ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย

วันที่สองของการเดินทาง สำหรับในบทความนี้เป็นบทความในช่วงบ่ายของวันที่สอง หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมตามแต่ละบ้านมาแล้ว เรื่องราวของตอนนี้เราก็จะมาแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ

10 พฤษจิกายน 2555 เวลา บ่าย 3 โมง

จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง
จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง

เราเดินทางจากบ้านของแม่แต๋นมายัง ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญนะครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานเท่าไรนัก สำหรับบ้านผมนั้นมาถึงเป็นกลุ่มแรกเลย ก็เลยได้มีเวลาเดินเล่นชมสถานที่ได้มากหน่อย ตากล้องทีวีบูรพาแดดในวันนี้ก็แรงดีทีเดียวครับ แดดดีแบบนี้เหมาะแก่ฤดูการเกี่ยวข้าวมากครับ เพราะถ้าฝนตกในช่วงข้าวสุกแบบนี้จะทำให้ข้าวเสียหาย ทำให้เกี่ยวยาก ซึ่งก็ให้ผลเสียมากมายตามมาครับ การป้องกันก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากเกี่ยวให้ไวหรือภาวนาเท่านั้นเอง

สำหรับการมากับทีวีบูีรพา ก็จะมีการเก็บภาพเป็นระยะๆ นะครับ เพราะเป็นรายการทีวีละนะ ก็จะมีกล้องผ่านเรามาเป็นระยะๆเหมือนกันดังนั้นกล้องผ่านมาก็ต้องทำตัวธรรมชาติแบบกึ่งดูดีกันหน่อย เผื่อเขาจะได้เก็บภาพไปใช้ได้ครับ เห็นตากล้องแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ต้องไปรอไปเตรียมถ่ายก่อนตลอดไม่งั้นก็เก็บภาพไม่ได้ทั้งร้อนทั้งหนัก แต่ก็เป็นงานละนะ

เห็ดฟางใหญ่ๆ

อาหารที่เรากินแต่ละมื้อนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้นครับ ทั้งคุณภาพ ปริมาณและความปลอดภัยนั้น ถ้าเอาราคาไปเทียบกับราคาในกรุงเทพ การเดินทางมาในครั้งนี้คงได้กำไรตั้งแต่อาหารที่กินแล้วครับ อย่างเห็ดในรูปด้านบนนี่ก็มีแต่ขนาดใหญ่ๆ

น้ำข้าวกล้องงอก
น้ำข้าวกล้องงอก

แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ปลูก ขนาดของเห็ดจะเป็นตัวกำหนดราคาครับ สำหรับที่เคยเห็นในตลาดยังไม่ค่อยเห็นมีขนาดใหญ่เท่าที่นี่เลยครับ

บ่ายๆแบบนี้หลายคนคงจะยังอิ่มกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงก็มีน้ำข้าวกล้องงอกให้ดื่มกันให้สบายท้องมากยิ่งขึ้นครับ น้ำข้าวกล้องงอกสดใหม่นี่หากินในกรุงเทพยากมากครับ เดินไปตามตลาดเช้าทั่วไปนี่ไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่หมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้อะไรประมาณนี้เท่านั้นเอง นี่ถ้าได้ดื่มทุกเช้าคงจะดีมาก เพราะได้ทั้งคุณค่าและพลังงานช่วยทำให้หิวช้ากว่าเดิมได้ดีมาก จากเดิมที่ก่อนเวลาพักก็จะอยู่ต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ
เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ

หลังจากหลายๆบ้านมาถึงที่หมายกันจนครบแล้ว ก็เข้าถึงกิจกรรมต่อไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ไปที่มาของข้าวคุณธรรม ชาวนาคุณธรรม เครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา การเริ่มต้นต่างๆถูกเล่าผ่านชาวนาคุณธรรม คุณอดุลย์ พาณิชย์ (ฉายารึเปล่าไม่แน่ใจ) ร่วมกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ที่มาเล่าเรื่องราวให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้เรื่องราวและต้นกำเนิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบัลดาลใจ รวมถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้น ผมได้ฟังแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเนื้อหาผมแนะนำให้ตามไปอ่านในนิตยสาร ฅ ฅน นะครับ พี่เช็คบอกว่าเขียนไว้ด้วย ซึ่งอาจจะลองสอบถามกับทางทีวีบูรพาก็ได้

เหตุผลที่ผมไม่อยากเล่าในบล็อกแห่งนี้เพราะเนื้อหามันค่อนข้างจะแน่น และผมเองก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างอาจจะปะติดปะต่อขาดๆเกินๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงประเด็นกันไปได้ครับ ยังไงถ้าอยากรู้ต้องถามจากแหล่งที่มาที่แนะนำไปข้างต้นครับ

ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง
ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง

หลังจากที่ทราบที่มาและความเป็นไปรวมถึงอนาคตที่คาดหวังร่วมกันแล้ว ก็ได้พากลุ่มสมาชิกเดินชมพื้นที่ครับ ก็มีโรงสี โรงบรรจุ วิถีชีวิตรอบๆ ครับ เป็นการแนะนำกระบวนการผลิตในเบื้องต้นให้กลุ่มสมาชิกได้รับรู้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามบ้านสมาชิกชาวนาคุณธรรมเพื่อ อาบน้ำอาบท่า จัดการธุระส่วนตัวก่อนจะมาทานข้าวเย็นครับ สำหรับค่ำนี้ผมได้พักกายในบ้านของพ่อประมวลครับ เมื่อถึงที่พักก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากอาบน้ำคุยกับสมาชิกใหม่ในบ้าน

ลืมบอกไปว่าการพักในแต่ละวันจะเปลี่ยนสมาชิกในบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้นครับ สำหรับผมก็เป็นคนอยากรู้ก็เลยชอบถามอะไรเยอะแยะตามประสาครับ แบบว่าคิดไปเองในสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัวจะพลาดถามกันง่ายๆเลยจะดีกว่า

แบ่งปันความรู้สึกหลังจากอาบน้ำอาบท่าเราก็จะมารวมกินข้าวเย็นร่วมกันครับ มื้อนี้อร่อยเหมือนเคยครับ การเดินทางครั้งนี้ไม่มีคำว่าท้องหิวครับ มีแต่คำว่า “กินอีกแล้วหรอ” , “ยังอิ่มอยู่เลย” อะไรประมาณนี้ เขาเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดีตามวิถีของชาวนาคุณธรรมครับ

หลังจากทานข้าวกันเสร็จแล้วก็จะมาไหว้พระฟังธรรมกันครับ โดยหลวงพ่อจากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ(ถ้าจำผิดพลาดขออภัยครับ) การฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสายวัดป่านั้นเป็นธรรมที่เป็นธรรมดา เป็นการพูดกันธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธเจ้านั่นคือหากไปเทศน์ที่ไหน ให้เทศน์ภาษาของที่นั่น ให้คนได้เข้าใจ ประมาณนี้ครับผิดพลาดประการใดรบกวนชี้แนะผมด้วยนะ และก็มีกิจกรรมแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละบ้าน ประกอบภาพกันครับ หลายๆบ้านก็ออกมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ จะมีความต่างก็นิดหน่อยตามสภาพพื้นที่ของแต่ละบ้านครับ สำหรับบ้านผมก็เ้ป็นบ้านสุดท้ายก็ออกไปเล่าแบบงงๆ ครับ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องปะติดปะต่อกับเพื่อนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ความแตกต่างที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ข้าวหลามเผาสดใหม่
ข้าวหลามเผาสดใหม่

ต่อจากเล่าประสบการณ์ในแต่ละบ้านกันแล้วก็จะมีพิธีเทียนและผูกข้อมือโดยพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมครับ ซึ่งก็เป็นพิธีที่ค่อนข้างมีผลทางใจมากทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆท่านได้พูดสิ่งที่คิดหรือความในใจออกมาให้เพื่อนๆได้รับฟังกันถือเป็นการแบ่งปันความรู้สึกที่ดีครับ และพรจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ถือเป็นพรที่ดีด้วยเก็บกลับบ้านไปเป็นแรงผลักดันและกำลังใจกันได้มากมายเลยทีเดียว

หลังจากแบ่งปันกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลากลับบ้านครับ สำหรับใครที่อยากคุยต่อก็จะมีข้าวหลามเป็นมื้อค่ำครับ สำหรับผมก็รอกินข้าวหลามกับเขาอยู่เหมือนว่าแตกต่างกับที่เคยกินมากขนาดไหน ผลก็คือข้าวเหนียวนิ่มมากครับ เป็นข้าวหลามที่กินร้อนๆ จากกองไฟกันเลยทีเดียว

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ในมุมมองของผมนั้นทีเด็ดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ กลางวงสนทนาเกลอเมืองเกลอทุ่งครับ วงนี้บอกตรงๆว่ามีแต่ประสบการณ์ ความรู้ ปรัชญา แนวคิด อัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ บอกตรงๆว่าผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆมากมายจากวงนี้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราครับ ยังไงเราก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อกิจกรรมสำคัญในวันพรุ่งนี้อีกวันนั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ติดตามอ่านบทความต่อไปกันได้เลย

วันที่สองก็จบเพียงเท่านี้ อ่านวันสุดท้ายต่อได้ที่…

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

แมวระหว่างทาง

ในระหว่างการเดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีของชาวคุณธรรม ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็พบกับแมวหลายตัวด้วยกันครับ

พอพบแมวก็อดเข้าไปทักทายมันด้วยภาษาเราไม่ได้ ซึ่งก็จะถ่ายรูปติดมาด้วยและแมวส่วนใหญ่ก็มักจะเชื่องเพราะคุ้นชินกับคนครับ เรียกก็มา มาก็เดินตามอะไรประมาณนี้เลยครับ มาดูแมวที่เจอกันที่ละตัวตามลำดับกันเลย

แมวระหว่างทาง

แมวตัวแรกที่เจอที่ ทีวีบูรพา
แมวตัวแรกที่เจอที่ ทีวีบูรพา

แมวตัวแรกที่เจอ ก็เจอที่บริษัท ทีวีบูรพาเลยครับ ก็เป็นแมวสามสีละนะ น่าจะตัวเมียแน่นอน มันก็เดินไปมาแถวกระเป๋าของสมาชิกร่วมเดินทางผมไปเจอก็ลูบหัวนิดหน่อย ถ่ายรูปแล้วจากมา แมวมีปลอกคอด้วยครับ

แมวตัวที่สองเจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ
แมวตัวที่สองเจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

ตัวนี้เจอหลังจากถึงที่หมายแล้ว ประมาณว่าลงจากรถมายืดเส้นยืดสายก็เจอแมวตัวนี้เลย ก็เดินไปทักทายมันตามประสาคนทักทายแมวครับ ตัวนี้เชื่องมากเรียกก็มา แถมยังเดินตามอีก สุดท้ายต้องพาไปปล่อยให้เล่นกับคนอื่นแล้วเดินหนีมา

ลูกแมวตัวที่สาม เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจโดนจับมาปล่อยที่โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
ลูกแมวตัวที่สาม เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจโดนจับมาปล่อยที่โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ลูกแมวตัวนี้มาเจอเอาตอนปลูกป่าครับ ฟังความได้ว่าทีมงานเอาติดมาด้วย สุดท้ายกลายเป็นแมวป่าเลย เพราะได้ยินว่าจะมีคนรับเลี้ยงที่นี่ต่อ ว่าแต่ตัวเล็กขนาดนี้ไม่รู้หย่านมรึยังนะ แต่ก็เชื่องดี ผมเดินไปไหนมันก็เดินตามเหมือนมันคุ้นและเชื่อใจคนมากทีเดียว

แมวตัวที่สี่ เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ
แมวตัวที่สี่ เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

แมวตัวสุดท้ายที่เจอครับ ตัวนี้เจอในดงข้าว ในแปลงนาสาธิต มันเดินชมธรรมชาติอยู่ก็เลยเรียกมันมา มันก็มา เชื่องอีกเหมือนกัน สรุปแมวทริปนี้เชื่องทุกตัวเลยครับ ตัวนี้เป็นแมวแม่ด้วย เห็นกำลังมีนมสงสัยจะเป็นแม่ของแมวตัวที่สามนั่นแหละนะ

