ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว แต่ก็ยังไม่เหมาะกับการเล่าในบรรยากาศบ้านเมืองก่อนหน้านี้ มาตอนนี้ก็มีโอกาสได้นึกถึงเรื่องนี้ ก็จะขอเล่าให้ได้อ่านกัน ก็ลองพิจารณาประโยชน์กันดูครับ

ในวันหนึ่งที่สนามหลวง มีการเปิดโรงทานกันมากมาย ผมเองเป็นคนหนึ่งที่คิดจะพึ่งพาอาหารจากโรงทานเหล่านั้น และก็พยายามช่วยลดภาระของโรงทานเหล่านั้นด้วยการนำภาชนะไปเอง

กล่องใส่อาหารของผมนั้นมีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับปริมาณของอาหารที่กินจริง ๆ ในแต่ละวัน และที่สำคัญ ผมคิดว่าที่นี่พึ่งพาได้ ผมจึงคิดว่าจะกินเอาอิ่มทั้งวันไปทีเดียวเลย (กะจะกินมื้อเดียวนั่นแหละ)

ทีนี้วิธีการกินนี่ก็เหมือนคนปกติ คือไปต่อแถวรอเป็นรอบ ๆ ซึ่งมีอาหารอยู่ 3-4 อย่าง รอบแรกก็ลองอาหารไปปรากฎว่ากินไหวแค่สองอย่างคือผัดถั่วงอกกับผัดผักบุ้ง อีกสองอย่างเป็นพวกผัดที่เผ็ด ๆ มันกินไม่ค่อยไหว รอบสองก็เลยไปขอแต่ผัดถั่วงอกกับผัดผักบุ้ง

ทีนี้เหตุการณ์มันเกิดขึ้นต่อไปขอรับอาหารรอบสาม ผมก็ขอผัดผักบุ้งเขาเพิ่มจากที่เขาตักปกติ เหมือนคนตักผัดผักเขาจำได้ เขาทักขึ้นมาว่าเอาอีกหรอ? พร้อมมีอาการชะงักในการตัก

….

ในจังหวะนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอจะรู้ว่าสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ทันจะตัดสินใจทำอะไร เพื่อนของเขาที่ตักอยู่ข้าง ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า “เอาเลยกินเยอะ ๆ ตักไปเลย” สุดท้ายเขาก็ตักผัดผักบุ้งให้ผมเพิ่มนั่นแหละ

อาจจะจริงอยู่ที่ว่าผมดูเหมือนจะกินเยอะ แต่ในสถานการณ์ปกติ ผมเชื่อว่าโรงทานที่ผมไปกินนั้น เขาแจกให้กินกันฟรียิ่งกว่านี้อีก ดังนั้นผมจึงไม่ได้คิดหรือระวังว่าการขอเยอะจะสร้างปัญหาใด ๆ เพราะถึงเยอะแค่ไหน มันก็เต็มที่ได้แค่หนึ่งอิ่ม

ความจริงผมก็ไม่สามารถรู้จิตใจเขาได้หรอก แต่จะเอาเหตุการณ์นี้มาสมมุติว่าเป็นตัวเรา ถ้าเราจะให้ใครก็ควรให้อย่างเต็มที่ มันอาจจะมีเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากให้คนนั้นคนนี้ แต่เราสามารถล้างความยึดมั่นถือมั่นของเราแล้วสละให้เขาได้ไหม

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีเจตนาเพียงแค่มากินเฉย ๆ หรือมาสะสมของกิน เราให้เขาได้ไหม เราจะเอาประโยชน์คนอื่นมาก่อนประโยชน์ตัวเองไหม พระพุทธเจ้าให้หมั่นทำนาที่ตนอย่าไปทำนาคนอื่น ถ้าเราถือเอาการขัดใจคนอื่นมาก่อน เราอาจจะขาดทุนก็ได้ เพราะในบริบทของการให้ทาน คือการฝึกสละอย่างหมดเนื้อหมดตัว ถ้าสละหมดได้จริง ถึงตอนนั้นจะขัดเกลาผู้อื่นมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการสะดุดแค่ไม่กี่วินาที แต่ผมคิดว่ามันจะมีประโยชน์แก่จิตอาสาที่ไปบำเพ็ญกุศลในท้องสนามหลวงอยู่ตอนนี้ ในส่วนของผู้บำเพ็ญ ผมจะอิ่มหรือไม่ก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญตรงที่ผู้บำเพ็ญคนนั้นขัดเกลากิเลสได้มากเท่าไหร่ ในส่วนของผม การอิ่มหรือไม่อิ่มก็ไม่สำคัญเช่นกัน สำคัญตรงที่ผมยังเบิกบานได้อยู่รึเปล่าแค่นั้นเอง ซึ่งในตอนนั้นผมก็รู้ตัวว่าไม่ได้มีอาการน้อยใจหรือหงุดหงิดใจใด ๆ มีแต่ความเข้าใจและเกรงใจเขาด้วยซ้ำ ส่วนปัญญาที่ได้มา ก็ถือเป็นกำไรไป

One thought on “ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก”

  1. ผมจะขอขยายเพิ่มให้ครับเผื่อหลายคนสงสัย พอดีว่าผมกำลังฝึกปฏิบัติศีลข้อ 2 ในระดับของจุลศีล ความตอนหนึ่งว่า “….รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย…”

    ดังนั้นในทุกช่วงเวลาของชีวิตผมจะสังเกตว่าเขายินดีให้หรือไม่ ถ้าเขาไม่ยินดีให้ ผมก็จะไม่รับ เรียกว่าพอถือศีลแล้วจะมีเกณวัดที่ละเอียดขึ้น ไม่ใช่ว่าแจกแล้วเราจะรับได้ทั้งหมด แม้ภาพรวมเขาแจกจริง แต่ตอนรับมันมีจังหวะสะดุด ผมก็จะหยุด ไม่เรียกร้องอะไรเพิ่ม แล้วก็สำรวมระวังสิ่งที่อาจจะผิดพลาดไป

    ขยายไปถึงหลาย ๆ อย่างในชีวิต ถ้าเรารับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่เฉพาะที่เขาให้ เราจะละเอียดในการรับมาก ๆ ซ้อนไปถึงการให้ของเราด้วย เช่น เราจะบอกธรรมะเขา แต่เขาไม่อยากฟัง เขาไม่ยินดีฟัง นั่นคือเขาไม่ให้โอกาสเรา เราก็ไม่ควรจะไปยัดเยียดให้เขา การให้โดยที่เขาไม่เอานั่นคืออาการโลภจะเอาดี นี่มันลึกถึงขนาดเขาไม่ให้โอกาสเราก็ไม่เอา ถึงเขาจะให้โอกาสเราก็ต้องพิจารณาดูอีกที ไม่ใช่ว่าพอเขายอมให้เรานิดหน่อย เราก็หลุดเอาดี ธรรมทะลักด้วยความโลภเลย มันก็ต้องประมาณตลอด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.