไปดูชีวิตประจำวัน ดูลูกหลาน ชุมชน สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งมีนัยยะที่เป็นกุศลมากมายซ่อนเร้นอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ หากเพียงแค่อ่านฟัง แต่ยังไม่ได้ลองก็คงจะไม่เห็นผล ผมเน้นดำเนินชีวิตตามสุภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ จึงได้เดินทางไปอีกครั้ง ครั้งนี้นับเป็นการเดินทางที่ได้เรียนรู้อย่างคุ้มค่าอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม ( 25 – 31 มกราคม 2013)

ค่ายหมอเขียว
ค่ายหมอเขียว

เป็นอีกครั้งที่ได้เดินทาง ในครั้งนี้ก็จะไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ กับแพทย์วิถีธรรม หรือการใช้หลักธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาและดูแลสุขภาพให้อยู่ในจุดสมดุลคือไม่ดีและไม่ร้าย ให้อยู่กลางๆ ดูๆแล้วอาจจะง่ายแต่จริงๆ นั้นยาก เพราะว่า ยา 9 เม็ด ของหมอเขียวนั้น มีสองเม็ดสุดท้ายคือความพอเพียงและธรรมะ ซึ่งยากง่ายต่างกันไปตามแต่ละคน ซึ่งเป็นตัวที่จะทำให้สุขภาพ ชีวิต และจิตใจ ร้ายดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากว่าเราควบคุมได้

เนื้อหาในค่ายส่วนใหญ่ก็จะเป็นการดูแลสุขภาพโดยหลักยา 9 เม็ด พร้อมกับให้ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในค่ายให้เกิดการเรียนรู้การดูแลรักษาสุขภาพโดยมีเหล่าจิตอาสาเป็นทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาที่คอยให้ความรู้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม ( ค่ายหมอเขียว )

คนเมือง อยากเข้าป่า

มาจนถึงตอนนี้ก็สรุปกันเลยแล้วกัน การปลูกต้นไม้หากินก็รู้บ้างแล้ว การแปรรูปก็รู้บ้างแล้ว การทำนาก็รู้บ้างแล้ว การแพทย์วิถีธรรมก็รู้บ้างแล้ว ธรรมะก็รู้บ้างแล้ว โลกก็เข้าใจบ้างแล้ว

ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีชีวิตไปทำไม แล้วทำไมต้องมาทำงานงกๆ ในเมื่อสุดท้ายก็ต้องเอาเงินไปซื้อข้าวกินอยู่ดี ปลูกข้าวกินเองเลยไม่ง่ายกว่าหรอ ทำไมชีวิตต้องทำอะไรซับซ้อนด้วย ชื่อเสียงเงินทองก็ไม่ได้อยากได้อะไรมากมายแล้ว ก็แค่พอดำรงชีพได้แค่นั้นเอง สุดท้ายก็เลยมีความคิดแบบคนเมือง อยากเข้าป่า (ไปอยู่บ้านนอก นั่นแหละ)

แน่นอนว่ามันยาก ในการปรับตัวในเบื้องต้นหลายคนคงสงสัยว่าอยู่เมืองดีอยู่แล้วไปทำไม ที่เขาถามเพราะเขายังไม่เห็นทุกข์ในเมืองใหญ่ และยังไม่เห็นความสุขที่บ้านนอก รวมถึงยังไม่เข้าใจความสงบในใจ ไม่แปลกหากอ่านแล้วไม่เข้าใจ เพราะคนที่จะเข้าใจได้ต้องมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ผสมผสานทั้งสองด้าน และอื่นๆที่ขอละไว้ในฐานที่อาจจะเข้าใจ

เหตุที่พิมพ์บทความนี้ขึ้นมาอย่างแรกคือต้องการบันทึก สองคือหากเรื่องเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนได้เจอสิ่งที่ชีวิตตัวเองต้องการอย่างแท้จริงก็คงจะดี แน่นอนว่าชีวิตของเรานั้นค้นหาสิ่งที่ต่างกันตามเหตุและปัจจัย ตามแต่กรรมและกิเลสของแต่ละคน

สวัสดี

บทสรุป ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ผมพยายามจะคัดกรองและแยกประเด็นที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นสิ่งเกี่ยวมาได้ ได้มากกว่าข้าว มากกว่าผลผลิต มากกว่าความรู้ นั่นคือประสบการณ์

ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

คำว่าประสบการณ์หมายถึงการได้รับจากการสัมผัสพบเจอ เป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าความรู้ ความรู้หาจากหนังสือ คำบอกเล่า หรือคิดขึ้นเองได้ แต่ประสบการณ์จำเป็นต้องลงไปเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้มา นั่นคือสิ่งที่ผมตีความและเข้าใจได้จากภาษิตที่ว่า ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ

ความเรียบง่ายในวิถีชาวนา

ผมได้พบเจอกับความเรียบง่ายในวิถีของชาวนา ซึ่งถือเป็นวิถีดั้งเดิมของไทย การกินอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตที่เรียบง่าย  ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ผมมีอยู่ในปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่ออยู่แบบชาวนาก็อยู่ได้ กินอิ่มนอนหลับ แล้วชีวิตปัจจุบันของคนเมืองคืออะไรทั้งๆที่มีเงิน แต่กลับไม่มีความสุข เปลือกที่เราหุ้มอยู่คืออะไร ความพอดีของเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อภาพของความพอดีของชาวนานั้นจบตรงที่ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต แต่ภาพของความพอดีของคนเมืองกลับหาไม่เจอ มองไม่เห็น จินตนาการไม่ออก เราติดอยู่ในโลกที่จินตนาการถูกนำพาด้วยการตลาดจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนพอดี พอเพียง หรือจำเป็นจริงๆ ความเรียบง่ายในวิถีชาวนาทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่

คุณธรรมแห่งชาวนา

การทำนาอินทรีย์ หรือคำว่าคุณธรรมเป็นนามธรรมสิ่งที่พูดได้ง่ายพิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องใช้คือศรัทธาและความสำนึก ชาวนาคุณธรรมที่ผมพบเจอ เรียกตนเองว่าพ่อแม่ชาวนา เป็นความรู้สึกลึกๆที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่น การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงบ้าน ทำให้รู้สึกเชื่อ ศรัทธา ในสิ่งที่พบจนแทบไม่ต้องการพิสูจน์ว่าข้าวที่ได้รับนั้นมาจากนาอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะผู้ปลูกให้เรากินนั้นมีความรู้สึกเห็นผู้กินเป็นลูกหลาน เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นความผูกพัน ดังนั้นความรู้สึกนี้จึงก้าวข้ามมูลค่าในราคาข้าว การขาย หรือการตลาด สู่การส่งผ่านคุณค่าแห่งอาหารจากชาวนาสู่ผู้กิน เป็นข้าวที่รวมไว้ซึ่งความสำนึกรับผิดชอบและความรักที่มีต่ออื่น ถ้าจะให้เทียบหลักการในปัจจุบันก็น่าจะเป็น Marketing 3.0+ นี่คือสิ่งที่ชาวนาคุณธรรมได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

คนเมืองคนป่า

เขาว่าถ้าจับคนเมืองเข้าป่าคนเมืองก็ตาย หรือถ้าจับคนป่าเข้าเมืองคนป่าก็ตายเหมือนกัน ผมกำลังนึกถึงวันที่มีเหตุอันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภัยพิบัติ สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงสภาพนั้นจริงๆก็คงเป็นดั่งคำข้างต้น สังเกตุจากที่น้ำท่วมในบ้านเราในปี 2554 ที่ผ่านมา เพียงแค่น้ำท่วม ก็เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว

อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีกินก็ตายไปสักวันหนึ่ง การเรียนรู้แยกแยะว่า สิ่งใดกินได้สิ่งใดกินไม่ได้ นั้นไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนในปัจจุบัน เป็นความรู้สำคัญที่ถูกมองข้ามไปส่วนสาเหตุนั้นคงเพราะเราเคยชินกับการไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองคงไม่รอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปค้นหาความรู้และประสบการณ์ของคนป่าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ขาดหายไป

การเีรียนรู้

การเรียนรู้และการพัฒนาในบุคคลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามอดีตที่ผ่านมา ผมไม่สามารถบอกปัจจัยแห่งการเรียนรู้ได้แน่ชัดเพราะมีหลายอย่างโยงใยและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้่อนในมิติแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะข้ามไปตรงที่ผลและประสิทธิภาพในการเรียนรู้เลยก็แล้วกัน

บางคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันทำให้ได้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์แตกต่างกันไป สิ่งนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเองหรือเปล่าว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งไหนได้ดี หรือไม่ดีเพราะอะไรอย่างไรแบบไหน ที่ไหน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้ต้องวิเคราะห์ตัวเองเพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ได้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างคุ้มค่า่มากที่สุด

สุ จิ ปุ ลิ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ผมจะทิ้งท้ายไว้ให้ โดยจะยกตัวอย่างตัวผมเอง

สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

แน่นอนว่าการฟังนั้นเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้น การฟังควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหาโดยมุ่งจับประเด็นที่สำคัญให้ได้ โดยนำมาคิดตามหรือคิดทบทวน เรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ จนเกิดการตกผลึกทางความคิด เมื่อไม่เข้าใจหรือลังเลในประเด็นก็ควรจะถาม การถามเป็นทางออกในการสร้างความรู้เพิ่มเติมที่ดี การยอมโง่เพียงชั่วครู่ดีกว่าการไม่ฉลาดอย่างถาวร ดังนั้นบางคำถามที่ดูโง่อาจจะสร้างความรู้ใหม่ให้่เราโดยการคิดในลำดับต่อมา

ลิ หรือลิขิต เป็นสิ่งที่เป็นทำอยู่ การเขียน การบันทึก เป็นการย้อนรอยความรู้ ความคิด เรื่องราว ประสบการณ์ลงบนกระดาษหรือหน้าจอผ่านนิ้ว สายตาและสมองที่กลั่นกรองออกมา สำหรับในตอนนี้ผมจะเน้นไปทางลิขิต เพราะสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ส่วนการฟัง คิด ถาม ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์ใช้

ผมเริ่มเห็นข้อดีในการเขียนบล็อกก็นานมาแล้ว มันทำให้เราได้บันทึกซ้ำในกิจกรรมที่เคยทำมา ได้นำมาขบคิดอีกครั้ง เป็นการนำประสบการณ์เก่าๆมาคิดใหม่และบันทึกลงไปในสมองพร้อมๆกับที่ผมพิมพ์ การพิมพ์หรือเขียนสำหรับผมก็เหมือนการทบทวนและสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด ถือเป็นกำไรขั้นแรกที่ได้จากการเขียน ส่วนที่เหลือให้เป็นผลพลอยได้ของผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีวีบูรพา เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา พ่อแม่ชาวนาคุณธรรม และเพื่อนสมาชิกร่วมเดินทางที่ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์แก่กัน

บทสรุปทั้งหมดจบเพียงเท่านี้ อ่านเรื่องราวอื่นๆ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [1] วันแรก

เป็นเรื่องราวสำหรับวันแรกนะครับ เนื้อหาและเรื่องราวในวันแรกนั้นก็จะมีไม่มากสักเท่าไรนัก เพราะเราใช้เวลาของวันส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางครับ

9 พฤษจิกายน 2555

เช้าวันนี้ผมค่อนข้างพร้อมสำหรับการเดินทาง การพักผ่อนที่พอเหมาะ ของที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน ผมออกเดินทางไปถึงทีวีบูรพาเป็นกลุ่มแรกครับ สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปกับเพื่อนอีกคน ไม่ได้ไปคนเดียวเหมือนอย่างที่เคย ในครั้งนี้เรานัดกันเช้ากว่าที่เคยเพราะว่าหลายครั้งก่อน การออกเดินทางตอนสายๆทำให้เราไปถึงที่หมายเย็นจนเกือบค่ำ ซึ่งก็ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างนะครับ

ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ยโสธรนั้น เป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานมากสำหรับการเดินทางด้วยรถ ซึ่งในครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถตู้ครับ ซึ่งค่อนข้างจะคล่องตัวเวลาที่เดินทางพอสมควร สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็แวะกินข้าวเช้ากันที่ร้านข้าวสามสี และแวะกินข้าวเที่ยงกว่าๆกันที่ปั้ม ปตท ที่จังหวัดร้อยเอ็ดครับ สุดท้ายก็มาถึง วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ราวๆ สี่โมงเย็นครับ มีเวลาให้ทำกิจกรรมกันอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้ามาก็คือป้าย ร้อยรู้ ไม่สู้ หนึ่งทำ สำหรับสุภาษิตนี้ก็จะเป็นแนวคิดสำหรับการเดินทางของผมและการพิมพ์บทความในครั้งนี้ครับ

ศาลาไทวัตร วัดป่าสวนธรรมร่วมใจเมื่อมาถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรม พร้อมน้ำหญ้าม้า ผสมมะนาวและน้ำผึ้ง ต้อนรับกันอย่างสดชื่นและสุขภาพดีไปในตัวครับ สำหรับน้ำหญ้าม้านี่ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ทีเดียว ลองค้นหาข้อมูลเพิ่มกันดูนะครับ

เพาะถั่วงอกสำหรับกิจกรรมเมื่อมาถึงก็จะมีการสอนการทำถั่วงอกแบบง่ายๆ โดยพี่ทิดโส ซึ่งนำความรู้มาแบ่งปันกัน โดยวิธีก็คือนำขวดน้ำที่หมดแล้ว มาเจาะรูระบายน้ำและเจาะทำประตูด้านข้างขวดเพื่อใส่เมล็ดและรดน้ำ เมื่อได้ขวดที่พร้อมปลูกแล้วเราก็ใส่เมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำมาหนึ่งคืน และรดน้ำตามลงไปโดยเก็บไว้ในที่มืดเพื่อให้ถั่วงอกขาว ไม่เป็นสีเขียวนั่นเอง สำหรับการทำให้มันมืดในที่นี้เราก็จะใช้ถุงดำมาพันๆนะครับ แล้วก็ให้รดน้ำทุกๆสองชั่วโมง เพื่อคลายความร้อนจากการเติบโต และให้น้ำถั่วงอกครับ หลังจากนี้ 3 วันก็กินได้ครับก็จะกินในวันที่เรากลับกันนั่นเอง

แขยงนา
แขยงนา

หลังจากนั้นก็จะมีการแนะนำตัวทั้งสมาชิกร่วมเดินทาง กลุ่มเครือข่ายฯ ทีมงานทีวีบูรพา และกลุ่มชาวนาคุณธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันครับ ซึ่งเราจะใช้เวลาที่เหลือในการพาชมธนาคารข้าวและ แปลงปลูกข้าวสาธิตที่รวมพันธุ์ข้าวเอาไว้ ซึ่งกำลังแตกรวงสามารถสังเกตุความต่างของรูปทรง สีสัน ของเมล็ดข้าวได้ครับ รวมถึงลองชิมแขยงนา ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งก็รสชาติออกซ่าๆ ละมุนๆครับ หลังจากนั้น เราก็จะแบ่งกลุ่มกันเพื่อไปพักตามบ้านของพ่อแม่ชาวนา ซึ่งห่างกันออกไปคนละทิศละทาง โดยไปพักบ้านละ 5-7 คนโดยประมาณครับ

คืนวันแรก…

เมื่อจัดแจงที่พักเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยกลุ่มของผมนั้นต้องเดินทางโดยรถตู้เพื่อจะไปที่พักที่ห่างออกไปเกือบ 50 กิโลเมตร นั่นคือบ้านแม่แต๋นซึ่งเป็นชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งนั่นเอง

เมื่อไปถึงที่บ้านแม่แต๋นก็ลงมือจัดแจงหาอาหารและประกอบอาหารให้ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้และไม่เคยทำครัวก็ได้แต่ดูอยู่ห่่างๆ ซึ่งในเวลาแบบนี้ผมก็ใช้เวลานั่งคุยกับพ่อบ้าน หรือพ่อแหวนซึ่งก็เป็นชาวนาเหมือนกัน รวมทั้งพี่แหลมคนขับรถซึ่งก็มีประสบการณ์ในการทำนาเหมือนกัน คำถามมากมายที่ผมมีนั้น ได้ถูกตอบจนหมด และยังได้คำตอบรวมถึงแนวทางมากมายที่มากกว่าที่คิดไว้อีกด้วยจากการนั่งคุยกับชาวนาผู้มีประสบการณ์เพียงไม่นานนัก

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่อาหารมื้อค่ำของเราก็เสร็จแล้ว มีหลายๆเมนู แต่ทุกเมนูคืออาหารมังสวิรัติครับ เพราะแม่แต๋นคือชาวนาคุณธรรมที่กินมังสวิรัติมานานแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวชีวิตของแม่แต๋นสั้นๆมาแบ่งปันกันครับ เป็นเรื่องที่แม่เล่าในวงอาหาร นั่นคืออดีตและจุดเปลี่ยนของชีวิตของแกเอง แม่แต๋นเล่าว่าแต่ก่อนแกใช้สารเคมี ใช้แบบไม่ระวัง ไม่เกรงกลัว สารเคมีหกใส่บ้างก็ไม่ได้สนใจ สุดท้ายป่วยและแพทย์แจ้งว่าเป็นตับแข็งและบอกว่าแกดื่มเหล้ามากไป ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้

แม่แต๋นรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 ปี ซึ่งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะรักษาหาย และในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปรักษากับหมอเขียว ซึ่งก็ทำให้หายจากโรคได้ในเวลาไม่ถึงปีทำให้แม่แต๋นเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆที่ผมจับประเด็นมาได้ อาจจะถูกหรือจำเพี้ยนๆไปก็ได้เพราะตอนนั้นก็ท้องอิ่มๆและเริ่มง่วง แต่เอาเป็นว่าแนวทางนี้แล้วกันนะครับ ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาเคมีสู่ชาวนาอินทรีย์นี่สามารถหาข้อมูลได้กับกลุ่มชาวนาคุณธรรมกันได้เลยครับ

หลังจากนั้นเราก็ทยอยกันอาบน้ำและนอนหลับพักผ่อนกันครับ สำหรับบ้านชาวนานั้นเขาจะอยู่กันง่าย กินกันง่ายครับ พอเราไปอยู่อาจจะยากหน่อยสำหรับคนเมืองครับ ซึ่งผมมีวิธีคือ คืนก่อนไปให้นอนหลับอย่างพอเหมาะครับ พอเหมาะในที่นี้คือพอที่จะง่วงเมื่อถึงเวลาครับ สำหรับคืนก่อนไปรู้สึกผมจะนอนตี 2 กว่าๆ ตื่น ตี 5 ได้ เพราะฉนั้น การเปลี่ยนที่นอนในคืนแรกไม่เป็นปัญหาของผมแน่นอน เพราะโดยธรรมชาิติของคน ยังไงง่วงก็ต้องหลับแน่นอน

สำหรับในคืนแรก เสียงหมาหอนทำให้หวั่นเกรงต่อพื้นที่ต่างถิ่นได้เล็กน้อย แต่ยังไงผมเองก็คิดว่าที่นี่ก็ต้องนอนหลับสบายอย่างแน่นอน เรานอนบนชั้นสองที่เป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ ห้องใหญ่แต่โล่ง เปิดหน้าต่าง ไม่มีมุ้งลวด แต่ก็ไม่มียุงเช่นกัน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก เมื่อนอนผ่านไปสักพักความหนาวก็เข้ามาปกคลุมอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ผมต้องคว้าผ้าห่มสุดหนาที่แม่แต๋นเตรียมไว้ให้มาห่ม สุดท้ายผ้าห่มนี้เข้ากับอากาศของที่นี่มาก หลับกันยาวๆอย่างไม่ต้องกังวลใน เพราะสบายกันสุดๆ

สำหรับวันแรกคืนแรกก็จบเพียงเท่านี้ อ่านเพิ่มเติม…

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงสามวัน แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาได้นั้น สามารถใช้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะได้อ่านจากบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับก็จะได้เห็นด้วยรูป และผ่านตัวอักษรที่เล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้มาและฝังอยู่ลึกๆ ในส่วนหนึ่งของสมองของผม

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา
หลากหลายประสบการณ์กับทริปปลูกป่าลุยนา

จากกิจกรรมที่ผมได้ไปร่วมกับเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ผมได้รับประัสบการณ์ และความรู้หลายๆอย่างนะครับ อาจจะไม่ได้พิมพ์เป็นข้อๆให้อ่านกันได้สะดวกนักแต่ก็จะเล่าให้พอเข้าใจครับ

สำหรับประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้น สิ่งแรกต้องบอกเลยว่าได้รับรู้ และรู้จักคำว่าคุณธรรม ในมุมมองของชาวนาคุณธรรมครับ มันมากมายเหนือความคาดหมายของผมมากว่า การเป็นชาวนาคุณธรรมจำเป็นต้องทำขนาดนี้เชียวหรอ แต่แน่นอนว่าถ้ามันคือสิ่งดีก็ควรจะทำครับ เพราะผลประโยชน์ก็จะตกกับตัวชาวนาคุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเองครับ

ผมได้เรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมแบบสั้นๆ ที่พอจะพบเห็นได้ผ่านภาพที่มองผ่านตา ซึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูได้ทั้งหมดครับ รวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ตามที่ได้เห็น

สำหรับประสบการณ์การปลูกป่า การหว่านข้าว การดำนา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะไม่เคยได้ลงมือทำเลย เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำซึ่งเป็นระดับเล็กๆ ขนาดเล็กๆ คิดว่าวันหนึ่งก็คงจะได้ทำจริงและวันนั้นก็จะได้พบความจริงอย่างที่สุด วันนี้ก็คงจะเป็นการทดลองเรียนรู้ไปก่อน

ได้รับรู้ถึงการส่งต่อและการขยายตัวของน้ำใจและการเกื้อกูลกันของมนุษย์ การส่งเสริมคนดี การส่งเสริมการทำสิ่งดีๆยังมีอยู่ให้เห็นตลอดสามวันที่ได้เดินทาง ไม่เหมือนข่าวสาร และสิ่งที่เรารับรู้กันในเมืองสมัยนี้ มีสักกี่เรื่องในแต่ละวันที่เป็นเรื่องดีๆบ้าง สำหรับผมที่ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้ บอกได้เลยว่า ผมได้รับรู้แต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต

หลายๆสิ่งอีกมากมายที่ยังฝังอยู่ในสมองของผม อยู่ในความทรงจำของผม อาจจะคาดคั้นออกมาไม่ได้ในบทความนี้ แต่คิดว่าดอกผลของมันก็คงจะออกมาให้เห็นในอนาคตเป็นแน่ ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น ก็คงจะมีการเดินทางในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นก็เป็นได้

สวัสดี

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางกลับ

มาถึงวันที่สามของกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องเดินทางกลับ แต่วันนี้เป็นวันที่นอนสบายจริงๆนะ

เมื่อคืนมีฝนตกตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่หลับหลังจากฝนตกได้ไม่นาน เพราะความสบายจากอากาศที่เย็นและความเหนื่อยล้า? ที่ผ่านมาในวันนี้

วันนี้ตื่นสาย เพราะเพลินไปกับการนอน
วันนี้ตื่นสาย เพราะเพลินไปกับการนอน

เช้าวันนี้ไม่มีธรรมะตามสายให้ฟังเหมือนเมื่อวาน คล้ายๆจะได้ยินหลวงพ่อท่านว่าอยากให้นอนสบาย แต่ก็มาเปิดตอนช่วงเช้าๆหลังฝนหยุดอีกที สุดท้ายก็ได้ฟังธรรมะยามเช้าอีกเช่นเคย วันนี้เป็นวันที่ตื่นสาย ผมเลยพลาดกิจกรรมยามเช้าไป ฝนตกทั้งคืนทำให้อากาศเย็นมาก

ฝนที่ตกที่ต่างจังหวัดนั้นต่างจากกรุงเทพมากนัก เพราะกรุงเทพที่บ้านผม ก่อนตกนี่จะร้อนมาก ยิ่งหลังตกนี่ยิ่งร้อนมากทีเดียว อาจจะเป็นเพราะต่างจังหวัดไม่ใช่พื้นปูน เป็นพื้นดิน เลยคลายความร้อนได้เร็วกว่า อากาศตอนเช้าเหมือนเปิดแอร์ธรรมชาติที่อุณหภูมิ 24-26 องศา อะไรประมาณนั้น ตอนเกือบจะตื่นก็แอบเผลอคิดว่าใครก็ได้ปรับอุณหภูมิแอร์ขึ้นที…

ตื่นมาก็อาบน้ำแล้วไปดูดงไผ่กันหน่อย
ตื่นมาก็อาบน้ำแล้วไปดูดงไผ่กันหน่อย

ตื่นมาก็อาบน้ำ และเดินไปสำรวจป่าไผ่ครับ ที่นี่มีไผ่ปลูกไว้หลายชนิด ดูจากลำไผ่แล้วน่าจะสามารถใช้งานได้หลากหลายต่างกันไปครับ แต่ที่แน่ๆเขาว่าไผ่สร้างไพร นั้นโตเร็วตามชื่อครับ คิดว่ามีที่ทางถ้าผมจะสร้างกำแพงธรรมชาติก็ต้องไผ่สร้างไพรนี่แหละนะ

ชาวคณะกำลังพอกหน้า แช่เท้ากันอยู่ครับ
ชาวคณะกำลังพอกหน้า แช่เท้ากันอยู่ครับ

เดินกลับมาที่ศาลา ก็จะเห็นว่าชาวคณะกำลังพอกหน้าแช่เท้ากันอยู่ครับ สำหรับการพอกหน้านี่ผมเองก็ยังไม่ได้ลองเพราะเดี๋ยวจะต้องไปทำอีกกิจกรรมหนึ่งนั่นคือไปสวดมนต์ก็เลยตัดสินใจยังไม่พอก เพราะมาช้าตื่นสายด้วยครับเลยทำให้พลาดอะไรดีๆไป

สมุนไพรที่ใช้พอกหน้า?
สมุนไพรที่ใช้พอกหน้า?

สิ่งที่ใช้พอกหน้า มีอะไรผสมอยู่ก็ไม่รู้เหมือนกัน จะเรียกสมุนไพรได้รึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ใจคิดว่าน่าจะมีส่วนผสมของผงถ่านอยู่แน่นอนครับดำๆแบบนี้

ได้แช่เท้านิดหนึ่งก็ยังดี
ได้แช่เท้านิดหนึ่งก็ยังดี

ว่าจะไม่ลองแล้ว แต่ด้วยคำแนะนำของแม่ๆ ว่าลองหน่อยสุดท้ายก็ลองจนได้ แช่เท้ากับน้ำสมุนไพรอุ่นๆกับ ก้อนเกลือที่อยู่ใต้เท้า แม้ว่าจะเป็นเวลาไม่นานแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ เพราะผมเองใช้ชีวิตแบบไม่สนใจบำรุงสุขภาพด้วยวิธีเชิงสปาอะไรแบบนี้เลย แต่ยังไงเดี๋ยวจะหาเวลาลองนะครับ จะได้ไม่พลาดโอกาสในการสร้างประสบการณ์ที่ดี

หลังจากนี้เราก็ไปสวดมนต์พร้อมทานหาอาหารเช้ากันครับ หลวงพ่อท่านให้ศีลให้พรอีกหน่อยเราก็ลากลับกัน

กิจกรรมก่อนลา แจกของใช้ที่ระลึก
กิจกรรมก่อนลา แจกของใช้ที่ระลึก

ก่อนจะลาเราก็จะมีกิจกรรมเฉลยบัดดี้นะครับ เป็นบัดดี้ระหว่างเกลอเมืองและเกลอทุ่งครับ หรือเรียกชื่อเกมส์ว่าเกลอเสี่ยว? ละมั้ง

กิจกรรม เฉลยบัดดี้
กิจกรรม เฉลยบัดดี้

บรรยากาศก็ดูวุ่นๆ ปนขำๆ เล็กน้อยเนื่องจาก พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ไม่ค่อยคุ้นกับเกมส์บัดดี้สักเท่าไรนัก ผมเองก็เพิ่งจะได้ลองไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เองครับ สำหรับจับได้พ่อบุญเรือง ซึ่งวันแรกๆก็ไม่ค่อยได้เจอแกเท่าไหร่ก็เลยไม่ได้ทำอะไร ซึ่งของที่ให้ไปก็เป็นพวกต้นไม้ที่บ้านผมนั่นเอง พวกลิ้นมังกร อโลนี่ละนะ คิดอยู่นานว่าจะให้อะไรเพราะ ทีมงานไม่ได้บอกว่าจะต้องให้ใครก็เลยงัดของกลางๆเอาเป็นต้นไม้นี่แหละนะ ไม่รู้จะเหมาะรึเปล่าแต่คิดว่าคงจะดีนะ

แม่หม่อนและผม
แม่หม่อนและผม

สำหรับบัดเดอร์ ของผมคือแม่หม่อนนะครับ แม่หม่อนฝากของให้คุณแม่ของผมด้วย ชาวนาคุณธรรมหลายท่านยังฝากความคิดถึง ถึงคุณแม่ผมด้วยครับน่ารักจริงๆ

แม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผม
แม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผม

รูปแม่บัวลี ตุ๊หล่าง และผมเองครับ ช่วงนี้แต่ละคนก็จะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกครับ แต่ผมขยับไปไหนไม่ได้เพราะมาตายเอาตรงเหน็บกินครับ แต่ไม่เป็นไรครับ จำได้ว่าทีมงานถ่ายไว้เยอะเดี๋ยวค่อยตามไปเก็บรูปใน อัลบั้มเครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาอีกที

เดินวนสวัสดีและอำลากัน
เดินวนสวัสดีและอำลากัน

ก่อนจะจากกันไปมีการตั้งแถวเป็นวงกลมครับ เดินวนสวัสดี ทักทาย พูดจา อำลา กัน แน่นอนว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและครบแน่นอนครับ ผมชอบตรงจุดนี้มาก รู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูกจริงๆครับ ขอบคุณทุกๆท่านเลย

พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมมายืนลากัน
พ่อแม่ชาวนาคุณธรรมมายืนลากัน

เมื่อร่ำลากันเรียบร้อยแล้วก็ทยอยขนของขึ้นรถกันครับ ขามานี่ไม่มีอะไรครับ แต่ขากลับบอกตรงๆว่าเพียบ นี่ขนาดไม่ได้เอาที่นอนที่เขาให้มานะ ยังรถแน่นขนาดนี้ นี่เหมือนเรามารับอย่างเดียวจริงๆทริปนี้

ป้ายสวนธรรมร่วมใจ (หน้าห้างดิน)
ป้ายสวนธรรมร่วมใจ (หน้าห้างดิน)

ก่อนจะกลับเขาก็มีกิจกรรมให้ไปแวะซื้อของกันที่ห้างดินกันก่อนครับ ห้างดินนี่น่าจะมาจากร้านขายสรรพสินค้าที่สร้างด้วยดินเช่นเดียวกับบ้านดินละมั้งครับ แต่หลักๆคือขายผลผลิตของชาวนาคุณธรรมและเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆครับ

แวะซื้อของกันที่ห้างดิน ก่อนเดินทางกลับ
แวะซื้อของกันที่ห้างดิน ก่อนเดินทางกลับ

สำหรับของฝากหรือของที่ผมซื้อก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความในตอน ” ของฝากจากยโสธร

เปิดตลาดทุกวันศุกร์
เปิดตลาดทุกวันศุกร์

ที่นี่เขามีเปิดตลาดสุขใจ ทุกวันศุกร์ด้วยครับ เขาจำหน่ายอาหารพืชผักผลไม้ไร้สารพิษ ที่มาจากผลผลิตของชาวนาคุณธรรมครับ แอบอิจฉาเกลอทุ่งที่มีผลผลิตปลอดสารพิษให้กินกันแบบราคาไม่แพง สำหรับคนในเมืองอย่างผมจริงๆก็มีทางเลือกครับ มีหลายที่ขายผักปลอดสาร แต่ก็ไม่รู้แหล่งที่มาละนะ ถ้ากินแบบรู้แหล่งที่มาก็จะสบายใจกว่า ต่อไปผมคงต้องพิจารณาอาหารมากกว่าเดิม มากกว่าเอาแค่ว่ากินให้อิ่ม

วันนี้ฝนตก
วันนี้ฝนตก

วันนี้ฝนตกทั้งวันครับ ตั้งแต่ยโสธร เรื่อยมา จริงๆก็ตกตั้งแต่เช้าแล้ว ต้นไม้ และป่ากันชนที่เราปลูกไปได้รับน้ำฝนแบบนี้ก็มีอัตราการรอดชีวิตสูงเลยครับ งานนี้เรียกได้ว่าฟ้าฝนเป็นใจครับ ตอนปลูกก็ไม่ร้อนปลูกเสร็จก็มีฝนตก อะไรจะพอดีขนาดนี้กันละนี่

ทุ่งนาวิวสวยที่ผมชอบ
ทุ่งนาวิวสวยที่ผมชอบ

นี่เป็นวิวทุ่งนาระหว่างทางครับ ถ่ายที่ปั้มระหว่างทาง ผมเองเป็นคนที่ชอบมองไปไกลๆ สุดลูกหูลูกตา ผมชอบที่กว้างๆ กว้างแบบไม่มีอะไรบังสายตา ยิ่งเป็นทุ่งนาด้วยละก็เป็นที่โปรดปรานของผมเลย มันเหมือนเราสามารถปล่อยจินตนาการไปได้ไกลมากๆ สรุปคือผมชอบทุ่งนานั่นแหละ

ทริปนี้ไม่ขาดปั้ม
ทริปนี้ไม่ขาดปั้ม

ทริปนี้เราได้แวะปั้มตลอดครับ ผมชอบมากๆ เพราะได้เดินออกมายืดเส้นยืดสายรวมถึงเข้าห้องน้ำด้วย ถ้าหิวก็แวะซื้อได้ตลอด ทั้งนี้ผมเองก็ชอบการเดินทางแบบนี้นะครับ สบายๆไม่รีบ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ให้ใจหมองหม่น

เดินทางกลับ
เดินทางกลับ

เรากลับมาถึงกรุงเทพช่วง 2 ทุ่มกว่าๆครับ ทริปนี้บอกตรงๆว่าไปแบบสบายมากๆ กินอิ่มนอนหลับ ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว สำหรับสิ่งที่ผมได้รับมาจากทริปนี้ก็จะเว้นไว้พิมพ์ไว้ในบทความต่อไปแล้วกันนะครับ สำหรับบทความนี้คงจบเรื่องเล่าแต่เพียงเท่านี้

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ เดินทางวันแรก

เริ่มต้นอีกครั้งกับทริปเดินทางไกลกับ กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ผมได้เดินทางไปกับทีมงานทีวีบูรพา

เราเริ่มต้นวันด้วยการตื่นเช้าๆพอประมาณเพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ทีวีบูรพา ก็เลยไม่ได้เร่งรีบเท่าไรนัก ของทุกอย่างถูกจัดไว้ลงกระเป๋าหมดแล้วเตรียมพร้อมที่จะเดินทางออกไปเรียนรู้วิถีชาวนาคุณธรรมอย่างที่ตั้งใจไว้

เริ่มต้นการเดินทางที่ทีวีบูรพา
เริ่มต้นการเดินทางที่ทีวีบูรพา

เวลาที่ผมมานั้นไม่เร็วไม่ช้า แค่มีคนมาก่อนแล้วประมาณ 70% เท่านั้นเอง ไปถึงก็มีทีมงานเข้ามาทักทาย และมีบทสนทนาเล็กน้่อยระหว่างคุณแม่ของผมที่มาส่งพร้อมกับมาทักทายเพื่อนสมาชิกด้วย (แม่ผมเป็นรุ่นแรกที่ไป)

ลงทะเบียนและทานของว่าง
ลงทะเบียนและทานของว่าง

หลังจากลงทะเบียนก็ได้รับเสื้อมา แต่ไม่ได้เสื้อเหมือนชาวบ้านเขาเพราะไม่มีขนาดที่เหมาะกับตัว ซึ่งถ้าจะทำตัวให้เหมาะกับเสื้อคงยากเลยได้เสื้ออีกลายติดมา กินขนมและดื่มกาแฟรอเพื่อนสมาชิกมาครบ ระหว่างนี้ก็มีสมาชิกที่เหลือทยอยกันมา สมาชิกรุ่นเก่าก็ทักทายกัน ส่วนผมก็สังเกตุสิ่งรอบตัวไปตามนิสัย

แวะทานอาหารเช้าริมทาง
แวะทานอาหารเช้าริมทาง

เราแวะพักทานข้าวเช้าที่ร้านข้าวสามสี อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้เหมือนกันรู้แค่ระหว่างทางเพราะเวลาไม่ได้ขับรถเองนี่มันเพลินมากๆแอบหลับตาไปบ่อยๆ ร้านข้าวสามสีก็ตกแต่งร้านสบายๆสวยดี และที่สวยที่สุดคือดอกไม้ที่บานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศง่วงๆยามเช้าของผม

มุ่งสู่ ลาวใต้
มุ่งสู่ ลาวใต้

นั่งรถมาเรื่อยๆ มาถึงไม่รู้เมื่อไหร่ ประมาณบ่ายๆ เราถึงปั้มที่มีชื่อว่า บี อาร์ วาย ปิโตรเลียมอะไรนี่แหละ มีป้ายแสดงแผนที่ให้ดูอยู่ก็มายืนมอง ผมเองไม่เคยไปไหนไกลเกินโคราชเลยเท่าที่จำความได้ แต่ที่จำความไม่ได้จริงๆคือผมไปมาทั่วทิศของไทยแล้ว แค่จำไม่ได้แค่นั้นเอง…

เป้าหมาย อ.ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
เป้าหมาย อ.ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

เป้าหมายของเราอยู่ที่ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จากกำหนดการก็จะเห็นว่าใช้เวลาเดินทางร่วมวันเลยครับ ไกลมากๆ จากที่คาดการณ์ไว้น่าจะถึงตอนเย็นๆครับ

วิถีชีวิตระหว่างทาง
วิถีชีวิตระหว่างทาง

ระหว่างทางก็มีสิ่งที่ชาวคณะได้ฮือฮา นั่นคือความเสี่ยงบนรถของเด็กน้่อย ผมมองไปก็นึกถึงรถไฟในอินเดียนะ ภาพประมาณนี้เลย ส่วนทำไมอะไรที่ทำให้เด็กๆขึ้นไปนั่งด้านบนโดยไม่กลัวก็คงจะเป็นความเคยชิน ส่วนเหตุที่ต้องเคยชินนั้นมาจากอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ว่าจริงๆแล้วมันก็คงจะปลอดภัยในระดับหนึ่งละนะไม่งั้นคงมีข่าวหรือไม่ก็เลิกนั่งกันไปนานแล้ว

ถึงที่หมาย ทักทายกันก่อน
ถึงที่หมาย ทักทายกันก่อน

เมื่อมาถึงก็เข้ามานั่งพักยืดเส้นยืดสายกันก่อน มีการทักทายจากชาวนาคุณธรรมที่มาต้อนรับกันด้วยอารมณ์ขำขัน ช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อที่นั่งรถมานานได้ดีทีเดียว

น้ำหญ้าม้า หอมหวานด้วยน้ำผึ้งและมะนาว
น้ำหญ้าม้า หอมหวานด้วยน้ำผึ้งและมะนาว

น้ำดื่มต้อนรับ หรือ Welcome drink! หมายถึงมันจะมีเฉพาะต้อนรับใช่ไหม? จริงๆผมอยากดื่มทุกเวลาเลยนะ เพราะเป็นน้ำหญ้าม้าผสมด้วยน้ำผึ้งและมะนาว หรือผสมอื่นๆอะไรก็ไม่ทราบ แต่มันคือน้ำสมุนไพรที่ดื่มง่ายคล่องคอจนอยากจะขอต่ออีกขวดทีเดียว

ที่พักของผม ธนาคารเมล็ดพันธุ์
ที่พักของผม ธนาคารเมล็ดพันธุ์

บ้านพักของเหล่าชายหนุ่มนะครับ จะอยู่ที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์ครับเขาปัดกวาดให้อย่างสะอาด และเตรียมที่นอน หมอน ผ้าห่มไว้ให้อย่างดีเลย สรุปถุงนอนที่ผมเอามาก็เลยมาเสริมเป็นหมอนอีกใบหนึ่งไปเลยครับสบายดี หลังจากเราเก็บของแล้วก็จะมีกิจกรรมตอนเย็นอีกนิดหน่อย

เห็นโล่งๆแบบนี้ นี่วัดป่านะ ดูจากทางเข้ามา
เห็นโล่งๆแบบนี้ นี่วัดป่านะ ดูจากทางเข้ามา

ระหว่างเดินเล่น เห็นเป็นที่โล่งๆแบบที่ถ่ายมานี่ จริงๆเราอยู่ในวัดป่านะครับ จากถนนใหญ่เข้ามามีแต่ป่าครับ มาโล่งเอาข้างในนี่แหละ กลิ่นดินกลิ่นหอมไม้ป่าลอยเต็มบรรยากาศทีเดียว

ศาลาไทวัตรลานกิจกรรมหลัก
ศาลาไทวัตรลานกิจกรรมหลัก

ลานกิจกรรมหลักของเราคือใต้ศาลาไทวัตรครับ ระหว่างที่เก็บของอยู่ใครจะเดินไปดูอะไรก็ตามสะดวกครับ ผมก็เลยเดินตามชาวนาคุณธรรมท่านหนึ่งไปชมสวนครับ สำหรับสวนที่พาไปชมก็มีพืชผักหลายชนิดครับ ส่วนใหญ่ก็เป็นผักครับ เพราะผักสามารถเด็ดมาประกอบอาหารได้บ่อยๆ ไม่เหมือนผลไม้ที่มาเป็นชุดๆกินไม่ค่อยทัน

ต้นกล้วยระหว่างเดินชมสวน
ต้นกล้วยระหว่างเดินชมสวน

ต้นกล้วยที่เห็นในรูปนี้ ต้นจริงต้องบอกว่าทรงของมันสวยมาก ถ้าจะให้เทียบก็คงเหมือนพิน โบลิ่งละนะครับ อีกอย่างต้นมันใหญ่มากทีเดียว ตอนที่ไปนี่ไม่เห็นลูกครับ แล้วก็ไม่รู้ว่ากล้วยอะไรด้วย ทิ้งไว้เป็นปริศนาต้นไม้ต่อไป

อาหารเย็น ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าทั้งหมดคือมังสวิรัติ
อาหารเย็น ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าทั้งหมดคือมังสวิรัติ

มื้อเย็นครับ อาหารทั้งหมดเป็นมังสวิรัติละครับ และทั้งทริปนี้ก็เป็นมังสวิรัติทั้งหมดด้วย บอกตรงๆว่าเกิดมาไม่เคยกินเลย แม้แต่กินเจก็ไม่เคยครับ(หรือเคยก็จำไม่ได้) มาคราวนี้ละได้ 3 วันก็ดีนะครับ กินก็ได้แรงแถมยังรู้สึกดีต่อร่างกายด้วย มีเห็ด มีผัก และข้าวอินทรีย์ครับ อร่อยทุกมื้อเลยทีเดียว

