เรียนรู้การสอนจากอาจารย์

การที่เราได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้ฟังความคิดเห็นของท่าน ได้พูดคุย ได้ซักถาม ได้ทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เลิศยอดที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะพึงมีได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในอนุตริยสูตร

ผมเคยได้เห็นหลายลีลาการสอนของอาจารย์ทั้งแบบปกติ จริงจัง ดุ ปล่อยวาง ทำเฉย ฯลฯ แต่ละครั้งก็เป็นสิ่งที่ประทับไว้ในใจ เพื่อการเรียนรู้และประโยชน์ของศิษย์

ครั้งนี้ไปค่ายพระไตรปิฎก สิ่งพื้นฐานที่ได้เรียนก็คือภาคทฤษฎี แต่ค่ายนี้จะมีภาคปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นมา คือกิจกรรมการทำบาราย ซึ่งต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการทำ

ภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้แสดงให้ได้เห็นและเรียนรู้อยู่เสมอ ผมไม่แปลกใจที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาและมาร่วมเสียสละเช่นนี้

ระหว่างที่ร่วมพูดคุยงานในส่วนวิชาการและสื่อ อาจารย์ได้เดินมาทักทาย และพูดคุย มีเนื้อความตอนหนึ่งประมาณว่า “การสอนงานคนนี่แหละจะทำให้บรรลุธรรมเร็วที่สุด” เนื้อหาขยายหลังจากนั้นคือการสอนนี่จะได้พบกับความไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เพ่งโทษกันไปกันมาระหว่างนักเรียนกับคนสอน ก็จะมีโจทย์ให้ได้ฝึกล้างใจกันไป

มาถึงตอนเย็น ผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนาม ทำบาราย ขนอิฐและเศษวัสดุ ลงในร่องน้ำ

ซึ่งตรงนั้นก็มีท่อน้ำที่เชื่อมระหว่างถนนสองฝั่ง อาจารย์ก็บอกให้เอาหินก้อนใหญ่ไปกันปากท่อไม่ให้มีเศษหินเล็ก ๆ หล่นเข้าไป

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าวางหินอย่างไร เพื่อที่จะได้ผลนั้น อาจารย์ก็มาวางให้ดู เราก็ทำตาม…

ผ่านไปสักครู่เล็ก ๆ ระหว่างลำเลียงหินและเศษวัสดุมาถม ผมก็ลืมไปเลยว่าเคยเอาหินไปวางบังปากท่อ ว่าแล้วก็เอาพวกเศษปูนที่รับมาทุ่มลงไป หมายจะให้เศษแผ่นปูนแตกละเอียด เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาตามทุบกันทีหลัง …อาจารย์เห็นดังนั้นก็ทักอย่างปกติประมาณว่า ค่อย ๆ วางก็ได้นะ เพราะแผ่นหินที่วางกันปากท่อไว้แตกหมดแล้ว

พอได้ยินดังนั้น เราก็นึกได้ ลืมสนิทว่าเคยทำไว้ ว่าแล้วก็ค่อย ๆ รื้อมาทำใหม่ วางให้ดีกว่าเดิม

… ดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม แต่ผมได้เรียนรู้อย่างมากมาย เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า การสอนคนต้องทำอย่างไร

นี่ขนาดผมทำลายสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ท่านก็ยังเฉย ๆ ยังเบิกบานได้อย่างปกติ แล้วก็ยังสามารถบอกสิ่งดีกับผมได้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยวางให้มันพังไปอย่างนั้น เป็นความสงบเย็นที่จะรับรู้ได้เมื่อได้ทำงานร่วมด้วย

ตอนที่จัดหินใหม่ให้เข้าที่ ผมก็ระลึกว่า เราก็ต้องใจเย็นแบบอาจารย์นี่แหละ ทำให้ได้แบบอาจารย์นี่แหละ แม้เราจะบอกจะสอนเขาไปแล้ว เขาทำไม่ได้ เขาทำผิด เขาทำพัง เราก็ต้องวางใจ แล้วก็ทำดีบอกสิ่งดีกับเขาไปเรื่อย ๆ ส่วนความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สอน มีเพียงการนำเสนอสิ่งดีเท่านั้นที่เป็นหน้าที่

สรุปก็ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี คือได้ฟังคำสั่งสอน และภาคปฏิบัติ คือทำให้ดู ให้เห็นเลยว่า ความดีนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะดีจริง ดีแท้ ดีไม่มัวหมอง (ความดีที่มัวหมอง คือดีที่มีอัตตา หรือมีความชอบ ความชังไปปน)

[36] ผลผลิต

diary-0036-ผลผลิต

36. ผลผลิต

การทำเกษตรนั้น เป้าหมายก็คือการได้ผลผลิต ถ้าเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ฯลฯ เขาก็ต้องเอาผลผลิตเป็นตัวตั้ง แต่ผมไม่ใช่

ผมเองไม่ได้มีเป้าหมายของการปลูกต้นไม้เป็นผล แต่ก็จำเป็นจะต้องได้ผลเป็นที่สุด สิ่งที่ผมมุ่งเน้นคือกระบวนการในการเรียนรู้ ว่าเราได้เรียนรู้องค์ประกอบเหตุปัจจัยอะไรที่ิก่อให้เกิดผล

ความรู้ที่ได้มา จะสร้างผลได้ยั่งยืนกว่า คนที่มุ่งที่ผล เพราะถ้ากระบวนการถูก การได้ผลจะแน่นอน แต่ถ้าไม่เข้าใจกระบวนการ ผลที่ได้นั้นก็ไม่แน่เสมอไป

เพราะความไม่เที่ยงในโลกนี้มีเสมอ มีเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลง เรายังรักษาสภาพที่จะทำให้เกิดผลได้หรือไม่ หรือเราเข้าใจเหตุของการเกิดผลไปในเชิงรูปแบบตามที่จำ ๆ กันมา

เรื่องผลผลิตทางการเกษตรนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย เพราะจับต้องได้ ส่วนผลผลิตทางด้านจิตวิญญาณนั้นจับต้องไม่ได้เลย จึงวัดผลได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัดผลไม่ได้

ผมไม่ได้ใส่ใจประเด็นเรื่องพืชผักเท่าใดนัก แต่ให้ความสำคัญกับการลดกิจกรรมที่ฟุ่มเฟือย และเพิ่มกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องเรียนรู้สิ่งที่ถูกสิ่งที่ผิดในเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

แม้วันหนึ่งผมจะมีสวนที่เต็มไปด้วยพืชผักธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ผลผลิตที่เป็นเป้าหมายของผม ผลผลิตที่ผมมุ่งหวังนั้นคือการดำเนินกระบวนการเรียนรู้ไปสู่ความพอเพียงเรียบง่ายที่ปราศจากความโลภโกรธหลงอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าได้ตามนั้นละก็ นั่นก็เรียกว่าได้ผลจากการผลิตแล้วนั่นเอง>

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

Buddhism Vegetarian มังสวิรัติวิถีพุทธ

เชิญชวนกันอย่างเป็นทางการในบทความนี้ กับกลุ่มปฏิบัติธรรมที่ใช้แนวทางของการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการขัดเกลากิเลส ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เจอมาและพร้อมจะเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษาให้กับทุกท่าน

ในการเดินทางของชีวิต การจะเดินไปถึงเป้าหมายที่เรียกว่าความสุขแท้ได้นั้น ชาวพุทธจะเรียกวิธีการนั้นว่าปฏิบัติธรรม แต่ปัญหาที่หลายคนพบเจอคือจะปฏิบัติธรรมอย่างไร ปฏิบัติธรรมคืออะไร ปฏิบัติธรรมต้องเริ่มจากอะไร ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้อะไร มรรคผลคืออะไร ทำไมปฏิบัติแล้วกลับไม่มีความสุข ไม่มีคำตอบให้ชีวิต นิสัยก็เหมือนเดิม ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ยิ่งปฏิบัติยิ่งหดหู่ ยิ่งท้อถอย ยิ่งทำยิ่งหลง ยิ่งวน  ยิ่งสงสัย ยิ่งไม่มั่นใจ ยิ่งกลัว ยิ่งกังวล…แล้วก็ทุกข์เหมือนเดิม

เมื่อได้เห็นและพิจารณาดู จึงเห็นว่าควรแล้วที่จะนำความรู้ที่ได้ศึกษามานั้น มาแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกท่าน ให้เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความดับกิเลส ยินดีที่จะไขทุกสภาวธรรมออกมาให้ศึกษากัน เรียนรู้กันทุกอย่างตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา เป็นลำดับขั้นตอนจากง่ายไปหายาก เพื่อให้ผู้มีบุญบารมีทุกฐานะได้ร่วมแบ่งปันและปฏิบัติธรรมในแนวทางนี้