เรื่องแมวๆ ก็คงจะมีแค่นี้ เหมือนเป็นความน่ารักของเพื่อนร่วมโลกที่แวะมาทักทายระหว่างช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ

สวัสดี

เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง

ณ วันนี้ดูเหมือนจะมีกิจกรรมที่หลายอย่าง ดูจะสับสนในชีวิตพิกล การมีกิจกรรมและงานที่หลากหลายดูจะเป็นข้อดีในชีวิต

แต่ในปัจจุบันนั้นความหลากหลายเหล่านั้นกลับมาเล่นงานผม ในวันหนึ่งผมมีสมาธิอยู่ปริมาณหนึ่ง แน่นอนมันสามารถเพิ่มเป็นอนันต์ได้ถ้าหากผมฝึกบ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกิจกรรมหลายๆอย่างนั้น ทำให้ผมกลายเป็นคนสมาธิสั้นไป

การรับข้อมูลข่าวสาร จากทุกๆมุมของเรื่องที่สนใจ มีผลทำให้เราไขว้เขวไปจากเรื่องที่กำลังจดจ่อหรือมุ่งมั่นอยู่ ครั้นไอ้การจะไม่สนใจก็ดูจะเป็นการยากไปหน่อยเพราะส่วนใหญ่กิจกรรมเหล่านั้นก็มักจะอยู่รอบๆ หรือปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ก็คล้ายๆกับกินกาแฟตอนเช้า แปรงฟันก่อนนอนอะไรอย่างนั้น

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป…

แน่นอนว่าถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ผมเองสามารถควบคุมความหลากหลายของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรกับมัน จนกระทั่งมาถึงตอนนี้ ณ จุดนี้ที่กำลังพิมพ์อยู่นั้นเป็นเวลาของเทอมสุดท้ายในการเรียนปริญญาโท ของผม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยจะถนัดนัก นั่นคือการวิจัยเชิงสถิติและบรรยายในรูปแบบวิชาการ

ผมเองเรียนศิลปะมา ผมคิดว่าศิลปะเหมือนจักรวาล ไม่มีขอบ ไม่มีสูงสุด ไม่มีต่ำสุด ความคิดผมจึงไม่เคยมารูปแบบหรือกรอบใดๆทั้งนั้น มันกลายเป็นทัศนคติ กลายเป็นนิสัย และกลายเป็นอนาคตของผมไปในเวลาเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้ผมจำเป็นต้องทำตามกฏเกณ หรือรูปแบบ หรือ แบบทดสอบใดๆก็ตามที่จำเป็นต้องผ่านไปให้ได้ การเปลี่ยนมุมมองที่เคยมีนั้น ไม่ยากเท่ากับการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำกิจกรรมอย่างหลากหลายในแต่ละวัน

สถานการณ์เปลี่ยนคนก็ต้องเปลี่ยน

เมื่อสถานการณ์บีบคั้นกว่าที่คิด ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจ และเข้าใจสภาพที่ตัวเองเป็นอยู่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะจำได้ ผมนึกถึงประโยคหนึ่งได้ในขณะที่ตั้งสมาธิ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ประโยคนี้พุ่งเข้ามาในหัวผมทันที โชคดีที่ผมเคยได้ยินและได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับความหมายของประโยคนี้ ผมเองชินกับความหลากหลาย จนขาดความสามารถในการจดจ่อในสถานการณ์ที่จำเป็นเช่นนี้ เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เป็นประโยคที่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างดี

เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ทำให้ผมรู้ว่าผมควรจะเรียงลำดับความสำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดในสิ่งที่สำคัญมากมายนั้น ถ้าไม่ใช้สติคิดก็คงจะลำบาก เพราะผมเองมีสิ่งสำคัญหลายสิ่งที่ต้องทำไม่ทำก็อาจจะทำให้ชีวิตแย่ก็ได้ แต่สิ่งนี้ การทำวิจัยในครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ ผมพิมพ์บทความนี้เพื่อบอกกับตัวเอง ทุกคำที่พิมพ์ลงไปได้ตอกย้ำข้อความเหล่านี้ในสมองของผม และเป็นสิ่งยืนยันแนวทางของผมเองด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ต้องการ การพิสูจน์หรือการทดลอง แต่จำเป็นต้องทำอย่างจริงจัง เวลาที่เหลือไม่มากในช่วง 1-2 เดือนนี้ผมจะขอใช้เพื่อการทำวิจัยนี้เท่านั้น

สวัสดี

MonkiezGrove 4th Anniversary

ครบรอบกันอีกแล้วสำหรับ มังกีซ์โกรฟ ปีนี้ก็ครบรอบ 4 ปีแล้ว แม้ว่าหลายสิ่งที่มังกีซ์โกรฟสร้างสรรค์ในปีนี้จะไม่มากเท่าปีก่อนๆ แต่เราก็จะเดินต่อไป!!

วันครบรอบของมังกีซ์โกรฟก็จะเป็นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ (9 February) ของทุกปีนะครับ สำหรับปีนี้ก็เป็นวันครบรอบ 4 ปีนั่นเอง

MonkiezGrove 4th Anniversary

MonkiezGrove 4th Anniversary
MonkiezGrove 4th Anniversary

สำหรับครบรอบปีที่ 4 นี้ มังกีซ์โกรฟก็คงจะไม่มีกิจกรรมอะไร เพราะผู้วาดติดสารพัดงาน ซึ่งช่วงกลางปี – สิ้นปีก็คงจะมีผลงานใหม่ๆออกมาให้เห็นกัน

ทบทวนเรื่องราวระหว่างปี

ใกล้จะปีใหม่แล้ว ถือเป็นช่วงเวลาหยุดยาวที่จะได้คิดได้ทำอะไรหลายๆอย่าง หนึ่งในกิจกรรมที่ผมจำเป็นต้องทำนั่นคือนั่งทบทวนว่าหนึ่งปีทำอะไรไปบ้าง

สิ่งที่ทำในหนึ่งปีนั้นอาจจะอยู่ในเป้าหมายหรือไม่ได้อยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้แล้วคงได้แต่ทำใจและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งปีนี้เท่านั้นและวางแผนใหม่ในอนาคตต่อไป

To do list ปีเก่าๆ ผมทำไว้เสมอเมื่อเข้าสู่ช่วงปีใหม่ ซึ่งในช่วงสิ้นปี 2554 ผมก็จะหยิบบันทึกเก่าตอนต้นปี 2554 ที่เคยเขียนไว้มาดูอีกครั้งว่าเคยทำอะไรไปบ้าง อะไรบ้างที่หลงลืม อะไรบ้างที่หล่นหายไป ซึ่งต่อจากนี้คงต้องคิดกันว่า สิ่งที่เคยประเมินไว้ว่าตัวเองน่าจะจำได้ แล้วทำไม่ได้นั้นควรจะปรับปรุงอย่างไร..

และจากที่ดูแล้วคิดว่าผมคงต้องให้เกรด C แก่ตัวเอง เพราะงานหลายๆอย่างที่ได้วางไว้ ไม่ได้ตามเป้าหมายเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็ไม่อยากโทษว่าติดเรียน หรือป้ายความผิดให้กับน้ำท่วม เหตุจริงๆนั้นก็เพราะผมประเมินสถานการณ์ไว้ผิดตั้งแต่แรกนั่นเอง…

สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทำเป้าหมายของตัวเองไว้ ปีใหม่นี้ก็ลองดูก็ได้นะครับ เริ่มจากการทบทวนเรื่องราวเก่าๆก่อนเพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานในการตั้งเป้าในปีต่อๆไปของตัวเอง ส่วนเป้าหมายของใครจะท้าทายแค่ไหน ก็ขอให้ทำได้สำเร็จแล้วกันนะครับ

สวัสดี

ความเข้ากันดีในสาขาอาชีพ และกิจกรรมประจำวัน

วันนี้ระหว่างกำลังจัดต้นไม้หน้าบ้าน ให้มันเป็นระเบียบมากขึ้นโดยการย้ายกระถาง ใส่รวมกันในกระถางใหญ่กระถางเดียวนั้น ก็มีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมาทักทาย

คำถามที่น่าสนใจคือผมจบเกษตร มาหรือปล่าว? นั่นหมายถึงจบเกษตรกรรมนะครับ เพราะผมอาจจะดูจริงจังกับต้นไม้มากก็ได้ ภาพที่เห็นเลยเป็นอย่างนั้น ก็ตอบลุงแกไปว่าเรียนบริหารครับ แกก็บอกว่าดูไม่ค่อยเข้ากันอะไรประมาณนี้ครับ

ความไม่เข้ากัน…

ก็จริงอยู่นะ ชีวิตผมทำอะไรหลายๆอย่างที่ไม่ค่อยเข้ากัน ในสายตาคนอื่น ซึ่งปัจจุบัน ทักษะของผมนั้นหลากหลายจนเกินจะบอกว่าแท้จริงแล้ว ผมเก่งอะไรกันแน่ ผมวิจัยต้นไม้เป็นส่วนตัว ผมเรียนศิลปะ ผมทำอนิเมชั่น ผมทำเว็บไซต์ ผมพิมพ์บทความมากมาย นั่นคือสิ่งที่ผมทำได้ และแน่นอนว่าวิชาบริหารที่ผมเรียนนั้นก็จะมาช่วยให้ทุกอย่างเข้ากันดีมากขึ้น

ทุกอย่างเหมือนส่วนผสมที่ไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ แต่ก็จะพยายามนำมาปรุงให้ได้ แน่นอนว่าถ้าเมนูนี้ออกมามันต้องเป็นเมนูใหม่ของโลกอย่างแน่นอน ดังนั้นผมคิดว่าผมควรจะทำมันต่อไป

การสร้างความถนัดเฉพาะด้าน?

คงจะดีถ้าผมเก่งอะไรจริงจังสักอย่างหนึ่ง ก็คงจะพูดให้ใครๆเขาเข้าใจได้ง่ายว่าผมนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตัวผมเองไม่ได้ต้องการ ความถนัดเฉพาะด้านคือสิ่งที่สังคมต้องการ เขาต้องการให้เราเป็นแรงงานในส่วนใดส่วนหนึ่งและผลักดันสังคมไป …แต่ปัญหาคือไปในทิศทางไหน?

ผมเองคิดว่าตนเองนั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานให้กับใครคนใดคนหนึ่ง ผมไม่อยากเป็นคนที่ทำงานให้ครอบครัวๆหนึ่งรวย แล้วใช้ชีวิตไปแบบที่สังคมเป็น นั่นคือผมไม่ได้คิดว่าตนเองนั้นเป็นฟันเฟืองในสังคมที่กำลังขับเคลื่อนอยู่แม้แต่น้อย ผมเกิดมาทำไม เพื่ออะไร ผมจำเป็นต้องหาคำตอบนี้ด้วยตนเอง แต่ที่ผมรู้แน่ๆแล้วนั่นคือ ผมไม่ได้เกิดมาแล้วตายไปแบบหนุ่มออฟฟิศแน่นอน ที่บอกนี่ไม่ได้หมายความว่าผมมองมันไม่ดี แต่ผมแค่มองว่ามันดูไม่เข้ากับตัวเองเท่านั้นเอง

และเมื่อเกิดความคิดแบบนั้น ผมจึงเลือกเดินหนทาง อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ( Freelance ) นั่นก็เพื่อตามหาความไม่เข้ากันที่เหมาะสมกับผมนั่นเอง

ความหลากหลายที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เป็นเพราะผมเลือกที่จะรู้กว้าง แต่ไม่รู้ลึก มันเป็นนิสัยของผมมานานแล้ว ผมชอบศึกษาอะไรไปเรื่อยๆ ทำให้มีทักษะติดตัวค่อนข้างหลากหลาย และมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไป จนกว่าผมจะค้นพบคำตอบที่ำำพอจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

สวัสดี

ทำไมถึงต้อง MonkiezGrove ?

