เป้าหมายในชีวิต

ตั้งแต่ได้ศึกษาธรรมะมา เป้าหมายอันมากมายที่เคยมีในชีวิตก็ค่อย ๆ ลดลงจนเหลือชัดเจนอยู่อย่างเดียว

แต่การจะถึงเป้าหมายนั้น มีเส้นทางที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าในทุกเส้นทางนั้นจะมีมรรคเป็นองค์ประกอบ เมื่อผมได้สรุปเส้นทางในชีวิต ก็พบว่าเหลือแค่สองทางเท่านั้น คือ บวชกับไม่บวช

ผมเป็นคนที่มีองค์ประกอบที่พร้อมสำหรับการบวช คือไม่มีภาระอะไรต้องห่วง ไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบ สามารถตัดสินใจด้วยตนเองในทันที ครอบครัวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังไม่เลือกการบวชด้วยเหตุผลที่ว่า

ผมต้องการจะใช้ความสามารถและความรู้ที่ได้เรียนมา ช่วย “สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง” เสียก่อน

ผมเองไม่ได้ใส่ใจกับปริญญาและความรู้ที่ได้ศึกษามา จะทิ้งก็ได้ไม่มีปัญหา แต่จากที่ทบทวนดูว่าทำไมชาตินี้ต้องเกิดมาได้เรียนแบบนั้น มันไม่มีหรอก เบิกกุศลมาให้เรียนตั้งหลายแสนแล้วทิ้งไปเฉย ๆ ฟ้าเขาก็คงให้มาเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือทำกุศลต่อละน่า ถ้าจะให้ฝึกทิ้ง ทิ้งแค่นี้มันก็น้อยไปหน่อย ไม่สะใจ

สรุปคือผมประเมินว่า ฟ้าเขาให้อุปกรณ์ทำความดีมาแล้ว เราจะทิ้งไปหรือจะเอาไปใช้ประโยชน์ และปัจจัยหลักก็คือ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงทุกวันนี้มีแต่คนตอแหล ทำหลอกในหลวง เป็นคำที่ก้องอยู่ในหัวผมเรื่อยมา ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมเฝ้าสังเกตคนที่เขาบอกว่าทำเศรษฐกิจพอเพียง และพบว่านั่นมันตอแหลจริง ๆ

เพราะเขาทำแล้วไม่ได้ลดความโลภ โกรธ หลง ไม่ได้ลดกิเลส ทำเศรษฐกิจพอเพียงไม่ลดกิเลสมันจะพอเพียงได้ไง มันก็โลภไปเรื่อย ๆ สิ ไม่โลภเอาวัตถุ ก็โลภเอาโลกธรรม หรือไม่ก็เอาอัตตา ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่า แบบนี้แย่แน่ ๆ มีแต่เปลือก แก่นไม่มีเลย

เศรษฐกิจพอเพียงในความเห็นของผม ต้องเริ่มจากลดกิเลสให้ได้ก่อน ส่วนปลูกพืชปลูกผัก หรืออะไรอื่น ๆ นั้นไว้พัฒนาทีหลัง เพราะถ้าไม่ศึกษาการลดกิเลสให้ได้จริง ทำอะไรไปสักพักเดี๋ยวกิเลสก็โต แรก ๆ ก็อาจจะสร้างภาพพอเพียงได้อยู่ แต่นานไปมันฟุ้งเฟ้อแน่ ๆ

อีกอย่างคือ ผมรู้สึกว่าควรจะทำให้เศรษฐกิจพอเพียงนั้นปรับใช้ได้ในทุกฐานะอาชีพ เพราะเดิมทีผมมีพื้นฐานเป็นคนเมือง ถ้าผมจะศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็ต้องศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้มาปรับใช้กับคนเมืองด้วย

ดังนั้นผมจึงไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นเกษตรกร ผมไม่เน้นผลผลิต ผมเน้นการศึกษาเรียนรู้ว่าทำอย่างไร เราจึงจะลดกิจกรรมที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ลดความโลภโกรธหลงที่ต้นเหตุได้ ซึ่งจากที่ผมประเมินดูแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีใครทำในหัวข้อนี้ชัดเจนนัก ก็เลยคิดว่าจะลองทำดูก่อน ลองเอาภาระในเรื่องนี้ดู ผมคิดว่ามันเป็นกุศลนะ เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนทำ และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากเหมือนกัน

ชาตินี้ก็คิดว่าจะทำสิ่งนี้ไป ได้เท่าไหนก็เท่านั้น ตามความสามารถ ตามบารมี ถ้ามันตันนักก็เลิก จะว่าหนีไปบวชก็ใช่ เพราะบารมีไม่พอไง ชาติหน้าค่อยมาฝึกทำใหม่ ถ้าอยู่ในสถานะนักบวชก็คงจะพอทำได้ แต่ไม่คล่องเท่าฆราวาสหรอก มันยืดหยุ่นกว่า ส่งเสริมได้ง่ายกว่า ผมขอสรุปตามความเห็นของผมเลยว่า ถ้าผมทำเรื่องนี้ ฆราวาสจะเจริญได้ง่ายกว่า

พิมพ์มาถึงตรงนี้ก็ลืมบอกไปว่าเป้าหมายคืออะไร เป้าหมายในชีวิตผมก็เลิกโง่บริบูรณ์ละนะ ส่วนผมจะฝึกปฏิบัติในเส้นทางไหนก็ตามที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ อ่านดูอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่จริง ๆ เป็นเรื่องที่ตัดสินใจไว้ตั้งแต่ 3-4 ปีก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแค่ไม่เคยได้บอกได้กล่าวกับใครเลยเท่านั้นเอง

ชีวิตที่ผ่านเลยมาถึงต้นปี 2556

และแล้วก็ผ่านต้นปีมาจนถึงช่วงกลางเดือนมกราคม ผ่านวันเด็ก ผ่านวันอะไรๆที่ดูจะสำคัญในช่วงปีใหม่มาแล้ว คงจะเป็นช่วงที่ผ่อนคลายและสงบนิ่งมากขึ้น

ก่อนปีใหม่ก็ไม่มีเวลาได้ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาในปี 2555 และวางแผนในปี 2556 เลย มันดูเหมือนจะว่าง แต่พอนึกไปมันก็ไม่ว่าง มีอะไรยุ่งๆ นิดๆ หน่อยๆ เต็มไปหมด มีอะไรให้ทำตลอดเวลาจนลืมนึกไปว่าในปีนี้ยังไม่มีแผนเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไรนัก มีแต่แผนรวมๆระยะยาวเท่านั้นเอง

MonkiezGrove , Cartoon Postcard Animation

ในปีนี้ เท่าที่คิดได้ก็จะกลับมาพัฒนามังกีซ์โกรฟ (www.monkiezgrove.com) อีกครั้ง หลังจากปล่อยให้ร้างไปเกือบสองปี ซึ่งการปัดฝุ่นครั้งนี้ได้ใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เก็บเกี่ยวมาในช่วงที่เรียนโทมาใช้ด้วย ทำให้เป็นการวางแผนการสร้างในทุกระยะเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืนกว่าเคย อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในบทบาทบ้าง ตามความเหมาะสม แต่สุดท้ายสิ่งที่ยังเป็นงานหลักของมังกีซ์โกรฟ คือ การ์ตูนน่ารัก คำนี้จะฝังลงไปในทุกๆกิจกรรมของมังกีซ์โกรฟ

ดอกทานตะวัน

อีกอย่างก็คงจะเป็นการทำอัลบั้มภาพออนไลน์ที่ DINPhoto ( photo.dinp.org ) ภาพที่ถ่ายเก็บไว้เยอะมากๆ ภาพที่ไปเที่ยวถ่ายวิว ถ่ายนู่นถ่ายนี่ ตามประสาคนบ้าถือกล้่องไปที่ไหนก็ถ่ายที่นั่น จะได้นำมาลงแบ่งปันกันให้ชมเสียที เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราอยู่แต่บ้านไม่ได้ออกไปดูโลกบ้าง ก็ค่อยๆติดตามกันเป็นระยะๆ นะครับ จะทยอยๆ ลงไปเรื่อยๆ

ส่วนงานอื่นๆ ก็คงกลับมารับทำเหมือนเดิมหลังจากงดรับงานมาเกือบสองปี เพื่อมุ่งเน้นไปในการเรียนรู้ให้คุ้มค่าที่สุด ณ ตอนนี้เหมือนจุดที่ทุกอย่างคลี่คลาย ค่อยๆกลับมาเป็นเหมือนปกติอย่างช้าๆ สำหรับปีนี้คงได้แค่ทำตามแผนที่วางไว้ สำหรับแผนใหม่คงยังไม่คิด เอาไว้คิดปีหน้าดีกว่า ตอนนี้สะสมทุนอีกครั้งก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในโอกาสหน้า

สำหรับใครที่ยังไม่ได้วางแผนชีวิต ก็ลองใช้เวลานั่งคิด นั่งทบทวน นั่งคุยกับตัวเองดูก็ได้ ว่าชีวิตต้องการอะไร อะไรคือเป้าหมาย ได้มาแล้วยังไงต่อ คิดล่วงหน้าไว้ก่อน สุดท้ายค่อยสกัดด้วยคำว่า “อะไรที่จำเป็น

สวัสดี

ทบทวนเรื่องราวระหว่างปี

ใกล้จะปีใหม่แล้ว ถือเป็นช่วงเวลาหยุดยาวที่จะได้คิดได้ทำอะไรหลายๆอย่าง หนึ่งในกิจกรรมที่ผมจำเป็นต้องทำนั่นคือนั่งทบทวนว่าหนึ่งปีทำอะไรไปบ้าง

สิ่งที่ทำในหนึ่งปีนั้นอาจจะอยู่ในเป้าหมายหรือไม่ได้อยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้แล้วคงได้แต่ทำใจและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งปีนี้เท่านั้นและวางแผนใหม่ในอนาคตต่อไป

To do list ปีเก่าๆ ผมทำไว้เสมอเมื่อเข้าสู่ช่วงปีใหม่ ซึ่งในช่วงสิ้นปี 2554 ผมก็จะหยิบบันทึกเก่าตอนต้นปี 2554 ที่เคยเขียนไว้มาดูอีกครั้งว่าเคยทำอะไรไปบ้าง อะไรบ้างที่หลงลืม อะไรบ้างที่หล่นหายไป ซึ่งต่อจากนี้คงต้องคิดกันว่า สิ่งที่เคยประเมินไว้ว่าตัวเองน่าจะจำได้ แล้วทำไม่ได้นั้นควรจะปรับปรุงอย่างไร..

และจากที่ดูแล้วคิดว่าผมคงต้องให้เกรด C แก่ตัวเอง เพราะงานหลายๆอย่างที่ได้วางไว้ ไม่ได้ตามเป้าหมายเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็ไม่อยากโทษว่าติดเรียน หรือป้ายความผิดให้กับน้ำท่วม เหตุจริงๆนั้นก็เพราะผมประเมินสถานการณ์ไว้ผิดตั้งแต่แรกนั่นเอง…

สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทำเป้าหมายของตัวเองไว้ ปีใหม่นี้ก็ลองดูก็ได้นะครับ เริ่มจากการทบทวนเรื่องราวเก่าๆก่อนเพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานในการตั้งเป้าในปีต่อๆไปของตัวเอง ส่วนเป้าหมายของใครจะท้าทายแค่ไหน ก็ขอให้ทำได้สำเร็จแล้วกันนะครับ

สวัสดี

มัน เป็ด มาก

บางครั้งในชีิวิตของเราก็จำเป็นต้องเลือกทางสักทางที่น่าจะดูดีที่สุด แต่ถ้าเกิดมันดีหรือเหมือนจะดี หรือดีพอๆกันทุกทางล่ะ จะเลือกยังไงดี…

คำตอบของผมอาจจะเป็น เลือกทั้งหมดนั่นแหละ…

การเลือกทำหรือเลือกเป็นหลายๆอย่างนั้น มักจะเป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน ไม่เฉพาะทาง ไม่เก่งไปสักอย่าง หรือที่เขาเรียกกันว่า เป็ด … เหมือนทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรได้ดีสักอย่าง แน่นอนว่าผมก็เป็นคนแบบเป็ดๆนั่นแหละ

มันเป็ดมากบทความตอนนี้คิดจะเขียนขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสสักที วันนี้โอกาสเหมาะ อากาศดี ก็เลยได้เขียนและบรรยายความเป็ดให้เป็นที่เข้าใจกัน ความเป็ดของแต่ละคนนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ตามสิ่งแวดล้อม แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้เด่นสักอย่าง ซึ่งผมเองก็เป็นเป็ดอีกตัวหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสังคมนี้

การเก่งเฉพาะทางหรือเฉพาะอย่าง คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก มันเข้าใจง่าย มันดำเนินชีวิตง่าย มันทำให้ชีวิตไปถึงเป้าหมายได้ง่ายเพราะมันชัดเจนในแนวทาง เว้นแต่ว่ามันน่าเบื่อเท่านั้นเอง…

ในบทความตอนนี้เราจะมาบรรยายความเป็ดกับการทำงานกัน

ถ้าจนถึงตอนนี้ยังนึกถึงความเป็ดไม่ออกก็ให้นึกถึงเครื่องถ่ายเอกสารมัลติฟังชั่น fax ,print ,scan ,phone อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แต่ก็ทำได้แค่พอถูไถ เหมาะกับสถานที่ที่อาจจะเล็กนิดหน่อย หรือบริษัทที่งบไม่เยอะต้องการประหยัดอะไรแบบนี้

งานก็เหมือนกัน สำหรับบริษัทที่เริ่มต้นใหม่หรือมีขนาดไม่ใหญ่ก็มักจะอยากได้คนที่ทำได้หลายอย่าง ซึ่งต่างกับ บริษัทใหญ่ๆที่แบ่งแผนกชัดเจนจึงต้องการคนเฉพาะทางนั่นเอง และนี่คือกลไกง่ายๆ จากมุมมองง่ายๆของผมที่มองสังคมการทำงาน แน่นอนว่ามันคือสังคมการทำงาน เราคือฟันเฟืองที่ทำให้กิจการขับเคลื่อนไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็ดหรือไม่เป็ด ก็ขอแค่ให้มันเหมาะกับสถานที่หรือองค์กรที่เป็นอยู่ก็พอ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง

บางครั้งเมื่อองค์กรมีการปรับเปลี่ยนขนาด เป็ดบางตัวก็อาจจะเดือดร้อนก็ได้ เพราะความไม่ชัดเจนหรือไม่เฉพาะทางนั่น เป็ดบางตัวอาจจะได้ยกระดับเป็นผู้บริหารเพราะรู้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง ซึ่งนั่นแหละคือความเป็ด ผู้บริหารไม่ว่าจะเล็กกลางใหญ่จำเป็นต้องรู้ให้กว้าง แต่ไม่ต้องรู้ให้ลึก เพราะรู้ลึกก็ให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำไป

ดังนั้นเมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นเป็ด จึงจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการบริหารให้มากขึ้นนั่นเอง เพราะเราคงจะไปเก่งสู้คนที่เก่งเฉพาะทางได้ ซึ่งการเลือกเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในชีวิตมันก็ต้องใช้เวลา และเราจึงจำเป็นต้องรู้ตัวให้ชัดว่าเป็นเป็ดแบบไหน เป็ดบ้านๆที่รอถูกเชือด (เป็ดกินเงินเดือน) เป็ดป่าที่หากินเองตามธรรมชาติ (เป็ด freelance)  ลูกเป็ดขี้เหร่ ที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นหงส์ (เป็ดโดนดอง) ซึ่งเราอาจจะนิยามอะไรอย่างไรก็ได้เพื่อมองให้เห็นความเป็นตัวเราเอง และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในความเป็ด คือรู้ว่าตนนั้นเป็นเป็ดแบบไหนและขนาดไหน…

บทความแบบเป็ดๆ คงเกริ่นกันไว้เท่านี้ ซึ่งอาจจะมีบทความเพิ่มขึ้นเรื่อยในอนาคตตามแต่ที่ผมจะจินตนาการได้

สวัสดี