การปฏิบัติที่ผมจะนำมาเสนอนั้นไม่ใช่แนวทางใหม่ เป็นเพียงการจับกิเลสตัวหนึ่งออกมาให้ทุกท่านได้ทดลองปฏิบัติธรรมเพื่อทำลายกิเลสตัวนี้ดู เพราะหากว่าใครที่สามารถเข้าใจกระบวนการฆ่ากิเลสนี้ได้แล้ว เขาจะสามารถนำความรู้ความเข้าใจนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆที่ตนยังติดยังยึดอยู่ได้

การกินมังสวิรัติของกลุ่มนั้นไม่ใช่การกินเพื่อให้ดูสวยงามหรือเพื่อให้ดูดี แต่เปรียบได้กับสงครามที่ต้องสู้รบกับกิเลส มีทั้งซากศพ ความแพ้พ่าย หยาดเหงื่อ และน้ำตาของผู้ที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสมามากมายในสมรภูมินี้

จึงขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการพบกับความผาสุกของชีวิต และยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้เกิดมรรคผล ได้เข้ามาลองร่วมกลุ่ม เพื่อเป็นพลังพลักดันและขับเคลื่อนด้วยมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี สร้างสังคมที่พากันลดกิเลส พากันทำลายกิเลส เป็นไปเพื่อการดับกิเลส

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้หรือฟังอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงโอกาสในการที่เราจะฉลาดขึ้น มีปัญญามากขึ้น รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่การจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะมีอัตตายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ได้รู้มา และไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วได้ เมื่อเป็นดังนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความไม่คุ้นชิน อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปให้กับกับอัตตา หรือที่เรียกว่า เพ่งโทษฟังธรรม นั่นเอง เป็นอย่างไรก็ลองมาอ่านกันดูถึงโทษภัยของการฟังอย่างเพ่งโทษและคอยจับผิด

อ่านต่อได้ที่บทความ : เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

เดินทางและเรียนรู้

ช่วงหลังๆ มานี้ ไม่ค่อยอยู่บ้านครบเดือนสักที มีภาระกิจ ต้องเดินทางตลอด ไปครึ่งเดือนบ้าง สัปดาห์บ้าง ไปพบเจอเรื่องราวมากมายที่มากกว่าชีวิตประจำวัน

ชีวิตรับงานอิสระแบบผมนี่จะมาจะไปไหนมันก็สะดวก ไม่ต้องมีห่วงอะไรมากมายนัก เพียงแค่จัดการงานที่รับมาให้จบตามเวลาแล้วก็ออกเดินทางไปเรียนรู้ได้ก็เป็นกำไรของชีวิตแล้ว เพราะไม่รู้วันไหนเมื่อไหร่ที่จะต้องจากโลกนี้ไปจึงไม่อยากมีชีวิตอยู่เพื่อเงิน ตามหาเงิน ใช้เงิน อยู่กับเงินๆๆๆ ให้เงินพลักดันชีวิต ดังนั้นจึงพยายามหาเงินให้พอดี และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้

Continue reading เดินทางและเรียนรู้

Welcome to DUCK BLOG

เปลี่ยนแปลงกันอีกครั้ง ของบล็อกแห่งนี้ เมื่อหลายปีก่อนก็มีหลายชื่อแต่ในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น DUCK BLOG บล็อกเป็ด อะไร อย่างไร ทำไม เดี๋ยวเล่ากันต่อเลย

ความเปลี่ยนแปลง

เดิมทีบล็อกแห่งนี้เคยเป็นช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารของ MonkiezGrove ในเวลาต่อมาก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น Dinh Blog ซึ่งจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ต่างๆของ Dinh เมื่อเวลาผ่านไปมีเรื่องราวมากมายค่อยๆถูกแยกออกไปเป็นบล็อกอื่นเรื่อยๆ เช่น cactus , caladium ฯลฯ และในครั้งนี้ก็เช่นกันเป็นความเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาในบล็อกแห่งนี้อีกครั้ง

ในครั้งนี้เป็นการแยกเนื้อหาที่มีความจริงจังเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของ Dinh ออกไปอีกบล็อกหนึ่ง ซึ่งจะเน้นไปทางการดำเนินชีวิต การแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และนั่นหมายถึงการหั่นความหมายของ Dinh Blog ออกไปจนเหลือเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงกลายมาเป็น DUCK BLOG อย่างที่เห็นกันอยู่นี่ บล็อกเป็ดๆ อะไรแบบเป็ดๆ หลายอย่างไม่จริงจัง ขำๆกันไป

สิ่งที่เหลืออยู่

ในปัจจุบันบล็อกแห่งนี้ก็ถูกแบ่งภาคออกไปจนความสำคัญ หรือสาระเริ่มจะไม่มีแล้ว คล้ายๆว่าเหลือแต่บ่นๆ ดินฟ้าอากาศ เล่านู่น กล่าวนี่ อะไรแค่ประมาณนี้ สิ่งที่เหลืออยู่ในตอนนี้อาจจะจับประเด็นไม่ได้นักว่าเหลืออะไร แต่บล็อกเป็ดก็จะดำเนินต่อไปแบบเป็ดๆ เมื่อมีอะไรสำคัญๆก็อาจจะแยกร่างออกไปอีกก็เป็นได้ ดังนั้นสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความเป็นเป็ดนั่นแหละ

ทำไมต้อง DUCK BLOG

ผมชอบเป็ดนะ เป็ดทำอะไรได้หลายอย่าง แน่นอนว่าดูเหมือนจะไม่เก่งสักอย่าง แต่นั่นมันมองจากสายตาของคน คำตัดสินของคนเป็นอย่างไรก็รู้กันอย่างนั้น แต่ถ้ามองในมุมเป็ด มันคงจะมีความสุขมากๆที่ทำอะไรได้หลายๆอย่าง เพราะความหลากหลายนี่เองจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในภาพกว้าง

ผมเองเป็นคนไม่ชอบลงรายละเอียดในสิ่งไหนลึกๆ พอเข้าไปพบ ไปสัมผัส ก็มักจะถอนตัวออกมาในเวลาไม่นานนัก จะไม่จมอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ชอบเรียนรู้ไปเรื่อยๆมากกว่า เอาแค่พอรู้แล้วก็ถอยมาดูอีกที เพราะศาสตร์ต่างๆในโลกนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่นสารใดๆ ดังนั้นผมเองยังค้นหาต่อไปว่าสิ่งไหนหรือสิ่งใดที่ควรจะให้เวลากับมันจริงๆ หรือควรจะจริงจังกับสิ่งนั้นจริงๆสักที

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเรียนรู้และสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เคยเป็นเพียงคำพูด เรื่องเล่า หรือกลายเป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้ว นั้นคือประเพณีของไทยอย่างการลงแขกเกี่ยวข้าว

เป็นอีกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางทีวีบูรพา และเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา ในกิจกรรมเรี่ยวแรงสู่เรียวรวง ตอน “ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา” ณ จังหวัด ยโสธร วันที่ 9-11 พฤษจิกายน 2555

ภาพประทับใจ จากเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา
ภาพประทับใจ จากเครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา

สำหรับ กิจกรรมนี้จำเป็นต้องออกเดินทางกันตั้งแต่วันศุกร์เช้า เพราะว่าเราจำเป็นต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนานทีเดียวครับสำหรับคน ทั่วไปอาจจะยากหน่อยเพราะต้องลาหยุดกันสักหนึ่งวัน แต่สำหรับบางคนก็ไม่ใช่ปัญหา และผมเองก็ชินแล้วครับ เพราะร่วมทางไปกับทีวีบูรพามาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ สวนลุงนิล และครั้งล่าสุด หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ และอีกหลายๆ กิจกรรมที่เคยร่วมกับทีวีบูรพาเช่น กินข้าวอย่างรู้แจ้ง ตนค้นตนอวอร์ด เป็นต้น ก็อ่านย้่อนกันได้่นะครับ

สำหรับบทความเหล่านี้คงจะเป็นการเล่าเรื่องประกอบประสบการณ์ต่างๆที่ได้มา มีน้ำมีเนื้อคละเคล้าปนกันไปเลยแล้วกันนะครับ

เรื่องราวทั้งหมดถูกบันทึกและเรียบเรียงไว้ดังนี้…

ผมเคยคิดว่าจะพยายามบันทึกเรื่องราว รวมไว้ให้ได้ในบทความเดียว แต่พอมานั่งเรียบเรียงเอาเข้าจริงๆก็พบว่าแต่ละบทความนั้นมีความยาวมากเหลือเกิน จึงแบ่งส่วนให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านได้ง่ายขึ้น

สำหรับเนื้อ ข้อมูล และรูปภาพเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา

ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี