คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี

ขึ้นอยู่กับวิธีใช้…

ผมสงสัยมานาน เวลาเห็นคนเขาตัดกระถิน ตัดกิ่งไม้แถวบ้าน เขาก็ใช้มีดตัดอ้อยธรรมดา ๆ นั่นแหละ ตัดทีเดียวขาด แต่ผมลองใช้ที่ผมมี ก็ตัดไม่ขาดแบบเขา ก็เลยไปหาซื้อมาเพิ่ม หนักบ้าง แพงบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้ดีขึ้น

ช่วงนี้มีโอกาสได้ลองใช้มีดตัดอ้อยของชาวบ้าน ก็พบว่า ปัญหามันไม่ใช่มีด ปัญหาคือวิธีใช้ของผมเอง มันมีจังหวะ มีน้ำหนัก การฟันที่ยังไม่เหมาะ ยังไม่ถูกหลักที่จะตัดให้ได้ตามเขา ผมก็เลยเอามีดเขาไปลองฝึกฟันจนเริ่มเข้าใจ ว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันต้องใช้จังหวะแบบนี้

…จริง ๆ ธรรมะก็คล้าย ๆ กันนะ ผมก็เคยเห็นคนที่เขาเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าบ้าง ของครูบาอาจารย์บ้าง เอามาใช้ แต่มันก็ทื่อ ๆ ไง คือฟังแล้วแข็งมาก พอเข้าใจเรื่องมีดตัดอ้อยมันก็เข้าใจขึ้น คือเขาจำ ๆ มาใช้ เขาหยิบมาใช้เลย เขาไม่รู้วิธี ไม่รู้จังหวะ ไม่รู้กระบวนการ

เหมือนกับครูบาอาจารย์ท่านใช้ขวานเหล็ก แล้วก็วางไว้ ทีนี้ลูกศิษย์ก็ไปหยิบมาใช้ แต่ลูกศิษย์นี่เหมือนเด็กอนุบาล แล้วไปหยิบขวานของผู้ใหญ่มาใช้ คือมันก็ใช้ได้ไปตามที่มันเป็นละนะ หรือจะเรียกว่าได้ใช้ก็ว่าได้ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมันไม่เท่ากัน คือภาพมันก็ทุลักทุเล แข็ง ไม่คม ผลคือตัดไม่ได้ ดีไม่ดีสับเอาขาตัวเองเข้าไปอีก

ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยได้เอาของครูบาอาจารย์มาใช้สักเท่าไรนัก จะปรุงใหม่มากกว่า เปรียบเช่น ถ้าท่านใช้ขวาน ผมก็ศึกษาแล้วเอามาตีขวานเล็กของผมเอง เอาให้มันสมฐานะ ให้สมแรง ไม่เกินแรง ถ้าเกินแรงมันฟาดไม่ไหว แถมมันไม่ใช่ธรรมที่เรามีในตนด้วย ไอ้การจะพูดสิ่งที่จำ ๆ มานี่บางทีมันก็เสี่ยงเข้าตัวเหมือนกัน จะพูดต้องตั้งสติและอ้างอิงด้วย ไม่งั้นพูดสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ได้แต่จำมา คนเขาเห็นท่า จะเหมือนเด็กอนุบาลถือขวานใหญ่เอา สภาพมันก็คงดูน่าเมตตามากกว่าน่าศรัทธานะ

ผมเชื่อว่ายุคนี้ต้องประมาณมาก มันไม่ mass ขนาดที่ว่าเอาธรรมะชุดหนึ่ง ประโยคหนึ่ง คำหนึ่งปล่อยออกไปแล้วมันจะได้ผลหรอก มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่แม่นเท่าธรรมที่ประมาณแล้วได้แสดงออกไป

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าผมฝึกประมาณธรรมไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นเหมือนการฝึกใช้มีดตัดอ้อยนั่นเอง

การประสบความสำเร็จในชีวิต

อ่านกระทู้เกี่ยวกับความหมายของการประสบความสำเร็จในชีวิต โดยมากก็หมายถึงการมีกินมีใช้อย่างมั่นคง ซึ่งในความหมายทางโลก คือ รวย นั่นแหละ

แต่ในมุมของผม ก็มีส่วนคล้ายกับเขาอยู่บ้าง คือมีกินมีใช้อย่างมั่นคง แต่ต่างกันตรงที่ผมจะปฏิบัติไปในทิศทางที่ “จน” คือเป็นคนจนที่มีกินมีใช้ไม่มีวันหมด(อาจจะขาดพร่องบ้างในบางช่วง แต่ค่ารวม ๆ โอเค) แต่แค่มีกินมีใช้ไม่มีวันหมดก็ไม่อาจเรียกได้เลยว่า ประสบความสำเร็จในชีวิต

ผมรู้สึกว่าความรวยด้วยทรัพย์ บริวาร(สามี ภรรยา ลูกหลาน ญาติมิตร สหาย) นั้นไม่มั่นคง อาจจะเพราะเป็นมุมมองที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก ความรวยต้องพยายามสร้าง บริวารต้องพยายามประคอง ผมว่ามันเหนื่อย สร้างความมั่นคงในความจนนี่มันง่ายกว่า จะเหนื่อยก็เหนื่อยแค่ใจ เพราะต้องปฏิบัติไปเพื่อการสละ ลด ละ เลิก สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จนพัฒนากลายเป็นคนจนที่กินน้อยใช้น้อยแต่ทำงานให้สังคมมาก สละออกมาก เอามาให้กับตัวน้อย ก็เป็นคนที่มีกำไร บุญกุศลที่ได้ทำ ก็ส่งผลให้มีกินมีใช้ไม่หมดตามผลกรรมของมันเอง

ลาภ สักการะ บริวาร ก็มีไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมกุศล ไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างหรือรับมาจนล้น จนเป็นภัยแก่ตนเอง แต่คนในโลกส่วนใหญ่เขาไม่เป็นเช่นนั้น เขาไม่พอเพียง เขาต้องรวยมาก ๆ โด่งดังมาก ๆ มีตำแหน่งสูง ๆ มีบริวารเยอะ ๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องเสพอีกเท่าไหร่ถึงจะทุกข์จนพอใจ เพราะความจริงโลกธรรมนี่มันพาทุกข์นะ ได้มากก็ทุกข์ ได้น้อยก็ทุกข์ ถ้าปล่อยตัวปล่อยใจหมุนวนไปกับโลกธรรมนี่ยังไงมันก็ต้องทุกข์ สู้พยายามปฏิบัติให้อยู่เหนือโลกธรรมไม่ได้ อันนั้นมั่นคงกว่า ยั่งยืนกว่า สุขกว่า

ส่วนในเรื่องการประสบความสำเร็จในชีวิต ผมมองว่าถ้าเราสามารถเป็นคนที่ไม่ต้องประสบความสำเร็จอะไรเลย แม้เกิดเหตุการณ์ที่ทำอะไรไปก็ล้มเหลว ไม่เป็นที่นิยม พัง ไม่ยั่งยืน เจอแต่ปัญหาแล้วใจไม่ทุกข์ นี่ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วล่ะ เพราะเป้าหมายในชีวิตผมคือฝึกใจไม่ให้ทุกข์ ถ้าใจเป็นสุขเมื่อได้ดั่งใจ เป็นที่นิยม สมหวัง เจริญรุ่งเรือง ฯลฯ มันจะไปยากอะไร มันไม่ต้องฝึกด้วยซ้ำ คนเขาก็เป็นกันไปทั่ว

ในวันนี้ก็ยังไม่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จตามที่หวังเท่าไหร่ ซึ่งมันก็ยากและมันก็ไกล จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถึงตอนนั้นมันจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่มันก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่น่าตั้งจิตไว้พิชิตมัน

รับ …โดยไม่เฉไฉ แชเชือน บิดเบือน บดบัง

หนึ่งในกรรมฐานที่ผมระลึกได้เมื่อปีก่อนว่าควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง คือยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราฝึกไม่เบียดเบียนจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือปรับกลับไปมาระหว่างปล่อยวางกับลงมือได้ดีพอสมควร

หนึ่งในการยอมให้เบียดเบียน ก็คือการถูกติ ถูกวิจารณ์ ถูกด่า ถูกเข้าใจผิด ความเบียดเบียนเหล่านั้นคือสิ่งที่เข้ามาเบียดมาบี้ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ซึ่งสิ่งที่เข้ามาจะเป็นธรรมะก็ได้อธรรมก็ได้ ก็จะฝึกปฏิบัติไปเพื่อการยอมให้ถูกสิ่งอื่น เข้ามาขยี้ความยึดมั่นถือมั่น

ผมตั้งใจว่าถ้ามีสิ่งใด ๆ เข้ามาก็จะยินดีรับโดยไม่ปัดป้อง คือยินดีให้มันเข้ามาถึงจิตกันตรง ๆ เลย กำลังจิต(เจโต)ที่มีก็จะไม่เอามาปิดกั้นไว้ ให้มันได้เผชิญความจริงกันแบบใส ๆ เลยว่ากระทบแล้ว มันยังไง มันรู้สึกยังไง มันไปยึดอะไร

เมื่อกระทบกับเหตุการณ์แล้วจะไม่พยายามไปกดให้มันสงบในทันที แต่จะเน้นไปในการพิจารณาเหตุของความขุ่นมัวที่ฟุ้งขึ้นมาในจิต ว่ามันติดมันหลงยึดอะไร แต่ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ ถ้ามันจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น คงต้องกดแล้วเก็บไว้ก่อน

ผมเคยเห็นคนที่ถูกวิจารณ์แล้วเฉไฉ ปัดป้อง ติอย่างหนึ่งไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ติเรื่องหนึ่งไปยอมรับอีกเรื่องหนึ่ง ติปัจจุบันไปยอมรับอดีต ถ้าโดยส่วนตัวสมัยก่อนผมก็เคยเป็นอาการนั้น คือมันอยู่ภายใต้กิเลส เวลาโดนติ กิเลสมันจะพาเฉ ไม่พาซื่อ มันอาจจะเหมือนซื่อ แต่มันจะออกเป็นซื่อบื้อ คือติมาเสียของ ติมาไม่ได้ถูกนำไปแก้ปัญหา คือไม่ได้เอามาพิจารณาจนถึงเหตุเกิด ไม่ได้เอามาทำใจในใจไปถึงที่เกิด เพราะมันถูกบิดเบือนตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนการฟังแล้ว มันเพี้ยนไปตั้งแต่ฟังแล้ว เพราะไม่มีปรโตโฆษะ สิ่งที่ฟังมันเลยบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่เขาพูด เพราะมันไม่ฟัง หรือฟังเขา 1/2 ฟังกิเลส 1/2 รวมกันเป็น 1 คือฟัง แต่ไม่ได้ฟังเขาทั้งหมด

ผมรู้เลยว่าถ้าเรายังไม่ยินดีรับคำติ ไม่ยินดีฟังความเห็นที่แตกต่าง เราก็จะเสียโอกาสในการพัฒนา คำติที่เขาติมามันก็เสียของ

ซึ่งผมก็เอามาประยุกต์กับตัวเองเมื่อจำเป็นต้องติคนอื่นเหมือนกัน คือดูว่าติเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็เลิก เสียพลัง เสียเวลา กิเลสเขาครอบ อินทรีย์พละเขาอ่อน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตินี่มันไม่ง่าย มันต้องปรุงเยอะ ต้องประมาณมาก

บางคนบอกยอมให้ติได้ แต่พอติไปแล้วไม่เข้า เฉไฉ ผมก็เลิก เมื่อผมเข้าใจดังนั้นว่าการตินี่มันไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องทำดีมากพอ คนติเขาก็เสี่ยง และเสียพลัง จึงพยายามฝึกตัวเองให้กล้าหาญและแกร่งมากพอจะรับคำติโดยไม่เฉไฉ บิดเบือน ยอมรับความจริงในปัจจุบันเลยว่า เขาติเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุอะไรก็ต้องไปตรวจตัวเองดูว่าตัวเองพร่องหรือผิดพลาดอะไรแล้วก็เอาไปแก้ไข ถ้าเขาติถูกเราก็ได้แก้ไข ติผิดก็ไม่เป็นไร ก็เอามาตรวจใจทวนไปว่าเรายอมให้เขาติได้หรือไม่ แม้จะถูกจะผิดก็ตามที

เพราะสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับเรายอมให้คนอื่นเข้ามาเบียดเบียนบดขยี้ความยึดมั่นถือมั่นของเราหรือไม่ เท่านั้นเอง

มรณสติประจำวัน

“ถ้าเราไม่เผาเขา เขาก็เผาเรา”

ผมมานั่งนึก ๆ ชีวิตก็น่าจะได้พบกับเหตุการณ์สองอย่างนี้แหละ แต่อย่างที่สองนี่เราจะไม่ได้พบแน่นอน เพราะตายไปแล้วมันไม่รู้แล้ว สรุปจึงเหลือแต่ความจริงที่ว่าถ้าเราไม่ชิงตายเสียก่อนเราก็คงจะได้เผาเขา

ก็นึกต่อไปว่า ทุกคนที่อยู่รอบตัว เขาจะจากเราไปอย่างไร แบบไหน เมื่อไหร่ คิดไปแล้วมันก็บันเทิงนะ แต่ถ้าคนกิเลสจัด ๆ จะหดหู่เศร้าหมอง ไม่อยากระลึกถึงการจากพราก ส่วนคนที่รู้สึกบันเทิง ยินดี ผ่องใสนี่น่าจะเป็นคนที่ล้างความยึดมั่นถือมั่นได้ หรือไม่ก็คนบ้าไปเลย

ส่วนเรื่องที่ว่าเขาเผาเรานี่มันไม่ต้องคิดเลย ไม่ต้องไปจินตนาการให้เสียเวลาว่าหลังตายแล้วจะเป็นอย่างไร เอาเป็นว่าก่อนตายหรือระหว่างที่กำลังจะตายนี่แหละ คือจุดที่ควรพิจารณา

ผมมีกิจกรรมสนุก ๆ ที่ระลึกถึงประจำเวลาเดินทาง คือจะตายท่าไหน แบบไหน ตอนไหน เดิน ๆ อยู่แล้วมีคนมาปล้น แล้วโดนเขาแทงตายจะเป็นอย่างไร ดูข่าวเขาฆ่ากันแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราโดนแล้วเราจะเป็นอย่างไร เราจะห่วงหาอะไรไหม เราจะโกรธแค้นเขาไหม ก็ปรุงไปเพลิน ๆ ระหว่างเดินทาง

ก็ตรวจใจเรื่อย ๆ ว่าเรายอมตายได้ทุกท่าทุกทางทุกนาทีไหม ถ้ามันมีกิเลส เดี๋ยวอาการก็ออกเอง ออกมาก็ตรวจหาความยึดมั่นถือมั่นนั้น แล้วก็ใช้ปัญญาคลายซะ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมสนุก ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดินทางในแต่ละวัน

ถ้าแค่ระลึกแล้วยังมีอาการหวั่นไหว แสดงว่าของจริงไม่รอดแน่นอน ก็พิจารณาทั้งตัวเราและคนอื่นนั่นแหละนะ ซึ่งมันจะได้ปัญญาเป็นผลมาเหมือนกัน คือจะลดความประมาทลงโดยลำดับ จะเริ่มรู้ว่าอะไรเป็นสาระสำคัญของชีวิต แล้วจะค่อย ๆ ลดสิ่งไร้สาระลงไปตามปัญญาที่มีนั่นแหละ

กรรมจะคัดคนด้วยเหตุปัจจัยของมันเอง

จากที่ผมสังเกตมาหลายปี ตั้งแต่ศึกษาธรรมะมา หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป มีบางคนจากไป มีบางคนเข้ามา สังคมรอบตัวของผมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยที่ผมไม่ได้เลือกว่าจะให้ใครเข้ามาหรือจะให้ใครจากไป มันเป็นไปของมันเอง เขาเลือกที่จะเข้ามาของเขาเอง และเขาก็เลือกที่จะเดินจากไปเอง

ผมเชื่อว่ายิ่งผมตั้งมั่นในทางธรรมมากยิ่งขึ้น การผลัดเปลี่ยนของคนก็จะไวมากขึ้นเท่านั้น คนที่ไม่จริงจังจะหายไป คนที่จริงจังจะเข้ามาตามระดับของธรรมะที่ผมมี

ผมเคยคิดเสียดาย คนที่จากไปนะ แต่ตอนนี้ไม่ได้รู้สึกอย่างเดิมแล้ว เพราะเข้าใจว่าความจริงมันเป็นแบบนั้น ปัจจุบันคือสิ่งที่แสดงความจริงให้เราเห็น ว่าคนเรามีเส้นทางของแต่ละคน

ถ้าเราศึกษาธรรมจนมีความรู้ถึงระดับหนึ่งที่พอจะแบ่งปันได้ เราก็จะพยายามนำความรู้นั้นไปช่วยคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เราจะช่วยเขาได้ เราจะช่วยได้ก็เฉพาะแต่คนที่ยอมให้เราช่วยเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าน้อยคน บอกกันตรง ๆ ว่าจนถึงวันนี้ ผมยังไม่สามารถช่วยใครได้เท่าที่ผมเคยหวังไว้สักคน

นั่นทำให้ผมรู้ว่า ในอนาคตผมก็ต้องเจอกับคนที่ผ่านมา แล้วก็ผ่านเลยไปเหมือนในอดีต ในวงโคจรแห่งพุทธะ ผู้ที่สามารถเกาะกระแสได้ และร่วมกันเดินทางไปในเส้นทางแห่งการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นี้ ก็คงจะมีแต่ผู้ที่จริงจังเท่านั้น

ความอยากมีคู่คือความเห็นแก่ตัว

เช้านี้ผีกวีเข้าสิง ตื่นมาพร้อมกลอนมากมาย หล่นหายไปเยอะทีเดียว เก็บมาได้บางส่วน (ของพวกนี้ไม่รีบจดนี่หายจริง ๆ นะ) แล้วก็มาแต่งต่อให้จบ

เรื่อง : ความอยากมีคู่คือความเห็นแก่ตัว

อยากมีคู่สุดชั่วน่ากลัวนัก
อ้างตามหลักอ้างตามโลกอ้างศักดิ์ศรี
อ้างเหตุผลปนกลเล่ห์เห่ราคี
ดูสุนทรีย์ชี้ชักนำคนคู่เอย

แท้ที่จริงกิเลสชั่วตัวซ่อนอยู่
ทำไม่รู้ทำไม่เห็นเล่นทำเฉย
ธรรมชาติบ้างหน้าที่บ้างทำตามเคย
ท้ายลงเอยบำเรอตนด้วยอัตตา

เพราะความอยากมีคู่คือความพร่อง
ต้องสนองกองความใคร่ด้วยตัณหา
จึงสร้างเล่ห์วางค่ายกลสร้างบ่วงมา
เติมอัตตานั่นแหละความเห็นแก่ตัว

เกิดเป็นคนอย่ามัวหลงพิกลนัก
จะทุกข์หนักทุกข์เพราะรักหาเมียผัว
คล้องบ่วงเวรผูกบ่วงกรรมตรึงรัดตัว
มีแต่ชั่วทนทุกข์นานนิรันดร์เอย

……
สมัยเรียนนี่วิชาภาษาไทยผมน่าจะไม่เกินเกรด 2 เรียกได้ว่าไม่สนใจเรียนเลย เป็นวิชาที่ยุ่งยากจริง ๆ ทุกวันนี้แต่งกลอนแล้วตัน ๆ เหมือนกัน นึกคำไม่ออก ถูกบ้างผิดบ้าง เริ่มสำนึกผิดซะแล้ว :)

ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของนักบำเพ็ญ

“ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของนักบำเพ็ญ”

เป็นประโยคที่ได้ยินจากครูบาอาจารย์เมื่อไม่นานมานี้ และเป็นประโยคที่ตรงจริตผมที่สุด

สำหรับผมแล้ว ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขนั้นไร้ค่าเมื่อเทียบกับปัญญา ทุกครั้งที่ผมได้รับอะไรมา ผมก็จะสังเกตว่านั้นคืออะไร มีน้ำหนัก มีกำลังเท่าไหร่ จะใช้ประโยชน์อะไรได้ไหม พวกโลกธรรมนี่รับมาแล้วก็ต้องประมาณการใช้ให้ดี ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นภัยเหมือนกัน แต่ปัญญานั้นต่างกัน เมื่อได้รับมาแล้วมีแต่สุข ทั้งแตกฉานในเรื่องโลกทั้งสว่างไสวในทางธรรม

ผมเองได้รับผลของการทำดีมาโดยลำดับ ในส่วนลาภสักการะทั่วไปผมก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจเท่าไหร่ แต่จะดีใจเมื่อได้ปัญญาใหม่ ๆ

บางทีผมก็รู้สึกว่าตัวเองดีใจเหมือนเด็กที่ได้ของเล่นชิ้นใหม่ การได้ปัญญาเพิ่มขึ้นมา เหมือนกับผมได้อาวุธใหม่ที่เอาไว้จัดการกับกิเลสของตัวเอง และยังสามารถใช้อาวุธนั้นช่วยผู้อื่นได้ด้วย หากว่าเขาต้องการ

ตั้งแต่พิมพ์บทความเผยแพร่ประสบการณ์มาจนวันนี้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือตัวผมเองนี่แหละ เพราะยิ่งให้มันยิ่งได้รับ ยิ่งแบ่งปันไปเท่าไหร่มันยิ่งได้มา บางครั้งได้มาเป็นชุดใหญ่ ๆ ยิ่งกว่าถูกหวย จะร้อยล้านพันล้าน…ฯลฯ ก็เอามาแลกปัญญานี้ไม่ได้ มันได้มายากมาก ผมต้องทำดีมากพอมันถึงจะได้

พอได้ปัญญาเพิ่มมามันก็ดีสิ ตัวเองก็ทุกข์น้อยลง แถมยังมีปัญญาในการอธิบายธรรมะให้ละเอียดลึกซึ้งได้มากยิ่งขึ้น มันก็เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น

ผมก็เลยตั้งหน้าตั้งตาจะทำความดีมากยิ่งขึ้น เท่าที่จะมีปัญญาเข้าถึงความดีนั้น ๆ ซึ่งมันก็คงจะพัฒนาไปโดยลำดับละนะ แต่ก็ไม่ได้ทำเพื่อที่จะอยากได้ปัญญาเป็นรางวัลหรอกนะ ที่ทำดีเพราะมีปัญญาเห็นว่าการทำดีมันให้ผลดีมันก็แค่นั้น ส่วนปัญหาแห่งธรรมที่จะได้มานั้นก็คือรางวัลไง ได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ได้ทำดีมันก็ดีถมเถแล้ว

[37] หลักการจ่ายตลาด

diary-0037-หลักการจ่ายตลาด

37. หลักการจ่ายตลาด

เวลาไปตลาด ผมจะมีกรอบความคิดในการจับจ่ายตามสิ่งที่คิดไว้ว่าจะศึกษา

ซึ่งก็อยู่ที่ว่าตอนนั้นอยากจะศึกษาอะไร หัวข้ออะไร ยกตัวอย่างเช่น ทำอย่างไรจึงจะใช้ชีวิตโดยมีค่าอาหารน้อยที่สุดแต่มีพลังมากที่สุดโดยที่ยังต้องพึ่งพาการจ่ายตลาดอยู่ ซึ่งก็เป็นหัวข้อที่กำลังศึกษาในตอนนี้ ซึ่งต่อไปอาจจะเป็น การเลือกซื้อพืชผักที่สะอาดปลอดภัย หรือ การเลือกซือสินค้ากับร้านค้าที่มีศีลธรรม หรือ การงดเว้นจากการสนับสนุนร้านค้าที่ไม่มีศีลธรรม

แน่นอนว่าบางหัวข้ออาจจะทำควบคุ่กันไปได้ แต่บางหัวข้อก็ไม่ได้ เช่นถ้าตั้งกรอบหัวข้อที่กำลังจะศึกษาว่า การดำรงชีวิตโดยพึ่งพาเฉพาะผักในสวน มันก็จะไม่ได้ไปตลาด หรือถ้าบอกว่าจะเน้นของถูกได้ปริมาณมาก แต่มันก็อาจจะไม่ได้คุณภาพและความปลอดภัย

โดยหลักการรวม ๆ ของการจ่ายตลาด คือต้องประหยัด เรียบง่าย มีคุณค่า ปลอดภัย แต่มันก็อาจจะแกว่งไปขาด ๆ เกิน ๆ บ้างตามหัวข้อที่กำลังศึกษา

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือการทำประโยชน์ให้ชีวิต เพราะการซื้อหรือการกินสิ่งใดโดยไม่พิจารณาก่อนนั้นว่ามีประโยชน์หรือเป็นโทษ ซื้อหรือกินตามความอยาก ตามความเคยชิน หรือตามใจคนอื่น ผมว่ามันไม่เจริญ อย่างน้อยเราก็เสียโอกาสในการได้ความรู้ไป แต่ส่วนมากจะเสียโอกาสให้กิเลสทั้งนั้น

อุเบกขา พลังอันไร้ขีดจำกัด

เมื่อวานคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับผลของสภาวะอุเบกขาที่มีต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และจากเนื้อหาในโพสก่อนที่ผมได้ยกตัวอย่างตามความเข้าใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งปล่อยวางได้อย่างแท้จริงแล้ว ภาระจะตกไปอยู่กับอีกฝั่งหนึ่งทันที วางได้ก็รอดตัว วางไม่ได้ก็รับวิบากชุดที่วางไม่ได้ไป

ผมนั่งทบทวนธรรมนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนเข้าใจอุเบกขาขึ้นอีกขั้น ซึ่งเป็นลักษณะเมื่อมีการกระทบกับสิ่งอื่น

ทำให้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วอุเบกขาเป็นพลังที่น่ากลัวที่สุด (สำหรับคนชั่ว) เพราะถ้าคนทำดีอย่างเต็มที่ แม้จะมีคนมาขวางดีนั้นไว้ ไม่ให้ดีเกิด แต่ถ้าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างหมดตัวหมดตน พลังของอุเบกขาที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวทะลวงได้รุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จะทะลวงก็ทะลวงคนที่มาขวางนั่นแหละ ใครขวางดีก็มีวิบากอยู่แล้ว ยิ่งขวางคนดีที่วางใจได้ 100% นี่มันหายนะชัด ๆ เลย

พอเข้าใจอย่างนี้ ผมก็ตระหนักถึงพลังของอุเบกขา แน่นอนว่าผลในท้ายที่สุดมันจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ดีที่สุดมันจะแสดงออกมาเป็นเหตุการณ์อย่างไหนก็ได้ จะดีหรือร้ายก็ได้ แต่สุดท้ายจะจบด้วยดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แน่ ๆ

แค่วางใจเรื่องไหนได้อย่างแท้จริง เรื่องนั้นก็จะไม่ทำให้เราทุกข์ได้อีก แค่นี้ก็คุ้มเกินคุ้มแล้ว และยังมีพลังที่จะมีผลด้านลบกับพลังกิเลสคนอื่นได้ หนำซ้ำยังมีพลังที่จะทะลวงผ่านวิบากกรรมที่กำลังรับอยู่ได้รุนแรงที่สุดอีกด้วย (คือก็รับกรรมนั่นแหละ แต่รับแล้วก็จบไป ไม่สร้างเพิ่ม แถมยังทำดีเป็นแรงผลักให้พ้นไว ๆ อีก มันเลยผ่านเวลาร้าย ๆ ได้ไวที่สุด)

ผมทดสอบสภาวะนี้ของตัวเองค่อนข้างบ่อย ไอ้ที่ผ่านไม่ได้ก็สู้ต่อไป ส่วนที่ผ่านได้บ้างแล้วก็จะเห็นบางสิ่งบางอย่าง เช่น เห็นเวลาที่คนเขาพยายามจะยัดเยียดความเห็นให้เรา เห็นคนที่พยายามจะข่มเรา ดูถูกเรา หรือคนที่คุยโม้ โอ้อวด มันจะเห็นเขาชัด เพราะไม่ต้องเสียเวลามาดูเราแล้ว ก็ดูแต่เขานั่นแหละ อ้อนั่นเขาอาการแบบนั้นแบบนี้ เขาเข้าใจแบบนั้นแบบนี้ มันก็จะเห็นมากกว่าที่เรามัวหมกมุ่นกับการปกป้องความเห็นของเราเอง เห็นแล้วจะยังไงต่อก็อีกเรื่อง

โดยปกติผมจะไม่เถียงสู้ใครนะ ยกเว้นจะช่วยเขาในบางประเด็น คือไม่เถียงนี่มันง่าย ตัดรอบไปเลย ไม่ต้องประมาณให้ปวดหัว แต่ถ้าจะช่วยเขา ไม่ให้เขาเข้าใจผิดนี่มันต้องประมาณมาก ต้องทบทวนให้ดี เพราะมันไม่ใช่มีได้อย่างเดียว บางทีมันเสียเยอะกว่าได้ด้วย ดีไม่ดีช่วยเขานี่แหละตัวปนกิเลสเลย คือถ้าช่วยได้นี่มันต้องช่วย แต่มันต้องไม่ปน นี่มันยากตรงนี้นี่แหละ เพราะถ้าช่วยได้แล้วช่วยมันกุศลมากกว่าช่วยได้แล้วไม่พยายามช่วย จะได้กุศลวิบากต่างกัน ตัวกุศลวิบากนี่แหละ ที่จะช่วยดึงสิ่งดีเข้ามา เช่นการได้เห็นกิเลสตัวเองก็เป็นสิ่งดี บางทีช่วยไม่เต็มแรง มันก็ดีไม่สุด มันก็ไม่ชัด มันก็ช้า ก็เลือกเอาจะขาดหรือจะเกิน มันมีวิบากทั้งคู่ ก็แล้วแต่จะเลือกรับ

ช่วงปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ มันไม่ง่ายเหมือนตอนนี้นะ มันจะไปสองทางคืออัดเขามากเกิน กับช่วยเขามากเกิน ไอ้น้อย ๆ นี่ทำไม่ค่อยเป็น คนบางคนก็มีเหมือนกัน คืออัดเขาน้อยเกิน หรือช่วยเขาน้อยเกิน มันก็ไม่พอดี แต่พอฝึก ๆ มามันก็ลงตัวมากขึ้น

แล้วช่วงหลัง ๆ ยิ่งติดใจสภาวะที่วางใจได้ เออมันเบาสบายนะ ก็ปล่อยเขาเข้าใจผิดไป ปล่อยเขาข่มเราไป ปล่อยเขาไปนรกไป ก็ไม่ได้เกลียดอะไรเขา เข้าใจเขาว่ามันเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ถ้าจะไปบอกเขา เขาก็ดูจะไม่พร้อม เราก็ปล่อยเขาไปก่อน นี่จิตมันตั้งอยู่บนเมตตาเป็นพื้นก่อน แล้วประเมินองค์ประกอบว่าไหวไหม ถ้าไหวก็กรุณา ถ้าไม่ไหวก็อุเบกขาให้มันได้

ทีนี้พอหัดอุเบกขา พอล้างความยึดมั่นถือมั่น ล้างความไม่สบายใจ ขุ่นใจ เคืองใจที่เหลือในเรื่องนั้น ๆ ได้ มันมีปัญญาเห็นความจริงเพิ่ม เรื่องพลังอันน่ากลัวของอุเบกขานี่ก็เป็นปัญญาใหม่ที่ได้มา ผมก็เริ่มฉลาดขึ้นอีกนิดแล้วว่า …อ๋อ จะช่วยเขาเร็วที่สุดก็ต้องอุเบกขานี่แหละ ก็ยังอธิบายไม่เก่งหรอกนะ แต่มันก็ต่างจากความเข้าใจในระดับที่ได้ยินได้ฟังมา ได้ฟังมาก็รู้ตามสัญญา แต่ถ้าเข้าใจนี่จะรู้โดยปัญญาเลย

แต่คนจะเข้าใจว่าอุเบกขาคือปล่อยวางทิ้งไปเลย ผมว่ามันก็ไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียวนะ มันคือลักษณะของการปล่อยวางความยึดในขณะนั้น ๆ ภาพที่เห็นมันอาจจะเป็นสภาพคล้าย ๆ เถียงกันก็ได้ เพราะพอมีข้อมูลใหม่ ก็ต้องประมาณใหม่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากันรอบใหม่ มันจึงเป็นสภาพที่อธิบายได้ยากเหมือนกัน

ก็เอาเถอะนะ ผมก็อยู่ในระหว่างศึกษา ใครสนใจจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทดลองด้วยก็ได้ ว่าคนที่กระทบกับคนที่อุเบกขาได้จริงจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของผมก็คือวางให้ได้จริง ๆ นั่นแหละ มันก็ยากเหมือนกัน แต่ก็ต้องฝึกกันไป แต่อย่างมาลองกับผมเลยจะดีกว่า ถ้าจะให้ดีก็ไปลองกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเห็นว่ามีฐานอุเบกขาอันสมบูรณ์ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเพราะพลาดไปก็ตาม ก็มาแบ่งปันเรื่องราววิบากกรรมกันได้ ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะไปกระทบกับครูบาอาจารย์นี่มันไวดีไง ถูกก็ผ่านเร็ว ผิดก็ทุกข์เร็วดี ไม่เสียเวลามาก มาลองกับผมนี่อีกนานกว่าจะเห็นผล ดีไม่ดีชาตินี้อาจจะไม่รู้เลยก็ได้ ความไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันถูกหรือผิดนี่แหละ ตัวทุกข์เลย ดังนั้นเพื่อความไม่ทุกข์ เราไม่ควรจะมาร่วมทดลองกันให้เสียประโยชน์ แค่มาแบ่งปันความรู้กันก็พอ แค่นั้นก็น่าจะดีกว่า