คนมีหนาม

วันนี้ระหว่างที่ตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่มีหนามแหลม ก็นึกเรื่องนึงขึ้นได้…

การตัดต้นไม้ที่มีหนามนี่ต้องระวังมาก ทั้งการจับ การดึง การตัด ตัดไม่ดีบางทีมันเด้ง มันกระเด็น มันตกมาใส่เราอีก แถมจะขนไปทิ้งยังลำบาก ต้องค่อย ๆ จับ ไม่งั้นหนามมันก็ตำเอา

ระหว่างที่ขนกิ่งไม้หนามไปทิ้ง หนามของมันก็ไปเกี่ยวนั่นเกี่ยวนี่ เกี่ยวของ ของก็ตก เกี่ยวถุงพลาสติก ถุงก็ขาด เกี่ยวแขนขาเรา ก็ได้เลือด

ก็มาระลึกว่า เรานี่นะ ต้องพยายามทำตัวไม่ให้มีหนาม ไม่งั้นมันจะไปเกี่ยวคนอื่น ทำให้เขาเจ็บปวด มีบาดแผล แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือเราจะมี “กรรม” ไปเกี่ยวกับเขานี่แหละ ถ้ามันเป็นกรรมดีมันก็แล้วไป แต่ถ้าเปรียบกับหนามนี่ดูจะเป็นกรรมชั่วเสียมากกว่า

เกี่ยวกันด้วยกรรมชั่วแล้ว ผลมันก็ออกมาชั่วนั่นแหละ นำความทุกข์ เสียหายมาให้ ทั้งเราและเขา

พอพิจารณาเรื่องหนามอย่างนี้ จิตมันก็เริ่มเกรงกลัวภัยของกิเลสมากขึ้น เพราะรู้ว่าความยึดดีจะนำโทษมาให้ ผมเปรียบหนามก็คือความยึดดีนั่นแหละ นึกภาพคนดีปราบคนชั่วเอานะ คือมันจะมีเหตุผลดี ๆ สารพัดในการปราบคนชั่ว ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามใจ ถ้านึกภาพหยาบ ๆ ก็คือคนดีเอาดีไปข่มคนชั่วเขานั่นแหละ

คือมันก็ดีล่ะนะ แต่มันเหมือนหนาม มันแทงใจเขา มันไม่ได้แทงแบบช่วยเขาด้วย มันแทงแบบทำลายเขา ไม่ใช่ทำลายกิเลสเขานะ ทำลายตัวเขาเลยนั่นแหละ ทีนี้พอแทงไปปุ๊ป เขาก็โกรธปั๊ป พยาบาทจองเวรต่อเนื่องกันไป

ก็เหมือนโดนหนามทิ่มนั่นแหละ มันไม่ได้จบแค่เจ็บและเลือดไหลเสียหน่อย ไอ้ปลายหนามที่มันฝังอยู่ในหนังเรานี่แหละตัวทำให้เจ็บปวด ดีไม่ดีเอาไม่ออก ฝังเป็นก้อนแข็งให้รำคาญอยู่ในเนื้อหนังเลยก็เป็นได้

เปรียบกลับมาก็เหมือนหนามของคนติดดีนี่แหละ ทิ่มเข้าไปทีฝังในวิญญาณเขาเลย ประมาณว่าเขาฟังแล้วก็ดีนะ เออเอ็งดี เอ็งเก่ง แต่ข้าไม่เอาด้วย เพราะมันเจ็บ มันครูด มันปัก มันเกี่ยว มันฝังใจ มันเป็นดีที่ยังไม่ใส ยังไม่เนียน

…ว่าแล้วก็มานั่งเอาเข็มมาเกี่ยวเอาหนามที่ฝังอยู่ออก ก็เห็นว่าเข็มกับหนามนี่มันแหลมเหมือนกันนะ แต่มันทำหน้าที่ต่างกัน เอาเป็นว่าหน้าที่หนามให้เป็นของคนอื่นแล้วกัน ยังมีคนดีอีกมากที่ยังมีหนาม ผมก็ยกให้เขาทำไป แล้วจะเปลี่ยนงานมาเป็นเข็มไว้ถอนหนามออกแล้ว นี่ก็ต้องปรับตัวอยู่เหมือนกันนะ จะเปลี่ยนงานมันก็ไม่ง่าย แต่ก็คงต้องฝึกกันไป

คนไม่มีศาสนา กับ คนติดดี

ในปีที่ผ่านมาผมใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ เพื่อเข้าไปศึกษาคนที่เขาไม่มีศาสนา คนที่ไม่ยินดีในการนับถือศาสนา ไม่เชื่อศาสนา ตามกลุ่มต่างๆ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งเขาก็มีความเชื่อของเขา ที่เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาเห็นและเข้าใจเช่นนั้นคือสิ่งที่ดี (มากกว่ามีศาสนา)

ทีนี้มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าโลกนี้ไม่มีความแตกต่าง ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ การกระทบกันของคนไม่มีศาสนากับคนมีศาสนา จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ต่างอะไรกับการทะเลาะ แข่งดี เอาชนะกันด้วยความเห็นทั่วๆ ไป

คนไม่มีศาสนาก็ยกไว้ เพราะเขาไม่ได้ยินดีที่จะศรัทธาหรือศึกษาในคำสอนของศาสนาใด แต่ปัญหาก็คือคนมีศาสนาที่ติดดี ยึดดี วางดีไม่ลงนี่แหละ ที่จะเข้าไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น

