ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [4] วันสุดท้าย

มาถึงวันสุดท้ายของการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของผมในครั้งนี้ครับ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมหลักก็คือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นวันที่ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมพร้อมกันทุกบ้าน

11 พฤษจิกายน 2555

ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล
ฟ้ายามเช้าหน้าบ้านพ่อประมวล

คืนเมื่อวานผ่านไป ไวเหมือนโกหก ผมจำได้ภาพสุดท้ายก็คือภาพของมุ้ง แล้วทุกอย่างก็หายไป ได้ยินอีกครั้งก็เสียงไก่ขัน ไม่มีความฝันทั้งดีและร้ายใดๆเกิดขึ้น เป็นการนอนหลับที่สบายและเต็มอิ่มอีกวัน อาจจะเพราะมีอากาศที่ดีหมุนเวียนอยู่โดยรอบ ทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช้านี้เราก็ทยอยกันอาบน้ำอาบท่า และเมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินจากบ้านพ่อประมวล ไปที่ศูนย์ข้าวคุณธรรม ซึ่งห่างไปไม่ไกลนัก การเดินยามเช้าทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน บรรยากาศ และภาพสวยๆมากมาย

กระเทียมกับแสงยามเช้า
กระเทียมกับแสงยามเช้า

เช้าๆแบบนี้ก็จะมีน้ำข้าวกล้องงอกยามเช้าเพื่อให้พลังงานกันเหมือนเคย คำว่าเหมือนเคยใช้เฉพาะการมาอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่บ้านปกติก็คงได้อย่างมากแค่กาแฟหนึ่งแก้ว ซึ่งก็ไม่ได้สร้างสรรค์เท่าไรนัก ถ้าหากเลือกได้ก็อยากได้น้ำข้าวกล้องงอกทุกวัน แต่สุดท้ายคงต้องลงมือทำเอง หวังว่าสักวันคงจะมาถึงวันนั้น

มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น
มะละกอและผลไม้อื่นๆเต็มต้น

สำหรับที่นี่ในเวลาเช้าๆแบบนี้ ก่อนที่บ้านอื่นๆจะมาถึงที่นี่ (บ้านผมมาถึงก่อนทุกทีเลย) ก็เลยมีเวลาเดินดูรอบๆครับ ที่นี่มีผลไม้อยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นมะละกอที่ปลูกอยู่ตามขอบพื้นที่ต่างๆ มีลูกดกมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไปกินจนต้นโล้น ผมสังเกตุว่ามะละกอทุกต้นก็จะมีลูกติดอยู่ ความรู้สึกที่ว่าอีสานแห้งแล้งกันดารขาดแคลนทรัพยากรของผมเมื่ออดีตถูกทำลายลงอย่างย่อยยับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งที่แล้ว ทำให้ผมได้เข้าใจว่าการเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกิดจากการบริหารอย่างแท้จริง เมื่ออยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องบริหารอย่างธรรมชาติเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมในยามเช้าแบบนี้เราก็จะมาปลูกแตงโมกันครับ หลังเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาที่นี่ก็จะปลูกแตงโม ซึ่งจะทำการไถกลบฟางให้ย่อยสลายในดินและนำเมล็ดแตงโมมาปลูก โดยไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาการปลูก เพราะแตงโมเหล่านี้เขาให้กินน้ำค้างในหน้าหนาวเอาครับ ง่ายๆก็คือน้ำค้างก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแตงโมในฤดูนี้แล้ว ลองคิดกันดูว่าทุนเท่าไหร่ ที่เหลือก็กำไรจากผลผลิตล้วนๆครับ และที่สำคัญเขาว่าแตงโมน้ำค้างนี่หวานมากๆเสียด้วย ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมเก็บแตงโมซึ่งจัดโดยทีวีบูรพาและเครือข่ายในปีหน้าก็ได้ ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะครับ

ปลูกแตงโม
ปลูกแตงโม

วิธีปลูกแตงโมก็ง่ายๆครับ หลุมหนึ่งสองเมล็ดระยะห่าง 1 เมตร รอบทิศโดยประมาณ คนเดียวก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่กว้างโดยใช้เวลาไม่นานนัก การปลูกพืชนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากสามารถสอนกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็ศึกษากันได้ ถ้าให้ดีก็มาพัฒนากันตามหลัก motion study ได้ แต่จริงๆไปจริงจังกับมันมากก็เปลืองสมองเปล่าๆ เอาแค่พอดีๆ ปลูกกันขำๆ ทำเท่าที่จะทำได้ก็พอครับ

ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว
ข้าวต้ม ข้าว 150 สายพันธุ์ ข้าวโพด ฟักทอง แครอท และไข่ดาว

หลังจากปลูกแตงโมกันแล้ว ก็กลับมากินข้าวต้มครับ เป็นข้าวสารพัดสี ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้าว 150 สายพันธุ์ รวมกับข้าวโพด แครอท ฟักทอง โปะหน้าด้วยไข่ดาวหรือไข่ตามแต่ตามใครจะใส่ครับ ข้าวต้มนี่มีรสชาติกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มครับ ทานได้เรื่อยๆ ผมเติมไปสามชาม กะว่าจะอยู่ยาวถึงบ่ายๆได้เลย  ข้าวบนถนนตอนแรกคิดว่าจะไม่กินแล้วเพราะอิ่มน้ำข้าวกล้องงอกอยู่เลย แต่พอได้ลองแล้วก็ติดใจ อยากซึมซับรสชาติแบบนี้เพิ่มอีกจนต้องกลายเป็นตักสามรอบกันเลย

หลังจากกินข้าวต้มกันเสร็จ เราก็จะเดินทางไปลงแขกเกี่ยวข้าวกันนะครับ ซึ่งแปลงนาที่เราจะไปเกี่ยวข้าวนั้นก็อยู่ห่างจากศูนย์ข้าวคุณธรรมไปไม่ถึง 10 นาทีหากเดินทางโดยใช้รถ ระหว่างทางก็จะเห็นชาวนาระหว่างทางเอาข้าวขึ้นมาตากบนถนน หรือที่เขาเรียกว่าข้าวรถเหยียบ รึเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆก็เป็นตัวบ่งบอกว่าถนนนี้ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งครับ

ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว
ข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าว

ระหว่างทางก็มองไปที่นาข้างทางนะครับ นาแบบในรูปนี้เขาใช้รถเกี่ยวเลยดูแถวเป็นเป็นแนวครับ การใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียไปในกระบวนการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถครับ เอาง่ายๆว่ามีร้อยได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็มีข้อดีที่เกี่ยวได้ไวครับ สำหรับชาวนาที่มีข้าวหลายๆไร่แต่ไม่สามารถหาแรงงานมาช่วยกันเกี่ยวได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้รถเกี่ยวข้าวครับ

เสน่ห์ไม้ริมนาแต่การเกี่ยวข้าวโดยใช้คนเกี่ยวจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ในพื้นที่เท่ากันครับ แต่ข้อเสียก็คือการใช้คนเกี่ยว ซึ่งดูๆแล้วจะต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักรในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางมาถึงแปลงนาเป้าหมายของเรา ก็จะเตรียมตัวกันเล็กน้อยครับ ใครมีหมวกก็ใส่หมวกใครมีผ้าก็โพกผ้าไว้หน่อยกันแดดเผา ระหว่างรอเพื่อนๆสมาชิกคันอื่น ผมก็มองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ริมนา ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรผมจึงชอบต้นไม้ใหญ่ริมนาที่ผลัดใบมากๆ อาจจะเพราะมันสวย มันโดดเด่น หรืออะไรก็ได้ แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งริมนามักจะตกเป็นเป้าหมายของกล้่องผมเป็นประจำครับ

พักทานน้ำก่อนถ่ายรูปหลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว เราก็จะมาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน โดยจะมีพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมร่วมเกี่ยวข้าวและคอยแนะนำให้ความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ตลอด ทำให้ได้ทั้งทำกิจกรรมและได้ความรู้ไปในตัวเลยทีเดียว สำหรับในวันนี้ผมใส่กางเกงขาสั้นมาเกี่ยวข้าว เพราะอยากรู้ว่ามันจะคันรึเปล่า สรุปเกี่ยวไป ลุยข้าวไป ก็ไม่เห็นคันเลย ยุงกัดยังคันมากกว่าหลายเท่า ทิ้งไว้เป็นแค่ความรู้ครับ ถ้าลงเกี่ยวข้าวครั้งหน้าก็ขายาวอยู่เพราะอยากลองเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น สำหรับวันนี้โชคยังเข้าข้างเหมือนเคยที่มีเมฆมาช่วยบังสร้างร่มเงาให้แม้จะไม่มีเงาต้นไม้

หลังจากเกี่ยวข้าวกันพอได้เวลาอันเหมาะสม เราก็มาพักทานน้ำและถ่ายรูปหมู่รวมกันเป็นที่ระลึก ของกิจกรรมในครั้งนี้ครับ การเดินทางไปกับทีวีบูรพาก็ดีตรงนี้แหละ มีตากล้องคอยเก็บภาพให้เราตลอด ปกติผมไปเที่ยวเองก็ต้องเป็นตากล้องเลยไม่ค่อยมีรูปกับเขา แต่ถ้ามาแบบนี้รับรองมีรูปสวยๆแน่ๆ ส่วนจะมากจะน้อยค่อยวัดกันอีกที

ไก่ในบ้าน

หลังจากที่ลงแขกเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็จะกลับมาบ้านพ่อประมวลเพื่อ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเตรียมที่จะเดินทางกลับ ระหว่างรออาบน้ำพ่อประมวลก็พาเดินดูรอบบ้าน มีไก่ที่อยู่ในห้องไก่ เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาอยู่บ้าง พ่อประมวลบอกว่าถึงจะเปิดไว้ มันก็ไม่ออกมา ถึงจะออกมาเดี๋ยวก็กลับไปเอง

ไก่ที่นี่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ไม่จำกัดอิสระของไก่ ไก่สามารถเดินไปเดินมาในระยะ 2*3 เมตร ได้ โดยไก่เหล่านี้จะให้ไข่เกือบทุกๆวัน โดยจะมีตะกร้าแขวนไว้ ซึ่งเวลาไก่จะมาออกไข่ก็จะเข้าไปออกในตะกร้าทำให้จัดเก็บได้ง่าย  และเดินดูต่อไปที่ถังหมัก หมักแตงโม หมักหอยเชอรี่ เพื่อทำน้ำหมักไว้ใช้ในหลายๆโอกาส รวมถึงแนะนำรถไถซึ่งมีอายุใช้งานมาหลายปี เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม เป็นวิถีของชาวนาที่กินอยู่อย่างพอเพียงมีน้่อยใช้น้อย มีมากใช้น้อย ชีวิตก็เลยเรียบง่ายและเป็นสุข สังเกตุได้จากรอยยิ้มของพ่อแม่ชาวนานั่นเอง

ผักกาดสร้อย

หลังจากอาบน้ำเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะกลับมาทานข้าวกลางวันกันที่ศูนย์ข้าวคุณธรรมกันครับ มื้อกลับนี่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มากทีเดียว มีของกินมากมาย โดยเฉพาะไก่ย่าง?? ผมเองมาร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้วกินแต่มังสวิรัติตลอด 3 วันก็ยังเฉยๆ พอเดินทางมาในครั้งนี้่ เป็นปลาเห็นไก่แล้วก็แอบตกใจเล็กน้อยครับ ก็คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กินมันครับ ในทางกลับกันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะอยากกินมันด้วยซ้ำ แต่ไหนๆมันก็ตายแล้ว จะให้ตายเปล่าก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็รับปลารับไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมครับ

ผักด้านบนเขาว่าเป็นผักกาดสร้่อยครับ เป็นผักที่มีรสชาติและกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ ผมเองเป็นคนชอบกลิ่นของวาซาบิอยู่แล้วเลยลองกันเพลินเลย ของดีมีทั่วไทยจริงๆครับ ปัญหาอยู่ที่รู้ไม่รู้นั่นแหละ

ป้ายกิจกรรมรอถ่ายรูปหมู่หลังกินข้าวก็มีกิจกรรมกันเล็กน้อย โดยมีการแจกเสื้อครับ สำหรับผมนั้นลืมไปได้เลยเพราะไม่มีขนาดพอตัว แม้จะอยากได้เท่าไรก็คงต้องรอซื้อกันตอนเขาออกงานออกบูธกันครับ ถึงตอนนั้นก็คงจะมีให้เลือกหลายขนาดหลายลาย

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาแล้วก็จะมีการถ่ายภาพหมู่ครับ เก็บภาพประทับใจแจกของที่ระลึกกันไป สำหรับเหล่าสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมก็จะได้ข้าวใหม่ๆ เป็นของที่ระลึกให้ไปหุงหอมกินกันที่บ้านให้ระลึกถึงกลิ่นหอมของบ้านนากันต่อไป สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามผู้รับครับ แต่คิดว่าทุกท่านที่ไปคงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆในหลายด้านอย่างแน่นอน

ผมเองไม่คิดว่าจะได้มาในกิจกรรมนี้เพราะยังจัดการงานตัวเองยังไม่เสร็จ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาอีกครั้งเพื่อที่จะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หายากยิ่ง นั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าว  ผมเองเป็นนักออกแบบอิสระ ยังพอจัดสรรเวลาและปรับตารางงานได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่มาได้รับสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ทุกที จะว่าเหมือนครั้งก่อนก็ไม่ใช่ มันแตกต่างกันแต่ก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง สำหรับส่วนที่เหลือผมคงจะทิ้งไว้ในอีกบทความหนึ่งซึ่งจะเป็นบทสรุปของความคิดของผมต่อสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ครับ

 

เรื่องราวการเดินทางทั้งหมดก็จบเพียงเท่านี้ อ่านบทสรุปเพิ่มเติม…

 

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี