ปักชำไผ่ ขุดเหง้าไผ่ ปักลำไผ่

ผมได้เริ่มทดลองขยายพันธุ์ไผ่เอง เพราะรู้สึกว่าถ้าเอาแต่ซื้อ ค่าใช้จ่ายจะเยอะ ถ้าไผ่ทั่ว ๆ ไป ก็ไม่แพงนัก แต่ถ้าไผ่พันธุ์หายาก หรือพวกพิเศษ ๆ อันนั้นก็จะแพง ดังนั้น ถ้าเราหัดขยายพันธุ์ไว้ อย่างน้อยก็วิธีหนึ่ง ก็น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้

เมื่อหลายปีก่อน เคยลองตอนกิ่งไผ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่รู้เงื่อนไข และองค์ประกอบแวดล้อมที่จะทำให้การตอนสำเร็จ พอลองแล้วไม่สำเร็จแล้วก็วางไป หันไปซื้อที่เขาทำไว้แล้วเหมือนเคย ๆ

จนล่าสุด เห็นต้นไผ่ มีแรกขึ้นแถว ๆ โคนต้น ก็ลองขุดดู พบว่าลำบากมาก กว่าจะได้เหง้าไผ่สักเหง้า โดยเฉพาะเหง้าที่ออกหน่อแล้ว มันจะมีรากมายึดเพิ่ม  ถ้าเครื่องมือไม่พร้อม  ไม่แนะนำให้ขุดเหง้าไผ่ เพราะต้องมีเครื่องมือที่แข็งแรง ต้องขุด ต้องงัด ต้องคม ตัดรากไผ่ได้ ส่วนการงัดต้องระวัง อุปกรณ์งอแล้วมันจะไม่คุ้ม

สรุปจบลงหลังจากขุดเหง้าไผ่ไป 3 อัน ก็พบว่ามันลำบากเกินไป เครื่องมือเราไม่แข็งแกร่งพอ ใช้เวลาเยอะไป สุดท้ายเลยใช้เลื่อยตัดช่วงโคน ใกล้ ๆ ดินที่มีรากติด แล้วก็เอามาปลูกในสถานที่จริงเลย ก็ลุ้น ๆ เอาว่ามันจะรอดหรือจะร่วง ก็ได้ผลว่ามันรอด แตกกิ่งแขนงออกมา เป็นสัญญาณว่ามันเริ่มหากินเองได้แล้ว รากเดินแล้ว ดูได้จากการแทงกิ่งแขนงออกมานี่แหละ ก็เดา ๆ เอาว่ารากมันคงเยอะแล้วแหละ ไม่ขุดออกมาดูหรอก เพราะมันอาจจะกระทบกระเทือนจนแย่กว่าเดิมก็ได้ เอาไว้ชำกิ่งไผ่ชุดใหม่ค่อยทดลองและเก็บข้อมูลเรื่องการออกรากก็แล้วกัน

ขุดหน่อไผ่มาปลูก กว่าจะขุดได้ ใช้เวลาและแรงมาก อุปกรณ์ก็ต้องแข็งแรง ทั้งหนา ทั้งหนัก ยากกว่าหน่อกล้วยก็หน่อไผ่นี่แหละ โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของการขุด แทบไม่ขยับ … ฝึกขุดหน่อไผ่กันต่อไป ขยายพันธุ์แบบประหยัดเงิน ใช้ของที่มีอยู่ คือ…แรงงาน

แตกกิ่งออกมาแล้ว ไผ่เปาะที่เคยตัดมาปลูกไว้(ชำ) ณ สถานที่จริง เรียกว่าทดลองดู เพราะไม่เคยชำไผ่มาก่อน ปกติเขาจะชำในโรงเรือนร่ม ๆ อันนี้เราลงสนามจริงเลย ส่วนหนึ่งเพราะจะเคลียไผ่ที่รก ๆ ด้วย ตอนนี้สำเร็จ 3/16 ยังเหลืออีกเยอะที่ปักไว้แล้วยังนิ่งอยู่ เขาบอกว่าการแตกกิ่งออกใบคือสัญญาณแห่งชีวิต คือระบบรากมันทำงานแล้ว เริ่มหากินแล้ว ที่เหลือคือเลี้ยงให้โต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.