ใกล้เทศกาลเจ บทความเกี่ยวกับการลดละเลิกเนื้อสัตว์ ก็จะได้รับการแชร์มากเป็นพิเศษ ก็จะมีคนเข้ามาให้ความเห็น ส่วนจะเห็นอย่างไรก็ลองตาม ๆ ศึกษากันดู
สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มีคนเสนอ และมีคนค้าน ฝ่ายเสนอก็คือการชวนเลิกกินเนื้อสัตว์นี่แหละ ส่วนฝ่ายค้านก็คือผู้ที่จะไม่เลิก และชักชวนให้ไม่ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ และยินดีในการไม่เลิกกินเนื้อสัตว์
ถ้าจะสรุปจากที่เคยพิมพ์มา ๆ ก็จะให้ความเห็นก่อนเลยว่าการค้านแย้งในประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้ลดการเบียดเบียน แถมยังชักชวนให้ยินดีและส่งเสริมการเบียดเบียนต่อไป สรุปคือมันก็ไปทางตรงข้ามกับหลักปฏิบัติของพุทธนั่นแหละ เหตุผลจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องดูทิศ ดูที่ไปของผลของกรรมด้วย ไม่เบียดเบียนก็ไปทางนึงนะ เบียดเบียนก็ไปอีกทางหนึ่งนะ ไปคนละทางกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่ต่างกัน ก็ทำใจยอมรับ ๆ กันหน่อย
ส่วนใครจะไปทิศไหน ภพภูมิไหน อันนี้ก็คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะตราบโลกแตกมันก็ต้องมีคนเห็นต่างกันอยู่แล้ว และโดยมากก็จะไปชั่วเป็นธรรมดาเสียด้วย เรื่องนั้นเราอย่าไปใส่ใจนักเลย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่เราได้ “ปะทะ” ,”กระทบ”,”ได้ยินได้ฟัง” ความเห็นที่แตกต่างแล้วเราทำใจในใจอย่างไร เรายอมรับฟังได้ไหม เราพิจารณาได้ไหมว่าแบบไหนมันดีกว่า มันเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากกว่า หรือเราจะเอาแต่ของเรา ของที่เราเคยเรียนรู้ ของที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น หรือ ความคิดของฉันถูกที่สุด อะไรประมาณนี้
ประโยชน์ของการเสนอกับการค้าน ในเชิงลึกมันก็มีอยู่ในด้านการตรวจจับจิตมาร-เทวดา ในใจตัวเอง ไม่ต้องไปตรวจคนอื่นหรอก เอาตัวเองนี่แหละว่าเป็นมาร เป็นเทวดา หรือเป็นมารในคราบเทวดา
ถ้าเราฟังความเห็นต่าง ฟังข้อมูลต่างแล้วลองเอาไปปฏิบัติดู จนเห็นผลว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เขาว่ามานั้น มีประโยชน์/ไม่มีประโยชน์ อย่างไร พอเห็นอย่างนั้นจริง หรือระลึกเท่าที่เคยทำมา หรือศึกษาจากกลุ่มที่เขาปฏิบัติ แล้วชัดเจนในผลนั้น จึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือคงสภาพเดิมก็แล้วแต่ประโยชน์ที่พึงเกิดแต่ตนและผู้อื่น
ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ผมปฏิบัติ เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วน้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ประหยัด เรียบง่าย พึ่งตนได้ ยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ผมก็มั่นใจว่า “ผล” ที่ได้รับนั้นควรค่าแก่การเลิกแล้ว
หรืออีกตัวอย่าง ที่เขาแนะนำกันมาเช่น กินเป็นธาตุบ้าง กินด้วยจิตว่างบ้าง ผมก็ลองนะ ลองฟังเขา แต่พิจารณาดูแล้วธาตุมันก็มีธาตุดีกับธาตุเลวด้วยนะ จะเอาอะไรเข้าปากมันก็ต้องมีประโยชน์ มันก็ต้องใช้ปัญญาบ้าง พระพุทธเจ้าท่านให้กินของที่ย่อยง่ายและไม่เป็นโทษจึงจะดีต่อชีวิต พืชผักนี่แหละย่อยง่าย โทษก็น้อย ยิ่งปลูกเองยิ่งปลอดภัย ประหยัด เนื้อสัตว์นี่เสี่ยงโรคและยาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมชาวพุทธเขาก็ไม่ค่อยอยากคบคนผิดศีลกันสักเท่าไหร่หรอก จะให้คบค้าสมาคมกับคนที่เขาฆ่าสัตว์ขายนี่ผมทำไม่ได้ ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผิดศีลโดยไม่จำเป็น แถมแพงก็แพง เก็บก็ยาก ต้องมีตู้เย็น ผักนี่ไม่มีตู้เย็นก็เก็บได้ ประเด็นนี้ชนะขาดกันแบบเห็น ๆ
ส่วนกินด้วยจิตว่างนี่มันยังไง ก็คนมันมีปัญญาเนาะ มันก็รู้ประโยชน์และโทษสิ จิตนี่มันว่าง มันไม่ได้อยากกินหรอกเนื้อสัตว์ มันก็ไม่ต้องไปกินให้มันลำบากสิ ที่ยังแสวงหากินอยู่นี่มันจิตไม่ว่าง ยังอยู่ในกามภพ ยังหลงกินอยู่ กินด้วยจิตว่างนี่มันจะหลับหูหลับตากินไม่ได้นะ จิตมันว่างจากกิเลส มันก็เลยมีปัญญา ไม่ใช่ว่างจากปัญญาก็เลยกินไม่คิด พุทธนี่มีการคิดที่ถูกที่ควรเป็นมรรค ในระดับโลก ๆ เอาแค่คิดว่ากินสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็พอแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้คนอื่นเขาทำยังไงนะ ที่เขาว่าว่างมันว่างแบบเดียวกันรึเปล่าหรือมันว่างแบบบื้อ ๆ หรือมันแค่พูดดีว่าว่าง สุดท้ายคุณกินเข้าไปคุณก็รู้เองนั่นแหละ เรื่องกิเลสมันโกหกตนเองไม่ได้หรอก จิตมันจะยินดีที่ได้เสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่ชักชวนกันเสพเนื้อสัตว์ ยินดีที่มีคนส่งเสริมการเสพเนื้อสัตว์
อาการ 3 อย่างนี้ เป็นอาการของอสัตบุรุษ หรือคนพาล หรือ… ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป ส่วนใครมั่นใจว่าทำได้อย่างที่ว่า คือยินดีในการกินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นต่าง ๆ แล้วยังสามารถเบิกบาน ผาสุก สุขภาพดี ไร้ทุกข์ ไร้กังวลในชีวิตได้ ก็ทำไป …ส่วนตัวผมไม่เชื่อคนหนึ่งล่ะ
ก็สรุปบทความสั้น ๆ (?) นี้ลงตรงที่ว่า อย่าไปเอาประโยชน์จากการเถียงกันเลย ให้เอาประโยชน์จากการเถียงมารในใจตัวเองดีกว่า คนอื่นเขาอยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวเขาก็ไป กิเลสมารในใจเราอยู่ด้วยกันมาหลายล้านชาติ สิงเรามานานแล้ว ยังไปสู้ผิดคนผิดเป้าอีก