ต้องพิจารณาอาหารกันก่อนนะครับ
ต้องพิจารณาอาหารกันก่อนนะครับ

ก่อนจะทานอาหารเขาก็จะให้พิจารณาอาหารกันก่อนนะครับ เป็นบทพิจารณาอาหาร ซึ่งมีเนื้อความดังนี้

บทพิจารณาอาหาร

กินข้าวเคี้ยวทุกคำ เราจดจำกินเพื่อชาติ

อย่ากินอย่างเป็นทาส เหงื่อทุกหยาดของชาวนา

จงกินเพื่อเป็นไท กินด้วยใจที่รู้ค่า

บรรพบุรุษสร้างสืบมา ร่วมรักษาคุณความดี

ขยันงานการสร้างสรรค์ มีสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่

สมัครสมานสามัคคี อุทิศพลีเพื่อชาติไทย

ขอขอบพระคุณชาวนาที่ปลูกข้าวให้พวกเรารับประทาน

และขอขอบพระคุณพ่อครัวแม่ครัว

ที่ทำอาหารให้พวกเรารับประทานในมื้อนี้

พวกเราจะทำแต่ความดีตอบแทนพระคุณ…สาธุ

หลังจากทานอาหารค่ำกันแล้ว เราก็จะไปสวดมนต์กันนะครับ ซึ่งตอนสวดเขาให้นั่งท่าเทพบุตร สุดท้ายนั่งไม่ค่อยรอดเนื่องจากไม่ค่อยได้นั่งทำให้เท้าไม่แข็งแรงรับน้ำหนักไม่ไหว ต้องกลับไปนั่งพับเพียบท่าที่เหมาะกับคนน้ำหนักเยอะเหมือนเดิมครับ จากวันนี้พบว่าต้องหาวิธีใหม่ในการนั่งท่าเทพบุตรซะแล้ว…ดูเป็นเรื่องเล็กที่น่าหนักใจจริงๆ

จบคืนนี้นอนกันแบบกึ่งธรรมชาติ
จบคืนนี้นอนกันแบบกึ่งธรรมชาติ

หลังจากหลวงพ่อนำสวดมนต์แล้วทางทีมงานก็ให้แนะนำตัวกันนิดหน่อย ก่อนจะแยกย้ายกลับไปนอนกันครับ ก่อนนอนก็แยกกันไปอาบน้ำกันตามสะดวกใครชอบห้องน้ำห้องไหนก็เข้าห้องนั้น ห้องน้ำที่นี่มีที่ให้นั่งพักด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายรูปมา ประมาณว่าอาบน้ำเหนื่อยๆก็นั่งพักเสียก่อนประมาณนั้น

ทริปนี้เรานอนกันแบบกึ่งธรรมชาติครับ คือใช้ความเย็นจากบรรยากาศรอบๆ เท่านั้นบอกแล้วดูเหมือนร้อน แต่เอาเข้าจริงไม่นานผมก็หลับก่อนชาวบ้านเขาเลยครับ

สวัสดี

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

หลังจากที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนาคุณธรรมใน กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา แล้วกลับมาก็อยากจะมาเล่าให้อ่านกันว่าผมได้พบเจออะไรมาบ้าง

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม
วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

ชาวนาคุณธรรมนั้นต่างจากชาวนาทั่วไปอย่างไร?

คำถามนี้อาจจะดูงงๆและไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเราลองปรับตัวโจทย์ดูสักนิดอาจจะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้มากขึ้นว่า ความแตกต่างระหว่างชาวนาคุณธรรมและชาวนาทั่วไปนั้นมีผลอย่างไรต่อสังคมและโลกบ้าง

ตัวอย่างเช่น…

บริษัท A ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยสารเคมีลงสู่ชุมชน พนักงานไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม รายได้ทั้งหมดหายไปกับนักลงทุน

บริษัท B ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ มีกรรมวิธีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ใส่ใจและสร้างศีลธรรมให้กับพนักงาน ครอบครัว และชุมชนรอบข้าง รายได้ทั้งหมดนำมากระจายสู่ชุมชน

เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้อาจจะเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราจะกลับมาที่ภาพเล็กกันอีกครั้ง

บริษัท A หรือชาวนาเคมี ทำนาโดยใช้สารเคมีเป็นพิษทั้งคนทำและคนกิน รายได้ไปตกอยู่กับพ่อค้าปุ๋ย โรงสี พ่อค้าคนกลาง ฯลฯ ชีวิตเครียด จน กินเหล้า ติดพนันหวังพึ่งดวง

บริษัท B หรือชาวนาคุณธรรม ทำนาโดยใช้เกษตรอินทรีย์ มีวิถีแห่งชาวนาคุณธรรม รับผิดชอบสังคมไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการขายที่สูงกว่า แต่รายได้ทั้งหมดกลับมาจุนเจือตัวชาวนาและสังคมรอบๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างดังนี้ก็จะสามารถอธิบายได้ง่ายขึ้นว่าวิถีแห่งชาวนาคุณธรรมต่างจากชาวนาเคมี หรือชาวนาอินทรีย์อย่างไร ซึ่งเมื่อเรามองที่ปลายทาง ผลสุดท้ายเราก็จะพบว่าชาวนาที่ดำเนินวิถีที่ต่างกันย่อมได้รับผลต่างกัน

ซึ่งแล้วแต่เราจะเลือกว่าจะสนับสนุนเส้นทางไหน สังคมจะไปในทิศทางไหนนั้นน้อยคนนักจะเลือกด้วยตัวเองได้ ชาวนาก็เหมือนกัน บางครั้งหรือหลายครั้งทำไปเพราะความจำเป็น ทำไปเพราะไม่รุ้ ทำไปเพราะต้องดำรงอยู่ ทางเลือกมีไม่มากนัก หากสังคมช่วยกันชี้ช่องทางและเอื้อเฟื้อแก่ชาวนาที่ยังหลงทาง ก็อาจจะทำให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนมามุ่งสู่วิถีแห่งชาวนาคุณธรรมได้

เมื่อมีชาวนาคุณธรรมมาก สังคมรอบๆก็จะมีคุณธรรมเกิดขึ้นตามหลักการแพร่ของคนดี คนดีก็จะชวนกันให้ทำสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปเองโดยอัตโนมัติ อ่านมาจนถึงขนาดนี้คุณคิดว่าผมมีเหตุผลมากพอที่จะสนับสนุนชาวนาคุณธรรมหรือยัง?

สวัสดี