ถ้าไม่เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ จะให้ทำอะไร?

ผมก็คิดทบทวนนะ ว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี่จะทำให้ลดการกักขัง,ทำร้าย,ฆ่า ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์ของสัตว์และเป็นประโยชน์ของตนเองด้วย คือเราไม่มีกรรมไปเกี่ยวข้องกับการเบียดเบียน สรุปคือเป็นทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

แล้วเรามีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ จะให้เก็บไว้เปล่า ๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ก็ใช่ว่าจะผลักดันให้เกิดผลในอุดมคติ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ความรู้มันก็ช่วยได้แค่คนที่ต้องการรู้เท่านั้น คนน้ำเต็มแก้วก็ต้องปล่อยเขาไป

เพราะสุดท้ายทำยังไงมันก็ไม่ทันหรอก โลก(โลกีย์/กิเลส) มันกลืนกินคนได้เร็วกว่า ดูสิ ทุกวันนี้เขารีวิวอาหาร อร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไปกินเนื้อแบบนั้นแบบนี้ เคยมีไหมที่จะเห็นคนไปแย้ง ว่านั่นกิเลส นั่นกาม ไม่มีหรอก เขาก็ไหล ๆ ไปรวมกันนั่นแหละ

แต่ถ้าเราเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์นี่ เขามาฮึ่ม ๆ ใส่เลยนะ กับกิเลสโลก ๆ ทั่ว ๆ ไป เขาไม่ค่อยสู้กันนะ เขามาสู้กับคนที่เผยแพร่ธรรมที่พาให้ไม่เบียดเบียน นี่มันยังไง แต่ก็ไม่สงสัยหรอก ก็มันหน้าที่เขา เขาก็ทำตามหน้าที่เขา

ส่วนเราก็ทำตามหน้าที่เรา เผยแพร่ไป นึกมุกใหม่ได้ก็เผยแพร่กันไป ถ้ามุกตันก็ทบทวนธรรมศึกษาโลกไปเดี๋ยวก็นึกออกสักวัน

ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรดีเท่าเราเผยแพร่สิ่งดีออกไปหรอก ก็ประมาณให้เหมาะก็พอ ก็ต้องติกันให้กระทบถึงอัตตา แต่ก็ไม่ถึงขั้นทะเลาะบาดหมางกัน เพราะคนสมัยนี้ด้าน หนา มารยาเยอะ ถ้าลงน้ำหนักไม่มาก ประนีประนอม มันไม่เข้า ไม่สะเทือนผิวเขาเลย

คิดดูสิ ทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา เพราะความหลง ความอยากกินของตนแท้ ๆ แต่ต้องไปเบียดเบียนเขามา ถึงขนาดต้องให้คนไปฆ่าเขามากิน ก็ยังกินกันหน้าตาเฉย กิเลสมันจะหนาขนาดไหน ตื้น ๆ แค่นี้เขายังไม่รู้กันเลย

นี่ขนาดว่ามีคนเขาขยันเผยแพร่กันขนาดนี้ยังไม่เห็นผลเลย แล้วถ้าไม่ทำอะไรเลยมันจะแย่ลงขนาดไหนเนี่ย

พระพุทธเจ้าตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์ว่าทำความดีให้ถึงพร้อม ไม่ใช่ให้ปล่อยวางความดี คือดีน่ะทำไป ถ้าจะปล่อยวางค่อยไปปล่อยตอนเขาจะฆ่า ถ้าเผยแพร่เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเขาจะฆ่า ก็คงจะปล่อยวางตอนนั้น ไม่ใช่ว่ากลัวตายหรอกนะ ก็แค่สงสารเขาว่าเขาต้องทำบาปด้วยเรื่องแบบนี้

และนี่เองคือรูปแบบเดียวกับที่คนดีในกลียุคต้องหนีเข้าป่า 7 วัน 7 คืน ให้คนชั่วเขาฆ่ากันให้หมดโลก แล้วค่อยออกมาใหม่ มันจะปล่อยวางดีกันตรงนี้นี่แหละ คือจุดที่ทำดีแล้วเบียดเบียน ทำร้ายกัน เราก็เลิกยึดดีนั้น แล้วหนีออกจากคนพาลไปหาดีใหม่ทำเท่านั้นเอง

คนใจเหี้ยมฆ่าสัตว์

คนที่เขาฆ่าสัตว์นี่ใจเขาต้องเหี้ยมมากนะ ศีล เศิล เมตตง เมตตา นี่ไม่ต้องมีกันหรอก คิดอย่างเดียวทำยังไงให้มันตาย ให้มันขายได้ราคาแพง มันจะเจ็บปวดทรมานยังไงเรื่องของมัน

คนมีหิริโอตตัปปะ เขาทำไม่ลงนะ มันทำไม่ได้ เห็นสัตว์เจ็บเขาก็ละอายเกรงกลัวบาปแล้ว ให้เขาร่วมวงด้วยเขาก็ไม่เอา ให้เขายินดีด้วยเขาก็ไม่เอา ให้เขากินด้วยเขาก็ไม่เอา

ส่วนคนโลกๆ ทั่วไปก็ โหดร้ายจัง ไม่อยากดู แต่ถ้าเขาไม่ฆ่า แล้วเราจะมีกินได้อย่างไร… อย่ากระนั้นเลย เราปล่อยวางแล้วกินต่อไปดีกว่า…พวกคิดแบบนี้มันพวกเฉโกชัด ๆ นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังสนับสนุนให้เขาฆ่าอีก อยู่ไปไม่ได้เกื้อกูลอะไรสัตว์อื่นเล้ย กิน ๆ เสพ ๆ บ้ากาม เมาอัตตา อยู่ๆ อยากๆ แล้วก็ตายไป เสียชาติเกิดจริงๆ

อุเบกขา พลังอันไร้ขีดจำกัด

เมื่อวานคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับผลของสภาวะอุเบกขาที่มีต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และจากเนื้อหาในโพสก่อนที่ผมได้ยกตัวอย่างตามความเข้าใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งปล่อยวางได้อย่างแท้จริงแล้ว ภาระจะตกไปอยู่กับอีกฝั่งหนึ่งทันที วางได้ก็รอดตัว วางไม่ได้ก็รับวิบากชุดที่วางไม่ได้ไป

ผมนั่งทบทวนธรรมนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนเข้าใจอุเบกขาขึ้นอีกขั้น ซึ่งเป็นลักษณะเมื่อมีการกระทบกับสิ่งอื่น

ทำให้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วอุเบกขาเป็นพลังที่น่ากลัวที่สุด (สำหรับคนชั่ว) เพราะถ้าคนทำดีอย่างเต็มที่ แม้จะมีคนมาขวางดีนั้นไว้ ไม่ให้ดีเกิด แต่ถ้าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างหมดตัวหมดตน พลังของอุเบกขาที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวทะลวงได้รุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จะทะลวงก็ทะลวงคนที่มาขวางนั่นแหละ ใครขวางดีก็มีวิบากอยู่แล้ว ยิ่งขวางคนดีที่วางใจได้ 100% นี่มันหายนะชัด ๆ เลย

พอเข้าใจอย่างนี้ ผมก็ตระหนักถึงพลังของอุเบกขา แน่นอนว่าผลในท้ายที่สุดมันจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ดีที่สุดมันจะแสดงออกมาเป็นเหตุการณ์อย่างไหนก็ได้ จะดีหรือร้ายก็ได้ แต่สุดท้ายจะจบด้วยดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แน่ ๆ

แค่วางใจเรื่องไหนได้อย่างแท้จริง เรื่องนั้นก็จะไม่ทำให้เราทุกข์ได้อีก แค่นี้ก็คุ้มเกินคุ้มแล้ว และยังมีพลังที่จะมีผลด้านลบกับพลังกิเลสคนอื่นได้ หนำซ้ำยังมีพลังที่จะทะลวงผ่านวิบากกรรมที่กำลังรับอยู่ได้รุนแรงที่สุดอีกด้วย (คือก็รับกรรมนั่นแหละ แต่รับแล้วก็จบไป ไม่สร้างเพิ่ม แถมยังทำดีเป็นแรงผลักให้พ้นไว ๆ อีก มันเลยผ่านเวลาร้าย ๆ ได้ไวที่สุด)

ผมทดสอบสภาวะนี้ของตัวเองค่อนข้างบ่อย ไอ้ที่ผ่านไม่ได้ก็สู้ต่อไป ส่วนที่ผ่านได้บ้างแล้วก็จะเห็นบางสิ่งบางอย่าง เช่น เห็นเวลาที่คนเขาพยายามจะยัดเยียดความเห็นให้เรา เห็นคนที่พยายามจะข่มเรา ดูถูกเรา หรือคนที่คุยโม้ โอ้อวด มันจะเห็นเขาชัด เพราะไม่ต้องเสียเวลามาดูเราแล้ว ก็ดูแต่เขานั่นแหละ อ้อนั่นเขาอาการแบบนั้นแบบนี้ เขาเข้าใจแบบนั้นแบบนี้ มันก็จะเห็นมากกว่าที่เรามัวหมกมุ่นกับการปกป้องความเห็นของเราเอง เห็นแล้วจะยังไงต่อก็อีกเรื่อง

โดยปกติผมจะไม่เถียงสู้ใครนะ ยกเว้นจะช่วยเขาในบางประเด็น คือไม่เถียงนี่มันง่าย ตัดรอบไปเลย ไม่ต้องประมาณให้ปวดหัว แต่ถ้าจะช่วยเขา ไม่ให้เขาเข้าใจผิดนี่มันต้องประมาณมาก ต้องทบทวนให้ดี เพราะมันไม่ใช่มีได้อย่างเดียว บางทีมันเสียเยอะกว่าได้ด้วย ดีไม่ดีช่วยเขานี่แหละตัวปนกิเลสเลย คือถ้าช่วยได้นี่มันต้องช่วย แต่มันต้องไม่ปน นี่มันยากตรงนี้นี่แหละ เพราะถ้าช่วยได้แล้วช่วยมันกุศลมากกว่าช่วยได้แล้วไม่พยายามช่วย จะได้กุศลวิบากต่างกัน ตัวกุศลวิบากนี่แหละ ที่จะช่วยดึงสิ่งดีเข้ามา เช่นการได้เห็นกิเลสตัวเองก็เป็นสิ่งดี บางทีช่วยไม่เต็มแรง มันก็ดีไม่สุด มันก็ไม่ชัด มันก็ช้า ก็เลือกเอาจะขาดหรือจะเกิน มันมีวิบากทั้งคู่ ก็แล้วแต่จะเลือกรับ

ช่วงปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ มันไม่ง่ายเหมือนตอนนี้นะ มันจะไปสองทางคืออัดเขามากเกิน กับช่วยเขามากเกิน ไอ้น้อย ๆ นี่ทำไม่ค่อยเป็น คนบางคนก็มีเหมือนกัน คืออัดเขาน้อยเกิน หรือช่วยเขาน้อยเกิน มันก็ไม่พอดี แต่พอฝึก ๆ มามันก็ลงตัวมากขึ้น

แล้วช่วงหลัง ๆ ยิ่งติดใจสภาวะที่วางใจได้ เออมันเบาสบายนะ ก็ปล่อยเขาเข้าใจผิดไป ปล่อยเขาข่มเราไป ปล่อยเขาไปนรกไป ก็ไม่ได้เกลียดอะไรเขา เข้าใจเขาว่ามันเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ถ้าจะไปบอกเขา เขาก็ดูจะไม่พร้อม เราก็ปล่อยเขาไปก่อน นี่จิตมันตั้งอยู่บนเมตตาเป็นพื้นก่อน แล้วประเมินองค์ประกอบว่าไหวไหม ถ้าไหวก็กรุณา ถ้าไม่ไหวก็อุเบกขาให้มันได้

ทีนี้พอหัดอุเบกขา พอล้างความยึดมั่นถือมั่น ล้างความไม่สบายใจ ขุ่นใจ เคืองใจที่เหลือในเรื่องนั้น ๆ ได้ มันมีปัญญาเห็นความจริงเพิ่ม เรื่องพลังอันน่ากลัวของอุเบกขานี่ก็เป็นปัญญาใหม่ที่ได้มา ผมก็เริ่มฉลาดขึ้นอีกนิดแล้วว่า …อ๋อ จะช่วยเขาเร็วที่สุดก็ต้องอุเบกขานี่แหละ ก็ยังอธิบายไม่เก่งหรอกนะ แต่มันก็ต่างจากความเข้าใจในระดับที่ได้ยินได้ฟังมา ได้ฟังมาก็รู้ตามสัญญา แต่ถ้าเข้าใจนี่จะรู้โดยปัญญาเลย

แต่คนจะเข้าใจว่าอุเบกขาคือปล่อยวางทิ้งไปเลย ผมว่ามันก็ไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียวนะ มันคือลักษณะของการปล่อยวางความยึดในขณะนั้น ๆ ภาพที่เห็นมันอาจจะเป็นสภาพคล้าย ๆ เถียงกันก็ได้ เพราะพอมีข้อมูลใหม่ ก็ต้องประมาณใหม่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากันรอบใหม่ มันจึงเป็นสภาพที่อธิบายได้ยากเหมือนกัน

ก็เอาเถอะนะ ผมก็อยู่ในระหว่างศึกษา ใครสนใจจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทดลองด้วยก็ได้ ว่าคนที่กระทบกับคนที่อุเบกขาได้จริงจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของผมก็คือวางให้ได้จริง ๆ นั่นแหละ มันก็ยากเหมือนกัน แต่ก็ต้องฝึกกันไป แต่อย่างมาลองกับผมเลยจะดีกว่า ถ้าจะให้ดีก็ไปลองกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเห็นว่ามีฐานอุเบกขาอันสมบูรณ์ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเพราะพลาดไปก็ตาม ก็มาแบ่งปันเรื่องราววิบากกรรมกันได้ ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะไปกระทบกับครูบาอาจารย์นี่มันไวดีไง ถูกก็ผ่านเร็ว ผิดก็ทุกข์เร็วดี ไม่เสียเวลามาก มาลองกับผมนี่อีกนานกว่าจะเห็นผล ดีไม่ดีชาตินี้อาจจะไม่รู้เลยก็ได้ ความไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันถูกหรือผิดนี่แหละ ตัวทุกข์เลย ดังนั้นเพื่อความไม่ทุกข์ เราไม่ควรจะมาร่วมทดลองกันให้เสียประโยชน์ แค่มาแบ่งปันความรู้กันก็พอ แค่นั้นก็น่าจะดีกว่า

ยอมก่อนชนะ กอดชัยชนะ=แพ้

ความโหดในสมรภูมิคนดีไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าความยึดมั่นถือมั่น

การเอาตัวรอดในหมู่ผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แค่รักษาตนเองไม่ให้ไปเพ่งโทษ ดูถูก ปรามาสใครก็ยากแล้ว เรียกว่าพิงเชือกรอหมดยกต่อเวลาไปได้ก็แทบจะหืดขึ้นคอ

เพราะในความเป็นจริงนั้นไม่ง่าย อัตตามันจะผลักดันให้ออกไปชกอยู่เรื่อย แน่นอนว่าถ้าชกก็มีแพ้มีชนะ

เมื่อคนดีเจอกัน มันจะมีความเห็นที่ดีทั้งสองฝั่ง อาจจะต่างองค์ประกอบบ้างในบางประเด็น ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่จะยึดดีรึเปล่า

เหมือนกับการเล่นเกม ที่พลัดกันวางไพ่ คนหนึ่งยื่นความคิดเห็นมา อีกคนก็ยื่นความคิดเห็นกลับ จะวางไพ่ทบกันไปกันมากี่ชั้นก็ได้ แต่ถ้าสุดท้ายไม่ถอย ก็แบกวิบากทั้งหมดเท่าความเห็นที่ได้เสนอกัน

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. คุยกับนาย ข. เรื่องหนึ่ง ให้ความเห็นกันไปกันมา ว่าความเห็นของตนดี และทั้งคู่ไม่วางดี สุดท้ายไม่มีใครยอมใคร จบลงด้วยความโง่เท่าเดิม และโกยวิบากบาปในการไม่ฟังอีกฝ่ายเข้าตัว ซึ่งอาจจะเจอโจทย์เดิมอีกหลายชาติ คือเจอคนแบบเดิม ๆ เถียงกันแบบเดิม ๆ วนเวียนไปจนกว่าจะฉลาดขึ้นกว่าเดิม จึงจะพ้นได้

อีกตัวอย่างเช่น นาย ก. บอกนาย ข. ว่าสิ่งที่นาย ข. ทำนั้นไม่ดี ไม่ถูกตรง แม้นาย ข. จะรู้ว่านาย ก. ยังไม่เข้าใจเหตุผลทั้งหมดที่นาย ข. ทำ แต่เมื่อ ข. เห็น ก. ให้ความเห็นมาในลักษณะฟันธง เป็นเชิงแนะนำ ไม่ใช่คำถาม ข. จึงรับฟังและปล่อยวาง

ผลคืออะไร? ผลคือ ข. เลิกจองเวร แต่ ก.นี่ไม่แน่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ก. โง่เท่าเดิม เพราะไม่ได้ฟังข้อมูลจาก ข. และมีโอกาสเข้าใจผิด จนเป็นเหตุให้เกิดการดูถูก เพ่งโทษ ฯลฯ

ตัวผมเองจะใช้ลักษณะของนาย ข. วัดภูมิของคนในเบื้องต้น เพราะถ้าเป็นคนยอมก่อนนี่ก็ถือว่าน่าสนใจแล้ว แต่ในการยอมมันก็มีรายละเอียดซึ่งต้องศึกษากันต่อไป

ส่วนลักษณะแบบ ก. ผมก็ใช้วัดภูมิเหมือนกัน ก็แล้วแต่ว่าจะวัดในขั้นไหน ถ้าเจอแบบ ก. ถ้าไปไม่ได้ก็อุเบกขาไป แต่ถ้าพอจะอธิบายได้ก็อธิบาย แต่นั่นก็หมายถึงการวางไพ่เพิ่มขึ้นไป การเสนอความเห็นกลับไปไม่ได้หมายความว่าเขาจะรับได้ บางทีจากที่เขาจะได้วิบากบาป 1 หน่วย เราเพิ่มข้อมูลให้เขา สุดท้ายตอนจบเขาวางใจไม่ได้ กลายเป็นเขาได้วิบากบาปเพิ่มอีกหลายหน่วย ตามข้อมูลที่เราให้ได้ไป เขาทำใจในใจไม่ได้ สิ่งที่เราให้กลายเป็นโทษกับเขาก็มี

ดังนั้น เราจึงควรยอมก่อน เพราะรู้เรานี่มันรู้ง่ายกว่า รู้เขานี่มันยาก มันประเมินไม่ได้หรอกว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ บางทีเขาถามเราก็จริง แม้สุดท้ายเขาฟังเรา เขาก็อาจจะไม่พอใจในเหตุผลของเรา แล้วแย้งมา เราก็ต้องประมาณให้อัตตาเขาไม่ขึ้นมาก ไม่ต้องไปบอกหมด ถ้าพูดอธิบายแล้วกิเลสเขาขึ้นก็ไม่ต้องพูด กำไรนิดเดียว แต่ขาดทุนย่อยยับมันไม่คุ้ม

เช่นเดียวกันตอนที่เราเสนอความเห็นเพิ่มให้เขาไป แล้วเขาเห็นแย้งมา เราจะทำใจในใจตามได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นของเราได้ไหม เราวางไม่ได้ เราก็รับวิบากบาปหมดกองก่อนหน้านี้โกยเข้าตัว เพราะมันไม่แน่หรอกว่าที่เขาเห็นแย้งมันจะไม่ดีเสียทีเดียว และถึงมันจะดีหรือไม่ดีมันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคืออัตตาเราขึ้นรึเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่ยึด อัตตาเราก็ไม่ขึ้น ถึงเขาจะแนะนำมาผิด เราก็จะมีปัญญาใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ จะเอามาปรับใช้ หรือจะวางไพ่กลับไป เพื่อช่วยเขาก็แล้วแต่จะประมาณให้เป็นกุศล ส่วนที่เขาแนะนำถูกนี่มันไม่ยาก ถ้าคนทำใจในใจตามเป็นจะรู้ว่าเขาแนะนำถูก คือถูกกิเลสเรา พอเรารู้ เราก็แก้ไข เป็นกำไรทั้งคู่ ไม่ต้องประมาณอะไร แค่ฟังแล้วนำมาปฏิบัติตาม

ผมว่าเรื่องนี้เข้าใจยากนะ อธิบายก็ยาก แต่ก็อยากบันทึกและนำเสนอไว้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่ต้องเผชิญการกระทบกับผู้คน