งานบวช คะนองกาม คำรามอัตตา

ช่วงหลังมานี่ก็ได้เห็นข่าว เห็นสื่อเกี่ยวกับงานบวชที่เรียกว่าออกทะเลไปไกล

ไกล คือไกลพุทธะ เพราะไปทางกิเลสเสียเป็นส่วนใหญ่ จากที่ดูประมาณ 99 % นี่ไม่มีอะไรเป็นไปทางลดกิเลสเลย คือเขาจะบวชเพื่ออะไรก็ไม่ทราบได้ แต่การบวชในพระพุทธศาสนาคือการลดกามลดอัตตา

ทีนี้เขาบวชมันก็ดีกับตัวเขา แต่กลายเป็นว่าการจัดงานบวชนี่มันเละเทะเลย เรียกว่ากามก็จัด อัตตาก็แรง

กามจัดคืออะไร ก็กิน เสพ แต่งตัวกันอย่างจัดจ้าน แสดงท่าทีลีลา ยั่วย้อมมอมเมาสารพัด ดังที่ปรากฏในหลาย ๆ คลิปที่เห็นมาในช่วงหลายปี

อัตตาแรงคืออะไร ก็พอจัดงานบวช กลายเป็นงานบาป เหมือนผีเข้าสิง ความเก่ง ความกร่างมันก็โผล่มา ว่าข้านี่เป็นดั่งเทพ
ข้าเป็นคนพิเศษ มีกำลังที่จะบงการ จัดการ สิ่งใด ๆ ได้ทั้งหมด

…ตัวอย่างที่ผมเจอวันนี้เลย คือเจอขบวนบวชนาค ยาวเหยียด ที่ขับรถช้า ๆ ไปตามถนนที่มีแค่ 2 เลน สวนกัน แต่ก็ใช่ว่าเขาจะเกรงใจนะ เขาก็ขับกันคับถนนนั่นแหละ ไม่ได้ชิดซ้ายอะไร แถมยังขับช้า ๆ ซึ่งก็ไม่รู้จะขับช้าไปเพื่ออะไร ขับรถไปถึงวัดก็บวช ก็จบแล้ว แต่ดู ๆ ไป ก็จะไปทางบันเทิงเสียมากกว่า ดีไม่ดีจะอวดชาวบ้านเสียด้วยซ้ำว่าข้ามี ข้าเป็น ฯลฯ

นี่แค่กำลังจะบวชก็เบียดเบียนชาวบ้านแล้ว เอาจริง ๆ ประเพณีมันก็เพี้ยนมามากแล้ว มันไปทางกามทางอัตตาคนนี่แหละ จะเจริญก็เพราะคน จะเสื่อมก็เพราะคน

ยิ่งข่าวที่ออกมาช่วงนี้อีก คือ ไปงานบวชเขา แล้วชุมชนข้างเคียงเขาเตือนมา เพราะว่ามันรบกวน กลุ่มนี้ก็ทำตัวกร่างเข้าไปทำร้ายเขา ลวนลามเขา

ปัญหาคือการคบคนพาลนี่แหละ การคบคนพาลอยู่ในธรรม หมวดอบายมุข ๖ และมงคล ๓๘ พระพุทธเจ้าให้ดำรงชีวิตห่างไกลคนพาล ใครยังยินดีคบคนพาลเป็นมิตรจิตก็ยังจมอยู่ในอบายมุข

พอมีการจัดงานอะไร พอเพื่อน มิตร สหาย ที่เป็นคนพาลมารวมกัน เขาก็จะพากันทำสิ่งที่ไร้สาระ เบียดเบียน สร้างความลำบากให้ผู้อื่นและตัวของเขาเองเป็นธรรมดา ด้วยเหตุแห่งความมักมากในกามและความมัวเมาในอัตตาตัวตนของเขานั่นเอง

ดังนั้นชีวิตก็ควรคบคนดีเป็นมิตร คบบัณฑิต(ผู้มีธรรม) ชีวิตก็จะผาสุก ถึงจะจัดงานบวช แต่ถ้ามีบัณฑิตเป็นผู้นำ งานบวชก็จะเป็นไปโดยสงบ เป็นรูปแบบการจัดงานเหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันคนละโลกกับงานบวชที่รวมคนพาลไว้ด้วยกัน

คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด

ชีวิตมันยากเพราะมันโง่มาเยอะ ที่ชีวิตมันยากลำบากก็เพราะต้องมารับผลกรรมชั่วที่เกิดจากความโง่ที่เคยทำมานี่แหละ

ความโง่ หรือเรียกให้ดูสุภาพตรงจริตบางท่าน ก็คือมีอวิชชาเข้าครอบงำ (จริง ๆ มันก็ครอบมาตั้งแต่ชาติไหนแล้วก็ไม่รู้ ช่างมันเถอะ มันแก้อดีตไม่ได้)

ความโง่อันหนึ่งที่ทำร้ายชีวิต ทำลายเวลาอย่างหาประโยชน์แทบไม่ได้คือการคบคนพาล ซึ่งผมเองก็เคยเจอมาในชาตินี้เช่นกัน

สมัยศึกษาธรรมะใหม่ ๆ ก็ศึกษาไปมั่ว ๆ จนมาเจอของที่ปฏิบัติได้ผลจริง สุดท้ายไอ้ที่ศึกษามาก่อนหน้านั้น กว่าจะล้างสัญญาที่เรียนรู้และศึกษามาผิด ๆ ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี แน่นอนว่ายังมีวิบากกรรมซ้อนทบไปอีก จากการที่เราหลงไปศรัทธาคนผิดในชาตินี้ ก็ต้องยอมไปรับในอนาคตต่อไป

ดังนั้นผมจึงไม่บังอาจไปแนะนำ เสนอแนะ หรือสอนใครที่เรียนมาต่างกัน สัญญาต่างกัน ความเห็นต่างกัน ฯลฯ เพราะมันยากที่เขาจะเข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะเขาเชื่ออย่างนั้น จำอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น แล้วบางทีเขามาหลงตีความว่าเราเข้าใจอย่างเขาอีก ถ้าไม่จำเป็นก็คงจะไม่สนทนาเพราะมันต้องใช้เวลามาก แถมยากอีกด้วย การจะล้างความเห็นผิดของตัวเองว่ายากแล้ว จะไปล้างคนอื่นนี่ยากกว่า ยิ่งถ้าเขาไม่ยอมด้วยก็เลิกเลย ไม่ต้องคิด พวกโต้วาทะ ดีเบทอะไรนี่ ไม่เอาด้วยหรอก เสียเวลา

ถ้าถามว่าเห็นใจไหม มันก็เห็นใจเขา เราก็เคยเป็นมา แต่มันก็สุดมือเอื้อม แถมเขาก็ไม่ได้ร้องขอให้เราทำสักหน่อย ถ้าเป็นแบบตั้งใจ แสวงหาทางพ้นทุกข์กันจริง ๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ทุกวินาทีที่ยังคบคนพาล ยังเอาอสัตบุรุษเป็นที่พึ่ง มันก็จะสร้างความหลงไปเรื่อย ๆ เพราะเอาคนพาลเป็นอาจารย์ หลงว่าเป็นมิตรดี มันก็จะปักใจเชื่อ ทำใจตามคำสอนผิดเหล่านั้นแหละ ส่วนมากเป็นไปในทิศทางของกิเลส ซ่อนในวาทะสวยงามเหมือนลูกอมหวาน สอดไส้ยาพิษ

ดีไม่ดี หนีข้างนอกมาเจอในหมู่คนปฏิบัติดีนี่แหละ ก็แทรกตัวอยู่ เป็นเหมือนเนื้อร้าย เป็นมะเร็ง คบกันมากันไป กลายเป็นทิศทางนรก ธรรมะกลับหัวกลับหาง ไม่มีธรรมก็แสร้งว่ามีธรรม ไม่มุ่งขัดเกลาตนเอง แต่มุ่งแต่เรื่องคนอื่น เสแสร้ง ส่อเสียด ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ยุให้คนมีจิตที่ไม่ดีต่อกัน ไม่ศรัทธากัน เพ่งโทษกัน คนแบบนี้คบไปมีแต่เสีย เหมือนพ้นนรกข้างนอกแล้วก็มาเจอนรกข้างในต่อ

ลักษณะหนึ่งของคนพาล คือ มักจะทำให้เราไขว้เขว ไม่ปฏิบัติที่ใจตนเอง ไม่น้อมเข้ามาในใจ ไม่ทำใจในใจ มักจะมุ่งเน้นองค์ประกอบข้างนอก ไม่ลงไปถึงกิเลส ตัณหา อุปาทาน แต่จะสนใจแค่เหตุการณ์ผิว ๆ พื้น ๆ เท่านั้น

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง คนพาลจะแก้ปัญหานอกตัว ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง ซ้ำยังโทษผู้อื่น หาโทษผู้อื่น(เพื่อยกตน ข่ม ดูถูก โยนปัญหา ฯลฯ) เพื่อสนองกิเลสตน

ถ้าคุณได้ลองพบกับ “คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง” คุณจะรู้ได้เลยว่านี่แหละคนพาล แถมคนพาลยังมีกำลังที่จะดึงดูดคนพาลมาร่วมกันอีก จึงกลายเป็นพากันเพ่งโทษเป็นอภิมหากำลัง

คุณอาจจะสงสัยว่า วัน ๆ คนพาลไม่มีอะไรทำกันเลยหรือยังไงถึงได้เอาเวลาไปเพ่งโทษชาวบ้าน ไม่มุ่งปฏิบัติธรรมที่ตน ก็อย่าได้สงสัยไปเลย ให้เข้าใจว่านี่แหละธรรมชาติของเขา และเป็นวิบากกรรมของเราที่ต้องมาเจอเขา

มันไม่มีอะไรถาวรหรอก วันหนึ่งผลกรรมชั่วของเราก็หมด เขาก็เลิกยุ่งกับเราเอง ส่วนวันไหนเขาทุกข์เกินทน เขาก็เลิกเป็นคนพาลเอง … แต่ยากหน่อยนะ เพราะกรรมที่ทำมาจะดึงดูดคนพาลเข้ามาในชีวิตเยอะ เป็นคนพาลก็คบแต่คนพาล พอชาติที่จะเลิก มันจะออกยาก มันจะวนเวียนในชีวิตอยู่นั่นแหละ ก็ให้เพียรทำดี ตั้งจิตตั้งใจว่าจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นกิเลสดี ๆ แล้วเสียสละและปฏิบัติตามศีลให้ตั้งมั่น มันจะหมดวิบากกรรมสักวันหนึ่งเอง

เช่นเดียวกับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ ก็ให้ตั้งจิตให้ดี ปฏิบัติ หมดวิบากร้ายชุดนั้นก็จะรู้เองว่าทางที่เดินอยู่นั้นถูกหรือผิด ครูบาอาจารย์ที่คบอยู่นั้นแท้จริงเป็นคนพาลหรือบัณฑิตกันแน่ คงต้องใช้ความตั้งใจและเวลาที่จะพิสูจน์ความจริงกัน

มงคลชีวิต กับเรื่องคู่

ว่ากันด้วยเรื่องมงคลชีวิต ต่อจากเรื่องคู่เมื่อโพสก่อน ใครตกไปก็ตามไปอ่านกันก่อนได้

พระพุทธเจ้าตรัสมงคลชีวิตข้อแรกไว้ว่า “ไม่คบคนพาล” ข้อแรกนี่คือตัวกรองหยาบของศาสนาพุทธเลย เพราะในความจริงแล้วคนพาลมีอยู่เต็มโลก ซึ่งท่านก็ตรัสไว้อีกว่าคนที่จะพ้นทุกข์ได้จริง ๆ เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีจำนวนเพียงแค่ฝุ่นปลายเล็บเมื่อเทียบกับดินทั้งแผ่นดิน

คนพาลจึงทำหน้าที่อย่างคนพาล คือมีไว้พรากคนโง่ออกจากความผาสุกที่แท้จริงโดยเฉพาะ คนที่คบคนพาล ก็จะพาไปหาผิด เช่น มีคู่ก็บอกว่าดี หรือไปมีคู่ก็จะพบความสุข พบความเจริญ ก็เฉโกกันไปตามความฉลาดของคนพาลที่จะแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม

ในประเด็นเรื่องคู่ พระพุทธเจ้าปิดแทบทุกประตู คือไม่ส่งเสริม และคำตรัสของท่านเกี่ยวกับเรื่องคู่ เรื่องความรักก็มีมากมายเช่น ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ” นั่นหมายถึงคนพาลจะพาไปในทิศทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ แต่ปลายทางคือจะไปมีคู่ให้ได้

หรือไม่คนเขาก็มักอ้างเล่ห์ว่า มีรักแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักแต่ไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นความฉลาดของคนพาลอีกเช่นกันในการสร้างวาทกรรมนำกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ดังเช่นว่า มีรัก ๑ ก็ทุกข์ ๑ หรือที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ มันจะหนีทุกข์ไปไม่ได้หรอก ยกเว้นไม่ฉลาดพอที่จะเห็นทุกข์ ซึ่งการจะเห็นทุกข์นี่มันก็ยาก และคนพาลย่อมไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัยของการยินดีในการครองคู่อยู่แล้ว

หรืออีกความเห็นที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยคืออยู่เป็นคู่บารมีส่งเสริมกันทำดี อันนี้เนียนสุด ๆ ดูดี ดูขาวสะอาด แต่กลิ่นฉุนพอสมควร เพราะความจริง ลักษณะของการเป็นคู่บารที่ปรากฎในพุทธประวัตินั้น จะพบว่าแทบจะไม่มีความอยากในการครองคู่เลย พระพุทธเจ้าก็ดี พระมหากัสสัปปะก็ดี ท่านก็ไม่อยากมีคู่ แต่พ่อแม่ก็บังคับบ้าง บริบทของสังคมบังคับบ้าง คือสภาพของคู่บารมีนี่มันไม่ต้องผลักดัน ไม่ต้องพยายาม ถึงพยายามจะผลักไสเขาก็จะมาอยู่ดี และที่สำคัญคือจะดำรงสภาพคู่อยู่ก็ต่อเมื่อยังไม่มีคำสอนในศาสนาพุทธเผยแพร่อยู่ ดังเช่นกรณีของพระมหากัสสัปปะ ซึ่งมีเรื่องราวคล้าย ๆ กับพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อยากแต่งงาน นอนก็เอาดอกไม้กั้น ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ถึงเวลาบวช ก็แยกกันไปคนละทาง อันนี้คือลักษณะเด่นของสาวกของพระพุทธเจ้าคือ เมื่อพบธรรมะก็จะหูผึ่ง จะไม่เอาแล้วเรื่องคู่ จะวิ่งหาธรรมอย่างเดียว

ส่วนยุคนี้มีธรรมประกาศอยู่ ซึ่งตามที่ยกมาก็ชัดพอแล้ว สูตรเดียวก็ชัดแล้ว คือมีรักก็ต้องทุกข์ ดังนั้นจะไปรักให้มันทุกข์ทำไม แต่คนพาลจะไม่พูดแบบนั้น จะไม่คิดแบบนั้น จะไม่เชื่อแบบนั้น คนพาลจะไม่ดำรงในธรรม แต่จะดำรงอยู่ในกาม จะฝักใฝ่ในเรื่องคู่ สามารถคิดหาเหตุผลล้านแปดในการให้น้ำหนักในการที่ตนหรือผู้อื่นจะยินดีในการมีคู่

เรียกว่ามาสร้างคู่บารมีผิดยุค ยุคนี้มันต้องโสดปฏิบัติธรรมจึงจะเจริญได้ไว ถ้าจะสร้างบารมีกันก็ยุคที่ไม่มีธรรมของพุทธประกาศอยู่ ถ้ามาหลงยุคสร้างบารมีกันในยุคนี้นี่จะเรียกว่าขัดขวางความเจริญกันซะมากกว่า เพราะยังไงก็ขัดกับคำพระพุทธเจ้าชัด ๆ อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่เจริญถึงขั้นเป็นบัณฑิตสักที ดังคำกล่าวว่า ” บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด

คนส่วนมากก็จะไปหลงติดกับธรรมของคนพาลกันมาก ยากนาน ยึดยื้อกันอยู่หลายภพหลายชาติ เพราะเชื่อแล้วมันฝัง กลายเป็นอุปาทาน ทีนี้บวกพลิงกิเลสยิ่งยึดใหญ่ เพราะมันชอบเสพไง มันก็หาคำ หาประโยค หาแนวคิด หาวาทกรรมมาให้ได้เสพสมใจได้หมดนั่นแหละ

ต่อมาที่ข้อคบบัณฑิต ข้อนี้เป็นตัวคัดคนเข้าพุทธเลย ว่าจะทำใจได้รึเปล่า บัณฑิตก็คนที่ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่ใช่แค่พูดได้นะ แต่ทำได้จริงด้วย แล้วทำได้อย่างยั่งยืน ยาวนาน ไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยน คงทนถาวรด้วย ไม่ใช่เข้ามาอาศัยศาสนาศึกษา อาศัย สอนไป สอนไปว่าแล้วก็สึกไปมีเมีย อันนี้ไม่ใช่แล้ว บัณฑิตนี้มันก็ต้องคัดหน่อย จะคัดมันก็ต้องใช้ปัญญา ส่วนข้อ 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชาจะเป็นตัวย้ำสัมมาทิฏฐิ ส่วนคนโง่ เขาก็บูชาคนพาลอยู่นั่นแหละ สรรเสริญธรรมของคนพาล ยินดีในธรรมของคนพาล ทิศมันจะกลับกัน

นี่ก็พยายามย่นย่อได้เท่านี้ มงคล 38 ก็เอาแค่ 3 ข้อแบบไม่เต็มก็ดูจะยาวมากแล้ว ก็เอาเท่านี้แล้วกันครับ ใครที่อ่านแล้วก็พิจารณาหาประโยชน์กันไป ไม่ต้องเพ่งหาโทษนะ อันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า ๆ

คนพุทธที่คบหาคนพาลหลงตามคนพาล

เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ (มีคนนับถือศาสนาพุทธในทะเบียนบ้านเยอะ) มีคอร์สปฏิบัติธรรม มีสำนักมากมาย แต่ส่วนมากก็ตกม้าตายกันตั้งแต่แรก ตรงที่ดันไปคบคนพาล ไม่คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ไม่ควรบูชา (ตรงข้ามกับมงคล ๓๘)… ซึ่งไปสอดคล้องกับความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร) ข้อ ๗ คือการทำสักการะก่อนในที่นอกขอบเขตพุทธ (ไปเคารพศรัทธาเกื้อหนุนในสิ่งที่ไม่ใช่พุทธ แม้สิ่งนั้นจะเรียกตนเองว่าพุทธก็ตามที)

…เป็นสภาพเห็นกงจักรเป็นดอกบัวแท้ๆ คือคนเห็นผิดเป็นถูก เขาก็เห็นอยู่อย่างนั้น เขาก็เชื่อว่าของเขาถูกจริง ดีจริง ตรงจริง

…ถ้าอยากรู้จริง ๆ ว่าถูกหรือผิด สมัยนี้ก็ยังมีพระไตรปิฎกให้ตรวจสอบอ้างอิงกันอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ากล้าเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง (เอหิปัสสิโก)