ตายสังเวยรัก ตายเพราะความยึดมั่นถือมั่น

ข่าวทำร้ายกันหรือฆ่ากันตายเพราะเหตุแห่งความรักที่เกินทนไหว ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นข่าวประจำวันกันเสียแล้ว

รักแล้วไม่ทุกข์นั้นไม่มี รักแล้วไม่ยึดเป็นไปได้ยาก เพราะความหลงจะหลอกให้ไปรัก ความยึดจะเกิดเมื่อรักไปแล้ว ความทุกข์จะปรากฏเมื่อพบเจอการพลัดพราก

คนมักหลอกตัวเองซ้อนเข้าไปว่า ถ้าเข้าไปรักแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่ทุกข์ แต่จะมีอะไรพิสูจน์ได้ว่าตนเองจะไม่ทุกข์หรือคู่จะไม่ทุกข์ ในภาคทฤษฎีมันก็คิดกันไปได้ แต่ใครล่ะจะลองพิสูจน์สัจจะนี้ด้วยภาคปฏิบัติ

เวลาคนเขารักกันนี่เขาจะไม่พรากกันเลยนะ ไม่หัดพราก ไม่ยินดีในการพราก ใช่ว่าเขารักกันแล้วเขาจะยอมเลิกกันง่าย ๆ ซะที่ไหน ต่อให้เอาสวรร์นิพพานมาล่อเขาก็ไม่เอาหรอกความโสด เขาก็เกาะคู่เขาไว้เป็นสรณะแบบนั้นแหละ

มันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็ตอนจับแยกกันนี่แหละ จะแยกด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่น มันจะมีทุกข์เกิดขึ้นไม่ฝ่ายเราก็ฝ่ายเขา

พรากด้วยความรักก็ทุกข์ พรากด้วยความชังก็ทุกข์ ยิ่งความชังนี่อันตราย ก็เป็นเหตุให้ทำร้ายกันฆ่ากันนี่แหละ พอเลิกกันแล้วไม่ได้ดังใจ ก็ฆ่าเสียเลย ฆ่าบูชาความรัก ฆ่าบูชาความหลง สังเวยให้กับความยึดมั่นถือมั่น

ถ้าเราไม่ได้รักใคร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใคร เราจะไม่ทุกข์เพราะเขาเลย เขาก็จะเป็นคนคนหนึ่งในสังคม ใช้ชีวิตไปในแบบของเขา เราไ่ม่มีจิตชอบใจจะไปยุ่งกับเขา มันก็จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวเขา

ในประเด็น รักแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือรักแล้วพากันทำดี นี่ผมคิดว่ามันเป็นกลกิเลสที่แนบเนียนมาก ในสังคมส่วนมากเขาก็สอนกันแบบนี้ จริง ๆ คือมันจะเป็นช่องเหตุผลอันงดงามให้คนเข้าไปยึดตามที่ถือมั่นไว้นั่นแหละ แต่คนที่หลงไปมีคู่แล้ว ก็คงต้องปฏิบัติตามหลักนั้นไปพลาง ๆ คือ หัดไม่ยึดมั่นถือมั่น ส่วนพากันทำดีนั้น ไม่ต้องให้น้ำหนักมาก ให้เป็นพาตัวเองทำดีให้เต็มที่จะดีกว่า ส่วนคู่เขาจะทำไม่ทำก็เรื่องของเขา เอาตัวเราให้รอดก่อน อย่าไปผูกกับใคร ว่ายน้ำยังไม่แข็งอย่าเพิ่งไปช่วยคนอื่น จะพาจมกันไปทั้งคู่

ไม่อย่างนั้นมันจะเวียนเกิดเวียนตายเพราะความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องคู่อีกหลายชาติ เรื่องนี้ยาก ต้องตั้งใจให้ดี ไม่ประมาท

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี

รับ …โดยไม่เฉไฉ แชเชือน บิดเบือน บดบัง

หนึ่งในกรรมฐานที่ผมระลึกได้เมื่อปีก่อนว่าควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง คือยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราฝึกไม่เบียดเบียนจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือปรับกลับไปมาระหว่างปล่อยวางกับลงมือได้ดีพอสมควร

หนึ่งในการยอมให้เบียดเบียน ก็คือการถูกติ ถูกวิจารณ์ ถูกด่า ถูกเข้าใจผิด ความเบียดเบียนเหล่านั้นคือสิ่งที่เข้ามาเบียดมาบี้ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ซึ่งสิ่งที่เข้ามาจะเป็นธรรมะก็ได้อธรรมก็ได้ ก็จะฝึกปฏิบัติไปเพื่อการยอมให้ถูกสิ่งอื่น เข้ามาขยี้ความยึดมั่นถือมั่น

ผมตั้งใจว่าถ้ามีสิ่งใด ๆ เข้ามาก็จะยินดีรับโดยไม่ปัดป้อง คือยินดีให้มันเข้ามาถึงจิตกันตรง ๆ เลย กำลังจิต(เจโต)ที่มีก็จะไม่เอามาปิดกั้นไว้ ให้มันได้เผชิญความจริงกันแบบใส ๆ เลยว่ากระทบแล้ว มันยังไง มันรู้สึกยังไง มันไปยึดอะไร

เมื่อกระทบกับเหตุการณ์แล้วจะไม่พยายามไปกดให้มันสงบในทันที แต่จะเน้นไปในการพิจารณาเหตุของความขุ่นมัวที่ฟุ้งขึ้นมาในจิต ว่ามันติดมันหลงยึดอะไร แต่ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ ถ้ามันจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น คงต้องกดแล้วเก็บไว้ก่อน

ผมเคยเห็นคนที่ถูกวิจารณ์แล้วเฉไฉ ปัดป้อง ติอย่างหนึ่งไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ติเรื่องหนึ่งไปยอมรับอีกเรื่องหนึ่ง ติปัจจุบันไปยอมรับอดีต ถ้าโดยส่วนตัวสมัยก่อนผมก็เคยเป็นอาการนั้น คือมันอยู่ภายใต้กิเลส เวลาโดนติ กิเลสมันจะพาเฉ ไม่พาซื่อ มันอาจจะเหมือนซื่อ แต่มันจะออกเป็นซื่อบื้อ คือติมาเสียของ ติมาไม่ได้ถูกนำไปแก้ปัญหา คือไม่ได้เอามาพิจารณาจนถึงเหตุเกิด ไม่ได้เอามาทำใจในใจไปถึงที่เกิด เพราะมันถูกบิดเบือนตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนการฟังแล้ว มันเพี้ยนไปตั้งแต่ฟังแล้ว เพราะไม่มีปรโตโฆษะ สิ่งที่ฟังมันเลยบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่เขาพูด เพราะมันไม่ฟัง หรือฟังเขา 1/2 ฟังกิเลส 1/2 รวมกันเป็น 1 คือฟัง แต่ไม่ได้ฟังเขาทั้งหมด

ผมรู้เลยว่าถ้าเรายังไม่ยินดีรับคำติ ไม่ยินดีฟังความเห็นที่แตกต่าง เราก็จะเสียโอกาสในการพัฒนา คำติที่เขาติมามันก็เสียของ

ซึ่งผมก็เอามาประยุกต์กับตัวเองเมื่อจำเป็นต้องติคนอื่นเหมือนกัน คือดูว่าติเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็เลิก เสียพลัง เสียเวลา กิเลสเขาครอบ อินทรีย์พละเขาอ่อน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตินี่มันไม่ง่าย มันต้องปรุงเยอะ ต้องประมาณมาก

บางคนบอกยอมให้ติได้ แต่พอติไปแล้วไม่เข้า เฉไฉ ผมก็เลิก เมื่อผมเข้าใจดังนั้นว่าการตินี่มันไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องทำดีมากพอ คนติเขาก็เสี่ยง และเสียพลัง จึงพยายามฝึกตัวเองให้กล้าหาญและแกร่งมากพอจะรับคำติโดยไม่เฉไฉ บิดเบือน ยอมรับความจริงในปัจจุบันเลยว่า เขาติเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุอะไรก็ต้องไปตรวจตัวเองดูว่าตัวเองพร่องหรือผิดพลาดอะไรแล้วก็เอาไปแก้ไข ถ้าเขาติถูกเราก็ได้แก้ไข ติผิดก็ไม่เป็นไร ก็เอามาตรวจใจทวนไปว่าเรายอมให้เขาติได้หรือไม่ แม้จะถูกจะผิดก็ตามที

เพราะสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับเรายอมให้คนอื่นเข้ามาเบียดเบียนบดขยี้ความยึดมั่นถือมั่นของเราหรือไม่ เท่านั้นเอง

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี

บทความนี้จะพามาไขความลับของนรกคนดี ทำไมคนดีจึงอยู่ไม่เป็นสุข กินมังสวิรัติได้ดีแล้วชีวิตน่าจะมีความสุข อายุยืน เจ็บป่วยน้อย แต่ทำไมชีวิตของเรายังไม่สุขเสียที เห็นคนนั้นคนนี้กินเนื้อสัตว์ก็ยังรู้สึกทุกข์ใจขุ่นใจอยู่เรื่อย อยากให้เกิดดีดังใจหมาย อยากให้ทุกคนหันมากินมังสวิรัติ อยากให้คนอื่นได้เลิกเบียดเบียน พอเขาทำไม่ได้ก็ทุกข์ใจ

นี่แหละคือพลังของอัตตาที่จะมาทำลายความสุขของเรา ถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องอัตตาไว้บ้างก็ยากที่จะพบกับความสุขแท้ เพราะอัตตานั้นเป็นกิเลสที่ละเอียด รู้ได้ยาก ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ชื่อแห่งความดี ความติดดี ติดสุข จนเราไม่สามารถที่จะล้างอัตตาได้ จนต้องทนทุกข์ไปอีกหลายต่อหลายชาติ นานตราบเท่าที่จะยินดีแบบอัตตานั้นไว้

อ่านต่อได้ที่บทความ : อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์
อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat