ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก (2) ..บริจาคตามศรัทธา

มาเล่าย้อนกันต่อกับเรื่องการให้ทาน เมื่อนานมาแล้วผมเคยไปสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นเขาก็มีงานเทศกาลอะไรสักอย่าง

ก็มีบูทเปิดขายหนังสือ ผมก็ดูหนังสือ แล้วก็ถามว่าเท่าไหร่ เขาตอบมา 9 บาท แต่ที่ใส่เงินนั้นเป็นกล่องบริจาค ผมก็แปลกใจเล็กน้อย ผมมีเหรียญ 10 หนังสือ 9 บาท ถ้าผมจะขอทอนนี่คือผมงกรึเปล่า? แต่ด้วยความที่ว่าไม่อยากยุ่งยากก็หยอดไป 10 บาทนั่นแหละ เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมเงินไว้ทอน มีแต่กล่องให้ใส่เงินเท่านั้น ผมก็สงสัยอยู่ในใจ ขาย 9 บาทก็รับ 9 บาทสิ แล้วจะเอาเงิน 9 บาทนั้นไปใส่อะไรก็ตามใจ ส่วนกล่องบริจาคก็ตั้งแยกไว้ไกล ๆ หน่อย ไว้กันคนหน้าใหญ่มาใส่เงินเกินความจำเป็น

ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างตะขิดตะขวงใจกับคำประมาณว่า “บริจาคตามศรัทธา” อยู่แล้ว ผมเองไม่ได้จน แต่ก็ไม่ได้รวย พอมีเงินอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่คนใช้เงินไม่คิด

มาเล่าเคสที่สองกัน เป็นแผงใกล้ ๆ เขามีหนังสือมาวาง เป็นหนังสือเกี่ยวกับวินัยของพระ ผมเปิดดูก็น่าสนใจ แต่ไม่เห็นมีป้ายบอกว่ากี่บาท เลยถามเขาว่านี่เอามาแจกหรอครับ คนที่นั่งอยู่เขาก็ว่าให้ฟรี แต่คนที่ยืนอยู่เขาก็บอกว่าตามกำลังศรัทธา

ผมมองไปที่เขายืนอยู่ก็มีกล่องบริจาค ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดว่า เอาไงดี คนหนึ่งบอกแจก คนหนึ่งบอกบริจาคตามกำลังศรัทธา ผมเลยถามย้ำอีกทีว่าเล่มนี้ผมรับฟรีได้ใช่ไหม? ก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิม สรุปผมก็เลยขอเขามาฟรี ๆ นั่นแหละ สมัยนั้น ศีลข้อ ๒ ยังไม่แน่นเท่าตอนนี้ ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงไม่รับเพราะมันมีอาการสะดุดอยู่ ไม่ลื่น มัน 50/50 ไม่ 100%

ตอนนั้นผมคิดว่ามันก็คงจะดีถ้าเรารับมาฟรี คนให้ทานได้เสียสละ 100% ดีกว่าคนให้ทานแล้วมาหวังสิ่งตอบแทน เช่นการบริจาคตามกำลังศรัทธา ถ้าอย่างนั้นคนรวยบริจาคมากก็ศรัทธามาก คนจนมีน้อยบริจาคน้อยก็ศรัทธาน้อยอย่างนั้นหรือ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งกล่องบริจาคใด ๆ โดยเฉพาะคนที่อ้างตนเป็นพุทธ เพราะมันผิดหลักการพ้นทุกข์ของพุทธ คือมาทำดีแล้วยังหวังผล ยังเอาลาภแลกลาภอยู่ อันนี้ก็ไม่ดี หลังจากนั้นสักพักใหญ่ ๆ ผมก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้อยู่ในร้านหนังสือ ราคา 60 บาท ผมก็รู้สึกว่า นี่ถ้าเรามาซื้อในร้านหนังสือคงจะดีกว่า ไม่น่าไปเอาของเขามาเลย