หลายคนที่เคยดูหรืออ่านผ่านตา ผ่านไปผ่านมาหลายครั้ง คงเคยสงสัยว่าทำไมถึงตั้งชื่อ MonkiezGrove วันนี้จะมาเล่าที่มาที่ไปให้อ่านกันครับ

แรกเริ่มเดิมที…

เดิมทีตอนแรกเริ่มนั้นคิดชื่อไว้โดยมีตีมเล็กๆน้อยๆ คือ สัตว์ป่า และธรรมชาติ เพราะงานการ์ตูนส่วนใหญ่ของผมจะออกไปทางแนวนั้น และตอนนั้นตัวละครเด่นๆของผมเลยก็คือ ไข่ลิง ( ตัวละครลิง สีน้ำตาล ) และไข่ลิงก็ถือเป็นแรงบัลดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมได้เริ่มวาดการ์ตูนกันเลยทีเดียว

เริ่มแรกในตอนนี้จะต้องตั้งชื่อกลุ่ม ก้อน องค์กรขึ้นมาแล้วนั้น มันก็ต้องมีสักชื่อ ผมเองคิดอยู่นานมากๆ คิดแล้วคิดอีก กรองแล้วกรองอีก จนได้คำมาสองคำ นั่นคือ Monkey(ลิง)  กับ Forest (ป่า)  ซึ่งทั้งสองคำนั้น…ผมคิดว่า

Monkey(ลิง) คือตัวแทนของตัวละครที่สนุกสนาน “ลิงมันไม่อยู่นิ่ง มันชอบวิ่งกระโดดไปมา” คือท่อนหนึ่งของเพลงสมัยเด็กๆที่คุ้นเคย มันบ่งบอกว่านอกจากลิงจะเป็นสัตว์ที่ดูสนุกสนานกับกิจกรรมของมันแล้ว มันยังไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลาอีกด้วย ผมจึงจับเอาจุดนี้ของลิงนี่แหละ มาใส่เป็นชื่อ

Forest (ป่า) เมื่อมีลิงก็ต้องมีป่า ป่าอาจจะใหญ่ไปสำหรับลิงน้อยๆของผม และดูเหมือนว่ามันจะออกเสียงยาก ไปนิดหน่อย MonkeyForest มันออกจะเป็นแนวสารคดีเกินไป ก็เลยเปลี่ยนคำว่า Forest (ป่า) มาเป็น Grove ซึ่งแปลว่า หมู่ไม้ กลุ่มไม้เล็กๆ หรือแปลว่าสวนผลไม้ พอเห็นคำนี้ก็ถูกใจเลยครับ เพราะมันไม่ใหญ่จนเกินไป เป็นมุมเล็กๆมุมหนึ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะพอดีเลยแหละ จนมาถึง…

Monkeygrove.com

เป็นเรื่องตลกที่แสนจะธรรมดา เมื่อคำที่เราคิดตั้งนานดันมีคนมาจดโดเมนไปก่อนหน้าเรา จริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่ชื่อที่วิเศษอะไรนักหรอกนะครับ แต่ัมันก็ตรงตัวดี และดูแล้วน่าจะเข้าใจง่าย ผมเองซื้อต่อโดเมนไม่เป็นและ คิดว่ายังมีทางออกนั่นคือ เปลี่ยนชื่อของเราสักสองสามตัวมันคงจะไม่มีปัญหาอะไรหรอกนะ เพราะเราก็เป็นกลุ่มกิจการที่เริ่มต้นใหม่

เมื่อหาและคิดดูแล้วว่าจะเปลี่ยนตัวไหน ก็ลองมามองๆและทดสอบดูจนได้ Monkeygrove มาเป็น MonkiezGrove คำนี้คงจะไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับคนไทยแล้ว จะ monkey หรือ monkiez ก็คงจะคล้ายๆกัน หมายถึงการมองหรือฟังแบบหยาบๆนะครับ แน่นอนว่าอาจจะทำให้ผู้ที่สนใจเกิดความสับสนได้ แต่ผมมองว่ามันเอาไปเล่นอะไรได้อีกเยอะเลย

สุดท้ายด้วยความที่ยอมเปลี่ยนดีกว่ายอมซื้อ ก็เลยจดโดเมน monkiezgrove.com และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ครับ และแน่นอนว่าจนวันนี้ก็ยังไม่คิดจะเปลี่ยนชื่อนี้เลยครับ มันชอบและชินไปเสียแล้ว

สวัสดี

กิจกรรมยามว่าง คือเขียนบล็อก

แทบจะไม่เชื่อตัวเองเลยว่า ปัจจุบันกิจกรรมยามว่างของผมคือการนั่งพิมพ์บล็อก เพราะแต่ก่อนนี้ผมไม่ค่อยได้สนใจและ มองคนที่เขียนไดอารี่หรือบล็อกด้วยอคติด้วยซ้ำ

แต่ทุกวันนี้การเขียนบล็อกกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตผมไปเสียแลัว อาจจะเป็นอย่างที่โบราณว่าไว้ “เกลียดอะไรก็จะได้อย่างนั้น” แต่ก็ผิดไปนิดหนึ่งก็คือมันเปลี่ยนจากมุมมองด้านลบๆ มาเป็นบวกตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะถ้าผมไม่ชอบ ผมคงไม่สามารถนั่งพิมพ์บล็อกทุกวันได้อย่างนี้หรอก

แต่ก่อนนั้น…

เมื่อหลายปีก่อน ผมเห็นเพื่อนที่ร่วมเรียนด้วยกันเขียนบล็อก ผมเองมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลามาก ทำไมผมต้องมานั่งเสียเวลาเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นอ่านด้วย มันไม่จำเป็นเลย ซึ่งผ่านไป 4-5 ปีผมก็ยังมีมุมมองนี้อยู่ดี แต่ไม่นานนักเมื่อชีวิตผมเปลี่ยน

ตั้งแต่ชีวิตที่ได้เปลี่ยนไป…

ผมเคยเป็นพนักงานบริษัทเหมือนกับชาวบ้านที่เขาเป็นกัน ชีวิตนั้นก็สุขสบายดีอยู่แล้ว ขาดอย่างเดียวคือการสนองตอบความสามารถในตัวผม ผมเองคิดว่าผมทำอะไรได้มากกว่านั้น ความสามารถผมมากกว่านั้น จึงตัดสินใจลาออกมาทำกิจการเล็กๆที่ใช้ความสามารถตัวเองได้เต็มที่ และคิดได้เต็มที่ ฝันได้เต็มที่ เจ็บได้เต็มที่ มันน่าสนุกถ้าผมจะทำอะไรที่อยากทำในขณะที่ยังจะพอทำอะไรได้อยู่

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผม การประกอบกิจการส่วนตัวนั้นจำเป็นต้องลงแรงทุกอย่างที่มี ทักษะที่เคยสั่งสมมาแต่ไม่เคยคิดจะใช้ทำมาหากิน นั่นคือทักษะการทำเว็บไซต์ แต่ก่อนไม่เคยคิดจะทำเว็บไซต์เพราะยุ่งยาก แต่ทุกวันนี้ก็ต้องมานั่งทำเพราะความจำเป็นและก็กลับชอบขึ้นมาอีกด้วย และการเขียนบล็อกก็ก้าวเข้ามา ณ จุดนั้น ในจุดที่ผมจำเป็นต้องเขียนบทความเผื่อโปรโมตเกี่ยวกับกิจการของผมให้คนอื่นได้รับทราบ

และจากการพิมพ์บล็อก (เขียนบล็อก) เพื่อการโฆษณา ปัจจุบันมันกลายเป็นงานอดิเรกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมกลับสนุกที่ได้บันทึก ได้เรียบเรียง ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ผมได้รับมา ผมรู้สึกดีเมื่อรู้ว่าตัวเองได้พัฒนาทักษะการพิมพ์ได้ดีขึ้น จากความเห็นบางส่วนของผู้ที่มาตอบ สำหรับตอนนี้ผมก็คงจะเล่าไปถึงแค่ทำไมมันถึงกลายมาเป็นกิจกรรมยามว่างของผมได้ และคิดว่าคงจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ วิธีการ เกี่ยวกับบล็อกเพิ่มขึ้นด้วยครับ เผื่อว่าจะมีคนสนใจแบบผมบ้าง

สวัสดี