คนไม่มีศาสนาส่วนใหญ่ เขาก็ศึกษาศาสนามาบางส่วนแล้ว เขาก็มีความรู้ของเขาอยู่เหมือนกัน แต่เขาไม่เชื่อว่าความรู้นั้นคือสิ่งที่ดีเลิศสำหรับเขา เขาเชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่าคือการไม่มีศาสนา แต่คนที่มีศาสนาหลายคนก็มักจะเข้าไปให้ข้อมูล หลักฐาน ความเชื่อ จนถึงขั้นยัดเยียด ประชด แดกดัน ดูถูก พูดข่ม จนทะเลาะกันก็มีให้เห็นอยู่บ่อยไป

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ก็จะยิ่งสร้างความเกลียดชัง แตกแยกมากขึ้น ซึ่งก็เกิดจากความติดดี ยึดดี วางดีไม่เป็นนั่นเอง

ถ้าเราไปบังคับยัดเยียดให้คนที่เขาเห็นต่างจากเรา มาเห็นตามเรา เราจะต้องเป็นศัตรูกับคนทั้งโลก

แม้จะเป็นผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงแต่ยังวางความยึดดีของตนไม่ได้ก็ตาม การเอาธรรมะไปบอกคนที่เขาไม่ยินดีที่จะฟัง ไม่ต่างอะไรกับคนพูดเพ้อเจ้อ คนเขาไม่เชื่อก็พูดอยู่อย่างนั้น เมาน้ำลาย เมาธรรมะ เมาอัตตาอยู่แบบนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เห็นถูกตรงจริงๆ มีเพียงแค่ฝุ่นที่ติดปลายเล็บเท่านั้น (หลังจากที่ท่านเอานิ้วไปจิ้มดิน) ส่วนคนที่เห็นผิดนั้นคือทั้งแผ่นดิน ปริมาณมันต่างกันมากๆ …ใครจะเอาภาระเปลี่ยนคนทั้งโลกก็เชิญตามสบาย ผมไม่เอาด้วยหรอก

ทีนี้ก็มีแต่คนบ้า(อัตตา) เท่านั้นแหละ ที่คิดจะไปเปลี่ยนคนอื่น ที่คิดจะไปหว่านล้อม ล่อลวง ดึงดันจะชักจูงคนอื่นให้เชื่ออย่างตน เพราะถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปยัดเยียดธรรมะแล้วจะบรรลุธรรมกันได้ การจะเข้าใจธรรมนั้นๆ ต้องเกิดจากสภาพสุกงอมที่พร้อมจะเกิดผลดีของทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ไม่ใช่เกิดแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้คนพูดจะเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าเขาไม่ยินดีฟัง ก็จะไม่มีวันเข้าใจธรรมนั้นๆ

ที่จริงแล้วคนที่ติดดีในวงการศาสนา ไม่ได้ต่อสู้กับแค่คนไม่มีศาสนา ยังต่อสู้กับลัทธิอื่น ความเชื่ออื่น ทั้งคนใกล้ตัว ทั้งคนไกลตัวด้วย ประมาณว่าข้ารู้ดี อาจารย์ข้ารู้ดี สำนักข้ารู้ดี ก็พาลจะไปยัดเยียดตัวตน(อัตตา) ด้วยความหวังดี ว่าถ้ายัดเข้าไปแล้ว เขาจะต้องเจริญแน่ๆ …โดยที่เขาไม่ได้ถาม

ศาสนาพุทธไม่ได้เผยแพร่ธรรมด้วยการยัดเยียด แต่เป็นการทำตนเองให้ดี ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้ดีจนเขามาถามนั่นแหละ จึงจะบอกไป ถ้าเขาไม่ได้ถาม เขาไม่อยากรู้แล้วเราไปยัดเยียดนี่เราผิดแล้ว เราทำเกินหน้าที่แล้ว เราหวังผลเกินจริงแล้ว มันยังไม่ถึงเวลาสุกงอมของเขา เราไปรีบเด็ดไม่ได้ เราต้องรอ รอจนมันสุกแล้วร่วงลงมา เราค่อยรับเขา ค่อยช่วยเขา

แต่คนศึกษาธรรมะแรกๆ นี่รอกันไม่ค่อยได้ วางกันไม่ค่อยลงหรอก คนที่จะวางความเห็นของตนได้ วางความยึดดีได้ แม้จะมีคนที่มีความเห็นต่างมาแสดงความคิดเห็น มาพูดข่ม มาดูถูก คนที่วางได้จริงนั้นมีไม่มาก ส่วนมากก็ทำทีเป็นวาง แล้วพูดข่มกลับบ้าง ถึงไม่พูดก็ขุ่นอยู่ในใจบ้าง เรียกว่ายังวางไม่ลง แต่ก็ดีกว่าไปด่าเขากลับ ต้องบอกกันตรงๆ ว่าฐานที่จะวางความยึดมั่นถือมั่นได้นั้น ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติใหม่แน่ๆ แม้ผู้ปฏิบัติมานานแต่ปฏิบัติยังไม่ถึงผลก็ใช่ว่าจะวางกันได้ง่าย

การที่เรายังยึดมั่นถือมั่นในความดีที่ตนเชื่อ จนตนเองต้องทุกข์เพราะอัตตา หรือไปทำร้ายคนอื่นด้วยหน้าตา ท่าทาง คำพูดก็ตาม คือความชั่วของคนดี ที่ควรจะต้องรีบล้างให้สะอาด เพราะไอ้ความยึดดีนี่แหละ ที่จะลากคนดีลงนรก

อ่านแล้วก็ระวังกันดีๆ ผมเองก็ระวังอยู่เหมือนกัน เพราะยิ่งเราศึกษาปฏิบัติไปมากเท่าไหร่ ความเห็นของเราจะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้นว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว แต่ถ้าเรายังวางความยึดดีนั้นไม่ลง เราชั่วแน่ๆ และทุกข์แน่ๆ รับรอง