จะสรุปก่อนเลยว่าการตั้งกล่องบริจาคไม่ควรมีในลัทธิพุทธ ถ้าเขาจะให้เดี๋ยวเขาก็ให้เอง ไม่ต้องไปเอื้อจนมันจะกลายเป็นการวัดใจหรือมารยาทขนาดนั้น คือจะขายราคาไหนก็ขายไปเลย ราคาทุนก็ระบุว่าราคาทุน ก็ขายไปเท่านั้นอย่าไปมีกิเลสหวังเศษเงินจากการทำดี เช่นขาย 9 บาท จะหวังให้เขาให้ 10 บาทมันก็ไม่ดี เหมือนนั่งแท็กซี่แล้วคนขับทำฟอร์มไม่มีเศษเหรียญทอนในตอนท้าย

ในเรื่องที่เล่ามาสองตัวอย่างนี้เป็นบทเรียนให้ผมเรียนรู้ความผิดพลาด ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ เราไม่ควรไปอยากได้อะไรเลย ถ้าจำเป็นก็ซื้อไป แต่การจะไปเอาของใครนี่ต้องระวัง ในตอนนี้ ถ้าเขาไม่ใส่พานมาให้ ผมก็ไม่เอาหรอก หรือถ้าปกติหน่อยก็เช่น เขาเปิดโอกาสให้เราเข้าไปเอา อันนี้เราก็พิจารณาอีกทีว่าเหมาะไหม เช่น กรณีเขาแจกหนังสือ ๙๙ พระบรมราโชวาทฯ เราก็พิจารณาก่อนว่า อันนี้เขาให้แล้วหรือยัง ถ้าเขาให้แล้วจำเป็นกับเราไหม เราไม่จำเป็นต้องรับทุกอย่างที่เขาให้ แต่ของที่รับมานั้นควรจะเป็นของที่เขายินดีให้

การเรียนรู้และขัดเกลาเรื่องการรับทำให้ชีวิตผมปลอดภัยและผาสุกขึ้น เพราะถ้าเราไปรับอะไรมั่ว ๆ ภัยก็จะเกิดกับเราได้ ดังที่พระพุทธเจ้าว่าแม้ลาภสักการะยังเป็นภัยต่อพระอรหันต์ แล้วกระจอก ๆ อย่างผมจะไปเหลืออะไร…

ตอนนี้การที่ผมจะรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะยากขึ้น แม้เขาจะยินดีให้ก็ใช่ว่าผมจะต้องรับ ในกรณีบางคนผมอาจจะรับไว้เพื่อรักษาน้ำใจ หรืออาจจะไม่รับเพื่อรักษาความสัมพันธ์ก็ได้ เรื่องทานนี่มันลึกซึ้ง เพราะยากทั้งการให้และการรับ ต้องประมาณให้เกิดกุศล อย่าทำให้เป็นอกุศล นี่ยังไม่รวมเรื่องบาปบุญนะ แต่ก็จบเท่านี้ก่อนแล้วกัน

ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว แต่ก็ยังไม่เหมาะกับการเล่าในบรรยากาศบ้านเมืองก่อนหน้านี้ มาตอนนี้ก็มีโอกาสได้นึกถึงเรื่องนี้ ก็จะขอเล่าให้ได้อ่านกัน ก็ลองพิจารณาประโยชน์กันดูครับ

ในวันหนึ่งที่สนามหลวง มีการเปิดโรงทานกันมากมาย ผมเองเป็นคนหนึ่งที่คิดจะพึ่งพาอาหารจากโรงทานเหล่านั้น และก็พยายามช่วยลดภาระของโรงทานเหล่านั้นด้วยการนำภาชนะไปเอง

กล่องใส่อาหารของผมนั้นมีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับปริมาณของอาหารที่กินจริง ๆ ในแต่ละวัน และที่สำคัญ ผมคิดว่าที่นี่พึ่งพาได้ ผมจึงคิดว่าจะกินเอาอิ่มทั้งวันไปทีเดียวเลย (กะจะกินมื้อเดียวนั่นแหละ)

ทีนี้วิธีการกินนี่ก็เหมือนคนปกติ คือไปต่อแถวรอเป็นรอบ ๆ ซึ่งมีอาหารอยู่ 3-4 อย่าง รอบแรกก็ลองอาหารไปปรากฎว่ากินไหวแค่สองอย่างคือผัดถั่วงอกกับผัดผักบุ้ง อีกสองอย่างเป็นพวกผัดที่เผ็ด ๆ มันกินไม่ค่อยไหว รอบสองก็เลยไปขอแต่ผัดถั่วงอกกับผัดผักบุ้ง

ทีนี้เหตุการณ์มันเกิดขึ้นต่อไปขอรับอาหารรอบสาม ผมก็ขอผัดผักบุ้งเขาเพิ่มจากที่เขาตักปกติ เหมือนคนตักผัดผักเขาจำได้ เขาทักขึ้นมาว่าเอาอีกหรอ? พร้อมมีอาการชะงักในการตัก

….

ในจังหวะนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอจะรู้ว่าสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ทันจะตัดสินใจทำอะไร เพื่อนของเขาที่ตักอยู่ข้าง ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า “เอาเลยกินเยอะ ๆ ตักไปเลย” สุดท้ายเขาก็ตักผัดผักบุ้งให้ผมเพิ่มนั่นแหละ

อาจจะจริงอยู่ที่ว่าผมดูเหมือนจะกินเยอะ แต่ในสถานการณ์ปกติ ผมเชื่อว่าโรงทานที่ผมไปกินนั้น เขาแจกให้กินกันฟรียิ่งกว่านี้อีก ดังนั้นผมจึงไม่ได้คิดหรือระวังว่าการขอเยอะจะสร้างปัญหาใด ๆ เพราะถึงเยอะแค่ไหน มันก็เต็มที่ได้แค่หนึ่งอิ่ม

ความจริงผมก็ไม่สามารถรู้จิตใจเขาได้หรอก แต่จะเอาเหตุการณ์นี้มาสมมุติว่าเป็นตัวเรา ถ้าเราจะให้ใครก็ควรให้อย่างเต็มที่ มันอาจจะมีเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากให้คนนั้นคนนี้ แต่เราสามารถล้างความยึดมั่นถือมั่นของเราแล้วสละให้เขาได้ไหม

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีเจตนาเพียงแค่มากินเฉย ๆ หรือมาสะสมของกิน เราให้เขาได้ไหม เราจะเอาประโยชน์คนอื่นมาก่อนประโยชน์ตัวเองไหม พระพุทธเจ้าให้หมั่นทำนาที่ตนอย่าไปทำนาคนอื่น ถ้าเราถือเอาการขัดใจคนอื่นมาก่อน เราอาจจะขาดทุนก็ได้ เพราะในบริบทของการให้ทาน คือการฝึกสละอย่างหมดเนื้อหมดตัว ถ้าสละหมดได้จริง ถึงตอนนั้นจะขัดเกลาผู้อื่นมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการสะดุดแค่ไม่กี่วินาที แต่ผมคิดว่ามันจะมีประโยชน์แก่จิตอาสาที่ไปบำเพ็ญกุศลในท้องสนามหลวงอยู่ตอนนี้ ในส่วนของผู้บำเพ็ญ ผมจะอิ่มหรือไม่ก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญตรงที่ผู้บำเพ็ญคนนั้นขัดเกลากิเลสได้มากเท่าไหร่ ในส่วนของผม การอิ่มหรือไม่อิ่มก็ไม่สำคัญเช่นกัน สำคัญตรงที่ผมยังเบิกบานได้อยู่รึเปล่าแค่นั้นเอง ซึ่งในตอนนั้นผมก็รู้ตัวว่าไม่ได้มีอาการน้อยใจหรือหงุดหงิดใจใด ๆ มีแต่ความเข้าใจและเกรงใจเขาด้วยซ้ำ ส่วนปัญญาที่ได้มา ก็ถือเป็นกำไรไป

ให้เพราะว่ามันดี

บทเรียนล้ำค่า… เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ช่วยหญิงชราซื้อของ จากนั้นไม่นานเขาได้ทิปถึง 17,000 บาท

ให้เพราะว่ามันดี

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าดี ดีมันเกิดตั้งแต่หนุ่มคนนั้นช่วยหญิงชราแล้ว คือได้ทำดีไปแล้ว ได้ให้แล้ว ดีได้ทำลงไปแล้ว ก็จบกันไป

ในมุมของทานที่สัมมาทิฏฐิก็มีข้อมูลเพียงแค่ว่า ให้เพราะว่ามันดีในขณะนั้น ตามข้อมูล ตามปัญญา ตามกำลังที่มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้เพราะสงสาร หรือเขาไม่มี แต่ให้เพราะการให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี

ฝรั่งคนนี้เขาจะคิดอย่างไรผมก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เมื่อมองกลับมาเปรียบเทียบกับชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าการกระทำของเขานั้นดูมีทีท่าที่เจริญกว่าชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบันอยู่หลายขุม

ชาวพุทธส่วนมากนั้น ทำทานแล้วยังหวังผล ยังทำดีเพื่อหวังสิ่งดี หวังสวรรค์วิมาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกันไป ยกตัวอย่างในเรื่องราวนี้ ถ้าเรื่องมันจบไปตั้งแต่ชายหนุ่มช่วยหญิงชราก็คงจะไม่มีใครสนใจนัก แต่ที่มันได้รับความสนใจก็คือผลของการกระทำนั้น มองแบบโลกๆ มันก็ดูน่าสนใจจริงๆ

แต่ผมว่า เราอย่าไปยินดีในผลนั้นเลย ถ้าเราทำทานเพราะหวังว่าจะได้รับผลดี เราจะทุกข์ไปอีกนานแสนนาน แต่ถ้ายินดีที่เรายอมสละให้ทานได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี

ไม่ต้องถึงกับมีเจตนาปิดทองหลังพระอะไรกันหรอกนะ แค่ทำดีเพราะรู้ว่ามันดี และตรวจสอบชัดเจนว่ามันดี แค่นั้นก็ดีแล้ว ไปเน้นปิดทองเดี๋ยวมันจะกลายเป็นภพเป็นชาติกันยืดยาวต่อไปอีก

ฉลาดทำบุญด้วยมังสวิรัติกันทุกวัน และตอบทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับมังสวิรัติ

รวมบทความเกี่ยวกับมังสวิรัติที่พิมพ์ขึ้นมาใหม่มาประชาสัมพันธ์กันทีเดียวเลย คราวนี้มาถึง 3 บทความ ครั้งนี้ลองลดระดับมาเรียบเรียงเรื่องในระดับทานกับบ้าง เพราะเขียนเรื่องภาวนาเยอะไปแล้วไม่มีเรื่องทานเลย มันจะไม่ค่อยสมดุล แถมเข้าใจยากอีก คราวนี้ก็เลยเขียนเรื่องทานกับมังสวิรัติมาสองบทความ อีกบทความคือความเข้าใจและตอบคำถามหลายๆอย่างเกี่ยวกับมังสวิรัติ

ในบทความทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัตินั้น จะขยายวิธีการทำบุญที่ทำได้ทุกวัน เกิดบุญกุศลมากมาย เพราะบุญสูงสุดของศาสนาพุทธคือการฆ่ากิเลส เมื่อเราทำลายกิเลสได้มันก็เป็นบุญที่มากแล้ว ไม่ต้องไปลำบากหาทำบุญกับใครที่ไหนหรอก ก็ทำที่ตัวเรานี่แหละ พึ่งตัวเอง ทำเองได้เอง เจริญเอง ไม่ดีหรืออย่างไร?

อ่านต่อได้ที่บทความ : ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ
ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

บทความนี้เกี่ยวกับการทำบุญทำทานให้คนอื่น จะเน้นหนักไปในเรื่องของการทำบุญตักบาตรให้กับพระ เพราะมีความสำคัญอย่างมากในด้านของกุศลและความเจริญของศาสนา การทำบุญด้วยอาหารมังสวิรัติ เป็นการให้ที่บริสุทธิ์ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น เป็นกุศลที่ให้ประโยชน์มาก

 อ่านต่อได้ที่บทความ : ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

สำหรับบทความนี้จะค่อนข้างยาว ไขรหัสหลายเรื่องเกี่ยวกับการกินอาหารมังสวิรัติและความเข้าใจของคนทั่วไปที่มองเข้ามายังกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ รวมถึงมุมมองที่สะท้อนไปยังภายนอก จากการเก็บรวบรวมข้อมูลมาได้สักพัก จึงได้พิมพ์บทความนี้ออกมาเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับเพื่อนมังสวิรัติได้เติมมุมมองแก่กันและกัน เผื่อว่าในความเห็นความเข้าใจของผมจะช่วยคลายทุกข์ให้ใครต่อใครได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ดีแน่ๆ เราจึงแนะนำให้คุณลองอ่านเรื่องนี้ดู หากยังสงสัยในเรื่องของมังสวิรัติ

 อ่านต่อได้ที่บทความ : มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

 

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat