การให้ที่เลว

เหตุต้นเรื่องจาก : “แจกอาหารคนไร้บ้าน” เมื่อความปรารถนาดีกลายเป็นความเดือดร้อน?

ขึ้นชื่อว่า “การให้” ใครได้ยินได้ฟังก็เหมือนจะดี ใครไปให้ทานมาก็ปลื้มอกปลื้มใจ จนถึงขั้นเสพติดในการให้ก็มีเหมือนกัน

ศาสนาพุทธนั้นก็ยินดีในการให้ ในการสละ แต่การให้นั้นต้องประกอบไปด้วยปัญญา คือให้ไปแล้วไม่เกิดโทษ เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ให้แล้วกิเลสลด ไม่ใช่ให้ไปแล้วกิเลสเพิ่ม ผลเสียเพิ่ม

ในอนุตตริยสูตรจำแนกการให้ที่ดีและการให้ที่เลวไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีตรงกลาง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะการให้ไปแล้วเขาเพิ่มกิเลส เช่นในกรณีตามเนื้อข่าวที่แนบมานี้ ให้แล้วเกิดโทษเพิ่มขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน นี้คือการให้ที่เลว เลวเพราะอะไร ?

เพราะให้ไปแล้ว ไม่เอาไปทำสิ่งที่ดี แต่กลับไปสั่งสมความขี้เกียจ อย่างกรณีคนไร้บ้านนี่เราไม่รู้หรอกเขาไม่มีบ้านเพราะอะไร แต่เรารู้แน่ถ้าเป็นคนไม่ขี้เกียจ ปัจจัยสี่ย่อมหาได้โดยไม่ยากนัก บางคนที่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีกิน ไม่ใช่เพราะบรรลุธรรมอะไรหรอกนะ แต่เพราะเขาขี้เกียจ ขี้เกียจนี่เป็นอบายมุขนะ

แต่ก่อนผมไม่เคยเข้าใจว่าขี้เกียจมันเป็นอบายมุขอย่างไร ตอนนี้ชัดแล้ว คือมันขี้เกียจหากิน ขี้เกียจพัฒนาตนเอง ขี้เกียจเอาภาระสังคม มันจะอยู่ไปวัน ๆ มันจะเอาสบายท่าเดียว ไม่ขวนขวายให้ชีวิตดีขึ้น ให้พึ่งตนมากขึ้น ให้เป็นภาระคนอื่นน้อยลง จึงกลายเป็นภาระของสังคม นี่คือความฉิบหายหนึ่งของความขี้เกียจ

ตอนนี้ถ้าผมจะให้ ผมจะประเมินก่อนเลยว่าเขาพึ่งตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเขาพึ่งได้ก็จะไม่ให้เขา ควรจะให้โอกาสเขาหาเลี้ยงชีพเอง ส่วนในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินอะไรนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถ้ายังมีชีวิตปกติ มีลมหายใจปกติ มันก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ทั้งคนทั้งสัตว์นั่นแหละ

ไปให้ทานเขามั่ว ๆ ซั่ว ๆ ทั้งคนทั้งสัตว์มันก็จะไม่ยอมหากินเอง มันจะรอแต่อาหาร สุดท้ายมันก็ขี้เกียจ ไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีอาหารมาให้ ถ้าไม่ได้ก็จะหาวิธีให้ได้มา แต่จะไม่พยายามสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจของตัวเอง

แน่นอนว่าทุกการให้มีผล คนที่คิดว่าการให้ไหน ๆ ก็ดีหมด ให้ศึกษาผลกระทบเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าต้องรับวิบากอะไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นั่นแหละคือผลจากการให้ของคนดี ที่ไม่คิดดี ๆ นั่นจึงเป็นการให้ที่เลว

ให้เพราะว่ามันดี

บทเรียนล้ำค่า… เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ช่วยหญิงชราซื้อของ จากนั้นไม่นานเขาได้ทิปถึง 17,000 บาท

ให้เพราะว่ามันดี

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าดี ดีมันเกิดตั้งแต่หนุ่มคนนั้นช่วยหญิงชราแล้ว คือได้ทำดีไปแล้ว ได้ให้แล้ว ดีได้ทำลงไปแล้ว ก็จบกันไป

ในมุมของทานที่สัมมาทิฏฐิก็มีข้อมูลเพียงแค่ว่า ให้เพราะว่ามันดีในขณะนั้น ตามข้อมูล ตามปัญญา ตามกำลังที่มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้เพราะสงสาร หรือเขาไม่มี แต่ให้เพราะการให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี

ฝรั่งคนนี้เขาจะคิดอย่างไรผมก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เมื่อมองกลับมาเปรียบเทียบกับชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าการกระทำของเขานั้นดูมีทีท่าที่เจริญกว่าชาวพุทธส่วนมากในปัจจุบันอยู่หลายขุม

ชาวพุทธส่วนมากนั้น ทำทานแล้วยังหวังผล ยังทำดีเพื่อหวังสิ่งดี หวังสวรรค์วิมาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกันไป ยกตัวอย่างในเรื่องราวนี้ ถ้าเรื่องมันจบไปตั้งแต่ชายหนุ่มช่วยหญิงชราก็คงจะไม่มีใครสนใจนัก แต่ที่มันได้รับความสนใจก็คือผลของการกระทำนั้น มองแบบโลกๆ มันก็ดูน่าสนใจจริงๆ

แต่ผมว่า เราอย่าไปยินดีในผลนั้นเลย ถ้าเราทำทานเพราะหวังว่าจะได้รับผลดี เราจะทุกข์ไปอีกนานแสนนาน แต่ถ้ายินดีที่เรายอมสละให้ทานได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี

ไม่ต้องถึงกับมีเจตนาปิดทองหลังพระอะไรกันหรอกนะ แค่ทำดีเพราะรู้ว่ามันดี และตรวจสอบชัดเจนว่ามันดี แค่นั้นก็ดีแล้ว ไปเน้นปิดทองเดี๋ยวมันจะกลายเป็นภพเป็นชาติกันยืดยาวต่อไปอีก